xs
xsm
sm
md
lg

บี้สปิริต “หมัก” แจงสินบนญี่ปุ่น “อภิรักษ์” เชื่อเกี่ยวการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“อภิรักษ์” เชื่อการเปิดเผยสินบนญี่ปุ่นข้ามชาติยุคสมัครเกี่ยวข้องการเมือง พร้อมเสนอรัฐบาล-ป.ป.ช.-อสส.เข้ามาดูแล ยัน 7 วันต้องได้ข้อเท็จจริง และประสานนิชิมัตซึไทยให้ข้อมูล ขณะที่รองปลัด กทม. “สมศักดิ์” ระบุถ้า “สมัคร” มีสปิริตพอก็น่าจะมาให้ข้อเท็จจริงกับ กทม. พร้อมยันเดินหน้าโครงการต่อแน่ไม่เลิกชัวร์


นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารกทม.ถึงกรณีอดีตผู้บริหารบริษัทก่อสร้าง นิชิมัตซึ คอนสตรัคชัน (Nishimatsu Construction) เคยให้เงินสินบนแก่ผู้บริหาร กทม.กว่า 400 ล้านเยน หรือราว 125 ล้านบาท เพื่อให้ชนะการประมูลโครงการอุโมงค์ระบายน้ำท่วม แสนแสบ-ลาดพร้าว ว่า โครงการดังกล่าวมีมูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาทได้มอบหมายให้นายพงศ์ศักติฐ์ เสมสันต์ ปลัด กทม.ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน ซึ่งทางปลัด กทม.ได้มอบหมายให้นายสมศักดิ์ กลั่นพจน์ รองปลัด กทม.รวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงต่างๆ โดยจะส่งหนังสือประสานไปทางสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยในวันนี้เพื่อขอรับทราบข้อมูลข้อเท็จจริงเพราะขณะนี้ทราบเพียงแต่รายงานข่าว

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ทำไมข่าวสินบนดังกล่าวต้องถูกเปิดเผยออกมาในช่วงนี้ นายอภิรักษ์ กล่าวต่อว่า คงไม่สามารถให้ความเห็นได้ ที่จริงต้องถามนักข่าวเพราะเรื่องนี้ทางสำนักข่าวญี่ปุ่น เป็นผู้รายงานข่าว และสื่อมวลชนของไทยนำมาเผยแพร่ต่อ ซึ่งตนได้มอบหมายให้นายพงศ์ศักติฐ์ ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ทั้งนี้ การบริหาร กทม.ไม่สามารถบริหารตามข่าวได้ และถ้ามีการกล่าวหาแล้วเรานิ่งนอนใจก็จะถูกกล่าวหาเอง ดังนั้น เราจึงไม่ปล่อยปละละเลยในเรื่องนี้ซึ่งจะประสานทางสถานทูตญี่ปุ่น

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ถ้าทางการญี่ปุ่นอยู่ระหว่างสอบสวนและไม่สามารถให้ข้อมูลได้ นายอภิรักษ์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีหลายงานงานที่สามารถขอข้อมูลกับทางการญี่ปุ่นได้ทั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) และที่สำคัญรัฐบาลควรจะเข้ามาตรวจสอบในเรื่องนี้เพราะเป็นเรื่องระหว่างประเทศ ซึ่งกทม.ยังไม่มีข้อมูล ข้อเท็จจริงเพียงพอจึงยังไม่สามารถร้องไปยัง ป.ป.ช.ได้ แต่อย่างไรก็ตาม กทม.จะดำเนินการให้เต็มที่ และไม่ได้เป็นการรับลูกของใคร

“มันเป็นการเชื่อมโยงให้เกี่ยวข้องกับการเมืองอยู่แล้วซึ่งขณะนี้สถานการณ์ทางการเมืองมีความรุนแรง ทุกฝ่ายต้องใจเย็น ส่วนการตรวจสอบอยากให้แยกแยะ ใครที่เกี่ยวข้องก็มีสิทธิ์ตอบคำถาม ส่วนกรณีการจ่ายเงินสินบนถือเป็นเรื่องรุนแรงต้องทำให้ชัดเจน ทั้งนี้ผมอยากให้รัฐบาลเขามาตรวจสอบในเรื่องนี้จะปล่อยให้ถูกกล่าวไม่ได้ และอันที่จริงเราก็มีหน่วยงานที่สามารถที่จะดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้ได้ดีอยู่แล้วทั้ง ป.ป.ช. และสำนักงานอัยการสูงสุด แต่ทางการญี่ปุ่นก็มีกฎหมายของเขาไปบังคับเขาไม่ได้ ซึ่งเราก็ทำในส่วนของเราให้ดีที่สุด” นายอภิรักษ์ กล่าว

ต่อข้อถามที่ว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องใน กทม.มีตำแหน่งระดับสูงตรงนี้จะมีการเรียกสอบเข้ามาสอบหรือ นายอภิรักษ์ กล่าวว่า จุดนี้ยังไม่ถึงขั้นนั้นต้องให้ได้ข้อมูลข้อเท็จทั้งหมดก่อน และถ้าจะเรียกสอบจริงๆ ผู้ที่เกี่ยวข้องมีตำแหน่งสูงกว่านี้อีกซึ่งก็ปรากฏตามสื่อซึ่งทุกท่านก็ทราบกันดีอยู่แล้ว และคงไม่ต้องประสานไปทางนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี อดีตผู้ว่าฯ กทม. และนายสหัส บัณทิตกุล รองนายกรัฐมนตรี อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. เพื่อขอข้อมูลในขณะที่เกิดขึ้นช่วงสมัยดำรงตำแหน่งเพราะกทม.สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ที่สำนักระบายน้ำ (สนน.) อยู่แล้ว

ต่อข้อถามที่ว่า ถ้าเอกชนต้องการประมูลโครงการหรือได้งานจาก กทม.จะต้องจ่ายเงินให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องนั้น นายอภิรักษ์ กล่าวว่า มันเป็นปัญหาระบบโครงสร้าง ระบบการเมือง ระบบราชการมาช้านาน แต่ กทม.มีมาตรการเพื่อป้องกันในเรื่องดังกล่าวโดยได้ตั้งคณะกรรมการปฏิรูประบบราชการ กทม.เข้ามาดูแลมานานแล้ว

“กทม.ไม่ได้ปัดความรับผิดชอบผู้บริหารชุดปัจจุบันต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงเท่าที่ทำได้ ซึ่ง 1 สัปดาห์ถ้ามีข้อมูลจากการตรวจสอบภายใสของ กทม.ก็จะต้องชี้แจงให้ทราบแน่นอนแต่ทางญี่ปุ่นจะคง ไม่สามารถไปกะเกณฑ์เวลาได้เพราะจะต้องมีระเบียบวิธีการ ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะไปขอซึ่งเขาจะให้หรือเปล่าผมยังไม่รู้เลย นอกจากนี้ กทม.จะประสานไปยังบริษัท นิชิมัตซึ ประเทศไทย เพื่อขอข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดอีกด้วย ส่วนจะไปเช็กโครงการอื่นๆ ย้อนหลังหรือไม่นั้น คงไม่ต้องเพราะ กทม.เองก็มีระบบตรวจสอบ มีสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ประจำกทม. มีกองตรวจสอบภายใน อยู่แล้ว ซึ่งได้มีการตรวจสอบโครงการต่างๆ มาโดยตลอดแต่ไม่เป็นข่าว อย่างไรก็ตาม ผมไม่ได้หนักใจอะไรเพราะทุกเรื่องมีข้อมูล ข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่แล้ว ส่วนกรณี 2 ส.1 ธ. ผมขอไม่ออกความเห็น” นายอภิรักษ์ กล่าว

ด้านนายสมศักดิ์ กลั่นพจน์ รองปลัด กทม.กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายจากปลัด กทม.ให้ดำเนินการหาข้อเท็จจริง ซึ่งขณะนี้ตนได้ทำหนังสือเพื่อประสานขอข้อมูลกับสถานทูตญี่ปุ่นและบริษัทนิชิมัตสึ คอนสตัรคชั่น เพื่อขอข้อมูลที่เกี่ยวข้องแล้ว ส่วนของการหาข้อเท็จจริงของ กทม.นั้นมอบหมายให้นายชาญชัย วิทูรปัญญากิจ ผอ.สนน.รวบรวมรายละเอียดข้อมูลทั้งหมด ตามลำดับเหตุการณ์ตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการ เพื่อทำการตรวจสอบอย่างละเอียดทุกขั้นตอนและหากพบความผิดปกติในจุดใดก็จะให้ข้าราชการที่เกี่ยวข้องในกระบวนการนั้นๆ มาชี้แจงรายละเอียด ซึ่งขณะนี้เท่าที่เริ่มตรวจสอบก็ยังไม่พบความผิดปกติแต่อย่างใด ทั้งนี้จะเร่งตรวจสอบให้แล้วเสร็จตามที่ได้รับมอบหมายคือภายใน 7 วัน

“การที่จะขอให้นายสมัคร สุนทรเวช นายกฯ มาชี้แจงเพราะเป็นโครงการที่อยู่ในสมัยที่เป็นผู้ว่าฯ กทม.นั้น หากพบว่ามีความผิดหรือเกี่ยวข้องก็คงจะต้องขอข้อมูลจากท่าน แต่ กทม.ในฐานะเป็นหน่วยงานกระจิริด และอยู่ในกำกับของกระทรวงมหาดไทยก็คงไม่สามารถจะเรียกท่านมาสอบสวนได้ ก็คงต้องขึ้นอยู่กับท่านว่าจะมีสปิริตที่จะให้ข้อมูลหรือไม่” นายอภิรักษ์ กล่าว

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับการตรวจสอบเพื่อหาผู้กระทำความผิดนั้น ตนยอมรับว่าการดำเนินการหาข้อเท็จจริงดังกล่าวนั้นทำได้ยากมาก เนื่องจากทางประเทศญี่ปุ่นไม่ได้เจาะจงมาว่าการให้สินบนกับเจ้าหน้าที่ไทยนั้นดำเนินการอย่างไร ใครเป็นคนรับเงิน และให้เงินผ่านกระบวนการอย่างไร ดังนั้น ตนจึงไม่สามารถตรวจสอบลงรายละเอียดอะไรได้ อีกทั้งขณะที่มีการตรวจสอบคุณสมบัติในระหว่างดำเนินโครงการก็มีการร้องเรียนจากบริษัท สี่แสงการโยธา (1979) ก็เคยร้องเรียนศาลปกครอง เนื่องจากไม่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติ แต่ต่อมาศาลปกครองก็ตัดสินให้ กทม.ชนะ ดังนั้นก็เหมือนมีการตรวจสอบมาแล้วครั้งหนึ่งแต่ไม่พบความผิด ดังนั้น การตรวจสอบครั้งนี้หากต้องการให้ได้ผู้กระทำผิด จึงต้องมีหลักฐานที่ชัดเจนจากทางด้านประเทศญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม กทม.จะไม่มีการชะลอโครางการออกไปอย่างแน่นอน เพราะขณะนี้โครงการได้ ดำเนินการแล้วเสร็จประมาณ 75% ซึ่งการในส่วนของอุโมงค์ระบายน้ำและระบบท่อส่งน้ำนั้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว เหลืออีก 25% เป็นส่วนของการสร้างสถานีสูบน้ำเท่านั้น โดยคาด่าจะแล้วเสร็จในช่วงเดือน ก.ย.2551 นี้ ส่วนบริษัท นิชิมัตสึ นั้นก็ยังมีสิทธิ์ที่จะเข้าร่วมประกวดราคาในโครงการต่างๆ ของ กทม.เหมือนเดิมเพราะยังไม่ได้ตรวจสอบพบความผิดและไม่ได้อยู่ในบัญชีดำ (แบล็กลิสต์) ของ กทม.แต่อย่างใด

กำลังโหลดความคิดเห็น