xs
xsm
sm
md
lg

การปฏิรูปการเมือง: จุดมุ่งหมายและความเป็นจริง

เผยแพร่:   โดย: ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน

รัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งร่างโดย ส.ส.ร. 99 คน เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นฉบับพื้นฐานของรัฐธรรมนูญปี 2550อันเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน การที่มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นทั้งฉบับในปี 2540 นั้น เนื่องจากสังคมไทยตระหนักว่าระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่เป็นอยู่ในขณะนั้นประสบปัญหาต่างๆ หลายประการ จำเป็นอย่างยิ่งต้องมีการปฏิรูปเพื่อให้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยสามารถดำเนินต่อไปได้

ทั้งนี้เนื่องจากว่าทางเลือกอื่นก็มีเพียงสองทางเลือกเท่านั้น อันได้แก่ การปฏิวัติรัฐประหาร อีกระบบหนึ่งคือระบบสังคมนิยม ในส่วนของระบบการปฏิวัติรัฐประหารนั้นยังขัดต่อแนวโน้มโลก 5 แนวโน้ม อันได้แก่ ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย การเคารพสิทธิมนุษยชน การค้าเสรี การรักษาสภาพแวดล้อม การเคารพสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา ส่วนระบบสังคมนิยมนั้นที่เป็นสังคมนิยมจริงๆ ก็เหลือแค่เกาหลีเหนือและคิวบา จีนและเวียดนามก็ได้กลายพันธุ์ไปแล้ว ส่วนลาวนั้นก็เป็นสังคมนิยมที่มีลักษณะพิเศษ ระบบที่เหลือจึงมีเพียงระบบเดียวคือระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย จึงต้องอาศัยการปฏิรูปการเมืองเพื่อปฏิรูประบบให้ดีขึ้น

ความพยายามที่จะปฏิรูปการเมืองเพื่อพัฒนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ยั่งยืนมีขึ้นหลายครั้ง โดยในเบื้องต้น นายชุมพล ศิลปอาชา ได้เป็นประธานนำการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2521 โดยพยายามแก้ไข 25 ประเด็น แต่แก้ได้เพียง 2 ประเด็น และหนึ่งในประเด็นนั้นคือการให้คนที่มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ต่อมาในสมัยรัฐบาลชวน 1 ก็ได้มีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมืองโดยมีนายแพทย์ประเวศ วะสี เป็นประธาน เรียกว่า คณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย มีการระดมสมองจากนักวิชาการที่จบจากประเทศต่างๆ โดยมีผลการรายงานออกมาเป็นหนังสือเล่มเล็กๆ กว่า 30 เล่ม เป็นการรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตยไว้ดีที่สุด และหลายส่วนของการวิจัยนั้นได้กลายเป็นเนื้อหาสำคัญของรัฐธรรมนูญในปี 2540 แต่น่าเสียดายที่การปฏิรูปครั้งนั้นจบลงด้วยการได้สิ่งตีพิมพ์ที่วางไว้บนหิ้ง

ต่อมา นายฉลาด วรฉัตร ได้อดอาหารประท้วงเพื่อให้มีการปฏิรูปการเมือง นายบรรหาร ศิลปอาชา ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีขณะนั้นจึงได้ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมืองขึ้น และมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 211 ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2534 โดยให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นทั้งฉบับโดย ส.ส.ร. 99 คน

จุดประสงค์ใหญ่ของการปฏิรูปการเมืองตามรัฐธรรมนูญปี 2540 นั้นคือ การต้องการให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจทางการเมืองและสามารถแสดงความเป็นผู้นำได้อย่างแท้จริง ไม่ถูกกดดันจากสมาชิกในพรรค หรือพรรคร่วมรัฐบาลถ้าในกรณีเป็นรัฐบาลผสมรัฐธรรมนูญปี 2540 ได้พยายามแก้ไขปัญหา 5 ข้อใหญ่ๆ ซึ่งถือเป็นมะเร็งร้ายที่กัดกร่อนระบอบประชาธิปไตย ปัญหา 5 ข้อนั้นมีดังต่อไปนี้ คือ

1. การเลือกตั้งเต็มไปด้วยการทุจริต ใช้เงินซื้อเสียงและโกงการเลือกตั้งทุกรูปแบบ

2. ส.ส. ต่างกระเสือกกระสนต่อสู้เพื่อดำรงตำแหน่งบริหารในคณะรัฐบาลเป็นรัฐมนตรี หรือที่ปรึกษา หรือเลขารัฐมนตรี หรือผลักดันให้คนของตนขึ้นเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ

3. รัฐบาลที่เกิดขึ้นใหม่จะแทรกแซงการบริหารงานของข้าราชการประจำ มีการโยกย้าย ถอดถอนเพื่อแต่งตั้งคนของตนเข้ามา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระทรวงที่มีโอกาสจะหารายได้จากนโยบาย

4. มีการหาประโยชน์จากงบประมาณแผ่นดินในงบจัดซื้อจัดจ้าง และการก่อสร้าง ทำให้เกิดการรั่วไหลของงบประมาณเป็นจำนวนมาก

5. มีแนวโน้มที่เสนออภิมหาโครงการ (Mega Projects) เพื่อจะได้ผลตอบแทนจากบริษัทรับเหมาโดยเฉพาะบริษัทต่างชาติ

ปัญหา 5 ข้อดังกล่าวนี้ทำให้มีความหวั่นวิตกว่าจะสร้างความเสียหายต่อประเทศชาติจนระบบการเมืองไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ ดังนั้น จึงวางกรอบของรัฐธรรมนูญปี 2540 ไว้เป็นกรอบใหญ่ๆ 4 กรอบ ได้แก่ สิทธิเสรีภาพของประชาชน การเข้าสู่ตำแหน่งอำนาจ การควบคุมการใช้อำนาจ และการเมืองภาคประชาชน ซึ่งรายละเอียดนั้นส่วนใหญ่ก็เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว

แต่สิ่งที่ปรากฏเห็นเด่นชัดก็คือ ปัญหา 5 ข้อที่เป็นเสมือนมะเร็งร้ายจนต้องนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองในรัฐธรรมนูญปี 2540 เพื่อพัฒนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ต่อเนื่องและยั่งยืนนั้น กาลเวลาล่วงเลยมากว่าหนึ่งทศวรรษจนมีการรัฐประหารเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 และมีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นทั้งฉบับอันได้แก่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 หรือฉบับปัจจุบัน ด้วยมาตรการที่กระชับการควบคุมมากขึ้น โดยเดินตามรอยรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นส่วนใหญ่ แต่พยายามแก้ไขข้อบกพร่องที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญปี 2540 เช่นมีการผสมผสานระหว่างการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกและการสรรหา การเลือก ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อมาเป็นแบบสัดส่วน ฯลฯ ซึ่งในหลายส่วนของรัฐธรรมนูญปี 2550 นี้ถือว่าปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าเดิมแต่หลายส่วนนั้นขัดแย้งกันเองและผิดหลักการประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตราสุดท้ายคือมาตรา 309 ซึ่งละเมิดหลักนิติธรรมอย่างเห็นได้ชัด

แต่ประเด็นที่สำคัญก็คือ ปัญหาต่างๆ 5 ข้อที่กล่าวมาแล้วเบื้องต้นปรากฏให้เห็นอยู่ขณะนี้เกือบทุกข้อ เช่น กรณีการสอบสวนเรื่องการทุจริตการเลือกตั้งจนมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การยุบพรรค การโยกย้ายข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ จนก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในขณะนี้ ความขัดแย้งในเรื่องตำแหน่งบริหารซึ่งผิดรูปผิดฝา รวมตลอดทั้งตำแหน่งที่ปรึกษาและเลขารัฐมนตรี นอกเหนือจากนั้นยังมีปัญหาเรื่องการเสนอโครงการใหญ่ๆ ซึ่งเป็นเรื่องวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่เช่นเดียวกัน ทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวนี้จะชี้ให้เห็นว่าแม้เวลาจะล่วงเลยมากว่าหนึ่งทศวรรษ ปรากฏการณ์ทางการเมืองและพฤติกรรมของนักการเมือง รวมทั้งประชาชนที่ยอมขายสิทธิขายเสียงในระดับหนึ่งยังไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิมเท่าไหร่นัก

ถ้าจะกล่าวโดยสรุปก็จะกล่าวได้ว่า กว่าหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมาการปฏิรูปการเมืองเพื่อให้มีการพัฒนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ต่อเนื่องและยั่งยืนปลอดจากปัญหา 5 ข้อที่กล่าวมาแล้วนั้น ประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิงภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2540 และหลังจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 จนได้สภาผู้แทนราษฎรและได้คณะรัฐบาลขึ้นมา ปัญหาต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วซึ่งเปรียบเสมือนมะเร็งร้ายที่มีผลกระทบต่อระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยมิได้มีการแก้ไขสำเร็จลุล่วง ไม่ว่าภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2540 หรือปี 2550 แต่อย่างใด

รัฐธรรมนูญคือกติกาของระบบและการสร้างระบบ แต่คนเป็นผู้ปฏิบัติ ถ้าคนไม่ทำตามกติกาการปฏิรูปก็เกิดขึ้นไม่ได้ การพยายามแก้ปัญหาหนึ่งกลับนำไปสู่ปัญหาหนึ่ง เพราะมีการตะแบงหลีกเลี่ยงตีความแบบศรีธนญชัยจนจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน ก็ต้องย้อนกลับไปยังส่วนของคนอันประกอบด้วยประชาชนผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง และนักการเมืองซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติการทางการเมือง ผลที่สุดแล้วประเด็นสำคัญก็คือวัฒนธรรมทางการเมืองของคนในสังคม ถ้าคนในสังคมไม่มีวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตย ขาดจิตวิญญาณของความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ขาดหิริโอตตัปปะ ขาดจริยธรรมทางการเมือง บกพร่องในศีลธรรมและคุณธรรม ถึงแม้จะสร้างระบบให้ดีเท่าไหร่ก็ตาม ถึงแม้จะร่างรัฐธรรมนูญกี่ฉบับก็ตาม การปฏิรูปการเมืองก็จะไร้ผล

ถ้าคนในสังคมนั้นมีพฤติกรรมที่แปลกแยกไปจากกรอบที่ควรจะเป็น การปฏิรูปการเมืองก็จะประสบความล้มเหลว ปัญหาต่างๆ 5 ข้อที่มีอยู่ก่อนการปฏิรูปการเมืองโดยรัฐธรรมนูญปี 2540 และความพยายามที่จะปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นในรัฐธรรมนูญปี 2550 ยังปรากฏให้เห็นอย่างปฏิเสธไม่ได้ตราบจนทุกวันนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น