ที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้เป็นอันขาดว่ากระแสปฏิรูปการเมือง เป็นผลมาจากการตื่นตัว ของ “ภาคประชาชน” ในนามของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ไม่ยอมอดทนกับนักการเมือง “น้ำเน่า”ภายใต้ “ระบอบทักษิณ” จึงลุกขึ้นมาต่อสู้ ทวงสิทธิ์ของตัวเอง ไม่ยอมตกเป็นเบี้ยล่างอีกต่อไป
ในที่สุดสถาบันพระปกเกล้ายอมรับเป็นเจ้าภาพในการปฏิรูปการเมืองตามที่รัฐบาลร้องขอ โดยแต่งตั้ง สุจิต บุญบงการ ประธานสภาพัฒนาการเมือง เป็นประธานกรรมการ วุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เป็นเลขาธิการ รวมทั้งมีกรรมการที่เหลืออีกไม่เกิน 50 คน โดยใช้เวลาในการรวบรวมข้อมูล เสนอแนะประเมินผล 8 เดือน
พร้อมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงชื่อเป็น “คณะกรรมการโครงการศึกษาเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตยและการเมืองการปกครอง” โดยอ้างว่าเพื่อให้ขอบข่ายในการศึกษาปัญหาได้ครอบคลุมทุกด้าน
อย่างไรก็ดีประเด็นไม่ได้อยู่ที่ชื่อสวยหรู หรือดูดีแค่ไหน แต่ความหมายน่าจะอยู่ที่การมีส่วนร่วม มีการเปิดกว้าง และผลการศึกษาออกมามีสาระจนได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายหรือไม่ต่างหาก
ที่ผ่านมาปฏิเสธไม่ได้เป็นอันขาดว่ากระแสปฏิรูปการเมือง เป็นผลมาจากการตื่นตัว ของ “ภาคประชาชน” ในนามของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ไม่ยอมอดทนกับนักการเมือง “น้ำเน่า”ภายใต้ “ระบอบทักษิณ” จึงลุกขึ้นมาต่อสู้ ทวงสิทธิ์ของตัวเอง ไม่ยอมตกเป็นเบี้ยล่างอีกต่อไป
แม้ว่าก่อนหน้านี้การเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จะมีทั้งคนชื่นชอบและไม่ชอบ มีทั้งหมั่นไส้และไม่เข้าใจระคนกันไป แต่ถือว่าได้จุดประกายครั้งสำคัญในการเรียกร้อง “การเมืองใหม่” ขึ้นมาในแผ่นดิน
เป็นการเมืองที่อาสาเข้ามาเพื่อเสียสละ มีความซื่อสัตย์ ยุติธรรม ทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่เข้ามาเพื่อกอบโกย เป็นช่องทางเพื่อสร้างอำนาจ สร้างความร่ำรวยให้ตัวเองและวงศ์ตระกูลอย่างที่นักการเมืองส่วนใหญ่กำลังเป็นอยู่ในเวลานี้
หลายคนเพียงแค่ไม่ชอบ “ขี้หน้า” หรืออคติกับแกนนำพันธมิตรฯบางคนที่เสนอเรื่องการเมืองใหม่ขึ้นมาแล้วหัวเราะเยาะโดยไม่มองข้ามสาระความจำเป็น กลับชิงกล่าวว่า ข้อเรียกร้องหรือแนวคิดที่เป็นนามธรรม ถึงขั้นปรามาสว่าเพ้อเจ้อก็มี
คนเหล่านั้นมองข้ามอุดมการณ์ ซึ่งเป็นเป้าหมายถ้าความสำเร็จเกิดขึ้นจะทำให้ประเทศชาติก้าวกระโดดไปข้างหน้าอย่างไรบ้าง
มาในวันนี้เมื่อรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เดินหน้าผลักดันปฏิรูปการเมือง ในเบื้องต้นก็ถือว่ามีความหวังขึ้นมาได้บ้างว่า การเมืองไทยกำลังก้าวมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้ง
อย่างไรก็ดีแม้ว่านาทีนี้ยังเร็วเกินไปที่จะมองเห็นทิศทางได้ชัดเจนว่าจะเดินไปตามเป้าหมายที่สังคมส่วนใหญ่ต้องการ อีกทั้งยังไม่ได้เห็นหน้าตาของกรรมการที่เหลืออีก 48 คน ว่าเป็นใครกันบ้าง และที่สำคัญกรรมการชุดนี้จะได้รับการยอมรับจากฝ่ายการเมืองหรือไม่
เนื่องจากแนวทางที่นายกรัฐมนตรีต้องการก็คือไม่ต้องการให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาเป็นเจ้าภาพ โดยให้เหตุผลว่ามีส่วนได้เสีย ฟังดูดีแต่จะเป็นไปได้หรือไม่ต้องติดตาม
ก่อนหน้านี้เริ่มมีเสียงคัดค้านออกมาบ้าง เท่าที่ได้ยินก็มี บรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย รวมทั้งยังไม่มีท่าทีตอบรับจากพรรคเพื่อไทยตัวแทนของ “ระบอบทักษิณ” เลยแม้แต่น้อย
เพราะการเคลื่อนไหวของคนกลุ่มนี้มีเป้าหมายเฉพาะหน้าคือเน้นแก้ไขรัฐธรรมนูญในบางประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของตัวเองและพรรคพวกทั้งในเรื่องของการนิรโทษกรรมทางการเมือง ยกเลิกข้อห้ามยุบพรรคการเมือง เน้นประโยชน์เฉพาะกลุ่มทั้งสิ้น
อีกมุมหนึ่งแม้ว่าไม่อยากมองในแง่ร้าย ยังเชื่อในเจตนาดี ความมุ่งมั่นที่จะให้การเมืองพัฒนาไปข้างหน้า แต่ช่วยไม่ได้อาจถูกมองว่านี่คือ “เกมซื้อเวลา” อย่างแนบเนียนที่สุด เนื่องจากนับนิ้วคำนวณตามตารางเวลาตั้งแต่ต้นจนจบแล้วใช้เวลาอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 18 เดือน หรือปีครึ่ง
และในช่วงเวลานี้ยังสามารถสยบกลุ่มการเมืองต่างๆให้หยุดเคลื่อนไหวได้อีกทางหนึ่งด้วย โดยบอกว่าหากมีข้อเรียกร้อง หรือมีข้อเสนอแนะให้เสนอไปยังคณะกรรมการปฏิรูปการเมืองก็แล้วกัน
ดังนั้นแม้ว่ายังไม่อาจเชื่อใจได้สนิทนักว่าการผลักดันคณะกรรมการปฏิรูปการเมืองขึ้นมาจะมีเป้าหมายอย่างจริงจัง หรือเป็นเพียงแค่กลเกมหวังซื้อเวลาทางการเมือง แต่อย่างไรก็ตามมั่นใจได้ว่ากระแสการตื่นตัวของภาคประชาชนเกิดขึ้นสูง และจะเป็นตัวกำหนดให้การเมืองต้องเดินอยู่ในกรอบนั้น แม้ว่าจะเต็มใจหรือไม่ก็ตาม
การเมืองใหม่กำลังก่อตัวให้เห็นเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นเรื่อยๆแล้ว !!