xs
xsm
sm
md
lg

ดุสิตโพลชี้ 49.98% อยากแก้ รธน. “อภิวันท์” หนุนนายกฯ ตั้ง กก.ปฏิรูป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย
สวนดุสิตโพล ชี้ร้อยละ 49.98 หนุนแก้ไขรัฐธรรมนูญ ระบุบางมาตรามีช่องโหว่ในการแสวงหาผลประโยชน์และไม่เป็นธรรมกับประชาชน “โคทม” ได้ทีจวกคนร่างมีอคติไม่ไว้ใจนักการเมือง ขณะที่ “อภิวันท์” หนุนนายกฯ ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมืองเพื่อแก้ไข รธน.-ออก พ.ร.บ.ปรองดอง

วันนี้ (16 ก.พ.) ที่ ร.ร.เดอะกรีนเนอรี่ รีสอร์ท เขาใหญ่ มีการสัมมนาของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรกับสื่อมวลชนประจำรัฐสภา วันที่ 2 ได้มีการเสวนาเรื่อง “ความคาดหวังในอนาคตกับรัฐธรรมนูญใหม่” โดย รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต กล่าวว่า จากสำรวจประชาชนเรื่อง “รัฐธรรมนูญในฝัน ในสายตาของประชาชน” เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนและเพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งใน กทม.และปริมณฑลจำนวน 1,770 คน ระหว่างวันที่ 12-15 ก.พ.2552 พบว่า รัฐธรรมนูญปี 50 พบว่า ร้อยละ 49.98 เห็นด้วยกับการแก้ไขเพราะบางมาตราเป็นช่องโหว่ในการแสวงหาผลประโยชน์ และไม่เป็นธรรมกับประชาชน โดยเฉพาะมาตรา 237 เรื่องการยุบพรรค ร้อยละ 27.45 ไม่เห็นด้วยเพราะเห็นว่าจะเอื้อประโยชน์ให้กับบางคนบางกลุ่ม และร้อยละ 12.77 ไม่แน่ใจเพราะยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน

ส่วนประเด็นที่ต้องแก้ไขนั้นร้อยละ 46.88 เห็นว่าต้องแก้เกี่ยวกับการเมืองนักการเมือง และมีการใช้อำนาจหน้าที่ของการนักการเมือง ร้อยละ 34.37 เห็นว่าต้องแก้ไขเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน ควรมีการควบคุมและกำหนดบทบาทหรือสิทธิที่ประชาชนควรมีอย่างชัดเจนและร้อยละ 18.75 เห็นว่าควรแก้ไขการศึกษาไทยและการขาดโอกาสทางการศึกษา ส่วนรัฐธรรมนูญในฝันที่ประชาชนอยากได้พบว่าร้อยละ 44.78 ควรมีความยุติธรรมเป็นกลางและมีความเสมอภาค ร้อยละ 25.37 ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมและร้อยละ 11.94 ควรให้เกิดประโยชน์กับประชาชนแลประเทศอย่างแท้จริง แต่อย่างไรก็ตาม ประชาชนยังเห็นว่ากลุ่มนักการเมืองยังเล่นแร่แปรธาตุและสิ่งที่ต้องแก้ไขก็คือตัวของนักการเมืองเอง นอกจากนี้ พบว่าร้อยละ 60-70 ประชาชนไม่สนใจการเมืองและไม่สนใจเรื่องรัฐธรรมนูญ

รศ.ดร.สุขุม กล่าวต่อว่า ทางออกในการแก้ไขรัฐธรรมนูญตนขอเสนอ 5 ทาง คือ 1.อย่าโยนหน้าที่ซึ่งกันและกัน แต่ต้องคิดว่าเป็นหน้าที่ อย่าคิดแต่ว่าหากรัฐบาลออกหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วจะทำให้เสียฐานเสียง 2.ต้องฟังเสียงประชาชน รวมถึงนักวิชาการ สื่อมวลชน 3. ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาผลดี ผลเสีย อย่ากลัวว่าจะเสียหน้าหรือเข้าทางคนนั้นคนนี้ 4.อย่าตั้งธงไว้ก่อนในแง่ผลประโยชน์ ว่าทำแบบนี้แล้วจะเอื้อผลประโยชน์ต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ หรือแก้แล้วจะเป็นการนิรโทษกรรม 111 อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยและยังพ่วงอีกหลายคนหลายพรรค และ 5.อย่าแก้เพื่อเอาหน้ารอด หรือแก้เพียงเฉพาะกิจเท่านั้น

นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในหัวข้อความคาดหวังในอนาคตกับรัฐธรรมนูญใหม่” ในตอนหนึ่งว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยล้มเหลวในระบอบประชาธิปไตยส่วนหนึ่งมาจากคนไทยไม่ศรัทธาในระบอบ เข้าไม่ถึงรัฐธรรมนูญ แทนที่จะปล่อยให้ทุกอย่างดำเนินไปตามกติกา แต่กลับล้มกระดานด้วยการรัฐประหาร ขณะเดียวกัน ระบอบประชาธิปไตยของไทยมีปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเผด็จการรัฐสภา และปัญหาการแก่งแย่งอำนาจโดยอ้างเรื่องโควต้าในการต่อรองให้หมดไปได้ รัฐธรรมนูญปี 2540 เข้าใจปัญหาเหล่านี้ดีแต่ก็กลับแก้ปัญหาผิด ขณะที่รัฐธรรมนูญปี 2550 แก้ปัญหาแบบเดินผิดทางโดยสิ้นเชิง เพราะยังไม่ได้แก้ปัญหาหรือแยกการตรวจสอบของฝ่ายนิติบัญญัติออกจากฝ่ายบริหารได้อย่างแท้จริง และไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องระบบโควต้าออกไปได้ แต่กลับดึงศาลลงมายุ่งกับการเมืองจนทำให้ความเชื่อถือต่อศาลลดลงอย่างต่อเนื่อง

นายปริญญา กล่าวต่อว่า แนวทางในการปฎิรูปการเมืองจะต้องทำให้ศาลกลับไปมีอำนาจตุลาการเพียงอย่างเดียว และต้องทำให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นอิสระจากรัฐบาล เพื่อให้สามอำนาจเป็นอิสระซึ่งกันและกันให้มีการคานอำนาจและตรวจสอบซึ่งกันและกันได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้ควรทบทวนประเด็นการบังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง เนื่องจากจะทำให้ส.ส.กลายเป็นตัวแทนพรรคการเมืองมากกว่าตัวแทนของประชาชน ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการบังคับ ส.ส.สังกัดพรรคไม่ได้แก้ปัญหา ส.ส.ขายตัวได้ แต่กลับทำให้มีการขายตัวกันมากขึ้น และต้องทำความเข้าใจใหม่ว่าการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรงมิใช่การเลือกประมุขของประเทศ แต่เป็นการเลือกผู้นำฝ่ายบริหารเท่านั้น

ทั้งนี้ เป้าหมายที่จะทำให้การปฏิรูปการเมืองประสพความสำเร็จ คือจะต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้ดีโดยให้มีมาตราน้อยที่สุด โดยวางกรอบที่จะแก้ปัญหาพื้นฐานของระบบรัฐสภา โดยใช้ความรู้และมีการส่วนร่วมของทุกฝ่ายให้สมดุลกันและแก้กติกาให้เป็นกติกาของคนในชาติอย่างแท้จริง อย่าเขียนแต่เรื่องส่วนตัว ทั้งนี้จะสำเร็จได้รัฐบาลต้องเป็นผู้เริ่ม ส่วนกรณีข้อเสนอร่าง พ.ร.บ.ความปรองดองแห่งชาตินั้น ตนเห็นว่าไม่ใช่การแก้ปัญหาที่แท้จริง แต่กลับกลายเป็นว่าต้องการให้ทุกอย่างเจ๊ากันไปเพื่อจะทำความผิดใหม่อีกครั้งเท่านั้น แต่ควรแก้ไขที่กติกาให้เป็นกติกาของทุกคน

นายโคทม อารียา ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า การร่างรัฐธรรมนูญทั้งปี 40 และ 50 เกิดจากสมมติฐานความไม่วางใจนักการเมือง ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะกลับไปเน้นที่ระบบเลือกตั้ง ความเข้มแข็งของภาคการเมืองและที่มาขององค์กรอิสระเท่านั้น การที่รัฐบาลประกาศจะมีกรรมการปฏิรูปกรเมืองตนเห็นว่าคนที่จะมาเป็นคณะกรรมการควรศึกษาและดูองค์ความรู้ของสังคมไทยในปัจจุบันและมองการณ์ไกลไปข้างหน้าว่าสังคมไทยอยากได้อะไร ไม่ใช่ลอกเลียนแบบรัฐธรรมนูญที่เป็นข้อดีจากต่างประเทศมาใส่รวมไว้โดยไม่ดูสถานการณ์และความพร้อมของประเทศไทยและยังไม่สามารถดึงคนเก่งที่สุจริตขึ้นมาบริหารประเทศ ยังไม่สามารถที่จะทำให้ทหารและฝ่ายนิติบัญญัติได้อำนาจมาด้วยความชอบธรรม สำหรับการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมืองนั้น โดยส่วนตัวนั้นมองว่าควรมีการสานเสวนาขึ้นมา โดยรัฐบาลควรเป็นผู้ไปคิดวิธีการดังกล่าว เพื่อให้ได้ความคิดในหลายแง่มุม ที่มาจากบุคคลหลายกลุ่ม

ขณะที่ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สอง มองว่าหัวใจสำคัญของระบอบประชาธิปไตยคือสิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียมกันกับความเสมอภาคของประชาชน ทั้งนี้หากตราบใดที่เศรษฐกิจในประเทศไม่ดีขึ้น ประชาชนยังไม่มีสิทธิความเสมอภาคที่เท่าเทียมกันในการประกอบอาชีพ ตราบนั้นประชาธิปไตยก็ยังไม่เกิดขึ้น สำหรับปัญหาของรัฐธรรมนูญนั้นโดยเฉพาะรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นการร่างรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นมาโดยมีอคติ นักการเมืองเลวร้าย ซึ่งการรัฐธรรมนูญที่ดีต้องปราศจากอคติ ทั้งด้านความรัก ความหลง และความกลัว ถึงจะเป็นรัฐธรรมนูญที่ดี ส่วนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญคงต้องรอให้คณะกรรมการปฏิรูปการเมืองที่นายกฯ มีแนวคิดจะแต่งตั้งเป็นคนกำหนดกรอบการแก้ไข รวมถึงออกร่าง พ.ร.บ.ความปรองดองแห่งชาติด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น