“ส.ว.คำนูณ” ตั้งกระทู้ถามนายกฯ ถึงรายละเอียดรูปธรรม “ปฏิรูปการเมือง” ระบุ ควรเร่งทำ เหตุสถานการณ์ไม่ปกติ ภารกิจรัฐบาลต้องแก้วิกฤติการเมืองเป็นอันดับแรก เพื่อดับความขัดแย้งที่กำลังประทุ จากการเสนอ กม.นิรโทษกรรม และร่างแก้ไข รธน.ฉบับ “หมอเหวง” ยังจ่อวาระ 1 การประชุมร่วม 2 สภา แนะประยุกต์ใช้ คพป.ที่มี “น.พ.ประเวศ”เป็นประธานเมื่อปี 37 ร่วมกับ กอส.ที่มี “อานันท์” เป็นประธานในปี 48
บ่ายวันนี้ (16 ก.พ.) นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา ประเภทสรรหา ได้ยื่นหนังสือถึงประธานวุฒิสภาตั้งกระทู้ถามด่วนนายกรัฐมนตรีเรื่องแนวทางในการดำเนินการปฏิรูปการเมืองตามนโยบายของรัฐบาล ข้อ 1.1.3 มีเนื้อหาสาระสำคัญว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีได้กล่าวในคำปราศรัยแรกหลังรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 ธ.ค.2551 ว่า “หน้าที่เบื้องต้นของผม คือ การยุติการเมืองที่ล้มเหลว” และได้เขียนไว้ในนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 30 ธ.ค.2551 ข้อ 1.1.3 ซึ่งอยู่ในหัวข้อนโยบายเร่งด่วนที่จะดำเนินการในปีแรก ว่า จะจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาแนวทางการดำเนินการปฏิรูปการเมือง โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เพื่อวางระบบการบริหารประเทศให้มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพในแนวทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพสังคมไทย รวมทั้งสามารถตอบสนองต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และเป็นไปตามความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ขอถามรายละเอียดรูปธรรมของแนวทางในการดำเนินการตามนโยบายนี้ และเมื่อไรถึงจะดำเนินการได้ รวมทั้งจะมีกรอบระยะเวลาในการปฏิบัติงานของคณะกรรมการหรือองค์กรที่จะจัดตั้งขึ้นแค่ไหน อย่างไร
“ที่ผมยื่นกระทู้นี้ ก็เพราะเห็นว่าในเมื่อท่านนายกฯ บอกว่า เป็นหน้าที่เบื้องต้น ก็ควรจะเร่งทำ เพราะแม้ท่านจะมาจากระบบตามปกติ แต่ก็มาในสถานการณ์ของประเทศที่ไม่ปกติอย่างยิ่ง อาจกล่าวได้ว่า เป็นรัฐบาลเฉพาะกิจหรือเฉพาะกาลในรูปแบบหนึ่ง สมควรบริหารประเทศโดยจัดลำดับความสำคัญก่อนหลังให้ถูก ผมเห็นว่าปัญหาวิกฤตการเมืองเป็นปัญหาเร่งด่วนที่สุดสำคัญที่สุด”
นายคำนูณ กล่าวต่อว่า ปัญหาแนวโน้มความขัดแย้งแตกต่างทางความคิดที่กำลังเกิดขึ้นจากกรณีที่ส.ส.พรรคเพื่อไทยจะเสนอร่าง พ.ร.บ.ความปรองดองแห่งชาติ ที่มีเนื้อหานิรโทษกรรมทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร, กรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญยุบ และพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั้น จะไม่เป็นประเด็นเลยหากมีคณะกรรมการหรือองค์กรเพื่อศึกษาแนวทางการปฏิรูปการเมืองขึ้น รัฐบาลไม่จำเป็นต้องออกมาตอบโต้ โดยยกให้เป็นเรื่องของคณะกรรมการหรือองค์กรดังกล่าว วันนี้ แม้นายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงจะโยนให้เป็นเรื่องของกระบวนการปฏิรูปการเมืองโดยรวมก็จริง แต่ปัญหาคือ กระบวนการปฏิรูปการเมืองที่ท่านว่ายังไม่มีเค้าว่าจะเกิดขึ้นเลย
ส.ว.สรรหาคนนี้ กล่าวต่อไปว่า ตราบใดที่ยังไม่มีคณะกรรมการ หรือองค์กรเพื่อภารกิจปฏิรูปการเมือง รัฐบาลจะต้องตกเป็นฝ่ายรับในการเผชิญหน้ากับปัญหา ไม่เพียงแต่เรื่องร่าง พ.ร.บ.ความปรองดองแห่งชาติเท่านั้น ขณะนี้ก็เริ่มมีการผลักดันเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญและเรื่องรัฐบาลแห่งชาติขึ้นมาอีกแล้ว และในความเป็นจริง ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับ คพปร.ที่ประชาชนกว่า 50,000 คน ภายใต้การนำของ น.พ.เหวง โตจิราการเข้าชื่อกันเสนอก็ยังบรรจุอยู่ในระเบียบวาระเรื่องด่วนที่ 1 คาอยู่ในการประชุมร่วมกันของ 2 สภา
“รัฐบาลบริหารประเทศเหมือนประเทศอยู่ในภาวะปกติ เห็นปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจและการยอมรับจากต่างประเทศเป็นเรื่องเร่งด่วนอันดับ 1 ซึ่งผมขออนุญาตเห็นต่าง หากนายกฯอภิสิทธิ์ ให้ความสำคัญกับเรื่ององค์กรที่จะมีภารกิจปฏิรูปการเมืองจริง ควรจัดระดมสมองเป็นการภายในสัก 3 วัน 7 วัน ติดต่อประสานฝ่ายต่างๆ การนับ 1 ก็น่าจะเกิดขึ้นได้ในเร็ววัน นั่นจะเป็นเกราะคุ้มกันการทำงานของรัฐบาลที่ดีที่สุด และทำให้บริหารเรื่องอื่นได้ราบรื่นขึ้น”
ในส่วนของรูปแบบของคณะกรรมการหรือองค์กรเพื่อการปฏิรูปการเมืองนั้น ส.ว.สรรหาคนนี้กล่าวว่า รัฐบาลจะต้องประยุกต์จากคณะกรรมการพัฒนาการเมือง (คพป.) สมัยปี 2537 ที่มี ศ.นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน และคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติสมัยปี 2538 ที่มี นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน เข้าด้วยกัน โดยมอบให้สถาบันพระปกเกล้าเป็นหน่วยธุรการและหน่วยวิชาการ ระยะเวลาในการทำงานน่าจะอยู่ในช่วง 8 เดือน หรือไม่เกิน 1 ปี
ส่วนกรณีที่ นายอภิสิทธิ์ บอกว่า การตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมืองจะเสร็จใน 6 เดือนนั้น นายคำนูณ เห็นว่า เป็นระยะเวลาที่ยาวนานเกินไป
“รัฐบาลควรศึกษาบทเรียนจากรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่ถือว่าเป็นรัฐบาลเฉพาะกิจหรือเฉพาะกาล แต่ก็ไม่ได้ใช้โอกาสที่มีริเริ่มการแก้ปัญหาที่รากฐาน ได้แต่บริหารประเทศไปเหมือนสถานการณ์ปกติทั่วไป รอและเร่งแต่ให้มีการเลือกตั้ง สุดท้ายก็สร้างปัญหาคาราคาซังที่แก้ไขยากขึ้นไว้จนทุกวันนี้” นายคำนูณ กล่าวในที่สุด
ทั้งนี้ การประชุมวุฒิlสภาในวันศุกร์ที่ 20 ก.พ.นี้ จะถูกเลื่อนออกไปเป็นวันจันทร์ที่ 23 ก.พ. และจะมีการประชุมเพียงวาระเดียวคือการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ 2552 ดังนั้นจึงคาดว่า กระทู้ถามของนายคำนูณในเรื่องดังกล่าวจะถูกบรรจุเข้าอยู่ในวาระการประชุมของวุฒิสภาอย่างเร็วที่สุด คือ วันศุกร์ที่ 27 ก.พ.