xs
xsm
sm
md
lg

ส.พระปกเกล้ารับเป็นเจ้าภาพปฏิรูปการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา10.00 น. วานนี้ (9มี.ค.) ที่ห้องประชุมรำไพพรรณี สถาบันพระปกเกล้า ได้มีการประชุมสภาสถาบันพระปกเกล้า โดยมีนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ในฐานะประธานสภาสถาบันพระปกเกล้าเป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาถึงกำหนดแนวทางและรูปแบบการจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง ตามที่นายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือขอให้สถาบันพระปกเกล้าเป็นเจ้าภาพในการปฏิรูปการเมืองครั้งใหม่ ทั้งนี้ก่อนการประชุม นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ กรรมการสภาสถาบันพระปกเกล้า ให้สัมภาษณ์ว่า ได้วางกรอบคร่าวๆ เพื่อเสนอที่ประชุมไว้คือ 8-3-8 โดยให้มีคณะกรรมการศึกษาแนวทางปฏิรูปการเมืองทำการศึกษาให้แล้วเสร็จภายใน 8 เดือน จากนั้นใช้เวลาอีก 3 เดือน เพื่อให้ได้มาซึ่งสภาร่างรัฐธรรมนูญ และให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 8 เดือน รวมเวลาทั้งสิ้น 19 เดือน
ต่อมาเมื่อเวลา12.00 น. นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า พร้อมด้วยนายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันฯ ร่วมกันแถลงผลการประชุม โดยนายบวรศักดิ์ กล่าวว่า สภาสถาบันฯ มีมติให้สถาบันพระปกเกล้ารับทำการศึกษาเพื่อพัฒนาประชาธิปไตย และการเมืองการปกครอง โดยวางกรอบการศึกษาไว้คร่าวๆ คือ ศึกษาสภาพการณ์อันเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบการเมืองร่วมกัน ระหว่างผู้มีส่วนได้เสียในระบบการเมือง และจัดทำข้อเสนอสำหรับการพัฒนาประชาธิปไตยและการเมืองการปกครองโดยความสมานฉันท์ และเห็นพ้องต้องกันของสาธาณะชน
ทั้งนี้จะไม่ใช้คำว่า ปฏิรูปการเมือง เพราะหากใช้คำดังกล่าวจะทำให้การศึกษาแคบเกินไป และที่ผ่านมาได้ปฏิรูปการเมืองมาหลายครั้งเกินไปแล้ว จนหลายฝ่ายรู้สึกเหนื่อยหน่ายกับการปฏิรูปแล้ว
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังมีมติแต่งตั้งนายสุจิต บุญบงการ ประธานสภาพัฒนาการเมือง มาเป็นประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อศึกษา และแต่งตั้งนายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เป็นเลขานุการคณะกรรมการฯ เพื่อรับฟังความคิดเห็น และเสนอแนะการพัฒนาประชาธิปไตย และการเมืองการปกครอง โดยคณะกรรมการอิสระดังกล่าว จะประกอบด้วยตัวแทนจากทุกภาคส่วนไม่เกิน 50 คน ทำการรับฟังความคิดเห็น และเสนอแนะการพัฒนาประชาธิปไตยและการเมืองการปกครอง ใช้เวลาศึกษาความคิดเห็นให้แล้วเสร็จภายใน 8 เดือน หรือประมาณเดือนพ.ย.52 โดยแยกเป็น 3 ระยะคือ 1. ศึกษาข้อเสนอแนะ และรับฟังความเห็นจากผู้นำการเมือง ทั้งจากนายกรัฐมนตรี ประธานวุฒิสภา สภาผู้แทนราฎร ผู้นำฝ่ายค้าน ผู้แทนกลุ่มพันธมิตรฯ ผู้แทนกลุ่มนปช. ผู้แทนศาล และองค์กรตามรัฐธรรมนูญ บุคลที่ยอมรับของสังคม ผู้แทนภาคเอกชน และภาคประชาสังคม และรับฟังความเห็นจากประชาชน 76 จังหวัด
2. จากนั้นนำมาจัดทำเป็นข้อเสนอเบื้องต้น และนำข้อเสนอเบื้องต้นไปรับฟังความเห็นจากกลุ่มต่างๆ และจากประชาชนทั้ง 76 จังหวัดอีกครั้ง
3.คณะกรรมการอิสระจะนำข้อเสนอต่างๆมาจัดทำข้อเสนอสุดท้าย สรุปปรับปรุงข้อเสนอสุดท้าย และจัดส่งให้คณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และพิมพ์เผยแพร่ให้ประชาชนทราบ
เมื่อถามว่า หากตัวแทนของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยอมตอบรับเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการอิสระ นายบวรศักดิ์ ตอบว่า คงบังคับกันไม่ได้ แต่ก็ต้องประสานไปก่อน ถ้าเขาไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมก็คงต้องเดินหน้าต่อไป เมื่อถามถึงข้อวิจารณ์ความไม่เป็นกลาง ของสถาบันพระปกเกล้า นายบวรศักดิ์ ตอบว่า สถาบันพระปกเกล้า ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่อยู่ทั้งฝ่ายค้าน และรัฐบาล เป็นธรรมดาที่มักจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ แต่ขอให้ดูด้วยว่า ใครเป็นคนวิจารณ์ และวิจารณ์เพื่อประโยชน์อะไรกันแน่
อย่างไรก็ตาม ขั้นต่อจากนี้ไปคือจะทำหนังสือถึงรัฐบาลเพื่อให้รัฐบาลไปหารือกับฝ่ายค้านว่ารับข้อเสนอนี้หรือไม่ ถ้ารับก็จะเริ่มแต่งตั้งกรรมการอิสระ และดำเนินการต่อไป แต่ถ้าไม่รับทุกอย่างก็จบถือว่ายุติ
ด้านนายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งจะทำหน้าที่เลขานุการคณะกรรมการอิสระฯ กล่าวว่า ในเบื้องต้นได้วางกรอบการคัดเลือกกรรมการอิสระไว้ว่า จะต้องมาจากทั้งตัวแทนนปช. ตัวแทนพันธมิตรฯ นักการเมือง ที่ประชุมคณบดีคณะนิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ 4 ภาค และที่ประชุมอธิการบดีทั้งประเทศ และที่ประชุมอธิการบดีของมหาวิทยาลัยเอกชน ตัวแทนกองทัพ ตัวแทนท้องถิ่น ตัวแทนภาคเอกชน ทั้งสภาหอการค้า เอ็นจีโอ โดยจะไม่นำเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาเป็นเป้าหมายหลัก เนื่องจากควรศึกษาให้รู้ว่า ต้นเหตุของปัญหาการเมือง คืออะไร มีอุปสรรคอย่างไร โจทก์หลักคือ การพัฒนาประชาธิปไตยและการเมืองการปกครอง ไม่ใช่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การตรวจสอบพื้นที่ประชาชนภาคพลเมือง

**"สุจิต"ยันต้องทำงานอย่างอิสระ
นายสุจิต บงบุญการ ประธานสภาพัฒนาการเมือง กล่าวหลังได้รับการแต่งตั้งเป็นประธาน ทำการศึกษาพัฒนาประชาธิปไตย และการเมืองการปกครองว่า เรื่องนี้คิดว่าต้องยอมรับความจริงว่า บ้านเมืองมีปัญหา ถ้าทำให้บ้านเมืองสงบสุขเรียบร้อยได้ก็ควรทำ ความจริงอยากให้ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองมาทำ แต่อาจไม่สะดวก เมื่อมีคนมาพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ และเป็นการช่วยเหลือประเทศชาติ ก็จะทำให้ดีที่สุด ยืนยันว่าการทำงานครั้งนี้ต้องอิสระ จะมีการเสนอแนะแก้ไขการเมืองให้มีประสิทธิภาพ นักการเมืองต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น หลักการจะรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง และประชาชนทุกฝ่าย เพื่อปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนกรอบการพิจารณาต้องเป็นไปตามการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
เมื่อถามว่าหากกลุ่มคนเสื้อแดง และฝ่ายค้านไม่เห็นด้วยจะทำอย่างไร นายสุจิต กล่าวว่า เข้าใจว่าไม่ยอมรับง่ายๆ แต่สถาบันพระปกเกล้า ไม่ได้สังกัดการเมือง ถ้าไม่เอาสถาบันพระปกเกล้า ก็มองไม่ออกว่าจะเอาหน่วยงานไหน การเสนอตน ก็เชื่อว่ามีคนบางคนไม่เห็นด้วย แต่คิดว่าการทำงาน น่าจะดูที่เนื้อหา คงไม่เอาตัวบุคคลอย่างเดียว ตนมีคนรู้จัก ก็ยอมรับว่ามีคุ้นเคยและมีคนรู้จักเยอะแยะ แต่ความคิดเห็นทางการเมือง ตนก็มีความชัดเจนตั้งแต่ต้น สิ่งที่ทำมันอาจจะไม่เข้าทางบางคน แต่ผมก็ยืนยันว่า ทำทุกอย่างเพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติ
เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่ที่เป็นตุลาการเสียงข้างน้อย ในการพิจารณาการซุกหุ้นของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายสุจิต กล่าวว่า การวินิจฉัยคดีพ..ต.ท.ทักษิณ เป็นการวินิจฉัยบนข้อเท็จจริง ไม่ได้อยู่ในอานัติของใคร ทุกอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มีจิตใจเล่นงานใคร ประเด็นนี้ไม่น่าเป็นปัญหาหรือหยิบยกมาเป็นเรื่องที่มีปัญหา
ผู้สื่อข่าวถามว่าอยากให้พูดเรื่องความเป็นอิสระในการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้ มีมากน้อยเพียงใด นายสุจิต กล่าวว่าต้องเป็นอิสระไม่ได้อยู่ภายใต้การทำงานของฝ่ายค้าน หรือรัฐบาล ไม่ทำอะไรภายใต้การชี้นำทางการเมือง
**มาร์ครับได้สุจิตเป็นประธาน
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังจากสถาบันพระปกเกล้ารับเป็นเจ้าภาพในการปฏิรูปการเมืองแล้ว ตนจะเชิญฝ่ายค้านมาร่วมพูดคุยกัน โดยหลักการ เราขอให้สถาบันพระปกเกล้าเป็นแกน แต่ไม่ได้หมายความว่า ทำคนเดียว แต่ต้องเป็นกระบวนการที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม รวมถึงฝ่ายการเมืองด้วย
ส่วนที่มีการตั้ง นายสุจิต บุญบงการ มาเป็นประธานคณะกรรมการฯ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่มีปัญหา ส่วนระยะเวลาที่มีข่าวว่า เสนอ 8 เดือนนั้นคงต้องดูกรอบ ทำอะไรบ้าง แต่ขณะนี้ยังไม่เห็นข้อเสนอและรายละเอียด จริงๆแล้วคิดว่าที่สุดเขาต้องมีเป็นตัวคณะกรรมการ หรือคณะทำงานขึ้นมา และวันนี้ที่เราหวังว่า เขาจะสามารถตอบกลับมาได้คือ ทำอะไรได้บ้าง ในกรอบเวลา ซึ่งบางทีอาจจะต้องแบ่งเป็นระยะๆ บางเรื่องอาจจะเร่งด่วนก็ใช้เวลาไม่มาก บางเรื่องเป็นเรื่องใหญ่ต้องใช้เวลาก็ทอดเวลายาวออกไปได้

**แนะใช้หลักพุทธศาสนาปัญหา
นาย อักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวว่า ตนเคยพูดไปแล้วว่า การปฏิรูปการเมืองเพื่อแก้ปัญหานั้น รู้หรือไม่ว่าปัญหาคืออะไร อยู่ที่ใด แล้วการจะปฏิรูป คือการแก้เพียงรัฐธรรมนูญเท่านั้นหรือ คงไม่ใช่แต่จะต้องทำมากกว่านั้น โดยการแก้ปัญหา ก็ต้องดูว่าควรแก้โดยวิธีไหน ด้วยใคร อย่างไร ซึ่งยังจะต้องใช้เวลาคิดกันอีกเยอะ
"ไม่ใช่ว่าผมไม่เห็นด้วยกับการจะปฏิรูปการเมือง แต่คำว่าปฏิรูปนั้น เป็นเรื่องใหญ่ มีภาพกว้างซึ่งเวลานี้เรายังไม่รู้ว่าเป็นอะไร ดังนั้นก่อนอื่นจะต้องศึกษาเสียก่อนว่า ปัญหาเกิดจากอะไร ซึ่งเวลานี้แม้บ้านเมืองจะมีปัญหา แต่การใช้คำว่า ปฏิรูป โดยที่ยังไม่รู้ว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไร เราก็ไม่สามารถแก้ปัญหา ซึ่งเหมือนหลักสอนของพระพุทธเจ้า ที่เราต้องย้อนไปดูเหตุของปัญหาเสียก่อน"
นายอักขราทร ยังกล่าวถึงกรณีที่มีการเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เนื่องจากเห็นว่า มีการนำบังคับใช้อย่างไม่เป็นธรรม ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องมีการศึกษาอย่างละเอียดว่า ปัญหาอยู่ที่เนื้อหาของกฎหมาย หรือการบังคับใช้ของรัฐ แล้วแก้ไขปรับปรุงตรงนั้น แต่ขณะนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์จนมั่วไปหมด ทำให้เป็นปัญหาทางการเมือง จนไม่มีหลักวิชาการ หลักกฎหมาย ลืมไปว่าโดยเฉพาะที่มา และการบังคับใช้กฎหมายของแต่ละประเทศที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นประมุขมีความแตกต่างกัน
นายอักขราทร ยังกล่าวถึงบทบาทของตุลาการภิวัฒน์ ที่มีส่วนในการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองที่ผ่านมาว่า การปฏิบัติหน้าที่ของตุลาการ คือการยุติคดี ซึ่งตุลาการได้ใช้หลักกฎหมาย ตีความเพื่อพิจารณาพิพากษาคดี เพียงแต่คดีที่เกิดขึ้นไปเกี่ยวข้องกับมีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และข้าราชการ ตกเป็นจำเลยเท่านั้น ซึ่งการตัดสินคดีไม่ว่าจะเป็นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ศาลปกครอง ก็เป็นการตัดสินคดีโดยใช้หลักกฎหมาย แม้แต่ศาลรัฐธรรมนูญ ก็เป็นการตัดสินคดีที่พิจารณาถึงความชอบด้วยกฎหมายของรัฐธรรมนูญ

**ปฏิรูปการเมืองไม่ใช่แก้รธน.
นายสุริยะใส กตะศิลา ผูประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวถึงกรณีที่สถาบันพระปกเกล้า จะเชิญตัวแทนพันธมิตรฯ เข้าร่วมว่า ยังไม่มีการนำเรื่องนี้เสนอในที่ประชุมแกนนำพันธมิตรฯ แต่หากจะมีบุคคลเข้าร่วมก็คงไม่ใช่ 5 แกนนำ อาจเป็นผู้แทนของพันธมิตรฯ ที่อาจจะเป็นนักวิชาการที่เป็นแนวร่วมของพันธมิตรฯเข้าร่วมประชุมแทน
"หากแผนปฏิรูปการเมือง มีข้อสรุปว่าจะเขียนรัฐธรรนูญใหม่ หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผมเห็นว่าไม่มีประโยชน์อะไร แต่หากมีการทบทวนเรื่องการปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจ เพื่อพัฒนาประเทศไปข้างหน้า น่าจะมีประโยชน์มากกว่า เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ไม่ได้มีปัญหาในการปกครองประเทศ แต่ปัญหาหลักใหญ่ของประเทศ คือการที่เรามีนักการเมืองไม่มีประสิทธิภาพ ฉ้อฉลมากกว่า”นายสุริยะใสกล่าว
นายสุริยะใส กล่าวด้วยว่า หากเวทีดังกล่าวมีกลุ่ม นปช.เข้าร่วมด้วย ก็คงจะใช้เวทีนี้ เพื่อฟอกผิดให้กับพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งจะไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ

**40ส.ว.หนุน ส.พระปกเกล้าเจ้าภาพ
นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา แกนนำกลุ่ม40 ส.ว. กล่าวว่า ทางกลุ่มสนับสนุนแนวทางการปฏิรูปการเมืองอยู่แล้ว เพราะสอดคล้องกับข้อเสนอของ 24 อธิการบดีมหาวิทยาลัย ก่อนหน้านี้ ที่เสนอให้ศึกษาประเด็นปัญหาในสังคมการเมืองไทยก่อน ส่วนที่นักวิชาการบางส่วนไม่เห็นด้วย เพราะมองว่าบรรยากาศการเมืองขณะนี้ยังไม่เอื้อให้ทุกภาคส่วนมาร่วมกันเดินหน้าเรื่องนี้นั้น ตนมองว่า เมื่อปัญหาการบังคับใช้กฎหมายที่มองกันว่าไม่เท่าเทียมกันระหว่างกลุ่มเสื้อเหลือง เสื้อแดง ตรงนี้ก็เป็น 1 ในปัญหา ฉะนั้นกรรมการ ก็ต้องมาศึกษาเรื่องนี้ด้วย
"เมื่อมีปัญหาอยู่ก็เหมาะสมแล้วที่จะมาทำความเข้าใจกับองค์รวมทั้งหมดว่า ปัญหาจริงๆ คืออะไร ไม่เช่นนั้น ก็ไม่รู้ว่า จะทำตอนไหน อย่างไรก็ดี ที่สถาบันพระปกเกล้า จะส่งให้รัฐบาลและฝ่ายค้านหารือว่า จะรับแนวทางนี้หรือไม่นั้น กลุ่ม 40 ส.ว. คิดว่า น่าจะส่งมาวุฒิสภาด้วย เพื่อฟังความเห็น เพราะส.ว.ก็มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องนี้ " นายไพบูลย์กล่าว
**"ภูมิใจไทย"หนุน“ส.พระปกเกล้า
นายศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษกพรรคภูมิใจไทยกล่าวว่า เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากสถาบันพระปกเกล้า เป็นสถาบันการเมือแห่งเดียวที่ได้รับการยอมรับ และ ยังเป็นสถาบันทางการเมืองที่เป็นหน่วยงานของรัฐสภา ซึ่งตนเชื่อว่าสถาบันพระปกเกล้าจะให้ความเป็นกลาง และควรที่จะให้รัฐบาลและฝ่ายค้าน เข้าไปเป็นกรรมการในการปฏิรูปการเมืองในครั้งนี้ด้วย เพราะเราจะได้ความคิดเห็นที่รอบด้าน
กำลังโหลดความคิดเห็น