xs
xsm
sm
md
lg

“บวรศักดิ์” ชี้คนจนติดใจประชานิยมเลิกไม่ได้ ติงใช้ฉาบฉวยปัญหายิ่งปะทุ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ
“บวรศักดิ์” ชี้ประชาธิปไตยไม่เหมาะกับคนไทยเพราะคนจนเยอะ แนะปรับโครงสร้างรัฐ จัดสรรทรัพยากรใหม่ ติงใช้ประชานิยมฉาบฉวย ปัญหายิ่งปะทุ คนจนติดใจรสประชานิยมเลิกไม่ได้ ทรัพยากรหมดประเทศอนาคตเป็นหนี้ระยะยาว เกิดเป็นวิกฤตเศรษฐกิจเหมือนละตินอเมริกา

วันนี้ (24 ก.พ.) ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวในการปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การเมืองไทยในปัจจุบัน” ในการประชุมวิชาการโรงพยาบาลราชวิถี ครั้งที่ 20 ประจำปี 2552 ว่า การปกครองประเทศแบบประชาธิปไตย เหมาะกับประเทศที่มีคนชนชั้นกลางมาก แต่ประเทศไทยไม่ใช่ เพราะมีแต่คนจนและคนชอบประชานิยมแบบไม่มีเหตุผล ลด แลก แจก แถมไปเรื่อย ทางออกคือ ต้องจัดสรรโครงสร้างทรัพยากรทางเศรษฐกิจใหม่ ด้วยการปรับโครงสร้างภาครัฐ ให้คนชนชั้นล่างมีอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจโดยไม่ต้องพึงพารัฐ สามารถทำได้โดย 1 ใช้รัฐธรรมนูญ กฎหมาย ให้เปิดโอกาสมากขึ้น โดยปรับภาษีอากร หารายได้มาบริหารจัดการรายจ่าย โดยนำเงินจากคนมั่งมีมาช่วยคนจน เช่น ภาษีมรดก ภาษีที่ดิน ลดการกระจุกตัวกลุ่มทุนธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ต้องไม่ก่อให้เกิดวิกฤติตามมาอีก โดยค่อยๆ ทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่กระชากทรัยพ์จากคนมีให้คนจน เหมือนระบอบคอมมิวนิสต์ มิฉะนั้นจะกลับไปสู่วิกฤตอีกรอบ และทางออกวิกฤตก็ขึ้นอยู่กับคนในสังคมทั้งหมด ไม่ใช่แค่นักการเมือง หรือ รฐสภา เพราะเป็นเรื่องใหญ่เกินที่ใครจะทำเพียงคนเดียว

ดร.บวรศักดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เกิดมานานแล้วเนื่องจากสังคมมีความเหลื่อมล้ำทางโครงสร้าง และมีความรุนแรงมากขึ้นตั้งแต่เริ่มมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับแรก มีการเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารประเทศโดยยังไม่มีความพร้อม โดยเปลี่ยนจากเทศาภิบาล ขุนนางกินเมือง เป็นระบบกระทรวง ทบวง กรม ข้าราชการกินเงินเดือน รายได้จากพระคลังสินค้า เปลี่ยนเป็นได้มาจากภาษีอากร นอกจากนี้ แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ยังไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงกับสภาพสังคมไทย มีแต่การเน้นเรื่องการผลิต การส่งออก แต่ไม่มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจใดที่กล่าวถึงการพัฒนาภาคเกษตรกรรมซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ อีกทั้งเป็นอาชีพขอลคนส่วนใหญ่ของประเทศ เมื่อข้าวมีราคาแพง รัฐบาลกลับไม่ดีใจและเอาใจแต่คนในเมืองจนทำให้ราคาตกลง

ดร.บวรศักดิ์ กล่าวต่อว่า สาเหตุหลักของความขัดแย้ง เหลื่อมล้ำ เป็นเพราะคนจนไม่เคยได้รับการช่วยเหลือ ไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากร มีแต่ชนชั้นกลางกับชนชั้นสูงที่ได้รับการส่งเสริม จึงทำให้เกิดคนจนจำนวนมาก คนรวย ก็รวยมากขึ้น ส่วนคนจนก็ยิ่งจนลง เมื่อคนจนไม่มีอำนาจต่อรองทรัพยากรเหมือนชนชั้นกลางความขัดแย้งจึงยิ่งทวีคูณ และชนชั้นกลางก็ไม่เอาพรรคการเมือง การเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคการเมืองจึงหันไปแข่งขันเชิงนโยบาย เอาประชานิยมมาใช้จนพรรคไทยรักไทยได้คะแนนท่วมท้น เมื่อคนจนได้ชิมรสชาติของทรัพยากรต่างๆ และได้รับอำนาจเพิ่มขึ้น จึงติดใจนโยบายประชานิยมและไม่กล้าตรวจสอบรัฐบาล ส่วนพรรคไทยรักไทย ก็เป็นการรวมตัวของมหาเศรษฐีแบบไม่เคยมีมาก่อน จนเกิดปัญหาการคอรับชั่นเชิงนโยบาย


ดร.บวรศักดิ์ กล่าวว่า ความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น เพราะนักการเมืองในสมัยที่แล้วรู้เห็นเป็นใจและปลุกให้กลุ่มคนเสื้อแดงขึ้นมาต่อสู้กัน และไม่มีใครรู้ได้ว่าความขัดแย้งนี้จะจบลงเมื่อไหร่ ซึ่งความขัดแย้งอาจเกิดจาก 2 ปัจจัย คือ 1.มาจากความขัดแย้งของคนเสื้อเหลืองกับอดีตนายกฯ ที่ผู้ต่อต้านไม่ยอมรับการได้มาซึ่งอำนาจ หากฝ่ายหนึ่งยอมหยุดก็จะยุติเพียงชั่วคราวเท่านั้น หากมีคนที่ใช้วิธีเดียวกันขึ้นมาอีกก็จะเกิดความขัดแย้งขึ้น 2.ความขัดแย้งเชิงโครงสร้างระหว่างคนมีกับคนไม่มี ซึ่งวันนี้คนจนรู้แล้วว่าจะเข้าถึงอำนาจได้อย่างไรเพื่อให้เข้าถึงทรัพยากร

“อนาคตพรรคการเมืองจะหันมาใช้นโยบายประชานิยมกันหมดเพื่อให้ได้คะแนนเสียง โดยไม่สนใจว่าจะเอาเงินมาจากไหนเพื่อทำตามนโยบายนั้น ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะยาว ขณะนี้การหันมาใช้นโยบายประชานิยมกันหมด จะส่งผลให้ทรัพยากรหมดประเทศ เพราะเป็นประชานิยมที่ฉาบฉวยไม่คำนึงถึงการหาทรัพยากรเพิ่มเติม กลายเป็นการผลักภาระหนี้ไปในอนาคตให้รัฐบาลรับผิดชอบภาระหนี้แทนภาคประชาชน สุดท้ายประเทศก็จะเป็นหนี้ระยะยาว เกิดเป็นวิกฤตเศรษฐกิจเหมือนละตินอเมริกาที่เป็นเจ้าประชานิยม”ดร.บวรศักดิ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น