xs
xsm
sm
md
lg

มติ ส.พระปกเกล้าตั้ง “สุจิต” นั่งประธาน กก.อิสระศึกษาปัญหาการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุจิต บุญบงการ
ประชุมสภาสถาบันพระปกเกล้า เสนอกรอบศึกษา เพื่อพัฒนาประชาธิปไตยและการเมืองการปกครองให้รัฐบาล กำหนดแล้วเสร็จภายใน 8 เดือน พร้อมชง “สุจิต บุญบงการ” เป็นประธานคณะกรรมการอิสระ ด้าน “สมคิด” เผยเตรียมเชิญเสื้อแดง-เหลือง-รัฐบาล-ฝ่ายค้าน-ภาคประชาสังคม ร่วมเป็นกรรมการศึกษาปฏิรูปการเมือง ส่วน “สุจิต” รับลูกเป็นประธาน ยันทำงานอย่างอิสระ แต่เหนื่อยใจหากเสื้อแดง-ฝ่ายค้าน ไม่เห็นด้วย วอนให้ทุกฝ่ายให้มองการทำงานไม่ใช่ตัวบุคคล

วันนี้ (9 มี.ค.) ที่ห้องประชุมรำไพพรรณี สถาบันพระปกเกล้า ได้มีการประชุมสภาสถาบันพระปกเกล้า โดยมี นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ในฐานะประธานสภาสถาบันพระปกเกล้า เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาถึงกำหนดแนวทางและรูปแบบการจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง ตามที่นายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือขอให้สถาบันพระปกเกล้าเป็นเจ้าภาพในการปฏิรูปการเมืองครั้งใหม่

ทั้งนี้ ก่อนการประชุม ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ กรรมการสภาสถาบันพระปกเกล้า ให้สัมภาษณ์ว่า ได้วางกรอบคร่าวๆ เพื่อเสนอที่ประชุมไว้ คือ 8-3-8 โดยให้มีคณะกรรมการศึกษาแนวทางปฏิรูปการเมืองทำการศึกษาให้แล้วเสร็จภายใน 8 เดือน จากนั้นใช้เวลาอีก 3 เดือนเพื่อให้ได้มา ซึ่งสภาร่างรัฐธรรมนูญ และให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 8 เดือน รวมเวลาทั้งสิ้น 19 เดือน

ผู้สื่อข่าวถามถึงข้อครหาเรื่องความไม่เป็นกลางของสถาบันพระปกเกล้า นายสมคิด กล่าวว่า การตั้งคณะกรรมการศึกษาการปฏิรูปการเมืองจะเชิญบุคคลจากทุกภาคส่วน ทั้งรัฐบาล และฝ่ายค้าน ภาคประชาสังคม ตัวแทนผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่าย โดยสถาบันพระปกเกล้าจะทำหน้าที่เพียงแค่ฝ่ายเลขานุการเท่านั้น

ต่อมา เมื่อเวลา 12.00 น. นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า พร้อมด้วยนายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ร่วมกันแถลงผลการประชุมสภาสถาบัน โดยนายบวรศักดิ์กล่าวว่า สภาสถาบันมีมติให้สถาบันพระปกเกล้ารับทำการศึกษา เพื่อพัฒนาประชาธิปไตยและการเมืองการปกครอง โดยวางกรอบการศึกษาไว้คร่าวๆคือศึกษาสภาพการณ์อันเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบการเมืองร่วมกันระหว่างผู้มีส่วนได้เสียในระบบการเมือง และจัดทำข้อเสนอสำหรับการพัฒนาประชาธิปไตยและการเมืองการปกครองโดยความสมานฉันท์และเห็นพ้องต้องกันของสาธาณชน ทั้งนี้จะไม่ใช้คำว่าปฏิรูปการเมือง เพราะหากใช้คำดังกล่าวจะทำให้การศึกษาแคบเกินไปและที่ผ่านได้ปฏิรูปการเมืองมาหลายครั้งเกินไปแล้วจนหลายฝ่ายรู้สึกเหนื่อยหน่ายกับการปฏิรูปแล้ว

นายบวรศักดิ์กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมยังมีมติแต่งตั้ง นายสุจิต บุญบงการ ประธานสภาพัฒนาการเมืองที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ด้านความเป็นกลางมาเป็นประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อศึกษา แต่งตั้ง นายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าเป็นเลขานุการคณะกรรมการ เพื่อรับฟังความคิดเห็นและเสนอแนะการพัฒนาประชาธิปไตยและการเมืองการปกครอง โดยคณะกรรมการอิสระดังกล่าวจะประกอบด้วยตัวแทนจากทุกภาคส่วนไม่เกิน 50 คนทำการรับฟังความคิดเห็นและเสนอแนะการพัฒนาประชาธิปไตยและการเมืองการปกครอง ใช้เวลาศึกษาความคิดเห็นให้แล้วเสร็จภายใน 8 เดือนหรือเสร็จสิ้นประมาณเดือน พ.ย.2552 แยกเป็น 3 ระยะ คือ 1.ศึกษาข้อเสนอแนะและรับฟังความเห็นจากผู้นำการเมือง ทั้งจากนายกรัฐมนตรี ประธานวุฒิสภา สภาผู้แทนราฎร ผู้นำฝ่ายค้าน ผู้แทนกลุ่มพันธมิตรฯ ผู้แทนกลุ่มนปช. ผู้แทนศาลและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ บุคคลที่ยอมรับของสังคม ผู้แทนภาคเอกชน และภาคประชาสังคม และรับฟังความเห็นจากประชาชน 76 จังหวัด

2.จากนั้นนำมาจัดทำเป็นข้อเสนอเบื้องต้นและนำข้อเสนอเบื้องต้นไปรับฟังความเห็นจากกลุ่มต่างๆ และจากประชาชนทั้ง 76 จังหวัดอีกครั้ง และ 3.คณะกรรมการอิสระจะนำข้อเสนอต่างๆมาจัดทำข้อเสนอสุดท้ายสรุปปรับปรุงข้อเสนอสุดท้ายและจัดส่งให้คณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และพิมพ์เผยแพร่ให้ประชาชนทราบ

เมื่อถามว่า หากตัวแทนของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยอมตอบรับเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการอิสระ นายบวรศักดิ์ ตอบว่า คงบังคับกันไม่ได้ แต่ก็ต้องประสานไปก่อนถ้าเขาไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมก็คงต้องเดินหน้าต่อไป เมื่อถามถึงข้อวิจารณ์ความไม่เป็นกลางของสถาบันพระปกเกล้า นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า สถาบันพระปกเกล้าประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่อยู่ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล เป็นธรรมดาที่มักจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ แต่ขอให้ดูด้วยว่าใครเป็นคนวิจารณ์และวิจารณ์เพื่อประโยชน์อะไรกันแน่ อย่างไรก็ตาม ขั้นต่อจากนี้ไปคือจะทำหนังสือถึงรัฐบาลเพื่อให้รัฐบาลไปหารือกับฝ่ายค้านว่ารับข้อเสนอนี้หรือไม่ ถ้ารับก็จะเริ่มแต่งตั้งกรรมการอิสระและดำเนินการต่อไป แต่ถ้าไม่รับทุกอย่างก็จบถือว่ายุติ

ด้าน นายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งจะทำหน้าที่เลขานุการคณะกรรมการอิสระ กล่าวเสริมว่า ในเบื้องต้นได้วางกรอบการคัดเลือกกรรมการอิสระไว้ว่าจะต้องมาจากทั้งตัวแทน นปช. ตัวแทนพันธมิตรฯ นักการเมือง ที่ประชุมคณบดีคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ 4ภาค และที่ประชุมอธิการบดีทั้งประเทศและที่ประชุมอธิการบดีของมหาวิทยาลัยเอกชน ตัวแทนกองทัพ ตัวแทนท้องถิ่น ตัวแทนภาคเอกชน ทั้งสภาหอการค้า เอ็นจีโอ โดยจะไม่นำเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาเป็นเป้าหมายหลัก เนื่องจากควรศึกษาให้รู้ว่าต้นเหตุของปัญหาการเมืองคืออะไร มีอุปสรรคอย่างไร โจทก์หลักคือการพัฒนาประชาธิปไตยและการเมืองการปกครอง ไม่ใช่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การตรวจสอบพื้นที่ประชาชนภาคพลเมือง

หลังจากนั้น นายสุจิต บงบุญการ ประธานสภาพัฒนาการเมือง ให้สัมภาษณ์ภายหลังที่สภาสถาบันพระปกเกล้ามีมติแต่งตั้งเสนอให้เป็นประธานทำการศึกษาพัฒนาประชาธิปไตยและการเมืองการปกครองว่า เรื่องนี้คิดว่าต้องยอมรับความจริงว่าบ้านเมืองมีปัญหา ถ้าทำให้บ้านเมืองสงบสุขเรียบร้อยได้ก็ควรจุทำ ความจริงอยากให้ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองมาทำ แต่อาจไม่สะดวก เมื่อมีคนมาพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการและเป็นการช่วยเหลือประเทศชาติก็จะทำให้ดีที่สุด ยืนยันว่าการทำงานครั้งนี้ต้องอิสระ จะมีการเสนอแนะแก้ไขการเมืองให้มีประสิทธิภาพ นักการเมืองต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น หลักการจะรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องและประชาชนทุกฝ่าย เพื่อปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนกรอบการพิจารณาต้องเป็นไปตามการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

เมื่อถามว่า หากกลุ่มคนเสื้อแดงและฝ่ายค้านไม่เห็นด้วยจะทำอย่างไร นายสุจิต กล่าวว่า เข้าใจว่า ไม่ยอมรับง่ายๆ แต่สถาบันพระปกเกล้าไม่ได้สังกัดการเมือง ถ้าไม่เอาสถาบันพระปกเกล้าก็มองไม่ออกว่าจะเอาหน่วยงานไหน การเสนอตนก็เชื่อว่ามีคนบางคนไม่เห็นด้วย แต่คิดว่าการทำงานน่าจะดูที่เนื้อหา คงไม่เอาตัวบุคคลอย่างเดียว ตนมีคนรู้จักก็ยอมรับว่ามีคุ้นเคยและมีคนรู้จักเยอะแยะ แต่ความคิดเห็นทางการเมืองตนก็มีความชัดเจนตั้งแต่ต้น สิ่งที่ทำ มันอาจจะไม่เข้าทางบางคน แต่ผมก็ยืนยันว่า ทำทุกอย่างเพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติ

เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่ที่เป็นตุลาการเสียงข้างน้อยในการพิจารณาการซุกหุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ นายสุจิต กล่าวว่า การวินิจฉัยคดี พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นการวินิจฉัยบนข้อเท็จจริง ไม่ได้อยู่ในอาณัติของใคร ทุกอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มีจิตใจเล่นงานใคร ประเด็นนี้ไม่น่าเป็นปัญหาหรือหยิบยกมาเป็นเรื่องที่มีปัญหา

ผู้สื่อข่าวถามว่า อยากให้พูดเรื่องความเป็นอิสระในการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้มีมากน้อยเพียงใด นายสุจิต กล่าวว่า ต้องเป็นอิสระ ไม่ได้อยู่ภายใต้การทำงานของฝ่ายค้านหรือรัฐบาล ไม่ทำอะไรภายใต้การชี้นำทางการเมือง

เมื่อถามว่าหนักใจหรือไม่ นายสุจิตกล่าวว่า ยอมรับว่าหนักใจ เพราะเป็นงานที่หลายคนฝากความหวังไว้ เพราะต้องหาข้อยุติความขัดแย้ง จะพยายามทำให้ดีที่สุด พยายามทำอย่างเต็มที่ และคิดว่าครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายที่จะช่วยบ้านเมือง

ผู้สื่อข่าวถามว่า กลัวหรือไม่ว่าสุดท้ายแล้วการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้จะล้มเหลว นายสุจิต กล่าวว่า ปัจจัยทางการเมืองซับซ้อนหลายอย่าง แต่จะไปคิดไม่ได้เรื่องมันไม่ดี ผลสำเร็จเป็นอย่าไรยังไม่อยากคิด การแก้ปัญหาบ้านเมืองไม่ใช่ครั้งเดียวจบ แต่ต้องกระตุ้นแก้ไขเรื่อยๆ งานการเมืองไม่ใช่ยารักษาโรคทานวันนี้แล้วหาย ตนว่ามันต้องมีจุดเริ่มต้น เรื่องของการเมืองไม่สามารถแก้ไขได้ในวันพรุ่งนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น