xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิรูปประเทศไทยสูตร 8:3:8

เผยแพร่:   โดย: สำราญ รอดเพชร

“ เพื่อศึกษาแนวทางการดำเนินงานปฏิรูป โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เพื่อวางระบบการบริหารประเทศให้มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพ ในแนวทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพของสังคมไทย รวมทั้งสามารถตอบสนองต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และเป็นไปตามความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง..”

นั่นคือ ตอนหนึ่งนโยบายของรัฐบาลที่ท่านนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แถลงต่อที่ประชุมสมาชิกรัฐสภาเมื่อ 30 ธ.ค. 2551 เป็นนโยบายที่ประกาศชัดว่าจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อกระทำภารกิจดังกล่าว

คณะกรรมการที่หลายคนเรียกขานล่วงหน้าว่า คณะกรรมการปฏิรูปการเมือง ซึ่งในที่สุดเมื่อวานนี้ ( 9 มี.ค. 2552) เราได้คณะกรรมการที่มีชื่อเต็มๆ ว่า

“คณะกรรมการอิสระเพื่อศึกษาพัฒนาประชาธิปไตย และการเมืองการปกครอง” ซึ่งมี ศ.ดร.สุจิต บุญบงการ เป็นประธาน ดร.วุฒิสาร ตันไชย เป็นเลขานุการคณะกรรมการ โดยคณะกรรมการชุดนี้อำนวยการจัดตั้งโดยสถาบันพระปกเกล้า ที่มี ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นเลขาธิการสถาบันนั่นเอง..

โครงสร้างคณะกรรมการอิสระชุดนี้ จะมีทั้งหมด 50 คน มาจากตัวแทนทุกภาคส่วน อาทิ แนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.), พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย, นักการเมือง, ที่ประชุมคณบดีคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์จากทั้ง 4 ภาค, ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเอกชน, กองทัพ, ท้องถิ่น, ภาคเอกชนและองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ)

คณะกรรมการอิสระจะไม่ยึดหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นหลัก จะใช้เวลาทั้งหมด 19 เดือน 8 เดือนแรกจะศึกษา 3 เดือนต่อจากนั้นจะคัดสรรสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ และ 8 เดือนสุดท้ายจะยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

สื่อมวลชนจึงพาดหัวว่าคณะกรรมการอิสระชุดนี้ใช้สูตร 8:3:8

เท่าที่สดับตรับฟังมา แม้จะยังรู้สึกไม่ได้ดั่งใจแต่หลายฝ่ายก็ไม่ขัดข้องกับที่มาที่ไปของคณะกรรมการอิสระชุดนี้ แต่ที่ท้วงติงกันมากก็คือระยะเวลาในการดำเนินการ ทำไมต้อง 19 เดือน ซื้อเวลา (มากไป) หรือเปล่า?

ถ้าให้เดาใจ ผมเชื่อว่านายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เองก็อาจจะยังไม่ได้ดั่งใจเช่นเดียวกัน ซึ่งหากย้อนมองที่มาที่ไปก็จะพบว่าตลอดเวลานายกฯ อภิสิทธิ์พยายามหาทางออกหลายทางในเรื่องนี้ แต่สุดท้ายก็เลือกใช้บริการจากสถาบันพระปกเกล้า..

ส่วนตัวผมเป็นอีกคนหนึ่งที่แม้จะเห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของนายกฯ แต่ก็สารภาพว่า ยังไม่ได้ดั่งใจกับโครงสร้างคณะกรรมการชุดนี้นัก จริงอยู่ไม่มีใครปฏิเสธในเรื่ององค์ความรู้ของเหล่านักวิชาการแห่งสถาบันพระปกเกล้า แต่การที่รัฐบาลโยนภารกิจไปให้สถาบันแห่งนี้เป็นเจ้าภาพ แทนที่รัฐบาลจะฟันธงตัดสินใจตั้งคณะบุคคลขึ้นมาชุดหนึ่งซึ่งมีจำนวนไม่มากนัก โดยมีบุคคลประเภท อานันท์ ปันยารชุน หรือศ.นพ.ประเวศ วะสี หรือ ฯลฯ เป็นประธาน แล้วจากนั้นค่อยให้กรรมการชุดนี้ตั้งกรรมการชุดต่างๆ ขึ้นมาร่วมทำหน้าที่ รัฐบาลย่อมจะถูกมองได้ว่า..ลอยตัวและซื้อเวลา ทั้งๆ ที่ส่วนลึกรัฐบาลคงไม่ได้คิดอย่างนั้น!?

แม้จะเอาใจช่วย...แต่ผมเกรงว่าในที่สุดการได้มาซึ่งตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ 50 คน จะสะดุดหรือขาดการตอบรับจากบางส่วนหรือหลายส่วน และที่สุดอาจทำให้คณะกรรมการอิสระฯ ชุดนี้เต็มไปด้วยนักวิชาการที่แสวงหาเวที แสวงหาที่ยืนให้กับตัวเอง หรือนักวิชาการที่มีสีสันทางทฤษฎีหรือข้อเสนอแปลกๆ แต่ไม่เหมาะสมกับสังคมไทย อาจจะดูดีแต่อาจจะไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร..

ยิ่งกว่านั้นภารกิจของคณะกรรมการอิสระชุดนี้ แม้จะพยายามอธิบายว่าเป้าหมายหลักไม่ได้อยู่ที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ใช่หรือไม่ว่าหากมองจากกรอบสูตร 8:3:8 น้ำหนักถูกวางอยู่ที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งๆ ที่หากเราย้อนมองโจทย์ที่นายกฯ อภิสิทธิ์ประกาศเอาไว้เมื่อ 17 ธ.ค.2551 นั้น เป็นโจทย์ที่คมชัดยิ่ง นั่นคือ คำประกาศที่ว่า

“หน้าที่เบื้องต้นของผมคือ ยุติการเมืองที่ล้มเหลว...” ซึ่งนายกฯ ได้ตอกย้ำว่า “การเมืองที่ล้มเหลว” นั่นเอง นำมาซึ่งวิกฤตของประเทศ

ถามว่า...อะไรคือการเมืองที่ล้มเหลว!?

ถามว่า...การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพียงประการเดียวจะแก้การเมืองที่ล้มเหลวได้หรือไม่

ถามว่า...จะมีวิธีการอื่นใดอีกได้หรือไม่ที่จะยุติการเมืองที่ล้มเหลวได้..

...ฯลฯ...

อันที่จริงอยากจะพูดภาษาชาวบ้านว่า การเมืองที่ล้มเหลว...คือระบบการเมืองที่เต็มไปด้วยนักการเมืองชั่ว นักการเมืองที่เข้าสภา เข้าสู่อำนาจรัฐมุ่งแต่แสวงผลประโยชน์ส่วนตัวในทุกรูปแบบ เมื่อถึงเวลาเลือกตั้งก็ใช้เงินซื้อเสียงเพื่อกลับเข้ามาถอนทุน ทุจริตคอร์รัปชันต่อไปอีก...เป็นวงจรอุบาทว์วงเก่าที่น่ารังเกียจ..

พูดไปทำไมมี...ต่อให้ไม่มีคณะกรรมการอิสระฯ หากรัฐบาลหาญกล้าที่จะฟาดฟันกับการทุจริตโกงกินของนักการเมืองและข้าราชการในทุกรูปแบบอย่างเอาจริงเอาจัง ขณะเดียวกันก็บังคับใช้กฎหมายอย่างแข็งขันอย่างเสมอหน้า มันก็คือการปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปประเทศไทย ในภาคปฏิบัติ...

ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะออกแบบการเข้าสู่อำนาจรัฐ เข้าสู่สภา จะเลือกตั้งกันแบบไหนอย่างไร เราจะมีสภากี่สภา ฯลฯ ผลการศึกษาเก่าๆ รวมทั้งผลศึกษาของคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย (คพป.) เมื่อปี 2537 ก็มีให้นำมาปัดฝุ่นต่อยอดกันได้ไม่ยากเย็นอะไรนัก...

แต่เอาเถอะ ในเมื่อรัฐบาลท่านนายกฯ ต้องรักษาสัญญาตามคำประกาศว่าจะปฏิรูปการเมือง แต่บังเอิญว่ารัฐบาลอาจจะมีข้อจำกัดด้วยเหตุที่ว่า ขึ้นมาบริหารประเทศในภาวะวิกฤตหลายด้านโดยเฉพาะวิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตความแตกแยกของผู้คนในสังคม อาจจะต้องทุ่มแรงไปดูแลด้านอื่นมากเป็นพิเศษก็เลยโยนเรื่องการปฏิรูปฯ ให้สถาบันพระปกเกล้าเป็นเจ้าภาพดำเนินการ...

อีกทั้งหลายคน รวมทั้งผมยังเชื่อมั่นว่านายกฯ อภิสิทธิ์ยังจริงใจที่จะปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปประเทศไทย เมื่อจะเดินหน้ากันตามสูตรนี้ก็ว่ากันไป

แต่ยังไงๆ ก็ขอแปรญัตติจาก 19 เดือน ให้เหลืออย่างมากไม่เกิน 12 เดือน ก็แล้วกัน...อย่างน้อยๆ ก็จะได้เห็นถึงความจริงจัง จริงใจมากกว่าเดิม

19 เดือนน่ะมันชวนให้ใครต่อใครคิดว่า เป็นการซื้อเวลาจริงๆ นะครับ ท่านนายกฯ

samr_rod@hotmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น