xs
xsm
sm
md
lg

ขัดขืนอย่างอารยะ เพื่อสิ่งที่ดีกว่าในบ้านเมือง

เผยแพร่:   โดย: ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง

ถาม : ฝ่ายที่มีอำนาจรัฐเขาบอกว่า “อารยะขัดขืน” เป็นวิธีการของคนพาล ?

ตอบ : ไม่จริง ตรงกันข้าม “อารยะขัดขืน” เป็นการต่อสู้กับอันธพาลที่ยึดครองอำนาจรัฐ โดยวิธีการที่มีเนื้อหาสาระเป็นสันติวิธี ไม่ใช้ความรุนแรง

ถาม : ไม่ใช้ความรุนแรง แต่ทำผิดกฎหมาย ?

ตอบ : ที่ประเทศอินเดีย มหาตมะ คานธี เคยออกเดินเท้า 240 ไมล์ จากเมือง Sabarmati ไปยังเมือง Dansi ที่อยู่ชายฝั่งทะเล ใช้เวลาเดินเท้า 23 วัน ที่เรียกว่า “The Salt March” มีประชาชนจำนวนมากเข้ามาร่วมเดินขบวน เพื่อไปทำการ “อารยะขัดขืน” ด้วยการผลิตเกลือ ฝ่าฝืนกฎหมายที่ห้ามประชาชนผลิตเกลือกินเอง จุดประกายให้คนอินเดียนับหมื่นลุกขึ้นมา “อารยะขัดขืน” ผลิตเกลือเอง แม้จะขัดต่อกฎหมาย และถูกจับกุม ดำเนินคดีก็ตาม

จำได้ไหม ครั้งนั้น มหาตมะ คานธี ให้การต่อศาลว่า “..การที่ข้าฯ มิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่นั้น มิใช่เพราะข้าฯ ไม่เคารพกฎหมายบ้านเมือง แต่เป็นเพราะข้าฯ ต้องการปฏิบัติตามคำสั่งที่สูงยิ่งไปกว่านั้น นั่นคือคำสั่งแห่งความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของข้าฯ เอง...”

เมื่ออำนาจรัฐบังคับใช้กฎหมายโดยไม่ชอบธรรม หรือบิดเบือนกฎหมาย ขัดต่อหลักธรรมและความถูกต้อง ทำลายความเป็นธรรม หรือแม้แต่ขัดต่อหลักสามัญสำนึกหรือคุณธรรมขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ประชาชนย่อมมีสิทธิใช้วิธีอารยะขัดขืน

เมื่ออำนาจรัฐละเมิดสัญญาประชาคม ประชาชนก็มีสิทธิที่จะใช้วิธีอารยะขัดขืน

ถาม : ถ้าอย่างนั้น “อารยะขัดขืน” ก็คือ การจงใจขัดขืน ฝ่าฝืนการใช้อำนาจรัฐหรือการบังคับใช้กฎหมาย แล้วบ้านเมืองจะอยู่อย่างไร เหมือนไม่มีขื่อมีแป กลายเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน อย่างนั้นหรือ?

ตอบ : ไม่ใช่บ้านป่าเมืองเถื่อนครับ

“อารยะขัดขืน” หมายถึง การกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายโดยใช้สันติวิธี เพราะผู้กระทำเห็นว่ามีความไม่ชอบธรรมบางอย่างเกิดขึ้นกับกฎหมาย หรือการใช้กฎหมาย หรือการดำเนินมาตรการหรือนโยบายบางอย่างของรัฐ โดยมีเป้าหมายมุ่งให้มีการแก้ไข ปรับปรุงสิ่งที่เห็นว่าไม่ถูกต้องหรือไม่สอดคล้องกับมโนธรรมสำนึกนั้นๆ

ประเด็นสำคัญนะครับ บุคคลที่กระทำการอารยะขัดขืน จะแสดงตนอย่างชัดเจนในการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย คือจะประกาศชัด ไม่ทำลับๆ ล่อๆ ทำโดยเปิดเผย แจ้งให้ทราบล่วงหน้าด้วยซ้ำ และหากเป็นการกระทำที่ละเมิดกฎหมาย ผู้กระทำก็พร้อมที่จะเผชิญหน้ากับการจับกุมและการดำเนินคดีจากเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ไม่หลบหนี ไม่หลบเลี่ยง คือพร้อมยอมรับผลตามกฎหมายที่จะเกิดขึ้น

ลองพิจารณาดูแนวคิดของ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นักสันติวิธีของไทยเราดูก็ได้นะครับ

อาจารย์ชัยวัฒน์ บอกว่า “การดื้อแพ่งเป็นเรื่องของการขัดขืนอำนาจรัฐ ทั้งเป้าหมายและตัววิธีการอันเป็นหัวใจของ Civil Disobedience จะส่งผลในการทำให้สังคมการเมืองโดยรวมมี 'อารยะ' มากขึ้น... การจำกัดอำนาจรัฐนั้นเอง เป็นหนทาง 'อารยะ' ยิ่ง การจำกัดอำนาจรัฐโดยพลเมืองด้วยวิธีการอย่างอารยะคือเป็นไปโดยเปิดเผย ไม่ใช้ความรุนแรง และยอมรับผลตามกฎหมายที่จะเกิดขึ้นกับตัวผู้ใช้สันติวิธีแนวนี้ เพื่อให้สังคมการเมือง 'เป็นธรรม' ขึ้น เคารพสิทธิเสรีภาพของคนมากขึ้น และเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น”

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่มีเฉพาะเมืองนอกนะครับ และไม่ใช่บ้านป่าเมืองเถื่อนแน่นอนครับ ตัวอย่างในชนบทไทยบ้านเ ชาวบ้านเขาก็มีอารยะขัดขืนนะครับ แค่ไม่เรียกว่าอารยะขัดขืน แต่เรียกว่า “ดื้อแพ่ง” อย่างเวลาที่เจ้าหน้าที่รัฐให้ทำอะไรไม่ถูกทำนองคลองธรรม ชาวบ้านเขาก็ไม่ทำ แล้วเวลามีอะไรไม่ชอบมาพากล ชาวบ้านก็นำข้อมูลไปให้ฝ่ายตรวจสอบหรือสื่อมวลชน เพื่อดำเนินการกับฝ่ายผู้มีอำนาจเหมือนกันนะครับ

ตรงกันข้าม นักการเมืองที่ซุกหุ้น หลีกเลี่ยงภาษี แอบกระทำผิดกฎหมาย ละเมิดคำสั่งศาล แล้วไม่มีใครไปเอาผิดได้ แบบนี้ซิครับ บ้านป่าเมืองเถื่อนของจริง

ถาม : พูดเป็นเล่น ยุคนี้มีด้วยหรือ นักการเมืองทำอะไรเถื่อนๆ อย่างนั้น ?

ตอบ : แหม... เอาง่ายๆ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษาให้ยุบพรรคไทยรักไทย เท่ากับว่า พรรคไทยรักไทยจะต้องไม่ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองต่อไปอีกแล้วใช่ไหมครับ จะมี ส.ส.ก็ไม่ได้ใช่ไหมครับ หรือจะไปใช้นอมินีหรือใช้พรรคการเมืองใดๆ เป็นตัวแทนของตน ไปทำกิจกรรมทางการเมืองแทนตน หรือไป ส.ส.ในนามพรรคนั้นๆ แทนตน ก็ไม่ได้ ใช่ไหมครับ

แล้วพรรคพลังประชาชน ซึ่ง กกต.ชี้ชัดว่ามีพฤติกรรมเป็นนอมินีของพรรคไทยรักไทย ไปมี ส.ส.ในสภาได้อย่างไร ไปตั้งรัฐบาลยึดครองอำนาจรัฐได้อย่างไร ไปใช้อำนาจรัฐเพื่อกลบเกลื่อนล้มล้างการกระทำความผิดของตนเองและพรรคพวกอยู่ได้อย่างไร

ถาม : ก็ทำไมไม่ใช้กฎหมาย ดำเนินการตามช่องทางและกลไกของกฎหมายตามปกติ หรือใช้ช่องทางกฎหมายจนหมด ให้มันหมดจริงๆ เสียก่อนล่ะ ?

ตอบ : ถ้ามันไม่ถึงที่สุดจริงๆ ไม่มีใครอยากเอาตัวเองเข้ามาเสี่ยงกับการถูกอำนาจรัฐเล่นงานหรอกครับ มันไม่สนุกเลย

ประเด็นแรก คือ ช่องทางตามกฎหมายนั้น มันถูกยึดครอง ครอบครอง หรือตกอยู่ใต้อิทธิพลอาณัติของนักการเมืองเกือบทั้งหมด ต้นธารของกระบวนการยุติธรรมถูกวางยา ปิดกั้น ตัดตอน ข้าราชการคนไหนพร้อมทำงานตรงไปตรงมาเขาก็โยกย้ายออกไป เอาคนของเขาเข้ามาแทน

ประเด็นต่อมา คือ ในความเป็นจริง การใช้ช่องทางของกฎหมาย มันไม่มีวันใช้จน “หมด” หรอกครับ

มันดิ้นไปได้เรื่อยๆ ถ่วงกันไปได้เรื่อยๆ สอบสวนแล้วก็ต่อเวลาทำงานสอบสวน ตั้งคณะกรรมการร่วมแล้วร่วมอีก เป็นต้น หมดช่องนี้ก็เปิดช่องใหม่ ทำทีแบะท่า เพื่ออ้างว่ายังมีช่องทางนะ เพราะฉะนั้น ตราบที่ยังมีตัวบทกฎหมาย เขาก็อ้างได้ตลอดว่ายังมีช่องทางกฎหมาย ทั้งๆ ที่ ในความเป็นจริง มันแค่เสมือนมีช่องทางเท่านั้น หาได้เป็นช่องที่เดินทางไปได้จริงๆ แค่เอาไว้อ้าง อำพรางสายตา มีแค่ในนาม ไม่มีผลสัมฤทธิ์จริง

ยิ่งกว่านั้น เคยได้ยินไหมครับ ภาษิตนิติธรรมที่ว่า “ความยุติธรรมที่ล่าช้า ก็คือความอยุติธรรม” หรือ Justice delayed is justice denied

เพราะฉะนั้น การใช้วิธี “อารยะขัดขืน” ไม่ใช่อยู่ๆ นึกจะทำก็ทำได้เลย ไม่ใช่นะครับ แต่จะต้องมีการประเมินด้วยความรู้ความเข้าใจ ไตร่ตรองด้วยความรู้เท่าทันในเหตุการณ์บ้านเมือง สถานการณ์บ้านเมืองที่แท้จริง ไม่ใช่ดูแค่เปลือกหรือพิจารณาอย่างฉาบฉวย จะอ้างแค่ว่า นี่ไงรัฐบาลยังอยู่ สภายังอยู่ ตำรวจยังมีอยู่ ก็ไปเรียกร้อง วิงวอน ขอให้เขาทำงานไปสิ โดยไม่พิจารณาความจริงอย่างถ่องแท้ว่า สิ่งที่ยังเห็นอยู่นั้น สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ ล่าช้า อาธรรม หรือบิดเบือนเพียงใด ชอบธรรมเพียงใด

ถ้าลองสรุปลักษณะสำคัญของ “อารยะขัดขืน” ก็น่าจะได้ว่า 1) เป็นการละเมิดกฎหมาย หรือตั้งใจที่จะละเมิดกฎหมาย 2) เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายโดยใช้สันติวิธี (nonviolent) 3) เป็นการกระทำต่อสาธารณะโดยมีการแจ้งให้ฝ่ายรัฐรับรู้ล่วงหน้า 4) เต็มใจที่จะรับผลทางกฎหมายที่เกิดจากการละเมิดดังกล่าว 5) กระทำไปเพื่อมุ่งเปลี่ยนแปลงกฎหมายหรือนโยบายบางอย่างของรัฐ ไม่ได้มุ่งที่จะยึดอำนาจ หรือล้มอำนาจรัฐ หรือระบอบการปกครอง 6) มุ่งยืนยันในหลักความถูกต้อง การมีส่วนร่วม ความยุติธรรม และผลประโยชน์ส่วนรวมของสังคม

ถาม : ฟังๆ ดู “อารยะขัดขืน” จะได้ผลหรือไม่ได้ผล นอกจากจะขึ้นอยู่กับการปฏิบัติการแล้ว ยังขึ้นอยู่กับเหตุและผล รวมทั้งท่าทีของตัวผู้มีอำนาจรัฐด้วย ใช่ไหมครับ ?

ตอบ : ถูกต้องครับ

อย่าลืมว่า สันติวิธีมันมีดีกรี หรือความเข้มข้นหลายระดับ ตั้งแต่การขอร้อง เรียกร้อง ประท้วงด้วยการแต่งกาย ใส่เสื้อผ้าสีอะไรต่างๆ ซึ่งจะได้ผลหรือไม่ นอกจากจะขึ้นอยู่กับเหตุและผลแล้ว ต่อให้มีเหตุมีผลมีน้ำหนักเพียงใด ถ้าผู้มีอำนาจมันหน้าด้าน หน้าทน หรือหน้ามืด ไม่ยอมรับรู้รับฟัง ไม่นำพาต่อเสียงเรียกร้องของประชาชน หรือไปรับใช้ตอบแทนบุญคุณส่วนตัวกับผู้อื่น วิธีการระดับนี้ย่อมไม่ได้ผล แม้แต่การอดอาหารประท้วง

ต่อให้อดอาหารอดน้ำจนตาย ถ้าผู้มีอำนาจไม่มี “ธรรม” หรือมีคุณธรรมจริยธรรมต่ำ ไม่มีเมตตาธรรม ก็ไม่มีวันได้ผล

เราจึงมีสันติวิธีที่เข้มข้นขึ้นกว่านั้น เช่น การชุมนุมประท้วง การปิดล้อมสถานที่ราชการ เพื่อมิให้นักการเมืองเข้าไปทำงานอันเป็นการใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบ เป็นต้น

หรือเข้มข้นกว่านั้นอีก เช่น หยุดงาน หยุดปฏิบัติหน้าที่ ไม่เก็บค่าน้ำค่าไฟจากประชาชน ไม่จ่ายน้ำจ่ายไฟฟ้าให้สถานที่ราชการ หรือแม้แต่หยุดจ่ายภาษีให้แก่รัฐชั่วคราว เพื่อมิให้รัฐบาลที่มิชอบนั้นนำเอาเงินภาษีของประชาชนไปใช้จ่ายอย่างมิชอบต่อไป

ทั้งหมดนี้ เป้าหมายของการต่อสู้ “อารยะขัดขืน” นั้น ก็เพื่อนำไปสู่สภาพการณ์ตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งถูกผู้มีอำนาจบิดเบือน ขัดขวาง หรือฝ่าฝืนอยู่ในตัว ดังนั้น เมื่อถูกดำเนินคดี ผู้กระทำการ “อารยะขัดขืน” จึงสามารถหยิบยกรัฐธรรมนูญขึ้นมาใช้ต่อสู้อย่างชอบธรรมและมีน้ำหนักอย่างยิ่ง

ถาม : ประชาชนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องก็ได้รับผลกระทบด้วยสิ ?

ตอบ : ไม่มีหรอก ประชาชนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะทุกคนอยู่ในสังคมเดียวกัน อยู่ภายใต้อำนาจรัฐเดียวกัน เราทุกคนล้วนเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่ง ทางใดทางหนึ่ง ระดับใดระดับหนึ่ง ด้วยกันทุกคนทั้งสิ้น เว้นแต่จะพยายามปิดหูปิดตาตัวเองจากความเป็นจริง

และที่น่าเสียดาย คือ การนิ่งเฉยต่ออำนาจรัฐที่ไม่ถูกต้อง จะถูกฝ่ายอำนาจรัฐนำไปอ้างเสมอว่า เราไปให้การรับรอง ยอมรับในอำนาจและการใช้อำนาจดังกล่าวของรัฐ การนิ่งเฉยต่ออาชญากรรมหรือการกระทำมิชอบของอำนาจรัฐ จึงให้ผลแทบไม่ต่างจากการกระทำการมิชอบนั้นเสียเอง

ผมเห็นใจประชาชนที่ได้รับผลกระทบนะครับ ไม่ว่าจะเป็น คนใช้รถใช้ถนน นักเรียน ข้าราชการ หรือชาวบ้านที่สัญจรไปมา ตลอดจนผู้ที่รู้สึกว่าเสรีภาพหรือความสะดวกสบายบางส่วนของตนถูกกระทบ แต่อยากขอให้ลองพิจารณาคำพูดของชาวอเมริกันผิวดำผู้หนึ่ง ซึ่งสนับสนุนการเลิกทาส “นายเฟรเดอริค ดักลาส” เคยให้ข้อคิดเกี่ยวกับการขัดขืนเพื่อสร้างสิ่งที่ดีกว่า เอาไว้ว่า

“ผู้ใดก็ตามที่อ้างว่าตนนิยมเสรีภาพ แต่ในขณะเดียวกันก็ดูแคลนความวุ่นวาย คือคนที่อยากเห็นพืชพันธุ์งอกงามโดยไม่พรวนดินก่อน พวกเขาอยากเห็นฝนที่ไม่มาควบคู่ไปกับเสียงฟ้าร้องและฟ้าแลบ พวกเขาอยากได้มหาสมุทรที่ปราศจากเสียงกึกก้องอันน่ากลัวของผืนน้ำ การขัดขืนครั้งนี้อาจเป็นการขัดขืนทางศีลธรรม ทางร่างกาย หรือทั้งสองทาง แต่มันจะต้องเป็นการขัดขืน อำนาจไม่เคยยอมอ่อนข้อโดยปราศจากการเรียกร้อง มันไม่เคยยอมในอดีต และจะไม่มีวันยอมในอนาคต”

ฝากให้ลองคิดดูนะครับ ถ้าจะเอาแต่ความสะดวกสบายเฉพาะหน้า หรือรักษาแต่ผลประโยชน์ส่วนตัวเฉพาะหน้า ในขณะที่บ้านเมืองส่วนรวมจมลงสู่หุบเหวมรณะ ลึกลงไปทุกเวลานาที กับการติดขัดบ้าง มีผลกระทบวุ่นวายบ้าง จากการแสดงออกถึงการปฏิเสธหรือขัดขืนสภาพของการใช้อำนาจการเมืองในบ้านเมืองวันนี้ เพื่อมุ่งสร้างความเปลี่ยนแปลงที่กว่าให้เกิดแก่บ้านเมืองส่วนรวม

บ้านเมืองเราควรจะดีกว่านี้ครับ ลูกหลานเราควรได้รับโอกาสที่จะมีชีวิตอยู่ในสังคมการเมืองที่ดีกว่านี้

บ้านเมืองเราเปลี่ยนแปลงได้ครับ เพียงแต่เราต้องไม่ปล่อยวางเฉย ไม่จำยอมหรือยอมรับในสิ่งที่เป็นอยู่ โดยไม่ว่าเราอยู่ในสถานะอะไร มีหน้าที่การงานใด มีอาชีพอะไร อยู่แห่งหนตำบลใด ยังมีช่องทางให้สามารถทำการ “อารยะขัดขืน” ด้วยกันทั้งนั้น

หมดเวลาก้มหน้า ปิดหูปิดตา งอมืองอเท้า หรือทำธุระไม่ใช่ ยอมทนอยู่กับสิ่งไม่ถูกต้อง ถึงเวลาแล้วครับ ลุกขึ้นมาสู้อย่างเปิดเผย ยืนหยัดชัดเจน ถึงไหนถึงกัน เพื่อสิ่งที่เรามั่นใจว่าเป็นความถูกต้อง ชอบธรรม ดีงาม ซึ่งบางอย่างไม่ใช่สิ่งที่ผู้มีอำนาจต้องการ ต้องขัดขืนต่อคำสั่งหรืออำนาจ หรือแม้กระทั่งต้องขัดขืนต่อกฎหมาย ขัดขืนอย่างอารยะ เพื่อบ้านเมืองที่มีอารยะมากกว่านี้

สู้เพื่อความถูกต้อง คิดดี-ทำดี มีธรรมะ ไม่มีอะไรต้องเสียใจ และไม่มีอะไรต้องกลัวครับ

กำลังโหลดความคิดเห็น