xs
xsm
sm
md
lg

“อารยะขัดขืน” เกิดขึ้นแล้ว มีอำนาจ แต่ไม่สามารถปกครองประเทศได้

เผยแพร่:   โดย: ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง

ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้เดินทางไปร่วมเวทีสัมมนาของประชาชนตามจังหวัดต่างๆ อาทิ ลำปาง เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ชลบุรี(พัทยา) ราชบุรี กาญจนบุรี สงขลา(หาดใหญ่) ฯลฯ สิ่งที่เกิดขึ้นในจังหวัดเหล่านั้น และในอีกหลายๆ จังหวัดที่ปรากฏเป็นข่าวตามสื่อสารมวลชน ทำให้ผมสามารถยืนยันได้ว่า บัดนี้ ประชาชนคนไทยทั่วทุกภูมิภาค มีความตื่นตัวในการแสดงออกทางการเมือง อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

หลายกรณี ประชาชนพลเมืองชาวไทยได้ลุกขึ้นมาแสดงการ “อารยะขัดขืน” ต่อต้านและขับไล่การใช้อำนาจรัฐของนักการเมืองที่สิ้นไร้ความชอบธรรม ใช้อำนาจหรือบังคับใช้กฎหมายโดยมิชอบ

“อารยะขัดขืน” กำลังเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง หลากหลาย ด้วยความกล้าหาญและมีพลังอย่างยิ่ง

หลักสำคัญของ “อารยะขัดขืน”

ลองพิจารณาจากคำอธิบายของนักนิติศาสตร์ และนักรัฐศาสตร์(สันติวิธี) ระดับแนวหน้าของสังคมไทย

1. อาจารย์แก้วสรร อติโพธิ อธิบายว่า

“อารยะขัดขืน ภาษาฝรั่งใช้คำว่า Civil Disobedience คำว่า “Civil” ในที่นี้ เขาไม่ได้หมายถึงอารยะอะไรที่ไหน แต่หมายถึง “พลเมือง” ว่า การกระทำใดอันเป็นการผิดกฎหมายผิดหน้าที่ของพลเมืองที่กระทำไป เพื่อมุ่งประท้วงหรือปฏิเสธการใช้อำนาจเกินขอบเขตของผู้ปกครอง เขาจึงเรียกการกระทำเช่นนี้ว่าเป็นการแข็งข้อ ไม่ยอมรับหน้าที่ของพลเมืองที่กำหนดไว้ ถือเป็นความชอบธรรมที่ทำได้ในฐานะเป็นเสรีชน มิใช่เพียงราษฎรที่ไร้น้ำยา

คำนี้เพิ่งจะปรากฏในวาทกรรมการเมืองไทย ใช้กล่าวอ้างอธิบายเมื่อจะแข็งข้อต่อสู้กับระบอบทักษิณ ด้วยวิธีการต่างๆ มาจากฐานคิดเสรีนิยมที่เชื่อมั่นว่า “รัฐ” นั้นไม่ใช่พ่อของราษฎร คนนั้นเกิดมาเป็นเสรีชน รัฐบาลเป็นเครื่องมือเพื่อการอยู่ร่วมกันโดยเสรีเท่านั้น เมื่อผู้ครองอำนาจใช้อำนาจล้ำเส้นล้ำกรอบของรัฐเมื่อใด เสรีชนก็มีสิทธิโดยชอบที่จะประท้วง และปฏิเสธไม่ยอมปฏิบัติตาม ตามหน้าที่ของพลเมืองอีกต่อไป ยึดถนนประท้วงก็ได้ ไม่เสียภาษีก็ได้ หยุดงานสาธารณะก็ได้ ฉีกหมายเรียกเกณฑ์ทหารก็ได้ ทั้งหมดนี้ล้วนผิดกฎหมายผิดหน้าที่พลเมืองทั้งสิ้น แต่เมื่อผู้ครองอำนาจใช้อำนาจเกินขอบเขตของรัฐแล้ว เราก็มีสิทธิไม่ยอมรับหน้าที่ของพลเมืองที่กำหนดไว้ตามกฎหมายอีกต่อไป จึงอาจแปลเป็นไทยว่า” การแข็งข้อไม่ยอมเป็นพลเมือง”

ในการแสดงออกซึ่งพฤติกรรมอารยะขัดขืนนั้น ผู้ประท้วงอาจเลือกกระทำผิดกฎหมายบางข้อ เช่น ร่วมกันปิดกั้นถนนหรือสถานที่ใดๆ อย่างสันติ หรืออาจจะต้องเข้าไปยึดครองอาคารอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งผู้ที่จะกระทำการอารยะขัดขืนนั้นต่างรู้ดีว่าพวกเขาจะถูกจับกุมตัวไป หรืออาจจะถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายทุบตี ด้วยเหตุนี้ ผู้ประท้วงจึงมักจะได้รับการฝึกล่วงหน้าว่า จะต้องปฏิบัติตนอย่างไรระหว่างที่ถูกจับกุม เพื่อที่จะไม่ให้ดูว่าเป็นการคุกคามและมุ่งหมายที่จะใช้กำลังตอบโต้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ”


2. อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อธิบายว่า

“อารยะขัดขืนเป็นเรื่องของการขัดขืนอำนาจรัฐ ที่ทั้งเป้าหมายและตัววิธีการอันเป็นหัวใจของ Civil Disobedience ส่งผลในการทำให้สังคมการเมืองโดยรวมมี 'อารยะ' มากขึ้น... การจำกัดอำนาจรัฐนั้นเอง เป็นหนทาง 'อารยะ' ยิ่งการจำกัดอำนาจรัฐโดยพลเมืองด้วยวิธีการอย่างอารยะคือ เป็นไปโดยเปิดเผย ไม่ใช้ความรุนแรง และยอมรับผลตามกฎหมายที่จะเกิดขึ้นกับตัวผู้ใช้สันติวิธีแนวนี้ เพื่อให้สังคมการเมือง 'เป็นธรรม' ขึ้น เคารพสิทธิเสรีภาพของคนมากขึ้น และเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น”

3. สรุปหลักสำคัญและองค์ประกอบของ “อารยะขัดขืน” ได้ว่า

(1) เป็นการละเมิดกฎหมาย หรือตั้งใจที่จะละเมิดกฎหมาย (2) เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายโดยใช้สันติวิธี (nonviolent) (3) เป็นการกระทำต่อสาธารณะโดยมีการแจ้งให้ฝ่ายรัฐรับรู้ล่วงหน้า (4) เต็มใจที่จะรับผลทางกฎหมายที่เกิดจากการละเมิดดังกล่าว (5) กระทำไปเพื่อมุ่งเปลี่ยนแปลงกฎหมายหรือนโยบายบางอย่างของรัฐ ไม่ได้มุ่งที่จะยึดอำนาจ หรือเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง 6) มุ่งยืนยันในหลักความถูกต้อง ความเป็นธรรม และผลประโยชน์ส่วนรวมของสังคม

“อารยะขัดขืน” ที่เกิดขึ้นแล้ว และกำลังจะเกิดขึ้น ในสังคมไทย

1. พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาล

ผมเห็นว่า การชุมนุมของพันธมิตรฯ เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจและมีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่ ณ โอกาสนี้ จะขอกล่าวถึงเพียงสั้นๆ เฉพาะประเด็นว่า เป็นอารยะขัดขืนอย่างไรเท่านั้น

การชุมนุมของพันธมิตรฯ (1) ถูกกล่าวหาว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมาย อาทิ ขัดกฎหมายจราจร ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนรำคาญ เป็นต้น (2) กระทำโดยสันติวิธี ไม่ทำร้ายเจ้าหน้าที่รัฐ ดังจะเห็นได้จากการเคลื่อนขบวนครั้งใหญ่ จากสะพานมัฆวานสู่หน้าทำเนียบรัฐบาลโดยปราศจาดการปะทะกันรุนแรง (3) ประชาชนผู้เข้าร่วมทราบว่าอาจจะผิดกฎหมาย แต่ก็ตั้งใจที่จะกระทำเช่นนั้น และกระทำโดยแจ้งให้สาธารณะทราบล่วงหน้า โดยเปิดเผย (4) กระทำไปเพื่อเปลี่ยนแปลงการครอบงำยึดครองอำนาจรัฐของระบอบทักษิณ ที่อยู่ในรูปรัฐบาลและพรรคการเมืองที่มีพฤติกรรมเป็นนอมินี ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติใหญ่หลวง มุ่งรับใช้ระบอบทักษิณมากกว่าจะปฏิบัติหน้าที่เพื่อประชาชนส่วนรวม โดยที่ประชาชนมิได้มุ่งจะยึดอำนาจรัฐหรือเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง

ประการสำคัญ (5) แกนนำและประชาชนผู้ชุมนุมพร้อมรับผลทางกฎหมายจากการกระทำดังกล่าว โดยยินดีที่จะเดินเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่ชอบด้วยหลักนิติธรรม ดังจะเห็นได้จาก การต่อสู้คดีเมื่อถูกฟ้องหมิ่นประมาท การต่อสู้คดีเมื่อถูกฟ้องว่าก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่โรงเรียนราชวินิต (กรณีโรงเรียนราชวินิต พึงทราบว่า ทนายความที่ดำเนินคดีกับแกนนำผู้ชุมนุมนั้น เป็นน้องชายแท้ๆ ของรองโฆษกพรรคพลังประชาชน)


ในการต่อสู้คดีต่อไปนั้น ประชาชนผู้ถูกกล่าวหาว่าละเมิดกฎหมาย ก็สามารถหยิบยกหลักใหญ่ที่สำคัญยิ่งกว่าข้อปลีกย่อยในกฎหมายที่ถูกกล่าวหา นำขึ้นมาต่อสู้ เช่น สิทธิตามรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ, สิทธิที่จะปกป้องระบอบการปกครองฯ, ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์, การต่อต้านขัดขืนเพื่อความเป็นธรรม ความถูกต้อง และผลประโยชน์ส่วนรวม ฯลฯ

2. ชาวจังหวัดกระบี่และภูเก็ตประท้วงต่อต้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

คืนวันที่ 1 กรกฎาคม 2551 ประชาชนชาวจังหวัดกระบี่และภูเก็ตจำนวนหนึ่ง ออกมาร่วมกันชุมนุมหน้าโรงแรมกระบี่มารีไทม์ปาร์คแอนสปารีสอร์ท แสดงการประท้วงต่อต้านและขับไล่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทย ที่เดินทางมาปฏิบัติราชการในจังหวัดกระบี่ กระทั่ง ร.ต.อ.เฉลิม ตัดสินใจยกเลิกกำหนดการทั้งหมด หนีกลับกรุงเทพฯ ในช่วงเช้ามืดของวันที่ 2 กรกฎาคม

ข่าวรายงานว่า ร.ต.อ.เฉลิม หนีออกทางด้านข้างของโรงแรม ในเวลาประมาณตี 5 โดยหลบออกไปทางแนวเขตของโรงแรมและที่ดินว่างเปล่าของชาวบ้าน ซึ่งมีลวดหนามกั้นสูง ทำให้ต้องข้ามลวดหนามออกไป ระหว่างเส้นทางเดินมีน้ำขังเฉอะแฉะ ต้องใช้ไม้กระดานรองเดิน และต้องฝ่าพงหญ้าที่ขึ้นรก กว่าจะไปถึงที่โล่ง ซึ่งเป็นที่ทิ้งขยะ มีกลิ่นเหม็น จึงถึงจุดที่รถมารอรับ

คนกระบี่ยืนยันว่า เส้นทางดังกล่าว มิใช่เส้นทางที่ “คน” ใช้สัญจรโดยปกติ

การชุมนุมของประชาชนคนกระบี่และภูเก็ต (1) อาจจะถูกกล่าวหาว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมาย (2) กระทำโดยสันติวิธี ไม่ทำร้ายเจ้าหน้าที่รัฐ (3) ทราบว่าอาจจะผิดกฎหมาย แต่ก็ตั้งใจที่จะกระทำเช่นนั้น และกระทำโดยแจ้งให้ทราบล่วงหน้า โดยเปิดเผย (4) กระทำไปเพื่อกดดันให้รัฐมนตรีเฉลิมลาออก และต่อต้านการใช้อำนาจโดยมิชอบของรัฐบาล (5) ประชาชนพร้อมรับผลของการกระทำตามกฎหมาย

กล่าวได้ว่า คนกระบี่และภูเก็ตได้ทำการ “อารยะขัดขืน” อย่างมีพลัง กล้าหาญ น่านับถือ

ทำให้ คำกล่าวของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ที่เคยพูดว่า “ทางเสือ เสือเดิน – ทางหมา หมาเดิน” ปรากฏรูปธรรมให้เห็นเด่นชัด จนปราศจากข้อสงสัย

3. “อารยะขัดขืน” อีกหลายกรณีๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในภูมิภาคต่างๆ อาทิ


กรณีประชาชนชาวใต้ ขึ้นป้ายบนสะพานลอยที่จังหวัดชุมพร ทำพิธีปิดประตูเมือง ห้ามรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รัฐบาลหุ่นเชิดระบอบทักษิณ ผ่านเข้ามาในพื้นที่ และรณรงค์ให้ประชาชนในภาคใต้ ติดป้ายประกาศปิดเมือง ห้ามกลุ่มบุคคลในระบอบทักษิณเข้าพื้นที่ พร้อมประท้วงต่อต้านแบบอหิงสา ไม่ใช้ความรุนแรง และใช้มาตรการอารยะขัดขืน ไม่ปฎิบัติตามคำสั่งใดๆ ทั้งสิ้น เพราะถือว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันได้ก่อปัญหาส่งผลกระทบต่อประเทศชาติ และประชาชนหลายเรื่อง จึงหมดความชอบธรรมในการบริหารประเทศไปแล้ว

กรณีประชาชนในจังหวัดต่างๆ อาทิ จังหวัดกาญจนบุรี ลำปาง ตาก กำแพงเพชร เป็นต้น ประกาศจะชุมนุมขับไล่รัฐบาล หากนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หรือรัฐมนตรีคนอื่นๆ เดินทางมาตรวจราชการหรือลงพื้นที่

กรณีอื่นๆ ที่กำลังจะมีขึ้นทั่วประเทศในเวลาอันใกล้นี้ คือ การปิดล้อมสถานที่ราชการ การนัดหยุดงาน หยุดปฏิบัติหน้าที่ หรือแม้แต่หยุดจ่ายภาษีให้แก่รัฐเป็นการชั่วคราว เป็นต้น

ขณะนี้ แม้แต่ข้าราชการ เจ้าพนักงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ตำรวจ ทหาร บางส่วน ก็เริ่มลุกขึ้น และเดินออกมาเข้าร่วมกับประชาชนทั่วไปแล้ว เช่น ออกมาร่วมชุมนุมประท้วง แต่ปะปนอยู่กับประชาชนทั่วไป

เพราะฉะนั้น หากทหาร ตำรวจ หรือข้าราชการ แต่งเครื่องแบบ วางอาวุธ แล้วออกมาร่วมชุมนุมประท้วงกับประชาชน ก็จะนับเป็น “อารยะขัดขืน” ที่กล้าหาญ และมีพลังอย่างยิ่ง

ทั้งหมด ย่อมจะนับเป็น “อารยะขัดขืน” เมื่อกระทำตามหลักการข้างต้น ภายใต้สันติวิธี โดยเปิดเผย และพร้อมรับผลทางกฎหมายจากการกระทำดังกล่าว โดยสามารถต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม ด้วยการหยิบยกรัฐธรรมนูญหรือหลักความเป็นธรรม ความถูกต้อง และผลประโยชน์ของส่วนรวม ซึ่งอยู่สูงกว่าข้อปลีกย่อยกฎหมายและการใช้อำนาจบังคับของนักการเมือง

หากรัฐบาลที่ปราศจากความชอบธรรม มีอำนาจแต่ไม่สามารถปกครองประเทศได้ ยังคงดื้อด้าน ดึงดัน รักษาอำนาจของตนต่อไป เราคงจะได้เห็น “การตื่น และการลุกขึ้นมาของพลังทางศีลธรรม” ครั้งยิ่งใหญ่ ทั่วประเทศไทย ในไม่ช้า !
กำลังโหลดความคิดเห็น