xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.ใช้ดาบสองฟัน"นพดล"ส่งศาล รธน.ขวางพระวิหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"อภิสิทธิ์" ตอกย้ำขบวนการขายชาติ ทำไทยเสียอธิปไตยเขาพระวิหาร ชี้แถลงการณ์ร่วมเปิดทางให้เขมรบริหารจัดการพื้นที่ไทยได้ ชี้ "นพดล" แจงพระวิหารบิดเบือน 7 ประเด็น "จงใจไม่ใช้คำว่าอำนาจอธิปไตย-ไม่ยึดแนวสันปันน้ำ-สละสิทธิเดิมของไทย-เร่งรีบรับรองเขมร-เปลี่ยนแผนที่เป็นแผนผัง" ขณะเดียวกัน ปชป.เตรียมดาบสองใช้ ม.154(1) ส่ง ศาล รธน.เบรกยกเขาพระวิหารให้เขมร หาก"สมัคร-นพดล"รอดซักฟอก "หม่อมอุ๋ย" เผย แถลงการณ์ข้อ 4 ทำไทยเสียดินแดน ด้าน ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคชาติไทย รับ "นพดล" แจงไม่เคลียร์ แต่ "เติ้ง" สั่งลูกทีมโหวตหนุน เช่นเดียวกับ "เชษฐา" กำชับลูกพรรคอย่าแตกแถว

ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า วานนี้ (25 มิ.ย.) มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ วันที่ 2 นายชวน หลีกภัย ประธานคณะที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวเก็บตกประเด็นในเรื่องเขาพระวิหารที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม กล่าวว่าในยุครัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐบาล ก็มีชาวกัมพูชาลุกล้ำเข้ามาตั้งบ้านเรือน ร้านค้า ในพื้นที่ทับซ้อนในปี พ.ศ 2543 มาก

"ผมยอมรับว่าเป็นในรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์จริง ซึ่งผมได้นำคณะไปเจรจา ประกอบด้วย ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร รมช.ต่างประเทศสมัยนั้น ซึ่งก็มีนายนพดล ปัทมะ เลขานุการรมว.ต่างประเทศไปร่วมเจรจาด้วย นายนพดลซึ่งมีการทำบันทึกช่วยจำ ทั้งสองฝ่ายห้ามลุกล้ำหรือใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อน นายนพดลน่าจะนำข้อมูลนี้ให้ นายกฯดู ว่าเราได้เตรียมป้องกันปัญหาไว้อย่างรอบคอบ แต่พอถึงปี 2544-49 ได้มีการลุกล้ำเข้ามามาก แต่รัฐบาลช่วงนั้นกลับไม่ยอมดำเนินการอะไรเลย พอทางกองกำลังสุรนารีจะผลักดันออกไปก็ถูกฝ่ายการเมืองห้าม อาจจะมองในแง่ดีว่ารัฐบาลคงเป็นห่วงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ตรงนี้ทำไมนายกฯไม่พูด หรือว่า ขาดอายุความไปแล้วอยากให้ท่านพูดตรงไปตรงมาด้วย"

นายชวน กล่าวว่า ตนไม่ได้กล่าวหา คนที่พยายามจะแก้ปัญหาให้บ้านเมือง แต่ท่านอาจจะมองสั้นเกินไป และที่พูดไม่ได้กระเหี้ยนกระหือรือ แต่ผมเชื่อในประสบการณ์ ถ้าเราเชื่อในกฎเกณฑ์และปฎิบัติตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง วิกฤตบ้านเมืองจะไม่เกิด แต่ถ้าไม่เคารพแล้วออกนอกลู่นอกทาง ในที่สุดก็จะสะดุด แล้วมีปัญหาตามอย่างนึกไม่ถึง ในเมื่อท่านเชื่อกระบวนการที่มาของอำนาจ ก็ต้องเชื่อกระบวนการตรวจสอบด้วย ไม่ใช่รับแค่กระบวนการที่มาของอำนาจเท่านั้น ไม่เช่นนั้นองคาพยพของระบอบประชาธิปไตยก็จะมีการอันเป็นไป”

นายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ ลุกขึ้นชี้แจงว่า ในกรณีที่มีการพูดถึงบันทึกความตกลงการปักปันเขตแดนที่มีการเซ็นระหว่างไทยกับกัมพูชาในช่วงปี 2543นั้น เป็นความจริง เพราะตระหนักว่าไทยกับกัมพูชามีปัญหาเรื่องพื้นที่ทับซ้อน ที่เราใช้สั้นปันน้ำ กัมพูชา ใช้แนวอื่น จึงมีปัญหาพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร

ส่วนกรณีการคัดค้านเรื่องการคัดค้านการบุกรุกพื้นทีทับซ้อนของเรา ในวันที่ 10 เม.ย.2551 ที่ไปยื่นนั้น ตนเป็นคนสั่งการเอง เพื่อปกป้องอธิปไตยและคัดค้านการบุกรุกในพื้นที่ทับซ้อนมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนกรณีที่กระทรวงการต่างประเทศไปเร่งรีบ รวบรัดตัดความไปเซ็นเอกสารให้มีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกนั้น กระทรวงการต่างประเทศได้ปกป้องอธิปไตยของไทย ไม่ให้เสียดินแดน โดยขึ้นเฉพาะตัวปราสาทหรือเป็นพื้นที่บ้านเท่าที่เป็นกรรมสิทธิ์ของกัมพูชา ไม่มีการรุกล้ำ สนามหญ้าบ้านเรา แต่ถ้าปล่อยให้ช้าออกไปจะเสียหายได้ เพราะเราเคยขอเลื่อนมาครั้งหนึ่งแล้ว

ชี้แถลงการณ์ทำเขมรจัดการพื้นที่ไทยได้

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ลุกขึ้นซักถามว่า ตอนนี้รมว.ต่างประเทศสับสนว่าสิ่งที่แนบไปเป็นแผนที่หรือแผนผัง เพราะที่แนบไปตรงกับแผนที่ที่กัมพูชาอ้างสิทธิ์ทุกประการ ไม่มีตรงไหนเลยที่ได้เขียน แสดงให้เห็นว่ายังมีปัญหาพื้นทีทับซ้อนอยู่ ไม่ใช่เฉพาะที่ขีดรอบตัวประสาท ยังมีขอบเขตชัดเจนว่ารุกล้ำเข้ามาสู่แผนดินไทยมากน้อยแค่ไหน แต่รุกล้ำเข้ามาแน่นอน แม้วันนี้ยังไม่ได้ตกลงกัน แต่ไปตกลงในหลักการตามแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา แล้วว่ากัมพูชามีสิทธิ์ที่จะมาจับทำแผนบริหารจัดการรวมในพื้นที่ที่เป็นของเรา ดังนั้นขอให้ชี้แจงว่ามติ ครม.คืออะไร และถ้าความตั้งใจของ ครม.ไม่ตรงกับสิ่งที่ท่าน ไปลงนามในแถลงการณ์ร่วมจะทำอย่างไร

ด้าน นายนพดล ชี้แจงว่า สิ่งที่เป็นเอกสารที่กัมพูชาเสนอมาจะเรียกว่าเป็นแผน ที่หรือแผนผังก็แล้วแต่ ได้ส่งให้กรมแผนที่ทหารตรวจสอบแล้วว่าไม่มีส่วนใด ล้ำเข้ามาในพื้นที่ไทย ถ้าล้ำเข้ามาตนคงไม่เซ็นเด็ดขาดและครม.ถึงยอม ดังนั้นการที่ผู้นำฝ่ายค้านระบุว่ากัมพูชามีพื้นที่เหนือพื้นที่ทับซ้อนจึงไม่ถูกต้อง เพราะยังยืนยันว่า เรายังมีพื้นที่ทับซ้อนและประเทศไทยยังใช้สันปันน้ำ

ส่วนการทำแผนบริหารและจัดการพื้นที่ทับซ้อนร่วมกับกัมพูชานั้น มีมาก่อน ที่ตนจะเป็น รมว.ต่างประเทศแล้ว ไม่ใช่ท่าทีใหม่ของกระทรวงการต่างประเทศ ที่ทำให้เราเสียดินแดน ส่วนกรณีถามว่าจะเรียกแผนที่หรือแผนผังนั้น เป็นการเล่นคำจะใช้อะไรก็ได้ และในครม.ก็มีรัฐมนตรีบางท่านตั้งข้อสังเกต เมื่อเรามาดูแล้วมันคือแผนผัง เพราะไม่มีเส้นเขตแดนใดๆ เพื่อความสบายใจและความถูกต้อง ครม.จึงมีมติเปลี่ยนคำว่าแผนที่เป็นแผนผัง

ข้องใจครม.ตัดทิ้งคำว่า"อธิปไตย"

ด้าน นายอภิสิทธิ์ ได้ลุกขึ้นซักต่ออีกว่า ขอให้นำเอกสารที่ท่านอ่านเมื่อสักครู่วันที่ เอกสารฉบับวันที่11 ก.ค.ที่ผ่านมาที่เป็นเอกสารก่อนนำเข้าครม. กรุณาอ่าน ย่อหน้าแรก บรรทัดแรกแล้วจะพบว่าได้ตัดคำว่า "เรื่องอธิปไตย" ออกไป เหลือเพียง แค่ว่า "รองรับคำพิพากษาศาลโลก" เนื่องจากคำพิพากษาศาลโลกพูดถึงเรื่อง อธิปไตยเฉพาะตัวประสาท แต่บริเวณปราสาทเพิ่มเติมมาเป็นคำพิพากษาเกี่ยวกับการคืนโบราณวัตถุ

ขณะที่นายนพดลชี้แจงว่า ตามที่ได้เสนอกำหนดเขตบริเวณปราสาทเพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลกไปเพื่อให้นายกฯพิจารณารวม 2 วิธี เมื่อพิจารณาแล้ว ได้มีคำสั่งเสนอให้ครม.พิจารณา มันแปลกตรงไหน

นายอภิสิทธิ์ ลุกขึ้นซักต่อว่า ขอเสนอบอกว่าให้กำหนดเขตบริเวณจะได้ทราบ "อธิปไตยของกัมพูชา" แต่มติตัดคำนี้ออกไป ตัดเป็น "บริเวณปราสาทเพื่อรองรับคำพิพากษาโลก" เท่านั้น

ซึ่ง นายนพดล ชี้แจงว่าอันนี้อาจสร้างความสับสนแก่ประชาชน เรื่องนี้ประเด็นอยู่ที่ว่าประเทศไทยคืนเฉพาะตัวปราสาท ไม่คืนดินแดนใต้ตัวประสาทด้วย ทั้งหมดเราได้จากกรมแผนที่ทหาร ไม่ได้มาจากการให้กระทรวงการต่างประเทศ ทำขึ้นมาใหม่ มันเป็นแผนที่อันเดียวที่กรมแผนที่ทหารและกระทรวงการต่างประเทศใช้ ในการปกป้องอธิปไตย ดังนั้นข้อโต้แย้งที่ระบุว่าเราคืนเฉพาะซากปราสาท มันไม่จริง

แต่นายอภิสิทธิ์ ได้ซักต่อว่า แนวเขตที่รมว.ต่างประเทศพูดคือหัวใจสำคัญ ของเรื่องนี้ ที่แปลกใจคือพูดถึงมต ิครม.จะอ่านหนังสือที่เสนอเข้า ครม. จะใช้ถ้อยคำว่า การที่จะกำหนดบริเวณปราสาทพระวิหารเพื่อที่กัมพูชาจักได้มีอำนาจอธิปไตย ตามคำพิพากษาของศาลโลก ถ้ายึดตามนี้แปลว่าถ้าขีดเส้นแล้วเราพูดถึงอธิปไตยกันเลย แต่มติครม.ที่ออกวันที่ 11 ก.ค.2551ได้ตัดคำนั้นออกไป จึงได้ขอให้ท่าน อ่านใหม่ เมื่อตัดออกไปแล้วเขาจะเขียนว่าเป็นการกำหนดเขตบริเวณปราสาทเพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลก ความต่างคือคำพิพากษาของศาลโลก พูดเรื่อง "อธิปไตยเฉพาะปราสาท" แต่เขตบริเวณปราสาทเป็นคำพิพากษาในข้อที่ 3 ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอธิปไตย

"แผนที่ที่ใช้ แนวเขตที่ขีดเป็นเพื่อแนวปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ ในการรักษากลาง เพื่อรักษาอธิปไตยแต่ไม่ไปละเมิดศาลโลก แต่เขตแดนของเรา ก็ต้องนับสันปันน้ำ มีข้อยกเว้นเพียงแค่ว่าปราสาทเป็นของกัมพูชา หวังว่าท่านจะเข้าใจในเรื่องนี้ จึงขอย้ำว่า สิ่งที่ท่านดำเนินการเกิดความเสียหาย ส่วนสิ่งที่แนวไปกับแถลงการณ์ร่วม ไม่ได้แนบเฉพาะแผนผังที่กำหนดบริเวณปราสาท แต่แนบไปหมดแล้ว โซน 2 โซน 3 รัฐมนตรีถามว่าทำไมไม่มีเขตแดน เพราะเป็นแผนที่ที่กัมพูชายึดถือ เขตแดนตรงนี้จึงไม่มี เพราะกัมพูชาถือเป็นของเขาทั้งหมด"

นายนพดล ชี้แจงว่า ตนไม่อยากเสียดินแดน แต่ตอนหลังเมื่อจำกัดเฉพาะครึ่งหนึ่งของสามเหลี่ยมในแผนที่ ท่านจะคืนเฉพาะตัวปราสาทได้อย่างไร การตีความ ตามคำวินิจฉัยของศาลโลกสามารถทำได้ แต่ประเทศไทยเคยขอความชัดเจนเรื่องนี้หรือไม่ เราไม่อยากยกปราสาทให้เขา เราไม่เต็มใจ แต่หน่วยงานของรัฐในปี 2505 ได้ตัดสินคืนปราสาทและพื้นที่บริเวณนี้โดยกำหนดแนวเขตใหม่ ตรงนี้ เป็นที่มาที่ทำไมแผนที่แอล 7017เราจึงตัดหรือเฉือนพื้นที่บริเวณปราสาทไปให้กัมพูชา มันเกิดเหตุการณ์นี้เมื่อปี 2505 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการไปยกพื้นดินและปราสาทให้กัมพูชา แต่ถ้าเราสงสัยถือเป็นโอกาสดีที่จะยื่นเรื่องให้ศาลโลกได้วินิจฉัยขอบเขตของคำวินิจฉัยของศาลโลก

ปชป.ระบุ"นพดล"บิดเบือน 7 ประเด็น

นายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงกรณีการชี้แจง กรณีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารของนายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา ว่า พบข้อเท็จจริง ที่มีการบิดเบือนใน 7 ประเด็น คือ 1.นายนพดล พยายามชี้แจงว่ามติ ครม. ปี 2505 ถือว่าเป็นการยกดินแดนปราสาทและบริเวณโดยรอบให้กัมพูชาไปแล้วโดยอ้างเอกสาร ที่กระทรวงมหาดไทยได้ทำถึงนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 ก.ค.2505 ว่า "การที่จะกำหนดบริเวณปราสาทพระวิหารเพื่อกัมพูชาจักได้มีอำนาจอธิปไตยตามคำพิพากษา ของศาลโลกนั้น อาจทำได้ 2 วิธีคือ..."

ซึ่งนายนพดลอ้างว่ากระทรวงมหาดไทยใช้คำว่า "อำนาจอธิปไตย" แสดงให้เห็นว่าเป็นการกำหนดเขตแดนให้กัมพูชานั้น ความเป็นจริง นายนพดล จงใจอ้างเอกสารข้อเสนอเข้าสู่ ครม. ทั้งที่มติ ครม.ไม่ได้ออกมาแบบนั้น แต่กลับตัดคำว่า "อำนาจอธิปไตย"ออกและเปลี่ยนเป็น "การกำหนดเขตบริเวณปราสาทพระวิหาร" เพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลก จึงเป็นการตอกย้ำให้เห็นชัดว่า จุดมุ่งหมายและวัตถุประสงค์ของการออกมติ ครม.ปี 2505 เพื่อต้องการให้เป็น แนวปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายไทย ไม่ใช่เป็นแนวเขตแดนไทย ยิ่งไปกว่านั้นเป็นที่ทราบกันดีว่า มติครม.ไม่สามารถกำหนดเขตแดนได้ ดังนั้น การขึ้นทะเบียนปราสาทตามที่กัมพูชาเสนอจึงเป็นการสูญเสียพื้นที่ แม้จะอยู่ในแนวเขตตามมติ ค.ร.ม. ปี 2505

ประเด็นที่ 2.นายนพดลพยายามอ้างถึงหน่วยราชการต่างๆ รวมถึง กรมแผนที่ทหารว่าใช้แนวเขตตามมติ ครม.ปี 2505 มาตลอด แต่ในข้อเท็จจริง ไทยยังยึดตามแนวสันปันน้ำที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส เมื่อปี 2447 ยกเว้น ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตัวปราสาทพระวิหารที่ศาลโลกมีคำตัดสินยกให้แก่กัมพูชา ด้วยเหตุผลทางภูมิประเทศ โดยคำตัดสินของศาลโลกไม่ได้ชี้แนวเขตแดนระหว่าง 2 ประเทศ แต่บอกให้ถอนกำลังฝ่ายไทยออกจากปราสาทพระวิหาร ซึ่งไม่บอกว่า ให้ถอนกำลังไปยังจุดใด ครม.ปี 2505 จึงออกมติเพื่อกำหนดจุดรักษาการณ์สำหรับกำลังฝ่ายไทยและเหตุที่ไม่สามารถลากเส้นแนวปฏิบัติหน้าที่ไปตามตัวปราสาทพระวิหาร แต่ต้องกำหนดจุดรักษาการณ์ที่กินเนื้อที่มากไปกว่าคำพิพากษาของศาลโลก เพราะในทิศตะวันออก มีทางขึ้นจากฝั่งกัมพูชา ที่เรียกว่า "บรรไดหัก" จึงต้องลาก แนวเส้นปฏิบัติหน้าที่ ไปจาก ปีกขวาของตัวปราสาทพระวิหารตั้งแต่ช่องบรรไดหัก ลากเส้นตรงผ่านชิดบรรไดนาคตรงไปจนถึงตัวปราสาทพระวิหาร

นายศิริโชค กล่าวว่า 3.การที่นายนพดลอ้างว่าไม่มีส่วนใดที่กัมพูชาจดทะเบียน ปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแล้วรุกล้ำเข้ามาในแผ่นดินไทยนั้นไม่เป็นความจริง เพราะมติ ครม.ปี 2505 หมายถึงเส้นแนวปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายไทย

4.นายนพดลอ้างว่าแถลงการณ์ร่วมที่ไปลงนามกับกัมพูชาไม่มีข้อความใด ที่กล่าวถึงการสละสิทธิที่ไทยได้สงวนไว้หรือการกล่าวอ้างถึงธรรมนูญของมรดกโลกนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีผลเป็นการสละสิทธิ

5.นายนพดลอ้างว่าการขึ้นทะเบียนมรดกโลกที่กำจัดเฉพาะตัวปราสาทไม่กระทบต่ออธิปไตยนั้น เป็นการจงใจไม่พูดถึงพื้นที่อนุรักษ์(บัฟเฟอร์โซน) ซึ่งตามแผนที่ แนบท้ายแถลงการณ์ร่วมไม่ได้ระบุขอบเขต แต่ก้าวล่วงเข้ามาในเขตแดนไทย ที่กำหนดโดยสันปันน้ำอย่างชัดเจน และยังระบุให้อำนาจการจัดทำแผนการบริหารจัดการในพื้นที่นี้เป็นของกัมพูชาส่วนหนึ่งด้วย

6.การที่นายนพดลอ้างว่าถ้าไม่ดำเนินการอย่างเร่งรีบ กัมพูชาจะสามารถขึ้นทะเบียนมรดกโลกได้สำเร็จ โดยอาจมีการแนบแผนที่ที่ล้ำเขตแดนไทย แต่ที่จริง ถ้าฝ่ายไทยไม่สนับสนุนการดำเนินการของกัมพูชาอย่างชัดแจ้ง มีโอกาสสูงที่กัมพูชาจะไม่ประสบความสำเร็จ เพราะจะขัดต่อเจตนารมณ์ของมติการประชุมกรรมการมรดกโลก ที่ประเทศนิวซีแลนด์เมื่อปี 2550 และถ้ากัมพูชาดำเนินการได้สำเร็จ ไทยก็สามารถประท้วงได้ เพราะไม่เคยยอมรับการกระทำของกัมพูชา

นายศิริโชค กล่าวว่า และ7.การที่ครม.มีการปรึกษาเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา ในการเปลี่ยนคำว่า"แผนที่" เป็น "แผนผัง" ชี้ชัดเจนว่าครม.เห็นความผิดพลาด ในการดำเนินการทั้งหมด เพราะแผนที่หรือแผนผังที่แนบท้ายแถลงการณ์ร่วมไทยกับกัมพูชา ทำให้ผู้เห็นเข้าใจว่าพื้นที่ทั้งหมดเป็นของกัมพูชา เนื่องจาก แผนที่หรือแผนผังนี้สอดคล้องกับแผนที่ที่กัมพูชาใช้อ้างเขตแดนมาตลอด อีกทั้ง การทบทวนถ้อยคำดังกล่าวในมติ ครม.ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงคำว่า map ในแถลงการณ์ร่วมได้ และเอกสารแนบในแถลงการณ์ร่วมมีเลขพิกัด เส้นรุ้งเส้นแวง เส้นความลาดชัน ทิศ และมาตราส่วน ซึ่งแสดงให้เห็นชัดว่าเอกสารนี้เป็นแผนที่ ไม่ใช่แผนผัง

ดังนั้นเห็นได้ว่าครม.เป็นห่วงเรื่องดังกล่าว จึงเปลี่ยนถ้อยคำจาก "แผนที่" มาเป็น "แผนผัง" แต่ก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้ เพราะมีอยู่ทางเดียวคือรัฐบาลยกเลิกสนับสนุนให้ปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก

ปชป.เตรียมดาบ 2 ยื่นศาล รธน.

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่ว่าผลการอภิปรายไม่ไว้วางใจกรณีที่รัฐบาล ภายใต้การนำของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี อนุมัติให้ นายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ ลงนามยอมรับให้ปราสาทเขาพระวิหาร เป็นของประเทศกัมพูชา จะได้รับความไว้วางใจ จากสภาฯให้บริหารประเทศต่อไปหรือไม่ พรรคประชาธิปัตย์ก็จะดำเนินการ ยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 154 (1) ให้พิจารณาว่าการลงนามดังกล่าว เป็นไปโดยมิชอบ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ทั้งนี้ เบื้องต้น ตนเห็นว่าอาจจะมีการเสนอให้ถอดถอนนายนพดลตามรัฐธรรมูญมาตรา 270 ที่ระบุการเอาผิด ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีที่มีพฤติการณ์ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ให้วุฒิสภามีอำนาจถอดถอนผู้นั้นออกจากตำแหน่งได้

ส่วนข่าวที่ว่าจะมีการเปิดเส้นทางช่องตาเฒ่า อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีษะเกษ ให้เป็นจุดผ่านแดนระหว่างไทยและกัมพูชาได้อย่างถาวร นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า มีเรื่องของผลประโยชน์นักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างแน่นอน ซึ่งยังไม่ถึงเวลา ที่พรรคจะเปิดเผยข้อมูลในส่วนนี้ แต่อยากให้สื่อมวลชนเข้าตรวจสอบว่า การกว้านซื้อพื้นที่บริเวณใกล้เคียงมีอดีตนักการเมืองหญิงพรรคไทยรักไทยเดิม ซึ่งมียศนำหน้าว่าคุณหญิงและยังเป็นหนึ่งในกรรมการบริหารที่ถูกตัดสิทธิ์ ทางการเมืองเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ และการขนคนไทยเข้าไปยังประเทศกัมพูชา สามีของอดีตนักการเมืองหญิงคนดังกล่าวมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่

ติงแถลงการณ์ข้อ 4 ทำไทยเสียดินแดน

ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง หนึ่งในบุคคล ที่ร่วมลงชื่อยื่นเรื่องถึงยูเนสโก เพื่อเสนอให้ชะลอการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร เป็นมรดกโลก ตามข้อเสนอของรัฐบาลกัมพูชาว่า อยากให้สังคมดูคำแถลงการณ์ร่วม ไทย-กัมพูชา ข้อ 4 ให้ดี เพราะถือเป็นความฉลาดและแยบยลของผู้เสนอเรื่องนี้ในการ ประชุมที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส 10 ชั่วโมง โดยในแผนที่แนบท้ายคำแถลงการณ์ ได้ทำเหมือนกับขีดเส้นขอบเขตปราสาทให้แล้ว เพื่อให้เข้าใจว่าจะเสนอขึ้นทะเบียน เฉพาะตัวปราสาทเท่านั้น แต่ในแถลงการณ์ข้อ 4 กลับระบุว่าให้ไทย-กัมพูชา ไปทำแผนบริหารจัดการพื้นที่ทับซ้อนร่วมกัน จากนั้นให้นำมารวมกับแผนบริหารจัดการตัวปราสาทและพื้นที่รอบปราสาท แสดงว่าจะมีแผนสุดท้ายออกมาอีก ดังนั้น หากทั้ง 2 ประเทศเสนอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกร่วมกัน ก็ไม่เป็นปัญหา เพราะจะเป็นเจ้าของร่วมกัน แต่นี่กัมพูชาเสนอเพียงฝ่ายเดียว ก็เท่ากับว่าไทยจะต้องไปช่วยกัมพูชาทำแผน

"ในอนาคตมติ ครม. ที่รับรองแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา จะกลายเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่รับรองว่ารัฐบาลไทยยินยอมเรื่องพื้นที่ทับซ้อนไปแล้ว ที่ผ่านมาต่างฝ่ายต่างพยายามรุกคืบเพราะคิดว่าจะเป็นของเรา ดังนั้น สิ่งที่ดีที่สุดคือ ปล่อยให้มันทับซ้อนกันไปเรื่อยๆ จะได้ไม่ทะเลาะกัน และเราต้องมีความรู้เท่าทันเพื่อจะได้ไม่โดนรุกมา"

ส่วนกรณีที่ ครม.ยอมปรับปรุงถ้อยคำในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา โดย เปลี่ยนคำว่า "แผนที่เป็น "แผนผัง" นั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า คิดว่า คงมีคนเริ่มดูเนื้อหาในแถลงการณ์อย่างละเอียดขึ้น หากตั้งใจดูจริงๆ ก็จะเห็น จึงมีความเป็นไปได้ที่รัฐมนตรีบางคนจะเริ่มไหวตัวหลังดูแถลงการณ์ข้อ 4 ซึ่งเมื่อ ครม.มีทีท่าเช่นนี้คงต้องรอดูว่ามติ ครม.ใหม่ที่ออกมาจะส่งผลให้มีการปรับแถลงการณ์ ร่วม 2 ประเทศหรือไม่ เรื่องนี้มันเผลอกันได้ ถ้าเผลอแล้วแก้ไขอย่างลูกผู้ชาย ก็คิดว่าเป็นเรื่องที่น่าชมเชย

ลูกพรรค ชท.ชี้ "นพดล" แจงไม่เคลียร์

นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคชาติไทย กล่าวว่า ตนเฝ้า ติดตามดูการชี้แจงของนายนพดลมาตลอด แต่ฟังแล้วก็ยังตอบไม่ตรงประเด็น ที่ฝ่ายค้านถามหลายเรื่อง และในฐานะส่วนตัวที่เป็น ส.ส.ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นพื้นที่ เกิดเหตุ ตนและชาวศรีสะเกษยังติดใจในคำชี้แจงของนายนพดลจึงขอถาม 3 ประเด็นคือ 1. ถ้าขึ้นทะเบียนตัวปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแล้ว พื้นที่ทับซ้อน ที่มีการกล่าวอ้างรวมถึงพื้นที่รุกล้ำเข้ามาในเขตประเทศไทย จะดำเนินการอย่างไร เพราะประตูทางเข้าอยู่ฝั่งไทย ขณะที่ชุมชนคนเขมรที่รุกล้ำอยู่ตรงกลางและ ยอดเขาพระวิหารอยู่ด้านบนเป็นของกัมพูชา และในอนาคต ถ้าเป็นมรดกโลกแล้ว ไทยจะสูญเสียพื้นที่ที่ถูกรุกล้ำและพื้นที่โดยรอบหรือไม่

2. การเร่งรีบรับแผนผังรูปที่ 2 ของรมว.การต่างประเทศโดยระบุว่า องค์การยูเนสโก จะไม่ฟังคำค้านของฝ่ายไทย ขอถามว่าองค์การยูเนสโกมีสิทธิอะไรที่จะไม่รับฟังคำคัดค้าน และประเทศเขมรจะไม่รู้เลยหรือว่า ทางยูเนสโกจะไม่รับฟังคำค้านของไทย ซึ่งหากทางเขมรรู้เช่นนั้น มันจะมีประโยชน์อะไรที่เขมรจะต้องเสียเวลามาเปลี่ยนแผนที่ให้ไทยใหม่ เพราะยิ่งทำให้พื้นที่ของเขมรลดน้อยลงและเสียประโยชน์ แล้วเขาจะทำ ทำไม

3. ที่ผ่านมาไทยเคยขอจดทะเบียนขึ้นเป็นมรดกโลกร่วมกับทางกัมพูชา แต่ถูกปฏิเสธ แสดงว่ากัมพูชาไม่เคยให้ความสำคัญกับประเทศไทย เหตุใด รมว.การต่างประเทศของไทยจึงต้องไปให้ความสำคัญและช่วยเหลือรับรองสถานสัญญาในการจดขึ้นทะเบียนของปราสาทเขาพระวิหารให้เขมร ทั้งยังเป็นการสร้าง ความขัดแย้ง แตกแยกของคนในชาติให้แตกออกเป็น 2 ฝ่ายคือฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จึงขอให้นายนพดล เร่งชี้แจงให้ตรงประเด็นที่ถามต่อประชาชนชาวไทย โดยเฉพาะชาวศรีสะเกษที่รอฟังคำชี้แจงทั้ง 3 ข้ออยู่โดยเร็วที่สุด

ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุใดจึงไม่ขออภิปราย รมว.ต่างประเทศในข้อสงสัยที่ ชาวศรีสะเกษต้องการคำชี้แจง นายสิริพงส์ กล่าวว่า จะเป็นการเสียมารยาท ทางการเมืองเพราะเป็นส.ส.ร่วมรัฐบาล แต่ตนก็ฝากถามนายนพดลผ่านสื่อมวลชน แทนชาวศรีสะเกษด้วยว่า ที่ผ่านมาหลายปีผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทำอะไรอยู่จึงปล่อยให้ คนเขมรรุกล้ำพื้นที่ประเทศไทยเข้ามากจนเป็นชุมชนเช่นนี้

ส่วนจะยกมือไม่ไว้วางใจหรือไม่ นายสิริพงส์ กล่าวว่า ต้องรอฟังมติของพรรคก่อนแล้วค่อยพิจารณา ยังมีเวลา

"เติ้ง"สั่งลุกทีมอุ้ม รมต.เพื่อมารยาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุม ส.ส.พรรคชาติไทยเพื่อกำหนดท่าที ของพรรคในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย ได้กำชับให้ส.ส.ทุกคนฟังการอภิปรายฯอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2552 โดยได้สั่งให้รัฐมนตรีของพรรคชาติไทยทุกคนเตรียมข้อมูลในส่วนงบประมาณของ กระทรวงตนเอง ให้พร้อม พร้อมทั้งกำชับให้ส.ส.ในพรรคเตรียมข้อมูลที่จะใช้ในร่างพ.ร.บ.งบประมาณ

สำหรับประเด็นเรื่องการยกมืออภิปรายไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจรัฐบาลนั้น นายบรรหาร ได้กำชับให้ส.ส.ของพรรคยกมือไปในทิศทางเดียวกันหมด คือสนับสนุนรัฐบาลเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการสั่นครอนของรัฐบาล เนื่องจากตามมารยาท พรรคชาติไทยถือเป็นพรรคร่วมรัฐบาล แม้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ต้องสนับสนุนเพื่อให้รัฐบาลสามารถบริหารงานต่อไปได้ ส่วนจะแก้ไขอะไรหรือไม่ ค่อยมาว่ากันอีกที

"เชษฐา"สั่งลูกพรรคโหวตหนุนรัฐบาล

พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร หัวหน้าพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา กล่าวว่า เท่าที่ถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านกรณีปราสาทเขาพระวิหาร คำชี้แจงจาก นายนพดล และติดตามข้อมูลจากฝ่ายทหาร ก็คิดว่าในสถานการณ์เช่นนี้ ก็ทำได้เพียงแค่นี้ เพราะในความรู้สึกของเราคือมันเสียไปตั้งแต่ปี 2505 แล้ว ในเมื่อขณะนี้ทางการกัมพูชาจะขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ฝ่ายไทยก็ไม่มีทางหลีกเลี่ยง ต้องไปลงนามในแถลงการณ์ร่วม

"ถ้าเป็นหมากรุกก็เรียกว่าเข้าตาจน มันถูกบังคับ ไม่มีทางทำอย่างอื่น ก็ถือว่า ดีที่สุดแล้ว จากนี้ทำได้แค่คิดว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไรต่อไป แต่อย่างว่าศาลโลกตัดสินเกินปี 10 ปีแล้ว จึงหมดสิทธิในการอุทธรณ์ สิ่งที่ดีที่สุด ณ วันนี้คือการรักษาความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านเพื่อที่เราจะไม่ต้องเตรียมกองทัพไว้ต่อสู้กันเอง โดยที่ต่างฝ่ายต่างไม่ได้อะไรเลย"

ผู้สื่อข่าวถามว่า เท่าที่ฟังคำชี้แจงของนายนพดลถือว่าสอบผ่านหรือไม่ พล.อ.เชษฐา กล่าวว่า อย่างที่บอกคืออย่างไรก็ต้องผ่าน เพราะเป็นตาบังคับ ทั้งนี้ ในส่วนของพรรครวมใจไทยฯ จะมีการนัดหารือส.ส. ทั้ง 9 คนก่อนลงมติโดยต้อง มาคุยกันและตัดสินใจตามเสียงส่วนใหญ่ จุดยืนของพรรคจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

วิปขยายเวลาซักฟอกอีก 1 วัน

นายสามารถ แก้วมีชัย ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เปิดเผยว่า วิปรัฐบาลได้หารือกับนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธานวิปฝ่ายค้าน เกี่ยวกับระยะเวลาการอภิปรายแล้ว ได้ข้อสรุปว่า จะมีการขยายวันอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล รวม 7 คน ออกไปอีก 1 วัน โดยจะให้ลงมติในเช้าวันศุกร์ที่ 27 มิ.ย. จากนั้นในช่วงบ่ายจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภา 36 คณะ และต่อด้วยการอภิปราย และต่อด้วยการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2552
กำลังโหลดความคิดเห็น