xs
xsm
sm
md
lg

เสร็จมันแล้วพี่น้อง! “นพดล” ลงนามมอบเขาพระวิหารให้เขมรแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“นพดล” ถือวิสาสะปิดห้องงุบงิบกับ “ทูตเขมร” ลงนามไฟเขียวให้ทางการกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหาร เป็นมรดกโลกแล้ว แถมยังมีหน้ามาทวงบุญคุณ อ้างเป็นผลงานที่ต้องบันทึกเป็นเกียรติประวัติไปชั่วลูกชั่วหลาน ระบุ สมควรได้ดอกไม้มากกว่าก้อนหิน ลั่นไม่ได้เสียดินแดนสักตารางนิ้วเดียว ด้วยการใช้กราฟฟิกแหกตาชาวบ้าน

 คลิกที่นี่ เพื่อฟัง นายนพดล ปัทมะ แถลงข่าว 

วันนี้ (18 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 14.00 น.นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ได้ลงนามยินยอมให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทวิหารเป็นมรดกโลก ร่วมกับ นายอึง เซียน เอกอัครราชทูตกัมพูชา และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยมิให้สื่อมวลชนเข้าไปในห้องดังกล่าวเลย ซึ่ง นายนพดล อ้างว่า ทางกัมพูชาไม่สะดวกให้เข้าถ่ายภาพในส่วนของตนไม่มีปัญหาอะไรที่จะปิดบัง ไม่นั้นไม่มาเซ็นและแถลงข่าวที่นี้ เซ็นที่อื่นก็ได้ อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ นายนพดล ได้บอกกับผู้สื่อข่าว ว่า ที่ไม่ลงนามที่กระทรวงต่างประเทศ เพราะมีกลุ่มพันธมิตรฯ ล้อมอยู่

หลังจากนั้น ในเวลา 14.30 น.นายนพดล ได้แถลงข่าวร่วมกับ นายกฤต ไกรกิตติ อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ พล.ท.สุรพล เผื่อนอัยกา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และ พล.ท.แดน มีชูอรรถ เจ้ากรมแผนที่ทหาร โดยไม่ได้มีตัวแทนจากประเทศกัมพูชา ร่วมแถลงแต่อย่างใด ถึงกรณีการดำเนินการของฝ่ายไทยกรณีกัมพูชาขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยก่อนการแถลงข่าว นายนพดล ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่กรมแผนที่ทหาร เตรียมความพร้อมเรื่องแผนที่เพื่อใช้ในการแถลงข่าว

นายนพดล กล่าวว่า สืบเนื่องจากความสับสนของข้อมูลในเรื่องการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร เมื่อปี 2549 และ ปี 2550 ทางกัมพูชาได้ขึ้นทะเบียนตัวปราสาทโดยรวมตัวปราสาท และพื้นที่ทับซ้อน คือ 1+2 มันล้ำเข้ามาในพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรของเรา ทางกระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานของรัฐอื่นๆ ได้พยายามคัดค้านมาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งการพิจารณาที่เมืองไครส์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2550 ทางคณะกรรมการมรดกโลก หรือ ยูเนสโก จึงเลื่อนมาพิจารณาในปีนี้ในเดือนกรกฎาคม ในสมัยที่ 32 เนื่องจากเวลาล่วงพ้นไปถ้าเราปล่อยเนิ่นช้าไป ประเทศไทยก็สุ่มเสี่ยงที่อาจถูกมองว่าเสียดินแดน ในส่วนที่เป็นพื้นที่ทับซ้อนตนก็เลยเจรจากับ นายสก อาน รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่เกาะกง และเดินทางไปที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 22, 23 เดือนทีผ่านมา เจรจากันด้วยความยากลำบาก

นายนพดล กล่าวว่า ท้ายที่สุดทางกัมพูชาได้ตกลงที่จะจำกัดการขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาท คือ เอาเฉพาะ 1 ไม่เอา 2 เมื่อเป็นเช่นนี้ผลที่ตามมา คือ ทำให้เราไม่สุ่มเสี่ยงที่จะต้องเสียดินแดนใดๆ ในพื้นที่ทับซ้อน ตนอยากจะให้สื่อมวลชนได้ดูแผนที่ฉบับที่ 1 นายนพดล กล่าวพร้อมยกแผนที่ประกอบ ระบุว่า แผนที่ที่เห็นเป็นแผนที่ L7017 คือ แผนที่หน่วยงานของรัฐบาลไทย ใช้เป็นแผนที่ในการปฏิบัติงานในตอนแรกเมื่อปี 2505 ศาลโลกได้ตัดสินว่ากรรมสิทธิ์ของตัวปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา คณะรัฐมนตรีที่มี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี จึงมีมติคณะรัฐมนตรียกกรรมสิทธิ์ในตัวปราสาท ให้กับกัมพูชาตามคำวินิจฉัยของศาลโลก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างนี้ นายนพดล ได้ชี้แจงแผนที่ โดยชี้จุดของตัวปราสาท และเส้นเขตแดนของไทยในแผ่นที่ แผนที่ที่เราได้ใช้ทำงานมาตั้งแต่ปี 2505 จนกระทั่งปัจจุบัน 46 ปี เป็นเช่นนี้ถ้าให้ดูชัดเจนจากภาพถ่ายทางอากาศจะเห็นว่าตัวปราสาทอยู่นอกเส้นเขตแดนของเรา ตัวปราสาทอยู่ในพื้นที่ของเขา ประเด็นอยู่ที่ว่า หลังจากที่เราพูดคุยกับกัมพูชาให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาทห้ามขึ้นรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ทับซ้อนของเรากัมพูชา จึงต้องไปทำแผนที่ขึ้นมาใหม่ ตามข้อตกลงที่กรุงปารีส

“อันนี้ถือว่าเป็นความสำเร็จของกระทรวงการต่างประเทศที่เจรจาสำเร็จ ผมควรจะได้ดอกไม้ ไม่ใช่ได้ก้อนหิน เป็นการเจรจาทางการทูตที่ลูกหลานจะต้องโจษจัน ไปอีกนานว่าทำสำเร็จได้อย่างไร” นายนพดล กล่าว

นายนพดล กล่าวว่า กัมพูชาเขียนแผนที่มาใหม่ (ยกแผนที่อันใหม่มาให้ดู) นี้คือ แผนที่ที่กัมพูชาที่ นายอลงกรณ์ บอกว่า หมกเม็ด ที่วุฒิสมาชิกบอกว่าล้ำเข้ามาในพื้นที่ไทย หรือพันธมิตรฯ ไปด่าตนที่หน้ากระทรวง แผนที่ที่กัมพูชาทำขึ้นมาใหม่ ไม่มีตอนใดเลยที่ตัวปราสาทรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ทับซ้อนของไทยแม้แต่ตารางมิลเดียว ใช้ตารางนิ้วเดียวอาจจะใหญ่ไป จุดที่แคบที่สุดห่างประมาณ 3 เมตร จุดที่ 10 และ 11 ของแผนที่ ห่างประมาณ 10 เมตร นี้คือ แผนผังที่ทางกัมพูชาได้แก้ไขเพื่อไม่ให้มีการรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ของประเทศไทย นี้คือ แผนที่ฉบับล่าสุดที่เรามีการแนบในแถลงการณ์ร่วมไม่มีตอนใดรุกล้ำเข้ามาในประเทศไทย

นายนพดล ได้ยกแผนที่ฉบับดั้งเดิมที่ขอขึ้นทะเบียนปี 2549 พร้อมกับกล่าวว่า เป็นแผนที่ที่รุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ของประเทศไทย ซึ่งเป็นแผนที่ที่เรารับไม่ได้ จึงขอเจรจาแก้ไขมาเป็นแผนที่ใหม่ ซึ่งทุกอย่างไม่มีที่จะเป็นเขตอนุรักษ์ ในเขตพื้นที่ของเราตัวปราสาทในผังใหม่ อยู่ในพื้นที่เขาทั้งหมด ไม่มีตอนใดของปราสาทที่ล้ำเข้ามาในพื้นที่ทับซ้อน แม้แต่น้อย นี่คือ ความจริง ข้อเท็จจริงของประเทศไทยและกัมพูชาในขณะนี้ที่ประชาชนต้องรู้ และตนไม่เคยคิดที่จะปกปิดแผนที่นี้เลย เพียงแต่ว่าเราเพิ่งได้รับแผนที่และมีการเซ็นเอกสารจากทางกัมพูชาในวันนี้ ขอให้สื่อมวลชนกรุณาถ่ายรูปแผนที่ไว้แล้วไปลง นี้คือ ความสำเร็จของกระทรวงการต่างประเทศ

ด้าน เจ้ากรมแผนที่ทหาร กล่าวว่า ขอยืนยันว่า สิ่งที่ทางกรมแผนที่ทำ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ของกรมแผนที่ทหารลงไปในพื้นที่ทำการสำรวจพื้นที่จริงๆ ซึ่งเป็นหนแรกในรอบหลายสิบปีที่เราได้มีโอกาสเข้าไปสำรวจในเขาพระวิหาร เพราะเป็นเขตแดนของกัมพูชาทางกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ติดต่อประสานงานให้ทางกรมแผนที่ทหารไปสำรวจเพียงฝ่ายเดียว เราใช้เวลา 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 9-11 มิ.ย.เข้าไปทำการสำรวจด้วยเครื่องมือรังวัดพิกัด จีพีเอสดาวเทียม เข้าไปรังวัดตัวปราสาททั้งหมด และหาค่าพิกัดทั้งหมดที่เกี่ยวข้องผลที่ออกมาเป็นแผนผัง 1 ต่อ 4000 ส่วนที่ใกล้เส้นเขตแดนที่สุด คือ 3 เมตร ซึ่งอยู่ทางด้านใต้ ด้านซ้ายของตัวปราสาทและสูงขึ้นมาจะห่างประมาณ 25 เมตร ช่วงห่างสูงสุด คือ 30 เมตร ช่วงบันไดหน้าสุดท้ายจนถึงเส้นเขตแดนทางเหนือของไทยห่างประมาณ 10 เมตร จากการสำรวจในพื้นที่และจากการรังวัดอย่างละเอียด ขอยืนยันว่า ไม่มีส่วนใดในขอบเขตที่กัมพูชาขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทับซ้อน หรือเหลื่อมล้ำเข้ามา ในเขตแดนไทย

นายนพดล กล่าวต่อว่า หลังจากที่เราได้ตรวจสอบแผนผังฉบับนี้ ทางประเทศไทยได้เสนอเนื่องให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ และเมื่อวาน คณะรัฐมนตรี ได้อนุมัติคำแถลงการณ์ร่วมและแผนผังของแผนที่ที่ยื่นเข้ามาใหม่ และได้มีการลงนามร่วมกันระหว่างตนและรองนายกรัฐมนตรี สก อาน จากนั้นขั้นตอนต่อไปเราจะส่งแผนที่และคำแถลงการณ์ร่วมไปให้ทางยูเนสโกได้ลงนามและยูเนสโกจะส่งเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลกในวันที่ 5-9 เดือนกรกฎาคมนี้ ที่เมืองควิเบก ประเทศแคนาดา สิ่งที่กระทรวงการต่างประเทศไทยและกรมแผนที่ทหาร และสภาความมั่นคงแห่งชาติ และหน่วยงานทุกหน่วยงานได้ปกป้องอธิปไตยเพื่อไม่ให้ไทยได้สุ่มเสี่ยงต่อการเสียดินแดน ไม่มีตารางนิ้วเดียวที่เราต้องสูญเสียให้ใคร และไม่มีใครได้ดินแดน

“เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ที่ไปกล่าวหาผม บอกว่า ผมมีประโยชน์ทับซ้อนหรือไปเสียดินแดน จึงเป็นความเท็จทั้งสิ้น เราทำในสิ่งซึ่งเราสำนึกว่าเราเป็นข้าแผ่นดินเราต้องทำเพื่อปกป้องอธิปไตยของเราแล้วเราได้ทำสำเร็จจากการเจรจาที่กรุงปารีส และจากเอกสารหลักฐานที่สื่อมวลชนได้เห็นอย่างชัดเจน ไม่มีการหมกเม็ดมีความโปร่งใสทุกขั้นตอน เราทำงานด้วยความเป็นมืออาชีพ จากทางกรมแผนที่ทหาร ได้ไปตรวจสอบนี้คือสิ่งที่ผมอยากจะกราบเรียน ให้เพื่อนสื่อมวลชนได้ทราบ” นายนพดล กล่าว

นายนพดล กล่าวต่อว่า ถ้าถามว่า พื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร จะทำอะไรต่อไป ซึ่งมีวัดมีตลาด มีบ้านคนอยู่นิดหน่อย ซึ่งเกิดมาตั้งแต่ปี 2543 เราต้องรักษาอธิปไตยของเราต่อไปเราจะไปเจรจาพูดคุยกันทำแผนบริหารจัดการร่วมกันในส่วนนี้ และยื่นให้องค์การยูเนสโกหรือคณะกรรมการมรดกโลกภายใน 2 ปี คือปี 2553 ฉะนั้น ที่ตรงนี้คงไม่ใช่ที่จะไปขายลูกชิ้นปิ้ง หรือเป็นที่ที่ประชาชนไปอยู่อย่างสกปรกไร้ระเบียบ เราจะต้องไปหารือร่วมกับกัมพูชาเพราะเราก็อ้างสิทธิ์ทับซ้อน เขาก็อ้างสิทธิ์ทับซ้อน วิธีที่จะทำคือต้องเจรจาทางช่องทางการทูตเพื่อพัฒนาพื้นที่เหล่านี้ ให้มีความสวยงามและเป็นการอนุรักษ์โบราณสถานของเรา

นายนพดล กล่าวว่า ประเทศไทยมีกรอบความร่วมมือทวิภาคีกับประเทศกัมพูชา ประเทศไทยมีกรอบความร่วมมือสามเหลี่ยมมรกตกับลาว กับกัมพูชาในเรื่องการพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวประเทศไทย มีข้อผูกพันในแง่ของการร่วมมือกันตามกรอบของแอคแมค ที่เราจะพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวร่วมกันเมื่อสถานที่แห่งนี้ตัวปราสาทได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกก็จะนำมาซึ่งการไหลมาของนักท่องเที่ยวที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งสองประเทศ นี้คือ ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการแถลงข่าวของ นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ถึงการดำเนินการของฝ่ายไทยกรณีกัมพูชาขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยได้ทำสำเนาคำแปลอย่างไม่เป็นทางการ ของคำแถลงการณ์ร่วม ณ วันที่ 22 พฤษภาคม 2551 เวลา 23.35 น.แต่ไม่ได้ทำสำเนาแผนที่ที่ใช้เป็นหลักฐานในการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ซึ่งเนื้อหาในคำแถลงมีดังนี้

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2551 ได้มีการประชุมระหว่าง นาย สก อาน รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักรัฐมนตรีของราชอาณาจักรกัมพูชา กับ นายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศของราชอาณาจักรไทย เพื่อสานต่อการหารือเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก การประชุมดังกล่าวจัดขึ้น ณ สำนักงานใหญ่ยูเนสโก กรุงปารีส โดยมี นางฟรองซัวส์ ริวิแยร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายวัฒนธรรมของยูเนสโก เอกอัครราชทูตฟรานเชสโก คารูโซ นายอเซดีน เบส์ชาวุช นางปาโอลา ลีออนซินี บาร์โตลี และ นายจีโอวานนี้ บอคคาร์ดี เข้าร่วมการประชุมด้วย

การประชุมเป็นไปอย่างฉันท์มิตรและด้วยความร่วมมืออันดี ในระหว่างการประชุมทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกัน ดังนี้

1.ราชอาณาจักรไทยสนับสนุนการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ซึ่งเสนอโดยกัมพูชา ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยที่ 32 (ณ เมื่องคิวเบก ประเทศแคนาดา ในเดือนกรกฎาคม 2551) ขอบเขตของปราสาทปรากฏตาม N.1 ในแผนที่ที่จัดทำโดยเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของกัมพูชาตามที่แนบมาพร้อมนี้ ทั้งนี้ แผนที่ดังกล่าวได้กำหนดเขตอนุรักษ์(buffer zone) ทางทิศตะวันออกและทิศใต้ของตัวปราสาทไว้ด้วยดังปรากฏตาม N.2

2.ด้วยเจตนารมณ์แห่งไมตรีจิตและการประนีประนอม ราชอาณาจักรกัมพูชายอมรับว่าปราสาทพระวิหารจะได้รับการเสนอให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก โดยในชั้นนี้ไม่มีเขตอนุรักษ์ในพื้นที่ทางทิศตะวันตกและทิศเหนือของตัวปราสาท

3.ให้ใช้แผนที่ที่ระบุในย่อหน้าที่ 1 แทน แผนที่ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และรวมทั้ง “Schema Directeur pour la Zonage de Preah Vihear” ตลอดจนการอ้างอิงโดยรูปภาพต่างๆ ทั้งหมดที่แสดงให้เห็นถึงเขตคุ้มครอง (core zone) หรือการกำหนดเขตอื่นๆ (zonage) ในบริเวณปราสาทพระวิหารตามที่ระบุในเอกสารประกอบคำขอขึ้นทะเบียนของกัมพูชา

4.ในระหว่างที่ยังไม่มีผลของการปฏิบัติงานของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (JBC) ในพื้นที่รอบตัวปราสาทพระวิหารทางทิศตะวันตกและทางทิศเหนือดังปรากฏตาม N.3 ในแผนที่ที่ระบุในย่อหน้าที่ 1 ข้างต้น แผนบริหารจัดการในพื้นที่ดังกล่าวจะได้รับการจัดทำขึ้นร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของกัมพูชาและของไทย โดยสอดคล้องกับมาตรฐานการอนุรักษ์ระดับสากล เพื่อรักษาคุณค้าอันเป็นสากลที่โดดเด่นของปราสาท ทั้งนี้ ให้บรรจุแผนกาบริหารจัดการดังกล่าวไว้ในแผนบริหารจัดการฉบับสุดท้ายสำหรับตัวปราสาทและพื้นที่รอบๆ ตัวปราสาท ซึ่งจะต้องเสนอต่อศูนย์มรดกโลกภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2553 สำหรับการพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลกในสมัยที่ 34 ในปี2553

5.การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกจะไม่มีผลกระทบต่อสิทธิของราชอาณาจักรกัมพูชาและราชอาณาจักรไทยในการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (JBC) ของทั้งสองประเทศ

6.ราชอาณาจักรกัมพูชาและราชอาณาจักรไทยขอแสดงความขอบคุณเป็นอย่างยิ่งต่อผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโก นายโคอิชิโร มัตซุอุระ สำหรับความช่วยเหลือในการอำนวยความสะดวกในกระบวนการอันนำไปสู่การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก







นพดลยกดินแดนให้เขมรล่าชื่อยื่นยูเนสโกล้มมติครม.อัปยศ
พันธมิตรฯบุกกระทรวงต่างประเทศ ประฌาม นพดล ยื่นอธิปไตยเหนือดินแดนไทยให้กัมพูชา จากการลงนามในแถลงการณ์ร่วมเพื่อรับรองแผนที่ฉบับใหม่ให้เขมรนำไปเสนอให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกประเทศเดียว ขณะที่ นักวิชาการรุมแฉวาระซ่อนเร้น เปลี่ยนเส้นเขตแดนแลกประโยชน์กลุ่มการเมือง เตือนระเมิดรัฐธรรมนูญ เสนอสว.63 คนเข้าชื่อส่งศาลรธน.ด่วน ด้านนพดล ยังโวเป็นฮีโร่ ไม่ทำไทยเสียดินแดน บอกควรได้ดอกไม้ไม่ใช่ก้อนหิน ปานเทพ เตรียมเสนอพันธมิตรฯ ล่าชื่อยื่นคัดค้านไปยังยูเนสโก จำลอง ย้ำศุกร์นี้เก็บข้าวของ ล้อมทำเนียบฯ ลั่นตำรวจไม่มีสิทธิห้าม เตือนใช้ความรุนแรงถูกฟ้องแน่ สมัคร ผวาเรียก ผบ.ตร.-ผบ.ทบ.ถกด่วน สั่งทำทุกวิถีทางอย่าให้พันธมิตรฯเข้าถึงทำเนียบฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น