xs
xsm
sm
md
lg

เปิดคำฟ้องศาลปกครอง ระงับ “หุ่นเชิด” ยกดินแดนให้เขมร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปราสาทพระวิหาร
                                                                คดีหมายเลขดำที่…984…/2551

                                      ศาลปกครองสูงสุด

                        วันที่ 24 เดือน มิถุนายน พุทธศักราช 2551

                นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ที่ 1, นายนิติธร ล้ำเหลือ ที่ 2,     ผู้ฟ้องคดี
                นายนคร ชมพูชาติ ที่ 3, นายสุริยะใส กตะศิลา ที่ 4,
                นายคำนูณ สิทธิสมาน ที่ 5, นายคณิศร ฑปภูผา ที่ 6,
                นายกิ่งแก้ว โยมเมือง ที่ 7, นายประภาส บุรีศรี ที่ 8
                นางรัศมี ไวยเนตร ที่ 9

ระหว่าง


                รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ (นายนพดล ปัทมะ) ที่ 1,
                คณะรัฐมนตรี ที่ 2                                                ผู้ถูกฟ้องคดี

ข้าพเจ้า นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ที่ 1 กับพวกรวม 9 คน (รายละเอียด ที่อยู่ ปรากฏตามบัญชีรายชื่อผู้ฟ้องคดีแนบท้ายคำฟ้องนี้)

ในการฟ้องคดีนี้ ผู้ฟ้องคดีที่ 4 และ ที่ 5 ได้มอบอำนาจให้ นายสุวัตร อภัยภักดิ์ เป็นผู้ฟ้องคดีแทน รายละเอียดปรากฏตามหนังสือมอบอำนาจ เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 1 และ ผู้ฟ้องคดีที่ 6 ถึงที่ 9 ได้มอบอำนาจให้นายนิติธร ล้ำเหลือ เป็นผู้ฟ้องคดีแทน รายละเอียดปรากฏตามหนังสือมอบอำนาจ เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 2

มีความประสงค์จะขอฟ้อง

- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ (นายนพดล ปัทมะ) ที่ 1 อยู่ที่ กระทรวงการต่างประเทศ เลขที่ 443 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขต ราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400

- คณะรัฐมนตรี ที่ 2 อยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล ถนนพิษณุโลก เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300

ผู้ฟ้องคดีทั้งหมดเป็นประชาชนไทย สัญชาติไทย มีสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายทั้งได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย และเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยของชาติโดยตรงอย่างแท้จริง เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 หมวด 1 มาตรา 3 บัญญัติว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้” วรรคสองบัญญัติว่า “การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานของรัฐต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม” และหมวด 4 มาตรา 71 บัญญัติว่า “บุคคลมีหน้าที่ป้องกันประเทศ รักษาผลประโยชน์ของชาติและปฏิบัติตามกฎหมาย”

นอกจากที่กล่าวมาแล้วผู้ฟ้องคดีที่ 4 ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่ จังหวัดศรีสะเกษ ในฐานะเป็นพลเมืองท้องถิ่นคนในพื้นที่ใกล้ชายแดนกัมพูชาอันเป็นที่ตั้งปราสาทพระวิหารซึ่งเป็นมรดกทางอารยธรรมล้ำค่า และจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดี ถือว่าเป็นการกระทำโดยไม่คำนึงถึงคนท้องถิ่นที่อยู่ตามแนวชายแดนไทยซึ่งมีความผูกพันยึดมั่นในปราสาทพระวิหารทำให้ได้รับความเสียหายอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้

ผู้ฟ้องคดีที่ 5 เป็นสมาชิกวุฒิสภา มีหน้าที่ตามหมวด 6 ส่วนที่ 4 มาตรา 122 บัญญัติว่า “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย โดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติ มอบหมาย หรือความครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์” ซึ่งผู้ฟ้องคดีที่ 5 เป็นผู้ซึ่งเสียสิทธิในการใช้สิทธิตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ จากการกระทำขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ของผู้ถูกฟ้องคดี จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ผู้ฟ้องคดี ที่ 5 ไม่สามารถใช้สิทธิตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ซึ่งเป็นการใช้สิทธิตามอำนาจหน้าที่ที่ผู้ฟ้องคดีจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ

ผู้ฟ้องคดีทั้งหมดเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ได้รับผลกระทบโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ จากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองที่กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ใช้อำนาจหน้าที่และกระทำการนอกเหนืออำนาจหน้าที่โดยไม่สุจริต ไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 พระราชบัญญัติบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 ไม่ยึดถือปฏิบัติตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 ทั้งยังกระทำการขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 และไม่บริหารราชการแผ่นดินตามคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2551 ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ไม่ดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนด ใช้ดุลยพินิจไม่เหมาะสม ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศไทยและปวงชนชาวไทยตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 หมวด 1 มาตรา 1 บัญญัติว่า “ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้” มีผลกระทบต่อพระราชอำนาจขององค์พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข และกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิเสรีภาพของผู้ฟ้องคดีและปวงชนชาวไทยทุกคนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ดังมีรายละเอียดของการกระทำ ข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ เกี่ยวกับการกระทำที่เป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายดังนี้

ข้อ 1.ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2551 เห็นชอบร่างคำแถลงการณ์ร่วมรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชา ที่ได้จัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2551 กรณีการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกพร้อมแผนที่แนบท้าย โดยมอบหมายให้ นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศเป็นผู้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมฯ จากนั้นจึงเสนอกัมพูชาเพื่อรายงานต่อองค์การยูเนสโกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในวันที่ 5 กรกฎาคม 2551 ต่อไป

ต่อมาวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ.2551 นายนพดล ปัทมะ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ได้ลงนามในคำแถลงการณ์ร่วมรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชากรณีขอขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกพร้อมแผนที่แนบท้ายแล้วนั้น ปรากฏข้อเท็จจริงว่ากระบวนการการดำเนินการดังกล่าวมิได้กระทำไปตามขั้นตอน ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 หมวด 9 คณะรัฐมนตรี มาตรา 190 ที่บัญญัติว่า “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่น กับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ

หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ในการนี้ รัฐสภาจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องดังกล่าว

ก่อนการดำเนินการเพื่อทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศตามวรรคสอง คณะรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และต้องชี้แจงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับหนังสือสัญญานั้น ในการนี้ ให้คณะรัฐมนตรีเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบด้วย

เมื่อลงนามในหนังสือสัญญาตามวรรคสองแล้ว ก่อนที่จะแสดงเจตนาให้มีผลผูกพันคณะรัฐมนตรีต้องให้ประชาชนสามารถเข้าถึงรายละเอียดของหนังสือสัญญานั้น และในกรณีที่การปฏิบัติตามหนังสือสัญญาดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนหรือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบนั้นอย่างรวดเร็วเหมาะสม และเป็นธรรม

ให้มีกฎหมายว่าด้วยการกำหนดขั้นตอนและวิธีการจัดทำหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า หรือการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญาดังกล่าวโดยคำนึงถึงความเป็นธรรมระหว่างผู้ที่ได้ประโยชน์กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญานั้นและประชาชนทั่วไป

ในกรณีที่มีปัญหาตามวรรคสอง ให้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัยชี้ขาด โดยให้นำบทบัญญัติตามมาตรา 154(1) มาใช้บังคับกับการเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยอนุโลม”

ซึ่งเมื่อพิจารณารายละเอียดคำแถลงการณ์ร่วมรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชากรณีขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกพร้อมแผนที่แนบท้ายแล้วนั้น ทั้งฉบับร่างวันที่ 22 พฤษภาคม 2551 และฉบับจริงที่ลงนามเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2551 จะเห็นได้อย่างชัดแจ้งว่าคำแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวมีลักษณะเป็นหนังสือสัญญา ซึ่งต้องอยู่ภายใต้บังคับตามมาตรา 190 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 โดยพิจารณาจากหลักดังนี้

1) กระทำเป็นลายลักษณ์อักษร
2) สัญญาดังกล่าวอยู่ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ
3) คู่สัญญาเป็นรัฐหรือรัฐบาล
4) มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจสังคมอย่างกว้างขวาง มีผลผูกพันทางการค้า การลงทุน และงบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ

เมื่อนำหลักข้างต้นมาพิจารณาประกอบข้อตกลงตามคำแถลงการณ์ร่วมฯ ดังกล่าวแต่ละข้อจะเห็นได้ดังนี้

1) คำแถลงการณ์ร่วมฯ ดังกล่าวได้กระทำเป็นลายลักษณ์อักษร
2) คำแถลงการณ์ร่วมฯ ดังกล่าวอยู่ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ
3) คำแถลงการณ์ร่วมฯ ดังกล่าวลงนามโดยนายนพดล ปัทมะ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กับ นาย ซก อัน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีของราชอาณาจักรกัมพูชา
4) ตามคำแถลงการณ์ร่วมฯ ดังกล่าว มีข้อตกลงดังนี้

(1) ราชอาณาจักรไทย สนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร ในบัญชีมรดกโลก ซึ่งเสนอโดยรัฐบาลกัมพูชา ตามที่จะได้มีขึ้นในการประชุมสมัยที่ 32 ของคณะกรรมการมรดกโลก (ที่นครควิเบก ประเทศแคนาดา ในเดือนกรกฎาคม 2008) เขตรอบพื้นที่ของปราสาทพระวิหาร ปรากฏตามที่ระบุไว้ ณ บริเวณ N.1 ในแผนที่ที่แนบท้ายที่จัดทำขึ้น โดยรัฐบาลกัมพูชา แผนที่ดังกล่าวให้รวมถึงพื้นที่กันชน (buffer zone) ในด้านทิศตะวันออกและด้านใต้ของปราสาท ตามที่ระบุไว้ตามเครื่องหมาย N.2 ด้วย

ข้อตกลงดังกล่าวมีผลดังนี้

ราชอาณาจักรไทยได้สละสิทธิในข้อสงวนที่ประเทศไทยจะเอาปราสาทพระวิหารกลับคืนมาในอนาคต กรณีศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้พิพากษาเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ.1962 (พ.ศ.2505) ยอมรับอธิปไตยของกัมพูชาเหนือซากของปราสาทพระวิหาร ที่ได้ยื่นหนังสือแถลงการณ์ต่อนายอูถั่น เลขาธิการสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ค.ศ.1962 (พ.ศ.2505) ดังปรากฏข้อความดังนี้

“ในแถลงการณ์เป็นทางการลงวันที่ 3 กรกฎาคม ค.ศ.1962 (พ.ศ.2505 รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ประกาศต่อประชาชนแสดงความไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลที่กล่าวข้างต้น โดยมีเหตุผลว่า ตามความเห็นของรัฐบาล คำพิพากษาขัดต่อข้อกำหนดอันชัดแจ้งของบทที่เกี่ยวเนื่องของสนธิสัญญา ค.ศ.1904 (พ.ศ. 2447) และ ค.ศ.1907 (พ.ศ. 2450) และขัดต่อหลักกฎหมาย และความยุติธรรม แต่อย่างไรก็ดีรัฐบาลก็ยังแถลงว่าในฐานะที่เป็นสมาชิกสหประชาชาติ รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะปฏิบัติตามพันธกรณีที่ตนมีอยู่ตามคำพิพากษาดังกล่าว เพื่อปฏิบัติหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ตามข้อ 94 ของกฎบัตร

ข้าพเจ้าใคร่จะแจ้งให้ท่านทราบว่า ในการตัดสินใจที่จะปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ในคดีเกี่ยวกับปราสาทพระวิหารนั้น รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปรารถนาที่จะตั้งข้อสงวนอันชัดแจ้งเกี่ยวกับสิทธิใดๆที่ประเทศไทยมีหรืออาจมีในอนาคต เพื่อเอาปราสาทพระวิหารกลับคืนมา โดยอาศัยกระบวนการกฎหมายที่มีอยู่หรือที่จะพึงนำมาใช้ได้ในภายหลัง และตั้งข้อประท้วงต่อคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ที่ตัดสินให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา

ฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงรู้สึกเป็นเกียรติที่จะแจ้งข้อความข้างต้นให้ท่านทราบ พร้อมกับขอให้ท่านแจ้งข้อความในหนังสือฉบับนี้ ให้สมาชิกทั้งปวงขององค์การนี้ทราบทั่วกันด้วย”

จากคำแถลงการณ์เป็นทางการดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงเจตนาของรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในขณะนั้นว่ายังมีความประสงค์ที่จะเอาปราสาทพระวิหารกลับคืนมา นอกจากคำแถลงการณ์ดังกล่าวแล้วคณะรัฐมนตรีในขณะนั้นยังได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 ซึ่งต้องถือว่ามติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวมีผลผูกพันคณะรัฐมนตรีทุกชุดต้องยึดถือปฏิบัติตาม แม้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจะไม่มีคณะรัฐมนตรีชุดใดดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม แต่ก็ไม่มีคณะรัฐมนตรีชุดใดมีมติคณะรัฐมนตรีให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ดังนั้นการที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างคำแถลงการณ์ร่วมรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชา ฯ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2551 โดยมอบหมายให้นายนพดล ปัทมะ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศเป็นผู้ลงนามในแถลงการณ์ร่วม ฯ ซึ่งนายนพดล ปัทมะในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วม ฯ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2551 จึงมีผลเป็นการยกเลิกข้อสงวนในการติดตามเอาปราสาทพระวิหารกลับคืนมา และมีผลเป็นการยอมรับว่าปราสาทพระวิหารเป็นของประเทศกัมพูชาอย่างสมบูรณ์ถาวรตลอดไป นอกจากนี้การลงนามตามคำแถลงการณ์ร่วม ฯ ข้อ 1 ยังเป็นการแสดงเจตนายืนยันอย่างชัดแจ้งถึงการยอมรับในแผนที่กำหนดแนวเขตที่จัดทำโดยเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของกัมพูชาของประเทศไทย ดังปรากฏข้อความในคำแถลงการณ์ร่วม ฯ ว่า “..เขตรอบพื้นที่ของปราสาทพระวิหารปรากฏตามที่ระบุไว้ ณ บริเวณ N.1 ในแผนที่ที่แนบท้ายที่จัดทำขึ้นโดยรัฐบาลกัมพูชา แผนที่ดังกล่าวให้รวมถึงพื้นที่กันชน (buffer zone) ในด้านทิศตะวันออกและด้านใต้ของปราสาท ตามที่ระบุไว้ตามเครื่องหมาย N.2 ด้วย” ความตอนนี้เมื่อพิจารณาประกอบแผนที่แนบท้ายแสดงให้เห็นว่าประเทศกัมพูชาได้แสดงยืนยันอย่างชัดแจ้งเป็นหลักฐานแล้วว่า พื้นที่กันชน (buffer zone) ทางทิศตะวันออกและทิศใต้ของตัวปราสาทเป็นอำนาจอธิปไตยของประเทศกัมพูชา ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวอยู่นอกเหนือคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ดังนั้นการลงนามในคำแถลงการณ์ร่วม ฯ จึงมีผลเป็นการสละสิทธิข้อสงวนการติดตามกลับคืน เป็นการยอมรับนับถืออธิปไตยของกัมพูชาอย่างสมบูรณ์ถาวร และยังมีผลเป็นการยอมรับการแสดงสิทธิอำนาจอธิปไตยของประเทศกัมพูชานอกเหนือขอบเขตปราสาทพระวิหารด้วย กรณีนี้จึงต้องถือว่าข้อตกลงตามคำแถลงการณ์ร่วม ฯ มีผลเป็นการเปลี่ยนอาณาเขตไทยอย่างชัดเจน

(2) ในบรรยากาศแห่งความปรารถนาดีและประนีประนอมต่อกัน ราชอาณาจักรกัมพูชายอมรับให้ปราสาทพระวิหารถูกเสนอเพื่อขึ้นทะเบียนในบัญชีมรดกโลก โดยขั้นตอนนี้ยังไม่ให้รวมถึงพื้นที่กันชน(buffer zone) ตามพื้นที่ด้านเหนือและตะวันตกของปราสาท

ข้อตกลงดังกล่าวมีผลดังนี้

ตามเหตุผลดังกล่าวมาในผลข้อตกลงข้อที่ (1) แล้ว ในข้อ (2) ประเทศกัมพูชายังได้แสดงเจตนายืนยันแสดงสิทธิอำนาจอธิปไตยในพื้นที่นอกเหนือตัวปราสาทพระวิหารเหมือนเดิม เพียงแต่ในขั้นตอนเสนอปราสาทพระวิหารขึ้นทะเบียนในบัญชีมรดกโลก ยังไม่ให้รวมถึงพื้นที่กันชน(buffer zone) ตามพื้นที่ด้านเหนือและตะวันตกของปราสาท การพิจารณาข้อตกลงในข้อ(2) ตามคำแถลงการณ์ร่วม ฯ จะต้องพิจารณาถ้อยคำว่า “ในบรรยากาศแห่งความปรารถนาดีและประนีประนอมต่อกัน” และถ้อยคำว่า “โดยขั้นตอนนี้ยังไม่ให้รวมถึงพื้นที่กันชน(buffer zone) ตามพื้นที่ด้านเหนือและตะวันตกของปราสาท” โดยละเอียดรอบคอบอย่างที่สุด เพราะมีความหมายเฉพาะในขั้นตอนเสนอปราสาทพระวิหารขึ้นทะเบียนในบัญชีมรดกโลกเท่านั้น แต่มิได้เป็นการสละสิทธิการแสดงสิทธิอำนาจอธิปไตยในพื้นที่กันชน(buffer zone) ในพื้นที่ทางทิศตะวันตกและทิศเหนือของตัวปราสาท

(3) แผนที่แนบท้ายตามที่ระบุในย่อหน้าที่ 1 ข้างต้น ให้ใช้แทนแผนที่เดิมที่เกี่ยวกับ และรวมถึง “Schema Directeur pour la Zonage de Preah Vihear” และรวมถึงผังหรือแผนแบบอ้างอิงทั้งหมดที่ระบุถึงเขตพื้นที่สำคัญ (Core zone) และเขตอื่น ๆ (zonage) เขตพื้นที่อื่นของปราสาทพระวิหารที่ปรากฏในคำร้องขอขึ้นทะเบียนของกัมพูชา

ข้อตกลงดังกล่าวมีผลดังนี้

การลงนามของประเทศไทยในข้อนี้ถือเป็นการเพิ่มน้ำหนักในคำยืนยันที่จะยอมรับในสิทธิอำนาจอธิปไตยของประเทศกัมพูชาตามที่กล่าวในข้อ (1) ข้อ (2) แล้ว ยังมีผลเป็นการแสดงเจตนาสละสิทธิในบรรดาข้อโต้แย้ง ข้อคัดค้านต่างๆ ที่ประเทศไทยได้กระทำมาแล้วทั้งหมด และไม่ว่าเหตุการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป ประเทศไทยก็ต้องยึดถือแผนที่ตามที่ระบุในย่อหน้าที่ 1 แทน ตามถ้อยคำที่ปรากฏดังนี้ “แผนที่แนบท้ายตามที่ระบุในย่อหน้าที่ 1 ข้างต้น ให้ใช้แทนแผนที่เดิมที่เกี่ยวกับและรวมถึง “Schema Directeur pour la Zonage de Preah Vihear” และรวมถึงผังหรือแผนแบบอ้างอิงทั้งหมดที่ระบุถึงเขตพื้นที่สำคัญ (Core zone) และเขตอื่น ๆ (zonage) เขตพื้นที่อื่นของปราสาทพระวิหารที่ปรากฏในคำร้องขอขึ้นทะเบียนของกัมพูชา” อย่างมิอาจปฏิเสธได้อีกต่อไป

(4) ในระหว่างรอผลปฏิบัติงานของคณะกรรมการร่วม (JBC) เพื่อกำหนดอาณาเขตเกี่ยวกับพื้นที่รอบปราสาทด้านทิศเหนือและทิศตะวันตก รอบปราสาทพระวิหาร ซึ่งระบุโดยเครื่องหมาย N. 3 ไว้ในแผนที่ที่กล่าวถึงในย่อหน้าที่ 1 ข้างต้น ให้มีการจัดเตรียมแผนการจัดการพื้นที่ดังกล่าวโดยวิธีการประสานกันระหว่างรัฐบาลกัมพูชาและรัฐบาลไทยอย่างสอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ ด้านการอนุรักษ์ เพื่อที่จะธำรงไว้ซึ่งคุณค่าที่โดดเด่นเป็นสากลของทรัพย์สินนี้ แผนการจัดการดังกล่าวจะถูกรวมเข้าไว้ในแผนจัดการสุดท้ายสำหรับองค์ปราสาทและพื้นที่รอบ ๆ ปราสาทนั้น ซึ่งจะต้องนำเสนอต่อศูนย์กลางมรดกโลกก่อนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2010 เพื่อนำเข้าพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลกในการประชุมครั้งที่ 34ในปี 2010

ข้อตกลงดังกล่าวมีผลดังนี้

ข้อตกลงดังกล่าวเป็นที่ยอมรับร่วมกันของประเทศไทยกับประเทศกัมพูชาว่าขณะนี้ยังไม่มีกำหนดอาณาเขตเกี่ยวกับพื้นที่รอบปราสาทด้านทิศเหนือและทิศตะวันตก รอบปราสาทพระวิหาร ซึ่งระบุโดยเครื่องหมาย N.3 ในแผนที่ที่กล่าวถึงในย่อหน้าที่ 1 ข้างต้นนั้น มีข้อที่ต้องสังเกตอย่างพึงระวัง ดังนี้

- พื้นที่ N.3 ไม่ปรากฏว่ามีการกล่าวถึงมาเลยในข้อ 1

- พื้นที่ N.3 เป็นพื้นที่ที่ทั้งประเทศไทยและประเทศกัมพูชาต่างยอมรับซึ่งกันและกันแล้วว่ามีสิทธิอำนาจอธิปไตยร่วมกัน เพียงแต่ขณะนี้ยังไม่สามารถชี้ชัดลงไปได้ว่าใครมีกรรมสิทธิ์ในส่วนใดเท่านั้นเอง กรณีดังกล่าวจึงต้องถือว่าประเทศไทยยอมรับการมีสิทธิอำนาจอธิปไตยในพื้นที่ N.3 แล้ว ซึ่งเป็นการยอมรับการขยายอาณาเขตของประเทศกัมพูชานอกเหนือไปจากคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ

- มีผลให้เป็นการยุติการปฏิบัติงานของคณะกรรมการร่วม (JBC) ตามพื้นที่ N.3 ในแผนที่ที่กล่าวถึงในย่อหน้าที่ 1 ไปโดยปริยายเพราะทั้งสองฝ่ายได้ตกลงที่จะร่วมกันจัดทำแผนบริหารจัดการในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว

- การกำหนดให้แผนการจัดการดังกล่าวรวมเข้าไว้ในแผนจัดการสุดท้ายสำหรับองค์ปราสาทและพื้นที่รอบ ๆ ปราสาทนั้น ซึ่งจะต้องนำเสนอต่อศูนย์กลางมรดกโลกก่อนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2010 เพื่อนำเข้าพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลกในการประชุมครั้งที่ 34ในปี ค.ศ. 2010 นั้น มีนัยสำคัญยิ่งและมีผลเป็นการรับรองแผนการจัดการพื้นที่ดังกล่าวในอนาคต ซึ่งไม่ทราบว่าแผนการจัดการพื้นที่ดังกล่าวจะเป็นอย่างไร แต่ที่ชัดเจนแน่นอนคือผลตามข้อ 4 มีผลเป็นการหักล้างข้อตกลงคำแถลงการณ์ร่วม ฯ ในข้อ 2 ที่ปรากฏถ้อยคำว่า “โดยขั้นตอนนี้ยังไม่ให้รวมถึงพื้นที่กันชน(buffer zone) ตามพื้นที่ด้านเหนือและตะวันตกของปราสาท” ทั้งยังมีผลเป็นการแสดงเจตยืนยันการแสดงสิทธิอำนาจอธิปไตยตามพื้นที่ N.3 ของประเทศกัมพูชาอีกครั้งหนึ่ง โดยประการสำคัญในข้อความตอนท้าย ของข้อ 4 ที่กล่าวข้างต้นยังแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยได้ให้การยืนยันยอมรับยินยอมให้ประเทศกัมพูชา ยื่นขอจดทะเบียนมรดกโลกได้ทั้งตัวปราสาทพระวิหารและพื้นที่รอบ ๆ ตัวปราสาทด้วย กรณีนี้เมื่อประเทศไทยไม่ได้ยื่นร่วมในการขอจดทะเบียนมรดกโลก ก็จะมีผลเป็นว่าปราสาทพระวิหารและพื้นที่รอบ ๆ ตัวปราสาทเป็นมรดกโลกภายใต้อำนาจอธิปไตยของประเทศกัมพูชาแต่ประเทศเดียว ดังนั้นการบริหารจัดการพื้นที่มรดกโลกก็จะเป็นสิทธิอำนาจของประเทศกัมพูชาฝ่ายเดียว

(5) การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารในบัญชีมรดกโลก จะเป็นไปโดยไม่กระทบกระเทือนต่อสิทธิของราชอาณาจักรกัมพูชาและราชอาณาจักรไทย ในการกำหนดเส้นเขตแดนของคณะกรรมการร่วมเพื่อการกำหนดเขตแดน (JBC) ของทั้งสองประเทศ

ข้อตกลงดังกล่าวมีผลดังนี้

หากพิจารณาโดยไม่ละเอียดรอบคอบก็จะเห็นว่า ข้อตกลงดังกล่าวเป็นหลักทั่วไป แต่หากพิจารณาโดยละเอียดรอบคอบตามถ้อยคำที่ว่า “จะเป็นไปโดยไม่กระทบกระเทือนต่อสิทธิ..” ย่อมหมายถึงบรรดาสิทธิใด ๆ การสละสิทธิใด ๆ การแสดงเจตนาแสดงสิทธิใด ๆ การรับรอง การโต้แย้ง การคัดค้าน การประนีประนอม ทั้งที่มีอยู่ก่อนหรือเกิดขึ้นในขณะลงนามในคำแถลงการณ์ร่วม ฯ หรือเกิดขึ้นภายหลังจากลงนาม ก็เป็นเรื่องของความผูกพันของทั้งสองประเทศไม่เกี่ยวกับคณะกรรมการมรดกโลก และโดยประการสำคัญการลงนามในคำแถลงการณ์ร่วม ฯ ก็จะเป็นข้อตกลงที่คณะกรรมการร่วมเพื่อการกำหนดเขตแดน (JBC) ของทั้งสองประเทศต้องปฏิบัติตาม

(6) ราชอาณาจักรกัมพูชาและราชอาณาจักรไทย ขอแสดงความขอบคุณอย่างลึกซึ้งของผู้อำนวยการ ยูเนสโก ฯพณฯ นายโคอิชิโร มัตซุอุระ สำหรับความช่วยเหลือในการอำนวยความสะดวกแก่กระบวนการในการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร ในบัญชีมรดกโลก

ข้อตกลงดังกล่าวมีผลดังนี้

การแสดงความขอบคุณเป็นมารยาทอันสำคัญที่ต้องแสดงให้ปรากฏอย่างชัดเจน แต่ขณะเดียวกันการระบุชื่อนายโคอิชิโร มัตซุอุระ ผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโก ก็ถือเสมือนการแสดงให้ปรากฏต่อคณะกรรมการมรดกโลกและประชาชนโลกด้วยว่ากระบวนการในการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร ในบัญชีมรดกโลก ตามความตกลงของคำแถลงการณ์ร่วม ฯ ได้กระทำด้วยน้ำใจแห่งมิตรภาพและความร่วมมือต่อกัน ที่ต่างจะถือข้อกำหนดตามคำแถลงการณ์ร่วม ฯ เป็นข้อมูลผูกพันของทั้งสองประเทศอย่างมั่นคงต่อหน้าพยานที่ปรากฏในคำแถลงการณ์ร่วม ฯ

ดังนั้นเมื่อพิจารณาตามถ้อยคำ เนื้อหา สาระ ดังที่ปรากฏในคำแถลงการณ์ร่วม ฯ ตามที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าคำแถลงการณ์ร่วม ฯ มีลักษณะเป็นหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่ของอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ การดำเนินการดังกล่าวจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 190 ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ถึงแม้ว่าข้อตกลงดังกล่าวจะใช้คำว่า “คำแถลงการณ์ร่วมฯ” เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ใช้คำว่า “หนังสือสัญญา” ก็ตาม

ข้อ 2. กระทรวงการต่างประเทศมีฐานะเป็นนิติบุคคลมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการต่างประเทศ และราชการอื่นตามที่ได้มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงการต่างประเทศ นายนพดล ปัทมะ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จึงเป็นผู้ใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามอำนาจหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศและเป็นผู้บังคับบัญชาส่วนราชการและข้าราชการในสังกัดกระทรวงการต่างประเทศ การที่นายนพดล ปัทมะ เป็นผู้ร่วมกำหนดข้อตกลงในคำแถลงการณ์ร่วม ฯ ในการประชุมเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2551 และเป็นผู้นำเสนอร่างคำแถลงการณ์ร่วม ฯ ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและมีมติคณะรัฐมนตรีในวันที่ 17 มิถุนายน 2551 “เห็นชอบร่างคำแถลงการณ์ร่วมรัฐบาลไทยและกัมพูชา กรณีการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกพร้อมแผนที่แนบท้าย โดยมอบหมายให้นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ลงนามร่วม จากนั้นจึงเสนอกัมพูชาเพื่อรายงานต่อองค์การ ยูเนสโก ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในวันที่ 5 กรกฎาคม ต่อไป” นั้น เป็นการกระทำการโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 แต่เนื่องจากการกระทำดังกล่าวได้กระทำไปโดยปกปิด บิดเบือนข้อมูล ข้อเท็จจริง ความหมายแห่งถ้อยคำในสาระสำคัญของคำแถลงการณ์ร่วม ฯ ไม่แสดงสถานะของคำแถลงการณ์ร่วม ฯ ที่แท้จริงอันจะมีผลต่อกระบวนการขั้นตอนที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งไม่แสดงผลความผูกพัน ความเสียหาย อันจะเกิดแก่ประเทศไทยอย่างชัดแจ้ง โดยมุ่งหวังให้สมเจตนาแห่งตนโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายด้านอาณาเขตดินแดนและอำนาจอธิปไตยของประเทศไทย โดยเจตนาไม่สุจริต จึงถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญ สร้างภาระให้เกิดแก่ประเทศชาติ แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งเก้าและปวงชนชาวไทยทุกคน

ข้อ 3. การที่คณะรัฐมนตรีมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2551 เห็นชอบ ฯ ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จึงเป็นการมีมติคณะรัฐมนตรี โดยไม่ตรวจสอบพิจารณาข้อมูลข้อเท็จจริงอย่างละเอียดรอบคอบ ใช้ดุลยพินิจไม่เหมาะสม ไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรี อำนาจ หน้าที่แห่งตน มิได้ยึดถือว่าตนเองเป็นรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังเช่นรัฐบาลชุดก่อนที่ได้พยายามต่อสู้และตั้งข้อสงวนไว้ ไม่ถือปฏิบัติในอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 โดยไม่สุจริต กระทำการขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา ไม่ส่งเสริมคุ้มครองสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารการมีส่วนร่วม ไม่รับฟังความคิดเห็นของประชาชน มีเจตนาส่งเสริมสนับสนุนรับรองการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของนายนพดล ปัทมะ สร้างความเสียหายต่อประเทศชาติ ต่อผู้ฟ้องคดีทั้งหมดและปวงชนชาวไทยทุกคนอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวจึงเป็นมติคณะรัฐมนตรีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ข้อ 4. เมื่อการกระทำของนายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไม่ชอบด้วยกฎหมายมาแต่ต้น ดังนั้นมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2551 ที่เห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วม ฯ โดยมอบหมายให้นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ลงนาม ฯ จึงเป็นการเห็นชอบในสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องถือว่ามติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายตามไปด้วย ดังนั้นการใช้อำนาจของนายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ตามพระราชบัญญัติบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ตามพระราชบัญญัติบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 โดยความเห็นชอบตามมติคณะรัฐมนตรีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงมีผลให้การลงนามในคำแถลงการณ์ร่วม ฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีผลผูกพันต่อประเทศไทย

อาศัยเหตุผลตามที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้อย่างชัดแจ้งถึงการร่วมกันกระทำการของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองที่เจตนาจงใจใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ตามพระราชบัญญัติบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 กระทำการทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ยึดถือปฏิบัติตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มีผลเสียหายต่ออาณาเขตดินแดนของประเทศไทย กระทบกระเทือนต่อพระราชอำนาจขององค์พระมหากษัตริย์และกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ฟ้องคดีทั้งเก้าและปวงชนชาวไทยทุกคน ทั้งการฟ้องคดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งเก้ามีเจตนาที่จะปกป้องอาณาเขตดินแดน อำนาจอธิปไตยของประเทศไทย ปกป้องพระราชอำนาจขององค์พระมหากษัตริย์ เป็นไปเพื่อประโยชน์ของปวงชนชาวไทยทุกคน ทั้งเป็นคดีที่ศาลปกครองสูงสุดสามารถออกคำบังคับได้ตามกฎหมาย จึงขอศาลปกครองสูงสุดได้โปรดพิจารณามีคำสั่งรับคำฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณาและขอศาลปกครองสูงสุดได้โปรดมีคำพิพากษาหรือคำสั่งดังนี้

1) ให้เพิกถอนการกระทำของนายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่เสนอร่างคำแถลงการณ์ร่วม ฯ ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและมีมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ

2) เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 17 มิถุนายน 2551 ที่มีมติเห็นชอบร่างคำแถลงการณ์ร่วม ฯ โดยมอบหมายให้นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ลงนามในแถลงการณ์ร่วม ฯ

3) ให้เพิกถอนการลงนามในคำแถลงการณ์ร่วม ฯ ของนายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่ลงนามเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2551

4) มีคำสั่งให้นายนพดล ปัทมะ ยุติความผูกพันตามคำแถลงการณ์ร่วม ฯ ต่อประเทศกัมพูชาและองค์การ ยูเนสโก

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

ลงชื่อ ผู้ฟ้องคดีที่ 1                               ลงชื่อ ผู้ฟ้องคดีที่ 2
(นายสุวัตร อภัยภักดิ์)                           (นายนิติธร ล้ำเหลือ)

ลงชื่อ ผู้ฟ้องคดีที่ 3                               ลงชื่อ ผู้ฟ้องคดีที่ 4
(นายนคร ชมพูชาติ)                              (นายสุริยะใส กตะศิลา)

ลงชื่อ ผู้ฟ้องคดีที่ 5                               ลงชื่อ ผู้ฟ้องคดีที่ 6
(นายคำนูณ สิทธิสมาน)                         (นายคณิศร ฑปภูผา)

ลงชื่อ ผู้ฟ้องคดีที่ 7                               ลงชื่อ ผู้ฟ้องคดีที่ 8
(นายกิ่งแก้ว โยมเมือง)                          (นายประภาส บุรีศรี)

ลงชื่อ ผู้ฟ้องคดีที่ 9
(นางรัศมี ไวยเนตร)




กำลังโหลดความคิดเห็น