ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ไปรษณีย์ขอนแก่นคึกคัก ประชาชนเข้าคิวส่งโทรเลขที่ระลึกฉบับสุดท้าย ก่อนปิดให้บริการโทร. เผยผู้ใช้บริการเข้าใจเพราะมีเทคโนโลยีสื่อสารที่ทันสมัยกว่า แต่ก็อดเสียดายไม่ได้เพราะโทรเลขเปิดให้บริการตั้งแต่สมัย ร.5 จึงขอร่วมส่งโทรเลขทั้งให้ตนเองและคนที่รักได้เก็บเป็นที่ระลึก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สำนักงานไปรษณีย์จังหวัดขอนแก่น ประชาชนชาวขอนแก่นจำนวนมากได้เดินทางไปขอใช้บริการส่งโทรเลขเพื่อเป็นที่ระลึก เนื่องจากวันนี้ (30 เม.ย.) เป็นวันสุดท้ายของการให้บริการโทรเลข โดยสื่อสารแห่งประเทศไทยจะปิดให้บริการโทรเลขตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (1 พ.ค.) เป็นต้นไป โดยได้จัดให้มีการเปิดจองโทรเลขที่ระลึกฉบับสุดท้ายตามสำนักงานไปรษณีย์สาขาต่างๆ ทั่วประเทศ ตลอดเดือนเมษายนที่ผ่านมา
นายโกวิทย์ ชนะพาล หัวหน้าสำนักงานไปรษณีย์จังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า ชาวขอนแก่นเริ่มสนใจมาใช้บริการโทรเลขมากขึ้น ตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน เป็นต้นมา หลังจากที่การส่งโทรเลขเริ่มลดน้อยจนแทบไม่มีเลยในแต่ละเดือนนานหลายปี ตั้งแต่โลกการสื่อสารทันสมัยมากขึ้น เมื่อถึงเวลาต้องหยุดการบริการ ในส่วนผู้ให้บริการย่อมรู้สึกเสียดายและใจหาย
เนื่องจากการบริการโทรเลข ถือเป็นการให้บริการการสื่อสารที่ทันสมัยที่สุด และเป็นจุดกำเนิดให้การบริการไปรษณีย์เป็นที่สนใจในอดีต
หัวหน้าสำนักงานไปรษณีย์จังหวัดขอนแก่น กล่าวอีกว่า นอกจากการบริการโทรเลขแบบดั้งเดิม ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถเขียนข้อความอย่างไรก็ได้ โดยคิดค่าบริการโดยการนับจำนวนคำ และในโอกาสยกเลิกการให้บริการโทรเลข ทางการสื่อสารได้เปิดให้จองโทรเลขฉบับสุดท้าย เป็นชุดราคาฉบับละ 30 บาท โดยผู้ที่มีความประสงค์จะจอง เพียงกรอกแบบฟอร์มแสดงความประสงค์ในการส่งไปรษณีย์โทรเลขถึงใครบ้าง ส่วนข้อความที่ส่งทางการสื่อสารฯ จะเขียนให้เอง
สำหรับประชาชนผู้มาใช้บริการ ต่างบอกรู้สึกเสียดายที่จะไม่มีบริการโทรเลขแล้ว โดยผู้ที่เคยใช้บริการบอกว่า แม้ปัจจุบันจะมีการสื่อสารทางอื่นที่สะดวกและรวดเร็วกว่า แต่บริการโทรเลขเหมือนความทรงจำที่ดี และเป็นการติดต่อที่ต้องใช้ภาษาในการสื่อสาร ทำให้ได้เห็นความงดงามของภาษาไทย
ส่วนผู้ที่ยังไม่เคยใช้บริการ ก็ถือโอกาสวันสุดท้ายมาส่งโทรเลขถึงตนเอง และถึงคนที่รักเพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึก และ เพื่อถ่ายทอดความรู้สึกที่ไม่เคยบอกกับคนที่รัก ไม่ว่าจะเป็นพ่อ แม่ ลูก ญาติพี่น้อง และคนรัก
นายพิสิทธิ์ ชำนาญไพร หนึ่งในผู้มาใช้บริการดังกล่าว กล่าวว่าได้เดินทางมาที่ไปรษณีย์ขอนแก่นตั้งแต่เช้า โดยตั้งใจส่งข้อความทางโทรเลขถึงลูกสาว เพื่อให้กำลังใจในการศึกษาเล่าเรียนและบอกถึงความรู้สึกรักและห่วงใยที่พ่อแม่มีต่อลูก ผ่านข้อความทางโทรเลข โดยไม่ได้บอกล่วงหน้าเพื่อให้ลูกสาวมีความสุขและประทับใจเมื่อได้รับโทรเลข ซึ่งจะเป็นฉบับแรกและฉบับสุดท้าย
โดย นายพิสิทธิ์ ระบุว่า ขณะเขียนตนรู้สึกขนลุก เพราะไม่เคยเขียนข้อความเช่นนี้ให้ลูกสาว และไม่เคยใช้บริการโทรเลขมาก่อน ทำให้รู้สึกว่าการสื่อสารทางการเขียนมีความหมายมาก จึงรู้สึกเสียดายที่จะไม่มีบริการโทรเลขอีกต่อไป
สำหรับความเป็นกิจการโทรเลข เริ่มขึ้นในสมัยตอนปลายรัชกาลที่ 4 และต้นรัชกาลที่ 5 มาในปี พ.ศ.2412 รัฐบาลสยามได้ตกลงให้นายวิลเลียม เฮนรี่ รีด และนายวิลเลียม ปีเตอร์สัน ชาวอังกฤษ มีสิทธิตั้งบริษัทขึ้นทำการสร้างและบำรุงรักษาทางสายโทรเลขตามมณฑลหัวเมืองต่างๆ จนถึงปีนัง แต่ปรากฏว่า ผู้ได้รับสัมปทานไม่สามารถดำเนินการได้ตามกำหนด
หลังจากนั้น ในปี 2418 รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงกลาโหมเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการสร้างทางสายโทรเลขขึ้น โดยใช้ตึกที่อยู่ตรงมุมพระราชอุทยานสราญรมย์ด้านใต้เป็นที่ทำการโทรเลขแห่งแรก