xs
xsm
sm
md
lg

ยุคสมัยที่กำลังหมดไป "โทรเลขไทย" เทคโนโลยีแรกย่อโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กว่า 133 ปีที่โทรเลขรับใช้สังคมเรื่อยมา หลัง 30 เมษาฯ นี้ โทรเลขไทยจะเป็นเพียงตำนานเท่านั้น
"ถ้ามีไม่ต้องมา ถ้าไม่มีให้รีบมาด่วน" ข้อความอะไรไม่รู้ ที่ดูเหมือนจะเข้าใจกันเฉพาะผู้รับกับผู้ส่ง และเพราะต้องส่งเป็นข้อความสั้นๆ จึงทำให้ตีความไปได้หลายอย่างจนชวนตลกขบขัน สร้างสีสันให้แก่ "บุรุษโทรเลข" ที่ทำหน้าที่ในฐานะคนกลางเป็นระยะๆ

"โทรเลข" แรกเริ่มคือรหัสนัดหมายกันระหว่างคนเดินเรือ แต่เมื่อเวลาผ่านไปกลับเป็นข้อความที่รู้กันในคู่รักหนุ่มสาวซะอย่างนั้น...ใครจะรู้ว่า 133 ปีแล้วที่ประเทศไทยมีโทรเลขไว้ใช้ ทว่าถึงตอนนี้ โทรเลขได้เดินมาจนสุดปลายทาง และกำลังจะปิดฉากลงในวันที่ 30 เม.ย.51 นี้


กำเนิดโทรเลข

เมื่อเอ่ยถึง "แซมวล มอร์ส" (Samuel Morse) นักประดิษฐ์ชาวอเมริกันผู้มีชีวิตรุ่งเรืองในคริสต์ศตวรรษที่ 19 "รหัสมอร์ส" (Morse code) คงเป็นสิ่งหนึ่งเดียวที่หลายคนจะนึกถึงคู่กันกับเขา สำหรับคู่ความสัมพันธ์ระหว่างนักประดิษฐ์และสิ่งประดิษฐ์คิดค้นแห่งยุค หากเปรียบต่อไปอีกนิด ระหว่าง "รหัสมอร์ส" และ "โทรเลข" (Telegraph) ด้วยก็จะสัมพันธ์กันดั่งคู่ “สามี-ภรรยา” ไม่ปาน

ว่ากันว่า "มอร์ส" คิดรหัสมอร์สขึ้นใช้กับโทรเลข เพื่อแก้ปมขัดแย้งในจิตใจของเขาที่เกิดจากการสื่อสารยุคเก่าอย่าง "จดหมาย" ที่ทำให้เขาทราบข่าวการเสียชีวิตของภรรยาช้าไปถึง 3 วัน มอร์สจึงตั้งใจแน่วแน่ว่าจะต้องพิชิตเงื่อนไขด้านเวลาให้ได้ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารที่ดีกว่า...

รหัสมอร์สถือกำเนิดขึ้นในปี 2380 และวันที่ 24 พ.ค.2387 ตัวของมอร์สเองได้ทดลองใช้ส่งข่าวสารจากกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.ผ่านสายโทรเลขที่รัฐบาลกลางให้เงินอุดหนุนเชื่อมไปถึงเมืองบัลติมอร์ในมลรัฐแมรีแลนด์ เป็นระยะทางประมาณ 57 กม.

โทรเลขฉบับแรกประกอบด้วยตัวอักษรเพียง 18 ตัว แต่เป็นข้อความประวัติศาสตร์ของวงการโทรคมนาคมคือ "What hath God wrought" (วอต ฮัธ ก็อด รอธ) ที่แปลเป็นไทยว่า "สิ่งต่างๆ ล้วนพระผู้เป็นเจ้ารังสรรค์ขึ้น" ตามคำสอนประโยคหนึ่งในไบเบิล วันนั้นจึงเป็นวันที่ได้รับการจารึกในประวัติศาสตร์และปลดสลักในจิตใจของเขาอย่างสิ้นเชิง

โทรเลขที่มอร์สคิดขึ้นเป็นเครื่องส่งสัญญาณไฟฟ้าทางไกลอย่างง่าย ทำงานโดยการกดและปล่อยสวิตซ์ไฟที่ประกอบด้วยสปริงทองเหลือง ส่วนปลายมีปุ่มกดซึ่งติดกับสปริงและแม่เหล็กไฟฟ้าขนาดเล็ก เมื่อกดปุ่มกระแสไฟฟ้าจะเคลื่อนที่ เมื่อยกมือออกกระแสไฟฟ้าจะถูกตัด หากกดแล้วปล่อยจะได้ผลเป็นจุด (.) และหากกดปุ่มค้างจะได้ผลเป็นขีด (-)

เมื่อสร้างรูปแบบวิธีเรียงจุดและขีดแทนตัวอักษรและตัวเลข เช่น

. -  (จุด ขีด) แทนอักษรตัว "A"
- . . .  (ขีด จุด จุด จุด) แทนอักษรตัว "B"  

หรือรหัสมอสในภาษาไทย

- - . (ขีด ขีด จุด) แทนอักษร "ก" 
- . - . (ขีด จุด ขีด จุด) แทนอักษร "ข" 

ส่วน . . . --- . . . (3 จุด 1 ขีด และอีก 3 จุด) หมายถึงรหัสสากลเพื่อขอความช่วยเหลือในนาม "รหัส SOS"

เพียงเท่านี้ การส่งข้อความจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่งด้วยโทรเลขก็เริ่มขึ้น

“โทรเลข” ต้นแบบเทคโนโลยีย่อโลก

หลายคนอาจมองว่าการส่งโทรเลขดูยุ่งยากไปบ้างในสายตาคนยุค "หมู่บ้านโลก" ที่ร้อยรัดด้วยเทคโนโลยีที่ไฮเทคกว่าอย่าง "อินเทอร์เน็ต" แต่สำหรับยุคของมอร์สแล้วต้องถือว่าโทรเลขเป็นช่องทางการสื่อสารที่ฉับไวมาก เทียบไม่ได้กับจดหมายที่ใช้เวลาหลายวันกว่าจะถึงมือผู้รับ

ขณะที่สัญญาณไฟฟ้าจากเครื่องส่งโทรเลขวิ่งรี่ไปยังเครื่องรับในอีกซีกโลก ใช้เวลาประมาณ 2-10 นาที และใช้เวลาอีกนิดหน่อยเพื่อถอดรหัสออกมาเป็นข้อความโดย "บุรุษโทรเลข" เพื่อถ่ายทอดเนื้อหาลงบนกระดาษ บรรจุในซองหรู และจำหน่ายถึงมือผู้รับปลายทาง โดยทั้งหมดใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมง

"ชัดเจนเลยว่าโทรเลขเป็นเทคโนโลยีแรกๆ ที่ย่อโลกโทรคมนาคมและการสื่อสารให้เล็กลง สมัยก่อนส่งจดหมายอาจใช้เวลา 3-5 วัน แต่โทรเลขวันเดียวก็ถึง" "

"ส่งวันนี้พรุ่งนี้เช้าได้แล้ว หรือไม่ส่งเช้าตอนเย็นก็ได้ สัญญาณมันส่งถึงกันใน 10 นาที แต่จะส่งถือมือผู้รับช้า-เร็วขึ้นกับตอนจำหน่ายไปส่งเท่านั้น
" สมพล จันทร์ประเสริฐ ที่ปรึกษาอาวุโส บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กล่าว

นอกจากนี้โทรเลขเพื่อการพาณิชย์สายแรกของโลกเปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อ 9 เม.ย.2382 โดยเซอร์ ชาร์ลส์ วีตสโตน (Sir Charles Wheatstone) และเซอร์ วิลเลียม ฟอตเธอร์กิลล์ คุก (Sir William Fothergill Cooke) เป็นเวลาไม่นานหลังจากมอร์สจดสิทธิบัตรสิ่งที่เขาค้นพบ

พวกเขาได้วางสายโทรเลขตามรางรถไฟของบริษัท เกร็ต เวสต์เทิร์น เรลเวย์ (Great Western Railway) เป็นระยะทาง 20.8 กม.จากสถานีแพดดิงตันถึงเวสต์เดร์ตันในอังกฤษ จากนั้นสายโทรเลขข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกระหว่างยุโรปและสหรัฐฯ ก็เสร็จสมบูรณ์เมื่อปี 2409 และโทรเลขก็แพร่หลายทั่วโลกนับจากนั้น

ตะแล้ปแก๊ปในแดนรูปขวาน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำรัสให้สร้างระบบโทรเลขขึ้นเมื่อปี 2418 ในความดูแลของกระทรวงกลาโหม แต่จริงๆ แล้ว ประเทศไทยรู้จักโทรเลขมาตั้งแต่ปี 2404 เมื่อคณะทูตปรุสเซีย (ปรัสเซีย) นำโทรเลขพร้อมบรรณาการมาทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เพื่อเจริญสัมพันธไมตรี ครั้งนั้นคนไทยรู้จักโทรเลขในนาม "ตะแล้ปแก๊ป"

โทรเลขสายแรกของไทยคือสายกรุงเทพฯ-สมุทรปราการ ระยะทาง 45 กม.เพื่อแจ้งข่าวเรือรบและเรือสินค้าที่ติดต่อกรุงเทพฯ จากแต่เดิมที่ใช้ม้าเร็ววิ่งสารกินเวลาครึ่งวัน แต่โทรเลขทำได้ในครึ่งชั่วโมง ส่วนโทรเลขสายที่สองในอีก 3 ปีถัดมาคือ สายกรุงเทพฯ-บางปะอิน ระยะแรกของโทรเลขไทยใช้เพื่อราชการเท่านั้น

กระทั่งปี 2426 เมื่อตั้ง "กรมโทรเลข" ได้มีการเปิดโทรเลขสายตะวันออก "กรุงเทพฯ-ไซง่อน" เป็นโทรเลขติดต่อกับต่างประเทศสายแรก และบุกเบิกศักราชใหม่ของโทรเลขไทยที่ให้บริการสำหรับคนทุกชั้นวรรณะ ตั้งแต่กษัตริย์ถึงสามัญชน

นับจากนั้นโทรเลขไทยก็เติบโตเรื่อยมาพร้อมๆ กับก้าวกระโดดของโทรเลขโลก จากยุคเริ่มต้นของเครื่องรับ-ส่งรหัสมอร์สในปี 2418 ที่ใช้สายลวดสังกะสีเป็นสื่อกลางไปเป็นสู่การใช้ "โทรศัพท์แมกนีโต" ซึ่งเจ้าหน้าที่จะแจ้งข้อความถึงกันผ่านโทรศัพท์ที่เกิดจากการคิดค้นของ "อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์" (Alexander Graham Bell) ในปี 2419 เพื่อให้ปลายทางจดลงกระดาษและพิมพ์ส่ง

อีกความก้าวหน้าของโทรเลขยังเป็นการใช้คลื่นวิทยุ เรียกว่า "วิทยุโทรเลข" ซึ่งจำกัดเฉพาะการติดต่อข้ามประเทศเช่น กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี หรือในพื้นที่ห่างไกลในประเทศที่เสาโทรเลขเข้าไม่ถึง ก่อนขยับไปสู่ "เครื่องโทรพิมพ์" ที่มีลักษณะคล้ายเครื่องพิมพ์ดีดขนาดใหญ่ที่ส่งข้อความภาษาไทย-อังกฤษถึงกันในปี 2472 และสุดท้ายที่ยุค "คอมพิวเตอร์" ในปี 2519 ซึ่งเขียน แก้ และเก็บข้อมูลได้ง่าย

"เราใช้เวลาประมาณร้อยปีหลังจากมีโทรเลขใช้ กว่าจะเข้าถึงประชาชนทั่วประเทศ ปี 2426 เป็นปีแรกที่มีโทรเลขบริการประชาชน แต่มาแพร่หลายจริงๆ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงปี 2460 และประมาณปี 2510 ถึงครอบคลุมทั้งหมด" เสรี อับดุลเลาะห์ พนักงานไปรษณีย์ระดับ 7 วัย 52 ผู้ยังทำงานกับโทรเลขมาถึง 34 ปีเล่า

เขาว่าพื้นที่ให้บริการโทรเลขยุคนั้นไม่เว้นแม้แต่ปลายสุดของประเทศที่สถานีสุไหง-โกลก เว้นแต่ภูมิประเทศที่เป็นภูเขาอย่าง อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน อ.แม่สอด จ.ตาก หรือบางพื้นที่ใน จ.เชียงราย ที่เข้าไปตั้งเสาไม่ได้ อาจต้องส่งโทรเลขไปยังสถานีที่ใกล้ที่สุดเพื่อดั้งด้นส่งต่อไปถึงมือผู้รับ

จากโทรเลขแจ้งข่าวร้ายสู่ "โทรเลขแจ้งข่าวดี"

ทั้งนี้จะเรียกว่าโชคร้ายอันมาจากข้อดีก็น่าจะได้ โทรเลขจึงอยู่ในฐานะผู้แจ้งข่าวร้ายมาตลอด ใครที่มีอายุสักหน่อยและไม่ได้มีกิจธุระที่ต้องคลุกคลีกับโทรเลขเสมอๆ คงยอมรับว่า แวบแรกที่ได้รับโทรเลข ใจจะพาลคิดถึงข่าวร้ายมากกว่าข่าวดี เพราะถ้าไม่ใช่เรื่องด่วน คอขาดบาดตาย หรือเรื่องร้ายแรงจริงๆ แล้วคงจะไม่มีใครใช้โทรเลขแจ้งข่าว แต่จะใช้การส่งจดหมายมากกว่า

เสรี วิเคราะห์ว่า เป็นเพราะค่าใช้จ่ายที่แพงของโทรเลข ที่หลายสิบปีมานี้คิดค่าส่งคำละ 1 บาท หากด่วนพิเศษจะคิดคำละ 2 บาท และมีค่าใช้จ่ายต่ำสุดฉบับละ 10 บาท ซึ่งเป็นเงินจำนวนมากมายในยุคนั้นซึ่งค่าครองชีพไม่แพง ผิดกับการส่งจดหมายที่มีค่าใช้จ่ายไม่เกิน 2-3 บาท แถมบรรจุข่าวสารได้ไม่จำกัด ดังนั้นไม่ด่วนจริงๆ จดหมายย่อมเป็นมิตรกับกระเป๋าและจิตใจของผู้รับมากกว่าโทรเลข

"จริงๆ แล้ว จากประสบการณ์ที่พบมาจริงๆ โทรเลขแจ้งข่าวร้ายมีไม่มาก ในร้อยฉบับจะมีเพียง 4-5 ฉบับเท่านั้นที่เป็นโทรเลขแจ้งข่าวร้าย 80-90% เป็นการแจ้งข่าวดีหรือโทรเลขทางธุรกรรมมากกว่า แต่เรามักจะคิดไปว่าโทรเลขมักเกี่ยวข้องกับข่าวร้ายมากกว่า" พนักงานอาวุโสเล่า

ด้วยเหตุนี้ กรมไปรษณีย์โทรเลขจึงออก "โทรเลขไมตรีจิต" ขึ้นในปี 2535 เพื่อปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของโทรเลขในฐานะผู้แจ้งข่าวร้ายให้เป็นการส่งไมตรีถึงกันในโอกาสมงคล เช่น งานบวช งานแต่ง งานวันเกิดแทน แต่ก็ดูไม่ได้ผลมากนัก สมพลเผยพร้อมวิเคราะห์ว่า สัดส่วนของโทรเลขไมตรีจิตมีไม่ถึงหนึ่งในสิบของโทรเลขทั่วไป เพราะวัฒนธรรมคนไทยชอบไปงานมงคลด้วยตัวเองมากกว่าโทรเลข

บ๊าย...บาย "โทรเลข"

อย่างไรก็ดี ไม่มีงานเลี้ยงใดที่ไม่มีวันเลิกรา เมื่อวิทยาการก้าวไปข้างหน้าเหมือนสายน้ำที่ไม่มีวันหยุดไหล การไหลบ่ามาของเทคโนโลยีคลื่นลูกใหม่อย่างโทรศัพท์ โทรสาร วิทยุ โทรทัศน์ หรือแม้แต่เครือข่ายอินเทอร์เน็ต ก็ได้พัดพาเส้นทางของโทรเลขให้ตีบตัน

สมพล เผยว่า ประเทศต่างๆ ได้ยกเลิกการใช้โทรเลขล่วงหน้าไปหลายปีแล้ว ที่ใกล้ตัวหน่อยเห็นจะเป็นประเทศลาวที่เลิกใช้โทรเลขไปเมื่อปี 2546 เพราะแบกรับต้นทุนการให้บริการไม่ไหวเมื่อไม่มีผลกำไร หนำซ้ำยังขาดทุนมหาศาล สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ไต้หวัน ฮ่องกง อังกฤษ ฟินแลนด์ นอร์เวย์ ออสเตรีย และสหรัฐฯ ต่างยกเลิกกิจการโทรเลขแล้ว

ส่วนโทรเลขไทยก็อยู่ในสภาพไม่ต่างกันกับลมหายใจรวยรินราวกับจะเป็นเฮือกสุดท้ายอยู่รอมร่อ การออกมาประกาศยุติบทบาท 133 ปีของโทรเลขเมื่อวันที่ 1 มี.ค.51 จึงสร้างความใจหายแก่ผู้ทราบข่าวไม่น้อย โดยมีแนวคิดนำเครื่องโทรเลขที่มีอยู่และอะไหล่ที่ใช้การได้มาประกอบเป็นเครื่องใหม่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์โทรเลขที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ของมันในอนาคต

ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานอย่างเสาโทรเลขและสายสังกะสีที่คุ้นตาในสมัยก่อน ส่วนใหญ่มีการรื้อถอนไปชั่งกิโลฯ ขายแทบทั้งหมดแล้วในยุคที่การสื่อสารไร้สายกำลังนิยม สำหรับเจ้าหน้าที่โทรเลขที่มีอยู่ไม่มากนักก็ได้รับการปรับเปลี่ยนทำหน้าที่อื่นๆ ในกิจการไปรษณีย์ต่อไป

"ใจหายแน่นอนเพราะว่ามันเป็นความผูกพัน เพราะเราอยู่กับโทรเลข เห็นการเปลี่ยนแปลงเครื่องไม้เครื่องมือมาเป็นระยะๆ เคยใช้บริการมันและเป็นทั้งผู้ปฏิบัติงานเอง แต่มาถึง พ.ศ.นี้มันก็เป็นธรรมดาของโลกที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลง โทรเลขก็เช่นกัน" เสน่ห์ แพ่งสภา ผู้จัดการไปรษณีย์นครหลวงใต้ อดีตพนักงานโทรเลขอีกรายกล่าวอย่างอาลัย

คนใช้บริการน้อย ขาดอะไหล่ และขาดทุน

เหตุผลที่ได้รับการถ่ายทอดจาก กสท เป็นระยะๆ เพื่อรองรับการปิดตำนานโทรเลขไทยคือ เทคโนโลยีการสื่อสารที่ก้าวหน้ามากขึ้นทำให้บริการโทรคมนาคม อาทิ โทรศัพท์มือถือ การส่งข้อมูลทางอีเมล โทรสาร รวมถึงบริการไปรษณีย์อย่างอีเอ็มเอสและธนาณัติออนไลน์มีความสะดวกรวดเร็วและเข้าถึงผู้คนได้ง่ายกว่าโทรเลขมาก ผู้ใช้โทรเลขจึงแทบหมดไป

"โทรเลขในยุครุ่งเรืองเมื่อปี 2528 มีการส่งโทรเลขถึง 8 ล้านกว่าฉบับ แต่พอมาถึงยุคซบเซาอย่างปี 50 ที่ผ่านมา ทั้งปีมียอดใช้โทรเลขแค่ 7 แสนฉบับ หรือเดือนหนึ่งตกประมาณ 6 หมื่นฉบับ ส่วนใหญ่เป็นภาคธุรกิจและธนาคารที่ใช้เป็นหลักฐานในชั้นศาล เรามีต้นทุนเดือนละ 25 ล้านบาท เฉลี่ยปีละ 300 ล้านฯ แต่มีรายได้เพียง 5 ล้านฯ เราจึงขาดทุนถึงปีละ 295 ล้านฯ" ที่ปรึกษาอาวุโส กสท เล่า

"ก่อนจะตัดสินใจยกเลิก ช่วง พ.ค.-ก.ค. 50 เราได้เก็บข้อมูลกับสถานีโทรเลข 10 แห่งในกรุงเทพฯ อีก 20 แห่งในต่างจังหวัด ตลอด 3 เดือนมีประชาชนมาใช้โทรเลขเพียง 100 ฉบับ"

"เมื่อสอบถาม 70% บอกว่าไม่มีปัญหาถ้าจะยกเลิกโทรเลขไป ส่วนอีก 10% บอกว่าอยากให้มีอยู่เพราะความคุ้นเคย แต่ก็ยอมรับว่าใช้อย่างอื่นทดแทนได้
" เขาเสริม อีกทั้งการขาดแคลนอะไหล่เพื่อการซ่อมบำรุงที่ไม่มีการผลิตเพิ่มมากว่า 15 ปีแล้วจึงไม่ควรดึงดัน

ประสบการณ์ของพนักงานอาวุโสอย่าง "เสรี" บอกสถานการณ์ปัจจุบันของโทรเลขไทยว่า โทรเลขรหัสมอร์สในประเทศไทยหายไปจากการใช้งานตั้งแต่ปี 2525 เห็นจะได้ อีก 15 ปีให้หลังโทรพิมพ์ก็ถึงเวลาโบกมืออำลา ขณะที่โทรเลขยุคคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่ชำรุดและใช้การไม่ได้แล้ว

ส่งโทรเลขฉบับสุดท้าย...อำลาโทรเลขไทย

เพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณประโยชน์และความดีของโทรเลขที่จะเป็นเพียงประวัติศาสตร์ในวันที่ 1 พ.ค.51 ระหว่างวันที่ 24-30 เม.ย.นี้ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ได้จัด "สัปดาห์อำลาโทรเลขไทย" ขึ้นเพื่อส่งท้ายกิจการโทรเลขไทยตั้งแต่เวลา 08.30-20.00 น. ณ ไปรษณีย์กลาง บางรัก

ยิ่งไปกว่านั้นได้มีการจำลองบรรยากาศวันวานของกิจการโทรเลขไทย การจัดนิทรรศการตำนานโทรเลขไทย การสาธิตการเคาะรหัสมอร์สวันละ 2 รอบในเวลา 12.30 น.และ 17.30 น. และกิจกรรมร่วมส่งโทรเลขเป็นครั้งสุดท้าย คาดว่าจะมีผู้ส่งโทรเลขรวมกันไม่น้อยกว่า 1 แสนฉบับ

สำหรับผู้ที่ไม่เคยส่งโทรเลขมาก่อนอย่าพึ่งครั่นคร้ามว่าไปร่วมกิจกรรมแล้ว เกรงจะส่งโทรเลขได้ยากเย็นเข็ญใจ เพียงกรอกชื่อและที่อยู่ของผู้รับ และข้อความสั้นๆ สื่อความหมายลงในช่องว่างที่ให้ไว้ ก่อนจะขยับไปยื่นให้พนักงานนับคำคิดค่าบริการเพื่อชำระสตางค์ เพียง 2 ขั้นตอนเท่านี้ ไม่ว่าใครก็จะมีโทรเลขฉบับอำลาส่งตรงไปถึงหมายปลายทางที่อาจเป็นพ่อแม่ พี่น้อง ผองเพื่อน หรือแม้แต่ตัวเองได้แล้ว

"ทุกอย่างมันเป็นสัจธรรม โทรเลขก็เช่นกันที่เขามีเกิด แก่ เจ็บ และตายไป เขารับใช้สังคมเรามาร้อยกว่าปีแล้ว สร้างความเจริญเติบโต ทำให้คนไทยมีความสุขจากการได้รับรู้ข่าวสาร ถึงตอนนี้เขาเหนื่อยแล้ว" ที่ปรึกษาอาวุโส กสท กล่าว

ไฮไลต์ของงานอำลาโทรเลขที่ไม่ควรพลาดเริ่มตั้งแต่ช่วงบ่ายวันที่ 30 เม.ย.จะมีการเสวนา "จับเข่าเล่าเรื่อง...ตะแล้ปแก๊ป" เพื่อบอกเล่าความประทับใจในโทรเลขของวัยวันเก่าๆ ของผู้มากด้วยประสบการณ์

ที่สำคัญที่สุดในเวลา 20.00 น. ของวันสุดท้ายแห่งการใช้โทรเลขในประเทศไทย นายมั่น พัธโนธัย รมว.ไอซีที พร้อมด้วยอดีตอธิบดีกรมโทรเลขอีก 4 คนจะร่วมกันส่งโทรเลขฉบับสุดท้าย (ที่ยังเป็นปริศนา) ร่วมกันก่อนปิดตำนาน 133 ปีโทรเลขไทย.
แซมมวล มอร์ส ผู้ให้กำเนิดรหัสมอร์สและโทรเลข

คลิกที่ไอคอน Manager Multimedia เพื่อรับชมภาพ อำลา "โทรเลขไทย"เพิ่มเติม

ดูภาพชุดจาก Manager Multimedia

ภาพวาดจำลองเหตุการณ์ในวันที่ 24 พ.ค.2387 ที่มอร์สส่งโทรเลขข้ามเมืองได้สำเร็จ จากกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.ถึงเมืองบัลติมอร์ ระยะทาง 57 กม.
การทดลองของมอร์สได้เชื่อมต่อการสื่อสารจากกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.ไปถึงเมืองบัลติมอร์ในรัฐแมรีแลนด์
เครื่องรับ-ส่งโทรเลขด้วยรหัสมอร์ส
บรรยากาศในห้องทำงานของเหล่าบุรุษโทรเลขในอดีต
วิธีการเรียงจุดและขีดสำหรับแทนอักษรไทย
ตัวอย่างซองโทรเลขแบบเร่งด่วนและแบบธรรมดา โดยเจ้าหน้าที่จะพิมพ์แผ่นบันทึกข้อมูลสีขาวไปบรรจุซองเพื่อส่งถึงมือผู้รับปลายทาง
ประชาชนนับร้อยทยอยมาส่งกรอกใบส่งโทรเลขฉบับสุดท้ายด้วยกัน
นักศึกษาสาวกำลังส่งแบบการส่งโทรเลขให้เจ้าหน้าที่นับคำและคิดสตางค์
เจ้าหน้าที่นับคำของข้อความที่จะส่งโทรเลข
เจ้าหน้าที่กำลังพิมพ์โทรเลขส่งไปยังปลายทาง ซึ่งยุคสุดท้ายของโทรเลข คอมพิวเตอร์ซีพีคือผู้ช่วยสำคัญแทนเครื่องเคาะรหัสมอร์ส
สมพล จันทร์ประเสิรฐ ที่ปรึกษาอาวุโส กสท
เสรี อับดุลเลาะห์ พนักงานไปรษณีย์ระดับ 7
เจ้าหน้าที่ใส่ชุดบุรุษโทรเลขแบบดั้งเดิมสาธิตการเคาะรหัสมอร์ส หนึ่งในกิจกรรมเพื่ออำลาโทรเลขไทย
เสน่ห์ แพ่งสภา ผู้จัดการไปรษณีย์นครหลวงใต้
หลายข้อความแสดงความอาลัยและขอบคุณโทรเลขไปพร้อมๆ กัน
กำลังโหลดความคิดเห็น