ปธ.สภาที่ปรึกษาพรรค ปชป.ตอก “หมัก” ปากไม่เนรคุณแต่พาดพิง “ม.ร.ว.เสนีย์” จนครอบครัวเสียหาย ยันทีมทนายไม่เคยรับรองแผนที่กัมพูชา ย้อนรัฐบาล “แม้ว” ละเลยพื้นที่ทับซ้อนต้นเหตุเขมรรุกล้ำ
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง นายชวน หลีกภัย ปราศรัย
วันนี้(25มิ.ย.) นายชวน หลีกภัย ประธานคณะที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวอภิปรายในสภา เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมาว่า ขอเก็บตกประเด็นในเรื่องเขาพระวิหาร เพื่อเก็บสิ่งที่ตกค้างเอาไว้ให้หมด ไม่เช่นนั้นจะเกิดความเสียหายแก่ครอบครัวของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพราะบุตรชายของท่านก็ไม่สามารถออกมาชี้แจงได้เพราะเป็นองคมนตรี
นายชวน ยืนยันว่าคำพูดของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีที่กล่าวหาทีมทนายความของไทย ซึ่งมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ร่วมทีมทนาย ไปยอมรับแผนที่ของกัมพูชาจนเป็นเหตุให้ไทยเสียดินแดนนั้น เป็นการพูดกลับขาวให้เป็นดำ เพราะตรงกันข้ามกับสิ่งที่ทนายฝ่ายไทยได้ทำ นั่นคือไม่เคยยอมรับแผนที่ของกัมพูชา
นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่มีคนกล่าวพาดพิงว่าท่านอาจจะไม่รับเป็นเงินบาทแต่รับเป็นเงินฟรังก์ คนดีๆ อย่างท่านไม่น่าจะตกมาเป็นเหยื่อของคนที่ไม่รู้จริง เหตุการณ์ตอนนั้นตนยังเรียนอยู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งท่านก็สอนอยู่ และท่านก็เล่าให้ฟังอยู่เสมอว่าไม่สมัครใจที่จะว่าความในคดีนี้ แต่ก็ถูกขอร้องจากรัฐบาล ขณะนั้นท่านก็ทำอาชีพทนาย ซึ่งทำคุณให้แก่บ้านเมือง ท่านก็เป็นดีเพราะรัฐบาลขอร้อง ก็ยอมรับทำเพื่อชาติโดยไม่คิดค่าทนายแต่พวกท่านจะไม่ยกย่องคนที่ทำดีเพื่อชาติก็ไม่เป็นไร
นายชวน กล่าวต่อว่า กรณีที่นายสมัคร ยืนยันว่าไม่คิดเนรคุณ ม.ร.ว.เสนีย์นั้น คำว่าเนรคุณไม่ได้หมายความเฉพาะการทรยศหักหลัง แต่นายกฯ ไม่ควรไปกล่าวหา ถึงจะไม่เอ่ยชื่อ แต่ทุกคนก็รู้ว่าเป็น ม.ร.ว.เสนีย์ เรื่องนี้ถ้าท่านพูดเพราะไม่รู้คงไม่เป็นไร แต่ถ้ารู้แล้วยังพูดก็เป็นการพูดให้ขาวเป็นดำ จึงอยากให้แก้ไขข้อเท็จจริงด้วยเพื่อความกระจ่างชัด และสิ่งที่ตนพูดก็ไม่ได้พูดยกย่องคนที่เสียชีวิต แต่พูดยกย่องคนดี ดังที่ พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา องคมนตรี เคยกล่าวยกย่องท่านไว้ว่าเป็นนักการเมืองที่ซื่อสัตย์สุจริตสะอาด รู้แพ้รู้ชนะ ไม่มีเล่ห์เหลี่ยม ถือเป็นแบบอย่างที่ดีของนักการเมืองที่ควรยึดถือเอาไว้ ที่พูดวันนี้รู้สึกสบายใจ แม้จะได้ตอบแทนคุณท่านนิดหน่อยก็ตาม นายกฯ พูดในห้องกับนอกห้องไม่ตรงกัน แถมยังพูดยั่วยุท้าทาย ตนจึงต้องบอกให้ประชาชนรู้ว่าความจริงคืออะไร และควรตำหนิรัฐบาลไหน ท่านพูดกระทบแค่ ส.ส.ประชาธิปัตย์ ให้ถามคนอายุมากๆ ในพรรค เรื่องอะไรต้องมาพาดพิงคนอื่น จึงอยากชี้แจงว่าคนในพรรคหลายคนอาจเกิดไม่ทัน แต่ทุกคนรู้สถานการณ์ในการสู้คดีว่าไม่เป็นไปอย่างที่ท่านชี้แจง รวมถึงกรณีที่ท่านบอกว่าได้มีชาวเขมรลุกล้ำเข้ามาตั้งบ้านเรือน ร้านค้าในพื้นที่ทับซ้อนตั้งแต่ปี 2543
“ผมยอมรับว่าเป็นในรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์จริง ซึ่งผมได้นำคณะไปเจรจาประกอบด้วย ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร รมช.ต่างประเทศสมัยนั้น ซึ่งก็มีนายนพดล ปัทมะ เลขานุการ รมว.ต่างประเทศไปร่วมเจรจาด้วย นายนพดลซึ่งมีการทำบันทึกช่วยจำทั้งสองฝ่ายห้ามลุกล้ำหรือใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อน นายนพดลน่าจะนำข้อมูลนี้ให้นายกฯ ดู ว่าเราได้เตรียมป้องกันปัญหาไว้อย่างรอบคอบ แต่พอถึงปี 2544-49 ได้มีการลุกล้ำเข้ามามาก แต่รัฐบาลช่วงนั้นกลับไม่ยอมดำเนินการอะไรเลย พอทางกองกำลังสุรนารีจะผลักดันออกไปก็ถูกฝ่ายการเมืองห้าม อาจจะมองในแง่ดีว่ารัฐบาลคงเป็นห่วงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ตรงนี้ทำไมนายกฯไม่พูด หรือว่าขาดอายุความไปแล้ว อยากให้ท่านพูดตรงไปตรงมาด้วย ตนไม่ได้กล่าวหาคนที่พยายามจะแก้ปัญหาให้บ้านเมือง แต่ท่านอาจจะมองสั้นเกินไป”
นายชวนกล่าวต่อว่า กรณีที่นายสมัครพูดถึงการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านว่าเป้ฯความกระเหี้ยนกระหือรืออยากจะเป้นนายกฯ นั้น ความจริวไม่ได้กระเหี้ยนกระหือรือ ถ้าเราเชื่อในกฎเกณฑ์และปฏิบัติตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงวิกฤตบ้านเมืองจะไม่เกิด แต่ถ้าไม่เคารพแล้วออกนอกลู่นอกทาง ในที่สุดก็จะสะดุดแล้วมีปัญหาตามอย่างนึกไม่ถึง ในเมื่อท่านเชื่อกระบวนการได้มาของอำนาจก็ต้องเชื่อกระบวนการตรวจสอบด้วย ไม่ใช่รับแค่กระบวนการที่มาของอำนาจเท่านั้น ไม่เช่นนั้นองคาพยพของระบอบประชาธิปไตยก็จะมีการอันเป็นไป
ต่อมา นายสมัคร ลุกขึ้นชี้แจงทันทีว่า โดยยืนยันว่าไม่เคยเนรคุณ แต่เป็นการดัดแปลงคำตอบของหนังสือพิมพ์ ตนไม่มีวันไปตำหนิ ม.ร.ว.เสนีย์ หรอก แต่จะพูดว่าในกรณีเรื่องเขาพระวิหารนั้นเท็จจริงที่รู้คือเราแพ้เขาเรื่องแผนที่ ถ้าตนจะผิดพลาดเพียงแต่ว่าเราแพ้เพียงแต่ว่าเราไปยอมรับแผนที่เท่านั้น แต่ในหนังสือพิมพ์ไปออกมาว่ากล่าวทนายในสมัยนั้น ตนจะไปว่ากล่าวที่เป็นครูบาอาจารย์ได้ไง เพราะตนกับนายชวนเรียนสำนักเดียวกันมา รู้จักมาเหมือนกัน ไม่มีอะไรจะตำหนิติเตียนท่านได้เลย แต่ว่าเวลาโดนตำหนิติเตียนตนต้องเถียง เพราะไปเขียนว่าตนเนรคุณ ที่มีหลายอย่างที่สัมภาษณ์ออกไปแล้วไม่ได้เป็นไปตามที่ชี้แจง พูดสลึงลงบาทครบถ้วนหมด ตบแต่งใส่ข้อความให้เสร็จหมด ถ้าเราไม่อ่านก็ไม่เป็นไรแต่คนอื่นอ่านก็กลายเป็นว่าอย่างที่เป็นข่าว
ด้านนายนพดล ลุกขึ้นชี้แจงว่า ในกรณีที่มีการพูดถึงบันทึกความตกลงการปักปันเขตแดนที่มีการเซ็นระหว่างไทยกับกัมพูชาในช่วงปี 2543 นั้น เป็นความจริง เพราะตระหนักว่าไทยกับกัมพูชามีปัญหาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนที่เราใช้สั้นปันน้ำ กัมพูชาใช้แนวอื่น จึงมีปัญหาพื้นที่ทับซ้อน4.6 ตารางกิโลเมตร
ส่วนกรณีการคัดค้านเรื่องการคัดค้านการบุกรุกพื้นทีทับซ้อนของเรา ในวันที่ 10 เม.ย.ที่ไปยื่นนั้น ตนเป็นคนสั่งการเอง เพื่อปกป้องอธิปไตยและคัดค้านการบุกรุกในพื้นที่ทับซ้อนมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนกรณีที่กระทรวงการต่างประเทศไปเร่งรีบ รวบรัดตัดความไปเซ็นเอกสารให้มีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกนั้น กระทรวงการต่างประเทศได้ปกป้องอธิปไตยของไทยไม่ให้เสียดินแดน โดยขึ้นเฉพาะตัวปราสาทหรือเป็นพื้นที่บ้านเท่าที่เป็นกรรมสิทธิ์ของกัมพูชา ไม่มีการรุกล้ำสนามหญ้าบ้านเรา แต่ถ้าปล่อยให้ช้าออกไปจะเสียหายได้ เพราะเราเคยขอเลื่อนมาครั้งหนึ่งแล้ว
ต่อมา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ลุกขึ้นซักถามว่า ตอนนี้รมว.สับสนว่าสิ่งที่แนบไปเป็นแผนที่หรือแผนผัง เพราะที่แนบไปตรงกับแผนที่ที่กัมพูชาอ้างสิทธิ์ทุกประการ ไม่มีตรงไหนเลยที่ได้เขียน แสดงให้เห็นว่ายังมีปัญหาพื้นทีทับซ้อนอยู่ ไม่ใช่เฉพาะที่ขีดรอบตัวปราสาท ยังมีขอบเขตชัดเจนว่ารุกล้ำเข้ามาสู่แผนดินไทยมากน้อยแค่ไหน แต่รุกล้ำเข้ามาแน่นอน แม้วันนี้ยังไม่ได้ตกลงกัน แต่ไปตกลงในหลักการแล้วว่ากัมพูชามีสิทธิ์ที่จะมาจับทำแผนบริหารจัดการรวมในพื้นที่ที่เป็นของเรา ดังนั้นขอให้ชี้แจงว่ามติครม.คืออะไร และถ้าความตั้งใจของ ครม.ไม่ตรงกับสิ่งที่ท่านไปลงนามในแถลงการณ์ร่วมจะทำอย่างไร
ยอมรับครม.เปลี่ยนคำว่าแผนที่เป็นแผนผัง
นายนพดลชี้แจงว่า สิ่งที่เป็นเอกสารที่กัมพูชาเสนอมาจะเรียกว่าเป็นแผนที่หรือแผนผังก็แล้วแต่ ได้ส่งให้กรมแผนที่ทหารตรวจสอบแล้วว่าไม่มีส่วนใดล้ำเข้ามาในพื้นที่ไทย ถ้าล้ำเข้ามาตนคงไม่เซ็นเด็ดขาดและครม.ถึงยอม ดังนั้นการที่ผู้นำฝ่ายค้านระบุว่ากัมพูชามีพื้นที่เหนือพื้นที่ทับซ้อนจึงไม่ถูกต้อง เพราะยังยืนยันว่าเรายังมีพื้นที่ทับซ้อนและประเทศไทยยังใช้สันปันน้ำ ส่วนการทำแผนบริหารและจัดการพื้นที่ทับซ้อนร่วมกับกัมพูชานั้น มีมาก่อนที่ตนจะเป็นรมว.ต่างประเทศแล้ว ไม่ใช่ท่าทีใหม่ของกระทรวงการต่างประเทศที่ทำให้เราเสียดินแดน ส่วนกรณีถามว่าจะเรียกแผนที่หรือแผนผังนั้น เป็นการเล่นคำจะใช้อะไรก็ได้ และในครม.ก็มีรัฐมนตรีบางท่านตั้งข้อสังเกต เมื่อเรามาดูแล้วมันคือแผนผัง เพราะไม่มีเส้นเขตแดนใดๆ เพื่อความสบายใจและความถูกต้อง ครม.จึงมีมติเปลี่ยนคำว่าแผนที่เป็นแผนผัง
ข้องใจ ครม.ตัดทิ้งคำว่า “อธิปไตย”
นายอภิสิทธิ์ ได้ลุกขึ้นซักต่ออีกว่า ขอให้นำเอกสารที่ท่านอ่านเมื่อสักครู่วันที่ เอกสารฉบับวันที่17 มิ.ย.ที่ผ่านมาที่เป็นเอกสารก่อนนำเข้า ครม. กรุณาอ่านย่อหน้าแรก บรรทัดแรกแล้วจะพบว่าได้ตัดคำว่า “เรื่องอธิปไตย”ออกไป เหลือเพียงแค่ว่า “รองรับคำพิพากษาศาลโลก” เนื่องจากคำพิพากษาศาลโลกพูดถึงเรื่องอธิปไตยเฉพาะตัวประสาท แต่บริเวณปราสาทเพิ่มเติมมาเป็นคำพิพากษาเกี่ยวกับการคืนโบราณวัตถุ
ขณะที่นายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ ชี้แจงว่า ตามที่ได้เสนอกำหนดเขตบริเวณปราสาทเพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลกไปเพื่อให้นายกฯพิจารณารวม 2 วิธี เมื่อพิจารณาแล้วได้มีคำสั่งเสนอให้ครม.พิจารณา มันแปลกตรงไหน
นายอภิสิทธิ์ลุกขึ้นซักต่อว่า ขอเสนอบอกว่าให้กำหนดเขตบริเวณจะได้ทราบ “อธิปไตยของกัมพูชา” แต่มติตัดคำนี้ออกไป ตัดเป็น “บริเวณปราสาทเพื่อรองรับคำพิพากษาโลก”เท่านั้น ซึ่งรมว.ต่างประเทศชี้แจงว่าอันนี้อาจสร้างความสับสนแก่ประชาชน เรื่องนี้ประเด็นอยู่ที่ว่าประเทศไทยคืนเฉพาะตัวปราสาท ไม่คืนดินแดนใต้ตัวประสาทด้วย ทั้งหมดเราได้จากกรมแผนที่ทหาร ไม่ได้มาจากการให้กระทรวงการต่างประเทศทำขึ้นมาใหม่ มันเป็นแผนที่อันเดียวที่กรมแผนที่ทหารและกระทรวงการต่างประเทศใช้ในการปกป้องอธิปไตย ดังนั้นข้อโต้แย้งที่ระบุว่าเราคืนเฉพาะซากปราสาท มันไม่จริง
แต่นายอภิสิทธิ์ ได้ซักต่อว่า แนวเขตที่รมว.พูดคือหัวใจสำคัญของเรื่องนี้ ที่แปลกใจคือพูดถึงมติครม.จะอ่านหนังสือที่เสนอเข้าครม. จะใช้ถ้อยคำว่า การที่จะกำหนดบริเวณปราสาทพระวิหารเพื่อที่กัมพูชาจักได้มีอำนาจอธิปไตยตามคำพิพากษาของศาลโลก ถ้ายึดตามนี้แปลว่าถ้าขีดเส้นแล้วเราพูดถึงอธิปไตยกันเลย แต่มติครม.ที่ออกวันที่ 17 มิ.ย.ได้ตัดคำนั้นออกไป จึงได้ขอให้ท่านอ่านใหม่ เมื่อตัดออกไปแล้วเขาจะเขียนว่าเป็นการกำหนดเขตบริเวณปราสาทเพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลก ความต่างคือคำพิพากษาของศาลโลกพูดเรื่องอธิปไตยเฉพาะปราสาท แต่เขตบริเวณปราสาทเป็นคำพิพากษาในข้อที่3 ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอธิปไตย แผนที่ที่ใช้ แนวเขตที่ขีดเป็นเพื่อแนวปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ในการรักษากลาง เพื่อรักษาอธิปไตยแต่ไม่ไปละเมิดศาลโลก แต่เขตแดนของเราก็ต้องนับสันปันน้ำ มีข้อยกเว้นเพียงแค่ว่าปราสาทเป็นของกัมพูชา หวังว่าท่านจะเข้าใจในเรื่องนี้ จึงขอย้ำว่าสิ่งที่ท่านดำเนินการเกิดความเสียหาย ส่วนสิ่งที่แนวไปกับแถลงการณ์ร่วมไม่ได้แนบเฉพาะแผนผังที่กำหนดบริเวณปราสาท แต่แนบไปหมดแล้วโซน 2 โซน 3 รัฐมนตรีถามว่าทำไมไม่มีเขตแดน เพราะเป็นแผนที่ที่กัมพูชายึดถือ เขตแดนตรงนี้จึงไม่มี เพราะกัมพูชาถือเป็นของเขาทั้งหมด
รมว.ต่างประเทศชี้แจงว่า ตนไม่อยากเสียดินแดน แต่ตอนหลังเมื่อจำกัดเฉพาะครึ่งหนึ่งของสามเหลี่ยมในแผนที่ ท่านจะคืนเฉพาะตัวปราสาทได้อย่างไร การตีความตามคำวินิจฉัยของศาลโลกสามารถทำได้ แต่ประเทศไทยเคยขอความชัดเจนเรื่องนี้หรือไม่ เราไม่อยากยกปราสาทให้เขา เราไม่เต็มใจ แต่หน่วยงานของรัฐในปี 2505 ได้ตัดสินคืนปราสาทและพื้นที่บริเวณนี้โดยกำหนดแนวเขตใหม่ ตรงนี้เป็นที่มาที่ทำไมแผนที่แอล 7017เราจึงตัดหรือเฉือนพื้นที่บริเวณปราสาทไปให้กัมพูชา มันเกิดเหตุการณ์นี้เมื่อปี 2505 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการไปยกพื้นดินและปราสาทให้กัมพูชา แต่ถ้าเราสงสัยถือเป็นโอกาสดีที่จะยื่นเรื่องให้ศาลโลกได้วินิจฉัยขอบเขตของคำวินิจฉัยของศาลโลก
“ศิริโชค”จับโกหก"นพดล” แจงกรณีเขาวิหารบิดเบือน 7 ประเด็น
สำหรับการอภิปรายในประเด็นเขาพระวิหารในช่วงกลางคืนวันที่ 24 มิ.ย. นายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงการชี้แจงกรณีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารของนายนพดล ว่า พบข้อเท็จจริงที่มีการบิดเบือนใน 7 ประเด็น คือ 1.นายนพดล พยายามชี้แจงว่ามติคณะรัฐมนตรี(ครม.)ปี 2505 ถือว่าเป็นการยกดินแดนปราสาทและบริเวณโดยรอบให้กัมพูชาไปแล้วโดยอ้างเอกสารที่กระทรวงมหาดไทยได้ทำถึงนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 ก.ค.2505 ว่า “การที่จะกำหนดบริเวณปราสาทพระวิหารเพื่อกัมพูชาจักได้มีอำนาจอธิปไตยตามคำพิพากษาของศาลโลกนั้น อาจทำได้ 2 วิธีคือ...” ซึ่งนายนพดลอ้างว่ากระทรวงมหาดไทยใช้คำว่า "อำนาจอธิปไตย" แสดงให้เห็นว่าเป็นการกำหนดเขตแดนให้กัมพูชานั้น ความเป็นจริง นายนพดลจงใจอ้างเอกสารข้อเสนอเข้าสู่ครม. ทั้งที่มติครม.ไม่ได้ออกมาแบบนั้น แต่กลับตัดคำว่า"อำนาจอธิปไตย"ออกและเปลี่ยนเป็น“การกำหนดเขตบริเวณปราสาทพระวิหาร" เพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลก จึงเป็นการตอกย้ำให้เห็นชัดว่าจุดมุ่งหมายและวัตถุประสงค์ของการออกมติ ครม.ปี 2505 เพื่อต้องการให้เป็นแนวปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายไทย ไม่ใช่เป็นแนวเขตแดนไทย ยิ่งไปกว่านั้นเป็นที่ทราบกันดีว่ามติครม.ไม่สามารถกำหนดเขตแดนได้ ดังนั้น การขึ้นทะเบียนปราสาทตามที่กัมพูชาเสนอจึงเป็นการสูญเสียพื้นที่ แม้จะอยู่ในแนวเขตตามมติ ค.ร.ม. ปี 2505
ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวอีกว่า 2.นายนพดลพยายามอ้างถึงหน่วยราชการต่างๆรวมถึงกรมแผนที่ทหารว่าใช้แนวเขตตามมติ ครม.ปี 2505 มาตลอด แต่ในข้อเท็จจริง ไทยยังยึดตามแนวสันปันน้ำที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส เมื่อปี 2447 ยกเว้นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตัวปราสาทพระวิหารที่ศาลโลกมีคำตัดสินยกให้แก่กัมพูชาด้วยเหตุผลทางภูมิประเทศ โดยคำตัดสินของศาลโลกไม่ได้ชี้แนวเขตแดนระหว่าง 2 ประเทศ แต่บอกให้ถอนกำลังฝ่ายไทยออกจากปราสาทพระวิหาร ซึ่งไม่บอกว่าให้ถอนกำลังไปยังจุดใด ครม.ปี 2505 จึงออกมติเพื่อกำหนดจุดรักษาการณ์สำหรับกำลังฝ่ายไทยและเหตุที่ไม่สามารถลากเส้นแนวปฏิบัติหน้าที่ไปตามตัวปราสาทพระวิหาร แต่ต้องกำหนดจุดรักษาการณ์ที่กินเนื้อที่มากไปกว่าคำพิพากษาของศาลโลก เพราะในทิศตะวันออก มีทางขึ้นจากฝั่งกัมพูชา ที่เรียกว่า “บรรไดหัก” จึงต้องลากแนวเส้นปฏิบัติหน้าที่“ไปจาก ปีกขวาของตัวปราสาทพระวิหารตั้งแต่ช่องบรรไดหัก ลากเส้นตรงผ่านชิดบรรไดนาคตรงไปจนถึงตัวปราสาทพระวิหาร”
นายศิริโชค กล่าวว่า 3.การที่นายนพดลอ้างว่าไม่มีส่วนใดที่กัมพูชาจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแล้วรุกล้ำเข้ามาในแผ่นดินไทยนั้นไม่เป็นความจริง เพราะมติครม.ปี 2505 หมายถึงเส้นแนวปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายไทย 4.นายนพดลอ้างว่าแถลงการณ์ร่วมที่ไปลงนามกับกัมพูชาไม่มีข้อความใดที่กล่าวถึงการสละสิทธิที่ไทยได้สงวนไว้หรือการกล่าวอ้างถึงธรรมนูญของมรดกโลกนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีผลเป็นการสละสิทธิ 5.นายนพดลอ้างว่าการขึ้นทะเบียนมรดกโลกที่กำจัดเฉพาะตัวปราสาทไม่กระทบต่ออธิปไตยนั้น เป็นการจงใจไม่พูดถึงพื้นที่อนุรักษ์(บัฟเฟอร์โซน) ซึ่งตามแผนที่แนบท้ายแถลงการณ์ร่วมไม่ได้ระบุขอบเขต แต่ก้าวล่วงเข้ามาในเขตแดนไทยที่กำหนดโดยสันปันน้ำอย่างชัดเจน และยังระบุให้อำนาจการจัดทำแผนการบริหารจัดการในพื้นที่นี้เป็นของกัมพูชาส่วนหนึ่งด้วย 6.การที่นายนพดลอ้างว่าถ้าไม่ดำเนินการอย่างเร่งรีบ กัมพูชาจะสามารถขึ้นทะเบียนมรดกโลกได้สำเร็จ โดยอาจมีการแนบแผนที่ที่ล้ำเขตแดนไทย แต่ที่จริง ถ้าฝ่ายไทยไม่สนับสนุนการดำเนินการของกัมพูชาอย่างชัดแจ้ง มีโอกาสสูงที่กัมพูชาจะไม่ประสบความสำเร็จ เพราะจะขัดต่อเจตนารมณ์ของมติการประชุมกรรมการมรดกโลกที่ประเทศนิวซีแลนด์เมื่อปี 2550 และถ้ากัมพูชาดำเนินการได้สำเร็จ ไทยก็สามารถประท้วงได้ เพราะไม่เคยยอมรับการกระทำของกัมพูชา
7.การที่ครม.มีการปรึกษาเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมาในการเปลี่ยนคำว่า"แผนที่"เป็น"แผนผัง" ชี้ชัดเจนว่าครม.เห็นความผิดพลาดในการดำเนินการทั้งหมด เพราะแผนที่หรือแผนผังที่แนบท้ายแถลงการณ์ร่วมไทยกับกัมพูชา ทำให้ผู้เห็นเข้าใจว่าพื้นที่ทั้งหมดเป็นของกัมพูชา เนื่องจาก แผนที่หรือแผนผังนี้สอดคล้องกับแผนที่ที่กัมพูชาใช้อ้างเขตแดนมาตลอด อีกทั้ง การทบทวนถ้อยคำดังกล่าวในมติ ครม.ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงคำว่า "map"ในแถลงการณ์ร่วมได้ และเอกสารแนบในแถลงการณ์ร่วมมีเลขพิกัด เส้นรุ้งเส้นแวง เส้นความลาดชัน ทิศ และมาตราส่วน ซึ่งแสดงให้เห็นชัดว่าเอกสารนี้เป็นแผนที่ ไม่ใช่แผนผัง ดังนั้นเห็นได้ว่าครม.เป็นห่วงเรื่องดังกล่าว จึงเปลี่ยนถ้อยคำจาก"แผนที่"มาเป็น"แผนผัง" แต่ก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้ เพราะมีอยู่ทางเดียวคือรัฐบาลยกเลิกสนับสนุนให้ปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก