xs
xsm
sm
md
lg

“สุขุมพันธ์” ย้ำแถลงร่วม “พระวิหาร” เข้าข่ายสนธิสัญญา - “นพเหล่” เร่งเซ็นมีพิรุธ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร
“สุขุมพันธ์” ย้ำแถลงร่วมไทย-เขมรเข้าข่ายหนังสือสัญญา มีนัยต่ออาณาเขต ต้องนำเข้าสภาตาม ม.190 ก่อนเซ็น ระบุ “นพเหล่” รีบเร่งมีพิรุธ จวก “หมัก” อ้างเขมรจดมรดกโลก ไม่เกี่ยวกับไทย แต่กลับให้ รัฐมนตรี-ขรก.บินไปเจรจาถึงฝรั่งเศส แนะรีบประกาศระงับข้อตกลงกลางสภา บอกเขมรให้ชะลอก่อน

 คลิกที่นี่ เพื่อฟัง ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร อภิปราย 

วานนี้ (24 มิ.ย.) ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ส.ส.ระบบสัดส่วนกลุ่ม 6 พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายในสภา ญัตติไม่ไว้วางใจนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และนายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในประเด็นเขาพระวิหารว่า ตนเคยมีบทบาทในการสร้างสันติภาพในกัมพูชาและการแปรสนามรบเป็นตลาดการค้าในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ดังนั้นการอภิปรายวันนี้จึงไม่ได้ต้องการให้เกิดปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชาแต่อย่างใด

ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ ได้อภิปรายถึงแถลงการณ์ร่วมระหว่างนายซก อาน รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักรัฐมนตรีกัมพูชา กับนายนพดล ปัทมะ ในการสนับสนุนให้กัมพูชาจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกโดยแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยได้ลงนามเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา และมีนางฟรองซัวส์ ริวิแยร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายวัฒนธรรมของยูเนสโก ร่วมลงนามว่า แถลงการณ์ร่วมดังกล่าวถือเป็นหนังสือสัญญาที่มีนัยกว้างไกลต่อเขตแดน และมีผลสำคัญที่จะทำให้ประเทศชาติเสียหาย ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ กล่าวต่อว่า ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก มีคำพิพากษา 9 ต่อ 3 เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2505 ให้ตัวปราสาทพระวิหารเป็นกัมพูชา ซึ่งฝ่ายไทยยอมถอนทหารและยกเสาธงลงมา เพื่อแสดงความเคารพต่อคำพิพากษา แต่ไม่ได้เห็นชอบในคำพิพากษานี้ และยังได้ตั้งข้อสงวนในการคัดค้านคำพิพากษาเสียงข้างมาก ตามหนังสือของนายถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่ส่งถึงนายอูถั่น เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ลงวันที่ 13 ก.ค.2505 และมีแถลงการณ์จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีตอกย้ำด้วย

ส่วน มติ ครม.เมื่อวันที่ 10 ก.ค.2505 ที่ให้กั้นรั้วบริเวณรอบเขาพระวิหารนั้น มิใช่เป็นการยอมรับเขตแดน และไม่ใช่เป็นการทำตามคำพิพากษาของศาลโลก เพราะคำพิพากษา ได้แยกเอาเฉพาะปราสาทพระวิหารให้เป็นของกัมพูชา ส่วนพื้นที่บริเวณโดยรอบยังไม่ได้พิพากษา

“มติ ครม.วันที่ 10 ก.ค.2505 ไม่ได้เป็นการกำหนดเขตแดนไทย-กัมพูชา เพราะเรื่องเขตแดนนั้นไทยเรายังยึดตามสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส ปี 1904 ที่ยึดแนวเขตแดนตามสันปันน้ำ และจะต้องทำร่วมกันของทั้งสองฝ่าย เพราะไม่มีธรรมเนียมที่ไหนที่การกำหนดเขตแดนจะทำขึ้นฝ่ายเดียวได้ และไม่มีมติ ครม.ไหนที่จะกำหนดเขตแดนได้”

ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ ย้ำว่า รัฐบาลไทยไม่เคยยอมรับอำนาจอธิปไตยกัมพูชาเหนือปราสาทพระวิหาร และได้ตั้งข้อสงวนการคัดค้านไว้ แม้ว่าตามข้อ 60 ของธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ กำหนดอายุความ 10 ปี แต่ไทยได้ยื่นประท้วงไว้แล้วตั้งแต่ปี 2505 ซึ่งเมื่อมีการสงวนสิทธิ์ไว้แล้วจะไม่มีอายุความ แต่การลงนามในแถลงการณ์ร่วมที่ให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนมรดกโลกฝ่ายเดียวถือเป็นการถอนข้อสงวนดังกล่าว ซ้ำยังมีคำยอมรับของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีต่างประเทศที่ว่าที่ตรงนั้นไม่ใช่ที่ของเรา เป็นที่ของเขา ซึ่งหมายถึงการยอมรับอธิปไตยกัมพูชาเหนือปราสาทพระวิหาร ครั้งแรกของไทย หลังปี 2505

ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ กล่าวอีกว่า แถลงการณ์ร่วมเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.ได้พูดถึงเขตบัฟเฟอร์โซน และเขตการบริหารร่วมกันในพื้นที่รอบๆ ปราสาท ซึ่งถ้ายึดตามตามสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส พื้นที่ตรงนั้นถือว่าเป็นของเรา เพราะฉะนั้นข้อตกลงดังกล่าวมีนัยต่ออาณาเขตของไทย จึงเข้าข่ายการเป็นหนังสือสัญญา

นอกจากนี้ ในตัวคำแถลงการณ์ร่วมก็ถือว่ามีความสำคัญ แม้ว่ารัฐบาลมักจะพูดว่า คำแถลงร่วมมิใช่สนธิสัญญาไม่มีข้อผูกพัน แต่ตามอนุสัญญาเวียนนาปี 1961 คำว่า treaty หรือ สนธิสัญญา หมายถึง ความตกลงระหว่างประเทศโดยรัฐ มีลายลักษณ์อักษร แถลงการณ์ร่วมซึ่งเป็นความตกลงที่เป็นลายลักษณ์อักษร มีการลงนามจากผู้มีอำนาจเต็ม จึงถือเป็น “สนธิสัญญา” แม้ว่าเราอาจไม่เคยลงนามเป็นภาคีอนุสัญญา แต่ก็เป็นกฎหมายประเพณีที่เราต้องปฏิบัติ อย่างเช่น การตั้งกลุ่มอาเซียน ก็กำเนิดขึ้นมาจากแถลงการณ์ร่วม เพราะฉะนั้นจะถือว่าไม่มีความสำคัญไม่ได้

แถลงการณ์ร่วมวันที่ 18 มิ.ย. จึงเป็นหนังสือสัญญาและมีนัยต่อการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของไทยบริเวณปราสาทพระวิหาร เพราะฉะนั้นจะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาก่อนที่จะลงนาม การที่รัฐบาลไม่เสนอเข้าสภา และมีความพยายามปกปิดข้อมูล ถือเป็นการบริหารราชการแผ่นดินที่ผิดพลาด ขัดต่อมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ และอาจจะขัดมาตรา 77 อีกด้วย จึงไม่อาจไว้วางใจ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้

ผู้สื่อข่าวรายงายว่า ระหว่างอภิปราย นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคพลังประชาชน ลุกขึ้นประท้วงว่า หากการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีตามมาตรา 158 หากเป็นการอภิปรายเกี่ยวกับพฤติกรรมการทุจริตกระทำการผิดกฎหมาย จะต้องยื่นถอดถอนนายกฯ หรือรัฐมนตรีต่อประธานวุฒิสภาก่อน จึงจะอภิปรายได้ แต่กรณีนี้ฝ่ายค้านยังไม่ได้ยื่น อย่างไรก็ตามประธานในที่ประชุมวินิจฉัยให้อภิปรายต่อไปได้

ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ อภิปรายต่อว่า กรณีนี้หากนายนพดลเห็นว่ายังมีประเด็นคลุมเครือทำไมไม่นำมาปรึกษารัฐสภาก่อน เพื่อปรึกษากันในวงกว้าง ในทางตรงข้ามกลับหมกเม็ด ไม่ให้ใครดูแผนที่ ไม่ให้ดูแถลงการณ์ร่วม และทำให้มติ ครม.เมื่อปี 2505 กลายเป็นเอกสารลับไปด้วย หลังจากเวลาผ่านไป 46 ปี นอกจากนี้ยังมีความพยายามเร่งรัดให้เสร็จทันการประชุมของยูเนสโกในเดือนกรกฎาคม

ขณะเดียวกัน นายกฯ บอกว่า เรื่องนี้ประเทศไทยไม่เกี่ยว เพราะเป็นเรื่องของกัมพูชาเขา ถ้าเช่นนั้นก็มีคำถามว่า ถ้าไม่เกี่ยวแล้วเราต้องไปยุ่งด้วยทำไม รัฐมนตรีต่างประเทศต้องรีบบินไปปารีส รีบออกแถลงการณ์ร่วม ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศต้องบินไปบินมา ก่อนหน้านั้นก็ลุกลี้ลุกลน ปลดอธิบดีกรมสนธิสัญญา มีการโยกย้ายนอกฤดูกาล ขณะที่คนถูกย้ายกำลังปฏิบัติหน้าที่สำคัญความสัมพันธ์ไทยกัมพูชา หลังถูกย้ายปลัดกระทรวงฯ กลับมีหนังสือเวียนชื่นชมผู้ถูกย้าย

ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ กล่าวว่า ไม่คิดว่าเรื่องนี้จะสายเกินไปที่จะแก้ไข ถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศประกาศกลางสภาว่า เราจะชะลอการพิจารณาเรื่องนี้ใหม่ รัฐบาลสามารถแจ้งกัมพูชาและ ยูเนสโกว่าต้องชะลอไว้ก้อน ตามมติของรัฐสภา และขณะนี้ศาลปกครองได้รับคำฟ้องให้ระงับตามการยื่นของพันธมิตรไว้แล้ว หวังว่ารัฐบาลจะชะลอ หรือรื้อใหม่ดีกว่า แล้วขอขึ้นทะเบียนร่วมกัน

ถ้ารัฐบาลยังดื้อรั้น ก็ยังไม่สายเหมือนกันสาหรับข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ ให้กลับมาดูเรื่องนี้ให้ดี ให้เป็นมืออาชีพ เป็นข้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ไม่ใช่ข้านักการเมือง และยังไม่สายเช่นกันสำหรับ ส.ส.ที่จะลงมติไม่ไว้วางใจ ให้ยูเนสโกเห็นว่าเราคิดอย่างไร ให้เห็นว่ารัฐมนตรีคนนี้ทำงานผิดพลาดจนทำให้ประเทศชาติเสียหายให้พ้นจากตำแหน่ง



กำลังโหลดความคิดเห็น