xs
xsm
sm
md
lg

เขาพระวิหาร : "วาระแห่งชาติ" และทางออกที่เหลือ

เผยแพร่:   โดย: อารยา


โดย : อารยา (อดีตอาจารย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

กัมพูชาได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาประมาณ 3 ปี ในการขอขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารให้เป็น “มรดกโลก” ต่อองค์การยูเนสโก สหประชาชาติ วันนี้ รัฐบาลไทยควรมองไปที่การประชุมในเดือนหน้าเมื่อยูเนสโกจะทำการรับรองขั้นสุดท้ายตามข้อเสนอของกัมพูชาในเรื่องดังกล่าว และในการนี้ ทางไทยยังคงได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมเหมือนทุกครั้ง ในฐานะที่มีปัญหาค้างคาเรื่องพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร จึงไม่มีประเด็นใดๆที่จะต้องทำให้สังคมสับสนว่าเป็นความผิดพลาดของรัฐบาลใดเมื่อศาลโลก 46 ปีก่อนตัดสินยกปราสาทเขาพระวิหารให้เป็นของกัมพูชา

แต่ควรต้องทบทวนเป็นการด่วนที่สุดว่า จากกรณีเขาพระวิหารที่กำลังเป็นประเด็นร้อนขณะนี้ ไทยจะหาทางออกที่ยังไม่ถึงกับอับตันได้อย่างไรโดยยังคงรักษาสัมพันธภาพที่ดีระหว่างไทยและกัมพูชา

การเจรจาที่ฝรั่งเศสเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2551 :

นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ภายหลังเดินทางกลับจากการประชุมร่วมกับองค์การยูเนสโกและกัมพูชา ที่สำนักงานใหญ่ยูเนสโก กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสว่า ตนประสบความสำเร็จในข้อตกลงกรณีการอ้างสิทธิพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตรบริเวณที่ตั้งของปราสาทเขาวิหาร ระหว่างไทยกับกัมพูชา โดยได้มีการแถลงการณ์ร่วม (Joint Communiqué) ที่ทางกัมพูชายอมรับการเปลี่ยนแปลงการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร และ จะส่งแผนที่ใหม่แสดงขอบเขตตัวปราสาทให้ฝ่ายไทยและยูเนสโกพิจารณาในวันที่ 6 มิถุนายน 2551

นายนพดลย้ำวลี “ทางกัมพูชายอมรับ…” เพื่อพยายามสื่อว่าไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบในการเจรจากับกัมพูชา แต่แท้จริงแล้ว เพียงให้กัมพูชาเป็นฝ่ายทำแผนที่แสดงขอบเขตตัวปราสาทโดยลำพัง นายนพดลต่างหากที่เป็นฝ่าย “ยอมรับ”

อะไรคือความจริงที่ซ่อนอยู่ในประเด็นพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม. ที่นายนพดลยอมเสียเปรียบ

มาดูว่าเกิดอะไรขึ้นหลังจากทางการกัมพูชาจัดการลากเส้นแบ่งเขตในพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม. แล้วส่งให้กระทรวงการต่างประเทศไทยตามกำหนดเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2551

แทนที่นายนพดล จะ รายงานต่อรัฐสภาโดยไม่ชักช้าตามขั้นตอนและธรรมเนียมปฏิบัติของระเบียบการบริหาราชการแผ่นดินในกรณีที่เกี่ยวข้องกับดินแดนความมั่นคงของชาติ แต่นายนพดลกลับปกปิดเอกสารสำคัญและผลการประชุมที่ปารีสถึง 10 กว่าวันเพียงแค่นำเข้าสู่วาระการประชุม ครม. เมื่อวันอังคาร 17 มิถุนายน 2551 เท่านั้น

แต่หากนับถึงวันที่นายนพดลกลับจากการประชุมที่ปารีส ก็ล่วงเลยมากว่า 3 สัปดาห์โดยที่รัฐสภาไม่ได้รับรู้อะไรเลย

นายนพดลเป็นเจ้ากระทรวงการต่างประเทศของประเทศใดกันแน่?! เพราะมีกระแสร่ำลือว่านายฮุนเซ็นได้ขอร้องให้ทางการไทยปกปิดแผนที่ใหม่ที่แสดงขอบเขตของพื้นที่ทับซ้อนที่ได้ส่งมานั้น เนื่องจากกำลังอยู่ในช่วงเวลาเลือกตั้งทั่วไปในกัมพูชา การเปิดเผยอาจเกิดปฏิกริยาจากคนไทย และส่งผลกระทบฐานคะแนนเสียงของพรรคนายฮุนเซ็นได้

เบื้องหลัง:

(1) ย้อนกลับไป ปี 2548 รัฐบาลทักษิณจงใจให้กัมพูชาได้เป็นเจ้าของมรดกโลกเขาพระวิหารตามลำพัง มิใยที่คณะกรรมการมรดกโลกไทยเสนอแนะให้ไทยมีนโยบายร่วมเป็นเจ้าของมรดกโลกกับกัมพูชา เพราะทั้งกัมพูชาและองค์การยูเนสโกเห็นว่าการตัดสินใจของไทยที่จะร่วมกันเป็นเจ้าของมรดกโลกชิ้นนี้ จะส่งผลดีต่อการสลายปัญหาพื้นที่ทับซ้อนที่คาราคาซังมาเกือบครึ่งศตวรรษได้ กัมพูชายินดีที่จะได้หมดปัญหา“หญ้าปากคอก” คือได้ครองปราสาทก็จริง แต่หมดอาลัยเมื่อไม่มีทางขึ้นไปชื่นชมได้อย่างปกติ

(2) แต่เป็นโชคร้ายของประเทศที่รัฐบาลทักษิณขณะนั้นไม่ได้มองปัญหาบนพื้นฐานผลประโยชน์ของชาติ แต่กลับนำพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าวไปเป็นส่วนหนึ่งของข้อต่อรองใน "วินวินเกมอัปยศ" นั่นคือตกลงให้กัมพูชาเป็นเจ้าของเขาพระวิหารแต่ฝ่ายเดียว และนายฮุนเซ็นตอบแทนด้วยพื้นที่ทับซ้อนกว่า 3 หมื่นตารางกิโลเมตรในอ่าวไทย

(3) วันนี้นายนพดลจึง “มีงาน” ต้องทำโดยอาศัยฐานะของรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลนอมินีดำเนินกโลบายให้สมประโยชน์ที่ “นายใหญ่” ได้ตกลงผลประโยชน์ต่างตอบแทนกันไว้กับนายฮุนเซ็น

(4) น่าสังเกตว่า นายนพดลมักจะกล่าวตอกย้ำข้อเท็จจริงซ้ำซากตลอดทั้งเดือนที่ผ่านมาว่าเป็นสิทธิอันชอบธรรมของกัมพูชาตั้งแต่ปี 2505 ที่จะเสนอต่อสหประชาชาติขอเป็นเจ้าของมรดกโลกเขาพระวิหาร นายนพดลมองไม่ออกว่าสิทธิของกัมพูชาดังกล่าวไม่ได้ปิดกั้นความเป็นไปได้ที่ทั้งไทยและกำพูชาจะเป็นเจ้าของมรดกโลกร่วมกันได้ ศาลโลกเมื่อปี 2505 ก็ไม่ได้ห้ามไว้

น่าสงสัยว่านายนพดลเป็นนักเรียนกฏหมายทุนอานันทมหิดลได้อย่างไร เพราะคำพูดคำจาบ่งบอกถึงความด้อยทั้งวุฒิภาวะ และสติปัญญาที่ความรู้ไม่ได้ช่วยขัดเกลาความเขลาที่ติดตัวมาแต่ประการใดเลย

เงื่อนไข และทางออก:

(1) ขณะที่เขียนนี้ยังไม่สาย หากรัฐบาลไทยจะทบทวนนโยบายจับมือกับทางนกัมพูชาประกาศเป็นเจ้าของมรดกโลกเขาพระวิหารร่วมกัน และให้ผู้แทนฝ่ายไทยเตรียมเรื่องเข้าสู่การประชุมครั้งสุดท้ายในวาระที่ทางยูเนสโกจะรับรองมรดกโลกเขาพระวิหารอย่างเป็นทางการในเดือนกรกฏาคม 2551

(2)อุปสรรคสำคัญอยู่ที่รัฐบาลนอมินีของนายสมัครทำเรื่องดีๆ อย่างนี้เพื่อชาติบ้านเมืองไม่ได้แล้ว เอาแค่การที่จะต้องบอกเลิกเลิกสัญญาที่เกี่ยวกับพื้นที่ทับซ้อน ก็กลายเป็นเรื่องจุดไต้ตำตอ เพราะนายนพดลเป็นผู้ด่วนลงนามไปโดยพลการ ไฉนเลยจะกล้าตากหน้าไปบอกยกเลิกได้ รัฐบาลเองก็มีนายสมัครที่ประกาศก่อนมารับตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายบริหารว่าจะขอเป็นนอมินีของอดีตนายกฯ ทักษิณ แล้วจะเหลือศักดิ์ศรีอะไรที่ประชาคมโลกจะให้ความนับถือ

(3) ความเป็นไปได้ที่จะแก้สัญญาอัปยศนั้นจึงเหลือทางเลือกเดียวคือ รัฐบาลนายสมัครต้องออกไปภายในสิ้นเดือนนี้ เพื่อให้รัฐบาลใหม่ได้ร่วมทบทวนปัญหากับทางฝ่ายกำพูชาในการร่วมเป็นเจ้าของมรดกโลกเขาพระวิหาร

รัฐบาลนายสมัครคืออุปสรรคใหญ่หลวงของชาติ อยู่ต่อไปอีกเดือนเดียว ไทยเสียดินแดนแน่นอน



กำลังโหลดความคิดเห็น