สังคมประกอบด้วยมนุษย์ และมนุษย์เป็นสัตว์ที่มีความคิด มีความอิสระในการที่จะมีค่านิยม มีทัศนคติที่ชอบหรือเกลียด ดังนั้น จึงมีการแสดงความคิดเห็นและการกระทำออกมาของปัจเจกบุคคล และบางครั้งของคนส่วนใหญ่ในสังคม จนถึงจุดที่จะกลายเป็นนโยบายของรัฐหรือรัฐบาลได้ แต่บ่อยครั้งเหมือนเส้นผมบังภูเขามนุษย์ในสังคมก็ไม่ตระหนักถึงความขัดแย้งในทางความคิด รวมตลอดทั้งการแสดงความคิดเห็นซึ่งมีความขัดแย้งกันในตัว
จะขอยกตัวอย่างความขัดแย้งในทางความคิดที่มาจากความคิดเห็นหรือมาจากการกระทำดังต่อไปนี้ คือ
ตัวอย่างที่ 1 สังคมไทยเป็นสังคมพุทธ ทำบุญทำทานใส่บาตร ไปประกอบพิธีกรรมในวัดบ่อยครั้ง พระสงฆ์องค์เจ้าจึงเป็นที่พึ่งทางใจ และหลายคนก็ยินดีที่จะบริจาคให้แก่วัดเพื่อทำนุบำรุงศาสนา มีการทอดกฐิน ทอดผ้าป่า แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้เป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับตรรกเป็นอย่างยิ่ง เมื่อมีข่าวว่าแมวที่เป็นไข้หวัดสามารถจะถ่ายทอดถึงคนได้และคนอาจจะป่วยจนถึงกับเสียชีวิต ทันทีที่มีข่าวออกมาก็มีประชาชนนำแมวไปปล่อยที่วัดทางเหนือแห่งหนึ่งประมาณ 200 กว่าตัว จนเป็นที่เดือดร้อนให้กับวัด ความขัดแย้งในแง่ความคิดหรือการกระทำจากกรณีดังกล่าวก็คือ ผู้ที่นำแมวไปปล่อยนั้นยอมที่จะให้พระทั้งวัดมรณภาพจากการติดเชื้อจากแมวโดยตัวเองนั้นปลอดภัย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการขาดตรรก ขาดวุฒิภาวะหรือความเห็นแก่ตัว มุ่งแต่การเอาตัวรอด
ตัวอย่างที่ 2 เมื่อพลเอกสุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ได้มีการประท้วงเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากเนื่องจากไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่หลังจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬพลเอกสุจินดาลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อมีการอ้างถึงบุคคลซึ่งไม่ใช่ ส.ส.มาเป็นนายกรัฐมนตรี ผู้ซึ่งเคยประท้วงโดยยกกรณีคุณสมบัติของการไม่เป็น ส.ส.ของพลเอกสุจินดา คราประยูร ต่างก็ไม่แสดงความคิดเห็นใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้เพราะได้คนที่ถูกใจแม้ไม่ “ถูกต้อง” ก็ตาม
ตัวอย่างที่ 3 เรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ที่ครูโกรธเมื่อมีเด็กนักเรียนเตะฟุตบอลมาโดนโทรศัพท์มือถือ จึงสั่งให้เด็กนักเรียนกลุ่มหนึ่งรุมทำร้ายเด็กผู้นั้น ความขัดแย้งที่เห็นได้ชัดคือ เป็นครูแต่โกรธเด็กซึ่งควรจะให้อภัย แต่ที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่านั้นคือเด็กอื่นๆ ฟังคำสั่งของครูโดยไม่คิดว่าถูกต้องหรือไม่ที่ไปรุมทำร้ายเพื่อน
ตัวอย่างที่ 4 ในพิธีการรับน้องใหม่ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ได้ใช้ความร้อนทำให้เกิดแผลที่หลังโดยมีตรรกง่ายๆ ว่าเป็นการวัดใจว่าจะทนได้แค่ไหน ซึ่งถ้าลองเอาใจเขามาใส่ใจเราก็น่าจะได้คำตอบว่าสมควรหรือไม่ หรือถ้าหากเป็นความโกรธแค้นที่เคยถูกรุ่นพี่กระทำมาก่อนแต่ตนไม่ชอบใจก็ควรจะยกเลิกการกระทำนั้น แต่นี่กลับสืบต่อในสิ่งที่ไม่ถูกต้องและเรียกการรับน้องใหม่ว่าเป็นการสร้างความสามัคคี สร้างความรักใคร่กลมเกลียว ตรรกเช่นนี้เป็นตรรกของคนปัญญาอ่อน หรือมีระดับการพัฒนาจิตใจที่ต่ำกว่าปกติ
ตัวอย่างที่ 5 ประชาชนจำนวนไม่น้อยเรียกร้องให้มีประชาธิปไตย ให้มีรัฐธรรมนูญ ให้มีการเลือกตั้ง แต่ก็มีการบ่นวิพากษ์วิจารณ์และด่าก่นว่านักการเมืองเป็นคนเลว การเมืองเป็นเรื่องสกปรก ซึ่งในหลายส่วนก็คงไม่ผิด แต่ก็มีความต้องการที่จะให้คนดีๆ มีความรู้ความสามารถ มีศีลธรรมจริยธรรมเข้าไปสู่ระบบการเมืองเพื่อจะได้ทดแทนนักการเมืองที่เลว การเมืองจะได้ดีขึ้นกว่าเดิม เมื่อมีนักวิชาการเข้าไปสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็จะถูกกล่าวหาตราหน้าว่าไม่น่าเชื่อถือเพราะไปยุ่งกับการเมือง ตรรกที่ขัดแย้งเช่นนี้ทำให้เกิดความสับสนในหมู่ผู้ฟัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ผู้แสดงความคิดเห็นเอง คำถามคือตกลงต้องการอะไรแน่ เรียกร้องประชาธิปไตยแต่รังเกียจการเมืองและนักการเมือง อยากได้คนดีเข้าไปสู่ระบบการเมืองแต่ก็รังเกียจคนดีที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง โดยสรุปทันทีว่ากลายเป็นคนเลวไปแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ไม่ควรมีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย เพราะนั่นเป็นคำตอบเดียวที่มีเหตุผลมากที่สุด
ตัวอย่างที่ 6 มีการกล่าวบ่อยครั้งว่าความเสื่อมของสังคมเกิดจากการไหลบ่าเข้ามาของอารยธรรมตะวันตก การกล่าวเช่นนี้มองข้ามความจริงไปอย่างมากว่า ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากอารยธรรมตะวันตก ไฟฟ้า รถยนต์ รถไฟ เครื่องบิน โทรศัพท์ วิทยุ โทรทัศน์ เป็นสิ่งประดิษฐ์และอารยธรรมของตะวันตกทั้งสิ้น รวมแม้กระทั่งการแต่งกาย ระบบการบริหารสมัยใหม่ ระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย วิชาแพทยศาสตร์ วิชาฟิสิกส์เคมีสมัยใหม่ มูลนิธิที่ไม่หวังผลกำไร ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่อารยธรรมตะวันตกหรือการเหมารวมว่ามาจากอารยธรรมตะวันตกทำให้เป็นตัวแปรไปสู่ความเสื่อมของสังคม พูดเหมือนว่าสังคมในอดีตไม่เคยเสื่อม และจะอธิบายเพลงยาวพยากรณ์ได้อย่างไรว่า
“เทวาซึ่งรักษาพระศาสนาจะรักษาแต่คนฝ่ายอกุศล
สัปรุษย์จะแพ้แก่ทระชนมิศตนจะฆ่าซึ่งความรัก
ภรรยาจะฆ่าซึ่งคุณผัวคนชั่วจะมล้างผู้มีศักดิ์
.............................”
คำถามก็คือ อารยธรรมตะวันตกที่มีส่วนในการสร้างความเจริญให้กับประเทศและสังคมไม่มีเลยหรือ
ตัวอย่างที่ 7 มีคนจำนวนไม่น้อยกล่าวทำนองว่าภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาพ่อแม่เราไม่ควรจะต้องเรียน เราเป็นคนไทยพูดภาษาไทยก็พอ พูดประหนึ่งว่าภาษาไทยไม่มีภาษาต่างชาติเข้ามาปนเป คำถามก็คือภาษาบาลีสันสกฤตเป็นภาษาไทยหรือ นอกเหนือจากนั้นคำสอนในศาสนาพุทธ พิธีกรรมในศาสนาพราหมณ์ ความคิดเรื่องการปกครองบริหาร ทศพิธราชธรรม จักรวรรดิวัตร ราชนีติ คัมภีร์ธรรมศาสตร์ เป็นของไทยดั้งเดิมกระนั้นหรือ คำภาษาจีนที่มีอยู่มากมายเป็นภาษาไทยที่ไม่ควรใช้พูดใช่หรือไม่ เช่นคำว่า สวย โต๊ะ เก้าอี้ การนับเช่น 1 2 3 4 ยี่ห้อ กุนซือ กระเป๋า อานม้า ถ่าน ฯลฯ คำเขมรที่มีอยู่ในภาษาไทยมากมายเป็นภาษาไทยหรือไม่ และควรใช้พูดหรือไม่ เช่นคำว่า กบาล ประหยัด สะพาน ระบาด และถ้าไม่รู้ภาษาอังกฤษจะหาความรู้แบบสมัยใหม่ได้อย่างไร ความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่กล่าวมาแล้วเดิมก็มาจากภาษาต่างชาติทั้งสิ้น
ตัวอย่างที่ 8 หลายคนที่มีการกล่าวถึงอารยธรรมตะวันตกในทางลบรวมทั้งภาษาอังกฤษว่าไม่จำเป็นต้องเรียนนั้น ลืมไปว่าพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถ มีพระเนตรอันยาวไกลหลายพระองค์ จนนำประเทศไทยรอดพ้นจากลัทธิล่าอาณานิคม เคยมีพระราชดำรัสไว้ว่า ประเทศไทยต้องพยายามพัฒนาให้เจริญ “เยี่ยงนานาอารยประเทศ”
ตัวอย่างที่ 9 บางครั้งก็มีการกล่าวถึงทำนองดูถูกนักวิชาการว่าเป็นนักวิชาการเกิน ซึ่งก็มีส่วนจริงหลายกรณี แต่ขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะขวนขวายส่งลูกเข้าเรียนในสถาบันการศึกษาชั้นสูงทั้งในประเทศและต่างประเทศ ถ้าคนที่เป็นครูบาอาจารย์มีความผิดเพี้ยนไปอย่างมากทำไมถึงส่งลูกหลานเข้าไปเรียนกับคนผิดเพี้ยนเช่นนั้น บางครั้งอาจจะมีนักวิชาการที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างจากผู้วิจารณ์แต่ความคิดเห็นที่แตกต่างก็ไม่ได้แปลว่าเป็นความคิดที่ผิดเสมอไป และจะรู้ได้อย่างไรว่าใครผิดใครถูก ข้อเท็จจริงก็มีว่านักวิชาการก็มีหลากหลาย จะเหมารวมเป็นกลุ่มก็คงไม่ได้
ตัวอย่างที่ 10 มีอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนหนึ่งซึ่งมีบิดาเป็นทูตได้เคยเล่าให้ฟังว่า ในระหว่างการพบปะของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่กระทรวงหนึ่งได้มีการพูดคุยกันถึงการพัฒนาประเทศ มีการกล่าวตอนหนึ่งว่าประเทศไทยพัฒนาอย่างไรก็ไม่มีทางเจริญเท่าอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี เพราะประเทศเหล่านี้เป็นประเทศใหญ่กว่าไทยทั้งสิ้น เมื่อมีการแย้งขึ้นมาว่าทำไมประเทศสิงคโปร์จึงพัฒนาให้เจริญได้ บุคคลคนเดียวกันนั้นตอบว่าก็เพราะสิงคโปร์เป็นประเทศเล็ก ทั้งๆ ที่เพิ่งพูดว่าประเทศเล็กอย่างประเทศไทยไม่มีทางพัฒนาให้ทันกับประเทศสามประเทศในยุโรปที่ยกมาเป็นตัวอย่างได้
ตัวอย่างที่ 11 ได้มีการกล่าวโดยนายกรัฐมนตรีผู้หนึ่งว่าให้ทุกคนปฏิบัติตามหลักนิติธรรม ทั้งๆ ที่นายกรัฐมนตรีผู้นั้นเข้ามาสู่ตำแหน่งอำนาจหลังจากมีการปฏิวัติรัฐประหารซึ่งมีการฉีกรัฐธรรมนูญ โดยการฉีกรัฐธรรมนูญนั้นเป็นการขัดต่อหลักนิติธรรมอย่างเด่นชัดที่สุด ผู้กล่าวไม่เห็นความขัดแย้งในประเด็นดังกล่าวระหว่างสองส่วน
ตัวอย่างที่ 12 ได้มีการพร่ำพูดถึงการพัฒนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย การสร้างนักการเมืองที่ดี การสร้างระบบการเมืองที่สามารถจะนำประเทศไปสู่ความเจริญได้ และเพื่อจะให้ประเทศเจริญนั้นจะต้องมีการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่ขณะเดียวกันเมื่อได้อำนาจเบ็ดเสร็จก็มีการออกกฎหมายย้อนหลังซึ่งขัดกับหลักนิติธรรม มีการยุบพรรคการเมืองซึ่งเป็นการทำลายสถาบันการเมืองอันสำคัญยิ่ง นอกจากนั้นเพื่อให้เกิดความคงเส้นคงวายังมีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญให้มีการยุบพรรคการเมืองในลักษณะเดียวกัน การพยายามพัฒนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยด้วยการทำให้เกิดความอ่อนแอหรือทำลายสถาบันที่สำคัญที่สุดภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยคือพรรคการเมืองนั้น เป็นการกระทำที่ขัดกันในตัว และที่สำคัญการร่างรัฐธรรมนูญที่ขัดต่อหลักการสำคัญของประชาธิปไตย ก็เป็นการกระทำที่ขัดต่อความต้องการที่จะพัฒนาประชาธิปไตยไปในตัว นักการเมืองที่ไม่ดีจะต้องถูกกำจัดหรือควบคุม แต่ถ้ากระบวนการกำจัดหรือควบคุมนั้นทำลายแก่นสำคัญของระบบ การควบคุมหรือการกำจัดนักการเมืองที่เลวนั้นก็เสมือนการใช้ปืนยิงยุงที่ติดอยู่ที่หน้าผาก หรือเผานาทั้งผืนเพื่อจะไล่หนูหนึ่งตัวที่ไปหลบในนานั้น ตรรกเช่นนี้ได้ถูกมองข้ามไปอย่างน่าเสียดายยิ่ง
ความขัดแย้งทั้งหลายที่กล่าวมาเป็นเรื่องที่เห็นได้ชัด แต่ส่วนใหญ่ไม่ตระหนัก และเมื่อมีการชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงก็อาจจะมีปฏิกิริยาออกมาในทางลบ ความจริงและวาจาจริงเป็นสิ่งที่มักจะไม่ไพเราะหูแต่เป็นประโยชน์ต่อผู้ฟัง มธุรสวาจาที่เต็มไปด้วยการมุสามักเป็นสิ่งที่นิยมชมชอบของผู้คนที่ขาดข้อมูลและการพินิจพิเคราะห์
จะขอยกตัวอย่างความขัดแย้งในทางความคิดที่มาจากความคิดเห็นหรือมาจากการกระทำดังต่อไปนี้ คือ
ตัวอย่างที่ 1 สังคมไทยเป็นสังคมพุทธ ทำบุญทำทานใส่บาตร ไปประกอบพิธีกรรมในวัดบ่อยครั้ง พระสงฆ์องค์เจ้าจึงเป็นที่พึ่งทางใจ และหลายคนก็ยินดีที่จะบริจาคให้แก่วัดเพื่อทำนุบำรุงศาสนา มีการทอดกฐิน ทอดผ้าป่า แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้เป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับตรรกเป็นอย่างยิ่ง เมื่อมีข่าวว่าแมวที่เป็นไข้หวัดสามารถจะถ่ายทอดถึงคนได้และคนอาจจะป่วยจนถึงกับเสียชีวิต ทันทีที่มีข่าวออกมาก็มีประชาชนนำแมวไปปล่อยที่วัดทางเหนือแห่งหนึ่งประมาณ 200 กว่าตัว จนเป็นที่เดือดร้อนให้กับวัด ความขัดแย้งในแง่ความคิดหรือการกระทำจากกรณีดังกล่าวก็คือ ผู้ที่นำแมวไปปล่อยนั้นยอมที่จะให้พระทั้งวัดมรณภาพจากการติดเชื้อจากแมวโดยตัวเองนั้นปลอดภัย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการขาดตรรก ขาดวุฒิภาวะหรือความเห็นแก่ตัว มุ่งแต่การเอาตัวรอด
ตัวอย่างที่ 2 เมื่อพลเอกสุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ได้มีการประท้วงเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากเนื่องจากไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่หลังจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬพลเอกสุจินดาลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อมีการอ้างถึงบุคคลซึ่งไม่ใช่ ส.ส.มาเป็นนายกรัฐมนตรี ผู้ซึ่งเคยประท้วงโดยยกกรณีคุณสมบัติของการไม่เป็น ส.ส.ของพลเอกสุจินดา คราประยูร ต่างก็ไม่แสดงความคิดเห็นใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้เพราะได้คนที่ถูกใจแม้ไม่ “ถูกต้อง” ก็ตาม
ตัวอย่างที่ 3 เรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ที่ครูโกรธเมื่อมีเด็กนักเรียนเตะฟุตบอลมาโดนโทรศัพท์มือถือ จึงสั่งให้เด็กนักเรียนกลุ่มหนึ่งรุมทำร้ายเด็กผู้นั้น ความขัดแย้งที่เห็นได้ชัดคือ เป็นครูแต่โกรธเด็กซึ่งควรจะให้อภัย แต่ที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่านั้นคือเด็กอื่นๆ ฟังคำสั่งของครูโดยไม่คิดว่าถูกต้องหรือไม่ที่ไปรุมทำร้ายเพื่อน
ตัวอย่างที่ 4 ในพิธีการรับน้องใหม่ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ได้ใช้ความร้อนทำให้เกิดแผลที่หลังโดยมีตรรกง่ายๆ ว่าเป็นการวัดใจว่าจะทนได้แค่ไหน ซึ่งถ้าลองเอาใจเขามาใส่ใจเราก็น่าจะได้คำตอบว่าสมควรหรือไม่ หรือถ้าหากเป็นความโกรธแค้นที่เคยถูกรุ่นพี่กระทำมาก่อนแต่ตนไม่ชอบใจก็ควรจะยกเลิกการกระทำนั้น แต่นี่กลับสืบต่อในสิ่งที่ไม่ถูกต้องและเรียกการรับน้องใหม่ว่าเป็นการสร้างความสามัคคี สร้างความรักใคร่กลมเกลียว ตรรกเช่นนี้เป็นตรรกของคนปัญญาอ่อน หรือมีระดับการพัฒนาจิตใจที่ต่ำกว่าปกติ
ตัวอย่างที่ 5 ประชาชนจำนวนไม่น้อยเรียกร้องให้มีประชาธิปไตย ให้มีรัฐธรรมนูญ ให้มีการเลือกตั้ง แต่ก็มีการบ่นวิพากษ์วิจารณ์และด่าก่นว่านักการเมืองเป็นคนเลว การเมืองเป็นเรื่องสกปรก ซึ่งในหลายส่วนก็คงไม่ผิด แต่ก็มีความต้องการที่จะให้คนดีๆ มีความรู้ความสามารถ มีศีลธรรมจริยธรรมเข้าไปสู่ระบบการเมืองเพื่อจะได้ทดแทนนักการเมืองที่เลว การเมืองจะได้ดีขึ้นกว่าเดิม เมื่อมีนักวิชาการเข้าไปสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็จะถูกกล่าวหาตราหน้าว่าไม่น่าเชื่อถือเพราะไปยุ่งกับการเมือง ตรรกที่ขัดแย้งเช่นนี้ทำให้เกิดความสับสนในหมู่ผู้ฟัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ผู้แสดงความคิดเห็นเอง คำถามคือตกลงต้องการอะไรแน่ เรียกร้องประชาธิปไตยแต่รังเกียจการเมืองและนักการเมือง อยากได้คนดีเข้าไปสู่ระบบการเมืองแต่ก็รังเกียจคนดีที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง โดยสรุปทันทีว่ากลายเป็นคนเลวไปแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ไม่ควรมีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย เพราะนั่นเป็นคำตอบเดียวที่มีเหตุผลมากที่สุด
ตัวอย่างที่ 6 มีการกล่าวบ่อยครั้งว่าความเสื่อมของสังคมเกิดจากการไหลบ่าเข้ามาของอารยธรรมตะวันตก การกล่าวเช่นนี้มองข้ามความจริงไปอย่างมากว่า ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากอารยธรรมตะวันตก ไฟฟ้า รถยนต์ รถไฟ เครื่องบิน โทรศัพท์ วิทยุ โทรทัศน์ เป็นสิ่งประดิษฐ์และอารยธรรมของตะวันตกทั้งสิ้น รวมแม้กระทั่งการแต่งกาย ระบบการบริหารสมัยใหม่ ระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย วิชาแพทยศาสตร์ วิชาฟิสิกส์เคมีสมัยใหม่ มูลนิธิที่ไม่หวังผลกำไร ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่อารยธรรมตะวันตกหรือการเหมารวมว่ามาจากอารยธรรมตะวันตกทำให้เป็นตัวแปรไปสู่ความเสื่อมของสังคม พูดเหมือนว่าสังคมในอดีตไม่เคยเสื่อม และจะอธิบายเพลงยาวพยากรณ์ได้อย่างไรว่า
“เทวาซึ่งรักษาพระศาสนาจะรักษาแต่คนฝ่ายอกุศล
สัปรุษย์จะแพ้แก่ทระชนมิศตนจะฆ่าซึ่งความรัก
ภรรยาจะฆ่าซึ่งคุณผัวคนชั่วจะมล้างผู้มีศักดิ์
.............................”
คำถามก็คือ อารยธรรมตะวันตกที่มีส่วนในการสร้างความเจริญให้กับประเทศและสังคมไม่มีเลยหรือ
ตัวอย่างที่ 7 มีคนจำนวนไม่น้อยกล่าวทำนองว่าภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาพ่อแม่เราไม่ควรจะต้องเรียน เราเป็นคนไทยพูดภาษาไทยก็พอ พูดประหนึ่งว่าภาษาไทยไม่มีภาษาต่างชาติเข้ามาปนเป คำถามก็คือภาษาบาลีสันสกฤตเป็นภาษาไทยหรือ นอกเหนือจากนั้นคำสอนในศาสนาพุทธ พิธีกรรมในศาสนาพราหมณ์ ความคิดเรื่องการปกครองบริหาร ทศพิธราชธรรม จักรวรรดิวัตร ราชนีติ คัมภีร์ธรรมศาสตร์ เป็นของไทยดั้งเดิมกระนั้นหรือ คำภาษาจีนที่มีอยู่มากมายเป็นภาษาไทยที่ไม่ควรใช้พูดใช่หรือไม่ เช่นคำว่า สวย โต๊ะ เก้าอี้ การนับเช่น 1 2 3 4 ยี่ห้อ กุนซือ กระเป๋า อานม้า ถ่าน ฯลฯ คำเขมรที่มีอยู่ในภาษาไทยมากมายเป็นภาษาไทยหรือไม่ และควรใช้พูดหรือไม่ เช่นคำว่า กบาล ประหยัด สะพาน ระบาด และถ้าไม่รู้ภาษาอังกฤษจะหาความรู้แบบสมัยใหม่ได้อย่างไร ความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่กล่าวมาแล้วเดิมก็มาจากภาษาต่างชาติทั้งสิ้น
ตัวอย่างที่ 8 หลายคนที่มีการกล่าวถึงอารยธรรมตะวันตกในทางลบรวมทั้งภาษาอังกฤษว่าไม่จำเป็นต้องเรียนนั้น ลืมไปว่าพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถ มีพระเนตรอันยาวไกลหลายพระองค์ จนนำประเทศไทยรอดพ้นจากลัทธิล่าอาณานิคม เคยมีพระราชดำรัสไว้ว่า ประเทศไทยต้องพยายามพัฒนาให้เจริญ “เยี่ยงนานาอารยประเทศ”
ตัวอย่างที่ 9 บางครั้งก็มีการกล่าวถึงทำนองดูถูกนักวิชาการว่าเป็นนักวิชาการเกิน ซึ่งก็มีส่วนจริงหลายกรณี แต่ขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะขวนขวายส่งลูกเข้าเรียนในสถาบันการศึกษาชั้นสูงทั้งในประเทศและต่างประเทศ ถ้าคนที่เป็นครูบาอาจารย์มีความผิดเพี้ยนไปอย่างมากทำไมถึงส่งลูกหลานเข้าไปเรียนกับคนผิดเพี้ยนเช่นนั้น บางครั้งอาจจะมีนักวิชาการที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างจากผู้วิจารณ์แต่ความคิดเห็นที่แตกต่างก็ไม่ได้แปลว่าเป็นความคิดที่ผิดเสมอไป และจะรู้ได้อย่างไรว่าใครผิดใครถูก ข้อเท็จจริงก็มีว่านักวิชาการก็มีหลากหลาย จะเหมารวมเป็นกลุ่มก็คงไม่ได้
ตัวอย่างที่ 10 มีอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนหนึ่งซึ่งมีบิดาเป็นทูตได้เคยเล่าให้ฟังว่า ในระหว่างการพบปะของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่กระทรวงหนึ่งได้มีการพูดคุยกันถึงการพัฒนาประเทศ มีการกล่าวตอนหนึ่งว่าประเทศไทยพัฒนาอย่างไรก็ไม่มีทางเจริญเท่าอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี เพราะประเทศเหล่านี้เป็นประเทศใหญ่กว่าไทยทั้งสิ้น เมื่อมีการแย้งขึ้นมาว่าทำไมประเทศสิงคโปร์จึงพัฒนาให้เจริญได้ บุคคลคนเดียวกันนั้นตอบว่าก็เพราะสิงคโปร์เป็นประเทศเล็ก ทั้งๆ ที่เพิ่งพูดว่าประเทศเล็กอย่างประเทศไทยไม่มีทางพัฒนาให้ทันกับประเทศสามประเทศในยุโรปที่ยกมาเป็นตัวอย่างได้
ตัวอย่างที่ 11 ได้มีการกล่าวโดยนายกรัฐมนตรีผู้หนึ่งว่าให้ทุกคนปฏิบัติตามหลักนิติธรรม ทั้งๆ ที่นายกรัฐมนตรีผู้นั้นเข้ามาสู่ตำแหน่งอำนาจหลังจากมีการปฏิวัติรัฐประหารซึ่งมีการฉีกรัฐธรรมนูญ โดยการฉีกรัฐธรรมนูญนั้นเป็นการขัดต่อหลักนิติธรรมอย่างเด่นชัดที่สุด ผู้กล่าวไม่เห็นความขัดแย้งในประเด็นดังกล่าวระหว่างสองส่วน
ตัวอย่างที่ 12 ได้มีการพร่ำพูดถึงการพัฒนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย การสร้างนักการเมืองที่ดี การสร้างระบบการเมืองที่สามารถจะนำประเทศไปสู่ความเจริญได้ และเพื่อจะให้ประเทศเจริญนั้นจะต้องมีการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่ขณะเดียวกันเมื่อได้อำนาจเบ็ดเสร็จก็มีการออกกฎหมายย้อนหลังซึ่งขัดกับหลักนิติธรรม มีการยุบพรรคการเมืองซึ่งเป็นการทำลายสถาบันการเมืองอันสำคัญยิ่ง นอกจากนั้นเพื่อให้เกิดความคงเส้นคงวายังมีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญให้มีการยุบพรรคการเมืองในลักษณะเดียวกัน การพยายามพัฒนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยด้วยการทำให้เกิดความอ่อนแอหรือทำลายสถาบันที่สำคัญที่สุดภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยคือพรรคการเมืองนั้น เป็นการกระทำที่ขัดกันในตัว และที่สำคัญการร่างรัฐธรรมนูญที่ขัดต่อหลักการสำคัญของประชาธิปไตย ก็เป็นการกระทำที่ขัดต่อความต้องการที่จะพัฒนาประชาธิปไตยไปในตัว นักการเมืองที่ไม่ดีจะต้องถูกกำจัดหรือควบคุม แต่ถ้ากระบวนการกำจัดหรือควบคุมนั้นทำลายแก่นสำคัญของระบบ การควบคุมหรือการกำจัดนักการเมืองที่เลวนั้นก็เสมือนการใช้ปืนยิงยุงที่ติดอยู่ที่หน้าผาก หรือเผานาทั้งผืนเพื่อจะไล่หนูหนึ่งตัวที่ไปหลบในนานั้น ตรรกเช่นนี้ได้ถูกมองข้ามไปอย่างน่าเสียดายยิ่ง
ความขัดแย้งทั้งหลายที่กล่าวมาเป็นเรื่องที่เห็นได้ชัด แต่ส่วนใหญ่ไม่ตระหนัก และเมื่อมีการชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงก็อาจจะมีปฏิกิริยาออกมาในทางลบ ความจริงและวาจาจริงเป็นสิ่งที่มักจะไม่ไพเราะหูแต่เป็นประโยชน์ต่อผู้ฟัง มธุรสวาจาที่เต็มไปด้วยการมุสามักเป็นสิ่งที่นิยมชมชอบของผู้คนที่ขาดข้อมูลและการพินิจพิเคราะห์