xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.เปิดซักฟอกวันนี้ เน้นเชือด"หมัก-นพดล"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภากล่าวถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และ 7 รัฐมนตรี ที่จะมีขึ้นในช่วงบ่ายวันนี้ (24 มิ.ย.) หลังการประชุมครม. ไปจนถึงเวลาเที่ยงคืนของวันพุธที่ 25 มิ.ย. รวมเป็นเวลา 1 วัน ครึ่ง ซึ่งถ้าอภิปรายเฉพาะเนื้อหาระยะเวลา ก็น่าจะเพียงพอ และจากนั้นวันถัดมาจะมีการอภิปรายงบประมาณประจำปี 2552 ต่อไป

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และคณะว่า ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา รัฐบาลได้ปรับท่าทีเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ยืนยันมาตลอดว่าไม่สามารถทำได้ และรัฐบาล ก็จะไม่สนองตอบ ต่อการดำเนินการตามวิถีทางกระบวนการของสภาผู้แทนราษฎร แต่เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยการประสานงานกับรัฐบาล ได้เปลี่ยนแปลงระเบียบวาระการประชุม และบรรจุญัตติการอภิปรายทั่วไป ซึ่งมีของ ส.ว. และฝ่ายค้านในการที่จะให้สภาดำเนินการ ในการประชุมสภาสมัยวิสามัญ แต่บังเอิญช่วง 2-3 วันที่ผ่านมานั้น นายสมัครได้พูดจาพาดพิงถึงฝ่ายค้าน ในญัตติของฝ่ายค้านหลายเรื่อง ซึ่งต้องขอบอกว่านอกจากจะมีความคลาดเคลื่อน บางครั้งมีการกล่าวหา กล่าวเท็จ ทำให้ประชาชนเกิดความสับสนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน และญัตติของฝ่ายค้านด้วย

**ปชป.ไม่เกี่ยวข้องกับพันธมิตรฯ
ผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าวว่า ตนขอเรียนเบื้องต้น 2-3 ประการ คือ 1. มีความพยายามของนายกรัฐมนตรี และสมาชิกพรรคพลังประชาชนหลายครั้ง ที่พูดว่า มีขบวนการของพรรคประชาธิปัตย์ กับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยมีการกล่าวหาว่า มีการสมคบกันเล่นการเมืองนอกระบบ นอกจากนี้สิ่งที่คาดไม่ถึงคือ นายกรัฐมนตรีออกมาใช้วาจาข่มขู่ว่า ถ้าหากมีวันใดวันหนึ่งที่พรรคฝ่ายค้านมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล นายกรัฐมนตรีจะมีการจัดตั้ง ส.ส.สอบได้และสอบตก มาตั้งแก๊งกันข้างถนน เพื่อขับไล่ ตรงนี้ทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจว่า กระบวนการของพันธมิตรฯ เป็นแก๊งข้างถนน
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ที่สำคัญคือตรงนี้เหมือนกับพรรคประชาธิปัตย์อยู่เบื้องหลัง ขอย้ำว่าพรรคปฏิเสธมาโดยตลอด การดำเนินการของพันธมิตรฯ เป็นการดำเนินการที่มีบุคคลากรที่เป็นแกนนำชุมนุมอย่างอิสระ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพรรคประชาธิปัตย์ เห็นได้ง่ายๆ ก็คือหลายครั้งการอภิปรายบนเวที จะมีการตำหนิพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งก็เป็นสิทธิของพันธมิตรฯ ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ หลายข้อเรียกร้องของพันธมิตรฯ ที่มีการพูดกันบนเวทีนั้น ไม่ได้เป็นคุณกับพรรคประชาธิปัตย์เลย เช่น การเมืองในระบบตัวแทนจะต้องถูกลดบทบาทลงไป แต่ก็ถือว่าเป็นสิทธิ์ของพันธมิตรฯ และการเมืองภาคประชาชนที่จะดำเนินการ และตนก็ไม่มองว่าพันธมิตรฯ เป็นแก๊งข้างถนน และไม่ได้มองกลุ่มอื่นๆ ที่ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญเป็นแก๊งข้างถนน แต่ถือว่าเป็นประชาชนคนไทย ที่ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ที่พึงจะมี และพึงจะทำ
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ขอย้ำว่า แกนนำพันธมิตรฯ และพันธมิตรฯ มีมาก่อนรัฐบาลนี้ ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นหลังจากที่นายสมัคร มาเป็นนายกฯ แล้วจะมากล่าวหาว่าพอนายสมัคร เป็นนายกฯ พรรคประชาธิปัตย์ก็เลยไปอยู่เบื้องหลังจัดตั้งพันธมิตรฯ ขึ้นมา อย่างนี้ไม่สมเหตุสมผล เพราะแกนนำพันธมิตรฯ และพันธมิตรฯ มีมาก่อนที่นายสมัคร จะตัดสินใจมาเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ดังนั้นขอให้หยุดใส่ร้ายพรรคประชาธิปัตย์ และหยุดเบี่ยงเบนประเด็น แต่หน้าที่ของนายกฯ คือไปชี้แจงต่อสภาฯ ส่วนหน้าที่ของรัฐบาล คือรักษาความสงบเรียบร้อย และถ้าเป็นไปได้ ก็บริหารบ้านเมืองอย่าให้เกิดเงื่อนไขของการชุมนุม อย่าเอาเรื่องของฝ่ายค้านไปใส่ร้ายป้ายสี
2. การเปลี่ยนท่าทีของรัฐบาล ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความจริงใจ และเห็นความสำคัญในกระบวนการของสภาฯ เห็นได้ชัด จากการแสดงออกของ นายสมัคร ในการออกรายการ สนทนาประสาสมัคร โดยพูดทำนองว่า ญัตติเขียนมาอย่างนั้น ต้องการให้พูด จะได้จบๆ กันไป อยากเรียนว่า หากนายกฯ เคารพกระบวนการของสภาฯ ก็ควรอฟังการอภิปรายของพรรคประชาธิปัตย์ และใช้สิทธิในการชี้แจง ถ้าข้อมูลและเหตุผลของฝ่ายค้านไม่หนักแน่น อย่าว่าแต่นายกฯ เลย ประชาชนทั้งประเทศก็จะตำหนิฝ่ายค้าน
ดังนั้น ไม่ใช่เรื่องที่นายกฯ จะมาตัดสินล่วงหน้าว่า ญัตติของฝ่ายค้านก็เขียนออกมาอย่างนั้นๆ ไม่มีเหตุผลอะไร

**อัด"หมัก"โกหกคนทั้งประเทศ
3. กรณีเขาพระวิหาร ตนคิดไม่ถึงว่านายกฯ จะกล้าพูดเท็จกับคนไทยทั้งประเทศ กล่าวหาอดีตหัวหน้าพรรคของนายสมัครเอง คือม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี เพราะนายสมัคร จงใจพูดว่าประเทศไทยเสียเขาพระวิหารไป เมื่อปี พ.ศ. 2505 เพราะทนายไปยอมรับแผนที่ที่มีการต่อสู้กันในศาลโลก และนายกฯยังบอกว่า คนที่มาพูดจาคัดค้าน ทำไมไม่ไปถามคนเก่าคนแก่ในคณะว่าอะไรเป็นอะไร ทั้งนี้นายสมัคร จะหมายถึงใครในพรรคประชาธิปัตย์ แต่คนรุ่นใหม่อย่างพวกตน จะสอบถามข้อมูลจากผู้อาวุโสในพรรค ที่ไม่เปลี่ยนอุดมการณ์และยังอยู่กับพรรคตลอดเวลา เรื่องอะไรที่มีความสำคัญกับบ้านเมือง ตนได้สอบถามและเรื่องอะไรที่ไม่มีความสำคัญ เช่น นิสัยของคนที่อยู่กับพรรคเป็นอย่างไร ก็เล่าให้ตนฟังหมด แต่ตนจะไม่พูด เดี๋ยวจะไปเสียหายกับตัวนายกฯเองว่า คนเก่าคนแก่ของพรรคได้เล่าว่าอย่างไรบ้าง แต่ตนอยากจะบอกว่าไม่เพียงแค่การสอบถาม คนเก่าคนแก่ของพรรคเท่านั้นแต่ประวัติศาสตร์มีบันทึกไว้ในหลายรูปแบบ และที่สำคัญ คือ เราต้องยึดถือข้อเท็จจริงที่เป็นที่ยอมรับของสากล เหมือนก่อนหน้านี้ นายกฯอาจจะบอกว่าตนอายุน้อยจะไปรู้เรื่อง เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ได้อย่างไร แต่ตนมั่นใจว่าสิ่งที่ตนรู้ คือ มีคนเสียชีวิตมากกว่า 1 คน ซึ่งเป็นคำยืนยันของนายกฯ
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า กรณีเขาพระวิหาร ถ้าจะอ้างคำตัดสินของศาลโลก ก็ต้องไปอ่านคำพิพากษาของศาลโลกในปี พ.ศ. 2505 ซึ่งพวกตนได้อ่านทั้งตัวคำพิพากษา และคำบรรยายฟ้องและการต่อสู้ ข้อสังเกตุของทั้งสองฝ่าย ไม่มีตรงไหนที่บอกว่าทีมกฏหมายของฝ่ายไทยไปยอมรับแผนที่ แต่ตรงกันข้าม ข้อต่อสู้ของฝ่ายไทยคือ ไม่ยอมรับแผนที่ เพียงแต่ศาลตัดสินว่าไทย ยอมรับแผนที่โดยปริยาย ไม่ใช่โดยการต่อสู้ของทีมทนาย แต่การกระทำของรัฐบาลก่อนหน้านั้น มาเป็นเวลาหลาย 10 ปี และการกระทำที่ศาลโลกใช้ในการปิดปาก ซึ่งกฎหมายใช้ศัพท์เทคนิคอย่างนี้ว่า ปิดปาก ไม่ให้ฝ่ายไทยต่อสู้ในเรื่องนี้ คือการกระทำลักษณะเดียวกันกับที่นายนพดล และนายสมัคร กำลังทำในขณะนี้ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ นายกฯไม่ควรให้ข้อมูลที่ผิด ไม่ควรกล่าวเท็จ และควรจะรอฟังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่มีข้อกล่าวหาว่ารัฐบาล และรัฐมนตรี กำลังทำให้ประเทศชาติต้องสูญเสียอธิปไตย คืออะไร
"ความเสียหายจากการกระทำที่เกิดขึ้นนี้ ทุกฝ่ายในสังคม ควรจะช่วยกันยับยั้งโดยเร็วก่อนที่ยูเนสโก หรือคณะกรรมการมรดกโลก จะมีการปะชุมในต้นเดือนก.ค. นี้ และวิธีการที่จะยับยั้งความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ที่สุดคือ ทุกวิถีทางที่จะทำให้คนไทยไม่ได้ยอมรับการกระทำที่เกินเลยอำนาจ ตามรัฐธรรมนูญของรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลนี้ และผมขอเรียกร้องให้ ส.ส.ที่เป็นคนไทยทุกคน ไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ โดยสาเหตุจากเรื่องนี้ เพื่อบอกกับชาวโลก และกรรมการมรดกโลก ว่า คนไทยไม่ยอมรับสิ่งที่ไปตกลงกันเกินขอบเขตอำนาจหน้าที่ของฝ่ายบริหาร เรื่องนี้ผมและคณะจะได้ทำหน้าที่ ในการปกป้องผลประโยชน์ และอธิปไตยของประเทศไทยอย่างดีที่สุด ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ขอให้รัฐบาลไปฟังและชี้แจงข้อมูลให้ได้ก่อนที่จะมาบิดเบือนกล่าวเท็จใส่ร้ายป้ายสีฝ่ายค้านเหมือนกับที่ทำมา 2-3 วันที่ผ่านมา" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึง คำชี้แจงของนายสมัคร ในการอภิปรายของส.ว.วานนี้ หลายเรื่องนายกฯได้กล่าวเท็จ มีการละเมิดไปถึงการทำหน้าที่ของตุลาการรัฐธรรมนูญ เช่น การจ้างพรรคเล็กลงสมัคร แล้วถูกยุบ แต่จ้างพรรคเล็กไม่ให้ลงสมัคร ไม่ถูกยุบ ตุลาการได้ตัดสินว่าไม่ได้มีการว่างจ้างไม่ให้ลงสมัคร ไม่ใช่บอก ว่าจ้างแล้วไม่ต้องยุบพรรคประชาธิปัตย์ ประเด็นอย่างนี้ขอให้เลิกเสียเถิด เพราะจะลดความน่าเชื่อถือของนายกฯในการชี้แจงในสภา แต่ตนยืนยันว่าการอภิปรายครั้งนี้ มีความสำคัญมาก เพราะเป็นช่องทางหนึ่งของประเทศไทยที่จะรักษาผลประโยชน์
ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าหลัดฐานหรือข้อมูลที่ฝ่ายค้านมีอยู่นั้น ชี้ให้เห็นว่าไทยกำลังเสียดินแดนอธิปไตยตาม มาตรา 190 ใช่หรือไม่ หัวหน้าพรรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนยืนยันว่า มีการกระทำเกินขอบเขตอำนาจตามมาตรา 190 ซึ่งมีผลต่ออธิปไตยของประเทศ ซึ่งขอให้ฟังรายละเอียดในวันนี้
ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้ว จะยื่นถอดถอนด้วยหรือไม่ ผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าวว่า จะไปพิจารณาอีกที แต่หวังว่าส.ส.ไทยทุกคน จะได้แสดงออกเบื้องต้นก่อนว่า ไม่ไว้วางใจนายกฯ และรมว.ต่างประเทศ และขอให้ส.ส.ไทยทุกคนเปิดใจกว้างในการฟังข้อมูลจะได้ทราบว่า ควรจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามว่า ข้อมูลการอภิปราย จะสามารถเป็นหมัดน็อกรัฐบาลได้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนไม่ได้สนใจที่จะไปน็อกนายนพดล หรือนายกรัฐมนตรี แต่สนใจว่า ฝ่ายนิติบัญญัติของประเทศ จะแสดงท่าทีที่ชัดเจนไม่ยอมรับความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการในเรื่องนี้ นี่คือสิ่งที่สำคัญและคิดว่าหลักฐานของฝ่ายค้านชัดเจน ว่าที่ทำไปเกิดความเสียหายอย่างไร

**เปิดตัวทีมเชือด"หมัก-ครม."
รายงานข่าวจากพรรคประชาธิปัตย์ แจ้งว่า สำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและ 7 รัฐมนตรี ในวันที่ 24มิ.ย.นี้ พรรคได้กำหนดในรัฐมนตรี (เงา) ที่รับผิดชอบในกระทรวงที่ถูกอภิปราย เป็นแกนนำหลัก ซึ่งการอภิปรายนาย สมัคร นั้นผู้อภิปรายได้แก่ นาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค โดยจะพูดถึงการบริหารราชการแผ่นดินที่บกพร่องในภาพรวม ส่วนประเด็นปลีกย่อย จะแบ่งเป็นด้านเศรษฐกิจ นำโดย นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.กทม. ส่วนเรื่องการโยกย้ายขรก. กระทรวงต่างๆ พรรคได้มอบหมายให้นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคเป็นผู้อภิปราย นอกจากนี้ การอภิปรายจะมีการซักถามนายกฯ ในประเด็นปราสาทพระวิหารด้วย โดยพรรคกำหนดให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้อภิปราย
ทั้งนี้ จะมีการหยิบยกประเด็น นายจักภพ เพ็ญแข อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่เคยกล่าวโจมตีสถาบันฯ มาภิปรายอีกครั้ง โดยผู้อภิปรายคือ นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง โดยเหตุผลว่าถือเป็นความผิดโดยตรงของนายกรัฐมนตรี ที่ปล่อยให้รัฐมนตรีผู้มีทัศนะคติที่เป็นอันตรายอยู่ในคณะรัฐมนตรี
ส่วนการอภิปราย นายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศนั้น โดยประเด็นใหญ่อยู่ที่เรื่องปราสาทพระวิหาร ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ได้กำหนดบุคคลร่วมอภิปรายจำนวน 6 รายได้แก่ นายอภิสิทธิ์ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรค นายธีระ สลักเพชร ส.ส.ตราด และนายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลาเป็นผู้สรุปในช่วงท้าย
สำหรับการอภิปราย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทยนั้น พรรคอาจจะใช้รูปแบบเชิงวาทะกรรม ในลักษณะใช้ลูกเล่นของการอภิปราย ซึ่งประเด็นการอภิปรายจะเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่รับทราบ เป็นปัญหาที่มาจากการบริหารงานที่ล้มเหลว เช่น การแก้ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ ทั้งนี้ คาดว่าจะมี นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค ร่วมผู้อภิปรายด้วย
รายงานข่าวกล่าวอีกว่า ถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี ในส่วนของนาย สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รมว.ยุติธรรม โดยแนวทางการอภิปราย จะพูดถึงเรื่องการบริหารราชการที่บกพร่อง พร้อมทั้งสอบถามความคืบหน้าของคดีการหายตัวของ ทนายสมชาย นีละไพจิตร คดีนาย เจริญ วัดอักษร และคดีการสังหาร พระสุพจน์ สุวโจ พระนักอนุรักษ์ ทั้งที่ คดีบุกรุกที่ดินของบริษัทศรีสุบรรณฟาร์มจำกัด ของนาย สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กลับได้รับการพิจารณาก่อน ส่อให้เห็นเจตนาการเอาคืนทางการเมือง
นอกจากนี้ เรื่องการโยกย้ายขรก.ระดับสูงในกระทรวงยุติธรรมจำนวน 10 คน โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร อาทิ การย้ายนายสุนัย มโนมัยอุดม อดีตอธิบดี ดีเอสไอ มาเป็นเลขาธิการสำนักงานป้องและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) ซึ่งมีหลักฐานที่เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับการเมือง เนื่องจากนายสุนัย เป็นผู้รับผิดชอบคดีสำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และครอบครัว
นอกจากนี้ การอภิปรายจะมีการพูดถึงกรณีที่ดีเอสไอ ตรวจสอบทรัพย์สินคุณหญิง จารุวรรณ เมณฑะกา ผู้ว่าฯ สตง. โดยไม่มีเหตุอันสมควร และเป็นการกระทำที่ขัดต่อหน้าที่ อันมีผลมาจากความไม่พอใจที่ สตง.ตรวจสอบงบประมาณของดีเอสไอ
นายอลงกรณ์ พลบุตร ส.ส.เพชรบุรี และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนจะรับผิดชอบในการอภิปราย นายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ กรณีทำให้ประเทศสูญเสียอธิปไตยจากการยินยอมลงนามรับรองอาณาเขตปราสาทเขาพระวิหาร โดยไม่มีท่าทีปกป้องผลประโยชน์ของชาติ ซึ่งจะชี้ให้เห็นถึงผลเสียหาย ผูกพันที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากการลงนาม

**"เหลิม"ขอดูหมัดน็อกของฝ่ายค้าน
ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทย กล่าวว่า โดยหลักการแล้วต้องฟังการอภิปรายให้จบก่อน จึงจะสามารถตัดสินใจได้ เพราะไม่รู้ว่าที่ฝ่ายค้านบอกว่ามีทีเด็ดนั้น คืออะไร
ทั้งนี้ครั้งหนึ่งตนเคยหยิบประเด็นเรื่อง สปก.4-01 ที่พรรคประชาธิปัตย์ นำไปแจกเศรษฐีภูเก็ต โดยขณะนั้น พล.ต. จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรฯ ซึ่งขณะนั้นเป็นหัวหน้าพรรคพลังธรรมได้อภิปรายไม่ไว้วางใจ และยังไม่ทันได้ลงคะแนน พล.ต.จำลอง ก็ขอถอนตัว และนายชวน หลีกภัย ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี ขณะนั้นก็ประกาศยุบสภาฯ เพราะฉะนั้นไม่ต้องถามเรื่องเสียงของพรรคร่วมฯ ว่าจะเป็นอย่างไร ดังนั้นตนจะให้ความเห็นหลังที่ฝ่ายค้านอภิปราย
"ที่พรรคฝ่ายค้านแจ้งว่ามีหลักฐานเด็ดๆ ในการอภิปราย โดยส่วนตัวคิดว่า หากมีหลักฐานเด็ด ปังเดียวก็จบ ไม่ต้องอภิปรายกันหลายวัน เพราะฉะนั้นไม่มีเหตุผลเรื่องเวลามาก หรือน้อย และอย่ามองอะไรให้ซีเรียส พรรคประชาธิปัตย์เวลาที่รัฐบาลไม่บรรจุญัตติอภิปรายก็หาว่าใจแคบ พอบรรจุไปแล้วก็หาว่าให้เวลานิดเดียว และที่ฝ่ายค้านเรียกร้องให้ขยายเวลาการอภิปรายก็เป็นเรื่องของรัฐบาลไม่ใช่ผมคนเดียว" มท.1 กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า การอภิปรายครั้งนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ยังบอกไม่ได้ ต้องรอดูทีเด็ดของฝ่ายค้านก่อน เพราะถ้าฝ่ายค้านมีหมัดน็อก เหมือนที่ตนเคยน็อกพรรคประชาธิปัตย์มาแล้ว จนรัฐบาลก็อยู่ไม่ได้ส่วนกรณีที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ระบุจะยกให้ตนเป็นอาหารจานหลักในการอภิปรายครั้งนี้ ก็ขอขอบคุณ ซึ่งการเมืองก็เป็นอย่างนี้ ไม่รู้สึกตื่นเต้น

**ชาติไทยรอประเมินหลังอภิปราย
นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวว่า การอธิปรายของฝ่ายค้านครั้งนี้ ถือเป็นสิ่งดี จะได้บรรเทาความตึงเครียดให้ลดลง และเมื่อฝ่านค้านอภิปรายอย่างไร รัฐบาลต้องเป็นฝ่ายตอบ แล้วประชาชนจะเป็นคนตัดสินใจเอง
ส่วนการลงมติของพรรคชาติไทย ต้องรอฟังการอภิปรายก่อน ซึ่งในวันที่ 24 มิ.ย.นี้ เวลา 12.00 น. พรรคชาติไทยจะมีการประชุม เพื่อหารือกันภายในพรรคก่อน อย่างไรก็ตาม ถึงขณะนี้คงยังตอบอะไรไม่ได้เพราะยังไม่มีการอภิปราย และตอบไม่ได้ว่า จะผ่านพ้นไปด้วยดีหรือไม่
สำหรับกระแสข่าวเรื่องการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองโดย 5พรรคร่วมรัฐบาลจะทิ้งพรรคพลังประชาชน ไปจับขั้วกับพรรคประชาธิปัตย์นั้น นายบรรหาร กล่าวว่า ความเป็นไปได้คือเป็นไปไม่ได้ ถึง 5 พรรคร่วมรัฐบาลจะเปลี่ยนขั้วทางการเมือง ก็ได้เพียง 244 เสียง ถึงอย่างไรเสียงก็ไม่พอ เดี๋ยวคงมีการสร้างกลุ่มงูเห่าขึ้นอีก ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ อย่าไปพูดดีกว่า
เมื่อถามว่ารัฐบาลทำงานมา4 เดือน ก็ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้ว ถือว่าเหมาะสมหรือไม่ นายบรหาร กล่าวว่า ต้องตั้งเป็นข้อสังเกตุด้วยว่า ไม่ว่าเรื่องอะไรก็แล้วแต่ที่รัฐบาลจะทำนั้น ต้องหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลด้วย เช่น หลายๆเรื่องที่จะนำเข้าที่ประชุมครม. หากพรรคร่วมรัฐบาลติติง ก็ต้องฟังกันด้วย เช่น เรื่องเขาพระวิหาร รัฐมนตรีของพรรคชาติไทย มีการทักท้วงไปด้วยเช่นกัน ว่าจะต้องพิจารณาก่อนจะอนุมัติให้ดี อย่าผลีผลาม หรือแม้แต่เรื่องรถเมล์ 6,000 คัน รัฐมนตรีของพรรคชาติไทยก็ไม่ค่อยเห็นด้วย และทำไมไม่จัดซื้อ จะเช่าเพื่อให้เป็นหนี้ทำไม
ผู้สื่อข่าวถามว่า จนถึงขณะนี้ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลยังดีอยู่หรือไม่ หัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวว่า ยังดีอยู่ ส่วนจะมีการนัดรับประทานอาหารระหว่างหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลอีกเมื่อไรนั้น ตนยังไม่ทราบ คงต้องรอให้มีการอภิปรายก่อน
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะมีการเปิดประชุมสภาในช่วงบ่ายวันที่ 24 มิ.ย.นั้น คงต้องสอบถามจากนายกฯ ว่ามีความเห็นอย่างไร ในกรณีที่เปิดให้ส.ว. และฝ่ายค้านเปิดอภิปรายในครั้งนี้ได้ เนื่องจากเป็นการเปิด อย่างกระทันหัน
เมื่อถามว่า หากมีการหารือ จะพูดคุยกันนายกรัฐมนตรีถึ งกรณีที่ต้องฟังเสียงข้อท้วงติงของพรรคร่วมรัฐบาลด้วยหรือไม่ นายบรรหาร กล่าวว่า คงต้องพูดแน่ และหลังจากที่รัฐบาลได้ข้อมูลจากส.ว. และฝ่ายค้านแล้ว นายกรัฐมนตรีต้องนำประเด็นต่างๆ นั้นมาหารือกับพรรคร่วมฝ่ายค้านด้วย ว่าในเมื่อมีข้อมูลเช่นนี้แล้ว จะทำอย่างไร และมีความเห็นอย่างไรต่อการตั้งข้อสังเกตของฝ่ายค้าน
ผู้สื่อข่าวถามว่า เท่าที่ประเมินแล้วคิดว่ามีอะไรน่าหนักใจหรือไม่ นายบรรหารกล่าวว่า ไม่หนักใจ สบายๆ เมื่อถามว่า จะให้กำลังใจนายกรัฐมนตรีอย่างไรเนื่องจากถูกอภิปรายอยู่พรรคเดียว นายบรรหารกล่าวว่า ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล ก็ต้องให้กำลังใจพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน
ส่วนกรณีทีมีการตั้งข้อสังเกตว่าพรรคพลังประชาชนโดนอภิปรายอยู่พรรคเดียวนั้น ตนบอกได้เพียงว่า คิดเอาเองก็แล้วกันว่ าถ้าเป็นเราจะทำอย่างไร ขอให้คิดเอง ไม่ต้องให้พูด เมื่อถามว่า เป็นห่วงรัฐมนตรีที่จะถูกอภิปรายคนใดมากเป็นพิเศษหรือไม่ นายบรรหาร กล่าวว่า ตนเป็นห่วงทุกคนเมื่อถามว่า เชื่อว่าการเปิดอภิปรายครั้งนี้ จะเป็นการลดกระแสการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรฯได้หรือไม่ นายบรรหารกล่าวว่า ไม่เกี่ยวกัน เพราะฝ่ายพันธมิตรฯ เองเขาก็อยากจะฟังการอภิปรายเช่นกัน เมื่อฟังแล้วเขาจะได้จับเป็นประเด็นไปพูดบนเวที อันที่จริงมีอะไรเราพูดกันในสภาดีกว่าเพราะผู้ที่จะรู้ดีเรื่องปัญหาของประชาชนมากที่สุดคือส.ส.ดังนั้นต้องฟังการอภิปรายในสภา
ด้านนายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.อุตสาหกรรม ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน กล่าวว่า วันนี้ทางพรรคจะมีการประชุม เพื่อหารือในการโหวตอภิปรายไม่ไว้วางใจ ส่วนกรณีพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ขออภิปรายรัฐมนตรีในพรรคร่วมรัฐบาลนั้น ไม่ขอตอบ

**ยันไม่มีงูเห่าในพรรคร่วมฯ
นายนัดมุจดีน อูมา ส.ส.นราธิวาส พรรคพลังประชาชน ในฐานะวิปรัฐบาล กล่าวยืนยันว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะไม่มีเสียงแตกในการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ และรัฐมนตรีของพรรคพลังประชาชนทั้ง 7 คนอย่างแน่นอน เนื่องจากรัฐบาลเพิ่งบริหารประเทศมาได้เพียง 4 เดือนเท่านั้น แม้แต่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์บางคนยังมาพูดคุยกับตนและบอกว่าเร็วเกินไปที่จะเปิดอภิปรายในช่วงนี้ เพราะเห็นตรงกันว่า เวลาที่เหมาะสมแก่การเปิดอภิปรายคือ สมัยสามัญทั่วไปในปี 52
"เรื่องงูเห่านี้ยืนยันได้1,000 เปอร์เซ็นต์ว่าไม่มีเกิดขึ้นในพรรคร่วมรัฐบาลแน่ เพราะจากการพูดคุยเป็นการส่วนตัวกับพรรคร่วมต่างยืนยันว่าจะสนับสนุนนายสมัคร สุนทรเวช และรัฐมนตรีของพรรคพลังประชาชนต่อไป เพราะยังไม่มีข้อบกพร่องอะไร" นายนัดมุจดีน กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น