xs
xsm
sm
md
lg

"รัฐบาล 10 ไม่" ทำชาติพัง "หมัก" ด่ากราดกลางสภา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ส.ส.ชำแหละรัฐบาลลูกกรอก ยับ "คำนูญ" อัด "หมัก" หยามการเมืองภาค ปชช. แค่ม็อบข้างถนนจุดชนวนเพิ่มอุณภูมิวิกฤต สะท้อนผู้นำวิ่งไม่ทัน ปชช. ระบุ "หมัก" มีสิทธิไม่ชอบ "ป๋าเปรม" แต่ไม่มีสิทธิล้มล้าง รธน. ซ้ำปล่อยปละละเลยให้ "ลิ่วล้อแม้ว" จาบจ้วงสถาบันเบื้องสูง พร้อมตั้งฉายา รัฐบาล "10 ไม่" ทำชาติพัง แฉ 2 ใบเสร็จหมกเม็ดแก้ รธน.หวังล้มองคมนตรี ขณะที่ "นายกฯ" เล่นบทถนัด ด่ากราดอวดศักดากลางสภา ลั่น "อย่าเล่นกับสมัคร" ปัดไม่เคยพูดจาหยาบคาย แถมเอาสีข้างเข้าถู อ้าง รธน.เปิดช่องแก้ได้ พ่นใส่กลุ่มพันธมิตรฯปลุกระดมเขาพระวิหารมั่ว

ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 09.30 น. วานนี้ (23 มิ.ย.) มีการประชุมวุฒิสภา เพื่อพิจาณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ โดยมีคณะรัฐมนตรี นำโดยนาย สมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี มานั่งฟังการอภิปราย

อัด "สมัคร" เมินการเมืองภาคพลเมือง

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา อภิปรายว่า การยื่นญัตติครั้งนี้ได้ผ่านการ ไตร่ตรองอย่างรอบคอบ และหวังว่า รัฐมนตรีทุกคนจะมารับฟังด้วยความสมัครใจ ไม่ใช่มาเพื่อหวังประกอบพิธีกรรมบางอย่าง เพียงแค่ให้เรื่องจบๆไป ถึงแม้การมาครั้งนี้ของรัฐบาลจะเป็นการแก้เกมการเมืองนอกสภาก็ตาม แต่ก็ยังดีที่ยอมมารับฟังความคิดเห็นของวุฒิสภา แม้จะมีบางคนออกมาวิจารณ์ว่า ถึงจะเปิดโอกาสให้ส.ส.และส.ว.อภิปรายแต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะการเมืองข้างถนนก็ยังมีอยู่ หรือถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลง ถึงขั้นยุบสภาก็จะมีอีกกลุ่มหนึ่งมาชุมนุมแบบเดียวกันอย่างที่นายสมัครพูดในรายการ “สนทนาประสาสมัคร” อีกทั้งยังวิจารณ์ถึงบุคคล 5 คนว่าไม่ยอมรับกติกา เป็นการพูดในลักษณะสิ้นคิด เหมือนเป็นการเติมเชื้อให้การเมืองวิกฤติยิ่งขึ้น และ ทำให้การเมืองวนเวียนอยู่ในวงจรอุบาทว์เดิม ๆ และเปิดทางให้อำนาจนอกระบบเข้ามาแทรกแซงเหมือนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา

"ไม่ใช่เรื่องปกติที่ประชาชนนับแสนออกมาตากแดดตากฝน โดยมีการชุมนุม อย่างสงบ ขณะที่ตำรวจสามารถรับมือได้อย่างสง่างามไม่แพ้กัน โดยไม่เกิดความรุนแรง เจ้าของประเทศตัวจริงคือประชาชน ขณะที่รัฐบาลกับนิติบัญญัติเป็นเพียงผู้อาสามาทำงานเท่านั้น เพราะฉะนั้นอย่ามองการเมืองภาคประชาชนว่า เป็นแค่ เครื่องมือนอกสภาของฝ่ายตรงข้าม หรือเป็นตัวการที่ทำให้เกิดรัฐประหาร ต้องยอมรับว่า วันนี้สังคมไทยได้มีความเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ประชาชนมีส่วนร่วมกับการเมืองมากขึ้น สามสี่เดือนที่ผ่านมาดูเหมือนนายสมัคร ยังไม่เข้าใจต่อปรากฏการณ์นี้ เพราะถ้าเข้าใจก็คงไม่พูดว่า เป็นม็อบข้างถนน โดยพยายามอ้างแต่ว่ามาจากเสียงข้างมาก และปักใจเชื่อว่าความเคลื่อนไหวของประชาชนมีเบื้องหลัง เช่น ฝ่ายค้าน หรือบุคคลที่ท่านเอ่ยถึงว่าเป็นคนหัวเถิก

ดังนั้นถ้าไม่เข้าใจถึงการเมืองภาคประชาชนก็ยากที่จะแก้ปัญหา มีแต่จะทำให้ลุกลามยิ่งขึ้น ดังนั้นฝ่ายการเมืองต้องพิสูจน์ตัวเอง และเร่งพัฒนาความคิด ให้ก้าวทันฝ่ายประชาชน ถ้าไม่ทันและยังหลงติดในอำนาจเก่า ๆ คับแคบทางความคิดก็ไม่สามารถฝ่าวิกฤตไปได้ สิ่งที่ประชาชนต้องการคือ ให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบด้วยการหานักการเมืองที่ดีมาบริหารประเทศ ด้วยธรรมาภิบาล รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์อย่างจริงจัง”

ซัดรัฐบาลลูกกรอก 10 ไม่ พาชาติวิกฤต

นายคำนูณ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่ สว.ต้องอภิปรายครั้งนี้เป็นเพราะ ขณะนี้บ้านเมืองกำลังเกิดปัญหาใหญ่ มีบางคนบอกว่า รัฐบาลเพิ่งทำงานมาแค่3-4เดือนจะอภิปรายทำไม แต่ถ้าตนจะย้อนถามว่ารัฐธรรมนูญก็เพิ่งใช้มาได้แค่ 7 - 8 เดือน และบางมาตราก็ยังไม่ได้ใช้เลยทำไมจึงต้องรีบแก้ไข รัฐบาลชุดนี้เป็นต้นตอของการ เกิดวิกฤตครั้งใหญ่ ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ถือเป็นผลพวงของการบริหารที่ผิดพลาดของรัฐบาลชุดก่อน ดังนั้นช่วงสี่เดือนจึงมีทั้งปัญหาเก่าที่ยังไม่ได้รับการสะสางกับปัญหาใหม่ที่รัฐบาลนี้สร้างขึ้น จึงไม่น่าเชื่อว่าเพียงแค่สี่เดือนมีปัญหาเพิ่มขึ้นมากมาย

"รัฐบาลชุดนี้มีลักษณะครบ 10 ไม่ คือ 1 .ไม่เข้าใจการเมืองใหม่ หรือการเมืองภาคประชาชน 2ใ ไม่เข้าใจประชาชนที่เป็นจ้าของอำนาจอธิปไตย 3. ไม่จัดสรรบุคลากรที่เหมาะสมในการบริหารประเทศ 4 ไม่ชัดเจนต่อทิศทางในการแก้ปัญหาชาติ แต่ซ้ำเติมทำให้เกิดความวิบัติยิ่งขึ้น 5. ไม่ยึดหลักธรรมาภิบาล ทำลายระบบยุติธรรม 6. ไม่มีเอกภาพในการบริหารแผ่นดิน 7. ไม่แสดงให้เห็นว่า คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลักคำนึงถึงแต่ประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง 8 ไม่มีวุฒิภาวะของความเป็นผู้นำ สร้างแบบอย่างพฤติกรรมการพูดเท็จต่อสาธารณะ โดยไม่รับผิดชอบต่อคำพูดของตัวเอง มีการเปลี่ยนแปลงคำพูดทุกวันในลักษณะเอาสีข้างเข้าถูไปวัน ๆ โดยมองว่าเป็นพฤติกรรมธรรมดา บางครั้งก็แสดงกริยาหยาบคาย 9. ไม่รักษาทรัพย์สมบัติของประเทศ และ10. ไม่แสดงออกถึงความพยายามปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่กลับมีพฤติกรรมปกป้องกลุ่มที่คิดล้มล้างสถาบัน และยังมีการตั้งคนที่มีทัศนคติที่เป็นอันตรายต่อสถาบันเข้ามาเป็นรัฐมนตรีด้วย ปัญหาที่รุมเร้าจาก 10 ไม่นี้ อาจดูเป็นข้อหาที่รุนแรง แต่จำเป็นต้องพูด"

โชว์ใบเสร็จช่วยขบวนการจาบจ้วงสถาบัน

นายคำนูณ ได้อภิปรายถึงประเด็นการจาบจ้วงพระมหากษัตริย์ ว่า ตนไม่ติดใจต่ออดีต ปัจจุบัน และอนาคตของนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับความจงรักภักดีต่อสถาบัน แต่ตนไม่เข้าใจว่านายกฯได้รับรู้ถึงความเคลื่อนไหวของคนบางกลุ่ม ถึงขบวนการที่พยายามล้มล้างสถาบันหรือไม่ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีขบวนการจาบจ้วงสถาบัน โดยเริ่มต้นจากการโจมตีประธานองคมนตรี และขยายวงกว้างไปอย่างต่อเนื่อง จากคำพูดของอดีตนายกฯที่บอกว่ามีผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการบรรยายของอดีตรัฐมนตรีคนหนึ่งที่เพิ่งออกจากตำแหน่งไป แต่นายกฯกลับปกป้องอดีตรัฐมนตรีคนนี้ ในขณะนี้ก็ปรากฏแล้วว่าคดีมีมูล ดังนั้นนายกฯควรจะรับผิดชอบอย่างไร

"ถือเป็นส่วนหนึ่งของยอดภูเขาน้ำแข็งที่พ้นน้ำ แต่ยังมีส่วนสำคัญที่เป็นฐานภูเขาอยู่ใต้น้ำ คือ แนวคิดการยกเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์และระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ยังมีความพยายาม ดำเนินการอยู่ คนในขบวนการบางคนพยายามวิพากษ์วิจารณ์และเผยแพร่ต่อสาธารณะว่า ไม่จำเป็นต้องมีองคมนตรีอีกต่อไป และไม่ควรมีสำนักงานทรัพย์สิน จึงไม่จำเป็นต้องมีรัฐธรรมนูญมาตรา 8 และกฎหมายอาญาคดีหมิ่นพระมหากษัตริย์ ผ่านทางเว็บไซต์เข้าถึงเยาวชนรุ่นใหม่จนนำไปสู่ ปรากฎการณ์ไม่ยอมยืนตรงเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี"

นายคำนูญ กล่าวว่า ใบเสร็จที่1 ที่แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมของรัฐบาลชุดนี้คือ มีการแต่งตั้งนักวิชาการระดับดอกเตอร์ทางเศรษฐศาสตร์ อดีตนักรบกองทัพปลดแอกคนหนึ่งที่เสนอบทความมีเนื้อหา "ระบอบประชาธิปไตยของปวงมหาชน" ที่พยายามเผยแพร่ล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข วันนี้ได้ดิบได้ดีกับตำแหน่งกรรมการธนาคารกรุงไทย ในรัฐบาลชุดนี้ แม้จะอ้างว่าเป็นคนมีความสามารถแต่ไม่มีใครเชื่อ

แฉ รธน.ของ พปช.ยกเลิกองคมนตรี

นายคำนูณ กล่าวว่า ใบเสร็จที่ 2 คือ ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นปมสำคัญก่อให้เกิดการ ลุกฮือของประ ชาชน ที่เสนอมาโดย ส.ส.พรรคพลังประชาชน ร่วมกับส.ว.จำนวนหนึ่ง เปลือยตัวเองอย่างล่อนจ้อนว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความพยายาม เปลี่ยน แปลงระบอบ ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับ ส.ส.และ ส.ว.จำนวนหนึ่งร่วมลงชื่อยื่นต่อประธานรัฐสภาเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2551 ตรงกับฉบับ นพ.เหวง โตจิราการและนายจรัล ดิษฐาอภิชัย 2 แกนนำ นปก. ที่ไปล่าลายชื่อประชาชนจำนวนหนึ่งมายื่นต่อประธานรัฐสภาเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2551 ทั้ง 2 ฉบับเหมือนกันทุกตัวอักษร

"เขาไม่ได้เขียนรายละเอียดไว้ แต่บอกให้ตัดชื่อหมวดนั้นหมวดนี้มาตรานั้นมาตรานี้ของรัฐธรรมนูญ 2550 แล้วเอาชื่อหมวดนั้นหมวดนี้มาตรานั้นมาตรานี้ ของรัฐธรรมนูญ 2540 มาใส่แทน ซึ่งผมจะไม่พูดว่ามันขัดข้อบังคับสภาอย่างไร เอาว่าเราตามกันไปดูประเด็นที่ผมจะพูดถึงก็แล้วกัน"

"ใน มาตรา 4 (1) (ฑ) ให้ยกเลิกบทเฉพาะกาลตั้งแต่มาตรา 292-309 ของรัฐธรรมนูญ 2550 และใน มาตรา 4 (2) (ฎ) ให้นำบทเฉพาะกาลมาตรา 326, 327, 328, 330, 331, 332 และ 333 มาใส่แทน ร่างรัฐธรรมนูญทั้งสองยังมีบทเฉพาะกาลอยู่ต่างหากในมาตรา 7 -15 เราก็ต้องมาดูกันว่าเขายกเลิกอะไรและเอาอะไรมาใส่ไว้ เขายกเลิกการรับรองคณะองคมนตรีครับ!"

นายคำนูณ กล่าวว่า ปกติเวลามีรัฐธรรมนูญใหม่ ในส่วนบทเฉพาะกาลเขาจะรับรองการมีอยู่และการปฏิบัติหน้าที่ขององค์ กรต่าง ๆ ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ก่อนมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เริ่มตั้งแต่คณะองคมนตรี , ส.ส. ,ส.ว. และคณะรัฐมนตรี รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 292 ที่เขาตั้งใจจะยกเลิกนั้นบัญญัติไว้ดังนี้ "ให้คณะองคมนตรีซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะองคมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ แต่เขาไม่ใส่บทบัญญัติทำนองเดียวกันนี้เข้าไปแทนเขาอ้างว่ารัฐธรรมนูญ 2540 ดีเลิศ แต่เวลาเขาเอาบทเฉพาะกาลของรัฐ ธรรมนูญ 2540 กลับมาใส่แทนที่เขาก็ไม่เอามาตรา 314 ที่รับรองการมีอยู่และการปฏิบัติหน้าที่ของคณะองคมนตรีเข้าไปใส่ไว้

มาตรา 314 รัฐธรรมนูญ 2540 บัญญัติไว้ด้วยข้อความเดียวกับมาตรา 292 รัฐธรรมนูญ 2550 ที่ผมยกมาและเน้นด้วยตัวโต ๆ ข้างต้น หันไปดูบทเฉพาะกาลใหม่ของเขาตั้งแต่มาตรา 7-15 ก็ไม่มีการรับรองคณะองคมนตรีครับ !"

นายคำนูณ กล่าวว่า ผลก็คือ ถ้าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไม่ออกมาเปิดสงครามศักดิ์สิทธิ์ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2551 การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็คงเดินหน้าไปแล้ว และถ้าสำเร็จออกมา ก็หมายความว่าคณะองคมนตรีคณะปัจจุบันที่มาจากการแต่งตั้งตามพระพระราชอัธยาศรัยของพระ มหากษัตริย์ไม่มีกฎหมายรองรับ ไม่มีรัฐธรรมนูญรองรับ คณะองคมนตรีที่มี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ รัฐบุรุษ เป็นประธาน จะเป็นองค์กรนอกรัฐธรรมนูญทันที ต่อไป “ถ้าจะมีการแต่งตั้งคณะองคมนตรีใหม่ ก็ต้องเริ่มต้นที่ตำแหน่งประธานองคมนตรีก่อน ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ 2550 บัญญัติไว้ในมาตรา 13 แม้ว่าวรรคแรกจะบัญญัติว่าให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศรัย แต่วรรคสองนี่ซิครับสำคัญและน่าคิด ให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ นายชัย ชิดชอบ จะเข้ามามีบทบาททันที ส.ส.พรรคพลังประชาชนและส.ว.เลือกตั้งจำนวนไม่กี่คน ที่ไปลงชื่อจะบอกว่าไม่รู้เรื่องไม่ได้ หรือจะบอกว่าแก้ไขในชั้นแปรญัตติก็เป็นคำแก้ตัวที่ฟังไม่ขึ้นนัก เพราะมันเห็นธาตุแท้ ของพวกคุณอย่าง ล่อนจ้อน แล้ว

"ผมก็ต้องย้อนกลับไปสู่เรื่องเดิมๆ ที่ได้พยายามนำเสนอปัญหานี้ต่อสังคมมาตั้งแต่กลางปี 2550 ว่า ปัจจุบันได้มีขบวนการที่พยายามล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ต้องการสถาปนาระบบการปกครองแบบใหม่ มีขบวนการให้ร้ายโจมตีบุคคล ซึ่งเป็นที่เคารพอย่างกว้างขวาง ใครเป็นใครในขบวนการนี้ ก็เห็น ๆ กันอยู่ และเป็นคนกลุ่มเดียวกับที่สนับสนุนอดีตนายกรัฐมนตรีหรือไม่"

เตือนระวัง ปชช.จะไม่เห็นหัวผู้นำฯ

ส่วนประเด็นปราสาทเขาพระวิหาร นายคำนูณระบุว่า รัฐบาลทำผิดพลาด 2 ประเด็น คือ นายกฯออกมายืนยันว่า ครม.ยอมรับในอธิปไตยเหนือเขาพระวิหารของกัมพูชา ทั้งที่ก่อนหน้านี้ประเทศไทยได้พยายามอย่างหนัก ในการยื่นคำคัดค้านที่มีผลต่อเนื่องมานับตั้งแต่ศาลโลกมีคำพิพากษาให้เขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา แต่คำคัดค้านเหล่านั้นไร้ความหมายทันที เมื่อรัฐบาลไปยอมรับอธิปไตยดังกล่าวของกัมพูชา นอกจากนี้นายกฯยังเข้าใจว่าประเทศไทยสามารถแสดงสิทธิ์ทักท้วงเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ทำไมรัฐบาลจึงสละสิทธิ์ดังกล่าว และยังยอมรับว่าเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา อีกทั้งมติครม.ในเรื่องดังกล่าวก็ถือว่าขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 190 เพราะไม่มีการนำเรื่องนี้ให้รัฐสภาร่วมพิจารณา

"ผมขอตั้งคำถามว่า 1 รัฐบาลนี้สละสิทธิ์ที่จะรื้อฟื้นคดีเขาพระวิหารใช่หรือไม่ และ 2 ครม.รับรองแผนที่และการขึ้นทะเบียนมรดกโลก ซึ่งจะถือเป็นการสละสิทธิ์ ที่ไทยเคยสงวนเอาไว้ตั้งแต่ปี 2505 ใช่หรือไม่ หากรัฐบาลยอมรับการเมืองภาค พลเมือง และปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินไปโดยไม่แทรกแซง ก็อาจจะช่วยแก้ปัญหาวิกฤตได้ เพราะประชาชนไม่ได้เรียกร้องเกินเลยหรือตั้งเงื่อนไขไว้สูง เพียงแต่ต้องการได้รัฐบาลที่ดีมาบริหารประเทศ ถ้านายกฯยังทำงานอยู่ต่อไป ก็ต้องเปลี่ยนครม.ชุดใหม่ให้ดี โดยเริ่มตั้งแต่ตัวนายกฯลงไป ส่วนจะดีอย่างไร สุดแต่ท่านจะวินิจฉัย ถ้าท่านเคารพประชาชน ประชาชนก็ให้ความเคารพตอบมา แต่ถ้าไม่เห็นหัวประชาชน ประชาชนก็จะไม่เห็นหัวท่านเช่นกัน"

"หมัก" โต้อ้างทุกพรรคอยากแก้ รธน.

จากนั้นนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ได้ขอ ชี้แจงทันทีว่า ตนไม่ได้กลับกลอกเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ แต่เมื่อรัฐบาลทำงานมากลับมีการดำเนินการ รุกทางการเมือง จะยุบพรรคพลังประชาชน มัชฌิมาธิปไตย และชาติไทย ก็บอกว่าวันนี้มีส.ส. 480 คน ถ้าแก้ได้ต้องทำก่อน แล้วกำหนดบทเฉพาะกาลให้มีผลย้อนหลังภายหลังการเลือกตั้งครั้งหน้าเสร็จสิ้น ค่อยใช้ครั้งหน้าขอถามว่าถ้าไม่ทำไว้ ใครจะทำ ไม่ได้แก้เพื่อตัวเอง แต่แก้เพื่อวันข้างหน้า ตนพูดไว้ชัดเจน ถ้าอยู่ดีๆสภาถูกยุบใครจะทำ

"สมาชิกอภิปรายเหมือนที่เขียนบทความในหนังสือพิมพ์ฉบับที่มีปัญหากับรัฐบาล แต่ก่อนก็เคยฉอเลาะด้วยกัน แต่ตอนหลังพอขัดใจก็จัดการจนรัฐบาลพัง รัฐบาลที่แล้วเขาป้องกันตัวเองไม่เป็น พอมาถึงรัฐบาลนี้ จะโยงอย่างไรก็แล้วแต่ วันนี้สภามาถูกต้องตามกฎหมาย มีระบบเลือกตั้ง 400 เขต จากตอนแรกจะให้มี 320 คน แต่ไม่ผ่าน ส่วนบัญชีรายชื่อหั่นเหลือ 80 คน เราเห็นกันอยู่ อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่ ถึงต้องแก้รัฐธรรมนูญ และการแก้รัฐธรรมนูญไม่ใช่ความผิด เป็นอาชญากรรม เพราะคนในสภานี้ไม่ได้ประโยชน์ ต้องไปแข่งขันกันใหม่"

นายสมัคร กล่าวว่า การเมืองต้องมีระบบ ระเบียบ ต้องมีหัวหน้าพรรค สมาชิกพรรค เสียงข้างมากเป็นรัฐบาล ไม่ใช่เสียงข้างน้อย วันนี้พรรคพลังประชาชนมี 233 เสียง ต้องถามว่าทำไม 5 พรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาลอยู่ไม่ไปรวมกับ 164 เสียง เพราะเขาต้องการเห็นรัฐบาลเกิดความมั่นคง จึงตั้งรัฐบาล 316 แล้ว หัวหน้าพรรคเป็นนายกฯ ผิดปกติตรงไหน คนมาเป็นรัฐมนตรี ก็ต้องเอาคนข้างในก่อน ถ้าเอาข้างนอกจะเป็นอย่างไร พรรคจะสนับสนุนหรือไม่ ในระบบรัฐสภาต้องเอาคนที่มีความพัวพันกันในสภาคือ ส.ส.กับรัฐมนตรี ต้องเป็นพวกพ้องกัน ไม่ใช่เอานายกฯ ในอุดมคติ ทั้งนี้ กฎหมายขีดไว้ให้มีอำนาจ 3 ฝ่ายคือ นิติบัญญัติ บริหาร ส่วนอำนาจศาลไว้ตัดสิน ประเทศไทยเป็นอย่างนี้ก็ต้องเอาย่างนี้

ลั่นไม่ใช่คนบ้าปลดตัวเองพ้นเก้าอี้

ส่วนคนบ้านเลขที่ 111 มีนักการเมืองเก่งๆ ถูกเอาไปเก็บไว้ ตอนยุบพรรคฆ่ากันทางการเมือง พรรคหนึ่งถูกยุบแต่อีกพรรคจ้างพรรคเล็กไม่ถูกยุบ ที่ตนพูดว่า ครม.ขี้เหร่ ก็เหลืออยู่เท่านั้นนี่ 233 เสียงบวกกับ 5 พรรค ต้องเห็นหัวอกพรรคร่วมด้วย แบ่งตำแหน่งรัฐมนตรีให้

"ถามว่าผมเป็นนายกฯได้ หรือไม่ ถ้าใครต่อใครที่ผ่านมาเป็นได้ ผมก็เป็นได้ ผมเป็นนักการเมืองมาค่อนชีวิต เป็นรองนายกฯ 3 คน เป็นรัฐมนตรี 5 หน รวมแล้วฝ่ายบริหารมา 8 หน ก็มาเป็นนายกฯ เพราะเป็นหัวหน้าพรรค ที่มาแนะนำให้พิจารณาตั้งแต่นายกฯ จนถึงรัฐมนตรี หมายความว่า ให้ผมส่องกระจก แล้วบอกว่าไม่ไหวแล้ว ไม่มีความสามารถ หยาบคาย อันนั้นเรียกว่า คนบ้า ไม่มีสติปัญญา รู้จักอะไรควรไม่ควร ถ้าไม่มีความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ ดูถูกดูแคลน 4 เดือน ผมทำงานทุกวัน ครม.ประชุมทุกสัปดาห์ ทำงานทุกคน ถ้าพรรคอื่นบริหาร น้ำมันจะไม่ขึ้น 39 บาทต่อลิตรหรือ ก็ขึ้นทั้งโลก ไม่ใช่แค่ไทย ทั่วโลกก็จลาจล ทั้งค่าน้ำมันและค่าอาหาร"

บอกหน้าตาเฉยไม่เคยพูดหยาบคาย

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ผ่านมาใครไปเจรจาซื้อแก๊ส รมว.พลังงาน วันนี้ก็ไปเจรจาซื้อแก๊สจากประเทศเพื่อนบ้าน เป็นการต่ออายุการใช้แก๊สอีก ส่วนน้ำมันอี 20 อี 85 ก็จัดลำดับรถอยู่ หรือเรื่องน้ำตาล นี่ไม่ใช่ความสามารถการบริหารหรือ พอเสร็จแล้วก็มาตำหนิ ใช้ไม่ได้ ไม่มีวุฒิภาวะ นายกฯสบถ ใช้คำว่า “เฮงซวย” ซึ่งเป็นคำที่คนก็ใช้กัน หรือคำว่า “กระเหี้ยนกระหือรือ” นายกฯ พูดไม่ได้หรือ ก็เป็นคำปกติ มีอะไรหยาบกว่านี้หรือ อะไรกันนักหนา ทำเหมือนบ้านเมืองจะลุกเป็นไฟ จะยกย่องสรรเสริญภาคประชาชน ก็ตามใจ ตนไม่โง่ รัฐธรรมนูญเปิดช่อง สภาก็อยู่ แต่นี่มาเล่นการเมืองนอกสภา ไม่ถูกต้อง เล่นนอกกฎหมาย มาบอกว่ากลัวตำรวจสลายม็อบ แต่นี่ม็อบสลายตำรวจเข้าโรงพยาบาล 4 คน ไม่มีใครพูด

อวดศักดา อย่ามาเล่นกับ "หมัก"

”จะอภิปรายก็ตามใจ แต่น่าเติมว่า ถ้า ส.ว.หรือส.ส.ฝ่ายค้าน มีพฤติกรรมไม่น่าไว้วางใจแล้วให้รัฐบาลเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ ผมจะได้ฉุดกระชากลากไส้ออกมา มันก็คนเดินดินกินข้าวแกงเหมือนกัน นึกว่านักการเมืองโง่หรือ ไม่รู้ผู้อภิปรายคนนี้เป็นใครมาจากไหน มาจากใคร ทำไมเข้ามาเป็น ส.ว.ได้ ฝ่ายไหน เลือกตั้งหรือแต่งตั้ง อย่านึกว่าวิเศษกว่าคนอื่น เป็น ส.ว.ใหม่ไม่รู้ก็บอกไม่รู้ นี่จะเอากันให้ได้ อย่ามาลากผมไปด้วย ผมก็เป็นอย่างนี้ เมื่อจะเอากันให้ได้ ผมก็แหวกให้ ขอวันที่ 23 มิ.ย.ก็ให้ ส่วนฝ่ายค้านให้อภิปราย 2 วัน 25 ชั่วโมง บอกว่าไม่พอ งบประมาณไม่สำคัญ ต้องอภิปรายกันให้ได้ เพราะสำคัญกว่า รัฐบาลเพิ่งทำงานมา 4 เดือน ดูญัตติที่เขียน ไม่อยากบอก ไม่เป็นโล้เป็นพาย การเมืองเล่นอะไรกัน กรณีที่อ้างอิงต่างๆ อย่าพยายามใส่ร้ายป้ายสีกับคนอย่างผม จะเล่นงาน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็เล่นไป จนเสียผู้เสียคนไปแล้ว แต่อย่ามาเล่นกับคนอย่างนายสมัคร”นายสมัคร กล่าว

นายสมัคร ยังชี้แจงว่า ในเรื่ององคมนตรี ทำไมตนจะอภิปรายไม่ได้ ตนมีสิทธิตักเตือน ไม่มีอะไรห้ามไม่ให้ตักเตือน ตนพูดไม่ให้ทำอะไรที่ไม่ควรจะทำเพราะทำหน้าที่ในฐานะประชาชน ตนก็รักเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินเหมือนกัน ตนวิพากษ์วิจารณ์ในสิ่งไม่ถูกต้อง อย่ามาลากเอาตนเข้าไป ตนเจอกันก็ไหว้ ทักทาย อย่าเอาตนไปพัวพันกับประธานองคมนตรี

นายสมัคร ยังกล่าวถึงการแก้รัฐธรรมนูญประเด็น “องคมนตรี” ว่า ถ้าแก้รัฐธรรมนูญเป็นความผิด แล้วเขียนวิธีแก้ไว้ทำไม ไม่มีใครคิดเอาองคมนตรีออกจากรัฐธรรมนูญ บอกว่าประเทศจะเปลี่ยนเป็นระบอบสาธารณรัฐ พ.ต.ท.ทักษิณจะเป็นประธานาธิบดี คนไทยยอมหรือ เล่นกันจนเขาเละ เผากันทั้งเป็น แต่อย่ามาเล่นกับคนอย่างนายสมัคร ตนเป็นอย่างนี้ ไม่เคยเปลี่ยนแปลง ทำงานการเมืองเป็น บริหารบ้านเมืองได้ แต่อย่ามาแสดงความเชยให้คนเห็น มาอ่านกันเป็นแผ่นๆ ในสภา ระบบกฎเกณฑ์มีอยู่ ประชาชนทักท้วงได้ แต่ไม่ใช่ไปว่ากันที่ถนน

จวกปลุกระดมเขาพระวิหารแบบผิดๆ

นายสมัคร กล่าวถึงกรณีเขาพระวิหารว่า ไปตีความว่าไปยอมกัมพูชาไปหมด เท่ากับสละสิทธิ์ ซึ่งไม่เกี่ยวกัน ผู้ที่เกี่ยวข้องก็รู้ ไม่ได้ห้าม ไทยแพ้คดีเขาพระวิหารตั้งแต่ปี 2505 พอเขาจะขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก รัฐบาลไทยท้วง และตกลงยอมเซ็นขึ้นเฉพาะตัวปราสาทได้ ไม่อยากบอกว่าปี 43 รัฐบาลไหนที่ไปตกลงเรื่องโนแมนแลนด์ 2 กิโลเมตร ทำไมคนไทยไม่สังเกตเห็นว่าบนเขาพระวิหารมีธงเขมรอยู่ เป็นข้อเท็จจริง นี่เอาจะเป็น เอาตาย ปลุกระดมกัน หาเหตุให้รัฐบาลถูกเกลียด ชิงชัง ให้ไปถาม ผบ.ทบ. แม่ทัพ อธิบดีกรมสนธิสัญาระหว่างประเทศ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ หรือ นักวิชาการด้านโบราณคดี อธิบายชัดเจน แต่นี่จะทำกันอย่างไร เอากองทัพไปประชิด เดินขบวนประท้วงหรือ เราอยู่กับเพื่อนบ้านต้องเอาเอกสารมาดูกัน อย่ามาล่อกันแบบนี้

"กับข้อกล่าวหาเรื่องนอมินี ผมไม่เคยบอกว่าเป็นนอมินี เป็นนอมินีเสียหายตรงไหน กกต.บอกไม่มีในกฎหมายไทย และผมเคยยอมรับว่าเป็น ผมจึงขอใช้สิทธิ์ตอบเพื่อไม่ให้คนเข้าใจผิด ต้องอธิบายเพราะเราเป็นคนเหมือนกัน ผมอยู่กับการเมืองมาค่อนชีวิต รู้อะไรควรทำ ไม่ควรทำ และต้องรับผิดชอบคำพูด"นายสมัคร กล่าวอย่างมีอารมณ์

จากนั้น ส.ว.ส่วนใหญ่ได้ทยอยอภิปรายโดยชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลว ในการ บริหารงานของรัฐบาล ตั้งแต่เริ่มเข้าปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งยังมีพฤติกรรมแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ และไมได้สนใจต่อการแก้ปัญหาปากท้องประชาชน แต่กลับมุ่งแก้รัฐธรรมนูญจนก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในสังคม จนนำไปสู่การออกมาชุมนุมขับไล่รัฐบาลอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังเห็นว่ามีการจัดสรรบุคคลเข้าไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอย่างไม่เหมาะสม ปัญหาการแก้ไขสถานการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดภาคใต้ ที่ล้มเหลว และปัญหาพลังงานที่ไม่มีความชัดเจนในนโยบาย รวมถึงกรณีเขาพระวิหารที่ได้รับการอภิปรายจาก ส.ว.กันอย่างกว้างขวาง
กำลังโหลดความคิดเห็น