xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” อัด “หมัก” คิดล้มล้าง รธน.-ยกอธิปไตยให้เขมร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา
“คำนูณ” อัด “หมัก” กลางสภา! มีสิทธิ์ไม่ชอบ “ป๋าเปรม” แต่ไม่มีสิทธิ์ล้มล้าง รธน.ซ้ำปล่อยปละละเลยให้ “ลิ่วล้อแม้ว” จาบจ้วงสถาบันเบื้องสูง ถามหาความรับผิดชอบนายกฯ ป้องคนผิด หลังปรากฏหลักฐานชัดคดีมีมูล ขณะที่ “หมัก” โต้มีสิทธิ์เตือน “ป๋า” เย้ยไม่มี กม.ห้ามวิจารณ์ ย้ำเขาพระวิหารเป็นของเขมร

วันนี้ (23 มิ.ย.) นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา อภิปรายในญัตติอภิปรายทั่วไปการบริหารงานของรัฐบาลว่า รัฐบาลชุดนี้ปล่อยให้มีการจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งไม่ผิดที่นายกฯ ไม่ต้องอัธยาศัยกับประธานองคมนตรี แต่ตนไม่เข้าใจทำไมต้องโยนความผิดให้องคมนตรีอยู่เบื้องหลังการชุมนุม ทั้งนี้ ในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมามีการโจมตีองคมนตรีมาอย่างต่อเนื่อง จากประโยคที่ว่าคนนอกรัฐธรรมนูญ และเกิดกลุ่ม นปก.ขึ้น จนกระทั่งมีการยกพลบุกหน้าบ้านองคมนตรีมาแล้ว จนเกิดทัศนคติอันตรายของอดีตรัฐมนตรีท่านหนึ่ง ซึ่งนายกฯ เคยออกมากล่าวปกป้อง แต่ตอนนี้ชัดเจนแล้วคดีมีมูล นายกฯ จะรับผิดชอบพิจารณาตัวเองอย่างไร

นอกจากนี้ มีฐานภูเขาน้ำแข็งอยู่ใต้น้ำอีก เพราะยังมีการกระทำการจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์อีกของคนในขบวนการนี้ บางคนคิดและทำโดยการเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์สู่สาธารณะมาแล้ว คิดถึงขนาดที่ว่าจะไม่ให้มีองคมนตรี และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ รวมถึงเงินบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย ว่าขัดกับหลักประชาธิปไตย จนเกิดปรากฏการณ์การไม่ยืนถวายความเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี

นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการอดีตกองทัพปลดแอกแห่งประเทศไทย ซึ่งคนกลุ่มนี้ปฎิเสธระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รัฐบาลชุดนี้ได้แต่งตั้งนักวิชาการคนนี้เป็นคณะกรรมการธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ขณะเดียวกัน ส.ส.พลังประชาชนยังเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เหมือนกันทุกตัวอักษรกับร่างของ นพ.เหวง โตจิราการ กับพวก นปก. ที่เปลือยตัวเองล่อนจ้อนต้องการเปลี่ยนระบอบประชาธิปไตย ยกเลิกการรับรององคมนตรี ถ้ารัฐธรรมนูญเดินหน้าและสำเร็จ องคมนตรีชุดปัจจุบันจะไม่มีกฎหมายรัฐธรรมนูญรองรับ องคมนตรีจะเป็นองค์กรนอกรัฐธรรมนูญทันที

“ขณะเดียวกัน ประธานรัฐสภา นายชัย ชิดชอบ จะเข้ามามีบทบาททันที ผมอยากทราบว่าเจตนารมณ์เบื้องต้นของพวกคุณคืออะไร นายกฯ มีสิทธิ์ไม่ชอบ พล.อ.เปรม แต่ไม่มีสิทธิ์มาล้มล้างรัฐธรรมนูญ แม้ว่าจะยังไม่สำเร็จก็ตาม แต่ ส.ส.พลังประชาชนก็ได้ทำไปแล้ว การเสนอรูปแบบการปกครองแบบหนึ่ง สอดคล้องโจมตีบุคคลอันเป็นที่เคารพ รัฐบาลนี้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร ได้ตรวจสอบและมีการปราบปรามอย่างไรหรือไม่ ขณะเดียวกัน คนที่พยายามจะทำกลับถูกโจมตีจากนายกฯ แต่คนที่มีหน้าที่กลับไม่ทำหรือทำไม่เป็น” ส.ว.สรรหา กล่าว

นายคำนูณ ยังอภิปรายถึงปราสาทพระวิหารว่า รัฐบาลทำผิดพลาด 2 ประเด็น คือ 1.ครม.ยอมรับอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหาร ทั้งที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลไทยไม่เคยยอมรับมาก่อน และยังคงสงวนสิทธิยื่นคำประท้วงต่อศาลโลก และยังคงดำรงอยู่ตลอดมา แต่เพิ่งมาหมดไปเมื่อวันที่ 17-18 มิ.ย.นี้ ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ไปเซ็นลงนามร่วมกับกัมพูชา 2.การไปลงนามดังกล่าวเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ 190 ขณะเดียวกัน นายกฯ ได้พูดออกรายการโทรทัศน์อีกรอบ เมื่อวานนี้ได้พูดย้ำว่าศาลโลกตัดสินว่าไทยแพ้คดีต้องยกเขาพระวิหารให้เขมร รัฐบาลนี้ไม่มีสิทธิ์และยังกล่าวท้าทายว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้อง

นายกฯ และรมว.ต่างประเทศ รู้เรื่องไม่ว่าไทยพยายามจะรื้อฟื้นคดีคัดค้านของศาลโลก ตนจึงอยากถามนายกฯ ว่า 1.ครม.ชุดนี้สละสิทธิ์ที่จะรื้อฟื้นคดีเขาพระวิหารหลังคำพิพากษาของศาลโลกใช่หรือไม่ 2.ภายใต้การนำของนายกฯ และ ครม.ชุดนี้รับรองแผนที่ใหม่ที่กัมพูชาทำขึ้น เป็นการยกเลิกยกเลิกการสงวนสิทธิ์ที่ไทยจะคัดค้านใช่หรือไม่

จากนั้น นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่าการเมืองจะพัฒนาก้าวหน้าไปขนาดไหนก็ตามการเมืองจะต้องมีระบบ ต้องมีสภาเป็นผู้กำหนดให้มีการเลือกตั้ง ยืนยันว่าตนไม่ได้พูดจากลับกลอก การแก้ไขรัฐธรรมนูญตนก็พูดเองว่าไม่จำเป็นต้องแก้มาตรา 309 แต่มาตรา 217 ทุกพรรคการเมืองอยากแก้ไข เพราะมีการรุกล้ำเข้ามาเรื่องพรรคที่จะถูกยุบ ทั้งพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมา จึงต้องแก้เสียก่อน อยากรู้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมันเสียหายตรงไหน ไม่เสียหาย เพราะเราจะใช้ครั้งต่อไปหลังเลือกตั้ง เมื่อมีโอกาสเราก็ต้องแก้อย่างมีเหตุมีผล การมีเสียงข้างมากเป็นรัฐบาลมันผิดตรงไหน

“ผมเป็นหัวหน้าพรรค เป็นนายกฯ ผมรู้ดีที่ว่ารัฐมนตรีขี้เหร่ ก็ไอ้เก่งๆ มันอยู่ใน 111 คน ฆ่ากันทางการเมืองไปแล้ว ผมต้องยอมรับว่าต้องเอาคนที่พัวพันอยู่ในพรรคก่อนต้องเป็นพวกพ้อง คนไม่เคยเป็นหัวหน้าพรรคอย่ามาอวดศักดารู้ดี ผมเป็นนายกฯ ได้เแน่นอน ค่อนชีวิตอยู่กับการเมือง เป็นรัฐมนตรีมาหลายกระทรวงหลายครั้งแล้ว ผมมาจากการเลือกตั้ง รู้ว่าอะไรควรทำหรืออะไรไม่ควรทำ อย่าพยายามเอาอะไรมาป้ายสีคนอย่างผม เล่นกับนายกฯ ทักษิณจนพังมาแล้ว อย่ามาเล่นกับคนอย่างนายสมัคร อย่าเอามาเทียบเคียงผม ผมมีสิทธิ์ตักเตือนองคมนตรีในฐานะประชาชนคนธรรมดา เพราะไม่กฎหมายข้อไหนห้ามวิพากษ์วิจารณ์ ผมก็วิจารณ์ให้ดูพฤติกรรม พูดเตือนท่านไม่ควรทำ ผมต้องป้องกัน ผมก็รักเจ้ารักแผ่นดิน เจอผมก็ทักทายสวัสดี แต่ไม่เคยเอามาพูด ผมก็มีสิทธิ์ตักเตือนได้ไม่มีใครห้ามวิพากษ์วิจารณ์ได้ดูพฤติกรรม อย่าเอาผมไปพัวพันกับองคมนตรี”

นายสมัคร ยังชี้แจงเรื่อง ส.ส.พลังประชาชน ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า พรรคพลังประชาชนไม่มีใครเอาองค์มนตรีออก ยังมีความคิดกันอยู่ว่าประเทศไทยจะเป็นสาธารณรัฐ พ.ต.ท.ทักษิณ จะเป็นจะเป็นประธานาธิบดี ประชาชนคนไทยเขาจะยอมเหรอครับ คนอย่างนายสมัครไม่เคยเปลี่ยนแปลง

ส่วนกรณีเขาพระวิหารพยายามจะตีความกัน ก็ศาลโลกเขาตัดสินว่าเป็นของกัมพูชา ก็ข้อเท็จริงปรากฎอยู่ บนตัวปราสาทก็ธงของกัมพูชาที่เขาปักอยู่ การที่รมว.ต่างประเทศไปลงนามก็กัมพูชาเขาจะขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาท ไม่เกี่ยวกับพื้นที่โดยรอบ แต่มีการไปปลุกระดมกันให้รัฐบาลถูกเกลียดชัง ทั้งนี้ทหาร นักวิชาการ กระทรวต่างประเทศ เขาออกมายืนยันแล้ว ว่าเราไม่เสียดินแดน และยังไม่รู้ว่าเขาจะไปขึ้นจดทะเบียนเขาจะรับจดหรือเปล่า




รายละเอียดคำอภิปราย"คำนูณ สิทธิสมาน"

ร่างคำอภิปรายในญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ ตามมาตรา 161 รัฐธรรมนูญ 2550 โดย คำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ

กระผม – นายคำนูณ สิทธิสมาน - สมาชิกวุฒิสภาประเภทสรรหาจากภาควิชาการ.........

ก่อนอื่น ขอประทานกราบเรียนท่านประธานผ่านไปยังคณะรัฐมนตรีว่า ความพยายามยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐ ธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 161 ของสมาชิกวุฒิสภาจากทั้ง 2 ระบบรวม 61 ท่านในครั้งนี้ ผ่านการไตร่ตรองมาอย่างรอบคอบ และไม่ได้กระทำไปโดยวัตถุประสงค์เพียงเพื่อแค่ช่วยลดอุณหภูมิ - ระบายความร้อนของการเมืองภายนอกรัฐสภา พวกเราหวังว่า ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ที่มาชี้แจงแถลงข้อ เท็จจริงในวันนี้จะเข้าใจในจิตเจตนารมณ์ที่แท้จริงของเรา ไม่ใช่แค่มาเพื่อเหมือนประกอบพิธีกรรมบางอย่าง มานั่งฟัง แล้วปล่อย ๆ ให้พูด ๆ ไปจนจบ เพราะไม่ต้องลงมติอยู่แล้ว

บางท่านบอกว่า การที่รัฐบาลยอมมาร่วมการอภิปรายรอบนี้ เพราะแก้รำคาญ ให้เรื่องจบ ๆ ไป

บางท่านบอกว่า การเปิดเวทีรัฐสภาให้ ทั้งส่วนของวุฒิสภาตามมาตรา 161 และสภาผู้แทนราษฎรอภิปรายไม่ไว้วางใจตามมาตรา 158, 159 ที่สุดก็แก้ปัญหาไม่ได้เพราะการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประ ชาธิปไตยจะยังคงอยู่ การเมืองบนท้องถนนยังไม่หมดไป....

บางท่านมองข้ามไปถึงว่า หากมีการเปลี่ยนแปลงสลับขั้ว ให้พรรคฝ่ายค้านมาบริหาร ก็จะมีม็อบมาชุมนุมขับไล่แบบเดียวกัน – อย่างที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีพูดในรายการ “สนทนาประสาสมัคร” เมื่อเช้าวานนี้ - จน เป็นวงจรที่ไม่มีทางออก

บางท่านพูดว่า ม็อบข้างถนนไม่ยอมรับกติกา

กระผมขอกราบเรียนท่านประธานฯว่า ทุกท่านที่พูดหรือคิดในลักษณ์ที่กล่าวมา ล้วน “คิดผิด” -- และเป็นความคิดที่เติมเชื้อทำให้ปัญหาการเมืองไทยลุกลามกลายเป็นวิกฤตในที่สุด

ความคิดดังกล่าว นอกจากจะเติมเชื้อทำให้สถานการณ์ลุกลามเป็นวิ กฤตแล้ว ยังเป็นตัวการสำคัญที่จะทำให้ การเมืองไทยวนเวียนอยู่ในวง จรอุบาทว์ หาทางออกไม่ได้ และสุ่มเสี่ยงให้เกิดอำนาจนอกระบบมาแทรกเหมือนกับหลาย ๆ ครั้งในประวัติศาสตร์

ท่านประธานฯครับ...........

เหตุการณ์เมื่อวันศุกร์ที่ 20 มิถุนายน 2550 ที่ผ่านมา เป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของการเมืองไทยยุคใหม่

ผู้ที่เป็นเจ้าของประเทศ เจ้าของอำนาจอธิปไตยตัวจริง ก็คือประชาชนนะครับ... ส่วนเราท่านมาที่ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้งในวุฒิสภาและในสภาผู้แทนราษฎร หรือทำหน้าที่ฝ่ายบริหารในคณะรัฐมนตรี เป็นแค่ ผู้อาสาสมัครประชาชนมา “ทำหน้าที่แทน” เท่านั้น

ประชาชนเป็นเจ้านายของเราทุกคน ...เราทุกคนครับ ...ทั้งสมาชิกที่นั่งอยู่ด้านล่าง (สภา) รวมไปถึงคณะรัฐมนตรีทุกท่านที่นั่งอยู่ด้านบน

การเมืองไทยวันนี้ ไม่เหมือนที่ผ่านมาอีกต่อไปเพราะประชาชนคนไทยก้าวหน้าไปมาก

สังคมไทยในปี 2550 - 2551 ไม่เหมือนเมื่อปี 2540 หรือ 2544 ปัญหาหลาย ๆ ประการตลอดระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้สังคมไทยได้เรียนรู้ ได้เข้าใจ และได้สรุปปัญหามาเป็นบทเรียน ก่อให้เกิดภาคประชาสังคมที่เข้มแข็งขึ้น

ถ้าเรายังเชื่อมั่น และยังศรัทธาใน “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหา กษัตริย์ทรงเป็นประมุข” เราต้องไม่ปฏิเสธการเมืองภาคพลเมือง เพราะการเมืองภาคพลเมืองเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็ง และก้าวหน้า เป็นพลังคู่ขนานที่จะทำให้การเมืองในระบบรัฐสภามีประ สิทธิภาพจริง

ในวงวิชาการได้พูดถึงคำ ๆ นี้มานาน ทั้ง... ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม การเมืองภาคประชาชน หรือการเมืองภาคพลเมือง ..มีคำอธิบายเป็นบทวิชาการจำนวนมาก

ผมขอสรุปสั้น ๆ ผ่านท่านประธานฯนำเรียนไปยังคณะรัฐมนตรีว่า สัง คมไทยวันนี้ประกอบด้วยประชาชนพลเมืองจำนวนมาก หลากหลาย ที่ผ่านมาประชาชนมักจะเป็นฝ่ายตาม ไม่แสดงบทบาท ไม่อยากเปลืองตัวมายุ่งเกี่ยวกับปัญหาบ้านเมืองยกเว้นในเรื่องที่มากระทบกับตนจริง ๆ แต่สังคมไทยวันนี้ มีประชาชนที่หลากหลาย แตกต่าง แสดงตนออก มาในฐานะเจ้าของประเทศตัวจริง ว่า ตนต้องการอะไร ต้องการให้นัก การเมืองที่เป็นลูกจ้าง ประพฤติ ปฏิบัติ แบบไหน .... และไม่ต้องการฝ่ายการเมืองที่มีลักษณะแบบไหน

โจทย์ซับซ้อนขึ้นครับท่านประธานฯ.....

บางกลุ่มบางระดับรายได้ ต้องการแค่เพียง นโยบายช่วยเหลือที่ทำให้เขารู้สึกว่าได้ประโยชน์ เช่น สวัสดิการรักษาพยาบาล หรือ เข้าถึงบริ การอื่น ๆ

บางกลุ่มไม่สนใจเรื่องอื่น ต้องการแค่ไม่ให้ข้าวของแพง หรือมีปัญหาอื่นใดมากระทบชีวิตประจำวัน

แต่ท่านประธานครับ... ยังมีประชาชนเจ้าของประเทศกลุ่มใหญ่อีกกลุ่มหนึ่ง ที่มีความต้องการมากกว่านั้น

คนกลุ่มนี้เป็นพลังสำคัญที่ขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า

ประกอบด้วยนักวิชาชีพต่าง ๆ กินเงินเดือนระดับกลางขึ้นไป หรือเป็น เจ้าของกิจการ คนเหล่านี้แหละครับที่เป็นฐานใหญ่ของผู้เสียภาษี

เขาบอกว่ายุคนี้เป็นยุคโลกาภิวัตน์ ประชาชนคนไทยปัจจุบันไม่โง่นะครับ ต้องยอมรับนะครับว่ามีคนไทยที่ฉลาดกว่าเราท่านที่อยู่ในสภาแห่งนี้ หรือในทำเนียบรัฐบาลจำนวนมาก

คนไทยที่ผ่านการศึกษาสูง ๆ จากต่างประเทศ รับรู้ข่าวสารจากทั่วโลก เขาเปรียบเทียบและรับรู้ได้ว่าการเมืองแบบไหนดี และ การเมืองแบบไหนที่ไม่ดี

การเมืองที่ดี ไม่ได้หมายเฉพาะมีการเลือกตั้งเท่านั้น

เขมรก็มีเลือกตั้ง พม่าที่มีรัฐธรรมนูญใหม่...ก็กำลังจะเลือกตั้ง ประเทศในอาฟริกาหลายประเทศก็เลือกตั้ง ...แต่ก็เป็นที่ชัดเจนว่า...การเมืองยังไม่ดี

คำว่า การเมืองที่ดีนั้นมีองค์ประกอบอื่น ๆ อีกมาก ไม่เฉพาะแค่มีการเลือกตั้งเท่านั้น

ความต้องการของคนไทยเจ้าของประเทศกลุ่มใหญ่กลุ่มนี้ ไม่มีอะไรที่ซับซ้อนมากครับ เขาต้องการแค่การเมืองที่ดี และนักการเมืองที่ดี มาบริหารประเทศตามกรอบกฎหมาย และธรรมาภิบาล เท่านั้น

ประชาชนคนไทยกลุ่มใหญ่กลุ่มนี้ มีความกล้าที่จะออกมาแสดงเจตนา รมณ์ของตัวเอง เขามีความรู้ และรู้ว่าตัวเองมีสิทธิ์อะไรบ้าง และเขารู้ว่าเขามีสิทธิ์จะเข้าไปมีส่วนร่วมกับกระบวนการทางการเมืองได้ในทุกขั้นตอน

คำถามก็คือ – แล้วฝ่ายการเมืองเข้าใจความต้องการของประชาชนพล เมืองหรือเปล่า ?

บางท่านเข้าใจ ... แต่บางท่านไม่เข้าใจ

ผมเสียใจมากที่จะต้องกราบเรียนท่านประธานฯว่า ฯพณฯ นายกรัฐมน ตรีไม่เข้าใจ

เพราะหากเข้าใจ ท่านคงไม่พูดคำว่า “ม็อบข้างถนน” หรือพูดประโยคในทำนองวว่า “พันธมิตรฯมีสิทธิอะไร” และอธิบายซ้ำซากอยู่แต่ว่าท่านมาจากการเลือกตั้ง

คำพูดดังกล่าวสะท้อนว่า ตัวท่านไม่เข้าใจสังคมไทย ไม่เข้าใจประชาชน

และที่สำคัญ -- ไม่เข้าใจประชาธิปไตยในความหมายที่เป็นจริงที่มีมาก กว่า “การเลือกตั้ง” เท่านั้น

ถ้าไม่เข้าใจปัญหา ...ไม่มีทางเลยที่จะแก้ปัญหาได้

ไม่เพียงเท่านั้น ยังจะทำให้ปัญหาลุกลามขยายวงออกไปอีก

ปมสำคัญที่ผมจะนำประทานกราบเรียนท่านประธานฯ ท่านผู้มีเกียรติ ณ ที่ประชุมแห่งนี้ รวมทั้งผ่านท่านประธานฯไปยัง ฯพณฯ นายกรัฐมน ตรี และคณะรัฐมนตรี ก็คือ -- สังคมไทยและประชาชนคนไทยก้าวหน้าเกินระบบรัฐสภาและนักการเมืองไปแล้ว

ฝ่ายการเมือง รวมทั้งตัวผมด้วย มีแต่ต้องก้าวให้ทันกับประชาชน

ถ้ารัฐบาลก้าวไม่ทัน หลงติดอยู่กับการเมืองแบบเก่า อันเป็นการเมืองที่อ้างกติกาซึ่งคับแคบมาก ว่า หากผ่านการเลือกตั้งมาก็มีสิทธิจะทำอะไรก็ได้ ช้ปากเป็นหลักสมองเป็นรอ เราก็จะหลุดไม่พ้นจากวังวนวิกฤต

ดูเหมือนยาก แต่แท้จริงไม่ยากเลยครับ เพียงแต่ฝ่ายการเมืองต้องเปิดใจ และยอมปรับพฤติกรรมที่เคยชินเท่านั้นเอง

ผมได้กล่าวไปแล้ว...แต่จะขอกล่าวซ้ำอีกครั้งว่า....

ความต้องการของคนไทยเจ้าของประเทศกลุ่มใหญ่ ไม่มีอะไรที่ซับซ้อนมากครับ เขาต้องการแค่การเมืองที่ดี และนักการเมืองที่ดี มาบริหารประเทศตามกรอบกฎหมาย และธรรมาภิบาล รวมถึงรักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อย่างจริงจังและจริงใจ เท่านั้น

ฝ่ายการเมืองต้องเปิดใจยอมรับการเมืองภาคพลเมือง ยอมรับว่า ประ ชาชนคนไทยเจ้าของประเทศมีสิทธิจะเข้าไปมีส่วนร่วมกับกระบวนการทางการเมืองได้ในทุกขั้นตอน

ก่อนหน้านี้ ฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี อาจจะไม่ชินกับการเรียกร้องของประชาชน เพราะเคยชินว่า เมื่อได้เลือกตั้งเข้ามาประชาชนก็อยู่นิ่ง ๆ เฉย รอเวลาเลือกตั้งรอบใหม่

แต่ยุคใหม่คิดไม่นี้ไม่ได้ ต้องสลัดความเคยชินออกเสีย

ในยุคก่อน ฝ่ายการเมืองอาจจะชินที่จะใช้อำนาจเกินกรอบอำนาจ ถ้าไม่มีใครจับได้ไล่ทัน ก็ทำกันไปจนกลายเป็นแบบแผนพฤติกรรมไปแล้ว เช่น เรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย เรื่องการหาประโยชน์จากโครงการรัฐ ใช้กลไกราชการเพื่อประโยชน์ตน แต่ยุคใหม่ทำได้ยากแล้วครับ .... ในยุคก่อนประชาชนรู้ก็อยู่เฉย ๆ แต่ในยุคใหม่ เขาจะลุกขึ้นมาทักท้วง ไม่ยอมรับทันที

แก้ปัญหาวิกฤตทางการเมืองเพื่อให้หลุดพ้นจากวังวนวงจรอุบาทว์ไม่ยากเลยครับ

แค่ฝ่ายการเมือง – โดยเฉพาะ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี - คิดใหม่ ปรับพฤติกรรมใหม่ ให้หลุดจากความเคยชินเดิม

ผมเองไม่ได้สั่งสอนใครนะครับ เพราะในฐานะสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเป็นฝ่ายการเมือง ...ผมเองก็ต้องปรับตัวให้ทันความก้าวหน้าของประชาชน เช่นเดียวกัน

ท่านประธานฯ ที่เคารพ.........

ผมขอนำประทานกราบเรียนว่า การที่สมาชิกวุฒิสภาเข้าชื่อเสนอญัตติของอภิปรายทั่วไปครั้งนี้ เนื่องเพราะเล็งเห็นพ้องกันว่า บ้านเมืองเรากำลังอยู่ภายใต้ปัญหาใหญ่ อันอาจนำมาสู่วิกฤตการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ นำประเทศไปสู่วังวนความขัดแย้งที่ไม่รู้จบ

บางท่านพูดว่า รัฐบาลเพิ่งทำงานมาแค่ 4 เดือน จะมาอภิปรายอะไรกัน

ผมขอตอบสั้น ๆ ง่าย ๆ ดังนี้...

รัฐบาลชุดนี้เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาวิกฤตทางการเมืองครั้งใหญ่ที่เริ่มมาตั้งแต่ปลายปี 2548 เป็นผลพวงที่สืบเนื่องมาจากความผิดพลาดของรัฐบาลคณะก่อนหน้า ระหว่างปี 2544 - 2549

ระยะเวลา 4 เดือนของท่าน จึงมีทั้งส่วนที่สร้างปัญหาใหม่ และสานต่อปัญหาเก่า ทับซ้อนกันไป

4 เดือนของท่านแอบแฝงปมปัญหาเก่าของ 4 ปีที่แล้วรวมเข้าไปด้วย

ไม่น่าเชื่อเลยครับ 4 เดือนของท่านมีเรื่องราวให้พูดถึงมากมาย

ขณะที่ผมเตรียมประเด็นผมประสบปัญหามาก เพราะแต่ละเรื่องมีราย ละเอียดมาก ยากที่จะพูดให้ครบภายใต้ระยะเวลาจำกัด

จึงได้แค่สรุปประเด็นหัวใจหลักที่ผมอยากจะเสนอท่านประธานผ่านไปยังคณะรัฐมนตรี ว่า รัฐบาลชุดนี้ถึงครบของลักษณะ...

“10 ไม่”

ไม่ที่ 1 - ไม่เข้าใจสิ่งที่เรียกว่า การเมืองใหม่

ไม่ที่ 2 - ไม่เคารพประชาชนเจ้าของประเทศเจ้าของอำนาจอธิปไตย เคารพแต่พรรค และกลุ่มในพรรค

ไม่ที่ 3 - ไม่จัดสรรบุคลากรที่เหมาะสม ส่งคนไม่มีความรู้มาบริหาร จัดคนไม่ถูกกับงาน

ไม่ที่ 4 - ไม่ชัดเจนเรื่องทิศทางและนโยบายการแก้ปัญหาชาติในยุควิกฤตเศรษฐกิจ

ไม่ที่ 5 - ไม่ยึดถือหลักธรรมาภิบาล ทำลายกระบวนการยุติธรรม โดย เฉพาะอย่างยิ่ง แปรกระบวนการยุติธรรมขั้นต้น – คือ ตำรวจ – ให้เป็นเครื่องมือทางการเมือง

ไม่ที่ 6 – ไม่มีเอกภาพในการบริหารราชการแผ่นดิน ต่างคนต่างทำ ขัดแย้งกันเอง

ไม่ที่ 7 - ไม่แสดงให้เห็นว่าถือผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก แต่ถือประ โยชน์แอบแฝงเพื่อช่วยเหลือพวกพ้อง

ไม่ที่ 8 - ไม่มีวุฒิภาวะ ขาดภาวะผู้นำ สร้างแบบแผนพฤติกรรมที่ขัดต่อการพัฒนาการเมือง มองว่าการพูดเท็จต่อสาธารณะ หรือวันนี้อย่างพรุ่ง นี้อย่าง เอาสีข้างเข้าถูไปวัน ๆ เป็นเรื่องปกติธรรมดา และยังแสดงออกซึ่งพฤติกรรรมหยาบคาย อันธพาล

ไม่ที่ 9 - ไม่รักษาผลประโยชน์ชาติ โดยเฉพาะกรณีประสาทพระวิหาร นอกจากนั้นยังมีกรณีมีนโยบายเอื้อต่อนายทุนต่างชาติ ดึงต่างชาติเข้ามาโดยสุ่มเสี่ยงกับผลประโยชน์ส่วนรวม รวมไปถึงกรณี ซี.แอล.ยา

ไม่ที่ 10 - ไม่แสดงออกถึงการพยายามปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข จากกลุ่มผู้คิดล้มล้าง ทำลาย หนำซ้ำยังมีพฤติกรรมปกป้อง ช่วยเหลือ ที่สำคัญ ยังเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2550 ที่มีลักษณะล้มล้างรัฐธรรมนูญ 2550 แม้ญัตติดังกล่าวต้องตกไปเพราะมีผู้ถอนชื่อไม่ครบจำนวน แต่ก็แสดงให้เห็นอย่างล่อนจ้อนถึงลักษณะซ่อนปม ไม่รับรองสถานะขององคมนตรีชุดปัจจุบันเอาไว้อย่างจงใจ รวมทั้งการแต่งตั้งผู้ที่มีแนวความคิดเป็นปฏิปักษ์กับสถาบันพระ มหากษัตริย์ให้มีตำแหน่งสำคัญ

ท่านประธานครับ..........

ปัญหาหลายแหล่ ที่รุมเร้ารัฐบาลเวลานี้ มาจาก “10 ไม่” ที่กล่าวมานี่แหละครับ

ในด้านการเมือง เริ่มมาจากตั้งแต่การฟอร์มรัฐบาล ซึ่ง ฯพณฯ นายกรัฐ มนตรี ก็ยังเรียกว่า “ขี้เหร่” -- นี่คือ การไม่เคารพประชาชน เพราะคิดแต่ประโยชน์เงื่อนไขโควตาของพวกตนในรัฐบาลเป็นที่ตั้ง หากมีความเคา รพประชาชน คิดประโยชน์สาธารณะเป็นใหญ่ แม้จะมีโควตาของพรรคของมุ้งเขาก็ต้อง สรรหาคนที่เหมาะสมเป็นตัวแทนของกลุ่มไปนั่งเป็นเสนาบดี

พอไม่เคารพประชาชน ไม่เห็นประโยชน์ชาติเป็นที่ตั้ง มันก็เกิดรัฐบาลขี้เหร่ขึ้นมา

ยังไม่ทันเข้าเฝ้าถวายสัตย์ ก็เกิดเรื่องทันที เพราะนายไชยา สะสมทรัพย์ ประกาศว่า จะยกเลิกซี.แอล.ยา และไปใช้คำพูดไม่เหมาะสมกับคนไข้ติดเชื้อ รวมทั้งให้สัมภาษณ์ว่าตนเองนั้นรวยกว่าบริษัทยา ... แสดงให้เห็นถึงความไม่เข้าใจปัญหา ไม่เข้าใจว่า บรรษัทยาข้ามชาตินั้นร่ำรวยและทรงอิทธิพลขนาดไหน ... ความเข้าใจของรัฐมนตรีสาธารณสุขคนนี้คงคิดว่า บริษัทยาก็คือพวกที่ผลิตยาหม่อง ยาแดง หรือ พาราเซ็ตตามอล บวดหาย ทัมใจ เหล่านี้ ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด ต่อจากนั้นก็เกิดเรื่องราวต่อเนื่องที่กระทรวงสาธารณสุข โยกย้ายข้าราชการจนเกิดเรื่อง

ความวัวไม่ทันหาย ความควายก็เข้ามาแทรก... เกิดการโยกย้ายอธิบดีสุนัย มโนมัยอุดม จากกรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม

จะอ้างเหตุผลว่าเพื่อความเหมาะสมก็เป็นข้ออ้างครับ แต่อย่างที่ผมนำเรียนไว้ว่า เราอยู่ในสังคมใหม่ที่คนไทยไม่โง่

กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ “ดีเอสไอ” ทำคดีสำคัญเรื่องเอสซี.แอสเสท ของอดีตนายกรัฐมนตรีพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร – ขอประทานโทษที่เอ่ยนาม - หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “คดีซุกหุ้นรอบ 2” คดีนี้เป็นบ่วงมัดอดีตนายกรัฐมนตรีถึงขั้นเข้าคุก หลักฐานที่ปรากฏชัดเจนมาก และดีเอสไอยุคท่านอธิบดีสุนัย มโนมัยอุดมก็ทำงานได้เร็ว เร็วกว่าคตส.เสียอีก

เรื่องชัดขึ้นในท้ายสุดเมื่อมีหมายจับเนื่องจากอดีตนายกรัฐมนตรีแจ้งความหมิ่นประมาทต่อท่านอธิบดีสุนัย มโนมัยอุดม

ดีเอสไอยุคใหม่แตกต่างจากยุคท่านอธิบดีสุนัย มโนมัยอุดม ไม่พุ่งเป้าการเร่งรัดทำงานไปที่คดีของอดีตนายกรัฐมนตรี แต่กลับรับคดีที่มีผู้ใกล้ชิดรัฐมนตรีบางท่านมากล่าวหาองค์กรอิสระอย่าง ก.ก.ต. และคดีที่มีนักกิจกรรมทางการเมืองในเครือข่าย นปก. รักทักษิณ มาแจ้งความกล่าวโทษผู้ว่าการ สตง. ที่เป็นองค์กรอิสระด้วยเช่นกัน

ตามมาด้วยการเร่งรัดแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังจากมีแนวโน้มว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะตกเป็นจำเลยในคดีที่มีโทษถึงยุบพรรค -- ฯพณฯ นายกรัฐมน ตรีเองก็ยอมรับในชั้นต้นว่าที่จำเป็นจะต้องแก้ไขก็เพราะเหตุนี้ -- แต่ต่อ มาก็พลิกพริ้วไปเรื่อย ๆ รายวันเมื่อถูกคัดค้านต่อต้าน

ท่านจะอธิบายเหตุผลอย่างไรก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ประชาชนเขาไม่เชื่อ

ทั้งเรื่องแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมและเร่งรัดแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตัวเอง เป็นปมสำคัญที่ดึงประชาชนออกจากบ้านมาอยู่บนท้องถนน


ในด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลนี้เข้ามาบริหารประเทศในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อรับไม้ต่อจากรัฐบาลจากคณะรัฐประหาร อีกทั้งเริ่มมีสัญญาณปัญหาพลังงานมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว

หากรัฐบาลมีวิสัยทัศน์ มีความตั้งใจจะแก้ปัญหาชาติ นำพาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าฝ่าข้ามวิกฤต จะต้องแสดงให้เห็นถึงยุทธศาสตร์และทิศทางของนโยบาย เรื่องที่เร่งด่วนที่สุดเวลานี้คือ วิกฤตปากท้องวิกฤตเศรษฐกิจอันเป็นผลกระทบมาจากปัญหาพลังงาน เป็นแผนบูรณาการระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ

แต่จนบัดนี้ 4 เดือนก็ยังไม่เห็นเลยครับ.... เห็นแต่นโยบายรายวัน

เรื่องข้าวเรื่องเดียว ก็ชัดเจนแล้วว่าสะเปะสะปะ... วันนี้อย่าง พรุ่งนี้อีกอย่าง สับสนไปหมด

เรื่องน้ำตาลก็ยิ่งชัดเจน ขึ้นราคาโดยที่โรงงานน้ำตาลได้ประโยชน์ไปเต็ม ๆ

หรือกระทั่งเรื่องพลังงาน ก็ยังไม่ชัดเจนว่า แผนยุทธศาสตร์เป็นเช่นไร

งานที่รัฐบาลมุ่งมั่นทำกลับเป็นเรื่องท้าตีท้าต่อยรายวัน และ การผลัก ดันแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ท่านประธานฯครับ....

เวลามีน้อย เรื่องจะพูดมีเยอะ เพื่อนสมาชิกท่านต่อ ๆ ไปจะทยอยมาชี้แจงแสดงเหตุผลตามการศึกษาและความชำนัญของแต่ละท่าน ...จิ๊กซอว์แต่ละชิ้นที่เพื่อนสมาชิกจะมาช่วยกันหยิบวางตั้งแต่บัดนี้ไปจนถึงค่ำมืดจะฉายภาพของความเป็น “รัฐบาล 10 ไม่” ให้ชัดเจนขึ้น สำหรับผมขอเลือกประเด็นที่คิดว่า ไม่พูดไม่ได้ แต่เพียง 3 ประเด็นเท่านั้น

ประเด็นแรก – กระบวนการยุติธรรมและธรรมาภิบาล

ประเด็นที่สอง – ไม่จัดการกับความพยายามในการจาบจ้วงสถาบันพระ มหากษัตริย์ รวมทั้งความพยายามเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองจากระ บอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไปเป็นระบอบประชาธิปไตยเฉย ๆ หรือระบอบประชาธิปไตยของปวงมหาประชาชน

ประเด็นที่สาม – เรื่องประสาทพระวิหาร

ในประเด็นแรก...เวลาไม่พอ...ผมขอข้ามไปก่อน....

ในประเด็นที่สอง....ว่าด้วยการจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์

ท่านประธานฯครับ ผมไม่ข้องใจหรอกกับความจงรักภักดีของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี อดีตเจ้าของคอลัมน์ “มุมน้ำเงิน” และผมก็เห็นว่าไม่ผิดอะไรหากท่านจะมีความไม่ต้องอัธยาศรัยกับ ฯพณฯ ประธานองคมนตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นการส่วนตัว รวมทั้งไม่ต้องอัธยาศรัยกับคนที่ท่านเรียกเขาว่า “ไอ้หัวเถิก” แต่ผมข้องใจว่าท่านเข้าใจสถานการณ์ที่เป็นจริงแค่ไหน อย่างไร

ท่านทราบหรือไม่ว่าในรอบ 2 – 3 ปีมานี้ขบวนการจาบจ้วงสถาบันพระ มหากษัตริย์ ที่เริ่มต้นจากการโจมตีประธานองคมนตรี ขยายไปกว้าง ขวางแค่ไหน

การโจมตีประธานองคมนตรีเริ่มต้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2549 จากประโยค “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ” ของอดีตนายกรัฐมนตรี ก่อนหน้านั้น ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี สมัยที่เป็นนักจัดรายการโทรทัศน์อยู่ก็ได้กล่าวในเชิงลบต่อประธานองคมนตรี จากนั้นเมื่อเกิดกลุ่ม นปก. ขึ้นหลังรัญประหาร 19 กันยายน 2549 ก็เกิดการโจมตีประธานองคมนตรีขึ้นอย่างเป็นขบวนการ ถึงขั้นยกพลไปก่อการจลาจลที่หน้าบ้านท่านมาแล้ว รวมทั้งเกิดกรณีปราศรัย “ทัศนคติอันตราย” ของอดีตรัฐมนตรีจักรภพ เพ็ญแขเป็นภาษาอังกฤษเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2550

ผมพยายามจะไม่พูดรายละเอียด เพราะรู้ว่าเป็นประเด็นละเอียดอ่อน

แต่ก็ไม่พูด-ไม่ได้

ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เคยกล่าวปกป้อง อดีตรัฐมนตรีจักรภพ เพ็ญแข ซึ่งตอนนี้ชัดเจนแล้วใช่ไหมครับว่าคดีมีมูล

เรื่องแบบนี้ คนที่เกี่ยวข้องที่ได้กล่าวคำปกป้อง ยืนยันความบริสุทธิ์ให้ จะต้องพิจารณาตัวเองครับ ... มันเป็นเรื่องของสำนึกของผู้ที่จงรักภักดี ย่อมรู้ว่าอะไรบังควร และไม่บังควร

นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของ “ยอดของภูเขาน้ำแข็ง” ที่โผล่เหนือน้ำ

ยังมี “ฐานของภูเขาน้ำแข็ง” มหึมาที่อยู่ใต้น้ำ

ขอฟันธงว่า “ฐานของภูเขาน้ำแข็ง” ก็คือ ได้เกิดมีขบวนการที่มีแนวคิดเชิงอุดมการณ์ขัดแย้งกับ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” เกิดขึ้นมา และยังดำรงอยู่ มิหนำซ้ำ ยังกระทำการที่แสดงความเป็นปฏิปักษ์กับ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในรอบ 2 - 3 ปีมานี้ คนในขบวนการนี้บาง ส่วนคิดและเชื่อโดยบริสุทธิ์ ทั้งยังเคยแสดงความคิดในรูปงานทางวิชา การเผยแพร่สู่สาธารณะในวงจำกัดมาบ้างแล้ว

พวกเขาปฏิเสธ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประ มุข” โดยในชั้นต้นเสนอ “ระบอบประชาธิปไตยเฉย ๆ” และในช่วงปี 2550 พวกเขา – โดยด็อกเตอร์ทางเศรษฐศาสตร์อดีตนักรบกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทยคนหนึ่ง – เสนอสิ่งที่เรียกว่า “ระ บอบประชาธิปไตยของปวงมหาประชาชน” ซึ่งปวงชนชาวไทยเป็นทั้งเจ้าของอำนาจอธิปไตย และใช้อำนาจนั้นด้วยตัวเอง

ปฏิเสธมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ระบุว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล...”

ท่านประธานฯครับ ทราบไหมครับว่านักวิชาการคนนี้ในยุครัฐบาลของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ท่านดำรงตำแหน่งอะไร

กรรมการธนาคารกรุงไทยจำกัด (มหาชน) ครับ !

ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นปมสำคัญก่อให้เกิดการลุกฮีอของประ ชาชน ที่เสนอมาโดย ส.ส.พรรคพลังประชาชน ร่วมกับส.ว.จำนวนหนึ่ง เปลือยตัวเองอย่างล่อนจ้อนว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความพยายามเปลี่ยน แปลงระบอบ

ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับ ส.ส.และ ส.ว.จำนวนหนึ่งร่วมลงชื่อยื่นต่อประธานรัฐสภาเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2551 ตรงกับฉบับหมอเหวง โตจิราการและจรัล ดิษฐาอภิชัย 2 แกนนำ นปก. ที่ไปล่าลายชื่อประชาชนจำนวนหนึ่งมายื่นต่อประธานรัฐสภาเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2551

ทั้ง 2 ฉบับเหมือนกันทุกตัวอักษร

เขาไม่ได้เขียนรายละเอียดไว้ แต่บอกให้ตัดชื่อหมวดนั้นหมวดนี้มาตรานั้นมาตรานี้ของรัฐธรรมนูญ 2550 แล้วเอาชื่อหมวดนั้นหมวดนี้มาตรานั้นมาตรานี้ของรัฐธรรมนูญ 2540 มาใส่แทน ซึ่งผมจะไม่พูดว่ามันขัดข้อบังคับสภาอย่างไร เอาว่าเราตามกันไปดูประเด็นที่ผมจะพูดถึงก็แล้วกัน

ใน “มาตรา 4 (1) (ฑ)” ให้ยกเลิกบทเฉพาะกาลตั้งแต่มาตรา 292 – 309 ของรัฐธรรมนูญ 2550 และใน “มาตรา 4 (2) (ฎ)” ให้นำบทเฉพาะกาลมาตรา 326, 327, 328, 330, 331, 332 และ 333 มาใส่แทน

ร่างรัฐธรรมนูญทั้งสองยังมีบทเฉพาะกาลอยู่ต่างหากในมาตรา 7 – 15

เราก็ต้องมาดูกันว่าเขายกเลิกอะไรและเอาอะไรมาใส่ไว้

เขายกเลิกการรับรองคณะองคมนตรีครับ !

ปกติเวลามีรัฐธรรมนูญใหม่ ในส่วนบทเฉพาะกาลเขาจะรับรองการมีอยู่และการปฏิบัติหน้าที่ขององค์ กรต่าง ๆ ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ก่อนมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เริ่มตั้งแต่คณะองคมนตรี ส.ส. ส.ว. และคณะรัฐ มนตรี

รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 292 ที่เขาตั้งใจจะยกเลิกนั้นบัญญัติไว้ดั่งนี้

“ให้คณะองคมนตรีซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะองคมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้”

แล้วมาดูว่าเขาใส่บทบัญญัติทำนองเดียวกันนี้เข้าไปแทนหรือไม่

ไม่มีเลยครับ

เขาอ้างว่ารัฐธรรมนูญ 2540 ดีเลิศ แต่เวลาเขาเอาบทเฉพาะกาลของรัฐ ธรรมนูญ 2540 กลับมาใส่แทนที่เขาก็ไม่เอามาตรา 314 ที่รับรองการมีอยู่และการปฏิบัติหน้าที่ของคณะองคมนตรีเข้าไปใส่ไว้

มาตรา 314 รัฐธรรมนูญ 2540 บัญญัติไว้ด้วยข้อความเดียวกับมาตรา 292 รัฐธรรมนูญ 2550 ที่ผมยกมาและเน้นด้วยตัวโต ๆ ข้างต้น

หันไปดูบทเฉพาะกาลใหม่ของเขาตั้งแต่มาตรา 7 – 15 ก็ไม่มีการรับรองคณะองคมนตรีครับ !

ผลคืออะไร ?

ผลก็คือถ้าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยไม่ออกมาเปิดสงครามศักดิ์สิทธิ์ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภา คม 2551 การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็คงเดินหน้าไปแล้ว และถ้าสำเร็จออกมา ก็หมายความว่าคณะองคมนตรีคณะปัจจุบันที่มาจากการแต่งตั้งตามพระพระราชอัธยาศรัยของพระ มหากษัตริย์ไม่มีกฎหมายรองรับ ไม่มีรัฐธรรมนูญรองรับ

คณะองคมนตรีที่มี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ รัฐบุรุษ เป็นประธาน จะเป็นองค์กรนอกรัฐธรรมนูญทันที

ต่อไป “ถ้า” จะมีการแต่งตั้งคณะองคมนตรีใหม่ ก็ต้องเริ่มต้นที่ตำแหน่งประธานองคมนตรีก่อน ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ 2550 บัญญัติไว้ในมาตรา 13

แม้ว่าวรรคแรกจะบัญญัติว่าให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศรัย แต่วรรคสองนี่ซิครับสำคัญและน่าคิด....

“ให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ....”

ท่านชัย ชิดชอบ จะเข้ามามีบทบาททันที !!

ย้อนไปดูรัฐธรรมนูญฉบับอื่น ๆ ในอดีต ก็จะพบว่ามาตราแรกของบทเฉพาะกาลเขาจะบัญญัติรับรองการมีอยู่และการปฏิบัติหน้าที่ของคณะองคมนตรีทั้งสิ้น รัฐธรรมนูญ 2540 อยู่ในมาตรา 314, รัฐธรรมนูญ 2534 อยู่ในมาตรา 214 และรัฐธรรมนูญ 2521 อยู่ในมาตรา 197

ส.ส.พรรคพลังประชาชนและส.ว.เลือกตั้งจำนวนไม่กี่คนที่ไปลงชื่อจะบอกว่าไม่รู้เรื่องไม่ได้

หรือจะบอกว่าแก้ไขในชั้นแปรญัตติก็เป็นคำแก้ตัวที่ฟังไม่ขึ้นนัก

เพราะมันเห็น “ธาตุแท้” ของพวกคุณอย่าง “ล่อนจ้อน” แล้ว !

ทุกคนมีสิทธิที่จะไม่ชอบพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ แต่ไม่มีสิทธิที่จะล้มล้างรัฐธรรมนูญโดยมีวาระซ่อนเร้นไม่รับรองคณะองคมนตรีที่มีพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์เป็นประธานได้

แต่คนกลุ่มหนึ่งที่เป็นลูกพรรคของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ก็ทำไปแล้ว แม้จะยังไม่สำเร็จ

คิดเป็นอื่นไม่ได้ นอกจาก....!

ผมก็ต้องย้อนกลับไปสู่เรื่องเดิม ๆ ที่ได้พยายามนำเสนอปัญหานี้ต่อสังคมมาตั้งแต่กลางปี 2550 ว่า ปัจจุบันได้มีขบวนการที่พยายามล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ต้องการสถาปนาระบบการปกครองแบบใหม่ มีขบวนการให้ร้ายโจมตีบุคคลซึ่งเป็นที่เคารพอย่างกว้างขวาง

ใครเป็นใครในขบวนการนี้ ก็เห็น ๆ กันอยู่

และเป็นคนกลุ่มเดียวกับที่สนับสนุนอดีตนายกรัฐมนตรีหรือไม่

รัฐบาลดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร ตลอด 4 เดือนได้ปราบปราม ตรวจ สอบอะไรแค่ไหนไปแล้วบ้าง โดยเฉพาะเรื่องเว็บไซต์ เพราะรัฐบาลทำไม่ได้ผลใช่ไหม จึงมีคนนอกที่จงรักภักดีพยายามหาทางแก้ไข แต่ก็ถูกทาง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ตีความไปว่าเป็นเสมือนผู้มีอำนาจนอกระ บบ และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการกล่าวหาโจมตีท่าน

ครับ – ผมกำลังกล่าวถึงกรณี “ไอ้หัวเถิก” ที่ ฯพณฯ กล่าวในเชิงลบถึง 2 ครั้งในเดือนพฤษภาคม 2551 แต่ในที่สุด สื่อมวลชนฉบับหนึ่งที่มีความใกล้ชิดกับท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เปิดเผยว่าท่านผู้นี้ขอความร่วมมือในการปิดเว็บไซต์ “รู้ทันราชวงศ์จักรี” และท่านรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงมหาดไทยก็มีส่วนร่วมรับรู้อยู่ด้วย ท่านได้ให้สัมภาษณ์ยืนยัน

คนที่จงรักภักดีที่พยายามทำทุกทางโดยไม่มีตำแหน่งในรัฐบาล ก็เพราะคนมีตำแหน่งไม่ทำ หรือทำไม่เป็น กลับมาถูกโจมตีจาก ฯพณฯ นายก รัฐมนตรี

เฉพาะประเด็นนี้ประเด็นเดียว หากกฎหมายเปิดให้วุฒิสภาอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้ ผมก็จะใช้สิทธิ์อภิปรายไม่ไว้วางใจ เพื่อให้รัฐบาลออกจากตำแหน่งไปแล้ว

เช่นเดียวกับประเด็นที่สาม...สุดท้าย.....กรณีปราสาทพระวิหาร....

ผมพูดเรื่องนี้เป็นเรื่องสุดท้าย นอกจากจะเป็นเรื่องใหญ่มากแล้ว ยังเพื่อให้เชื่อมโยงกับสมาชิกท่านต่อไปอีก 2 ท่านที่จะขึ้นมากอภิปรายเรื่องนี้โดยตรง

สำหรับผม – สั้น ๆ ง่าย ๆ – รัฐบาลทำผิดใน 2 ประเด็น

ประเด็นที่หนึ่งนั้น ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวยืนยันในรายการโทร ทัศน์วานนี้ ชัดเจนแล้วว่า -- คณะรัฐมนตรีชุดนี้ยอมรับในอธิปไตยของประเทศกัมพูชาเหนือปราสาทพระวิหาร ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยยอม รับ ก่อนหน้านี้ก็หมายถึงตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2505 ที่รัฐบาลไทยได้ใช้สิทธิยื่นประท้วงคำพิพากษาของศาลโลก แม้จะไม่มีการดำเนิน การอะไรต่อมา แต่การใช้สิทธิคัดค้านนั้นยังคงดำรงอยู่ เพิ่งจะมาหมดไปเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2551 นี้เองที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่าง ประเทศไปลงนามในแถลงการณ์ร่วมกับรัฐบาลกัมพูชา

ประเด็นที่สอง การลงนามดังกล่าวเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 190 รัฐธรรมนูญ 2550 ที่ยังไม่ได้แก้ไข

ผมเห็นว่า เรื่องปัญหาเขาพระวิหาร และ ปราสาทพระวิหาร เป็นเรื่องที่ซับซ้อนมีรายละเอียดจำนวนมาก และจะมีผู้อภิปรายเรื่องนี้โดยตรงอยู่แล้ว

ผมขอเพียงประเด็นเดียว ขอถาม ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ผ่านท่านประ ธานฯ เพื่อให้ท่านยืนยันสิ่งที่ท่านพูดในรายการโทรทัศน์ต่อสภาแห่งนี้อีกรอบ เพื่อที่จะได้มีการบันทึกอย่างเป็นทางการให้สืบไปชั่วลูกหลานต่อไป

ท่านได้พูดว่า

“ศาลโลกตัดสินแพ้คดี ต้องยกเขาพระวิหารให้เขาไป นี่คดีความระหว่างศาลโลกนะครับ แม้จะมาพูดจากัน 2 - 3 วันนี้ มาบอกว่า 20 วันหลัง จากนั่นได้ไปยื่นทักท้วงไว้ว่าจะไม่สละสิทธิ์ แล้วยังไงครับ เวลาผ่านมา 45 ปี มีใครได้ไปเริ่มทำสิทธิ์ ไปเปิดคดีใหม่หรือยัง 45 ปีครับ มันแพ้คดีเขา”

แสดงว่า ท่านเข้าใจดีว่า ประเทศไทยได้สงวนสิทธิ์ ที่จะรื้อฟื้นคดีพิพาทดังกล่าวใหม่ เมื่อใดก็ได้

เป็นสิทธิ์ที่ประเทศไทยได้รับมา 45 ปีเต็มแล้ว

มาถึงคณะรัฐบาลของท่าน ก็ได้กระทำการอันหมายถึงการสละสิทธิ์ดัง กล่าวไป และยังมากล่าวท้าทายด้วยว่า เป็นการกระทำที่ถูกต้อง

ท่านประธานครับ ไม่ทราบว่า ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่า การกระทรวงการต่างประเทศ ทราบหรือไม่ว่า สิทธิ ที่รัฐบาลไทยเมื่อปี 2505 ยื่นขอสงวนสิทธิ์ที่จะรื้อฟื้นคดีนั้น หมายถึง ศักดิ์ศรี และเกียรติ ภูมิของประเทศชาติ ซึ่งมีความเจ็บปวด หยาดเหงื่อน้ำตาของบรรพชนในยุคนั้นที่ได้พยายามปกป้องดินแดนตรงจุดดังกล่าวตราตรึงอยู่กับ “สิทธิ” ดังกล่าวนั้น

ผมขอเรียนถาม ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ผ่านท่านประธานฯ ว่า

คำถามที่ 1 คณะรัฐมนตรีชุดนี้สละสิทธิ์ที่จะรื้อฟื้นคดีพิพาทปราสาทพระวิหาร อันเป็นสิทธิที่ประเทศไทยได้ยื่นร้องต่อศาลโลก เมื่อปี 2505 หลังคำพิพาก ษา ใช่ – หรือ -- ไม่ใช่ ?

คำถามที่ 2 คณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของท่าน รับรองแผนที่และรับ รองการขึ้นทะเบียนมรดกโลก ถือเป็นการสละสิทธิ์ที่เราได้สงวนสิทธิ์ดังกล่าวเอาไว้ เมื่อปี 2505 ใช่ - หรือ – ไม่ใช่ ?


ท่านกรุณาตอบให้ได้นะครับในประเด็นนี้ ... เรื่องอื่นไม่ต้องตอบผมก็ได้

ขอประเด็นนี้ประเด็นเดียวว่า รัฐบาลกระทำการที่หมายถึงการสละสิทธิ์ดังกล่าวไปแล้ว ใช่ หรือ ไม่ ?

ท่านประธานฯครับ...........

สรุปความได้ว่า วิกฤตการณ์ปัญหาบ้านเมืองที่เกิดขึ้นเวลานี้ และ ในอนาคตอันใกล้ เกิดมาจากตัวของรัฐบาลเอง

รัฐบาลมีวาระแอบแฝง ช่วยเหลือ อดีตผู้นำประเทศและพวกพ้อง ทั้งด้วยการพยายามแก้รัฐธรรมนูญ และด้วยการเข้าไปแทรกแซงกระบวน การยุติธรรม

รัฐบาลไม่มีความสามารถแก้ปัญหา ซ้ำยังสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาซ้ำเติมไปอีก

รัฐบาลไม่เข้าใจว่า การเมืองใหม่ของบ้านเราเป็นการเมืองแบบเปิด ไม่เข้าใจว่า การเมืองภาคพลเมืองมีความสำคัญเช่นไรกับระบอบประชา ธิปไตย นอกจากไม่สนับสนุนยังเยาะเย้ย หาทางทำลาย

รัฐบาล ไม่ได้คิดตั้งใจบริหารชาติบ้านเมืองเป็นหลัก เริ่มจากการตั้งรัฐ บาลขี้เหร่ เคารพโควตาพรรคแต่ไม่เคารพประชาชน ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าสถาน การณ์เศรษฐกิจโลกกำลังแย่ ปัญหาใหญ่ของบ้านเมืองกำลังจะเกิด แต่ก็ไม่ได้นำพา ... เอาพวกมือใหม่ไร้ประสบการณ์ที่ทำงานไม่ได้มานั่งเก้า อี้รัฐมนตรี ผิดฝาผิดตัว เอาหมอมาบริหารเศรษฐกิจ เอานักสร้างภาพมาแก้ปัญหาข้าว เอาเด็กในคาถาหมอผี มานั่งคมนาคม เพื่อจะผลักดันรถเมล์ 6,000 คัน

เหล่านี้แหละครับที่ก่อให้เกิดปัญหา

เรื่องปัญหาการเมืองแก้ได้ ไม่ยากเลย ตามที่ผมได้เรียนไปก่อนหน้า เพราะประชาชนเขาต้องการแค่รัฐบาลที่ดี การเมืองที่ดี ต้องการให้ฝ่ายการเมืองยอมรับการเมืองของภาคพลเมือง และต้องการให้เกิดระบบยุติธรรมขึ้นมาในประเทศนี้

ประชาชนเขาไม่ได้เรียกร้องในสิ่งที่เกินเลย หรือตั้งเงื่อนไขให้สูงเกิน ไปแม้แต่อย่างใด

เขาต้องการรัฐบาลที่ดีมาบริหารประเทศ แทนพวกเขาซึ่งเป็นเจ้าของประเทศ และเป็นเจ้าของเงินภาษี

หน้าที่ของฝ่ายการเมืองคือต้อง หารัฐบาลที่ดี มาให้ ประชาชนครับ !!

ถ้ายังไม่ดี ยังไม่ใช่ ก็ต้องเปลี่ยน

เริ่มจาก ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ลงไปเลยครับ

ผมเชื่ออย่างนี้ครับท่านประธาน

ถ้าคุณเคารพประชาชน ประชาชนก็จะให้ความเคารพคุณตอบกลับ

แต่ถ้าคุณไม่เห็นหัวประชาชน ประชาชนก็จะไม่เห็นหัวคุณด้วยเช่นกัน

ขอบคุณครับ !!!
กำลังโหลดความคิดเห็น