xs
xsm
sm
md
lg

โละองคมนตรีชุดป๋าเปรม ! เนื้อแท้กระบวนการล้มรัฐธรรมนูญ ทั้งฉบับ ‘เหวง-จรัล’ และฉบับ ‘พปช.’

เผยแพร่:   โดย: *-*

ผมพูดมานานแล้วว่าตั้งแต่ปลายปี 2548 จนถึงวันนี้ คือวิกฤตร้ายแรงครั้งที่ 2 ในรัชสมัยปัจจุบันที่เกิดต่อ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” เพราะมีผู้เสนอ “ระบอบประชาธิปไตยเฉย ๆ” หรือ “ระบอบประชาธิปไตยของปวงมหาประชาชน” ที่มีสาระสำคัญว่า “ปวงชนชาวไทยเป็นทั้งเจ้าของอำนาจอธิปไตยและผู้ใช้อำนาจนั้นด้วยตัวเอง” ขึ้นมาเป็นคู่แข่ง

วันนี้มี “ใบเสร็จฯ” 2 ใบเล็ก ๆ แต่สำคัญมาแสดง !

ตั้งใจจะแสดงในวุฒิสภาตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมาก็ไม่มีโอกาส และวันนี้ก็คงจะต้องอภิปรายภาพรวมเป็นหลัก ก็เลยขอมาแสดง ณ ที่นี่ก็แล้วกัน !!

ใบเสร็จใบที่ 1 นักวิชาการที่นำเสนอบทความมีเนื้อหา “ระบอบประชาธิปไตยของปวงมหาประชาชน” ที่ก่อนหน้านี้เวลาผมพูดผมเขียนคราใด ก็มักจะออกตัวว่าท่านมีความคิดเห็นทางวิชาการบริสุทธิ์ ไม่เกี่ยวข้องกับทักษิณ ชินวัตร ไม่เกี่ยวข้องกับพรรคไทยรักไทยและ/หรือพรรคพลังประชาชน มาวันนี้เพิ่งทราบครับ เพิ่งทราบว่าท่านได้ดิบได้ดีได้ดำรงตำแหน่งที่ใคร ๆ อยากเป็นกัน

กรรมการธนาคารกรุงไทยจำกัด(มหาชน) !

ก็คงจะอ้างได้ว่าไม่เกี่ยวกัน เป็นเรื่องความสามารถของด็อกเตอร์ทางเศรษฐศาสตร์ อดีตนักรบกองทัพปลดแอกประชาชนชาวไทยวัย 52 คนนี้ที่บังเอิญรัฐบาลชุดนี้เห็นความสามารถเอกอุ

แต่ผมไม่เชื่อ และเชื่อว่าพ่อแม่พี่น้องทั้งหลายก็คงไม่เชื่อเช่นกัน !

เพราะระยะหลังด็อกเตอร์ทางเศรษฐศาสตร์อดีตนักรบกองทัพปลดแอกประชาชนชาวไทยคนนี้สแหลนแจ๋นมากในการออกหน้ามาแสดงความคิดเห็นสนับสนุนขบวนของทักษิณ ชินวัตร จักรภพ เพ็ญแข และพลพรรค นปก.

ใบเสร็จใบที่ 2 (อันที่จริงจะบอกว่าเป็นใบที่ 2 และใบที่ 3 ก็ได้) มาจากร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับหมอเหวง โตจิราการ และจรัล ดิษฐาอภิชัย ที่ไปล่าลายชื่อประชาชนจำนวนหนึ่งมายื่นต่อประธานรัฐสภาเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2551 และร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ ส.ส.และส.ว.จำนวนหนึ่งยื่นต่อประธานรัฐสภาเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2551

ร่างรัฐธรรมนูญฯ ทั้ง 2 ฉบับเหมือนกันทุกตัวอักษร

เขาไม่ได้เขียนรายละเอียดไว้ แต่บอกให้ตัดชื่อหมวดนั้นหมวดนี้มาตรานั้นมาตรานี้ของรัฐธรรมนูญ 2550 แล้วเอาชื่อหมวดนั้นหมวดนี้มาตรานั้นมาตรานี้ของรัฐธรรมนูญ 2540 มาใส่แทน ซึ่งผมจะไม่พูดว่ามันขัดข้อบังคับสภาอย่างไร เอาว่าเราตามกันไปดูประเด็นที่ผมจะพูดถึงก็แล้วกัน

ใน “มาตรา 4 (1) (ฑ)” ให้ยกเลิกบทเฉพาะกาลตั้งแต่มาตรา 292 – 309 ของรัฐธรรมนูญ 2550 และใน “มาตรา 4 (2) (ฎ)” ให้นำบทเฉพาะกาลมาตรา 326, 327, 328, 330, 331, 332 และ 333 มาใส่แทน

ในร่างรัฐธรรมนูญทั้งสองยังมีบทเฉพาะกาลอยู่ต่างหากในมาตรา 7 – 15

เราก็ต้องมาดูกันว่าเขายกเลิกอะไรและเอาอะไรมาใส่ไว้

เขายกเลิกการรับรองคณะองคมนตรีครับ !

ปกติเวลามีรัฐธรรมนูญใหม่ ในส่วนบทเฉพาะกาลเขาจะรับรองการมีอยู่และการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรต่าง ๆ ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ก่อนมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เริ่มตั้งแต่คณะองคมนตรี ส.ส. ส.ว. และคณะรัฐมนตรี

รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 292 ที่เขาตั้งใจจะยกเลิกนั้นบัญญัติไว้ดั่งนี้

“ให้คณะองคมนตรีซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะองคมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้”

แล้วมาดูว่าเขาใส่บทบัญญัติทำนองเดียวกันนี้เข้าไปแทนหรือไม่

ไม่มีเลยครับ

เขาอ้างว่ารัฐธรรมนูญ 2540 ดีเลิศ แต่เวลาเขาเอาบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาใส่แทนที่เขาก็ไม่เอามาตรา 314 ที่รับรองการมีอยู่และการปฏิบัติหน้าที่ของคณะองคมนตรีเข้าไปใส่ไว้

มาตรา 314 รัฐธรรมนูญ 2540 บัญญัติไว้ด้วยข้อความเดียวกับมาตรา 292 รัฐธรรมนูญ 2550 ที่ผมยกมาและเน้นด้วยตัวโต ๆ ข้างต้น

หันไปดูบทเฉพาะกาลใหม่ของเขาตั้งแต่มาตรา 7 – 15 ก็ไม่มีการรับรองคณะองคมนตรีครับ !

ผลคืออะไร ?

ผลก็คือ ถ้าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยไม่ออกมาเปิดสงครามศักดิ์สิทธิ์ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2551 การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็คงเดินหน้าไปแล้ว และถ้าสำเร็จออกมา ก็หมายความว่าคณะองคมนตรีคณะปัจจุบันที่มาจากการแต่งตั้งตามพระพระราชอัธยาศรัยของพระมหากษัตริย์ไม่มีกฎหมายรองรับ ไม่มีรัฐธรรมนูญรองรับ

คณะองคมนตรีที่มี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ รัฐบุรุษ เป็นประธาน จะเป็นองค์กรนอกรัฐธรรมนูญทันที

ต่อไป “ถ้า” จะมีการแต่งตั้งคณะองคมนตรีใหม่ ก็ต้องเริ่มต้นที่ตำแหน่งประธานองคมนตรีก่อน ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ 2550 บัญญัติไว้ในมาตรา 13

แม้ว่าวรรคแรกจะบัญญัติว่าให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย แต่วรรคสองนี่ซิครับสำคัญและน่าคิด....

“ให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ....”

ชัย ชิดชอบ พ่อของเนวิน ชิดชอบ จะเข้ามามีบทบาททันที !!


ย้อนไปดูรัฐธรรมนูญฉบับอื่น ๆ ในอดีต ก็จะพบว่ามาตราแรกของบทเฉพาะกาลเขาจะบัญญัติรับรองการมีอยู่และการปฏิบัติหน้าที่ของคณะองคมนตรีทั้งสิ้น รัฐธรรมนูญ 2540 อยู่ในมาตรา 314, รัฐธรรมนูญ 2534 อยู่ในมาตรา 214 และรัฐธรรมนูญ 2521 อยู่ในมาตรา 197

หมอเหวง และจรัล รวมทั้งพลพรรค ส.ส.พรรคพลังประชาชน และ ส.ว.เลือกตั้งจำนวนไม่กี่คนที่ไปลงชื่อจะบอกว่าไม่รู้เรื่องไม่ได้

หรือจะบอกว่าแก้ไขในชั้นแปรญัตติก็เป็นคำแก้ตัวที่ฟังไม่ขึ้นนัก

เพราะมันเห็น “ธาตุแท้” ของพวกคุณอย่าง “ล่อนจ้อน” แล้ว !

คุณมีสิทธิที่จะไม่ชอบ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ แต่คุณไม่มีสิทธิที่จะล้มล้างรัฐธรรมนูญโดยมีวาระซ่อนเร้นไม่รับรองคณะองคมนตรีที่มี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์เป็นประธานได้

แต่พวกคุณก็ทำไปแล้ว แม้จะยังไม่สำเร็จ

คิดเป็นอื่นไม่ได้ นอกจากเป็นการจงใจล้มล้างพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ !
กำลังโหลดความคิดเห็น