xs
xsm
sm
md
lg

ไทยจี้สหรัฐฯเลิกเก็บซี-บอนด์กุ้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน-ไทยเตรียมถกสหรัฐฯ เร็วๆ นี้ จี้เลิกเก็บซี-บอนด์กุ้ง เหตุผิดกฎ WTO ชัดเจน และที่ผ่านมา WTO ก็ตัดสินให้ไทยชนะแล้ว แต่สหรัฐฯ ยังอุทธรณ์ “ศิริพล”อ้อนถอดไทยออกจากบัญชี PWL หลังมีผลงานชัดเจน ส่วนเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ปัดออกกฎหมายคุมแอบถ่ายหนังในโรงภาพยนตร์

นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ไทยจะนำเรื่องที่สหรัฐฯเรียกเก็บพันธบัตรค้ำประกันกุ้ง (ซี-บอนด์) ในอัตรา 100% ของอากรตอบโต้การทุ่มการตลาด (เอดี) มาหารือกับสหรัฐฯ ในการประชุมอย่างไม่เป็นทางการระหว่างกันในเร็วๆ นี้ เพื่อเรียกร้องให้สหรัฐฯยกเลิกการจัดเก็บ เพราะเป็นการเก็บภาษีซ้ำซ้อน ที่ผิดกฎองค์การการค้าโลก (WTO) และเป็นภาระของผู้ส่งออกไทย ที่จะต้องวางเงินค้ำประกันในแต่ละงวดการส่งสินค้าคิดเป็นมูลค่ามหาศาล และต้องใช้เวลานานกว่าจะได้รับคืน เท่ากับเป็นเงินจม ส่งผลให้ขาดเงินทุนหมุนเวียนในการทำธุรกิจ

“ขณะนี้ เป็นการโต้เถียงกันในข้อกฎหมายระหว่างกัน โดยไทยยืนยันว่า สหรัฐฯทำไม่ได้ เพราะผิดกฎ WTO ขณะที่สหรัฐฯ ยืนยันว่าทำได้ เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากกรณีที่ผู้ส่งออกไม่ยอมเสียภาษีเอดี ซึ่งกรณีดังกล่าว ไม่ได้เกิดจากผู้ส่งออกไทย แต่เป็นประเทศอื่นมากกว่า ดังนั้น สหรัฐฯจึงไม่มีสิทธิ์ที่เก็บซี-บอนด์จากไทยซ้ำซ้อนอีก ซึ่งในการหารืออย่างไม่เป็นทางการสามารถตกลงกันได้ ไทยมีสิทธิ์ร้องขอให้คณะกรรมการอุทธรณ์ยกเลิกพิจารณาได้” นายศิริพลกล่าว

อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวไทยได้ฟ้องร้องต่อ WTO และได้ตัดสินให้ไทยชนะ ซึ่งสหรัฐฯ ต้องยกเลิกการจัดเก็บ แต่ขณะนี้ ยังไม่ได้ดำเนินการตาม เพราะสหรัฐฯอุทธรณ์ โดยยืนยันว่า มีสิทธิ์จัดเก็บได้ เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับการนำเข้า จากการที่ที่ผู้ส่งออกกุ้งเข้าสหรัฐฯไม่เสียอากรเอดี

นายศิริพลกล่าวว่า การหารือกับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ระหว่างวันที่ 12-13 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี นั้น ไทยได้ยืนยันว่า อุตสาหกรรมกุ้งไทยไม่ได้ใช้แรงงานเด็กอย่างที่องค์กรเอกชนของสหรัฐฯโจมตี และผลการตรวจสอบโรงงานกุ้งไทยของฝ่ายสหรัฐฯก็พบว่าไม่มีการใช้แรงงานเด็กเช่นกัน จึงได้ขอให้ยูเอสทีอาร์ชี้แจงให้ผู้นำเข้าสหรัฐฯเข้าใจด้วย

สำหรับการหารือด้านทรัพย์สินทางปัญญา ได้ชี้แจงกับสหรัฐฯ ไปว่า ต้องการให้ถอดไทยออกจากประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษด้านทรัพย์สินทางปัญญา (PWL) ตามมาตรา 301 พิเศษ กฎหมายการค้าสหรัฐฯ เพราะไทยมีความคืบหน้าการปราบปรามอย่างเห็นได้ชัด และมีความเสียหายต่อการค้าลดลงมากกว่าบางประเทศที่สหรัฐฯจัดให้อยู่ในประเทศที่ถูกจับตามอง (WL) เช่น ฟิลิปปินส์ แต่สหรัฐฯยังไม่ได้รับปาก เพียงแต่ระบุว่าการจัดอันดับใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาหลายเรื่องประกอบกัน

ส่วนการหารือกับสมาพันธ์ทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ (IIPA) นั้น ต้องการให้ไทยออกกฎหมายเฉพาะป้องกันการแอบถ่ายหนังในโรงภาพยนตร์ เหมือนที่หลายประเทศยอมทำตาม เช่น ญี่ปุ่น แคนาดา และฮ่องกง แต่ไทยชี้แจงว่า กฎหมายลิขสิทธิ์ไทยครอบคลุมการละเมิดลิขสิทธิ์อยู่แล้ว และการละเมิดภาพยนตร์ในไทยยังต่ำกว่าในประเทศที่มีกฎหมายเฉพาะด้วย จึงจะไม่ออกกฎหมายเฉพาะตามที่ร้องขอแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น