ปธ.ธนาคารโลก ประกาศเตือนทุกประเทศ เร่งออกมาตรการรับมือราคาอาหารพุ่งสูงกว่า 2 เท่า หวั่นส่งผลร้ายแรงเกินแก้ไขเยียวยา พร้อมระบุ ช้าวสาลีพุ่งสูงกว่า 181% ในรอบ 36 เดือน ขณะที่ราคาอาหารเฉลี่ยเพิ่มขึ้นแล้ว 83% หวั่นการจลาจลในเฮติ จุดเริ่มชนวนสงครามแย่งชิงอาหาร
วันนี้(14 เม.ย.) สำนักข่าวเอพีรายงานว่า นายโรเบิร์ต โซลิค ประธานธนาคารโลก กล่าวในวันสุดท้ายของการประชุมธนาคารโลก ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี ของสหรัฐว่าราคาอาหารที่เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อาจส่งผลให้ประชาชน 100 ล้านคน ในประเทศกำลังพัฒนาต้องเผชิญกับความยากไร้มากขึ้นไปอีก
"รัฐบาลของทุกชาติจะต้องเพิ่มมาตรการในการรับมือกับปัญหานี้ เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาระยะสั้นแต่เป็นสิ่งที่ต้องแก้ปัญหาเพื่อไม่ให้คนรุ่นต่อไปต้องเผชิญ และวิกฤติที่เกิดขึ้นอาจนำไปสู่การต่อสู้กับความยากจนทั่วโลก"
ทั้งนี้ ราคาข้าว แป้งสาลี น้ำมันพืช และอาหารจำเป็นอื่นๆ ต่างพากันถีบตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดการประท้วงอย่างรุนแรง ในหลายประเทศ อาทิ อิยิปต์ เอธิโอเปีย มาดากัสการ์ ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย
การจลาจลในเฮติ นานกว่า 1 สัปดาห์ แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นที่ประชาคมระหว่างประเทศจะต้องรีบดำเนินการแก้ไขปัญหาราคาอาหารปรับตัวสูงขึ้นมากในปัจจุบัน ซึ่งความวุ่นวายอันเนื่องมาจากการขาดแคลนอาหารในเฮติ ส่งผลให้วุฒิสภาเฮติลงมติปลด นายกรัฐมนตรีฌาร์ค เอดูอาร์ด อเล็กซิส ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากเพิกเฉยต่อแผนการฉุกเฉินของประธานาธิบดีเรเน ปรีวาล ที่ให้ลดราคาจำหน่ายข้าว
อย่างไรก็ตาม รายงานของธนาคารโลกเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ระบุว่า ราคาแป้งสาลีในตลาดโลก ได้พุ่งพรวดไปถึง 181% ในรอบ 36 เดือน จนถึงเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ขณะที่ราคาอาหารโดยรวม พุ่งขึ้นไปถึง 83% ซึ่งปากีสถานและไทย ต่างออกมาตรการเพื่อป้องกันการกักตุนอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้าว ทั้งในนาข้าวและตามโกดัง
ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เปิดเผยเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาว่า ราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้น อาจจะส่งผลเสียหายอย่าง น่าตื่นตระหนกต่อโลก ซึ่งรวมทั้งเสี่ยงที่จะเกิดสงครามด้วย พร้อมทั้งเรียกร้องให้ใช้มาตรการควบคุมภาวะเงินเฟ้อเพื่อควบคุมราคาอาหารแพง “ราคาอาหาร หากสภาพยังเป็นอยู่เหมือนทุกวันนี้ จะเกิดผลลัพธ์เลวร้ายที่น่าตื่นตระหนกแน่นอน” นายโดมินิค สเตราส์-คาห์น ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟ กล่าว
นายสเตราส์ คาห์น กล่าวปิดการประชุมประจำฤดูใบไม้ผลิของไอเอ็มเอฟในกรุงวอชิงตันอีกว่า ประชาชนนับแสนคนจะอดอยาก ซึ่งจะนำไปสู่การก่อให้เกิดความปั่นป่วนต่อสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ ผลที่ได้จากการพัฒนาที่เกิดขึ้นในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา อาจจะถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง และเตือนว่า ความวุ่นวายทางสังคมอาจนำไปสู่สงคราม ซึ่งเมื่อเรียนรู้บทเรียนจากอดีต ก็สามารถยุติสงครามได้ หากโลกต้องการหลีกเลี่ยงผลลัพธ์ที่เลวร้ายเหล่านี้ ปัญหาราคาอาหารแพงต้องได้รับการแก้ไข
ขณะที่นายมิเชล บาร์นิเยร์ รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรของฝรั่งเศส กล่าวเรียกร้องให้ชาติสมาชิกสหภาพยุโรปรีบดำเนินการแก้ปัญหาราคาอาหารแพง ซึ่งนำไปสู่การจลาจลในแอฟริกาและที่อื่นๆ และให้นำเรื่องการเกษตรเป็นวาระสำคัญในการประชุมของอียู โดยนายบานิเยร์ จะเรียกร้องในประเด็นนี้ต่อที่ประชุมชาติสมาชิกอียู ที่ลักเซมเบิร์ก ในวันจันทร์นี้ โดยจะชี้ให้ที่ประชุมเห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการสร้างหลักประกันความมั่นคงด้านอาหารให้แก่โลก หลังจากที่ปัญหาราคาอาหารแพงทำให้เกิดการจลาจลในแอฟริกา