xs
xsm
sm
md
lg

บทเรียนคดีเขาพระวิหาร

เผยแพร่:   โดย: สราวุธ เบญจกุล


หลังจากที่ประเทศไทยแพ้คดีเขาพระวิหารตามคำพิพากษาของศาลโลกเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2505 ศาลโลกตัดสินให้ประเทศกัมพูชามีอธิปไตยเหนือเขาพระวิหาร

เหตุใดศาลโลกจึงตัดสินเช่นนั้น และเหตุใดประเทศไทยต้องศึกษากรณีคดีเขาพระวิหารอีกครั้งหนึ่ง

ศาลโลก คือ อะไร

ศาลโลก หรือ “International Court of Justice - ICJ” ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2489 ตั้งอยู่ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นส่วนหนึ่งขององค์การสหประชาชาติ (United Nations-ยูเอ็น) ประเทศสมาชิกของยูเอ็นทุกประเทศเป็นสมาชิกของศาลโลก แต่ศาลโลกก็เปิดโอกาสให้รัฐที่ไม่ได้เป็นสมาชิกยูเอ็นเป็นสมาชิกของศาลโลกได้ด้วย แต่ต้องยอมรับกฎต่างๆ ของศาลโลก

ศาลโลกเป็นองค์กรอิสระที่มีระเบียบและกฎเกณฑ์ของตนเองในการพิจารณาคดี กฎหมายที่ศาลโลกใช้ในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาท ได้แก่ อนุสัญญาระหว่างประเทศ จารีตประเพณีระหว่างประเทศในฐานะที่เป็นหลักฐานแห่งการถือปฏิบัติโดยทั่วไปซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นกฎหมาย หลักกฎหมายทั่วไปซึ่งอารยประเทศยอมรับ คำพิพากษาของศาลและคำสอนของผู้ทรงคุณวุฒิของประเทศต่างๆในฐานะที่เป็นเครื่องช่วยในการพิจารณากำหนดหลักกฎหมาย นอกจากนี้ ศาลโลกยังมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทโดยอาศัยหลักความยุติธรรมและความรู้สึกผิดชอบอันดีหากคู่กรณีตกลงตามนั้น

หลายคนอาจมีคำถามว่าอำนาจในการพิจารณาคดีของศาลโลกนั้นครอบคลุมเพียงใด คดีลักษณะใดจึงสามารถนำขึ้นสู่ศาลโลกได้ คำตอบ คือ ศาลโลกมีหน้าที่พิจารณาคดีเฉพาะเรื่องที่เป็นประเด็นระหว่างรัฐเท่านั้น

ศาลโลกมีผู้พิพากษาทั้งสิ้น 15 คน และจะมีผู้พิพากษาเป็นคนชาติของรัฐใดรัฐหนึ่งเกินหนึ่งคนไม่ได้ ผู้พิพากษาของศาลโลกจึงเปรียบเสมือนตัวแทนกลุ่มประเทศในภูมิภาคต่างๆของโลก ปัจจุบันผู้พิพากษาศาลโลกประกอบด้วย ตัวแทนจากประเทศสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือได้รับเลือกเป็นประธาน ตัวแทนจากประเทศจอร์แดนเป็นรองประธาน และตัวแทนประเทศมาดากัสการ์ จีน เซียร์ราลีโอน เวเนซุเอลา สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมนี สโลวาเกีย ฝรั่งเศส นิวซีแลนด์ เม็กซิโก โมร็อกโก และรัสเซีย

ผู้พิพากษาในศาลโลกมีวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปีและอาจได้รับเลือกอีกได้ ทั้งนี้
ผู้พิพากษา 5 คนจะต้องออกจากตำแหน่งทุกๆ 3 ปี

การพิจารณาคดีแต่ละครั้งจะต้องมีผู้พิพากษาขึ้นบัลลังก์พิจารณาคดี 9 คน โดยมีอำนาจในการพิจารณาคดีทุกประเภท

ก่อนที่ศาลจะเริ่มพิจารณาคดี รัฐต้องแสดงความยินยอมว่าจะยอมรับอำนาจศาลและจะปฏิบัติตามคำพิพากษา เพราะฉะนั้น คำพิพากษาของศาลโลกถือเป็นที่สุดจะไม่มีการอุทธรณ์หรือฎีกา

เหตุแห่งการสูญเสียเขาพระวิหาร

ศาลโลกได้ตัดสินให้อธิปไตยเหนือดินแดนอันเป็นที่ตั้งของเขาพระวิหารตกเป็นของประเทศกัมพูชา โดยให้เหตุผลว่า นับแต่ประเทศกัมพูชาได้จัดทำแผนที่ซึ่งกำหนดให้เขาพระวิหารอยู่ในดินแดนของประเทศกัมพูชาแล้วเสร็จตั้งแต่พ.ศ. 2450 จนกระทั่งประเทศกัมพูชายื่นเรื่องขอมีสิทธิเหนือเขาพระวิหารอย่างเป็นทางการต่อศาลโลกใน พ.ศ. 2502 ประเทศไทยไม่ได้มีการโต้แย้งสิทธิใดๆ ทำให้ศาลเชื่อได้ว่าประเทศไทยยอมรับในเนื้อหาและความมีอยู่ของแผนที่ดังกล่าว ประเทศไทยจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องว่าแผนที่นั้นไม่ถูกต้องดังสุภาษิตละตินที่ว่า “ผู้ที่เงียบเฉยอยู่ย่อมถือเสมือนได้ว่ายินยอม ถ้าเขามีหน้าที่ที่จะพูดและสามารถที่จะพูดได้”

ประกอบกับประเทศไทยได้นำแผนที่ฉบับดังกล่าวมาใช้อย่างแพร่หลาย ยิ่งเป็นการยืนยันว่าประเทศไทยยอมรับแผนที่ฉบับดังกล่าว

ยิ่งไปกว่านั้น การที่ประเทศไทยมิได้หยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมากล่าวอ้างในหลายๆ โอกาสที่พึงกระทำได้ เช่น ในการเจรจาสัญญาระหว่างไทยและฝรั่งเศสใน พ.ศ. 2480 และการประชุมเพื่อยืนยันเขตแดน ใน พ.ศ. 2490 ก่อนมีการจัดตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ฝรั่งเศส-สยาม และในการประชุมเจรจากับฝ่ายกัมพูชาใน พ.ศ. 2501 ล้วนเป็นเหตุที่ทำให้ประเทศไทยต้องแพ้คดีในครั้งนั้นไปอย่างน่าเสียดาย

การร้องขอให้ศาลโลกทบทวนคำพิพากษา

แม้คำพิพากษาของศาลโลกจะถือเป็นที่สุดโดยไม่สามารถอุทธรณ์หรือฎีกาได้ก็ตาม แต่อย่างไรก็ดี หากภายหลังมีการค้นพบข้อเท็จจริงอันเป็นปัจจัยในการตัดสินเพิ่มเติมซึ่งแตกต่างไปจากเดิม คู่พิพาทสามารถขอให้ศาลโลกทบทวนคำพิพากษาได้ แต่ข้อเท็จจริงที่ว่านี้ต้องเป็นข้อเท็จจริงซึ่งทั้งศาลและคู่พิพาทฝ่ายที่ขอให้มีการทบทวนคำพิพากษาต่างไม่รู้ว่ามีอยู่ในขณะที่มีคำพิพากษานั้น ทั้งนี้ ความไม่รู้เช่นว่านั้นต้องมิได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อ

แต่การใช้สิทธิร้องขอให้ศาลโลกทบทวนคำพิพากษาจะต้องกระทำภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่ทราบข้อเท็จจริงดังกล่าวและต้องร้องขอภายใน 10 ปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษา จากเงื่อนเวลาที่กำหนดประเทศไทยจึงไม่สามารถร้องขอให้ศาลโลกทบทวนคำพิพากษาดังกล่าวได้

เขาพระวิหารกับการเป็นมรดกโลก

ประเทศกัมพูชาได้ยื่นเสนอให้เขาพระวิหารเป็นมรดกโลกเฉพาะพื้นที่ในเขตประเทศกัมพูชาเท่านั้น แต่ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากฝ่ายไทยได้ยื่นทักท้วงว่าประเทศไทยก็มีสิทธิในเขาพระวิหารครึ่งหนึ่งเช่นกัน เนื่องจากลักษณะการมีอยู่ของปราสาทเขาพระวิหารนั้น เป็นการรวมตัวกันของปราสาทหินหลายแห่ง เทวสถานสำคัญทางศาสนา แนวหินซ้อน และสถูปรูปปั้นต่างๆซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้บางส่วนอยู่ในดินแดนของประเทศไทย เช่น สระตราว และปราสาทโดนตวล ประเทศไทยจึงเกรงว่าหากมีการประกาศให้เขาพระวิหารเป็นมรดกโลกแล้ว บางส่วนของเขาพระวิหารที่อยู่ในดินแดนของไทย จะกลายเป็นของกัมพูชา หากเป็นเช่นนั้นอาจทำให้ประเทศไทยต้องเสียดินแดนดังกล่าว รวมทั้งผลประโยชน์ที่พึงได้

ดังนั้นในการประชุมคณะกรรมการยูเนสโกครั้งที่ 31 ระหว่างวันที่ 24 มิถุนายน – 2 กรกฎาคม 2550 ที่เมืองไครส์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ คณะกรรมการยูเนสโกจึงได้เลื่อนการประกาศให้เขาพระวิหารเป็นมรดกโลกออกไปก่อน เพราะเห็นว่ายังมีประเด็นที่ทางการไทยและกัมพูชาต้องหารือกันให้ชัดเจนเนื่องจากพื้นที่ที่ตั้งของปราสาทเขาพระวิหารอยู่ระหว่างเขตแดนไทย-กัมพูชา และพบว่าการขึ้นเขาพระวิหารยังเป็นปัญหาความไม่ลงตัวของระหว่างสองประเทศ ซึ่งยังหาข้อยุติในเรื่องเขตแดนไม่ได้ เพราะจากสภาพภูมิศาสตร์การขึ้นเขาพระวิหารทางฝั่งกัมพูชานั้นค่อนข้างลำบากตรงที่ต้องปีนขึ้นไป แตกต่างจากฝั่งไทยที่สามารถเดินขึ้นไปได้ ยูเนสโกจึงขอให้ทั้งสองประเทศตกลงกันให้เรียบร้อยก่อน และค่อยให้รัฐบาลกัมพูชายื่นเรื่องเข้าไปใหม่

คาดว่าประเด็นข้อโต้แย้งสิทธิเขาพระวิหารในการเป็นมรดกโลก จะถูกหยิบยกขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งในการประชุมยูเนสโกครั้งที่ 32 ระหว่างวันที่ 2-10 กรกฎาคม 2551 ณ ประเทศแคนาดา ซึ่งจะเป็นการชี้ชะตาว่าเขาพระวิหารจะถูกประกาศเป็นมรดกโลกหรือไม่ และจะเป็นมรดกโลกในนามของประเทศใด

เพื่อป้องกันไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ประเทศไทยต้องยืนยันในสิทธิที่เรามีและโต้แย้งสิทธิใดๆ ที่อาจกระทบต่ออธิปไตยเหนือดินแดนของประเทศไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น