xs
xsm
sm
md
lg

คตส.จวกแหลกสรรพากร ป้องตระกูลชินไม่เสียภาษี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสัก กอแสงเรือง โฆษกคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ( คตส.) เปิดเผยหลังการประชุมคระกรรมการ คตส.ชุดใหญ่ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาสำนวนการส่งฟ้องคดีการจัดซื้อพันธ์กล้ายางพารา 90 ล้านต้นต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยเห็นว่ายังมีรายละเอียดเรื่องข้อกฎหมายที่ต้องปรับปรุง จึงได้ตั้งข้อสังเกต และให้ทีมทนายความที่รับผิดชอบคดีนี้ไปสรุปร่างคำฟ้องเพื่อเสนอให้คตส.พิจารณาใหม่ในวันศุกร์ที่ 20 มิ.ย.นี้
นายแก้วสรร อติโพธิ กรรมการ คตส. ในฐานะอนุกรรมการไต่สวนกรณีพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกนโยบายเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจตนเอง ครอบครัว และพวกพ้อง กล่าวว่า คณะอนุกรรมการฯ ได้นำสำนวนการสรุปผลการไต่สวนคดีดังกล่าวฯ ให้กรรมการคตส.ทุกคนนำไปศึกษา จากนั้นในวันที่ 20 มิ.ย. ที่ประชุมจะพิจารณาเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์หน้ามีเรื่องที่จะรอเข้าที่ประชุมคตส.อีกหลายเรื่อง เช่น คดีการจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิงกทม. คดีบ้านเอื้ออาทร และคดีแอร์พอร์ตลิงก์
รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ประชุม๕๖ศงญํ.ได้มีการหารือกรณี ธนาคาพาณิชย์ 2 แห่ง ทำหนังสือสอบถามถึงการอายัดทรัพย์ครอบครัวชินวัตร วงเงิน 6.5 หมื่นล้านบาท ที่ คตส.มีคำสั่งอายัดทรัพย์เกิน 1 ปีแล้ว และทางผู้ที่ถูกอายัดทรัพย์ได้ทำหนังสือขอให้ธนาคารเปิดให้ผู้ถูกอายัดทรัพย์ทำธุรกรรมในเงินดังกล่าวได้ ไม่อย่างนั้นธนาคารต้องรับผิดชอบทั้งทางแพ่งและอาญา
ดังนั้นที่ประชุมจึงได้มีหนังสือถึงนางธาริสา วัฒนเกษ ผู้ว่าฯธปท. เพื่อให้รับทราบถึงมติ คตส.ที่ยืนยันว่า เงินที่อายัดทรัพย์ยังคงต้องอายัดอยู่ เนื่องจากคดีกำลังอยู่ในกระบวนการยุติธรรมที่เตรียมจะขออำนาจศาลฎีการแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในการสั่งริบทรัพย์ดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน ดังนั้นจึงขอให้ธปท.กำชับไปยังธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งว่า อย่าเพิ่งถอนการอายัดทรัพย์ เนื่องจากมติของคตส. เป็นไปตามประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 ซึ่งไม่มีกำหนดระยะเวลาในการเพิกถอนทรัพย์จนกว่าคดีจะถึงที่สุด
มีรายงานด้วยว่า ในช่วงที่ คตส.ใกล้หมดวาระวันที่ 30 มิ.ย.นี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้ คตส.เขียนบทความเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือสรุปผลงาน ที่จะส่งมอบให้ ป.ป.ช.ในวันที่ 30 มิ.ย.นี้ โดยมีบทความชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจคือ กรณีการสรุปปคดีเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีหุ้นชินคอร์ปอเรชั่น ในส่วนของนายบรรณพจน์ ดามาพงษ์ วงเงิน 546 ล้านบาท ที่คตส.ตั้งข้อกล่าวหาว่า จงใจหลีกเลี่ยงการเสียภาษี ที่กรมสรรพากร ไม่ได้มีการยื่นอุทธรณ์ หลังจากที่คณะกรรมการอุทธรณ์มีมติว่า ไม่สามารถเรียกเก็บภาษีได้ เนื่องจากพ้นระยะเวลาการประเมินภาษีที่กำหนดให้ต้องประเมินภาษีภายใน 10 ปี แล้ว แต่ความจริงคดีนี้เพิ่งจะมีอายุ 8 ปี 8 เดือน 22 วัน ซึ่งถือว่าการปฏิบัติหน้าที่ของอธิบดีกรมสรรพากร เป็นการละเว้นปฏิบัติหน้าที่
นอกจากนี้ ในบทความชิ้นดังกล่าวยังได้วิเคราะห์การทำหน้าที่ของอธิบดีกรมสรรพากร ที่ไม่เร่งดำเนินคดีเรียกเก็บภาษีของ นายพานทองแท้ และน.ส.พิณทองทา ชินวัตร ที่ คตส.ได้มีมติให้กรมสรรพากรประเมินเรียกเก็บภาษี ซึงจนบัดนี้ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด นอกจากนี้ในบทความยังได้มีการเปรียบเทียบบทบาทการปฏิบัติหน้าที่ของกรมสรรพากร อัยการสูงสุด และ คตส. เพื่อให้ประชาชนได้ตัดสินว่า หน่วยงานใดยึดหลักความถูกต้องเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ ซึ่งถือเป็นการทิ้งทวนครั้งสุดท้าย เพื่อให้สังคมนำไปพิจารณาเอง

**ส่งอสส.ฟันแม้วบีบกรุงไทยปล่อยกู้
เมื่อเวลา 14.40 น. วานนี้ (16มิ.ย.) ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก นางเสาวนีย์ อัศวโรจน์ ประธานอนุกรรมการไต่สวน คตส. คดีธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) ปล่อยกู้ บริษัทกฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) จนทำให้ธนาคารกรุงไทยฯ เสียหายเป็นเงิน 4.5 พันล้านบาท เข้าพบนายเศกสรรค์ บางสมบุญ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ เพื่อส่งมอบสำนวนพยานหลักฐาน จำนวน 17 ลัง เอกสารกว่า 50,000 แผ่น พร้อมความเห็นชี้มูลความผิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีกับพวก ผู้บริหารและพนักงานธนาคารกรุงไทยฯ รวม 31 คน ในความผิดฐานสนับสนุนให้เจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ในการปล่อยเงินกู้แก่บริษัทดังกล่าวเพื่อพิจารณาสั่งคดี
นายเศกสรรค์ บางสมบุญ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ กล่าวว่า จะเร่งส่งสำนวนให้นายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุด เพื่อพิจารณาสั่งให้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นรับผิดชอบสำนวนโดยเร็ว เพราะอัยการสูงสุดมีเวลาพิจารณาสั่งคดีภายใน 30 วัน ตามกฎหมาย แต่สำนวนมีเอกสารพยานหลักฐานจำนวนมาก จึงไม่อาจรับรองได้ว่าจะสั่งคดีทันเวลา 30 วันหรือไม่ แต่อัยการก็เร่งรัดในทุกคดีโดยเฉพาะในช่วงนี้ที่ คตส.จะหมดอายุก็ทยอยส่งคดีมามาก อัยการสูงสุดต้องรับคดีไว้ทั้งหมด และอัยการสูงสุดอาจจะตัดสินใจแต่งตั้งคณะทำงานอัยการมาเพิ่มเติมให้กับทีม นายวัยวุฒิ หล่อตระกูล รองอัยการสูงสุด ซึ่งรับผิดชอบคดี คตส.อยู่ในขณะนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ถูกกล่าวหาคดีนี้ นอกจากพ.ต.ท.ทักษิณ แล้วยังมีบุคคลสำคัญที่ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาอื่นๆ ประกอบด้วย นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย พ.ต.ท.ทักษิณ นางกาญจนาภา หงส์เหิน นายวันชัย หงส์เหิน และนายมานพ ทิวารี บิดา น.ต.ศิธา ทิวารี เพราะมีหลักฐานการโอนเงินกู้จากบริษัทกฤษดามหานคร เข้าบัญชีส่วนตัว ส่วนคณะกรรมการบริหารแบงก์กรุงไทย 3 คน ที่ถูกกล่าวหา ได้แก่ ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ ประธานคณะกรรมการบริหาร (ตำแหน่งในขณะนั้น) นายวิโรจน์ นวลแข กรรมการผู้จัดการและกรรมการบริหาร และนายมัชฌิมา กุญชร ณ อยุธยา กรรมการบริหาร ฯลฯ
สำหรับพฤติการณ์ คตส.สรุปว่า ผู้บริหารธนาคารกรุงไทยฯ ให้สินเชื่อแก่กลุ่มบริษัทกฤษดามหานครฯ ซึ่งมีสถานะอยู่เป็นลูกหนี้กลุ่มที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ เอ็นพีแอล ของธนาคารกรุงไทยฯ เนื่องจากผู้อำนวยการฝ่ายกลั่นกรองสินเชื่อธุรกิจนครหลวง ได้เคยจัดอันดับความเสี่ยงของกลุ่มกฤษดามหานคร ในอันดับที่ 5 คือ ไม่สามารถอนุมัติสินเชื่อให้ได้ แต่ต่อมาได้มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้มีเงื่อนไขระบุว่า บริษัทกฤษดามหานคร ไม่สามารถที่จะขอสินเชื่อได้อีก เนื่องจากมียอดขาดทุนสะสมสูง แต่ธนาคารกรุงไทยฯ กลับอนุมัติสินเชื่อให้บริษัทในกลุ่มกฤษดามหานคร 3 กรณี คือ อนุมัติสินเชื่อให้แก่ บ.อาร์เค โปรเฟสชั่นนัล จำกัด อนุมัติสินเชื่อให้ บ.โกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเตรียล พาร์ค จำกัด และอนุมัติขายหุ้นบุริมสิทธิแปลงสภาพของบริษัทกฤษดามหานคร โดยผู้ต้องหาทั้ง 31 คน ร่วมกันหรือสนับสนุนธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐ อนุมัติสินเชื่อกับทั้ง 3 บริษัทโดยทุจริตเพื่อฟื้นฟูกิจการของบริษัทกฤษดามหานคร เพื่อประโยชน์ส่วนตน และพวก
ด้านนางเสาวนีย์ กล่าวว่า หลังจาก คตส.หมดวาระแล้ว หากอัยการสูงสุดมีความเห็นว่า สำนวนยังไม่สมบูรณ์ และให้มีการตั้งคณะทำงานร่วม โดยหาก ป.ป.ช.มีมติขอให้เข้ามาเป็นคณะทำงาน ก็ยินดีที่จะเข้ามาช่วย

**อภิรักษ์ลุ้นระทึกคดีดับเพลิงฉาว
นายบรรเจิด สิงคะเนติ กรรมการ คตส. เปิดเผยว่า ในช่วงเช้าวานนี้ คณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีการจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิงของ กทม. ที่มีนายนาม ยิ้มแย้ม ประธานคตส. เป็นประธาน ได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาสำนวนการไต่สวน แต่เนื่องจากมีเวลาจำกัด จึงยังไม่ได้พิจารณาว่า จะมีใครหลุดคดี หรือมีใครผิดบ้าง แต่คาดว่าภายในสัปดาห์นี้น่าจะได้ข้อสรุป เพื่อเสนอให้ที่ประชุมใหญ่พิจารณาต่อไป
เมื่อถามว่าที่ผ่านมา มีกระแสข่าวการวิ่งล็อบบี้อนุกรรมการไต่สวน อยู่ตลอด เคยถูกใครล็อบบี้หรือไม่ นายบรรเจิด กล่าวปฏิเสธว่า ไม่มีใครมาล็อบบี้ตน ใครจะกล้ามาล็อบบี้ ถ้ามาก็จะโดนบี้แทน ขอยืนยันว่า การพิจารณาของตนจะดูตามข้อมูล และข้อกฎหมายเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้ เวลา 09.00 น. นายนาม ยิ้มแย้ม ประธาน คตส.ในฐานะประธานอนุกรรมการไต่สวนเรื่องนี้ ได้นัดประชุมอนุกรรมการเพื่อ ลงมติสรุปผลการไต่สวนนัดสุดท้ายว่า จะส่งฟ้องผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดว่า มีใครบ้าง จากเดิมมีการนัดลงมติเมื่อวานนี้ โดยต้องจับตาว่า สรุปสุดท้ายจะมีชื่อของนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯกทม. ติดหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาเตรียมถูกส่งฟ้องด้วยหรือไม่

**"จารุวรรณ"ไม่ห่วงถูกตรวจสอบบ้าน
คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และกรรมการ คตส. กล่าวถึง กลุ่มติดตามการปฏิรูปการเมือง และต่อต้านคอร์รัปชั่น บุกเข้าตรวจบ้านของตน ที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้างที่ อ.ปาเกร็ด จ.นนทบุรี พร้อมยื่นเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบว่า ขอบคุณ ชาวบ้านในย่านนั้นที่มาให้กำลังใจ ทั้งๆ ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน
อย่างไรกต็ตาม ในส่วนของบ้านที่ถูกกล่าวหาว่ามีราคาสูงถึง 50 ล้านบาท ยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง โดยบ้านดังกล่าวสร้างบนพื้นที่ 1 ไร่ มีชื่อนายทรงเกียรติ เมณฑกา สามี เป็นเจ้าของตั้งแต่ปี 2505 โดยผ่านการจำนองมาแล้วหลายครั้ง และในส่วนของงานก่อสร้างบ้านทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นงานเตรียมการ งานผนัง และวัสดุผิว งานสุขภัณฑ์ และงานต่างๆ คิดรวมราคาแล้ว 4.4 ล้านบาทเศษ โดยมีหลักฐานชัดเจนใบเสนอราคาของบริษัท เช่นจาก บ.บุญชัยค้าวัสดุก่อสร้าง ที่เสนอนำใบเสนองานเกี่ยวกับวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นกระเบื้อง สีทากระเบื้อง ตะปู แผ่นรองกันรั่วใต้หลังคา โดยมีการเสนอราคาเพียง 6 แสนเศษเท่านั้น
"ไม่รู้สึกหนักใจ ที่ถูกกล่าวหาว่าสร้างบ้านราคา 50 ล้านบาท ขณะนี้เริ่มมีความคิดแล้วว่า หากประกาศขายในตอนนี้จะเริ่มต้นราคา 40 ล้านบาท สำหรับประชาชนทั่วไป แต่หากนายวันชัย จงจรุณหิรัญ แกนนำกลุ่มสนใจที่จะซื้อ และสามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นเจ้าของเงินจริง และไม่ได้เอาเงินจากใครมาซื้อ ดิฉันก็พร้อมที่จะขายให้ในราคาพิเศษ 35 ล้านบาทเท่านั้น" คุณหญิงจารุวรรณ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น