xs
xsm
sm
md
lg

ร่างกฎหมายองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ล้อมรั้วสีเขียวให้ชุมชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตัวอย่างผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐที่ไม่ทำอีไอเอที่โครงการชลประทานลำพะเนียง โครงการพัฒนาระบบชลประทานเพื่อรองรับเมกกะโปรเจกในการผันน้ำโขงสู่ภาคอีสาน ในอดีตชาวนาปีที่ลำพะเนียงจะหว่านข้าวในนาข้าวแต่ปัจจุบันเนื่องจากถนนของกรมชลฯ ขวางทางน้ำ ทำให้น้ำท่วมนา ชาวนาจึงต้องดำนาข้าวให้โตก่อนจะนำไปปลูกมิเช่นนั้นต้นข้าวจะเน่าตายเพราะน้ำท่วมขัง
ท่ามกลางกระแสเรียกร้องคัดค้านไม่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะนี้นั้น ยังมีร่างกฎหมายอีกฉบับหนึ่งอันเป็นผลพวงของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ที่เปิดช่องให้มีองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งกำหนดเอาไว้ว่า การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ต้องมีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมทั้งให้องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมให้ความเห็นประกอบก่อนการดำเนินการ

จากเขื่อนปากมูล, กรณีการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียที่คลองด่าน, โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าหินกรูด-บ่อนอก จนถึงโรงถลุงเหล็กในเครือสหวิริยาที่แม่รำพึง จ.ประจวบคีรีขันธ์ คือตัวอย่างของความบอบช้ำที่ชุมชนท้องถิ่นต้องทนแบกรับผลกระทบจากการ “พัฒนา” ของภาครัฐและเอกชน โดยไม่มีหน่วยงานอิสระใดที่มีอำนาจตามกฎหมายสามารถตรวจสอบยับยั้งผลกระทบทางด้านลบที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนานั้นๆ ได้

การเตรียมยกร่างฯ กฎหมายฉบับนี้นั้น จึงหมายถึงการล้อมรั้วให้ “บ้าน” อันหมายถึงสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศให้ปลอดภัยจากกระแสทุนของการพัฒนา ที่นับวันจะมองเห็นความสำคัญของตัวเลขผลประกอบการมากกว่าคนในพื้นที่…ที่ต้องทนอยู่กับปัญหาเหล่านั้นไปตลอดชีวิต

ให้ “ประชาชน” มีส่วนร่วม

แม้ว่าปัจจุบันไทยจะมีกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบอย่างคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) อยู่แล้ว แต่ดูเหมือนว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวและวิถีทางการปฏิบัติงานของสผ. นั้นจะเป็นไปในแนวทางการบังคับใช้กฎหมายของทางราชการมากกว่าการเปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการระวัง ป้องกัน และแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม

เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ร่วมกับคณะกรรมการศึกษาและยกร่างกฎหมายจัดตั้งองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน ก่อนที่จะมีการยกร่างกฎหมายองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม

โดยวัตถุประสงค์สำคัญของการระดมความเห็นครั้งนี้ ก็เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายจากผู้มีส่วนได้เสียทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน เพื่อจะทำให้กฎหมายองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมมีความสมบูรณ์ได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน และทำอย่างไรให้ความเห็นขององค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นมามีพลัง ไม่ใช่แค่การให้ความเห็นเฉยๆ อย่างที่ผ่านมา

สัญชัย สูติพันธ์วิหาร คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แสดงทัศนะว่า ความเห็นขององค์กรฯ ที่จัดตั้งขึ้นจะมีน้ำหนักและพลังในสายตาหน่วยงานรัฐและสังคมมากน้อยแค่ไหนนั้น มีปัจจัยหลักอยู่ 3 ส่วน ส่วนแรกคือข้อมูลสนับสนุนนั้นจะต้องรอบด้านและหลากหลาย อีกทั้งต้องไม่ละเลยสิ่งที่เป็นประเด็นเล็กๆ แม้ว่าจะไม่ใช่ประเด็นที่อยู่ในความสนใจของคนส่วนใหญ่ก็ตาม แต่ว่าเป็นประเด็นที่คนในชุมชนหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะทางลบโดยตรงจะคำนึงถึงเรื่องนั้นๆ

“ยกตัวอย่าง ถ้าพื้นที่แห่งหนึ่งมีการใช้ประโยชน์ร่วมของคนในชุมชน มันเป็นพื้นที่ที่สำคัญในระดับพื้นที่ แต่ถ้ามองสเกลใหญ่มองระดับภาพรวมมองระดับประเทศ เป็นพื้นที่เล็กมากๆ ถามว่ามีคุณค่าอะไรไหม มีการสังกัดเป็นมรดกโลกไหม มีเขตคุ้มครองสิ่งแวดล้อมไหม เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ไหม อาจจะไม่ใช่ แต่พื้นที่มันสำคัญขึ้นอยู่กับว่าเราจะมองคำว่ารุนแรงอย่างไร”

ส่วนที่สองคือ ผู้ให้ความเห็นต้องคำนึงถึงที่มาของกระบวนการ การได้มาซึ่งคนที่เป็นกรรมการองค์กรอิสระที่จะให้ความเห็นนั้นเป็นกลาง มีอิสระและมีความโปร่งใสในการทำงานและไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งตรวจสอบได้สองทาง ทางแรกก็คือผ่านหน่วยงานที่ส่งชื่อบุคคลนั้นมาร่วมกระบวนการสรรหา สองก็คือผ่านสาธารณะที่จะมองเห็นว่าบุคคลนั้นเป็นกลาง หรือทำงานโปร่งใสหรือไม่ หรืออาจจะผ่านช่องทางที่สามก็คือ การตรวจสอบกันเองของคณะกรรมการฯ ซึ่งในร่างกฎหมายก็ได้เขียนไว้แล้วว่ากรรมการสามารถถอดถอนกันเองก็ได้ โดยหนึ่งในสามเสนอชื่อและสองในสามลงมติ

ส่วนปัจจัยที่สามคือว่าเมื่อให้ความเห็นไปแล้ว ต้องมีการติดตามความคืบหน้า เพื่อที่จะเป็นบทเรียนสำหรับโครงการหรือกิจกรรมต่อๆ ไป ซึ่งรวมถึงระดับการกำหนดนโยบายต่อไปด้วย

ทางด้านบัณฑูรย์ เศรษฐศิโรตม์ คณะกรรมการศึกษาและยกร่างกฎหมายจัดตั้งองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม มองภาพของตัวองค์กรอิสระสิ่งแวดล้อมว่า ไม่ใช่เป็นองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมที่มีหน้าที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย คัดค้านตัวโครงการหรือกิจกรรมอย่างรุนแรง แต่เป็นลักษณะการให้ความเห็นเพื่อเป็นกระบวนการปรับแก้เปลี่ยนแปลงตัวโครงการกิจกรรมนั้นๆ จนทำให้เกิดการยอมรับกันได้

“คือถ้ามาเซ็ตแบบเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย มันก็จะเป็นคู่ขัดแย้งใหม่ กลายเป็นว่าองค์กรอิสระเป็นอีกหนึ่งคู่ขัดแย้ง แต่เป็นคู่ขัดแย้งที่อยู่ข้างภาคประชาชน ถ้าเป็นอย่างนี้ความเห็นมันก็จะไม่มีพลัง แต่ถ้ามันเป็นความเห็นที่องค์กรอิสระบอกว่า มุมของการวิเคราะห์ไม่ครบถ้วน มีมุมนี้ด้วย คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) เอาความเห็นนี้ไปพิจารณา เห็นด้วยก็ไปเพิ่มให้กับการศึกษา คุณต้องตอบโจทย์นี้ด้วย เพราะเป็นโจทย์ที่องค์กรอิสระกับภาคประชาชนเห็นความสำคัญของมุมนี้ สมเหตุสมผล เป็นเรื่องที่ควรศึกษา กระบวนการถ้ามันเดินอย่างนี้ มันจะเกิดพลังมากขึ้น มันจะเรียกว่าอินเตอร์เซ็คทีพที่เรามองต่อองค์กร ว่าองค์กรนี้มันจะมุ่งไปสู่เป้าหมายอะไร”

ขณะที่นิคม พุทรา อดีตที่ปรึกษามูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าฯ ภาคเหนือ กล่าวว่า การเสนอความเห็นชอบต่อโครงการหรือเสนอแนะให้ปรับปรุงแก้ไขขององค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมนั้น ไม่ใช่บทสรุปสุดท้าย เพราะยังมีคู่กรณี ทั้งฝ่ายสนับสนุน ฝ่ายคัดค้าน เจ้าของโครงการกับประชาชนในพื้นที่ หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะต้องมีกระบวนการอะไรต่างๆ ตามมามากมาย โดยจะต้องเป็นบทบาทร่วมไม่ใช่กรรมการอิสระสิ่งแวดล้อมด้านเดียว จะต้องมีผู้ชำนาญการด้านต่างๆ ด้วย

“ทีนี้ทำอย่างไรที่จะให้ความเห็นของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมมีพลัง นำไปสู่การแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้ง หรืออะไรต่างๆ นานา ต้องทำข้อมูลให้มันถูกต้อง คือข้อมูลที่ผ่านมามันปกปิดบ้าง มันไม่ถูกต้อง ก็ทำให้มันถูกต้องซะ โดยหวังว่าความถูกต้องจะปรากฏ โดยที่ใครก็ไม่อาจปฏิเสธว่ามันไม่ใช่ ในเมื่อมันเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง มันเป็นข้อมูลจริงนะ อันที่สองการได้มาซึ่งคณะกรรมการ ถ้าคณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมเป็นคนดีมีคุณธรรม มันก็ง่ายต่อการทำงาน แต่ถ้าเป็นฝ่ายตรงข้ามที่หมกเม็ดมาก็ดี หรือได้ซุกซ่อนมา หรือจัดตั้งโดยการเมือง ก็อาจจะเป็นปัญหา”

ด้านบัณฑูรย์บอกว่า องค์กรอิสระสิ่งแวดล้อม ไม่ได้เกิดขึ้นมาในสภาพสุญญากาศ แต่เกิดขึ้นมาในขณะที่มีกลไกอื่นๆ อยู่แล้วและกลไกอื่นๆ ต้องปรับตัวเองด้วย “จะบอกว่าองค์กรอิสระสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นมาแล้วทำให้ทุกอย่างหายไป แก้ปัญหาทุกอย่างได้ทะลุหมด เป็นไปไม่ได้กลไกอื่นๆ ต้องปรับตัวด้วย ยกตัวอย่างถ้า EIA วันนั้นไม่แก้ไขปรับไปสู่สิ่งที่เป็นข้อเรียกร้องมานานว่า ให้มีกำหนดขอบเขตของโครงการ คือก่อนที่จะทำการศึกษาคุณจะต้องมีการกำหนดโจทย์ ที่เป็นโจทย์ที่ยึดโยงกับพื้นที่ ไม่ให้เอา TOR ของ สผ. มากาง แล้วก็เป็น Format เดียวใช้กันหมดทุกพื้นที่ ถ้าไม่มีขั้นตอนนี้ ถ้ามีขั้นตอนนี้เกิดกลับกันขึ้น เวลาองค์กรอิสระให้ความเห็นอะไรที่มันต้องศึกษา เวลาประชาชนกำหนดขอบเขตของโครงการ ก็เอาความเห็นขององค์การอิสระที่มีอยู่แล้วเอาไปใช้ในเวที ความเห็นมันจะได้ถูกใช้ต่อไป มันจะไม่หาย มันไม่ใช่ทำเอกสารออกมามันก็จบ ทำอย่างนี้ประชาชนเอาไปใช้ต่อได้”

บัณฑูรย์ยกตัวอย่างคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ แต่ถูกคัดเลือกมาแบบนักการเมืองเลือก ไม่ใช่ตัวแทนของประชาชน หรือตัวแทนขององค์กรเอกชนที่เข้าไปมีส่วนร่วมเสนอผู้ทรงคุณวุฒิเข้าไป แต่ถ้ามีตัวแทนองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมเข้าไป เวลามีความเห็นขององค์การอิสระตัวแทนของเอ็นจีโอ ตัวแทนของนักวิชาการ ภาคประชาชน ตัวแทนผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติก็จะหยิบความเห็นขององค์การอิสระไปใช้ต่อในเวทีสิ่งแวดล้อม

“อย่างนี้เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า ถ้าระบบพวกนี้มันปรับตัว ความเห็นขององค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมจะไม่ตกหายไประหว่างทาง มันมีคนที่พร้อมจะใช้ต่อระบบมันรองรับอยู่”

ซึ่งในประเด็นนี้นิคมเห็นตรงกัน แต่เขาเสริมว่าอย่างไรก็ตามภาคประชาชน จะต้องกำกับดูแลติดตามความเห็นอย่างใกล้ชิด อย่างเช่น หากกรรมการสิ่งแวดล้อมถามความเห็นตรงนี้มา ภาคประชาชนต้องตามความเห็น เรียกว่าภาคประชาชนต้องสร้างกลไกขึ้นมา ขณะที่สัญชัยเพิ่มประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจว่า ใครจะเป็นผู้ให้ความเห็น หรือว่าใครจะเป็นผู้ให้ข้อมูล เขาเสนอว่าไม่ควรไปจำกัดขอบเขตของผู้ให้ความเห็นหรือผู้ให้ข้อมูลแคบจนเกินไป ในขณะที่คนเหล่านั้นอาจจะมีส่วนสัมพันธ์เกี่ยวข้องโดยอ้อมหรือโดยตรงก็ตาม จึงไม่ได้หมายความว่า คนในพื้นที่เท่านั้นที่จะให้ความเห็นได้

“ผมคิดว่าจะทำอย่างไรให้ภาพขององค์กรอิสระ เป็นที่ยอมรับของหลายๆ ฝ่าย อาจจะไม่ใช่ทุกฝ่าย ถ้าเราฝันมากๆ ผมว่ามันเป็นเพื่อนของทุกฝ่ายเลยนะ เจ้าของโครงการเขาก็อยากผูกมิตรด้วยนะ หน่วยงานรัฐก็ดี คณะกรรมการผู้ชำนาญการก็ดี สผ.ก็ดี หน่วยงานองคาพยพทั้งหลายแหล่ หน่วยงาน เอ็นจีโอ สถาบันการศึกษา มันจะต้องหลอมรวมให้เห็นว่าเขาเป็นมิตร อันนี้อาจจะฝันเกินไปนะ แต่มันจะทำอย่างไรให้เขายอมรับ อันนั้นคือประเด็นมันก็จะต้องเริ่มจากว่าสิ่งที่จะให้ความเห็น มันจะต้องปราศจากผลประโยชน์ เคลือบแคลงสงสัย คือความเห็นแบบใสซื่อบริสุทธิ์เป็นกลางอิสระมันก็จะนำมาซึ่งการยอมรับได้ ไม่งั้นกลายเป็นว่า เพราะคนนี้มีผลประโยชน์เลยเสนอแค่นั้น เลยเสนอระงับโครงการ เลยเสนอชะลอโครงการ เลยเสนอให้ทบทวนโครงการ มันก็เลยไม่มีที่สิ้นสุด”

ในฐานะองค์กรประชาชน นิคมคาดหวังกับการยกร่างกฎหมายองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมนี้ว่า แม้จะมีข้อจำกัดทางกฎหมายแม่ ที่ระบุว่าองค์กรมีหน้าที่เพียงแค่ให้ความเห็น ซึ่งจริงๆ มันน่าจะมากกว่านั้นก็คือให้ความเห็นชอบ หรือไม่ชอบ หรือฟันธงหรือสรุป คือควรมีอำนาจมากกว่านี้ ทำให้มีข้อจำกัดก็คือ ต้องยกร่างกฎหมายลูกให้เป็นไปตามนั้น

“ทีนี้ถ้าดูจากกรรมการสิทธิ มันจะต้องดูอย่างใกล้ชิดมาก ก็คือว่าเขาไม่ใช่แค่แก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิเท่านั้น เขาไกล่เกลี่ย ซึ่งบทบาทของสังคมไทยในเรื่องของการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งด้านสิ่งแวดล้อมไม่มีกลไกรองรับตรงนี้เลย มันมีความพยายาม เรื่องท่อแก๊สสมัยนั้น อาจารย์วันชัย ตอนหลังมาอยู่พระปกเกล้า พยายามทำหน้าที่ไกล่เกลี่ย ผมกำลังพูดถึงว่าบทบาทขององค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมนี้ ถ้าไม่ติดเรื่อง 67 วรรคสอง อาจจะรวมเรื่องการไกล่เกลี่ย และอาจจะรวมเรื่องการส่งเสริม เหมือนกรรมการสิทธิ ก็คือส่งเสริมการเรียนรู้การใช้สิทธิอะไรต่างๆ แต่ที่นี้พอมาดูบทบาทหน้าที่มันไม่ได้ส่งเสริมให้ประชาชนบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพได้เลย เพราะว่ามันไปติดขัดที่ 67 วรรคสอง”

จุดเริ่มเมื่อทำ “อีไอเอ” ไม่ลงตัว

สัญชัยอธิบายถึงจุดเริ่มต้นความคิดเรื่ององค์การอิสระว่าเกิดขึ้นจากประวัติศาสตร์ก่อนหน้านี้ที่มีกรณีข้อพิพาท ความขัดแย้งรุนแรงโดยเฉพาะโครงการที่ทำการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แล้วปรากฏว่า นำมาซึ่งความไม่ลงตัวในหลายๆ ด้าน ซึ่งข้อมูลความหลากหลายของความเห็นไม่ได้ถูกหยิบยกมาในเล่มของรายงานของอีไอเออย่างรอบด้าน
 
“มันก็จะเป็นเก็บตกอยู่ตรงนั้น ร่วงหล่นอยู่ตรงนี้ กระจัดกระจายอยู่ตรงโน้น แล้วก็จะมีช่องทางบ้าง ซึ่งตอนนั้นถือว่าบ้างแต่ไม่มากแต่มันส่งไม่ถึง แล้วมันก็ไม่มารับแล้วมันก็ปิดๆ งำๆ แอบๆ ซ่อนๆ แล้วก็จะต้องส่งก็มีการปัดกันไป ปรมาจารย์ก็เลยคิดว่า ทำยังไงให้ความเห็นที่หลากหลายแต่มันอาจจะมีคุณค่าแม้จะไม่มีผลต่อการเห็นชอบก็ตาม ตอนแรกท่านใส่ความเห็นชอบเดี๋ยวมันก็จะตัดกระบวนการนโยบายว่าท่านผู้มีความเห็นชอบเขาก็มีอยู่แล้ว กรม กอง กระทรวง นโยบาย รัฐบาล ครม. ก็อย่าไปตัดตรงนั้น ก็เอาแค่ความเห็นประกอบการตัดสินใจ”

ขณะที่บัณฑูรย์กล่าวว่า การเกิดความคลางแคลงใจต่อกระบวนการทำอีไอเอ เป็นส่วนหนึ่งที่นำมาถึงการยกร่างฯ นี้ “เป็นไปได้ไหมถ้าหากเรามีองค์กรอิสระขึ้นมาจะสามารถเป็นผู้ที่ดำเนินกระบวนการทำอีไอเอ คือเป็นองค์กรอิสระที่มาดำเนินการในเรื่องนี้แทนที่จะให้ผู้ประกอบการหรือผู้ดำเนินโครงการทำเองอย่างที่มีการเรียกร้องมา มันจะขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือเปล่า ผมว่าไม่น่าเป็นระบบอย่างที่ว่านั้น เพราะถ้าจะแก้ตรงระบบอีไอเอกับปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของโครงการกับผู้รับจ้างเอง มันต้องแก้อีกแบบหนึ่ง มันไม่ได้แก้โดยการให้องค์กรอิสระมารับผิดชอบการทำอีไอเอ”

ข้อเสนอของเขาคือ การปรับให้สำนักอีไอเอของสผ.ไปเป็นองค์กรที่ห่างจากการควบคุมของนักการเมืองมากขึ้น ซึ่งรูปแบบองค์การมหาชนจะตอบโจทย์นี้ได้มากกว่า ให้สำนักอีไอเอของสผ.แยกออกไปจากระบบราชการซะ ให้นักการเมืองมีระยะห่างแล้วเข้ามาดูแลจัดการจ้างระบบบริหารศึกษาตรงนั้น ระบบก็จะเดินต่อไปและมีองค์กรอิสระมาถ่วงดุลอีกชั้นหนึ่ง

ต่อคำถามที่ว่า การทำงานเชิงรุก ในการให้ความคิดเห็นในกรณีที่เกิดขึ้นมาก่อน จะไปซ้ำซ้อนกับงานของหน่วยงานอื่นที่มันมีอยู่แล้วหรือไม่ นิคมตอบว่า “มันอาจจะไม่ต่างกันโดยบทบาทและหน้าที่ แต่ว่ามันต่างกันโดยยี่ห้อ ก็คือยี่ห้อองค์กรอิสระกับยี่ห้อราชการ มันอาจจะต่างกันเท่านั้นเอง ก่อนหน้านี้เคยคิดกันถึงว่า องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมอาจจะต้องมีเงินกองทุนที่จะจ้างบริษัทฯที่ปรึกษาผ่านอีไอเอ และไม่ใช่ผู้ประกอบการจ้างนะยังคิดกันถึงขนาดนี้ แต่ว่าก็เป็นแค่ความคิดของพวกเราแค่บางกลุ่ม ไม่ได้มีการขยับและไม่ได้มีการถกเถียงกันต่อ คล้ายๆ กับว่าเป็นองค์กรกลางเป็นองค์กรอิสระสิ่งแวดล้อม และตอนนั้นคิดกันไม่ใช่ชื่อองค์กรอิสระ คือผมคิดกันในวงเล็กนะ เป็นองค์กรตรวจสอบสิ่งแวดล้อมไม่ใช่อิสระคือว่าเป็นการตรวจสอบ แต่ที่นี้เอาหล่ะ มันอาจจะมีข้อจำกัดใน 67 วรรคสอง กับสถานการณ์ทางการเมืองตอนนี้เราก็รู้ ถ้ากฎหมายจะให้ดันออกในช่วงนี้ก็ดูว่าใครมีเสียงข้างมากในสภา”

สัญชัยชี้แจงบทบาทการสื่อสารสาธารณะขององค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมว่า เป็นการ “ซ้ำเสริม” มากกว่าซ้ำซ้อน ซึ่งจะช่วยทดแทนหน่วยงานรัฐที่อาจจะมีข้อจำกัดในบางพื้นที่ บางรูปแบบ บางเวลา ขณะที่นิคมบอกว่าในเมื่อรัฐธรรมนูญเขียนให้องค์กรฯ เป็นฝ่ายตั้งรับ ก็เลยต้องมีการศึกษา และรับฟังความคิดเห็น

“ก็เลยยอมรับข้อจำกัด 67 วรรคสองยอมรับข้อจำกัดตรงนี้ และก็หวังเพียงแต่ว่า มีองค์กรอิสระเข้ามา คือไม่ได้หวังอะไรไปมากกว่านี้ คือข้อจำกัดของ 67 วรรคสองไม่ได้ให้อำนาจองค์กรอิสระไปมากกว่าการประมวลข้อมูลและก็เสนอความคิดเห็น อย่างไรก็ตาม ก็หวังว่าจะมาแก้ไขปัญหาเรื่องอีไอเอได้ เพราะเราต้องยอมรับว่าทีผ่านมา อีไอเอมีปัญหามาตลอด มีปัญหาทั้งสองส่วน หนึ่งเรื่องผู้ประกอบการจ้างบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งผลของการศึกษามันก็ออกมาเอื้อต่อผู้ประกอบการ สองคือการทำหน้าที่ของ สผ. หรือว่าคนที่เกี่ยวข้องกับกรรมการสิ่งแวดล้อมหรือผู้ชำนาญการอะไรต่างๆ ที่ผ่านมากระบวนการพิจารณาอีไอเอมีปัญหามาโดยตลอด ฉะนั้นก็หวังเพียงแต่ว่ากรรมการอิสระด้านสิ่งแวดล้อมจะเข้ามาแก้ปัญหาอีไอเอได้”

ส่วนบัณฑูรย์ทิ้งท้ายว่า ทำไมเราถึงจำเป็นต้องมีคณะกรรมการองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมในร่างกฎหมายที่กำลังเตรียมจะยกนี้

“คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตั้งได้ตามรัฐธรรมนูญ เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ในขณะที่เมื่อเปรียบเทียบสิทธิมนุษยชนกับสิ่งแวดล้อมในสังคมไทย เรื่องอะไรน่าจะสำคัญกว่าใกล้ชิดกับประชาชนมากกว่า เรื่องสิทธิมนุษยชนยังกลายเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้เลย และในอนาคตการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันข้างหน้าทำไมไม่ทำให้มันเป็นคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติตามรัฐธรรมนูญ ภาคประชาชนด้วย ไม่ใช่ตาม พรบ.ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ก็คือมีองค์ประกอบเข้าไปเป็นคณะกรรมการด้านสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในฐานะที่มีสถานะเหมือนกับกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เหมือนกับกรรมการด้านผู้บริโภคซึ่งเขายกระดับองค์ประกอบอยู่ในรัฐธรรมนูญเรื่องสิ่งแวดล้อม พูดกันในสังคมไทยเรื่องของสิ่งแวดล้อมสำคัญกว่าเรื่องสิทธิมนุษยชนมากเลย มากกว่าเยอะ ก็เป็นการบ้านให้คิดต่อไป"

ขอบคุณภาพโดยสำนักพิมพ์ทางช้างเผือกและ แม้นวาด กุญชร ณ อยุธยา

สภาพตามธรรมชาติของลำพะเนียงที่ระดับน้ำความสูงของน้ำกับที่นาไม่แตกต่างกันและไม่มีถนนเลียบคลองของกรมชลประทานกั้นขวางลำน้ำช่วงนี้มียาวประมาณ 2 กิโลเพราะกรมชลฯ ตกสำรวจ
เด็กๆ ช่วนยกถุงปลาขึ้นเรือข้ามถนนของกรมชลฯ ถูกน้ำท่วมขังซึ่งทำให้ชาวบ้านที่จะเดินไปทำนาได้รับความลำบาก
เยาวชนเดินเท้าไปปล่อยปลาปลูกต้นไม้บนถนนที่เกิดขึ้นหลังจากกรมชลฯ เข้ามาขุดลอกขยายความกว้างของคลองโดยไม่ได้ถามชาวบ้าน นอกจากจะกินผืนนาของชาวบ้านมากมายแล้วยังกลายเป็นเขื่อนกั้นขวางทางน้ำทำให้ชาวนาประสบกับปัญหาน้ำท่วมขังในนาข้าว
เยาวชนในลำพะเนียงช่วยกันลำเลียงต้นไม้เพื่อนำไปปลูกริมลำพะเนียง เนื่องจากกรมชลฯ ถางต้นไม้เก่าออกทั้งหมดและห้ามไม่ให้มีการปลูกไม้ริมตลิ่งลำพะเนียงจึงเกิดปัญหากัดเซาะตลิ่งเรื่อยมา
อนาคตของเด็กน้อยในลำพะเนียงไม่อาจทราบได้เลยว่าลำพะเนียงจะถูกทำลายด้วยโครงการการพัฒนาใดๆ ของรัฐอีก
แม่ปัง กปโก ชาวลำพะเนียงชี้ให้ดูที่นา 5 ไร่ผืนสุดท้ายของครอบครัวที่กลายเป็นถนนของชลฯไป 3.5 ไร่ ส่วนที่ไร่ครึ่งที่เหลือกลายเป็นหลุมเพราะถูกถนนโอบล้อมไว้ไม่สามารถทำนาได้ หลายปีมานี้เธอต้องไปเช่าที่นาเพื่อทำนา
กำลังโหลดความคิดเห็น