xs
xsm
sm
md
lg

เปิดมิวเซียมสยามวันแรก โชว์นิทรรศการ “เรียงความประเทศไทย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“มิวเซียมสยาม” เปิดให้ประชาชนเข้าชมวันแรก ผอ.สรส.มั่นใจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการส่งเสริมการศึกษานอกห้องเรียน โชว์นิทรรศการ ‘เรียงความประเทศไทย’ 17 ห้อง ด้านประธาน สบร.เล็งเปิดให้เอกชนเข้าใช้พื้นที่ในมิวเซียมฯ เพื่อโชว์สถาปัตยกรรมไทย โว! อยากรู้เรื่องเมืองไทย-คนไทย ต้องมาที่มิวเซียมสยาม จี้ให้เร่งสร้างผลงานออกสู่สายตาประชาชน

พล.ร.อ.ฐนิธ กิตติอำพน ผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้และสร้างสรรค์ (สรส.) เปิดมิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ให้ประชาชนเข้าชมเป็นวันแรก โดย พล.ร.อ.ฐนิธ กล่าวว่า มิวเซียมสยามเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของประเทศ ที่บอกเล่าเรื่องราว และสร้างการเรียนรู้ด้วยตนเองแก่ผู้เข้าชม โดยทีมงานและผู้เชี่ยวชาญทางด้านศิลปวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ หลายท่านได้ร่วมระดมความคิดในการสร้างสรรค์และออกแบบพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นเวลากว่า 3 ปี บนพื้นฐานของการจัดแสดงนิทรรศการที่ผสมผสานระหว่างการเล่น (Play) และการเรียนรู้ (Learn) นิทรรศการในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เป็นนิทรรศการชุด “เรียงความประเทศไทย” ซึ่งเน้นการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม ทำให้สามารถเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีแบบอินเตอร์แอ็กทีฟ การเล่าเรื่องราวผ่านตัวละคร ทำให้เกิดการ-สื่อสารอย่างใกล้ชิด ค้นหาความรู้อย่างเพลิดเพลินได้ด้วยตนเอง ผ่านเกมส์ และสื่อสร้างสรรค์แนวใหม่ เพื่อช่วยกระตุกต่อมความคิด และจุดประกายความอยากรู้ให้แก่คนไทย ให้เกิดการตั้งคำถาม อันจะนำไปสู่การสืบค้นหาความรู้เพิ่มเติมด้วยตนเอง อีกทั้งยังทำให้การเรียนรู้ประวัติศาสตร์เป็นไปอย่างสนุกสนานยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ นิทรรศการ ‘เรียงความประเทศไทย’ มีการจัดแบ่งห้องนิทรรศการออกเป็น 17 ห้อง ได้แก่ เบิกโรง, ไทยแท้, เปิดตำนานสุวรรณภูมิ, สุวรรณภูมิ, พุทธิปัญญา, กำเนิดสยามประเทศ, สยามประเทศ, สยามยุทธ์, แผนที่-ความยอกย้อนบนแผ่นกระดาษ, กรุงเทพฯภายใต้ฉากอยุธยา, ชีวิตนอกกรุงเทพฯ, แปลงโฉมสยามประเทศ, กำเนิดประเทศไทย, สีสันตะวันตก, เมืองไทยวันนี้, มองไปข้างหน้า และตึกเก่าเล่าเรื่อง นอกจากนี้ ผู้เข้าชมจะได้รับความรู้เพิ่มเติมจากเทคนิคการเล่าเรื่องโดยใช้ตัวละคร พูดถึงเนื้อหานับแต่อดีตถึงปัจจุบันของผู้คนและดินแดนในอุษาคเนย์ (South East Asia) และในประเทศไทย

“เราหวังว่ามิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการส่งเสริมการศึกษา นอกห้องเรียน และเป็นที่สำหรับทุกคนในการค้นหาตัวตนและความเป็นมาของชาติ พร้อมปลูกฝังให้เยาวชนและประชาชนชาวไทยเป็นผู้รักการเรียนรู้ โดยเฉพาะการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยเราได้มีการจัดเตรียมคู่มือนำชม เรียงความประเทศไทย ไว้สำหรับผู้ชมทั่วไปเพื่อให้สามารถเข้าชมพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง พร้อมทำชุดเอกสาร เรียงความประเทศไทย สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น เพื่อเป็นคู่มือสำหรับครูและอาจารย์โดยเฉพาะ” พล.ร.อ.ฐนิธกล่าว

สำหรับในโอกาสพิเศษที่เปิดให้ประชาชนเข้าชมเป็นวันแรกในวันที่ 2 เมษายนนี้ มิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ได้จัดให้มีการเปิดมุมมองการเรียนรู้ผ่านเสียงเพลงด้วย การแสดงของ Jazz Band ของอาจารย์ช้างต้น กุญชร ณ อยุธยา อาจารย์ประจำวิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมพิเศษที่มีชื่อว่า “พิพิธพาเพลิน ตอน ชีวิตก่อนสุวรรณภูมิ” (Plearn Museum: Life Before Suvarnabhumi) มาให้ประชาชนทั่วไปได้มีส่วนร่วมในการเรียนรู้ถึงวิธีการดำรงชีวิตของคนในสมัยก่อนสุวรรณภูมิด้วยตนเอง ซึ่งโดยปกติจัดทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ตลอดเดือนเมษายนนี้

ด้าน ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการบริหารสำนักงานบริหาร และพัฒนาองค์ความรู้ (สบร.) กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เข้ามาสานต่องานใน สบร. โดยเฉพาะการปรับปรุงโครงสร้างและหน่วยงานทั้ง ศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย สถาบันการเรียนรู้และสร้างสรรค์ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม อุทยานการเรียนรู้ ให้เกิดความมั่นคง สามารถเผยแพร่องค์ความรู้ต่างๆไปสู่ประชาชนอย่างทั่วถึง ในขณะเดียวกัน นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแล สบร. ได้เน้น ให้ตนเร่งสร้างผลงานให้ออกสู่สายตาประชาชนให้มากที่สุด เนื่องจากที่ผ่านมา สบร.ได้ใช้งบประมาณของประชาชนไปเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ภายใน 3-6 เดือน จากนี้ไป สบร.จะจัดกิจกรรมองค์ความรู้ด้านต่างๆออกมาให้เห็นอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการตอบแทนสังคมให้เกิดกระบวรการเรียนรู้

“ส่วนการย้ายศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ หรือทีซีดีซีนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร มีมติไม่ให้ย้ายจากที่ทำการอาคารเอ็มโพเรียมมายัง อาคารหลังใหม่บริเวณจตุรัสจามจุรี เพราะเห็นว่าที่ทำการเดิมได้พัฒนารูปแบบไว้อย่างเหมาะสมอยู่แล้ว ซึ่งถ้าย้ายมาที่ใหม่จะต้องเสียงบประมาณในการเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ ตกแต่งอาคารอีกเป็นจำนวนมาก รวมทั้งจะต้องเสียเวลาในการก่อสร้างอีกประมาณ 2 ปี ส่งผลให้ผู้ใช้บริการเสียโอกาสในการศึกษาหาความรู้ ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของการย้ายและความประหยัดงบประมาณแล้ว นับว่าพอๆ กัน”

ดร.ณรงค์ชัย กล่าวอีกว่า หน่วยงานใน สบร.จะต้องเข้าถึงประชาชนทุกภาคส่วน ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อเป็นเผยแพร่ความรู้ต่างๆ ให้เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มด้วย ตนได้มาตรวจเยี่ยมมิวเซียมสยามฯ ซึ่งใช้งบฯการจัดสร้าง 150 ล้านบาท โดยในช่วงแรกพิพิธภัณฑ์จะเปิดให้ประชาชนเข้าชมได้ฟรี ซึ่งเป้าหมายของมิวเซียมสยามฯ คือการให้คนเข้ามาชมกันจำนวนมาก เพื่อให้เกิดความเข้าใจรากฐานความเป็นมาของไทย ซึ่งการจะทำให้คนเข้ามาเยี่ยมชมมิวเซียมสยามฯ จำนวนมากนั้น ต้องอาศัยการโฆษณา และการบอกต่อ โดยเฉพาะการบอกต่อเป็นการประชาสัมพันธ์ที่ดีที่สุด เมื่อผู้ปกครองและเด็กเข้ามาแล้วรู้สึกสนุกก็จะไปบอกให้คนอื่นๆ ให้เข้ามา นอกจากนี้ เราจะเปิดให้ภาคเอกชนเข้ามาใช้สถานที่ภายในมิวเซียมสำหรับจัดงาน เช่น จัดงานเลี้ยง จัดนิทรรศการ ซึ่งจะทำให้คนได้เห็นสถาปัตกรรมไทย เพราะในต่างประเทศก็อนุญาตให้เอกชนเข้ามาใช้สถานที่พิพิธภัณฑ์สำหรับการจัดงานต่างๆ ได้ด้วย ซึ่งหากอยากรู้เรื่องเมืองไทย และความเป็นคนไทยให้มาที่มิวเซียมสยามดีที่สุด

ทั้งนี้ มิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าเยี่ยมชมในวันที่ 2 เมษายน 2551 เป็นต้นไป โดยจะเปิดทำการทุกวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 10.00-18.00 น. ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมพิพิธภัณฑ์ได้ตามวันและเวลาดังกล่าว หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่มิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้สถาบันการเรียนรู้และสร้างสรรค์ เลขที่ 4 ถนนสนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200 โทรศัพท์ 0-2622-2599 หรือเว็บไซต์ www.ndmi.or.th













กำลังโหลดความคิดเห็น