xs
xsm
sm
md
lg

ถอดรหัสทัศนคติอันตราย

เผยแพร่:   โดย: ว.ร.ฤทธาคนี

ทัศนคติอันตรายของนายจักรภพ เพ็ญแข เมื่อ 29 สิงหาคม 2550 ณ ชมรมผู้สื่อข่าวต่างประเทศในประเทศไทย เป็นประเด็นร้อนจริงๆ รวมถึงการพยายามบิดเบือนคำแปลของตัวเอง ซึ่งบรรดาแฟนคลับของจักรภพได้ออกมาสนับสนุนข้างๆ คูๆ แต่หยิบยกบริบทสำคัญเกี่ยวข้ององคมนตรีว่า เป็นบุคคลที่วิจารณ์ได้ แต่ในกรณีพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ มิได้แค่ถูกวิจารณ์ แต่เป็นการใส่ความ บริภาษด้วยถ้อยคำไม่สมควร และมิได้ให้ความเคารพตามฐานะที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ กลับมุ่งที่จะสร้างความเข้าใจผิดในหมู่ชาวต่างชาติ เพื่อมุ่งหวังให้กลุ่มอนาธิปไตยสากลหยิบยกเรื่องนี้ลดศรัทธาในระบบชาติของไทย การกล่าวอ้างบ่อยๆ หลายครั้งของกลุ่มซ้ายในซ้ายของอนาธิปไตยคติในพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่ง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ได้ออกมากล่าวเตือนเมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่า

กลยุทธ์ของซ้ายในซ้ายยังคงดำเนินต่อเนื่อง และการนี้วิเคราะห์ว่าเพื่อลดบทบาทพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีในฐานะเป็นคนไทยที่รักระบบชาติไทย แต่หากจะพิจารณาถึงยุทธศาสตร์ที่ลึกซึ้ง ลึกล้ำ และซับซ้อนนั้นเป็นแนวคิดที่น่ากลัวมากเกินบรรยายต่อระบบชาติของไทย และตามรัฐธรรมนูญนั้น หน้าที่ขององคมนตรีคือการถวายคำปรึกษาตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์และพระราชประสงค์หลักอันเป็นยุทธศาสตร์ และวิสัยทัศน์ที่ยิ่งใหญ่เกินกว่ายุทธศาสตร์ใดๆ ได้แก่ “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” แต่นายจักรภพ เพ็ญแข มิได้พูดถึงเลยในคำปราศรัยของตนต่อหน้าชาวต่างชาติ ทั้งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในเชิงรัฐศาสตร์สากล ซึ่งตัวเองก็เป็นนักรัฐศาสตร์ที่ร่ำเรียนทั้งในสถาบันชั้นยอดทั้งในและนอกประเทศ

และเป็นหน้าที่สำคัญขององคมนตรีทุกท่านที่จะแสวงคำตอบทั้งหลายทั้งมวลถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงวินิจฉัยให้ได้มาซึ่งสูตรสำเร็จในการ “ครองแผ่นดินโดยธรรม” ของพระองค์

จึงเป็นหน้าที่ของผู้เขียนที่ต้องย้ำว่าอนาธิปไตยสากลมีตัวตนสามารถเข้าไปทัศนาได้ที่ www.anarchy.no ซึ่งจะพบนิยามศัพท์ Anarchy and Anarchism หรืออนาธิปไตยและอนาธิปไตยคตินิยมหมายถึง ระบบและการบริหารจัดการที่ปราศจากผู้ปกครองหรือผู้ควบคุม หรือผู้ครอบงำ หรือประมุข หรือผู้ชี้ขาด

อนาธิปไตยในไทยมีตัวตนหรือไม่นั้น คงต้องศึกษาบทวิเคราะห์ภาษาอังกฤษของ ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร นักวิชาการผู้มีชื่อเสียงยิ่งแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเคยเป็นวิทยากรมหาวิทยาลัยฮอบกินส์แห่งสหรัฐอเมริกา ในหัวข้อการวิเคราะห์เรื่องว่า “การเคลื่อนไหวทางสังคมที่ได้รับความนิยมยิ่ง 2002 หรือ Popular Movement 2002” ของสถาบันเอเชียศึกษาสรุปได้ว่า การเคลื่อนไหวทางสังคมในประเทศไทย ห้วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา หรือห้วง พ.ศ. 2516-2545 สังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วคล้ายๆ กับประสบการณ์สังคมการเมืองที่เกิดขึ้นในอเมริกาใต้ และอินเดีย ในลักษณะที่ประชาชนฐานล่างมีส่วนร่วมในสังคมการเมืองมากขึ้น ต่อต้านระบบองค์กรแบบเก่า และให้ความสนใจต่อสภาวะแวดล้อมทุกมิติมากขึ้น รวมถึงการต่อต้านการใช้เงินซื้อเสียงในระบบประชาธิปไตย จึงเกิดยุทธศาสตร์มวลชน 3 ประการที่สังคมต้องเลือกคือ

1. การดำเนินการตามระบบที่มีอยู่แล้ว แต่ให้มีการเปลี่ยนแปลงในตัวบทกฎหมายให้เข้มแข็งขึ้น และการบังคับใช้อย่างจริงจัง ความตั้งใจให้เกิดองค์กรหรือสถาบันเพื่อสังคมโดยรวม และประสานงานการเมืองนี้อย่างมีประสิทธิภาพ 2. จัดตั้งพรรคการเมืองสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงโดยตรง และ 3. ให้กลุ่มอนาธิปไตยแนวทางใหม่กระทำการตามที่ตนปรารถนาในการดำรงชีวิต โดยไม่สนใจต่อระบบการปกครองของรัฐโดยแสวงหาความเข้มแข็งของสังคมนี้ผ่านเครือข่ายสังคมอนาธิปไตยแนวทางใหม่ของพวกตน

ศ.ดร.ผาสุก สรุปว่าคนไทยได้เลือกหนทางแรกเป็นยุทธศาสตร์สังคมชาติที่ต้องการตัวบทกฎหมาย และให้มีผลบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นธรรม หรือเราอาจจะเรียกได้ว่า คนไทยต้องการระบบตุลาการภิวัฒน์ก็ได้

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนต้องการให้เห็นว่าอนาธิปไตยคตินิยมมีในประเทศไทยจริง และปัจจุบันเชื่อมโยงกับอนาธิปไตยสากลตามลักษณะโลกยุคข้อมูลข่าวสาร โดยมีวัตถุประสงค์เชิงปรัชญาเดียวกัน คือ ล้มระบบการปกครองที่มีระบบรัฐศาสตร์ สังคม และเศรษฐกิจแบบผูกมัดด้วยกระบวนการอันดีงามทางกฎระเบียบ กฎหมาย และวัฒนธรรม

เสรีภาพความคิดเป็นเรื่องบุคคล ทุกคนมีสิทธิคิด ทุกคนมีสิทธิปรารถนา ทุกคนมีสิทธิน้อยใจ ทุกคนมีโกรธแค้น และอื่นๆ ตามกิเลสของปัจเจกบุคคล แต่ประชาธิปไตยตามแนวคิดของพลาโตง่ายๆ คือ สิทธิของคนโดยรวมอันมีตรรกะที่มีฐานคุณธรรม และจริยธรรมเป็นแรงกระตุ้นเรียกร้องย่อมยิ่งใหญ่กว่าสิทธิของคนโดยรวม แต่ปราศจากคุณธรรมและจริยธรรม หรืออีกนัยหนึ่งความไร้คุณธรรมและจริยธรรมไม่ใช่ประชาธิปไตย

ตรรกะในการล้มล้างระบบอะไรก็ตาม ย่อมมีฐานคุณธรรมและจริยธรรมเป็นแรงกระตุ้นเป็นแรงจูงใจ เช่น ตัวอย่างในอังกฤษเมื่อโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ค.ศ. 1599-1653 เกิดในตระกูลชนชั้นกลางระดับล่าง ต่อมาแต่งงานยกฐานะเป็นชนชั้นกลางระดับสูง เพราะครอบครัวภรรยา แต่มีปัญหาขัดแย้งกับกฎหมายท้องถิ่นกับชนชั้นเดียวกันในเมืองเกิด จนต้องเข้าชี้แจงกับคณะองคมนตรีของอังกฤษ และต้องยอมจำนนทำให้ต้องขายบ้านในเมืองฮันติงดอน ทำให้สถานะชนชั้นทางสังคมถูกลดชั้นลง แต่ต่อมาทำธุรกิจจนเจริญขึ้นและกลับเป็นชนชั้นกลางระดับสูง และเข้าอิงศาสนาทำให้ได้รับความนิยมว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ หรือในยุคนั้นการประกาศตัวเป็นคนไร้บาปเป็นประชานิยมแต่สมัยปัจจุบัน การมีเงินเป็นศาสนาเป็นประชานิยม ดังนั้นครอมเวลล์ได้รับเลือกเป็น ส.ส.

สภามีความขัดแย้งกันในหลายๆ เรื่อง เช่น ลัทธิศาสนา เงินท้องพระคลัง และการยกเลิกระบบพระราชาคณะ (Episcopacy) ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ความขัดแย้งระหว่างรัฐสภากับพระมหากษัตริย์จึงเกิดขึ้นใน ค.ศ. 1642 เป็นสงครามกลางเมือง ครอมเวลล์รบชนะราชภักดี และนำตัวพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ขึ้นศาล และตัดสินประหารชีวิต ครอมเวลล์ตั้งตัวเป็นประธานผู้พิทักษ์ (Lord Protector) แต่ต่อมาทั้งครอมเวลล์และลูกทุจริตโกงกินบ้านเมือง ประชาชนยุติการสนับสนุน นายพลจอร์จมองต์ จึงนำชัยสู่ราชภักดีและสถาปนาระบบกษัตริย์ดังเดิม ความวุ่นวายในสภานั้นมี 2 เรื่องได้แก่ การใช้อำนาจเกินขอบเขต และความขัดแย้งกันในเรื่องรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องเขียนขึ้นมาใหม่ทั้งฉบับ เพราะอังกฤษเป็นชาติที่ไม่มีการเขียนรัฐธรรมนูญเป็นแบบขนบธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติ แต่จะกำหนดกฎหมายลูกจึงมีการมองต่างมุมในสังคมการเมืองอังกฤษเกี่ยวกับเรื่องของครอมเวลล์ แต่ยุติตรงที่ว่าระบบอะไรดีที่สุดสำหรับอังกฤษ

ส่วนในญี่ปุ่นนั้นล่อแหลมต่อการถูกล้มระบบจักรพรรดิเมื่อแพ้สงครามในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1945 แต่ปฏิญญาพอตสดัมไม่ได้กำหนดบทบัญญัติว่าด้วยพระราชอำนาจของจักรพรรดิ แต่มอบให้ผู้รักษาการญี่ปุ่นเป็นผู้พิจารณา

นายพลแมคอาร์เธอร์ได้รับแต่งตั้งโดยพันธมิตรให้เป็นผู้รักษาการญี่ปุ่น จึงกำหนดการเปลี่ยนแปลง 5 ประการ คือ ให้เสรีภาพสตรี สถาปนาสหภาพแรงงาน สถาปนาเสรีภาพทางการศึกษา ล้มล้างระบบความเชื่อที่ขาดคุณธรรม และเศรษฐกิจเสรี

ในเดือนตุลาคมปีนั้น นายพลแมคอาร์เธอร์มอบให้นาย คิจูโร ชิเดฮารา นายกรัฐมนตรีร่างรัฐธรรมนูญซึ่งกลุ่ม ส.ส.ซ้ายจัดต้องการล้มระบบจักรพรรดิ ส่วนฝ่ายสังคมนิยมต้องการเพียงลดบทบาทพระมหาจักรพรรดิให้เป็นเพียงหุ่นประมุขของชาติเท่านั้น แต่นายโจจิ มัสสุโมโต รัฐมนตรีมหาดไทย เสนอร่างให้คงพระราชอำนาจของจักรพรรดิไว้คงเดิม เพราะไม่มีความจำเป็นที่ต้องเลิกระบบจักรพรรดิ และเขาเชื่อว่าคนญี่ปุ่นทั้งมวลย่อมสนับสนุนเขาด้วย ซึ่งเป็นเช่นนั้นจริงๆ จนทุกวันนี้

นายพลแมคอาร์เธอร์ ได้ตรวจสอบกับนักประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และสังคมจิตวิทยาแล้วเห็นว่า หากให้เป็นไปตามกลุ่มอนาธิปไตยญี่ปุ่นแล้วอาจจะเกิดสงครามกลางเมืองขึ้น ภายในการอารักขาของทหารอเมริกันซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการปฏิสังขรณ์ประเทศญี่ปุ่น จึงเสนอร่างรัฐธรรมนูญนี้ต่อรัฐสภาสหรัฐฯ ที่เห็นชอบด้วยทำให้คนญี่ปุ่นยังคงมีจักรพรรดิอยู่จนทุกวันนี้

ทัศนคติอันตรายของนายจักรภพ คือ การตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นซึ่งล่อแหลมต่อสงครามกลางเมืองเพราะจากประโยคที่ว่าหากเกิด “การเผชิญหน้าหรือปะทะกันก็ให้เป็นไป” พลังสงครามเกิดขึ้นได้ตามหลักไตรภาคีสงคราม คือ 1) พลังสงครามที่ปราศจากเหตุผลได้แก่ ความรุนแรงของความขัดแย้งบนพื้นฐานของกิเลส และตัณหาของมนุษย์อันหมายถึง อารมณ์โกรธแค้นหรือความเกลียดชัง เป็นต้น 2) พลังสงครามที่ไม่ต้องใช้เหตุผลเป็นไปตามพฤติกรรม คือ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นโดยสังคมมองว่าเป็นไปตามกฎแห่งกรรม หรือเป็นเรื่องชะตากรรมเพราะสงครามวิ่งเข้ามาหาเราเอง โดยเราไม่ได้เป็นผู้ก่อหรือต้องการให้เกิดขึ้นกับตัวเรา เช่น สงครามมหาเอเชียบูรพา และ 3) พลังสงครามที่ตั้งบนพื้นฐานเหตุผลที่มีนโยบาย อุดมการณ์ และจริยธรรมอันเป็นกฎตายตัวในการทำสงคราม และรัฐมักจะใช้กฎนี้เป็นฐานพลังสงครามหรือ Just war

ในประวัติศาสตร์มีสงครามกลางเมืองเกิดขึ้นในโลกมากมาย แต่ที่รู้จักกันดี คือ สงครามกลางเมืองสหรัฐฯ กรณีเลิกทาสผิวดำ หรือสงครามกลางเมืองอังกฤษที่กล่าวไปแล้ว หรือสงครามกลางเมืองสเปนที่แย่งอำนาจรัฐกันเอง

จึงเป็นเรื่องที่น่าห่วงในทัศนคติของคนคนหนึ่งที่อยู่ในสังคมการเมืองไทยที่มีทัศนคติเป็นอันตราย 2 ประการ คือ การเปลี่ยนแปลงสังคมในเชิงรุนแรง และหรือให้ความรุนแรงทางสังคมเป็นบ่อเกิดอำนาจของตนหรือกลุ่มคนเพียงหยิบมือเดียว
กำลังโหลดความคิดเห็น