xs
xsm
sm
md
lg

แผนลับสหรัฐฯ ใช้นิวเคลียร์ถล่มเวียดนาม-ลาว

เผยแพร่:   โดย: ริชาร์ด เอห์รลิช

The US’s secret plan to nuke Vietnam, Laos
Richard Ehrlich
16/04/2008

เอกสารของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ที่เพิ่งถูกลดชั้นความลับลงมาให้เปิดเผยต่อสาธารณชนได้เมื่อเร็วๆ นี้ ได้เผยให้เห็นแผนการลับสุดยอดที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์เล่นงานกองกำลังฝ่ายคอมมิวนิสต์ในเวียดนามและลาว ในปี 1959,1961,และ 1968 แผนการซึ่งมุ่งหมาย “ทำให้พวกผู้ก่อความไม่สงบและเส้นทางลำเลียงของพวกเขาพิกลพิการ” ดังกล่าวนี้ ถูกโยนทิ้งไปเนื่องจากไม่มีเป้าหมายที่เหมาะสม ตลอดจนมีความเป็นไปได้ที่จะขยายสงครามไปสู่จีนและย่านแปซิฟิก

กรุงเทพฯ – กองทัพอากาศสหรัฐฯ ต้องการใช้อาวุธนิวเคลียร์เล่นงานเวียดนามในปี 1959 และ 1968 และเล่นงานลาวในปี 1961 เพื่อทำลายกองจรยุทธ์คอมมิวนิสต์ ทั้งนี้ตามเอกสารของกองทัพอากาศสหรัฐฯที่เพิ่งถูกลดชั้นความลับเมื่อไม่นานมานี้

ในปี 1959 ผู้บัญชาการทหารอากาศสหรัฐฯ พลเอก ธอมัส ดี ไวต์ ได้เลือกเป้าหมายหลายๆ แห่งในเวียดนามเหนือไว้แล้ว ทว่านายทหารคนอื่นๆ ได้ขัดขวางความต้องการของเขาที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์ถล่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้

“ไวต์ต้องการทำให้พวกผู้ก่อความไม่สงบและเส้นทางลำเลียงของพวกเขาพิกลพิการ ด้วยการเข้าโจมตีบรรดาเป้าหมายที่เลือกสรรเอาไว้แล้วในเวียดนามเหนือ ไม่ว่าจะเป็นการโจมตีด้วยอาวุธตามแบบแผนหรืออาวุธนิวเคลียร์ก็ตามที” เอกสารกองทัพอากาศที่ถูกลดชั้นความลับชิ้นหนึ่งระบุไว้เช่นนี้

“ถึงแม้ข้อเสนอของไวต์กำหนดให้บอกกล่าวเตือนภัยเวียดนามเหนือก่อนเข้าโจมตี แต่พวกผู้บังคับบัญชาเหล่าทัพคนอื่นๆ ได้หน่วงเหนี่ยวขัดขวาง โดยเป็นไปได้ว่าเนื่องจากมีการเสนอให้ใช้อาวุธนิวเคลียร์ด้วย อีก 7 เดือนต่อมา ข้อเสนอนี้ก็ถูกถอนออกไป” เอกสารชิ้นนี้บอก

เอกสารชิ้นนี้มีความหนา 400 หน้า ใช้ชื่อเรื่องว่า “กองทัพอากาศสหรัฐฯในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: สงครามในลาวภาคเหนือ ปี 1954-1973” เขียนขึ้นในปี 1993 โดยศูนย์ประวัติศาสตร์กองทัพอากาศ ในกรุงวอชิงตัน และ “ถูกกำหนดชั้นให้เป็นความลับโดยแหล่งที่มาหลายแหล่ง”

ทว่ามันถูกนำออกเปิดเผยต่อสาธารณชนเมื่อวันที่ 9 เมษายน พร้อมๆ กับเอกสารกองทัพอากาศยุคสงครามที่เคยถือเป็นความลับมาก่อนอีกหลายๆ ชิ้น โดยสำนักจดหมายเหตุด้านความมั่นคงปลอดภัยแห่งชาติ ภายหลังการฟ้องร้องอันยืดเยื้อที่อ้างสิทธิตามรัฐบัญญัติสิทธิเสรีภาพทางข้อมูลข่าวสาร สำหรับสำนักจดหมายเหตุแห่งนี้เป็นสถาบันวิจัยนอกภาครัฐบาลที่ถือเป็นสถาบันอิสระ ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน

ไวต์ “ได้ขอให้คณะเสนาธิการทหารผสมเปิดไฟเขียว เพื่อส่งเครื่องบินไอพ่นทิ้งระเบิดแบบ บี-47 ของกองบัญชาการทางยุทธศาสตร์ภาคอากาศ จำนวน 1 ฝูงบิน ไปยังฐานทัพอากาศคลาร์ก ในฟิลิปปินส์” เพื่อเตรียมการสำหรับเข้าโจมตีเวียดนามที่อยู่ใกล้เคียงกัน เอกสารที่ถูกลดชั้นความลับแล้วชิ้นนี้ระบุ คำขอของไวต์ที่จะให้นำเอาอาวุธในคลังแสงนิวเคลียร์ของอเมริกาออกมาใช้ อาจจะได้รับแรงบันดาลใจจากรายงานการศึกษาของกองทัพาอากาศชิ้นหนึ่ง ซึ่งใช้ชื่อว่า “อาวุธปรมาณูในสงครามชนิดจำกัดเขตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” เอกสารสันนิษฐาน

รายงานการศึกษาดังกล่าว “มุ่งศึกษาเรื่องการใช้อาวุธปรมาณูสำหรับ ‘การควบคุมสถานการณ์’ ในเขตป่าทึบ, เส้นทางลำเลียงผ่านหุบเขา, พื้นที่หินปูนซึ่งเต็มไปด้วยถ้ำ หลุมบ่อ ตลอดจนทางน้ำใต้ดิน, และช่องเขา เพื่อสกัดกั้นความเคลื่อนไหวของข้าศึก และเพื่อเปิดสิ่งปกคลุมให้โล่งออก” เอกสารที่ถูกลดชั้นความลับชิ้นนี้ กล่าวไว้ในหมายเหตุซึ่งบรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ของไวต์ โดยที่พื้นที่ภูมิประเทศดังที่กล่าวมาข้างต้นนี้มีอยู่เป็นอันมากในภาคเหนือของเวียดนามและลาว

อีกหนึ่งปีต่อมา นั่นคือระหว่างเดือนธันวาคม 1960 ถึง มกราคม 1961 สหภาพโซเวียตได้ส่งเครื่องบินลำเลียง “อาหาร, เชื้อเพลิง, และยุทโธปกรณ์” ไปให้แก่กองกำลังท้องถิ่นที่นิยมมอสโกในลาว โดยผ่านทางฮานอย เอกสารกองทัพอากาศที่ถูกลดชั้นความลับแล้วชิ้นนี้บอก และถึงเดือนมีนาคม 1961 คณะเสนาธิการทหารผสมของสหรัฐฯ “ได้ตอบโต้ด้วยแผนการที่กำหนดให้ใช้กำลังพลไม่เกิน 60,000 นาย พรั่งพร้อมด้วยการคุ้มกันทางอากาศและอาวุธนิวเคลียร์”

“การที่ฝ่ายกองทัพรวมเอาอาวุธนิวเคลียร์เข้าไว้ด้วยเช่นนี้ นับเป็นมรดกของสงครามเกาหลี เพราะสำหรับผู้บังคับบัญชาเหล่าทัพเหล่านี้แล้ว เป็นสิ่งที่ไม่พึงคิดเลยสำหรับสหรัฐฯที่จะเข้าไปสู้รบทำสงครามตามแบบแผนซึ่งตัดทอนกำลังเป็นอย่างมากอีกสงครามหนึ่ง” เอกสารบอก

ในปี 1968 ก่อนหน้าที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์จะเปิดยุทธการรุกใหญ่ช่วงตรุษเวียดนามอันโด่งดังของพวกเขาไม่นานนัก กองทัพคอมมิวนิสต์เวียดนามเหนือพร้อมด้วยพันธมิตรเวียดกงในภาคใต้ของพวกเขา ก็ได้เข้าโจมตีกองทหารอเมริกันในพื้นที่ตอนกลางของประเทศ ซึ่งเป็นบริเวณที่สหรัฐฯรักษาเอาไว้เพื่อคงให้เวียดนามแบ่งแยกออกเป็นสองส่วน พลเอก วิลเลียม เวสต์มอร์แลนด์ ผู้บัญชาการกองทหารอเมริกันในเวียดนาม ก็ได้ตอบโต้ด้วยการขอใช้อาวุธนิวเคลียร์

“ในปลายเดือนมกราคม พลเอกเวสต์มอร์แลนด์ ได้เตือนว่า ถ้าสถานการณ์บริเวณใกล้เขตดีเอ็มแซด [เขตปลอดทหาร] และที่คีซานห์ มีอันเลวร้ายลงอย่างรวดเร็วแล้ว ก็อาจจำเป็นต้องใช้อาวุธนิวเคลียร์หรืออาวุธเคมี” เป็นข้อความในเอกสาร [ลับสุดยอด] ที่ถูกลดชั้นความลับแล้วอีกชิ้นหนึ่ง ที่มีความยาว 106 หน้า ซึ่งใช้ชื่อว่า “กองทัพอากาศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: สู่การยุติทิ้งระเบิด, ปี 1968” และเขียนโดยสำนักงานประวัติศาสตร์กองทัพอากาศ ในปี 1970

“เรื่องนี้ทำให้ พลเอก [จอห์น พี] แมคคอนเนลล์ [ผู้บัญชาการทหารอากาศ] เร่งรัดกดดันหนัก ถึงแม้ไม่ประสบความสำเร็จก็ตาม เพื่อขอ เจซีเอส [คณะเสนาธิการทหารผสม] อนุมัติให้แจ้งกองบัญชาการภาคพื้นแปซิฟิก ตระเตรียมแผนการในการใช้อาวุธนิวเคลียร์อานุภาพต่ำ เพื่อป้องกันไม่ให้ฐานทัพนาวิกโยธิน [สหรัฐฯ] ถึงขั้นเสียหายยับเยิน” เอกสารชิ้นหลังนี้ระบุ

ตลอดช่วงเวลาส่วนใหญ่ของสงครามที่ประสบความล้มเหลวของอเมริกานี้ สหรัฐฯได้พึ่งพาการทิ้งระเบิดโจมตีทางอากาศอย่างมหาศาลยิ่ง รวมทั้งการใช้ระเบิดนาปาล์มด้วย โดยโจมตีใส่ทั้งในเวียดนาม, ลาว, และกัมพูชา ทว่าไม่ได้มีการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ใดๆ เลย ถึงแม้กองทัพอากาศสหรัฐฯได้พยายามเรียกร้องถึง 3 ครั้งดังกล่าวข้างต้น ภายหลังสหรัฐฯพ่ายแพ้เล้ว พวกคอมมิวนิสต์ก็ประสบความสำเร็จในการยึดอำนาจในปี 1975 ในทั้ง 3 ประเทศเหล่านี้

เมื่อมองย้อนหลังไปในอดีต คณะผู้เขียนเอกสารกองทัพอากาศชิ้นปี 1993 ที่ถูกลดชั้นความลับแล้ว ได้กล่าวไว้ว่า มันย่อมไม่ใช่ความคิดที่ดีอะไรเลย “ที่จะอาศัยอาวุธนิวเคลียร์มาทำลายพวกผู้ก่อความไม่สงบและแหล่งลำเลียงขนส่งของพวกเขา” ในเวียดนามหรือลาว

“เป็นที่น่าสงสัยว่าจะมีเป้าหมายที่เหมาะสมใดๆ สำหรับการใช้อาวุธเช่นว่าอยู่จริงหรือไม่ ในพื้นที่ป่าทึบทางภาคเหนือของลาวหรือเวียดนามเหนือ” เอกสารบอก “สิ่งที่สำคัญกว่านั้นก็คือ การโจมตีดังกล่าวจะทำให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้ชัยชนะอย่างมหาศาลในการโฆษณาชวนเชื่อ และเป็นไปได้ว่าจะทำให้สงครามแพร่ขยายไปสู่จีนและเขตแปซิฟิกตะวันตก” เอกสารกล่าว

จีนคอมมิวนิสต์นั้นสนับสนุนพวกจรยุทธ์ในเวียดนาม, ลาว, และเวียดนาม ซึ่งต่อต้านการโจมตีของสหรัฐฯ การที่เอกสารชิ้นนี้เอ่ยถึงเรื่องที่สหรัฐอาจจะทำให้สงครามนิวเคลียร์ที่ทำท่าจะเกิดขึ้นได้นี้ขยายตัวไปถึง “แปซิฟิกตะวันตก” ดูเหมือนจะหมายถึงการพัวพันเกี่ยวข้องทั้งกับฟิลิปปินส์, ไต้หวัน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, และหมู่เกาะใกล้เคียง ซึ่งเวลานั้นสหรัฐฯมีสิ่งปลูกสร้างทางทหารตั้งอยู่ทั้งนั้น

ริชาร์ด เอส เอห์รลิช เป็นนักหนังสือพิมพ์จากซานฟรานซิสโก, สหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันประจำอยู่ที่กรุงเทพฯ เขารายงานข่าวจากเอเชียมาตั้งแต่ปี 1978 และเป็นผู้ร่วมเขียนหนังสือสารคดีแนวสืบสวนเจาะลึกตามแบบหนังสือพิมพ์ เรื่อง “Hello My Big Big Honey! Love Letters to Bangkok Bar Girls and Their Revealing Interviews” เว็บไซต์ของเขาคือ www.geocities.com/asia_correspondent.
กำลังโหลดความคิดเห็น