xs
xsm
sm
md
lg

เปียงยางฉวยประโยชน์เมื่อสหรัฐฯวิวาทเกาหลีใต้

เผยแพร่:   โดย: โดนัลด์ เคิร์ก

Pyongyang cashes in on US row
By Donald Kirk
20/03/2551


กองทหารสหรัฐฯจะยังคงอยู่ในเกาหลีใต้แบบ “เป็นที่ต้อนรับและต้องการ”เพียงไรนั้น ย่อมขึ้นอยู่ (ไม่มากก็น้อย) กับว่า ทางการโซลเตรียมพร้อมแล้วหรือไม่ที่จะยอมจ่ายเงินพิเศษหนึ่งหมื่นล้านดอลลาร์ เป็นค่าป่วยการอันเกี่ยวเนื่องกับการโยกย้ายฐานทัพอเมริกันในประเทศนั้น ในเมื่อเรื่องนี้นับเป็นหัวใจของยุทธศาสตร์การคงทหารของสหรัฐฯในเกาหลีใต้ จึงเป็นอะไรที่เกาหลีเหนือต้องรีบเข้าหยิบฉวยหาผลประโยชน์อย่างรวดเร็ว

โซล – เพนทากอนกำลังอยู่ในช่วงโรมรันพันตูอย่างหนักกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลาโหมของเกาหลีใต้ ในประเด็นสำคัญที่ว่า ฝ่ายใดกันแน่ที่จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการโยกย้ายทหารหน่วยสู้รบของอเมริกัน จากแนวต้านทานการรุกรานที่บริเวณตอนเหนือของกรุงโซล ไปสู่ฐานทัพใหม่ไซส์มหึมาทางตอนใต้ของเมืองหลวงแห่งนี้ ข้างฝ่ายเกาหลีเหนือจัดแจงขยายผลจากเรื่องนี้ ด้วยการสาดถ้อยคำตั้งข้อกล่าวหา “เปลี่ยนทางลมสู่แนวทางเอียงขวา” เข้าใส่รัฐบาลใหม่ของประธานาธิบดีลีเมียงบัค

การวิวาทกันแบบเดือดปุดๆ เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายของการโยกย้ายกองทหารสหรัฐฯ ปะทุออกมาอย่างเปิดเผยเมื่อ พลเอก เบอร์ตัน บี เบลล์ ผู้บัญชาการทหารสหรัฐฯในเกาหลีใต้ที่กำลังจะพ้นตำแหน่งอยู่แล้ว ไปให้ปากคำต่อคณะกรรมาธิการรัฐสภาชุดหนึ่งในกรุงวอชิงตันว่า ค่าใช้จ่ายในการเคลื่อนย้ายทหารสหรัฐฯไปยังฐานทัพเปียงเต็กซึ่งเป็นประเด็นที่ขัดแย้งกันอยู่นั้น จะต้องใช้เงินถึง 10,000 ล้านดอลลาร์

เบลล์ให้ปากคำภายใต้สมมุติฐานที่ว่า ส่วนแบ่งค่าใช้จ่ายที่เกาหลีใต้ร่วมแบกรับ จะรวมถึงค่าใช้จ่ายของการเคลื่อนย้ายกองพลทหารราบที่ 2 (2ID) ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นที่คุยอวดกันนักหนา ออกจากฐานทัพเดิม ณ ค่ายแคมป์เคซีย์ ไปยังเปียงเต็ก การโยกย้ายดังที่กล่าวถึงนี้พวกนักวางแผนชาวเกาหลีใต้มองด้วยความรู้สึกหวั่นใจมานานแล้ว เนื่องจาก “2ID” เป็นหน่วยสู้รบอันทำหน้าที่ “ตรวจจับและเตือนภัยการบุกรุก” ซึ่งจะคอยหน่วงรั้งกองทหารเกาหลีเหนือ ในการเคลื่อนที่ลงใต้สู่กรุงโซล ดังที่กองพลนี้เคยกระทำมาแล้วเมื่อตอนเริ่มต้นสงครามเกาหลีในเดือนมิถุนายน 1950

กระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้บอกว่า ข้อตกลงที่กระทำกันนั้นครอบคลุมเรื่องการโยกย้ายกองบัญชาการทหารสหรัฐฯ จากฐานทัพอันกว้างใหญ่ ณ ยองซาน บริเวณตอนกลางของกรุงโซล ทว่า “ฝ่ายสหรัฐฯจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายสำหรับการโยกย้ายกองพลทหารราบที่ 2” จวบจนถึงเวลานี้ รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ออกเงินให้แล้วเกือบครึ่งหนึ่งของจำนวน 4,400 ล้านดอลลาร์ซึ่งพวกเขาบอกว่ายังเป็นหนี้ติดค้างอยู่ในเรื่องค่าโยกย้ายฐานทัพ ตามรายงานของสำนักข่าวยอนฮัป อันเป็นสำนักข่าวกึ่งทางการนั้น คำแถลงของกระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ มีข้อความ “แทบจะเท่ากับเรียกผู้บัญชาการทหารสหรัฐฯผู้นี้ว่า เป็นคนคิดฝันเอาตามใจชอบ”

ทางด้านผู้บัญชาการทหารสหรัฐฯ ซึ่งอับอายเสียหน้าจากการโต้แย้งกลับอย่างรวดเร็วของกระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ ก็ได้ออกคำแถลงฉบับหนึ่งในนามของพลเอกเบลล์เอง กล่าวเพียงแค่ว่า “ถ้าหากสาธารณรัฐเกาหลีไม่เห็นพ้องด้วย” ในเรื่องนี้ “มันก็มีความจำเป็นที่รัฐบาลเกาหลีจะต้องยกประเด็นนี้ขึ้นมาหารือกับสหรัฐฯ”

การมีปากเสียงกันเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการโยกย้าย 2ID ส่วนหนึ่งมีต้นตอมาจากแรงต่อต้านซึ่งยังคงดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง เกี่ยวกับแผนการใหญ่เพื่อการลดขนาดกำลังทหารสหรัฐฯในเกาหลีใต้ โดยที่จะไปรวมศูนย์กำลังกันอยู่ที่เปียงเต็ก ซึ่งห่างจากกรุงโซลไปทางใต้ประมาณ 60 กิโลเมตร เวลานี้สหรัฐฯมีทหาร 28,000 คนในเกาหลี แต่วางแผนที่จะลดลงให้เหลือ 25,000 คนภายในสิ้นทศวรรษนี้

เมื่อวันพุธ(19)ที่ผ่านมา รัฐมนตรีกลาโหมลีแซงฮี ได้รับฟังคำร้องเรียนอันเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก จากกลุ่มอนุรักษนิยมที่เรียกร้องให้ยกเลิกการโอนย้ายหน่วยงานที่รู้จักกันในนาม OPCON (operation control in war time หน่วยควบคุมทางยุทธการยามสงคราม) จากฝ่ายสหรัฐฯมาให้กองบัญชาการของเกาหลีใต้รับผิดชอบ ในระยะเวลา 4 ปีนับจากนี้ไป

กลุ่มอนุรักษนิยมดังกล่าว ซึ่งดำเนินการรณรงค์คัดค้านการโอนย้าย ตั้งแต่ที่แผนการนี้ปรากฏออกมาในยุคที่ โดนัลด์ รัมสเฟลด์ เป็นรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ อ้างเหตุผลว่าการโอนย้าย “เป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับความปรารถนาของประชาชนของเราส่วนใหญ่” และควรที่จะ “ได้รับการประเมินทบทวนกันใหม่” บนพื้นฐานของการวิเคราะห์ถึง “ระดับแห่งภัยคุกคามทางนิวเคลียร์จากเกาหลีเหนือ และประเด็นปัญหาด้านความมั่นคงอื่นๆ ในคาบสมุทรเกาหลี”

เบลล์ ผู้ซึ่งจะออกจากตำแหน่งของเขาในเดือนมิถุนายนนี้โดยเตรียมที่จะเกษียณอายุต่อไปนั้น ได้สร้างความไม่พอใจให้แก่เจ้าหน้าที่กลาโหมเกาหลีใต้บางคน จากการที่เข้าใช้ความพยายามในเชิงรุกเพื่อแก้ไขประเด็นการโอนย้ายอันซับซ้อนยุ่งยากนี้ แผนการของเขากำหนดให้ขีดเส้นตายไว้ที่ปี 2012 เพื่อยุบเลิกกองบัญชาการกองกำลังผสม ซึ่งทำหน้าที่รับผิดชอบสั่งการทหารทั้งหมดในกรณีที่เกิดความเป็นปรปักษ์ขึ้นมาใหม่

ขณะที่ก้าวเดินผ่านพื้นที่สนามทุ่นระเบิดแห่งความอ่อนไหวและความสลับซับซ้อนของฝ่ายเกาหลีใต้ ในเรื่องเกี่ยวกับบทบาทของสหรัฐฯนั้น พลเอกเบลล์ได้ชูประเด็นเรื่องที่เกาหลีใต้ทำท่าจะยอมแบกรับค่าใช้จ่ายการโยกย้ายกองทหารสหรัฐฯเป็นจำนวนมาก ว่าเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า กองทหารสหรัฐฯ “เป็นที่ต้อนรับและต้องการ”

การที่เขามีทัศนะเช่นนี้ เหตุผลสำคัญทีเดียวมาจากการติดต่อมาของลี ซึ่งแสดงความประสงค์ที่จะเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่ความเป็นพันธมิตรทางทหารระหว่างสหรัฐฯ-เกาหลี ขณะเดียวกันก็จะพลิกกลับผลกระทบเชิงลบของช่วงทศวรรษแห่งการมีผู้นำหัวเอียงซ้ายในเกาหลีใต้ ซึ่งรัฐบาลมุ่งที่จะหาทางปรองดองกับเกาหลีเหนือ เบลล์บอกกับบีบีซีเมื่อเร็วๆ นี้ว่า เขาพบว่าความคิดเห็นของรัฐบาลใหม่ในเกาหลีใต้ “เป็นไปทางบวกอย่างยิ่งและทำให้เกิดความมั่นใจขึ้นมาอีก”

อันที่จริง เบลล์ถึงกับทำนายว่าประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ของสหรัฐฯ จะเดินทางมาเยือนเกาหลี “ในช่วงเวลาซึ่งต้องถือว่าเป็นระยะเวลาใกล้ๆ นี้” นั่นคือ หลังจากที่ประธานาธิบดีลีไปพบปะกับบุชในกรุงวอชิงตันเดือนหน้า

ความเห็นของเบลล์ที่ชวนให้ต้องโต้กันยืดยาว นับว่าหลุดออกมาในช่วงที่ไม่ดีเอาเลย ในเมื่อเกาหลีเหนือคอยแต่จะขยายช่องทางเล่นงานรัฐบาลใหม่ของเกาหลีใต้ซึ่งอยู่ในความโน้มเอียงที่จะใช้นโยบายอนุรักษ์นิยมและเอียงขวา ทั้งนี้ ขณะที่เจ้าหน้าที่สายกลาโหมของสหรัฐฯและเกาหลีใต้มีความเห็นแตกต่างกันมาเป็นปีๆ แล้วในเรื่องย้ายฐานทัพ ทั้งในประเด็นความเหมาะควร จังหวะเวลา และวิธีการ กระนั้นก็ตาม พวกเจ้าหน้าที่เหล่านี้ส่วนใหญ่แล้ว ยังสามารถระงับกริยาให้ไปถกกันแต่เฉพาะลับหลังความรับรู้ของสาธารณชน

ความอิหลักอิเหลื่อจากการปะทุทางอารมณ์ล่าสุดคราวนี้ ดูยิ่งปรากฏชัด เมื่อกระบอกเสียงของเกาหลีเหนือ คือหนังสือพิมพ์โรดอง ชินมุน เปิดปากเตือนว่า “ความร่วมมือกับกองกำลังต่างชาติเพื่อการรุกราน” จะ “บีบให้ความสัมพันธ์เหนือ-ใต้ หวนกลับสู่วิกฤตที่ร้ายแรงที่สุดอีกวาระหนึ่ง อีกทั้งจะเป็นการวางอุปสรรคขัดขวางหนทางการรวมชาติ”

การโจมตีด้วยบทบรรณาธิการมิได้พาดพิงไปถึงนโยบายของประธานาธิบดีลี ก็จริงอยู่ แต่ก็เป็นที่กระจ่างชัดว่าเพ่งเล็งไปที่เขานั่นเอง บทบรรณาธิการดังกล่าวชี้ว่า ผลกระทบของ “การไขว่คว้าความร่วมมือกับคนนอก แทนที่จะแสวงหาความร่วมมือระหว่างคนเกาหลีด้วยกัน” ย่อมจะบ่อนทำลาย “พื้นฐานตลอดจนฐานรากที่จะพัฒนาความสัมพันธ์เหนือ-ใต้ แล้วไปปล่อยให้ชะตากรรมของชาติต้องขึ้นอยู่กับความเมตตากรุณาของกองกำลังต่างชาติ”

รัฐบาลในกรุงเปียงยางดูเหมือนจะไม่พอใจเป็นพิเศษ ต่อสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า เป็นการเพิ่มระดับ “การกระจายเสียงโฆษณาชวนเชื่อ” โดยพวกสถานีวิทยุต่อต้านคอมมิวนิสต์รายเล็กๆ ในเกาหลีใต้ ซึ่งได้เคยถูกรัฐบาลเกาหลีใต้ชุดก่อนๆ กีดขวางหรือบางครั้งก็กระทั่งปราบปรามมาแล้ว

สำนักข่าวกลางเกาหลี (เคซีเอ็นเอ) ของเปียงยาง ได้กล่าวหาสถานีวิทยุเหล่านี้ว่า มีแต่ลอกเลียนวิทยุเสียงอเมริกา และวิทยุเอเชียเสรี ในการเผยแพร่ข่าวสารซึ่งมี “ลักษณะต่อต้านการรวมชาติและต่อต้านความเป็นชาตินิยม” รวมทั้งมุ่งกระตุ้นให้เกิด “การเผชิญหน้ากันทางอุดมการณ์”

เคซีเอ็นเอได้ระบุเจาะจงออกมาเลย ถึงรายการสอนศาสนาของพวกคริสเตียน และสถานีวิทยุต่อต้านคอมมิวนิสต์ 2 แห่ง อันได้แก่ วิทยุปฏิรูปเกาหลีเหนือ และ วิทยุเปิดเสรีเพื่อเกาหลีเหนือ

กระนั้นก็ตาม เกาหลีเหนือก็กำลังเล่นเกมที่มีความซับซ้อนลึกซึ้งอยู่ โดยปรับเสียงแผดคำรามดังกล่าวให้ดูอ่อนลง ด้วยการแสดงท่าทีเหมือนกับมีความปรารถนาที่จะเจรจา เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามข้อตกลงซึ่งทำกันไว้ ณ การหารือ 6 ฝ่ายในเดือนกุมภาพันธ์ของปีที่แล้ว อันมีจุดมุ่งหมายให้ฝ่ายเหนือยอมละทิ้งอาวุธนิวเคลียร์ของตนทั้งหมด

หัวหน้าคณะผู้เจรจาของสหรัฐฯ คริสโตเฟอร์ ฮิลล์ ได้พบปะกับหัวหน้าคณะผู้เจรจาฝ่ายเกาหลีเหนือ คิมกีกวาน เป็นเวลา 2 วันในสัปดาห์ที่แล้วในนครเจนีวา ถึงแม้การพูดจากันคราวนี้ไม่สามารถแก้ไขประเด็นปัญหาเรื่องที่ฝ่ายเหนือยังล้มเหลวไม่เปิดเผยคลังแสงนิวเคลียร์ของตนออกมาทั้งหมด หรือเสร็จสิ้นการปิดโรงงานต่างๆ ของตนในยองบอน แต่ทั้งสองฝ่ายก็เห็นพ้องกันที่จะดำเนินการเจรจากันต่อไป

หลังจากฮิลล์ทิ้งผู้ช่วยระดับท็อปของเขาคนหนึ่งไว้ที่เจนีวา เพื่อมองหาลู่ทางจัดการเจรจาขึ้นอีก ทางเกาหลีเหนือก็แถลงว่าทั้งสองฝ่าย “ตัดสินใจที่จะดำเนินการเจรจาโดยตรงต่อไป ในเรื่องหนทางที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ ในการปฏิบัติตามข้อตกลงวันที่ 3 ตุลาคม” นี่ก็เป็นการอ้างอิงถึงข้อตกลงฉบับที่ทั้ง 6 ชาติซึ่งพูดจากัน สามารถจัดทำออกมาจนได้ ในสิ่งซึ่งควรที่จะเป็นตารางกำหนดเวลาอย่างเจาะจง เกี่ยวกับการทำตามข้อตกลงฉบับเดือนกุมภาพันธ์ของเกาหลีเหนือ

ความรู้สึกที่มีอยู่ในเกาหลีใต้คือ เกาหลีเหนือยังคงรอคอยให้สหรัฐฯยอมยกเลิกข้อเรียกร้องที่ว่า เกาหลีเหนือต้องยอมรับเรื่องตนเองมีโครงการสำหรับการพัฒนาหัวรบนิวเคลียร์ด้วยยูเรเนียมที่เพิ่มความเข้มข้นสำเร็จแล้ว เป็นการต่างหากออกไปเลยจากกระบวนการเพิ่มความเข้มข้นพลูโตเนียม ณ ศูนย์นิวเคลียร์ของตนที่ยองบอน

“ฝ่ายเกาหลีเหนือยังไม่ได้แถลงในที่สาธารณะเกี่ยวกับจุดยืนของพวกเขาเกี่ยวกับรัฐบาลใหม่(ของเกาหลีใต้)” ลีชงมิน ศาสตราจารย์แห่งบัณฑิตวิทยาลัยการระหว่างประเทศศึกษา มหาวิทยาลัยยอนเซ ตั้งข้อสังเกต พร้อมกับกล่าวต่อไปว่า แต่ “พวกเขาตระหนักว่าพันธมิตรสหรัฐฯ-สาธารณรัฐเกาหลี กำลังจะกลับคืนเข้าร่องเข้ารอยแล้ว”

พันธมิตรดังกล่าวนี้จะเดินหน้าได้แค่ไหน ย่อมขึ้นอยู่กับการพบปะระหว่างลีกับบุชอยู่มากทีเดียว ภายหลังจากที่ความสับสนวุ่นวายจากคำพูดของเบลล์มีการคลี่คลายสงบลงไป ศาสตราจารย์ลีจึงตั้งคำถามว่า ทำไม คิมจองอิล ผู้นำเกาหลีเหนือ จะต้อง “ช่วยหนุนส่งฐานะของรัฐบาลลีให้แข็งแรงขึ้น”ในตอนนี้ แทนที่จะเฝ้ารอดูไปก่อนว่าจะเกิดอะไรขึ้นในเดือนหน้า

ฮิลล์ซึ่งแถลงหลังกลับไปวอชิงตันแล้ว ก็ยอมรับว่าเกาหลีเหนือยังคงดึงดันไม่ยอมยื่นเสนอสิ่งที่สหรัฐฯมองว่าเป็นบัญชีอันสมบูรณ์เกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ เขากล่าวต่อไปด้วยว่า การยอมรับอะไรที่น้อยไปกว่านี้ ย่อมเป็น “สิ่งที่ไม่มีความยั่งยืนในทางการเมือง”

โดนัลด์ เคิร์ก เเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่รายงานข่าวเรื่องเกาหลี และการเผชิญหน้ากันของกำลังฝ่ายต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ มานานกว่า 30 ปีแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น