xs
xsm
sm
md
lg

รัฐประหารกับยุบสภา : อะไรเกิดก่อน?

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ในขณะที่ผู้คนในสังคมกำลังประสบภาวะเดือดร้อนจากราคาสินค้า และบริการที่แพงขึ้นอันเนื่องมาจากราคาน้ำมันแพง และได้มีการเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาดูแลแก้ไข รัฐบาลเองก็กำลังเผชิญกับปัญหาทางการเมืองอันเนื่องมาจากปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และปัญหาขาดคุณธรรม จริยธรรมของรัฐมนตรีบางคน จึงทำให้รัฐบาลภายใต้การนำของนายสมัคร สุนทรเวช พบกับภาวะวิกฤตเนื่องมาจากประชาชนลดความเชื่อมั่นในรัฐบาลลงไปเรื่อยๆ ทั้งนี้มาจากเหตุปัจจัยทางตรรกะดังต่อไปนี้

1.นายสมัคร สุนทรเวช ถึงแม้ในทางนิตินัยจะมีตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อันเป็นผู้นำสูงสุดฝ่ายบริหาร จึงน่าจะมีอำนาจเต็มในการบริหารจัดการให้เป็นไปตามนโยบายที่วางไว้ได้

แต่ในทางพฤตินัยดูเหมือนว่าผู้นำรัฐบาลไม่ทำงานในลักษณะที่ว่านี้ได้อย่างเต็มรูปแบบ และนี่เองที่ใครต่อใครซึ่งคลุกคลีกกับการเมืองมองว่าเป็นรัฐบาลหุ่น แต่เป็นหุ่นที่สวนทางกับคนเชิดหุ่นอยู่บ้าง จึงทำให้ยากแก่การทำงานร่วมกัน

2. รัฐมนตรีหลายคนในรัฐบาลชุดนี้ รวมไปถึงตัวผู้นำรัฐบาลเองก็ตกอยู่ในฐานะเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด และอยู่ระหว่างการดำเนินการทางกฎหมาย จึงทำให้ผู้รู้และรักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่โปร่งใสทั้งรูปแบบและเนื้อหาของการเป็นประชาธิปไตย ได้ออกมาวิพากษ์ในแง่ของการขาดคุณธรรม และจริยธรรม

3. ในขณะที่รัฐบาลเพิ่งจะเข้ามาทำงานได้ไม่ถึง 6 เดือน และยังทำผลงานไม่เข้าตาประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขปัญหาราคาสินค้า และบริการที่แพงขึ้น ส.ส.ส่วนหนึ่งของพรรคพลังประชาชนอันเป็นพรรคที่นายสมัคร สุนทรเวช เป็นหัวหน้าพรรคได้เดินหน้ายื่นขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมุ่งเน้นในประเด็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 เป็นผลงานของเผด็จการ และในขณะเดียวกันมีเจตนาแฝงในการแก้เนื้อหาเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลให้กลุ่มทุนทางการเมืองรอดพ้นจากคดีความที่ คตส. ฟ้องร้อง และกระบวนการยุติธรรมกำลังดำเนินการพิจารณาอยู่

ที่สำคัญและดูเหมือนจะเกี่ยวข้องกับรัฐบาลชนิดที่ยากแก่การปฏิเสธว่า รัฐบาลมิได้เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เป็นเรื่องของ ส.ส.ดำเนินการตามเอกสิทธิ์ที่มีอยู่ แต่ ส.ส.ส่วนใหญ่ที่เข้าชื่อกันยื่นขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็น ส.ส.ในสังกัดพรรคพลังประชาชนที่นายสมัคร สุนทรเวช เป็นหัวหน้าพรรคบริหารจัดการอยู่ และที่สำคัญยิ่งกว่านี้ ประธานสภาฯ นายชัย ชิดชอบ ก็มาจากพรรคพลังประชาชน ซึ่งถ้ามองในแง่ของการปกครองตามระเบียบ และระบบพรรคการเมืองก็เป็นลูกพรรคของนายสมัคร สุนทรเวช นั่นเอง

เมื่อเป็นเช่นนี้ เหตุใดคนทั้งสองไม่พูดจาหารือกันภายในพรรคว่าจะดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยขั้นตอนและวิธีการอย่างใด หมายถึงว่าจะต้องทำการขอประชามติก่อนหรือไม่ เพื่อมิให้เกิดความขัดแย้งดังที่ปรากฏเป็นข่าวไปแล้ว

แต่การที่ปล่อยให้ความขัดแย้งปรากฏขึ้น และดำเนินต่อไปจะมองเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกเสียจากว่าพูดจากันไม่ได้ หรือถ้าพูดได้ก็แบ่งบทกันเล่นเพื่อหลอกล่อฝ่ายที่คัดค้านให้มีน้ำหนัก และความชอบธรรมในการคัดค้านน้อยลง หรืออีกนัยหนึ่งเพื่อก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อจะได้ใช้เป็นเหตุอ้างในการยุบสภาฯ ในกรณีที่ถึงทางตันทางการเมืองอยู่ต่อไปไม่ได้หรืออยู่ได้แต่เสี่ยงต่อการถูกโค่นล้ม

แต่ถ้ามองในประเด็นที่ว่า ระหว่างการถูกโค่นล้มกับการยุบสภาฯ อย่างไหนจะเกิดก่อนกัน ก็จะต้องมีการคาดเดา และการคาดเดาคงหนีไม่พ้นต้องพึ่งศาสตร์หมอดู โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โหราศาสตร์ที่อาศัยดวงดาวและสถิติในการพยากรณ์ดวงเมืองมาประกอบ ก็พอจะคาดเดาได้ว่า จากวันที่ 28 เมษายน-6 มิถุนายน อันเป็นช่วงที่ดาวอังคารทำมุมโยคกับอังคารเดิม และดาวพฤหัสบดีโคจรในเรือนกัมมะเป็นตำแหน่งนิจโอกาสที่จะเกิดการรัฐประหารมีมากกว่าการยุบสภาฯ

แต่ถ้าหลังจากที่ดาวพฤหัสถอยกลับไปเรือนศุกร์ และเป็นเกษตรในราศีธนูแล้ว โอกาสที่จะยุบสภาฯ มีความเป็นไปได้สูงกว่าการรัฐประหาร

ไม่ว่าจะเกิดการยุบสภาฯ หรือรัฐประหาร ประเทศไทยก็จะต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่หลายต่อหลายคนจ้องจับตามอง เพราะถ้ามีการยุบสภาฯ และมีการเลือกตั้งใหม่โดยมีโครงสร้างทางสังคม และการเมืองยังคงเป็นเหมือน 5-6 ปีที่ผ่านมา โอกาสที่นักการเมืองรุ่นเก่าและก่อปัญหาวุ่นวายทางการเมืองจะกลับเข้าสู่สภาฯ มีความเป็นไปได้สูงเหมือนเดิม และถ้าการเมืองแบบเก่ายังคงครองเสียงส่วนใหญ่ในสภาฯ โอกาสที่จะได้รัฐบาลที่มีรัฐมนตรีเป็นแบบปัจจุบัน คือ มีปัญหาทางด้านจริยธรรม และคุณธรรมก็มีโอกาสเป็นไปได้มากเหมือนเดิม และถ้าเป็นเช่นนี้การเลือกตั้งก็ไม่ช่วยให้ประเทศชาติดีขึ้นแต่ประการใด

ในทางกลับกัน ถ้ามีการปฏิวัติและมีการแก้ไขปรับปรุงโครงสร้างทางสังคม และระบบพรรคการเมืองใหม่ให้เข้มแข็งจนสามารถป้องกันมิให้การเมืองแบบเก่าๆ หลุดรอดเข้ามาก่อกวนความวุ่นวายได้ ก็จะทำให้ประชาชนได้ประโยชน์

แต่ในทางกลับกัน ถ้ามีการปฏิวัติและทำแบบเดิมๆ คือปกครองด้วยระบบเผด็จการอยู่ระยะหนึ่งแล้วเปิดให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายใต้โครงสร้างทางสังคม และการเมืองแบบเดิมๆ ก็คงไม่ช่วยแก้ไขปัญหาของประเทศ ในทำนองเดียวกับการยุบสภาฯ

ด้วยเหตุนี้ปัญหาจึงมิได้ขึ้นอยู่กับการยุบสภาฯ หรือการปฏิวัติ แต่อยู่ที่การแก้ไขปัญหาหลังที่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแล้วว่าเป็นไปในทางที่เกื้อหนุนให้ระบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเจริญก้าวหน้า ทั้งในรูปแบบและเนื้อหาได้มากน้อยแค่ไหนเพียงไร และด้วยวิธีการอย่างไรมากกว่า

เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ควรอย่างยิ่งที่ประชาชนคนไทยผู้อยากเห็นประชาธิปไตยเบ่งบานเยี่ยงอารยประเทศทั้งหลาย จะต้องออกมาแสดงทัศนะเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง และตรงไปตรงมาโดยไม่ยึดตัวบุคคลหรือกลุ่มบุคคลในวงจำกัด แต่ให้ยึดผลประโยชน์ที่ประเทศชาติจะพึงได้รับจากการมีและการเป็นประชาธิปไตย ทั้งในรูปแบบและเนื้อหาของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

ถ้าประชาชนคนไทยทำได้เยี่ยงนี้ ไม่ต้องกังวลในเรื่องแก้รัฐธรรมนูญให้มากนัก เพราะต้องไม่ลืมว่าถึงแม้รัฐธรรมนูญจะมีมากขนาดไหน แต่ถ้าผู้ใช้รัฐธรรมนูญคือนักการเมืองยังด้อยคุณภาพด้อยคุณธรรมอยู่ ประชาธิปไตยที่ทุกท่านคาดหวังคงไม่เกิดขึ้นในเมืองไทยแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น