xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

การบริหารจัดการศพจำนวนมากจากภัยพิบัติ

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

พ้นจาก ‘ภราดรภาพ’ สายธารการช่วยเหลือเกื้อกูลกันฉันน้องพี่ที่ทั่วโลกชื่นชมประเทศไทยมากมายภายหลังโศกนาฏกรรมสึนามิ ความสำเร็จในการพิสูจน์ยืนยันเอกลักษณ์บุคคลว่าผู้เสียชีวิตคือใครได้กว่าร้อยละ 90 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด 5,395 ราย ที่ราวครึ่งหนึ่งเป็นชาวต่างชาติ ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างความเชื่อมั่นระดับสากลว่าไทยมีศักยภาพมากพอจะรับมือกับภัยพิบัติได้ดีด้วย

ทั้งที่ข้อเท็จจริงอาจไม่เป็นเช่นนั้น เพราะล่วงมากว่า 3 ปี แผนรองรับภัยพิบัติแห่งชาติของไทยก็ยังไม่เข้ารูปเข้ารอยนัก ยังคงมีศพที่ไม่สามารถพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลค้างอีกประมาณ 400 ราย อย่าว่าแต่จะมีวิสัยทัศน์ก้าวหน้าด้วยการกำหนดแผนการบริหารจัดการศพจำนวนมากจากภัยพิบัติเลย

แม้นแผนอย่างหลังจะทวีความสอดคล้องกับสถานการณ์โลกเลวร้ายจากพิบัติภัยมากขึ้นเรื่อยๆ ดัง 2 เหตุการณ์ล่าสุด ไซโคลนนาร์กีสถล่มพม่า และแผ่นดินไหวมณฑลเสฉวน ประเทศจีน ที่คร่าหลายแสนชีวิต และทำให้หลายล้านคนเผชิญชะตากรรมอดอยากยากแค้นและโรคระบาดรุมเร้า

กระนั้นก็อาจพอเข้าใจได้ว่าเหตุใดไทยไร้แผนการบริหารจัดการศพจำนวนมากจากภัยพิบัติ เพราะนอกเหนือสึนามิ ประเทศไทยไม่เคยประสบเหตุพิบัติภัยที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมหาศาลในเหตุการณ์เดียวเลย เนื่องด้วยทางกายภาพไม่เพียงผืนแผ่นดินไทยไม่อยู่ตรงรอยต่อระหว่างแผ่นโลกที่มีการเคลื่อนตัวรุนแรง หากพายุหมุนเขตร้อนขนาดใหญ่ก็มักพัดผ่านอาณาเขตขวานทองไปเสมอๆ

แต่นั่นก็รับประกันอะไรไม่ได้ในท้ายที่สุด เพราะพิบัติภัยธรรมชาติไม่เคยคาดคิดว่าจะเกิดก็เกิดแล้วอย่างพายุเกย์และสึนามิ เคียงคู่มากับพิบัติภัยจากความผิดพลาดของมนุษย์ที่มอบความสูญเสียมาโดยตลอด ดังฉากชีวิตดับหาย 232 รายจากเครื่องบินตกในปี 2534 ตาย 120 รายจากไฟไหม้โรงงานในปี 2536 และ 99 รายตายจากตึกถล่มในปี 2537 เรื่อยมากระทั่งวินาศภัยวันทูโกที่คร่านับร้อยชีวิตในปีที่แล้ว

ยิ่งโลกน้ำเงินครามกำลังถูกมหันตภัยโลกร้อน (Global warming) คลี่คลุมเช่นนี้ จึงอาจไม่มีส่วนเสี้ยวใดในแผนที่โลกหลุดรอด ‘ตาข่ายหายนภัย’ พ้นพิบัติภัยขนาดใหญ่ที่พร้อมพรากกระชากชีวิตผู้คนมากมหาศาลในเหตุการณ์เดียวไปได้

แผนการบริหารจัดการศพจำนวนมากจากภัยพิบัติจึงสอดรับกับแนวโน้มความรุนแรงของพิบัติภัยทั้งจากการสอนสั่งของแม่ธรรมชาติ และความผิดพลาดของมนุษย์ที่ทวีคูณขึ้นทุกๆ วัน

มากกว่านั้น ถ้าประสบการณ์รวดร้าวสามารถแปรเป็นบทเรียนเพื่อเปลี่ยนแปลงตนเองมากสุด ประสบการณ์พลัดพรากจากพิบัติภัยในทุกมุมโลกก็น่านำมวลมนุษย์ไปสู่การคลิกวิถีคิด พลิกวิถีชีวิตกอบโกยเอารัดเอาเปรียบธรรมชาติมาเป็นรักษ์ธรรมชาติได้มากเท่าๆ กับกลับมาสมัครสมานสามัคคีกันมากขึ้น ด้วยต่างตระหนักว่าถึงที่สุดทุกคนล้วนแล้วเป็นลูกของแม่ธรรมชาติที่อาจได้รับการสอนสั่งเหมือนๆ กัน ไม่เลือกว่าจะร่ำรวยล้นฟ้าหรือยากจนข้นแค้น คัดค้านทุนนิยมเสรีประชาธิปไตยหรือต่อต้านเผด็จการศักดินา หรือกระทั่งครอบครองนัยน์ตาฟ้าหรือดำ

กล่าวเฉพาะเมืองไทย ไม่เพียงภาพการจัดการศพจำนวนมากจากภัยพิบัติในประเทศพม่าและจีนจะเตือนถึงความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างการ ‘มี-ไม่มี’ แผนการบริหารจัดการศพจำนวนมากจากภัยพิบัติ ทว่าน่าเป็นห้วงโอกาสที่ภาคประชาสังคมจะผลักดันรัฐให้กำหนดแผนการบริหารจัดการศพจำนวนมากจากภัยพิบัติเป็นวาระแห่งชาติได้โดยไม่ต้องรอหายนภัยมาเยือนตนเองอีกครั้ง

ด้วยหลังจากทบทวนประสบการณ์การจัดการศพจำนวนมากจากกรณีสึนามิ จักพบว่าท่ามกลางมวลไออุ่นเอื้ออาทรของเพื่อนมนุษย์ที่เร่งรุดเข้าไปช่วยเหลือเหยื่อคลื่นยักษ์ 10 เมตรในรุ่งอรุณ 26 ธันวาคม 2547 นั้น กลับฉาบทาบด้วยความสับสน การปฏิบัติงานซ้ำซ้อน ขาดเอกภาพ ขาดการประสานงานที่ดีและการบังคับบัญชาที่ชัดเจน โดยเฉพาะในช่วงแรก 3-4 วันที่ต้องพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลเพื่อส่งมอบศพคืนครอบครัวอย่างถูกต้องรอบคอบภายใต้ข้อจำกัดด้านเวลาที่สภาพศพจำนวนมาก และหลากหลายเชื้อชาติที่กระจัดกระจายกว้างขวางถึง 6 จังหวัดฝั่งอันดามันเริ่มเน่า

การนำข้อเสนอแนะการบริหารจัดการศพจำนวนมากจากภัยพิบัติที่ครอบคลุมทุกประเด็น ถี่ถ้วนทั้งระยะเตรียมการ ปฏิบัติการ และสิ้นสุดการปฏิบัติการ ที่ศึกษาโดย รศ.ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล และคณะ ภายใต้โครงการสังเคราะห์บทเรียนจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์เพื่อเตรียมรับมือภัยพิบัติในอนาคต : กรณีระบบการจัดการกับผู้เสียชีวิตจำนวนมากจากภัยพิบัติ มาใช้เป็นแนวทางจัดทำแผนรองรับการบริหารจัดการศพจำนวนมากจากภัยพิบัติของหน่วยงานหลักและรองที่เกี่ยวข้องจึงสอดผสานกับการผันผวนทางกายภาพ และสภาพอากาศของโลกใบน้อยนี้ยิ่ง

ด้วยถึงปัจจุบันประเทศไทยจะมีกฎหมายรองรับภัยพิบัติที่ครอบคลุมการบริหารจัดการศพจำนวนมากจากภัยพิบัติ รวมทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติยังมีคณะกรรมการพิสูจน์เอกลักษณ์ของบุคคลในกรณีวินาศภัยอยู่แล้ว ทว่าถ้าเกิดพิบัติภัยรุนแรงอย่างสึนามิที่ครอบคลุมพื้นที่กว้างขวาง และมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากก็จะเกินกำลังและทรัพยากรของคณะกรรมการพิสูจน์ฯ ที่ยังไม่มีโครงสร้างการบริหารจัดการที่ชัดเจนในกรณีเหตุรุนแรงเกินคาดและครอบคลุมหลายพื้นที่

เหนืออื่นใด ประเทศไทยยังมี ‘จุดอ่อน’ ขาดแผนการบริหารจัดการศพจำนวนมากที่สอดคล้องกับแผนรองรับภัยพิบัติ จึงทำให้ไม่มีกลไกการปฏิบัติงานชัดเจนเมื่อเกิดเหตุพิบัติภัยรุนแรง

ดังนั้นต่อให้ทุกฝ่ายระดมสรรพกำลังอย่างเต็มที่ไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย แต่ตราบใดไม่มีการวางแผนและการประสานงานที่ดี รวมถึงไร้วัสดุอุปกรณ์สำคัญอย่างตู้เย็นสำหรับเก็บศพด้วยแล้ว ก็จะกระเทือนต่อการบริหารจัดการศพจำนวนมากที่อยู่ในสภาพเน่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่เพียงเท่านั้นยังกระทบจิตใจญาติ และครอบครัวที่ปรารถนาจะได้รับศพที่ถูกต้องกลับไปในเวลารวดเร็วเพื่อนำไปประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อทางศาสนา และรักษาสิทธิประโยชน์ต่างๆ ทางกฎหมายด้วย

อีกทั้งในอารยประเทศ การบริหารจัดการศพนับเป็น ‘หัวใจ’ ที่ต้องปฏิบัติอย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรีตามหลักสิทธิมนุษยชน การบริหารจัดการศพจำนวนมากจึงต้องดำเนินไปอย่างเป็นเอกภาพ และเท่าเทียมกันโดยไม่ขึ้นต่อเชื้อชาติหรือสัญชาติของผู้วายชนม์

จึงถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องมีแผนการบริหารจัดการศพจำนวนมากจากภัยพิบัติตั้งแต่ยังไม่เกิดเหตุ โดยต้องเตรียมความพร้อมทั้งด้านทรัพยากรบุคคล วัสดุอุปกรณ์ งบประมาณ และการสนับสนุนด้านต่างๆ รวมถึงจัดทำแนวทางปฏิบัติที่จำเป็น ควบคู่กับสร้างความเข้าใจในสื่อมวลชนและประชาชนถึงความสำคัญของการบริหารจัดการศพจำนวนมากหากภัยพิบัติเกิดขึ้น

งานวิจัยยังเสนอให้กองบังคับการตำรวจจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และสาธารณสุขจังหวัด อันเป็นหน่วยงานหลักในการรับผิดชอบการบริหารจัดการศพจำนวนมากระดับจังหวัด ประสานงานเข้มข้นกับหน่วยงานส่วนกลาง ‘คณะกรรมการบริหารจัดการศพจำนวนมากจากภัยพิบัติแห่งชาติ’ ที่มีสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ตำรวจเป็นเลขานุการ จัดทำแผนบริหารจัดการศพในระดับจังหวัดและประเทศ โดยเตรียมบุคลากรทั้งที่เป็นเจ้าหน้าที่ประจำและอาสาสมัครที่ต้องผ่านการฝึกอบรมการบริหารจัดการศพในกรณีพิบัติภัย และขึ้นทะเบียนไว้กับหน่วยงานหลักเพื่อพร้อมปฏิบัติภารกิจได้ในทุกเวลา รวมทั้งที่สำคัญยังต้องซ้อมแผนการบริหารจัดการศพร่วมกับแผนภัยพิบัติระดับจังหวัดและชาติอย่างสม่ำเสมอ

ครั้นเกิดพิบัติภัย ไม่ว่าจะมาจากแม่ธรรมชาติมอบบทเรียนล้ำค่าหรือมนุษย์ยัดเยียดการจากลา การบริหารจัดการศพจำนวนมากจะต้องเริ่มหลังการช่วยเหลือผู้รอดชีวิตและผู้บาดเจ็บเสร็จสิ้นแล้ว โดยก่อนเริ่มปฏิบัติการควรรวบรวมผู้ปฏิบัติหน้าที่ในบริเวณใกล้จุดเกิดเหตุ ก่อนกำหนดโครงสร้างการทำงานและผู้ปฏิบัติหน้าที่ในแต่ละส่วนตั้งแต่การค้นหา เก็บกู้ เคลื่อนย้าย ตรวจศพ ดูแลรักษาศพ และรวบรวมข้อมูลผู้สูญหายจากญาติ โดยเฉพาะการได้ข้อมูลผู้สูญหายจากญาติเพื่อทำการพิสูจน์เปรียบเทียบนั้นสำคัญยิ่งยวด จึงควรกำหนดหน่วยงานช่วยเหลือญาติขึ้น เพื่อนอกจากจะเก็บข้อมูลของผู้สูญหายแล้ว ยังทำหน้าที่เยียวยาประคับประคองจิตใจผู้อยู่ข้างหลังซึ่งสำคัญไม่แพ้กันด้วย

ด้านระบบเอกสารและระบบข้อมูลสารสนเทศก็ต้องถูกต้อง หลักเกณฑ์ต่างๆ ที่ใช้ในการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลต้องเป็นแนวเดียวกันและต้องแจ้งแก่สาธารณชนเป็นระยะๆ เพื่อป้องกันข้อวิวาทจากความสับสน ตลอดจนเน้นการสื่อสารแนวดิ่งตามโครงสร้างการบังคับบัญชา และการสื่อสารแนวราบของเจ้าหน้าที่ผ่านการประชุมแลกเปลี่ยนและแก้ปัญหาการปฏิบัติงานร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ

สำหรับการเข้าไปวุ่นวายการบริหารจัดการศพจำนวนมากที่ได้วางแผนไว้รัดกุมรอบคอบโดยผู้มีอำนาจทางการเมือง ทั้งโดยกลัวเกรงว่าจะสูญเสียอำนาจอย่างผู้นำประเทศเพื่อนบ้าน หรือเย่อหยิ่งไม่รับการช่วยเหลือจากทีมงานมืออาชีพนานาชาติ เช่น ผู้นำไทยคราวเกิดสึนามิที่ประกาศกร้าวว่า ‘ไม่ต้องการความช่วยเหลือจากต่างประเทศ’ ก่อนจะเปลี่ยนใจในภายหลังนั้น นับว่าแก้ยากมากสุดก็ว่าได้ ทั้งๆ บทบาทของผู้นำควรสวมหมวกสนับสนุนตามที่หน่วยงานหลักร้องขอเพื่อให้การบริหารจัดการศพดำเนินไปอย่างราบรื่น

ถึงภราดรภาพจะจำเป็น แต่การทำให้ผู้เสียชีวิตมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วยการกลับคืนสู่ครอบครัวอบอุ่นอันเป็นที่รักของพวกเขาในวาระสุดท้ายแห่งชีวิตก็สำคัญไม่ด้อยกว่ากัน มากกว่านั้นยังทำให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากสังคมโลกว่านอกจากจะศรัทธาใน ‘เราทั้งผองพี่น้องกัน’ แล้ว ยังมีมาตรฐานการบริหารจัดการศพจำนวนมากจากภัยพิบัติด้วย

ทว่าทั้งหมดเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าผู้มีอำนาจในบ้านเมืองยังคงคุ้นเคยคำกล่าว ‘วัวหายล้อมคอก’ และลดทอนความสำคัญของมนุษย์ที่ไม่ได้ติดฉลาก ‘คนไทย’ อยู่อย่างทุกวันนี้.-

คอลัมน์เวทีนโยบายสาธารณะ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) www.thainhf.org
กำลังโหลดความคิดเห็น