xs
xsm
sm
md
lg

ฤา ธรณีพิโรธจะเป็นจุดจบของพรรค (จริงหรือ)?

เผยแพร่:   โดย: สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์

ภาพจากสถานีโทรทัศน์ ซีซีทีวี เผยให้เห็นการทำงานของเจ้าหน้าที่กู้ภัยในเมืองตูเจียงเยี่ยน มณฑลซื่อชวน (เสฉวน) เรียกได้ว่าเผยแพร่ความขยันใส่ใจทำงานของเจ้าหน้าที่ที่ทุ่มเททำงานข้ามคืน อย่างนี้จะไม่ชนะใจประชาชนได้อย่างไร
แผ่นดินไหวครั้งร้ายแรงขนาด 7.8 ริกเตอร์ ซึ่งมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่มณฑลซื่อชวน (เสฉวน) เมื่อวันจันทร์ (12 พ.ค.) แม้จะอยู่ห่างไกลจากกรุงเทพฯหลายกิโลเมตร ทว่าธรณีพิโรธครั้งนี้กลับส่งผลสะเทือนทำให้มนุษย์เงินเดือนแถบสีลม และสาทรหลายร้อยชีวิตเสียวไปตามๆกัน หลายคนถึงกับวิ่งกรู ตัดหน้ารถยนต์ที่วิ่งขวักไขว่บนท้องถนน เพื่อให้แน่ใจว่าพ้นจากรัศมีหากตึกสูงที่พวกเขาทำงานอยู่นั้นถล่ม! ภาพดังกล่าวไม่ต่างอะไรกับสิ่งที่เกิดขึ้นในย่านธุรกิจของปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้

รายงานจากกระทรวงกิจการพลเรือน ณ เวลา 7.00 น.ของวันอังคาร (13) ระบุว่า มียอดผู้เสียชีวิตจากเหตุดังกล่าวถึง 9,219 ราย ในจำนวนนี้ 8,993 รายเป็นผู้เสียชีวิตในมณฑลซื่อชวน, 132 รายในกันซู่, 92 รายในส่านซี, 8 รายในฉงชิ่ง และ 1 รายในหยุนหนัน (ยูนนาน) 1 อย่างไรก็ตาม ต่อมามีรายงานในช่วงเย็นว่าตัวเลขดังกล่าวอยู่ที่ 12,000 รายและอาจเพิ่มขึ้นอีก

เหตุสลดครั้งนี้อุบัติขึ้นไม่ไกล และไม่นาน หลังจากที่พม่าถูกวาตภัย พายุนาร์กีสถล่มจนมีการประมาณว่ายอดผู้เสียชีวิตและสูญหายไม่ต่ำกว่า 62,000 ราย

ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ทั่วทุกมุมโลก ถูกอธิบายได้อย่างง่ายๆว่า เพราะภาวะโลกร้อน (Global warming) และมนุษย์เป็นต้นเหตุสำคัญ หากเรายึดถือเอาคำอธิบายง่ายๆนี้ไป ทุกอย่างก็จบ ไม่ต้องพูดอะไรกันอีก อย่างไรก็ตาม หากคิดมองให้ลึกลงไป จะพบว่าภายใต้คำอธิบายดังกล่าวแฝงไว้ด้วย “ความรู้” “ความจริง” และ “อำนาจ” ที่ให้อำนาจกับมนุษย์และสถาบันทางสังคมหนึ่ง ขณะที่มนุษย์อีกพวกหนึ่งถูกปล้นและริดรอนอำนาจในการต่อรอง

กล่าวสำหรับประเทศจีนแล้ว ในช่วงที่ผ่านมาทางภาครัฐได้รณรงค์มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมไปไม่น้อย หลังจากถูกตีตราว่า เป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน อาทิ เมื่อเดือนก.พ. ทางปักกิ่งได้พูดถึงระบบ “ประกันภัยสีเขียว” ซึ่งเป็นระบบที่ถูกคิดค้นขึ้นเพื่อควบคุมอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และผู้คน โดยวิสาหกิจด้านอุตสาหกรรมของจีนต้องซื้อประกันควบคุมการก่อมลพิษจากบริษัทประกันภัย แล้วบริษัทประกันภัยจะรับผิดชอบค่าสินไหมทดแทนจากการก่อมลพิษของวิสาหกิจที่ได้สร้างความสูญเสียแก่ชาวบ้าน สิ่งแวดล้อมและสังคม โดยค่าเบี้ยประกันจะมีความสัมพันธ์กับสภาพการปล่อยมลพิษ ถ้าวิสาหกิจมีความเสี่ยงสูง ค่าเบี้ยประกันก็จะสูงจนวิสาหกิจอาจรับไม่ไหว2

อย่างไรก็ตามผลสำรวจของของไชน่า ยูธ เดลี่ ณ เดือนมี.ค.ระบุว่า คนจีนจำนวนมากไม่ทราบเรื่องมาตรการดังกล่าว แถม 45.2% ก็แสดงทัศนะว่าเป็นแค่การขายความคิดครั้งใหม่ของรัฐเท่านั้น ถ้าจะทำจริงแล้ว 43.8% บอกว่า “ท่าจะยาก”3

เหตุที่แผ่นดินจีนโดนภัยธรรมชาติกระหน่ำอย่างรุนแรง ทั้งพายุหิมะเมื่อต้นปี กระทั่งมาถึงแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด นอกจากเหตุปัจจัยจากการพัฒนาตาบอดแล้ว ยังเพราะคนจำนวนไม่น้อยตกอยู่ใต้ “วาทกรรมโลกร้อน”

ปรากฎการณ์โลกร้อนอาจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง จนก่อให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติมากมาย ทว่าแง่หนึ่ง “โลกร้อน” ก็ถูกใช้เป็นวาทกรรมเพื่อหาประโยชน์จากการผลิตสินค้า และบริการ รวมทั้งรวบรัดอำนาจในการแก้ปัญหาให้ตกเป็นของกลุ่มทุนและรัฐ ขณะที่ประชาชนได้แต่ควักกระเป๋าซื้อและก้มหน้าทำตามอำนาจรัฐและทุนโดยไม่ต้องตั้งคำถาม

ภัยพิบัติทางธรรมชาติถูกอธิบายด้วยองค์ความรู้แบบวิทยาศาสตร์อันมีเหตุและผล ปัจจัยตัวแปรต่างๆพัวพันกันอย่างซับซ้อน และองค์ความรู้แบบวิทยาศาสตร์ก็ต่อเชื่อมภัยพิบัติทางธรรมชาติเข้ากับภาวะโลกร้อนซึ่งก็ได้ถูกอธิบายด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์เช่นเดียวกัน กระทั่งนำไปสู่การแก้ปัญหาด้วยผลผลิตจากกระบวนการทางวิทยาศาสตร์คือ ผลิตภัณฑ์ทางเทคโนโลยีต่างๆ

ประกันภัยสีเขียว, รถยนต์ไฮบริด, อีโคคาร์, เทคโนโลยีพลังงานทางเลือก ล้วนถูกผลิตขึ้นเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ทว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ เนื่องจากต้นเหตุของปัญหาทั้งหมดเกิดจากการบริโภคอย่างไม่บันยะบันยังของมนุษย์ การผลิตสินค้าที่อ้างว่าจะช่วยแก้ไขปัญหา แท้ที่จริงแล้วกลับส่งเสริมลัทธิบริโภคนิยมให้ดำเนินต่อไปอย่างสุดขั้ว ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ที่สุดจึงไม่พ้นใครอื่นนอกจากกลุ่มทุน (และรัฐที่พาตัวเองเข้าไปข้องเกี่ยวกับทุน)

ขณะเดียวกันทางด้านรัฐเองก็สามารถเพิ่มอำนาจในการควบคุมชีวิตของประชากร ผ่านมาตรการทางกฎหมาย และการรณรงค์ต่างๆที่อ้างว่า เพื่อแก้ปัญหาและลดภัยพิบัติอันเกิดจากภาวะโลกร้อน ประชาชนกลายสภาพเป็นเพียงสาวก ที่เชื่อฟัง คอยทำตามมาตรการที่รัฐออกมาเช่น ซื้อรถประหยัดพลังงาน, สร้างบ้านประหยัดพลังงาน หรือ บริโภค / ปฏิบัติอะไรก็แล้วแต่ ที่ดูเหมือนจะช่วยให้หลุดพ้นวิกฤตภัยพิบัติครั้งนี้ โดยไม่สามารถตั้งคำถามได้มากนัก เพราะหากตั้งคำถามหรือไม่ปฏิบัติตาม นอกจากจะละเมิดอำนาจรัฐแล้ว ยังกลายเป็นตราบาปที่ขัดต่อสำนึกทางสังคมที่ถูกความจริงและความรู้เกี่ยวกับภัยธรรมชาติครอบงำว่า จะหลุดพ้นจากผลกระทบ และปัญหาเหล่านี้ได้ก็ต้องให้ความร่วมมือตามแนวทาง “มาตรการสีเขียว” ที่รัฐกำหนดไว้ และยังต้องมอบความไว้วางใจต่างๆให้กับรัฐ
แม้แต่องค์ทะไล ลามะ ที่ประชาชนจีนมองเป็นศัตรู ยังออกมากล่าวชมการดำเนินงานของรัฐบาลจีนที่เร่งกู้ภัย หากข่าวนี้ถูกเผยสู่ชาวจีน คิดดูเถิดว่า ประชาชนจะเป็นปลื้มกับรัฐบาลของตนแค่ไหน เพราะขนาดศัตรูยังกล่าวชม
ธรณีสะเทือนรัฐถูกท้าทายหรืออำนาจเพิ่ม

หลังเกิดเหตุธรณีพิบัติสื่อกระแสหลักของโลกตะวันตกอย่าง วอลล์สตรีท เจอร์นัล ได้ชี้ประเด็นว่า หายนะภัยครั้งนี้เป็นความท้าทายอีกครั้งของรัฐบาลจีน หลังเจอวิกฤตกระหน่ำทั้งพายุหิมะเมื่อต้นปี และจลาจลในทิเบตที่ยังทิ้งร่องรอยควันจางๆไว้ให้ปวดหัว นอกจากนี้วอลล์สตรีทยังแฉว่า ที่มีผู้เสียชีวิตเยอะ เพราะเจ้าหน้าที่รัฐคอร์รัปชั่นปล่อยให้มีการสร้างอาคารที่ไม่ได้มาตรฐาน พอเกิดแผ่นดินไหวตึกรามบ้านช่องจึงล้มระเนระนาด คร่าชีวิตผู้คนมากมาย แถมช่วงนี้ยังใกล้โอลิมปิก การแก้ไขปัญหาของรัฐบาลจีนย่อมถูกจับจ้อง และถึงแม้จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าบรรเทาภัยได้หมด หลังจากนี้ก็ยังมีปัญหาระยะยาวให้พิสูจน์ฝีมืออีก4

อ่านแล้วเหมือนวอลล์สตรีทให้ภาพว่า อำนาจของรัฐบาลจีนกำลังถูกท้าทายอย่างรุนแรง แต่เมื่อลองพิจารณาให้ดีแล้ว วิกฤตครั้งที่ผ่านๆมารวมทั้งครั้งนี้กลับเป็นโอกาสที่ทำให้อำนาจรัฐของรัฐบาลจีนขยายตัว และเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์มากขึ้น เพราะธรณีพิโรธครั้งนี้ ก็ไม่ต่างอะไรกับวาทกรรมโลกร้อนที่สาธยายไปข้างต้น

หลังเกิดเหตุ บ่ายวันจันทร์ที่ 12 พ.ค. ระหว่างการประชุมคณะกรรมการประจำของกรมการเมืองประธานาธิบดีหู จิ่นเทา ได้สั่งกำชับให้หน่วยงานรัฐทุกระดับให้ความสำคัญกับการบรรเทาภัยพิบัติเป็นลำดับหนึ่ง ขณะที่นายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่าก็รีบรุดบินไปยังเฉิงตู เพื่อบัญชาการกู้ภัยด้วยตัวเอง

แน่นอนว่าการเสนอข่าวภายในจีนย่อมกระพือสื่อภาพว่า ทางรัฐบาลได้ทุ่มเทอย่างเต็มที่เพื่อเอาชนะใจประชาชน นอกจากนี้ระบบการเมืองของจีนยังเอื้อให้รัฐบาลสามารถระดมทรัพยากรในการบรรเทาสาธารณภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งข้อเท็จจริงนี้ได้รับการพิสูจน์จากภัยพิบัติครั้งที่ผ่านๆมา

วิกฤตในทัศนะของวอลล์สตรีทจึงเป็นโอกาสทองสำหรับรัฐบาลจีน เพราะการบริหาร ระดมทรัพยากร ทั้งสื่อและหน่วยงานรัฐในการบรรเทาสาธารณภัยครั้งนี้ จะยิ่งทำให้ภาพของรัฐบาลในสายตาประชาชน ยิ่งเป็นบวกมากขึ้น เพราะเมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้นแล้วประชาชนต่างเรียกร้องให้รัฐ ซึ่งเป็นองค์กรที่มีศักยภาพในการแก้ไขปัญหา เข้าไปจัดการเสีย

การที่รัฐสวมบทกระตือรือร้น รีบแก้ไขปัญหาอย่างทันควัน ยิ่งตอกย้ำความเชื่อที่รัฐ/พรรคพยายามสร้างขึ้นมาตลอดว่า “ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์เท่านั้น ที่ประชาชนชาวจีนจะลุกขึ้นยืน และก้าวไปข้างหน้าได้”

ตึกถล่มไม่ได้มาตรฐานก็เพราะประชาชน กับเจ้าหน้าที่นอกคอกไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่รัฐบาลกลางวางไว้ ฉะนั้นชีวิตจะมั่นคงและปลอดภัยได้ก็ต้องเชื่อ ปฏิบัติตามที่รัฐกำหนด

ส่วนปัญหาที่จะตามมานานัปการนั้น อีกไม่กี่เดือนก็จะถึงมหกรรมกีฬาโอลิมปิกแล้ว กระแสโอลิมปิกย่อมสยบเรื่องเหล่านี้หายไปหมดสิ้น เหมือนกับปัญหาพายุหิมะ ที่ไม่นานก็ถูกกลบไปด้วยกระแสนับถอยหลังสู่โอลิมปิก อย่างมากที่สุดหากยังเหลือกระแสอยู่ ก็คงกลายเป็นกระแสที่ถูกผลิตขึ้นภายใต้ความเศร้าโศก ที่เรียกร้องให้ประชาชนระลึกถึงความยากลำบาก, สามัคคีกันไว้ และจงเชื่อฟังรัฐบาล เพื่อก้าวพ้นปัญหา

อำนาจรัฐจึงขยายตัว และยิ่งศักดิ์สิทธิ์มากขึ้น พร้อมกับกลไกของรัฐที่เข้าไปบรรเทาสาธารณภัย กระทั่งเกิดเป็นภาพเรียกศรัทธาในฐานะผู้อุปถัมภ์หนึ่งเดียวเท่านั้นที่ประชาชนจะพึ่งได้ (ดั่งเช่นการให้ร่มเงาจนคนไม่น้อยยกฐานะของตนเองมาได้)

สื่อนอกอาจให้ภาพที่หนักหน่วงสาหัส สำหรับธรณีพิโรธครั้งนี้ ตามกระแสโลกร้อนกับภัยพิบัติธรรมชาติ ที่ทำให้เกิดสินค้าหลากหลายชนิดขึ้นมาในตลาด ไม่เว้นแม้แต่การนำเสนอข่าวภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ฮอตฮิตสุดๆในเวลานี้ แต่สำหรับรัฐบาลจีนแล้วความรู้ และความจริงเกี่ยวกับภัยพิบัติครั้งนี้ กลับทำให้อำนาจของรัฐเพิ่มพูนขึ้นอย่างมหาศาล

แม้รัฐบาลจีนจะติดอยู่ในกรงวาทกรรมโลกร้อนกับความรู้แบบวิทยาศาสตร์เพื่อการบริโภค จนไม่สามารถแก้ปัญหาไปถึงรากเหง้าของปัญหาทั้งปวงได้ถูกจุด ได้แต่ออกมาตรการต่างๆที่ส่งเสริมการบริโภคต่อไป (แม้จะเป็นการบริโภคสีเขียว) ทว่าแง่หนึ่งการแก้ปัญหาไม่ถูกจุดสักทีกลับให้ผลที่น่าพึงใจ จนนำไปสู่การแผ่ขยาย และเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ของอำนาจรัฐ

หรือบางทีที่ชนชั้นนำหลายประเทศไม่ยอมแก้ปัญหาให้ถูกจุดเสียที จนปล่อยให้เกิดภัยพิบัติมากมาย อาจเพราะพวกเขารู้ดีว่า จะแปรวิกฤตเป็นโอกาสสำหรับตนได้อย่างไร ภัยพิบัติต่างๆจึงต้องเกิดต่อไปเรื่อยๆ พร้อมกับการแก้ปัญหาแบบเลี้ยงไข้ ที่ทำให้รัฐกับทุนสมประโยชน์ได้ทั้งขายสินค้า และขยายอำนาจต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด




เอกสารอ้างอิง

[1] “About 10,000 people dead in killer earthquake,” [http://www.chinaelections.net/newsinfo.asp?newsid=17444], 13 May 2008.
[2]  “จีนจะเสริมสร้างระบบประกันสีเขียว,” [http://thai.cri.cn/1/2008/03/07/42@120051.htm], 7 มีนาคม 2551.
[3] “'Green insurance' plan news to most Chinese,” [http://www.chinaelections.net/newsinfo.asp?newsid=16568], 25 March 2008.
[4] “Earthquake Rocks China,” [http://online.wsj.com/article/SB121057669781884671.html?mod=djemasialinks], 13 March 2008.
กำลังโหลดความคิดเห็น