(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)
China runs at its own pace
By Fong Tak-ho
02/05/2551
รัฐบาลจีนได้ให้สัญญาที่จะดำเนินการปฏิรูปทางประชาธิปไตยและการปรับปรุงด้านสิทธิมนุษยชน โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของความเข้าใจร่วมกันในตอนแรก ซึ่งนำเอากีฬาโอลิมปิกมาสู่กรุงปักกิ่ง บัดนี้เวลาผ่านไปแล้ว 7 ปี เป็นการยุติธรรมที่จะกล่าวว่าคำมั่นดังกล่าวยังไม่ได้รับการปฏิบัติตามความคาดหมายทั้งหลายของฝ่ายตะวันตก กระนั้นมันก็ไม่ได้หมายความว่า ไม่ได้มีการปฏิรูปต่างๆ ในจีนที่เป็นไปใน “แบบของจีนเอง”
ฮ่องกง– เมื่อ 7 ปีก่อน ทางการจีนได้ให้สัญญาที่จะดำเนินการปฏิรูปทางประชาธิปไตยและการปรับปรุงด้านสิทธิมนุษยชน โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของความเข้าใจร่วมกันซึ่งทำให้ปักกิ่งได้จัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนปี 2008 เมื่อมาถึงวันนี้ ยังคงมีรายงานเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่บ่อยครั้ง และนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิจำนวนมากรู้สึกผิดหวังและโกรธเกรี้ยว โดยที่หลายๆ คนกำลังวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจีนที่ล้มเหลวไม่รักษาคำพูดของตนเอง
ในอีกด้านหนึ่ง การจัดมหกรรมกีฬาระหว่างประเทศครั้งนี้ก็ได้ผลักดันปักกิ่งให้เริ่มต้นหรือให้พิจารณา ดำเนินการปฏิรูปต่างๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ประเทศเปิดกว้างมากขึ้น และเสียงเรียกร้องให้ดำเนินการปฏิรูปทางการเมืองก็กำลังแตกหน่อเติบโต ถึงแม้หน่ออ่อนบอบบางเหล่านี้ยังไม่แข็งแรงเพียงพอที่จะอยู่รอดจากพายุทางการเมืองได้ก็ตามที
เมื่อปี 2001 หลิวเจียงหมิน เจ้าหน้าที่คณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปักกิ่งได้แถลงไว้ว่า มหกรรมกีฬาคราวนี้จะเป็น “โอกาสที่จะฟูมฟักประชาธิปไตย, ปรับปรุงสิทธิมนุษยชน, และบูรณาการจีนเข้ากับส่วนอื่นๆ ของโลก” ส่วนพวกนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิก็จับจ้องชนิดไม่ยอมคลาดสายตาว่า ปักกิ่งจะดำเนินปฏิบัติการที่เป็นจริงอย่างไรเพื่อทำให้โลกที่ยังระแวงสงสัยเกิดความมั่นใจขึ้นมาอีกว่า กีฬาคราวนี้จะทำให้เกิดผลดีสำหรับจีน
อันที่จริงแล้ว ยิ่งพวกเขาตั้งความคาดหมายไว้มากเท่าใด ความหงุดหงิดผิดหวังก็ยิ่งเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่พ้น การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศจีนยังคงได้รับการรายงานอยู่บ่อยครั้ง ในปี 2006 เฉินกวงเฉิง นักเคลื่อนไหวผู้ตาบอดซึ่งอยู่ที่มณฑลซานตง ได้ถูกตัดสินโทษจำคุกกว่า 4 ปีด้วยความผิดฐานก่อวินาศกรรม
หูเจีย อาสาสมัครช่วยเหลือเหยื่อโรคเอดส์ซึ่งพำนักอยู่ที่ปักกิ่งและเป็นคนปากกล้า ได้รับโทษจำคุกสามปีครึ่ง เนื่องจากเรียกร้องให้จัดมหกรรม “กีฬาโอลิมปิกที่มีสัมผัสแห่งสิทธิมนุษยชน” ทั้งเฉินและหูต่างถูกก่อกวนรังควาญอย่างน้อยก็หลายๆ เดือนทีเดียวจากพวกอันธพาล ที่กล่าวหากันว่าเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบ ก่อนที่พวกเขาจะถูกจับกุม
อย่างไรก็ดี ต้องบันทึกไว้เช่นกันว่าคณะผู้นำจีนไม่ได้มีความเห็นเป็นเอกฉันท์กันหมดดังที่ดูเหมือนกับจะเป็นเช่นนั้น มีเสียงเรียกร้องหลายๆ ครั้งจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายๆ คนให้ดำเนินการปฏิรูปทางการเมืองในเชิงรุกมากขึ้น ในหมู่เจ้าหน้าที่หัวปฏิรูปเหล่านี้ หวังหยัง สมาชิกกรมการเมือง และผู้เพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์สาขามณฑลกวางตุ้ง ได้รับการจับตามองว่าเป็นผู้โดดเด่นที่สุด หวังเรียกร้องอย่างเปิดเผยให้ดำเนินการปฏิรูปมากขึ้นเมื่อเขามาถึงกวางตุ้ง ซึ่งเคยเป็นที่มั่นอันเข้มแข็งของการปฏิรูปและการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจในยุคทศวรรษ 1970 เขาบอกกับพวกเจ้าหน้าที่กวางตุ้งว่า พวกเขาควร “ปลดปล่อยความคิดของพวกเขา” ให้มากขึ้นอีก เพื่อเปิดทางให้กวางตุ้งสามารถที่จะนำหน้ามณฑลอื่นๆ ในเรื่องการปฏิรูปได้ต่อไป
ก่อนหน้าความริเริ่มของหวัง ก็มี อี๋ว์เค่อผิง รองผุ้อำนวยการสำนักงานการแปลส่วนกลาง ที่ออกมาประกาศสนับสนนการปฏิรูปทางการเมืองอยู่ก่อนแล้ว อี๋ว์ซึ่งเป็นสมาชิกผู้หนึ่งในหน่วยงานคลังสมองของคณะผู้นำหูจิ่นเทา-เวินเจียเป่า ได้เขียนบทความตีพิมพ์ใน เป่ยจิงรึเป้า ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ทางการของคณะกรรมการพรรคสาขาเทศบาลกรุงปักกิ่ง เมื่อเดือนตุลาคม 2006 โดยเขายกเหตุผลต่างๆ ขึ้นมาตอบโต้เพื่อยืนยันว่า “ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ดี” สำหรับประเทศจีนแล้ว เนื่องจากเรื่องประชาธิปไตยถูกมองว่าเป็นหัวข้อที่อ่อนไหวสุดๆ ในการติดต่อพูดจาสื่อสารกันของพรรคคอมมิวนิสต์ นับแต่ปี 1989 เป็นต้นมาทีเดียว ด้วยเหตุนี้เอง ความสัมพันธ์พิเศษที่เขามีอยู่กับเหล่าผู้นำระดับสูงสุด ตลอดจนความเห็นอันเปิดเผยโจ่งแจ้งของเขา จึงทำให้บทความนี้ได้รับความสนอกสนใจเป็นอย่างมาก
นักวิเคราะห์หลายๆ คนเชื่อว่า บางทีนายกรัฐมนตรีเวินเจียเป่าอาจจะเป็นผู้ที่กำลังหนุนหลังพวกเจ้าหน้าที่หัวปฏิรูปในจีนอยู่ก็ได้ เวินซึ่งถูกมองกันอย่างกว้างขวางว่าเป็นครูทางความคิดของหวังหยัง ได้เคยเขียนบทความตีพิมพ์ใน เหรินหมินรึเป้า อันเป็นหนังสือพิมพ์เรือธงของพรรค เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2007 โดยตอกย้ำว่า การคุ้มครองสิทธิพลเมือง, การต่อต้านคอร์รัปชั่น, เช่นเดียวกับ “การขยายประชาธิปไตย”, และการผลักดันเดินหน้าการปฏิรูปทางการเมือง คือเรื่องสำคัญลำดับแรกๆ ในวาระของคณะรัฐมนตรีของเขา
ทัศนะของเวินได้รับการขานรับจากคณะทำงานทรงอิทธิพลที่นำโดย โจวเทียนหย่ง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายของโรงเรียนพรรคส่วนกลาง อันเป็นศูนย์ฝึกอบรมของเหล่าเจ้าหน้าที่ระดับท็อป โจวคือตัวหลักในการยกร่างเอกสารที่เรียกว่า “โรดแมปการปฏิรูปทางการเมือง” ของโรงเรียนพรรคส่วนกลาง ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2008 “แผนการปฏิรูประบบการเมืองอย่างทั่วด้าน”ที่โจวช่วยร่างชิ้นนี้ ได้ยกเหตุผลต่างๆ มาสนับสนุนให้ดำเนินการเปิดเสรีเพิ่มขึ้นๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างสิ่งที่เขาเรียกว่า “ประชาสังคมสมัยใหม่” ภายในปี 2020 และ “ประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมที่เติบใหญ่เต็มที่” ในเวลาหลังจากนั้น การศึกษาของเขาเตือนว่า ประเทศจีนมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะไร้เสถียรภาพอย่างเป็นอันตรายยิ่ง ถ้าหากไม่ดำเนินการปฏิรูปทางประชาธิปไตยเพื่อรักษาอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์ที่เป็นพรรคปกครองประเทศในเวลานี้เอาไว้ โดยที่อยู่ใต้การทัดทานและการตรวจสอบ
ควรต้องบันทึกไว้เช่นกันว่าการปฏิรูปทางการเมืองที่พวกเขากำลังพูดถึงกันอยู่นี้ ไม่ค่อยจะเป็นแบบที่รับรู้เข้าใจกัน โดยนักปราชญ์ชาวตะวันตกหรือผู้เฝ้าจับตาดูจีนจากต่างแดนหรอก เนื่องจากเติ้งเสี่ยวผิงผู้นำที่ล่วงลับไปแล้วได้เคยคัดค้านอย่างเปิดเผยเหลือเกิน ต่อแนวความคิดว่าด้วย “การแบ่งแยกอำนาจออกจากกัน” (separation of powers) และ “ประชาธิปไตยแบบมีหลายพรรค” (multi-party democracy)ของมองเตสกิเอร์ จึงไม่มีผู้นำคนใดในจีนกล้าที่จะถอยห่างออกจากจุดยืนของเติ้ง ตรงกันข้าม เหล่านักปฏิรูปเวลานี้ฝากความหวังไว้กับ “การแบ่งซอยอำนาจ” (division of powers) ซึ่งจะทำให้มีการตรวจสอบทัดทานและการถ่วงดุลกันมากขึ้นในคณะรัฐบาล
ทว่าแม้กระทั่งการพูดถึงการปฏิรูปอย่างอ่อนๆ ขนาดนั้น ก็ยังอาจกลายเป็นหัวข้อของความขัดแย้งขึ้นมาได้ในประเทศจีน อู่ปังกั๋ว ประธานสภาประชาชนแห่งชาติ และผู้นำหมายเลขสองของพรรค ได้ออกมาเตือนอย่างเปิดเผยว่า การปฏิรูปทางการเมืองนั้น มี “เส้นขั้นต่ำสุด” ที่จะไปไกลกว่านั้นไม่ได้ ตามความเห็นของอู่ “ประชาธิปไตยแบบมีหลายพรรค” นั้นไม่ต้องนำมาพิจารณากันเลย “การแบ่งแยกอำนาจออกจากกัน” ก็เหมือนกัน ถือเป็นเรื่องต้องห้าม นอกจากนั้นเขายังคัดค้านไม่ให้นำเอาระบบสองสภามาใช้กับรัฐสภาจีน กระนั้นเขาก็ยอมรับว่า “จีนต้องศึกษาในเชิงบวกเกี่ยวกับประสบการณ์ต่างๆ จากอารยธรรมทั้งหลาย รวมทั้งอารยธรรมทางการเมืองซึ่งสร้างสรรค์โดยสังคมมนุษย์”
นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่จีนบางคนกำลังพยายามที่จะอาศัยกีฬาโอลิมปิกปักกิ่ง เพื่อทำให้เกิด “ช่องทางสำหรับการเคลื่อนไหว” เพิ่มมากขึ้น สำหรับบรรดาสื่อมวลชน หากยังไปถึงขั้นให้มีเสรีภาพอย่างสมบูรณ์ไม่ได้ เมื่อเดือนธันวาคม 2006 ทางการผู้รับผิดชอบของจีนได้ประกาศระเบียบใหม่ที่อนุญาตให้นักหนังสือพิมพ์ต่างชาติเดินทางไปทั่วประเทศเพื่อทำข่าวได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตล่วงหน้าจากพวกเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเสียก่อน สำหรับประเทศจีนซึ่งสื่อมวลชนต่างประเทศถูกจำกัดขอบเขตและถูกเฝ้าติดตามอย่างเข้มงวดเรื่อยมา นี่ต้องถือว่าเป็น “การยอมอ่อนข้อให้” อย่างสำคัญยิ่ง เมื่อพิจารณาในแง่มุมของ “ข้อควรระวังด้านความมั่นคงปลอดภัย” สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนถึงกับยกย่องระเบียบใหม่นี้ว่า เป็น “หลักหมายในการปฏิรูปเพื่อมุ่งสู่การเปิดกว้างของประเทศจีน”
ระเบียบใหม่นี้มีการประกาศใช้ภายหลังคำสั่งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2006 ของประธานาธิบดีหูจิ่นเทา ที่ให้การก่อสร้างสถานที่ต่างๆ เกี่ยวกับกีฬาโอลิมปิก ดำเนินไปด้วยความโปร่งใสเพิ่มมากขึ้น
ระเบียบใหม่นี้กำหนดเงื่อนไขเอาไว้ว่า จะ “เลิกบังคับใช้โดยอัตโนมัติตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2008” หรือก็คือหลังกีฬาโอลิมปิกปักกิ่งเสร็จสิ้นลง ทว่าเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2006 ไช่อู๋ ผู้อำนวยการสำนักงานสารสนเทศของคณะรัฐมนตรีจีน ได้เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวถึงสิ่งที่น่าจะเป็นความตั้งใจอันแท้จริงของเหล่านักปฏิรูปในประเทศจีน “ถ้าระเบียบชั่วคราวเช่นนี้ได้รับการพิสูจน์ว่าให้ผลดีในทางปฏิบัติ จากระยะเวลาบังคับใช้ในช่วงเวลาประมาณ 1 ปีที่กำลังจะมาถึงนี้แล้ว ผมก็คิดว่าไม่มีความจำเป็นอะไรเลยที่จะต้องไปเปลี่ยนแปลงนโยบายที่ดีอยู่แล้ว” ไช่อู๋กล่าว
ในประเทศจีน แม้กระทั่งการปฏิรูปอย่างอ่อนๆ ดังกล่าวนี้ก็ยังอาจก่อให้เกิดปฏิกิริยาในทางลบ นโยบายใหม่ด้านสื่อมวลชนได้รับการปฏิบัติอย่างกระตือรือร้นมากกว่าในพื้นที่อย่างเช่นมณฑลกวางตุ้ง แต่มีรายงานหลายชิ้นซึ่งบ่งชี้ว่าภูมิภาคอื่นๆ จำนวนมากยังคงทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นนโยบายที่มาจากรัฐบาลส่วนกลางนี้ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2008 พวกผู้สื่อข่าวต่างประเทศที่พยายามทำข่าวการจลาจลในทิเบต ได้ถูกห้ามปรามกีดกันทั้งที่นครลาซา, ปักกิ่ง, เฉิงตู, ซีหนิง, และสถานที่หลายแห่งในมณฑลกานซู สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศในจีนแถลงว่า พวกเขาได้รับคำร้องเรียนจากนักข่าวต่างประเทศมากกว่า 30 ราย ในวันที่ 17 มีนาคม 2008 คณะทำงานของสื่อฮ่องกงอย่างน้อย 6 คน ถูกสั่งให้ออกจากทิเบตในทันที วันที่ 20 เมษายน ตำรวจในมณฑลอานฮุยก็ยึดหนังสือรับรองของผู้สื่อข่าวหลายคนที่พยายามรายงานข่าวการประท้วงต่อต้านห้างคาร์ฟูร์ เครือซูเปอร์มาร์เก็ตสัญชาติฝรั่งเศส
มันเป็นการยุติธรรมที่จะกล่าวว่า ความพยายามในการปฏิรูปของจีนยังไปไม่ถึงระดับความคาดหมายของฝ่ายตะวันตกในด้านต่างๆ จำนวนมาก แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ได้มีแรงเหวี่ยงผลักดันให้ไปข้างหน้า เพื่อให้เกิดการปฏิรูปทางประชาธิปไตยในแบบของจีนเอง
และมันเป็นเรื่องเข้าทำนองที่ว่าตั้งใจไว้อย่างหนึ่งแต่กลับบังเกิดผลในทางตรงกันข้ามด้วยซ้ำ เพราะจากการที่ฝ่ายตะวันตกกล่าวหาประเทศจีนกันอย่างมากมาย โดยบางอย่างก็ไม่ได้เป็นไปในลักษณะภววิสัยอย่างสิ้นเชิงนั้น ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นมาก็ดูมีแต่จะทำให้พวกนักปฏิรูปของจีนถูกดึงรั้งถูกทัดทานมากขึ้นเท่านั้น
ฟองตั๊กโฮ เป็นบรรณาธิการบริหารของ เอเชียไทมส์ออนไลน์ ภาคภาษาจีน
China runs at its own pace
By Fong Tak-ho
02/05/2551
รัฐบาลจีนได้ให้สัญญาที่จะดำเนินการปฏิรูปทางประชาธิปไตยและการปรับปรุงด้านสิทธิมนุษยชน โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของความเข้าใจร่วมกันในตอนแรก ซึ่งนำเอากีฬาโอลิมปิกมาสู่กรุงปักกิ่ง บัดนี้เวลาผ่านไปแล้ว 7 ปี เป็นการยุติธรรมที่จะกล่าวว่าคำมั่นดังกล่าวยังไม่ได้รับการปฏิบัติตามความคาดหมายทั้งหลายของฝ่ายตะวันตก กระนั้นมันก็ไม่ได้หมายความว่า ไม่ได้มีการปฏิรูปต่างๆ ในจีนที่เป็นไปใน “แบบของจีนเอง”
ฮ่องกง– เมื่อ 7 ปีก่อน ทางการจีนได้ให้สัญญาที่จะดำเนินการปฏิรูปทางประชาธิปไตยและการปรับปรุงด้านสิทธิมนุษยชน โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของความเข้าใจร่วมกันซึ่งทำให้ปักกิ่งได้จัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนปี 2008 เมื่อมาถึงวันนี้ ยังคงมีรายงานเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่บ่อยครั้ง และนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิจำนวนมากรู้สึกผิดหวังและโกรธเกรี้ยว โดยที่หลายๆ คนกำลังวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจีนที่ล้มเหลวไม่รักษาคำพูดของตนเอง
ในอีกด้านหนึ่ง การจัดมหกรรมกีฬาระหว่างประเทศครั้งนี้ก็ได้ผลักดันปักกิ่งให้เริ่มต้นหรือให้พิจารณา ดำเนินการปฏิรูปต่างๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ประเทศเปิดกว้างมากขึ้น และเสียงเรียกร้องให้ดำเนินการปฏิรูปทางการเมืองก็กำลังแตกหน่อเติบโต ถึงแม้หน่ออ่อนบอบบางเหล่านี้ยังไม่แข็งแรงเพียงพอที่จะอยู่รอดจากพายุทางการเมืองได้ก็ตามที
เมื่อปี 2001 หลิวเจียงหมิน เจ้าหน้าที่คณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปักกิ่งได้แถลงไว้ว่า มหกรรมกีฬาคราวนี้จะเป็น “โอกาสที่จะฟูมฟักประชาธิปไตย, ปรับปรุงสิทธิมนุษยชน, และบูรณาการจีนเข้ากับส่วนอื่นๆ ของโลก” ส่วนพวกนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิก็จับจ้องชนิดไม่ยอมคลาดสายตาว่า ปักกิ่งจะดำเนินปฏิบัติการที่เป็นจริงอย่างไรเพื่อทำให้โลกที่ยังระแวงสงสัยเกิดความมั่นใจขึ้นมาอีกว่า กีฬาคราวนี้จะทำให้เกิดผลดีสำหรับจีน
อันที่จริงแล้ว ยิ่งพวกเขาตั้งความคาดหมายไว้มากเท่าใด ความหงุดหงิดผิดหวังก็ยิ่งเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่พ้น การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศจีนยังคงได้รับการรายงานอยู่บ่อยครั้ง ในปี 2006 เฉินกวงเฉิง นักเคลื่อนไหวผู้ตาบอดซึ่งอยู่ที่มณฑลซานตง ได้ถูกตัดสินโทษจำคุกกว่า 4 ปีด้วยความผิดฐานก่อวินาศกรรม
หูเจีย อาสาสมัครช่วยเหลือเหยื่อโรคเอดส์ซึ่งพำนักอยู่ที่ปักกิ่งและเป็นคนปากกล้า ได้รับโทษจำคุกสามปีครึ่ง เนื่องจากเรียกร้องให้จัดมหกรรม “กีฬาโอลิมปิกที่มีสัมผัสแห่งสิทธิมนุษยชน” ทั้งเฉินและหูต่างถูกก่อกวนรังควาญอย่างน้อยก็หลายๆ เดือนทีเดียวจากพวกอันธพาล ที่กล่าวหากันว่าเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบ ก่อนที่พวกเขาจะถูกจับกุม
อย่างไรก็ดี ต้องบันทึกไว้เช่นกันว่าคณะผู้นำจีนไม่ได้มีความเห็นเป็นเอกฉันท์กันหมดดังที่ดูเหมือนกับจะเป็นเช่นนั้น มีเสียงเรียกร้องหลายๆ ครั้งจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายๆ คนให้ดำเนินการปฏิรูปทางการเมืองในเชิงรุกมากขึ้น ในหมู่เจ้าหน้าที่หัวปฏิรูปเหล่านี้ หวังหยัง สมาชิกกรมการเมือง และผู้เพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์สาขามณฑลกวางตุ้ง ได้รับการจับตามองว่าเป็นผู้โดดเด่นที่สุด หวังเรียกร้องอย่างเปิดเผยให้ดำเนินการปฏิรูปมากขึ้นเมื่อเขามาถึงกวางตุ้ง ซึ่งเคยเป็นที่มั่นอันเข้มแข็งของการปฏิรูปและการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจในยุคทศวรรษ 1970 เขาบอกกับพวกเจ้าหน้าที่กวางตุ้งว่า พวกเขาควร “ปลดปล่อยความคิดของพวกเขา” ให้มากขึ้นอีก เพื่อเปิดทางให้กวางตุ้งสามารถที่จะนำหน้ามณฑลอื่นๆ ในเรื่องการปฏิรูปได้ต่อไป
ก่อนหน้าความริเริ่มของหวัง ก็มี อี๋ว์เค่อผิง รองผุ้อำนวยการสำนักงานการแปลส่วนกลาง ที่ออกมาประกาศสนับสนนการปฏิรูปทางการเมืองอยู่ก่อนแล้ว อี๋ว์ซึ่งเป็นสมาชิกผู้หนึ่งในหน่วยงานคลังสมองของคณะผู้นำหูจิ่นเทา-เวินเจียเป่า ได้เขียนบทความตีพิมพ์ใน เป่ยจิงรึเป้า ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ทางการของคณะกรรมการพรรคสาขาเทศบาลกรุงปักกิ่ง เมื่อเดือนตุลาคม 2006 โดยเขายกเหตุผลต่างๆ ขึ้นมาตอบโต้เพื่อยืนยันว่า “ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ดี” สำหรับประเทศจีนแล้ว เนื่องจากเรื่องประชาธิปไตยถูกมองว่าเป็นหัวข้อที่อ่อนไหวสุดๆ ในการติดต่อพูดจาสื่อสารกันของพรรคคอมมิวนิสต์ นับแต่ปี 1989 เป็นต้นมาทีเดียว ด้วยเหตุนี้เอง ความสัมพันธ์พิเศษที่เขามีอยู่กับเหล่าผู้นำระดับสูงสุด ตลอดจนความเห็นอันเปิดเผยโจ่งแจ้งของเขา จึงทำให้บทความนี้ได้รับความสนอกสนใจเป็นอย่างมาก
นักวิเคราะห์หลายๆ คนเชื่อว่า บางทีนายกรัฐมนตรีเวินเจียเป่าอาจจะเป็นผู้ที่กำลังหนุนหลังพวกเจ้าหน้าที่หัวปฏิรูปในจีนอยู่ก็ได้ เวินซึ่งถูกมองกันอย่างกว้างขวางว่าเป็นครูทางความคิดของหวังหยัง ได้เคยเขียนบทความตีพิมพ์ใน เหรินหมินรึเป้า อันเป็นหนังสือพิมพ์เรือธงของพรรค เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2007 โดยตอกย้ำว่า การคุ้มครองสิทธิพลเมือง, การต่อต้านคอร์รัปชั่น, เช่นเดียวกับ “การขยายประชาธิปไตย”, และการผลักดันเดินหน้าการปฏิรูปทางการเมือง คือเรื่องสำคัญลำดับแรกๆ ในวาระของคณะรัฐมนตรีของเขา
ทัศนะของเวินได้รับการขานรับจากคณะทำงานทรงอิทธิพลที่นำโดย โจวเทียนหย่ง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายของโรงเรียนพรรคส่วนกลาง อันเป็นศูนย์ฝึกอบรมของเหล่าเจ้าหน้าที่ระดับท็อป โจวคือตัวหลักในการยกร่างเอกสารที่เรียกว่า “โรดแมปการปฏิรูปทางการเมือง” ของโรงเรียนพรรคส่วนกลาง ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2008 “แผนการปฏิรูประบบการเมืองอย่างทั่วด้าน”ที่โจวช่วยร่างชิ้นนี้ ได้ยกเหตุผลต่างๆ มาสนับสนุนให้ดำเนินการเปิดเสรีเพิ่มขึ้นๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างสิ่งที่เขาเรียกว่า “ประชาสังคมสมัยใหม่” ภายในปี 2020 และ “ประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมที่เติบใหญ่เต็มที่” ในเวลาหลังจากนั้น การศึกษาของเขาเตือนว่า ประเทศจีนมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะไร้เสถียรภาพอย่างเป็นอันตรายยิ่ง ถ้าหากไม่ดำเนินการปฏิรูปทางประชาธิปไตยเพื่อรักษาอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์ที่เป็นพรรคปกครองประเทศในเวลานี้เอาไว้ โดยที่อยู่ใต้การทัดทานและการตรวจสอบ
ควรต้องบันทึกไว้เช่นกันว่าการปฏิรูปทางการเมืองที่พวกเขากำลังพูดถึงกันอยู่นี้ ไม่ค่อยจะเป็นแบบที่รับรู้เข้าใจกัน โดยนักปราชญ์ชาวตะวันตกหรือผู้เฝ้าจับตาดูจีนจากต่างแดนหรอก เนื่องจากเติ้งเสี่ยวผิงผู้นำที่ล่วงลับไปแล้วได้เคยคัดค้านอย่างเปิดเผยเหลือเกิน ต่อแนวความคิดว่าด้วย “การแบ่งแยกอำนาจออกจากกัน” (separation of powers) และ “ประชาธิปไตยแบบมีหลายพรรค” (multi-party democracy)ของมองเตสกิเอร์ จึงไม่มีผู้นำคนใดในจีนกล้าที่จะถอยห่างออกจากจุดยืนของเติ้ง ตรงกันข้าม เหล่านักปฏิรูปเวลานี้ฝากความหวังไว้กับ “การแบ่งซอยอำนาจ” (division of powers) ซึ่งจะทำให้มีการตรวจสอบทัดทานและการถ่วงดุลกันมากขึ้นในคณะรัฐบาล
ทว่าแม้กระทั่งการพูดถึงการปฏิรูปอย่างอ่อนๆ ขนาดนั้น ก็ยังอาจกลายเป็นหัวข้อของความขัดแย้งขึ้นมาได้ในประเทศจีน อู่ปังกั๋ว ประธานสภาประชาชนแห่งชาติ และผู้นำหมายเลขสองของพรรค ได้ออกมาเตือนอย่างเปิดเผยว่า การปฏิรูปทางการเมืองนั้น มี “เส้นขั้นต่ำสุด” ที่จะไปไกลกว่านั้นไม่ได้ ตามความเห็นของอู่ “ประชาธิปไตยแบบมีหลายพรรค” นั้นไม่ต้องนำมาพิจารณากันเลย “การแบ่งแยกอำนาจออกจากกัน” ก็เหมือนกัน ถือเป็นเรื่องต้องห้าม นอกจากนั้นเขายังคัดค้านไม่ให้นำเอาระบบสองสภามาใช้กับรัฐสภาจีน กระนั้นเขาก็ยอมรับว่า “จีนต้องศึกษาในเชิงบวกเกี่ยวกับประสบการณ์ต่างๆ จากอารยธรรมทั้งหลาย รวมทั้งอารยธรรมทางการเมืองซึ่งสร้างสรรค์โดยสังคมมนุษย์”
นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่จีนบางคนกำลังพยายามที่จะอาศัยกีฬาโอลิมปิกปักกิ่ง เพื่อทำให้เกิด “ช่องทางสำหรับการเคลื่อนไหว” เพิ่มมากขึ้น สำหรับบรรดาสื่อมวลชน หากยังไปถึงขั้นให้มีเสรีภาพอย่างสมบูรณ์ไม่ได้ เมื่อเดือนธันวาคม 2006 ทางการผู้รับผิดชอบของจีนได้ประกาศระเบียบใหม่ที่อนุญาตให้นักหนังสือพิมพ์ต่างชาติเดินทางไปทั่วประเทศเพื่อทำข่าวได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตล่วงหน้าจากพวกเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเสียก่อน สำหรับประเทศจีนซึ่งสื่อมวลชนต่างประเทศถูกจำกัดขอบเขตและถูกเฝ้าติดตามอย่างเข้มงวดเรื่อยมา นี่ต้องถือว่าเป็น “การยอมอ่อนข้อให้” อย่างสำคัญยิ่ง เมื่อพิจารณาในแง่มุมของ “ข้อควรระวังด้านความมั่นคงปลอดภัย” สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนถึงกับยกย่องระเบียบใหม่นี้ว่า เป็น “หลักหมายในการปฏิรูปเพื่อมุ่งสู่การเปิดกว้างของประเทศจีน”
ระเบียบใหม่นี้มีการประกาศใช้ภายหลังคำสั่งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2006 ของประธานาธิบดีหูจิ่นเทา ที่ให้การก่อสร้างสถานที่ต่างๆ เกี่ยวกับกีฬาโอลิมปิก ดำเนินไปด้วยความโปร่งใสเพิ่มมากขึ้น
ระเบียบใหม่นี้กำหนดเงื่อนไขเอาไว้ว่า จะ “เลิกบังคับใช้โดยอัตโนมัติตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2008” หรือก็คือหลังกีฬาโอลิมปิกปักกิ่งเสร็จสิ้นลง ทว่าเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2006 ไช่อู๋ ผู้อำนวยการสำนักงานสารสนเทศของคณะรัฐมนตรีจีน ได้เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวถึงสิ่งที่น่าจะเป็นความตั้งใจอันแท้จริงของเหล่านักปฏิรูปในประเทศจีน “ถ้าระเบียบชั่วคราวเช่นนี้ได้รับการพิสูจน์ว่าให้ผลดีในทางปฏิบัติ จากระยะเวลาบังคับใช้ในช่วงเวลาประมาณ 1 ปีที่กำลังจะมาถึงนี้แล้ว ผมก็คิดว่าไม่มีความจำเป็นอะไรเลยที่จะต้องไปเปลี่ยนแปลงนโยบายที่ดีอยู่แล้ว” ไช่อู๋กล่าว
ในประเทศจีน แม้กระทั่งการปฏิรูปอย่างอ่อนๆ ดังกล่าวนี้ก็ยังอาจก่อให้เกิดปฏิกิริยาในทางลบ นโยบายใหม่ด้านสื่อมวลชนได้รับการปฏิบัติอย่างกระตือรือร้นมากกว่าในพื้นที่อย่างเช่นมณฑลกวางตุ้ง แต่มีรายงานหลายชิ้นซึ่งบ่งชี้ว่าภูมิภาคอื่นๆ จำนวนมากยังคงทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นนโยบายที่มาจากรัฐบาลส่วนกลางนี้ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2008 พวกผู้สื่อข่าวต่างประเทศที่พยายามทำข่าวการจลาจลในทิเบต ได้ถูกห้ามปรามกีดกันทั้งที่นครลาซา, ปักกิ่ง, เฉิงตู, ซีหนิง, และสถานที่หลายแห่งในมณฑลกานซู สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศในจีนแถลงว่า พวกเขาได้รับคำร้องเรียนจากนักข่าวต่างประเทศมากกว่า 30 ราย ในวันที่ 17 มีนาคม 2008 คณะทำงานของสื่อฮ่องกงอย่างน้อย 6 คน ถูกสั่งให้ออกจากทิเบตในทันที วันที่ 20 เมษายน ตำรวจในมณฑลอานฮุยก็ยึดหนังสือรับรองของผู้สื่อข่าวหลายคนที่พยายามรายงานข่าวการประท้วงต่อต้านห้างคาร์ฟูร์ เครือซูเปอร์มาร์เก็ตสัญชาติฝรั่งเศส
มันเป็นการยุติธรรมที่จะกล่าวว่า ความพยายามในการปฏิรูปของจีนยังไปไม่ถึงระดับความคาดหมายของฝ่ายตะวันตกในด้านต่างๆ จำนวนมาก แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ได้มีแรงเหวี่ยงผลักดันให้ไปข้างหน้า เพื่อให้เกิดการปฏิรูปทางประชาธิปไตยในแบบของจีนเอง
และมันเป็นเรื่องเข้าทำนองที่ว่าตั้งใจไว้อย่างหนึ่งแต่กลับบังเกิดผลในทางตรงกันข้ามด้วยซ้ำ เพราะจากการที่ฝ่ายตะวันตกกล่าวหาประเทศจีนกันอย่างมากมาย โดยบางอย่างก็ไม่ได้เป็นไปในลักษณะภววิสัยอย่างสิ้นเชิงนั้น ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นมาก็ดูมีแต่จะทำให้พวกนักปฏิรูปของจีนถูกดึงรั้งถูกทัดทานมากขึ้นเท่านั้น
ฟองตั๊กโฮ เป็นบรรณาธิการบริหารของ เอเชียไทมส์ออนไลน์ ภาคภาษาจีน