นักวิชาการจีนศึกษาฟันธงทิเบต-ไต้หวันไม่กระทบโอลิมปิกจีน ชี้โอลิมปิกแฝงผลประโยชน์ต่อรองมหาอำนาจมหาศาล ส่วนสัมพันธ์จีน-ไต้หวันต้องจับตาเพราะกระทบเศรษฐกิจไทย
ในงานสัมมนา“ทิเบต-ไต้หวันจะดับฝันโอลิมปิกจีนจริงหรือ?” จัดโดย ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันพฤหัส (27 มี.ค.) ดำเนินการสัมมนาโดยนางสาวอรสา รัตนอมรภิรมย์ งานนี้นักวิชาการด้านจีนศึกษาและทิเบตได้ร่วมถกอนาคตการเมืองจีนหลังกรณีการปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงในทิเบต และการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันคนใหม่ ที่ได้ หม่า อิงจิ่ว จากพรรคกั๋วหมิ่นตั่ง (ก๊กมินตั๋ง) ขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทน เฉิน สุยเปี่ยน จากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (ดีพีพี) ที่ไม่ค่อยกินเส้นกับแผ่นดินใหญ่ ทั้งนี้ในงานสัมมนาดังกล่าว มีนักวิชาการชื่อดังเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก อาทิ ศาสตราภิชาน ดร.เขียน ธีระวิทย์ ปรมาจารย์จีนศึกษา และร.ศ. อาทร ฟุ้งธรรมสาร ผู้แปลหนังสือ บันทึกการฑูตจีน 10 เรื่อง เขียนโดย ฯพณฯ เฉียน ฉีเชิน อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน
ผู้นำใหม่ไต้หวัน - ความสัมพันธ์ระหว่างช่องแคบ
สำหรับประเด็นแรกคือ “ผู้นำใหม่ไต้หวัน - ความสัมพันธ์ระหว่างช่องแคบ” นายรณพล มาสันติสุข นักวิจัยศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงฯ ชี้ว่า ผลการเลือกตั้งเมื่อวันเสาร์ (22 มี.ค.) ที่นายหม่า อิงจิ่วจากพรรคกั๋วหมินตั่ง สามารถเอาชนะคู่แข่งคือ เซี่ย ฉางถิง แห่งพรรคดีพีพี อย่างท่วมท้น ด้วยคะแนนเสียง 7.65 ล้าน ต่อ 5.44 ล้าน หรือคิดเป็น 58.45% ต่อ 41.55% นับเป็นจุดผกผันที่สำคัญ
ภายใต้การปกครองของพรรคดีพีพีโดยประธานาธิบดี เฉิน สุยเปี่ยน ที่นั่งเก้าอี้ติดต่อกันถึง 2 วาระตั้งแต่ปี 2000-2008 ความสัมพันธ์ระหว่างช่องแคบค่อนข้างมีปัญหา การขึ้นมาของหม่า อิงจิ่ว ซึ่งเน้นย้ำนโยบายชูสัมพันธ์ที่ดีกับจีนแผ่นดินใหญ่จึงเป็นเรื่องที่น่าจับตามอง โดยเฉพาะการเอาชนะเฉือนคู่แข่งจากพรรคดีพีพีมาได้ ส่วนหนึ่งเพราะการชูนโยบาย 3 ไม่ คือ “ไม่รวม (ชาติ), ไม่แยก (เอกราช), ไม่สู้ (กับจีน)” ซึ่งเท่ากับว่า หม่า ต้องการดำรงสภาพความสัมพันธ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ระหว่างจีน-ไต้หวัน พร้อมทั้งดึงจีนเข้ามาเป็นปัจจัยร่วมพัฒนาเศรษฐกิจไต้หวัน นอกจากนี้เขายังต้องการผลักดันสัมพันธ์ 2 เรื่องคือ การเมือง และเศรษฐกิจระหว่างช่องแคบ
การผลักดันสัมพันธ์ 2 เรื่องคือ โจทย์เฉพาะหน้าที่หม่า ต้องเผชิญ ซึ่งทั้งสองประเด็นล้วนมีความเกี่ยวข้องซึ่งกันละกัน การพัฒนาเศรษฐกิจจำต้องอาศัยจีนเป็นหัวกระสุนฉุดดึงเศรษฐกิจไต้หวัน ในทางเศรษฐกิจจำต้องเจรจาให้เกิด 3 ผ่าน เพื่อส่งเสริมการค้า ตั้งแต่ปี 1949 ที่กั๋วหมินตั่งพ่ายแพ้สงครามการเมืองพรรคคอมมิวนสิต์จีน กระทั่งต้องย้ายมาอยู่ที่เกาะไต้หวัน 3 ผ่านคือ การขนส่งสินค้า, ไปรษณีย์ และการบินตรงระหว่างแผ่นดินใหญ่-ไต้หวันถูกระงับ ทว่าปัจจุบันมีการเจรจาจนได้ 2 ผ่านแล้ว คือ มีการขนส่งสินค้า และไปรษณีย์โดยตรง เหลือเพียงเครื่องบินตรงเพียงอย่างเดียว
ปัจจุบันหากนักธุรกิจไต้หวัน จะต้องเดินทางไปจีน จำต้องไปเปลี่ยนเครื่องที่ฮ่องกงอีกต่อหนึ่ง ซึ่งเสียเวลามากสำหรับนักธุรกิจที่เวลาเป็นเงินเป็นทอง ฉะนั้นหม่าจึงต้องเจรจาให้เกิดผ่านสุดท้าย เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจไต้หวัน ซึ่งในส่วนนี้ทางจีนโดยประธานาธิบดีหู จิ่นเทา ก็ประกาศต่อที่ประชุมสภาผู้แทนประชาชนว่า พร้อมเจรจากับทางไต้หวันภายใต้หลักการจีนเดียว ที่ผ่านมาจีนให้สิทธิประโยชน์กับชาวไต้หวันมากมาย อาทิ การศึกษา นักเรียนไต้หวันสามารถเข้าไปเรียนที่แผ่นดินใหญ่ได้โดยเสียค่าเทอมเท่านักศึกษาในแผ่นดินใหญ่
ทางด้านการเมืองจีนพยายามพูดคุยถึงประเด็น 1 ประเทศ 2 ระบบเพื่อรวมไต้หวัน ไม่ต้องการให้ไต้หวันแยกตัวออกเป็นเอกราช ทั้งทางพฤตินัย และนิตินัย อาทิ การลงประชามติเรื่องการเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติของไต้หวันที่จัดขึ้นพร้อมกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 22 มี.ค. ทางจีนก็คัดค้านและไม่เห็นด้วย
ในการแถลงต่อสภาผู้แทนประชาชน นายกรัฐมนตรี เวิน เจียเป่าของจีน ได้พูดถึงประเด็นทิเบต พร้อมกับพูดถึงไต้หวันว่า ทางจีนฝันรวมชาติ ซึ่งหม่า อิงจิ่วได้กล่าวประฌามจีนว่าไร้เหตุผล ตรงนี้อาจทำให้สัมพันธ์ต้องสะดุดบ้างไม่ชื่นมื่นอย่างที่คิด อย่างไรก็ตามต้องดูบริบทด้วยว่า การพูดของหม่า อาจเป็นการพูดเพราะการเมืองพาไป เนื่องจากกระแสชาตินิยมไต้หวัน อันเป็นมรดกจากการปกครองของเฉิน สุยเปี่ยน เป็นสิ่งที่มีพลังมากในไต้หวัน
พร้อมกันนี้นายรณพลยังชี้ว่า การที่จีนใช้นโยบายเอาอกเอาใจไต้หวัน ให้สิทธิต่างๆมากมาย รวมถึงการค้าการลงทุน อาจดึงดูดให้นักลงทุนไต้หวันที่เข้ามาลงทุนในไทย ไหลออกไปลงทุนที่จีนแทน และสิ่งที่เราจำต้องจับตามองคือ การขึ้นมาของหม่า อิงจิ่ว
หม่าจะจัดความสัมพันธ์ระหว่าง จีน,ไต้หวัน, สหรัฐฯ และญี่ปุ่นอย่างไร? เพราะประเทศที่กล่าวมาล้วนมีความเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์จีน-ไต้หวันอย่างมีนัยยะสำคัญ เราคงต้องจับตาดูว่า ล่าสุดที่หม่าขอเดินทางไปเยือนสหรัฐฯจะได้ไปไหม? และในอนาคตหม่าจะไปเดินทางเยือนจีนหรือไม่? เพราะตรงนี้เป็นสิ่งสะท้อนในเรื่องการจัดวางความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจในภูมิภาค และเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง
มิติที่เปลี่ยนไปในรัฐบาลหู จิ่นเทา 2
ประเด็นถัดมา ศ.ดร.สุรชัย ศิริไกร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงครม. ในการประชุมสภาผู้แทนประชาชน ครั้งที่ผ่านมาว่า เป็นการกำหนดทิศทางที่สำคัญของประเทศจีน แม้หู จิ่นเท่า และเวิน เจียเป่า จะนั่งเก้าอี้ประธานาธิบดี และนายกรัฐมนตรีต่ออีกวาระตามคาด แต่ครั้งนี้ก็มีการตั้งสี จิ้นผิง และ หลี่ เค่อเฉียง ขึ้นมาดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี และรองนายกรัฐมนตรี เท่ากับชี้แล้วว่า ใครจะมาสืบทอดอำนาจ
ในการประชุมสมัชชาใหญ่ผู้แทนทั่วประเทศพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 17 เมื่อเดือนต.ค. ทั้งสี จิ้นผิง และ หลี่ เค่อเฉียง ได้รับการแต่งตั้งเข้าสู่ตำแหน่ง คณะกรรมการประจำกรมการเมือง สำหรับสีนั้นค่อนข้างแน่นอนว่า จะมาสืบทอดตำแหน่งแทนหูแน่ หากดูเส้นทางการดำรงตำแหน่งเราจะเห็นอะไรที่คล้ายกัน ก่อนที่จะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีหูเองก็ผ่าน การดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งตอนนี้สีก็ดำรงตำแหน่งดังกล่าว
ที่น่าสังเกตคือ ผู้นำจีนอายุน้อยลงเรื่อยๆ สี จิ้นผิง ตอนนี้อายุแค่ 54 ปี ส่วนหลี่ เค่อเฉียงก็อายุแค่ 52 ปี ทั้งสองคนเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีประสบการณ์ระดับรากหญ้า สมัยปฏิวัฒนธรรมพวกเขาเคยทำงานในคอมมูนมาแล้ว
จุดสำคัญอีกอันหนึ่งคือ การปรับเปลี่ยนครั้งที่ผ่านมาสะท้อนว่า หู สามารถกุมอำนาจได้อย่างเด็ดขาด เขากำจัดกลุ่มพันธมิตรของเจียง เจ๋อหมิน อดีตประธานาธิบดีได้หมด แม้แต่เฉิน เหลียงอี่ว์ เลขาธิการพรรคฯประจำเซี่ยงไฮ้ ยังถูกเชือดด้วยข้อหาคอร์รัปชั่น การปรับลดกระทรวงพร้อมทั้ง ซูเปอร์กระทรวงขึ้นมาใหม่ก็เป็นการชี้ถึงอำนาจที่มีอย่างล้นเหลือของหู ที่หูสามารถทำอย่างนี้ได้เพราะ หู จิ่นเทา รวบอำนาจไว้หมด เขาดำรงตำแหน่งทั้ง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์, ประธานาธิบดี และประธานคณะกรรมาธิการทหาร ควรกล่าวด้วยว่า ที่ต้องรวบอำนาจนี้ บางทีหูอาจไม่ต้องการให้เกิดการแตกแยก เป็นกลุ่มการเมืองต่างๆ เช่นสมัยเหมา และเติ้ง ประเพณีการรวบอำนาจนี้มีมาตั้งแต่สมัยเจียง เจ๋อหมิน จะว่าไป ก็เป็นเรื่องย้อนแย้งที่หูเน้นประชาธิปไตย แต่ตัวเองกลับรวบอำนาจไว้มาก
ในการแถลงนโยบายต่อสมัชชาใหญ่ของพรรคฯ และสภาผู้แทนประชาชน ศ.ดร.สุรชัย ตั้งข้อสังเกตว่า นโยบายเศรษฐกิจการเมืองทั้ง 10 ข้อที่หูแถลงชี้ทิศทางที่สำคัญของการพัฒนาประเทศจีน “จีนจะเดินไปทางไหน”
ข้อแรกเป็นเรื่องการยึดมั่นในแนวทางปฏิรูปและเปิดประเทศ อันนี้เป็นแนวทางที่จีนทำมาตลอดไม่มีอะไรใหม่มาก มีการคาดว่าภายในปี 2015 จีนจะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่สุดในโลก อันนี้วัดโดยกำลังซื้อ (PPP) ส่วนข้อสองเป็นการพูดถึงการยึดหลักวิทยาศาสตร์ในการพัฒนาประเทศ กล่าวคือนำเอาความคิดมาร์ก, เลนิน, เหมา, เจียง และเติ้ง มาผสานกันภายใต้ประสบการณ์ของจีน สร้างแนวทางการพัฒนาที่เหมาะสมกับจีน เป็นทุนนิยมโดยรัฐ (state capitalism) รัฐมีบทบาทชี้นำทางด้านเศรษฐกิจ ข้อสามหูตั้งเป้าว่า ในปี 2020 สังคมจีนจะมั่งคั่งระดับปานกลาง คือ ปี 2020 รายได้ประชาชาติต่อหัวต้องเป็น 4 เท่าของปี 2000 นอกจากนี้ในปี 2020 จีนจะมีสถานะเป็นประเทศอุตสาหกรรม มีพลังแห่งชาติโดยรวมครบทุกด้านบริบูรณ์ ส่วนข้อสี่เน้นการส่งเสริมนวัตกรรมใหม่ทางเศรษฐกิจ ช่วง 5 ปีข้างหน้านี้จีนจะให้ความสำคัญกับการคิดค้นประดิษฐ์ของใหม่ เพราะตอนนี้อินเดีย และเวียดนามไล่จี้มา จะเน้นผลิตสินค้าราคาถูกเหมือนเดิมไม่ได้ ต้องเพิ่มมูลค่าสินค้า นอกจากนี้จีนจะส่งเสริมให้บริษัทรายใหญ่รวมกลุ่ม เพื่อพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันกับต่างประเทศ ประเด็นนี้จู หรงจี เคยพูดมาแล้ว แต่หูมาเน้นใหม่ เพราะวิสาหกิจจีนมีเป็นแสน แต่ดีจริงมีไม่กี่ที่ ฉะนั้นต้องยุบรวมเลือกเอาที่ดีจริงๆไปแข่ง
ข้อห้าหูพูดถึงการขยายประชาธิปไตยของประชาชน ให้คนรุ่นใหม่เข้าใจว่า จีนจะเป็นประชาธิปไตยแน่ แต่ประชาธิปไตยแบบสังคมนิยม 4-5 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีการเลือกตั้งผู้นำระดับหมู่บ้านแล้ว มีการเรียกร้องให้คนจีนสร้างวินัย สอดส่องพฤติกรรมเจ้าหน้าที่พรรค ให้แยกบทบาทรัฐออกจากเอกชน หรือสถาบันที่ตั้งอยู่บนเศรษฐกิจ เท่ากับว่ารัฐจะยุ่งเศรษฐกิจน้อยลง ข้อที่หกคือการสนับสนุนวัฒนธรรมจีน เพราะอุดมการณ์ต่างๆเช่นคอมมิวนิสต์หายไปแล้ว ฉะนั้นต้องพลิกฟื้นของเก่า มีการคิดเรื่องชาตินิยมมาแทนที่อุดมการณ์เหมา, มาร์ก และเลนิน ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน ข้อเจ็ดเป็นการลดช่องว่างรวยจน ซึ่งตรงนี้ไม่มีอะไรตื่นเต้นเป็นเรื่องที่พูดกันมานาน
ข้อแปดพูดเรื่องการพัฒนากองทัพ อันนี้เป็นครั้งแรกที่จีนประกาศอย่างเป็นทางการว่า จะพัฒนากองทัพ หูพูดว่าพัฒนากองทัพ เพื่อป้องกันตนเอง เน้นกองทัพสมัยใหม่ ที่มีเทคโนโลยีสารสนเทศไฮเทค เตรียมคนพร้อมสำหรับสงครามไซเบอร์ เมื่อปีที่แล้วจีนเองก็ยิงจรวดขึ้นไปทำลายดาวเทียมในอวกาศเพื่อแสดงแสนยานุภาพให้โลกเห็น จนสหรัฐฯต้องยิงบ้าง อเมริกาปฏิรูปกองทัพทันสมัยจนเป็นเจ้าโลก (hegemon) จีนจึงต้องปฏิรูปบ้าง ตอนนี้จีนเองก็ลดกำลังทหารลงเรื่อยๆ ปีนี้คาดว่าจะลดอีก 200,000 นาย ให้เหลือทหารประจำการ 2.1 ล้านนาย
ข้อเก้าพูดถึงการรวมชาติ หูอาจเป็นผู้นำคนแรกเลยก็ว่าได้ ที่เอ่ยปากขอร้องไต้หวัน ยุติความเป็นศัตรู ให้แสวงหาสันติภาพร่วมกัน พัฒนาอยู่ร่วมกันอย่างสันติ โดยจีนพร้อมคุยทุกเรื่องแต่ต้องอยู่ภายใต้หลักการจีนเดียว ทีนี้ถ้าพูดถึงอนาคตที่ไต้หวันบอกไม่รวม ไม่แยก นักรัฐศาสตร์เสนอสูตรให้ว่า อาจต้องจัดการปกครองแบบสหพันธรัฐ (federation) หรือเป็น เครือจักรภพ (common wealth) จะทำให้ทั้งจีนไต้หวันอยู่ร่วมกันได้โดยแต่ละฝ่ายต่างมีอธิปไตย แต่ปัญหามีว่าจีนจะรับสูตรนี้รึเปล่า? เพราะใช้ไปแล้วทิเบต, ซินเจียง และมองโกเลียใน จะมีปฏิกิริยาอย่างไร? ส่วนข้อสุดท้ายหูกล่าวว่า จะปรับปรุงพรรคให้ดีขึ้น เรียกร้องให้สมาชิกพรรคมีระเบียบวินัย จะตั้งคณะกรรมการประจำทุกระดับถึงระดับหมู่บ้านเลย จากเดิมที่มีคณะกรรมการประจำ ระดับคณะกรรมการกลางพรรค เพื่อดูแลมิให้เจ้าหน้าที่คอร์รัปชั่น
อย่างไรก็ตามอุปสรรคที่สำคัญสุดตอนนี้ที่จีนต้องเผชิญคือ สายตาชาวโลก เมื่อจีนค่อยๆเติบโตอำนาจทางทหารก็ก้าวตามไปด้วย คนรอบข้างไม่เชื่อว่า เมื่อเป็นมหาอำนาจทางทหารจีนจะไม่เบ่ง ตรงนี้ควรจะทำอย่างไร เพราะตามประวัติศาสตร์การเติบโตของมหาอำนาจหนึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งกับมหาอำนาจเดิม ถ้าเช่นนั้นจีนก็ต้องขัดแย้งกับสหรัฐฯแน่นอน ประเทศต่างๆเริ่มเตรียมยุทธศาสตร์ในการเผชิญหน้ากับจีนโดยเฉพาะหลังปี 2020 ซึ่งคาดว่า จีนจะกลายเป็นมหาอำนาจเต็มตัว ที่จริงตรงนี้ขึ้นอยู่กับมุมมองว่า จีนจะเป็นภัยคุกคามไหม ถ้ามองแบบสัจนิยมก็ต้องตอบ ใช่ เป็นภัยคุกคามแน่ แต่พวกที่ยึดเสรีนิยม โดยเฉพาะเสรีนิยมใหม่ มองว่าจีนจะไม่ขัดแย้งกับคนอื่น เพราะต้องพึ่งพากันมาก แต่นักคิดสายนี้ก็เสนอว่า ทางที่ดีควรกลืนจีนให้เป็นประชาธิปไตย ทุนนิยมเสรี ซึ่งสอดคล้องกับระบบโลกปัจจุบัน ถ้าทำอย่างนี้ได้จีนจะไม่แก้ระบบโลก เพราะเวลามหาอำนาจหนึ่งขึ้นมา ก็มักแก้ระบบโลกที่เอื้อต่อตน อันนี้เป็นธรรมชาติของการเมืองระหว่างประเทศ
มุมมองเศรษฐกิจการเมืองว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงในไต้หวัน
ส่วนหัวข้อต่อมา รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา จุฬาฯ กล่าวว่าจีน-ไต้หวันจำต้องกระชับสัมพันธ์กันมากขึ้น เพราะมีผลต่อการพัฒนาในอนาคต ชาวไต้หวันเข้าไปลงทุนในจีนมาก 54% ของการลงทุนไต้หวันทั่วโลกเป็นการลงทุนในจีน โดยมักลงทุนแถบลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง, จูเจียง, มณฑลฝูเจี้ยน และเมืองเซี่ยเหมิน อย่างไรก็ตามขณะนี้นักลงทุนไต้หวันไม่ค่อยพอใจเรื่องต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากกฎหมายแรงงานฉบับใหม่ และการเก็บภาษีอากรอัตราเดียว ที่ชาวต่างประเทศและจีนเสียเท่ากันที่ 25% สองปัจจัยนี้ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น นักลงทุนไต้หวันกว่า 8% บอกว่า จะถอนตัวจากจีนเข้ามาลงทุนในเวียดนาม และกลุ่มประเทศอาเซียน ตรงนี้สำคัญเพราะไต้หวันเป็นท็อปไฟว์นักลงทุนในไทย หากสัมพันธ์จีน-ไต้หวันไม่ดีขึ้น เวียดนามมีโอกาสในการดึงดูดนักลงทุนไต้หวันมาก ตอนนี้มีหนุ่มไต้หวันแต่งสาวเวียดนามไปแล้วเป็นแสนคู่ แสดงถึงสัมพันธ์ที่แนบแน่นกันมาก
ที่ผ่านมานักลงทุนไต้หวันเสียเปรียบฮ่องกงในเรื่องการเข้าไปลงทุนในแผ่นดินใหญ่ บริษัทไต้หวันต้องไปจดทะเบียนที่ฮ่องกงก่อน ทำให้ฮ่องกงได้กินหัวคิว แถมทางไต้หวันเองยังมีกฎหมายกำหนดเรื่องการลงทุนไม่ให้ลงทุนในจีนมากเกิน 40% ของการลงทุนในไต้หวัน การเดินทางบินตรงก็ยังไม่มี และถ้าพูดถึงเรื่องสถิติการท่องเที่ยวแล้วฮ่องกงดึงดูดนักท่องเที่ยวมากกว่าไต้หวัน ส่วนมากเป็นนักท่องเที่ยวจีน พวกนี้กำลังซื้อมากกระเป๋าหนัก เศรษฐีจีนจำนวนมากเข้ามาซื้อที่ในฮ่องกงทำให้อสังหาฮ่องกงบูม ส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัว
ส่วนตลาดหุ้นฮ่องกงก็ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของเอเชีย มีบริษัทจีนใหญ่ๆเข้าไปจดทะเบียนมากทำให้หุ้นพุ่ง จีใช้ฮ่องกงเป็นประตูทางการเงินสู่โลกภายนอก เพราะฮ่องกงเหมือนลอนดอนน้อย (Little London) มีความเชื่อมโยงกับตลาดหุ้นที่ลอนดอน และสหรัฐฯ ไต้หวันก็ควรเปิดเชื่อมภาคการเงินกับจีนมากขึ้น ทั้งฮ่องกงไต้หวันมีการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ ฮ่องกงเปลี่ยนจากอิงการผลิตเป็นบริการ ส่วนไต้หวันเปลี่ยนจากเกษตร, การผลิต สู่อุตสาหกรรมไอที
หากมองในมุมกว้างสัมพันธ์ที่ดีขึ้นจะก่อให้เกิด Great China Economic Zone ที่มีจีนเป็นยอดสามเหลี่ยมเป็นฐานการผลิตโดยมีสองขายื่นออกมารองรับ คือใช้ฮ่องกงเป็นฐานการเงิน และโลจิสติกส์ และใช้ไต้หวันเป็นฐานด้านวิจัยและพัฒนา (R&D) ความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างจีน-ไต้หวันจำเป็น เพราะหากเกิดเหตุกระเทือนขึ้นมา จะส่งผลต่อเมืองเศรษฐกิจแทบชายฝั่งตะวันออกของจีนเช่นเซี่ยงไฮ้ อาจพังได้
ทีนี้ Great China Economic Zone เองก็ส่งผลกระทบต่อเอเชีย ตอนนี้จีนเป็น Center of Regional Supply chain ทำไมบาทแข็งแต่ส่งออกเราเพิ่ม? ตรงนี้แทบฉีกทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ทิ้งเลย แต่จริงๆเป็นเพราะจีน อาเซียน,ไทย, แอฟริกา, ละตินอเมริกา, ญี่ปุ่น เกาหลี ฯลฯ ทุกประเทศเชื่อมโยงกับจีนหมด เราส่งออกไปจีนมาก เขาก็ซื้อสินค้าเรามาก ทำให้ข้าวแพง FAO บอกว่าข้าวจะแพงไปอีก 10 ปี ที่ผ่านมาเราพึ่งสหรัฐฯมากเกินไป โจทย์สำคัญคือจะหลุดการพึ่งพิงที่มากเกินไปอย่างไร ตอนฟองสบู่ดอทคอมแตกเราได้รับผลกระทบหนัก แต่ตอนนี้วิกฤตซับไพรม์ผลกระทบไม่แรงเท่าตอนนั้น เพราะมีจีน อินเดีย เป็น Global Supply chain ใหม่บรรเทาผลกระทบ
สถานการณ์ชนชาติทิเบตในปัจจุบัน
ต่อมารศ.ดร.กฤษดาวรรณ หงส์ลดารมภ์ นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านทิเบต ได้กล่าวถึงวิถีชีวิต และความคิดความเชื่อของคนทิเบตในปัจจุบันว่า เป็นการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมดั้งเดิมกับความทันสมัย อย่างไรก็ตามปัญหาที่เกิดขึ้นในทิเบตเป็นเพราะความไม่เข้าใจระหว่างจีนกับทิเบต
พ่อแม่ทิเบตมักส่งเสริมให้ลูกบวช แต่รัฐจีนไม่สนับสนุน พอพูดถึงเรื่องลามะ ในสังคมไทยมีความเข้าใจผิดลามะ หมายถึงครู เราไว้เรียกพระชั้นสูงเท่านั้น พระทั่วไปเราเรียกพระตามปกติ ในทิเบตไม่มีภิกษุณี มีแต่สามเณรี
สำหรับประวัติศาสตร์ทิเบตเมื่อก่อนระหว่างศตวรรษที่ 7-10 ก็ปกครองโดยระบอบกษัตริย์ ครั้นศตวรรษที่13-20 จึงปกครองโดยลามะ ที่สำคัญมี 2 นิกายคือ สาเกียปะ กับ เกลุกปะ แต่ปัจจุบันเกลุกปะ มีองค์ทะไล ลามะเป็นผู้นำครองอำนาจ ทั้งสองนิกายนี้ตั้งอยู่ในทิเบตตอนกลาง การปกครองโดยลามะสลายไปเมื่อปี 1959 หลังพรรคคอมมิวนิสต์เข้ามาในทิเบต
เมื่อพูดถึงทิเบตเราต้องเข้าใจในฐานะเขตวัฒนธรรมด้วย คนทิเบตไม่ได้อยู่แค่ในเขตปกครองตนเองทิเบตเท่านั้น แต่ยังกระจายอยู่ตามหยุนหนัน (ยูนนาน), ซื่อชวน (เสฉวน) และชิงไห่
ภูมิศาสตร์ทิเบตแบ่งออกเป็นเขตใหญ่ๆได้ 3 เขตคือ อูซัง, อัมโด และคาม ด้วยภูมิศาสตร์ที่เต็มไปด้วยภูเขาสูง ภาษาทิเบตจึงมีความหลากหลาย คนในแต่ละถิ่นที่เป็นทิเบตด้วยกันเองยังพูดฟังกันไม่รู้เรื่อง ต้องใช้ภาษาจีนเป็นสื่อกลางแทน ปัญหานี้ทำให้คนทิเบตงงว่า ทำไมทั้งที่เป็นคนทิเบตด้วยกันเอง ทำไมฉันต้องใช้ภาษาจีนสื่อสาร แม้แต่ในห้องเรียนยังใช้ภาษาจีนเป็นสื่อในการสอน นอกจากนี้ปัจจุบันการรู้ภาษาทิเบตอย่างเดียวไม่พอ ต้องรู้จีนและอังกฤษจึงหางานทำได้ง่าย ตรงนี้กลายเป็นปัญหาขึ้นมาอีก เพราะตามวัดเวลาบวชจะเรียนแต่ภาษาทิเบต รู้แต่เรื่องศาสนา พอลาสิกขาบทไม่มีทักษะในการประกอบอาชีพ
ศาสนาพุทธในทิเบตเป็นนิกายวัชรยาน มีนิกายย่อยๆที่สำคัญคือ ณิงมาปะ, กาจูร์ปะ, สาเกียปะ, เกลุกปะ, โจนันปะ และเผิน ในทิเบตไม่มีการบูชายัญ ตรงนี้ชอบมีคนเข้าใจผิดว่า ทิเบตมีการบูชายัญ ตั้งแต่ทะไล ลามะองค์ที่ 5 เกลุกปะเป็นนิกายที่ใหญ่สุดมีวิทยาลัยสูตระ และตันตระสอนพระสูตร และคัมภีร์ วัดในนิกายเกลุกปะที่สำคัญตั้งอยู่ในเมืองลาซา คือกานเดน และเมืองชิกาเซคือ ต้าซี และลุนโป ซึ่งเป็นที่พำนักของปันเชน ลามะ
นิกายณิงมาปะพระสามารถมีภรรยาได้ นอกจากนี้ยังอนุญาตให้ฆราวาสร่วมปฏิบัติธรรมด้วย ที่น่าสนใจคือ พระทิเบตเข้าไปเผยแผ่ธรรมในจีน ที่ปักกิ่งมีวิทยาลัยสอน มีลูกศิษย์เป็นคนจีนมาก รัฐบาลจีนไม่มีเงินเดือนให้พระ แต่ถ้าวัดใหญ่ๆจะมีเงินให้แต่ต้องแลกกับการดูแลใกล้ชิด เข้มงวด จะประกอบพิธีต้องไปขออนุญาตทางการก่อน
นอกจากนี้พระทิเบตยังต่างกับไทยตรงที่ไม่ออกบิณฑบาตรจะประกอบอาหารเอง หากจาริกแสวงบุญก็จะนำซัมป้า (แผ่นแป้งทำจากข้าวบาร์เลย์) ติดตัวไป พระใช้ชีวิตเหมือนคนธรรมดามีวันหยุดช็อปปิ้งได้ ไม่ต้องประจำอยู่วัดทุกวัน บางทีเราอาจเห็นพระเล่นบิลเลียต ขี่ช็อปเปอร์เป็นเรื่องปกติ กล่าวคือพระไม่ใช่คนของวัด 100% กลับบ้านไปช่วยทำนา นอนค้างบ้านได้
เมื่อมีงานใหญ่ในชุมชนทิเบตพลัดถิ่น มักมีการคุมเข้มในเขตปกครองตนเองทิเบต ก่อนหน้าโอลิมปิกจะเริ่มขึ้นก็มีกฎหลายอย่างควบคุมเข้มงวด กดดันคนทิเบต ตรงนี้อาจเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เกิดการปะทะ Schwartz Harrell เขียนข้อความไว้ในหนังสือเรื่อง Ways of Being Ethnic in Southwest China ว่าชนชาติมองการพัฒนาอย่างหวาดระแวง ชนชาวฮั่นเข้ามาทำให้พวกเขาไม่สบายใจ แม้หลายสิ่งหลายอย่างจะดีขึ้น
ในเรื่องสื่อของชาวทิเบต ทิเบตเองก็มีสื่อที่เป็นภาษาของตนเองเช่นโทรทัศน์, วิทยุ และหนังสือพิมพ์ มีทั้งในลาซา, อัมโด และชิงไห่ ส่วนสังคมทิเบตลี้ภัยลามะมองว่าอยู่ในหรือนอกทิเบตไม่สำคัญ ท่านสามารถทำประโยชน์ให้กับโลกได้ จึงไม่จำเป็นต้องกลับทิเบต แถมปัจจุบันปรัชญาทิเบตยังงอกงามในสังคมตะวันตก ทิเบตพลัดถิ่น กับทิเบตในจีนปัจจุบันก็พูดกันไม่ค่อยรู้เรื่อง อย่างทิเบตพลักถิ่นที่อินเดียพูด ทิเบตปนฮินดีปนอังกฤษ ทิเบตในจีนก็พูดทิเบตปนจีน
อย่างไรก็ตามวิถีชีวิตจิตวิญญาณของพวกเขาต่างขับเคลื่อนด้วยศรัทธา ชาวทิเบตเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม และการพึ่งพาอาศัยกัน
เหตุการณ์จลาจลที่เกิดขึ้นในทิเบตให้ข้อคิดเราหลายอย่างคือ เรื่องความรู้เกี่ยวกับชนชาติทิเบต และชนกลุ่มน้อยอื่นๆ, ความสำคัญเกี่ยวกับสันติภาพและการไม่ตกเป็นเครื่องมือของอารมณ์โกรธ, องค์ทะไล ลามะยังคงเป็นศูนย์รวมทางจิตวิญญาณ แต่ก็มีคนรุ่นใหม่ที่ไม่ฟังคำสอนเรื่องสันติภาพของพระองค์
ปัญหาทิเบตจะดับฝันโอลิมปิกจีนจริงหรือ?
อาจารย์วรศักดิ์ มหัทธโนบล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ ซึ่งแนะนำตัวว่า เป็นลูกหลานจีนจากปัตตานี กล่าวถึงปัญหาทิเบตว่า การชุมนุมครั้งล่าสุดประเด็นเรื่องเอกราชเป็นมูลเหตุสำคัญ อันหนึ่ง ที่จริงแล้วเรื่องนี้พูดกันมากว่า 10 ปี ทิเบตมีความเป็นมาคล้าย 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของเราคือ ในช่วงประวัติศาสตร์ที่ผ่านมามีฐานะเหมือนเมืองประเทศราช ราชวงศ์จีนแข็งแกร่งทิเบตก็ตกอยู่ใต้จีน แต่ถ้าจีนอ่อนแอทิเบตก็ค่อนข้างมีอิสระ สมัยราชวงศ์ชิงราชวงศ์สุดท้ายของจีน ทิเบตเป็นของจีน
ปลายสมัยราชวงศ์ชิงอังกฤษ และอเมริกา เข้าไปติดต่อกับทิเบตโดยตรงทำให้ดูเหมือนทิเบตเป็นอิสระ กล่าวคือในทางพฤตินัยเป็นเอกราช แต่ผู้นำทิเบตไม่ยอมทำให้มีเอกราชในทางนิตินัยด้วย สาเหตุมี 2 ประการคือ
ประการแรกทิเบตเองเฉยชาอย่างองค์ทะไล ลามะก็มองว่า เมื่อประกาศเป็นอิสระทางพฤตินัยให้โลกรู้แล้วก็ไม่จำเป็นต้องดำเนินการทางนิตินัย ส่วนประการต่อมา เพราะอังกฤษกับสหรัฐฯมีบทบาทที่ไม่ยอมทำให้ทิเบตมีเอกราชทางนิตินัย ด้วยกลัวสูญเสียผลประโยชน์ที่มีกับจีนอย่างมหาศาล เพราะอังกฤษและสหรัฐฯได้รับผลประโยชน์ทางการค้ามากมายจากจีน โดยเฉพาะช่วงหลังกบฏนักมวย ซูสีไทเฮาให้ผลประโยชน์ต่างชาติมาก จนได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้มีวิสัยทัศน์ก้าวไกลจากฝรั่ง
ที่นี้พอมีเรื่องเอกราชเข้ามาเกี่ยวจีนจึงมองว่า เป็นกบฎต้องปราบ แม้ชุมนุมอย่างสันติก็มีปัญหา ลองเทียบกับ 3 จังหวัดภาคใต้ว่า ถ้าเขาชุมนุมอย่างสันติแต่เป็นการชุมนุมเรียกร้องเอกราชล่ะ เราจะทำอย่างไร? มันค่อนข้างล่อแหลม
นอกจากเรื่องเอกราช การชุมนุมครั้งนี้ยังพูดถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพทางวัฒนธรรมและศาสนา ชีวิตปกติของชาวทิเบตสัมพันธ์กับศาสนา อาณาจักรกับศาสนจักรแยกกันไม่ออก ตรงนี้จีนไม่เข้าใจเวลามีการปฏิบัติศาสนกิจก็จ้องว่า คิดวางแผนการเมืองกันรึเปล่า ผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งไม่ได้เรียกร้องเอกราช แต่ขอสิทธิเสรีภาพทางศาสนา
จีนมีอคติกับองค์ทะไล ลามะเพราะไม่เข้าใจ จะแยกระหว่าง เอกราชกับสิทธิเสรีภาพทางศาสนาอย่างไร การชุมนุมครั้งนี้มีทั้ง 2 ประเด็นเข้ามาผสม โดยส่วนตัวผมเชื่อว่า องค์ทะไล ลามะไม่คิดเรื่องเอกราช และพระองค์ยืนยันจุดนี้มาตลอดพร้อมเจรจากับจีน พอเกิดความรุนแรงพระองค์ก็ประกาศจะลาออกจากการเป็นผู้นำ ประฌามความรุนแรง ตรงนี้จีนไม่เข้าใจทะไล ลามะ อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ สั่นคลอนสถานะการเป็นผู้นำขององค์ทะไล ลามะ ด้วยคนกลุ่มหนึ่งประกาศไม่เห็นด้วยกับแนวทางของพระองค์
นอกจากปัญหาเรื่องเอกราชกับสิทธิเสรีภาพ ยังมีปัญหาใหม่เกิดขึ้น เป็นปัญหาที่น่าวิตกกว่า คือ ความขัดแย้งทางเชื้อชาติ การหลั่งไหลของจีนฮั่นเข้าไปในทิเบตก่อให้เกิดปัญหาขึ้น มีการตั้งสถานเริงรมย์ คาราโอเกะ บาร์ ซึ่งขัดกับวิถีชีวิตชาวทิเบต ภาพที่ผมเห็นจากสารคดี National Geographic ที่ชาวทิเบตกราบอัษฏางคประดิษฐ์บูชาวังโปตาลาซึ่งตั้งอยู่เบื้องหน้า แต่ด้านหลังเขามีสถานบริการซึ่งภายในเป็นหญิงโสเภณีจีนนั่งอยู่ ตรงนี้ขัดแย้งกับวิถีชีวิตของชาวทิเบต ที่มีพุทธศาสนาเป็นเครื่องนำทางในการดำรงชีวิต
คนจีนฮั่นที่เข้าไปเย่อหยิ่งไม่เข้าใจทิเบต ทำให้เกิดความขัดแย้งทางเชื้อชาติ เกิดการขยายความรังเกียจจีนฮั่นเข้าไปด้วย จากเดิมที่รังเกียจแต่รัฐบาลจีน ทางคนจีนฮั่นเองมองรัฐบาลจีนว่าอะลุ่มอล่วยชาวทิเบตเกินจนเกิดปัญหา การปราบปรามที่เกิดขึ้นครั้งนี้ จีนฮั่นสนับสนุนมาตรการแรง ทำให้ความรุนแรงยิ่งรุนแรงไปใหญ่
ที่จริงแล้วนโยบายนำคนฮั่นเข้าไปปะปนกับคนพื้นเมืองมีมาแต่ราชวงศ์ฮั่น แต่ตอนนั้นคนฮั่นที่เข้าไปยังมีพุทธ, เต้า (เต๋า) , ขงจื่อ (ขงจื๊อ) เป็นธงนำทำให้ผสานกลมกลืนกันได้ ไม่เหมือนปัจจุบัน
เหมาเองก็วิจารณ์ท่าทีพวกฮั่นคลั่งชาติ ที่คิดว่าตัวเองเหนือกว่าคนอื่น เหมาบอกว่า หากที่ใดมีชนกลุ่มน้อยเราจะส่งเจ้าหน้าที่ ที่เข้าใจชนกลุ่มน้อยไปปกครอง ปํญหาเรื่องเชื้อชาตินี้ถ้าไม่แก้ยิ่งกลายเป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้าง เป็นการปะทะระหว่าง ชาวทิเบตที่มีพุทธศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว กับ สังคมนิยม-ทุนนิยมที่ไม่มีศาสนายึดเหนี่ยว
ชาวทิเบตเลือกก่อหวอดช่วงนี้เพื่อให้ชาวโลกสนใจปัญหาทิเบต แต่คงไม่ได้สิ่งที่ต้องการ เพราะความรุนแรงขยายเกิน ปัญหาเรื่องเอกราช, สิทธิทางศาสนา และเชื้อชาติ มันทับซ้อนกัน แยกกันลำบาก
เรื่องทิเบตไม่ดับฝันโอลิมปิกจีน เพราะโอลิมปิกเป็นธุรกิจสร้างกำไร มหาอำนาจละเลยไม่ได้ จีนจึงสบายใจได้ว่าบุชไปจีนแน่นอน เอาง่ายๆประเทศไทยที่ไม่ใช่มหาอำนาจยังมีส่วนผลประโยชน์โอลิมปิกมากเหมือนกัน
ปัญหาเรื่องเอกราช และสิทธิทางศาสนายังไม่ได้รับการแก้ แต่ตอนนี้มีปัญหาความขัดแย้งเรื่องเชื้อชาติมาอีก กลายเป็นปัญหาใหญ่
ทิเบตจะต้านกระแสโลกาภิวัตน์, ทุนนิยม และบริโภคนิยมได้หรือไม่? ตอนนี้ภายในทิเบตเองก็แตกแยก ระหว่างทะไล ลามะ กับคนรุ่นใหม่ หากจีนยอมเปิดใจกับปัญหาทิเบต สถานการณ์อาจดีขึ้นบ้าง