xs
xsm
sm
md
lg

โอลิมปิกเลือด?! : วิวาทะว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

เผยแพร่:   โดย: สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์


มหกรรมโอลิมปิก 2008 มีนัยสำคัญต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนสูง ด้วยปัจจัยหลายประการ ถึงขนาดใครหน้าไหนกล้าขวาง (จะกลุ่มสิทธิมนุษยชน หรือกลุ่มใดก็แล้วแต่) รับรองมีปัญหากับจีนแน่ๆ!

ทำไมถึงต้องเน้นว่า ใครกล้าขวางต้องมีปัญหาน่ะหรือครับ ก็เพราะว่ามหกรรมครั้งนี้จะถูกถ่ายทอดไปทั่วโลก และเมื่อจีนให้ความสำคัญต่อโอลิมปิกมาก กลุ่มต่างๆ ไม่ว่าชาวทิเบต, ชนกลุ่มน้อยอุยกูร์ หรือกลุ่มรณรงค์สิทธิมนุษยชนต่างๆ ก็พร้อมใจใช้โอลิมปิก 2008 เป็นเวทีเผยปัญหาให้เป็นที่รับรู้ไปทั่วโลก ขณะเดียวกัน หากไปร้องตะโกนเย้วๆในงานได้สำเร็จก็ถือว่าได้แก้แค้น แหกหน้าเจ้าภาพจีนซะไม่เหลือ! จากงานเปิดตัวอย่างอลังการ กลายเป็นงานถูกแฉเสียนี่

ในด้านหนึ่งโอลิมปิก 2008 ถูกตราหน้าว่าเป็นโอลิมปิกเลือด เพราะท่าทีของจีนต่อปัญหาสิทธิมนุษยชนในช่วงที่ผ่านมา (และแนวโน้มท่าทีในอนาคต) ทั้งในประเทศ ซูดาน, พม่า และจีนเอง เป็นท่าทีที่เฉยเมย ประหนึ่งว่า “ไม่ใช่เรื่องของฉัน”

โดยเฉพาะประเด็นร้อนอย่าง สิทธิมนุษยชนในพม่าปี 2007 ที่โฆษกหญิงของกระทรวงการต่างประเทศจีนเพียงออกแถลงการณ์ว่า “ในฐานะที่เป็นมิตรประเทศหนึ่งของพม่า จีนหวังที่จะเห็นเสถียรภาพและการพัฒนาเศรษฐกิจในพม่า” พร้อมกับเรียกร้องให้พม่ามีเสถียรภาพโดยเร็ว แต่ขณะเดียวกันก็กล่าวว่า “จีนจะไม่ก้าวก่ายกิจการภายในของพม่า”1

ทั้งที่จีนมีศักยภาพเป็นหนึ่งในเสียงที่กดดันพม่าได้ ทำไมจีนจึงไม่กดดัน?

การที่ไม่กดดันนั้น เนื่องด้วยนับแต่ปลายทศวรรษ 1970 จีนเริ่มปฏิรูปและเปิดประเทศ พัฒนาเศรษฐกิจของตน สภาพแวดล้อมระหว่างประเทศที่นิ่ง และสงบจึงมีความจำเป็นสำหรับจีน ลำพังแค่การพัฒนาในประเทศก็ต้องใช้ความทุ่มเทมหาศาลแล้ว ฉะนั้นในเรื่องการต่างประเทศที่เคยให้การสนับสนุนกับพรรคคอมมิวนิสต์ต่างๆ จีนจึงเริ่มเปลี่ยนท่าทียุติการสนับสนุน อาศัยการดำเนินโยบายต่างประเทศบนฐานหลักการ “ไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น ขณะเดียวกันก็มิต้องการให้ประเทศอื่นเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของจีน”2

ฐานความคิดเรื่องการไม่แทรกนี้ นำไปสู่การปฏิเสธแทรกแซงกิจการภายในของประเทศที่มีปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนอย่างพม่า และซูดาน ส่วนวรรคหลังที่ว่า “มิต้องการให้ประเทศอื่นเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของจีน” ก็กลายเป็นเกราะในการสกัดชาติต่างๆ ที่พยายามเข้ามาแตะประเด็นสิทธิมนุษยชนในประเทศจีน ทั้งเรื่องทิเบต, การปราบปรามการประท้วงที่จตุรัสเทียนอันเหมินปี 1989, สิทธิเสรีภาพสื่อ และสิทธิของชนกลุ่มน้อยอุยกูร์ ในเขตปกครองตนเองซินเจียง (ซินเกียง) เป็นต้น

พอพูดเรื่องสิทธิมนุษยชนแล้ว พลันให้หวนนึกถึงวิวาทะที่ยังคิดไม่ตก ขบไม่แตก ในสังคมเอเชียว่า “ไอ้สิทธิมนุษยชนนี่เป็นคุณค่าตะวันตก ที่ไม่ควรนำมาใช้กับสังคมตะวันออก หรือเป็นคุณค่าสากลกันแน่?” เพราะครั้งที่จีนมีปัญหากับสหรัฐฯกรณี เทียนอันเหมิน ประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมินได้โต้คำวิจารณ์ของประธานาธิบดี บิล คลินตัน ระหว่างเยือนจีนในปี 1991 ว่า “ทั้งสองประเทศมีระบบสังคม, อุดมการณ์ และภูมิหลังทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่ต่างกัน ฉะนั้นแต่ละประเทศจึงมีวิถีทางในการบรรลุซึ่งสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ต่างกัน”3

เจอเข้ากับข้ออ้างแบบนี้ เป็นใครก็เถียงไม่ออกครับ เพราะในสังคมตะวันออกอย่างจีน ปรัชญาขงจื่อ (ขงจื๊อ) เป็นรากฐานที่สำคัญของสังคม และปรัชญาดังกล่าวก็สอนให้ยึดมั่นต่อคุณค่าผลประโยชน์ ในเรื่องมิตรภาพ ความสัมพันธ์ต่อสังคมรอบตัว อาทิ ครอบครัว, ชุมชน และสังคม เหนือกว่าปัจเจกบุคคล ขณะที่ตะวันตกสอนให้ยึดสิทธิของปัจเจก ซึ่งนำไปสู่แนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งก็คือสิทธิของมนุษย์แต่ละคนที่ไม่ว่าใครก็ล่วงละเมิดมิได้

แล้วปราชญ์ตะวันตกไม่ได้คิดแบบขงจื่อจริงหรือ?

อริสโตเติล ปราชญ์กรีก ที่วางรากฐานปรัชญาคำสอนสำคัญ จนส่งผลกระทบต่อสังคมตะวันตกกล่าวว่า “มิตรภาพคือสายใยโยงยึดเมืองทั้งเมืองให้มั่นคง ผู้บัญญัติกฎหมายก็มีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับมิตรภาพเหนือความยุติธรรมตามกฎหมาย ความปรองดรองก็คล้ายคลึงกับมิตรภาพ ผู้บัญญัติกฎหมายย่อมเล็งสร้างความปรองดองในสังคม ขจัดความขัดแย้ง ซึ่งเป็นปรปักษ์ต่อความปรองดอง หากผู้คนยึดถือในน้ำมิตร การบังคับใช้กฎหมายเพื่อความยุติธรรมก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป”4

แนวคิดของอริสโตเติล คล้ายกับขงจื่อไหม? ก็อริสโตเติล เน้นให้ความสำคัญกับสังคมเหมือนกัน แถมยังสอนในเรื่องการยึดมั่นต่อคุณค่าผลประโยชน์ ในเรื่องมิตรภาพและ ความสัมพันธ์ต่อสังคมรอบตัว เอาล่ะครับกลายเป็นเรื่องยุ่งอีกแล้ว

“ยิ่งอ่าน ยิ่งคิด ยิ่งเบลอ” อย่างนี้จะอ้างว่า “ด้วยความแตกต่างของแต่ละสังคม จำต้องมีแนวทางที่ต่างกันได้อีกไหม?”

แนวคิดที่ว่าแต่ละสังคมต่างกัน จึงต้องมีแนวทางที่แตกต่างกัน นักคิดฝรั่งเรียกว่า สัมพัทธนิยม (Relativism) สัมพัทธนิยมเป็นแนวคิดที่มองว่า ความเป็นไปของสิ่งต่างๆ ไม่ได้มีลักษณะ หรือมีค่าตายตัวตลอดกาล หรือเหมือนกันในทุกที่ทุกเวลา แต่ความเป็นไปของสิ่งต่างๆ ล้วนมีลักษณะเฉพาะตัวในเวลาและสถานที่หนึ่งๆ ดูเผินๆ แนวคิดนี้เปิดกว้างต่อความหลากหลาย ต่อต้านการครอบงำของการมีเพียงแบบเดียว แต่อีกด้านสัมพัทธนิยมก็คับแคบเหลือเกิน เป็นสัมพัทธนิยมแบบสามานย์ (Vulgar relativism) เพราะถูกใช้เพื่อการสร้างความชอบธรรมให้กับการใช้อำนาจครอบงำเช่นเดียวกัน5

ตัวอย่างเช่น เพื่อนบ้านของคุณกระทืบลูกวัย 3 ขวบ คุณก็ห้ามสาระแน เพราะสัมพัทธนิยมบอกว่า บ้านเขามีวัฒนธรรมการเลี้ยงดู และคุณค่า ที่ไม่เหมือนกับเราปล่อยเขาไปเถอะ การกระทืบลูกเขา (แม้ตายคาตีน) ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่รับได้ ไม่ควรเสร่อเข้าไปยุ่ง

ก็ด้วยแนวคิดแบบเดียวกันนี่แหละครับ ที่ผู้นำจีนนำมาใช้กับการเมืองภายในและต่างประเทศว่า “ใครจะกระทืบใคร หรือฉันจะกระทืบใครในบ้านของฉันก็ได้ นี่เป็นเรื่องเฉพาะตัว ห้ามยุ่ง เพราะภูมิหลังวัฒนธรรม, ระบบสังคม, อุดมการณ์ และประวัติศาสตร์เราต่างกัน”

ต่างสังคม ต่างคิด ต่างคุณค่า จริงหรือ?

สังคมแต่ละสังคมต่างกันสุดขั้วจริงหรือ? ในประเด็นนี้คงต้องย้อนพิจารณาความจริงว่า ในโลกนี้มีสิ่งที่เรียกว่า “วัฒนธรรมบริสุทธิ์” ที่มิได้ผสมผสาน ปนเป กับสังคมวัฒนธรรมอื่นไหม?

ถ้าจะมีก็คงต้องเป็นวัฒนธรรมของเกาะลึกลับที่ไหนสักแห่งในโลก ที่ไม่มีใครเคยติดต่อแน่ๆ

แต่จีนมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานกว่า 5,000 ปี มีการติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอก โดยตลอด และการติดต่อสื่อสารที่ว่า ก็นำมาซึ่งการผสมผสาน ทางวัฒนธรรม แนวคิดความเชื่อต่างๆ เอาง่ายๆ พุทธศาสนาก็มาจากอินเดียมิใช่หรือ? แล้วสังคมนิยม ลัทธิมาร์กซ์ล่ะมิใช่แนวคิดตะวันตกหรือ?

การแสวงหาสังคมที่บริสุทธิ์มิได้ปะทะสังสรรค์ ผสานแนวคิดจากสังคมอื่นเลย จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นข้ออ้างที่ว่า “เพราะแต่ละประเทศมีภูมิหลังที่แตกต่างกัน จึงมิสามารถนำมากล่าวอ้างได้” เพราะแต่ละสังคมในโลกสันนิวาสนี้ ล้วนปะทะสังสรรค์ แลกเปลี่ยน หยิบยืมวัฒนธรรม, อุดมการณ์ และวิธีคิดซึ่งกันและกันทั้งนั้น

การเคารพตระหนักถึงสิทธิมนุษยชน จำต้องเคารพในวัฒนธรรมอันหลากหลายของแต่ละรัฐ เพราะปัจเจกบุคคลสามารตระหนักรับรู้ถึงตัวตนของตนเองได้ ก็ด้วยถูกหล่อหลอมจากสภาพภูมิหลังทางสังคมและวัฒนธรรม ทว่าในสังคม-วัฒนธรรมที่หลากหลายนั้น แต่ละรัฐก็มีการหยิบยืมแนวคิดซึ่งกันและกัน ฉะนั้นคุณค่าบางอย่างจึงเป็นสากล! คุณค่าที่ว่าก็คือสิทธิมนุษยชนนั่นเอง

จีนจึงมิสามารถปฏิเสธภาระรับผิดชอบ ประเด็นสิทธิมนุษยชนที่ตนมีต่อประชาคมโลกได้ ยิ่งในยุคปัจจุบันประเด็นปัญหาในประเทศหนึ่งกลายเป็นเรื่องที่มีผลกระทบกว้างไกลและส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ อาทิ เรื่องทิเบตในจีนยังส่งผลกระทบไปทั่วโลก กลายเป็นปัญหาสร้างความปวดหัว จนนานาประเทศไม่รู้จะทำอย่างไรกับองค์ทะไล ลามะ

แม้แต่ ฮันส์ เจ มอร์เกนธาว (Hans J. Morgenthau) นักคิดฝ่ายสัจนิยม (Realism) ซึ่งเป็นสำนักคิดที่มุ่งการสำเร็จประโยชน์ทางการเมืองเฉพาะหน้า โดยไม่จำกัดวิธีการ ยังมองว่าการเมืองเป็นสิ่งสะท้อนลักษณะธรรมชาติของมนุษย์ประการหนึ่งที่มุ่งแสวงหาอำนาจเพื่อมีอิทธิพลครอบงำเหนือผู้อื่น ด้วยเหตุนี้การเมืองจึงมีความชั่วร้ายในตัวของมันเอง อย่างไรก็ตาม ธรรมชาติของมนุษย์มิได้มีเพียงความกระหายอยากในอำนาจเท่านั้น หากมีมิติทางศีลธรรมเป็นตัวกำกับพฤติกรรมของมนุษย์อีกด้วย เมื่อการเมืองเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จึงต้องทำให้มีความชั่วร้ายน้อยที่สุดโดยการประสานลิขิตทางศีลธรรมเข้ากับลิขิตทางการเมือง ฉะนั้น พื้นที่ทางการเมืองจึงมิใช่เป็นเพียงอาณาบริเวณแห่งอำนาจ หากแต่ยังต้องคำนึงถึงเป้าหมายเชิงอุดมคติที่จะมารองรับและให้ความชอบธรรมต่อการดำเนินการใดๆด้วย

ดังนั้นสิทธิมนุษยชนจึงเป็นประเด็นที่ต้องใส่ใจ ปัญหาต่างๆจึงควรแก้ไขด้วยการเปิดเวทีสนองรับฟังมิใช่เมินเฉย ไม่ยุ่งเกี่ยว หรือยุ่งด้วยการปราบปรามเพียงอย่างเดียว

แม้ด้วยจำนวนประชากรที่หลากหลายกว่า 1,300 ล้านคน การเปิดอิสระเกินไปอาจทำให้เกิดความโกลาหลได้ ทว่าการแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชน ควรเปิดกว้างกว่านี้ ไม่ฉะนั้นอาจจะกลายเป็นเรื่องหน้าแตกกลางโอลิมปิกได้ง่ายๆ

เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2007 ปักกิ่งเผชิญเหตุไม่คาดฝันเมื่อ กู่ไหโอว หนุ่มตกงานวัย 35 ปี จากซินเจียงเขตปกครองตัวเองของชนชาติมุสลิมอุยกูร์ ได้ขว้างปาวัตถุติดไฟใส่รูปประธานเหมา บริเวณจตุรัสเทียนอันเหมิน ภายหลังทางสำนักข่าวซินหัวรายงานว่า “ชายดังกล่าวมีอาการวิกลจริตทางจิต” (บ้า)6

จะว่าผมคิดมากเกินไปก็ได้ แต่ข่าวนี้ชวนให้คิดเพราะมีความบังเอิญหลายอย่าง บังเอิญที่ต้องเผาภาพประธานเหมา บังเอิญที่ชายคนดังกล่าวต้องมาจากซินเจียง ซึ่งยังมีปัญหาชนท้องถิ่นต่อต้านจีน บังเอิญที่เขาต้องตกงานและเป็นคนบ้า แถมเป็นคนบ้าที่ทุ่มเทเดินทางมาถึงปักกิ่ง หลบการตรวจตราของตำรวจแถวเทียนอันเหมิน เพื่อเผารูปประธานเหมา และเป็นคนบ้าที่ฉลาดมาก ถึงกับก่อการเผาได้สำเร็จก่อนที่จะถูกจับ!

หากจีนไม่เปลี่ยนโลกทัศน์ มองสิทธิมนุษยชนเสียใหม่ บางทีเราอาจจะเห็นคนบ้า เพิ่มขึ้นในโลกนี้อีกมาก โดยเฉพาะช่วงมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2008




เอกสารอ้างอิง
 

[1] ผู้จัดการออนไลน์, “ยิ่งขู่ยิ่งดุพม่าอีก 200,000 ตบเท้าท้าทหาร,”
[http://www.manager.co.th/IndoChina/ViewNews.aspx?NewsID=9500000113517], 25 กันยายน 2550.
[2] วรศักดิ์ มหัทธโนบล, “เงาตะวันออก: ทางแพร่งการต่างประเทศจีน (6),” มติชนสุดสัปดาห์, 21 ธันวาคม 2550, 35.
[3] Xiaorong Li, “Postmodernism and Universal Human Rights: Why Theory and Reality Don’t Mix,” [http://www.secularhumanism.org/library/fi/li_18_4.html], 10 January 2008.
[4] Ibid.
[5] ยุกติ มุกดาวิจิตร, “ปลดสายเดี่ยวประชาธิปไตยแบบไทยๆ,”
[http://www.bangkokbiznews.com/2006/10/11/w017_144184.php?news_id=144184], 10 ตุลาคม 2549.
[6] “China's defaced Mao portrait replaced,”
[http://www.alertnet.org/thenews/newsdesk/PEK281627.htm], 13 May 2007.
กำลังโหลดความคิดเห็น