ยุคหนึ่ง “ศาสนาคือยาเสพติด” เป็นวลีที่กึกก้องทรงพลัง สำหรับพลพรรคคอมมิวนิสต์ และดูเหมือนว่า ศาสนา กับ ลัทธิคอมมิวนิสต์จะเป็นเส้นตรงคู่ขนาน ที่มิสามารถเวียนมาบรรจบกันได้ ทว่าคลื่นความเปลี่ยนแปลง ที่ถาโถมใส่สังคมจีนปัจจุบัน ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ ต้องกลับเริ่มรื้อฟื้นศาสนาขึ้นมาใหม่
จากคู่ตรงข้าม ที่ไม่สามารถเผาผี อยู่ร่วมโลกกันได้ ปัจจุบันลัทธิความเชื่อและศาสนาในสังคมจีนกลับได้รับการพลิกฟื้น ทว่าเป็นการพลิกฟื้นในฐานะฐานความคิดความเชื่ออย่างหนึ่ง ที่ต้องตอบสนองและรองรับ สร้างความชอบธรรมต่อระบอบการปกครองของพรรคฯ
“เพราะระบอบการเมือง (regime) หนึ่ง ก็คือระบบที่ดำเนินอยู่ ภายใต้การสร้างความชอบธรรมบางอย่าง”1
ปัญหาทางสังคมมากมายเกิดขึ้นจากการปฏิรูปเศรษฐกิจ ตามแนวทางทุนนิยม ที่มุ่งขายจินตนาการว่า “ทุกคนมีโอกาสรวย” ทว่าเอาเข้าจริงแล้ว กลับมีผู้ที่ไม่สามารถบรรลุ และเข้าถึงทรัพยากรความร่ำรวยได้ บางคนกลับถูกทิ้งไว้ข้างหลังด้วยซ้ำ ในรายที่เข้าถึงความกินดีอยู่ดี ก็ต้องเผชิญกับปัญหาการแข่งขันภายใต้ความตึงเครียด กดดัน
ภาวะดังกล่าวได้บั่นทอนความชอบธรรม ของอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ ที่สัญญาถึงสังคมอุดมคติ ที่ทุกคนเท่าเทียม กระทั่งอุดมการณ์คอมมิวนิสต์เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถสถาปนาอำนาจนำ หลอมรวมคนในชาติได้อีกต่อไป รัฐบาลจีนได้หันไปพึ่งการปลุกเร้ากระแสชาตินิยม เป็นกาวใจผสานคนในชาติเข้าด้วยกันภายใต้การนำของพรรคฯ2
ทว่าชาตินิยมดังกล่าวได้ลุกลามเกินกว่าที่รัฐจะเข้าไปมีอำนาจควบคุมได้ ความคลั่งชาติ ภายใต้ทัศนะที่มองว่า ชาวจีนถูกต่างชาติกดขี่มาตลอด ทำให้เรื่องเล็กอย่างเช่นโฆษณาที่นำสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับจีน เช่นสิงห์ หรือมังกร ไปใช้ อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ โดยเฉพาะเมื่อท้องเรื่องของโฆษณาชุดดังกล่าว สื่อนัยภาพสัญลักษณ์แทนจีนถูกพิชิต
ในระดับที่รุนแรงชาตินิยมยิ่งเป็นอุปสรรคในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างจีน – ญี่ปุ่น ในระดับรัฐเองก็มิสามารถเดินหน้าได้อย่างเต็มสูบ ด้วยประชาชนยังฝังใจกับภาพของญี่ปุ่น ที่ถูกขับเน้นว่าเป็นผู้รุกราน เอาเปรียบจีน ด้านประเด็นทิเบตรัฐบาลจีนก็ต้องลงมือลงแรงอย่างดุเดือด เพราะบางที ไม่แรงอาจไม่ได้ใจประชาชน เผลอเข้ารัฐอาจโดนลูกหลงเสียเอง ขนาดปราบอย่างแรงแล้วยังโดนประชาชนคลั่งชาติส่วนหนึ่งวิจารณ์เลยว่า “รัฐบาลปวกเปียกไป”
เมื่ออุดมการณ์ชาตินิยมก่อปัญหาให้กับการดำเนินนโยบายของรัฐ รัฐจึงต้องหันมาใช้อุดมการณ์อื่น ที่รองรับสร้างความชอบธรรมให้กับการปกครอง ขณะเดียวกันอุดมการณ์ที่ว่า ก็ต้องมีความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยน ตอบสนองภาวะความเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้ดีกว่าชาตินิยมที่แข็งกระด้าง และปราศจากชุดความเชื่อทางศีลธรรม (อะไรดี/ไม่ดี) กำกับพฤติกรรมของคนท่ามกลางความไม่มั่นคงจากแนวทางทุนนิยม
ศาสนาจึงกลายเป็นทางเลือกใหม่ ในฐานะเครื่องมือสร้างชาติ แต่ถ้ามองแบบลวกๆ ว่าการพลิกฟื้นศาสนาเป็นผลผลิตโดยตรงของรัฐแบบเดียว ก็ดูโง่ไปนิด เนื่องจากปรากฏการณ์หลายอย่างไม่ได้เกิดขึ้นจากบนลงล่าง โดยคำสั่งของรัฐอย่างเดียว
ประชาชนจีนเองก็เป็นผู้เรียกร้อง โหยหาเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตวิญญาณ หลังการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด พรากจิตวิญญาณของเขากระโดดหายไป ท่ามกลางคลื่นการแข่งขันอย่างดุเดือด ซึ่งนำไปสู่ความรู้สึกไม่มั่นคงในชีวิต
หากจะมองความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้น ผ่านการพลิกฟื้นศาสนา เราจำต้องทำความเข้าใจนิยามของศาสนาอย่างกว้างๆใหม่ว่าคือ “ชุดความคิด, ความเชื่อ และพิธีกรรมที่ผูกโยงผู้คนที่เชื่อในแนวความคิดนั้นๆเข้าด้วยกัน” แทนที่จะยึดองค์ประกอบทื่อๆ เรื่องการมีศาสดา, พิธีกรรม และสถานที่ประกอบศาสนกิจหรือไม่ มาพิจารณาว่า เป็นลัทธิหรือศาสนา
ถ้าเราเชื่อตามนิยามอย่างกว้าง ลัทธิขงจื่อ (ขงจื๊อ) และเต้า (เต๋า) ก็เข้าข่ายเป็นศาสนา และจากมุมมองนิยามอย่างกว้างนี้ จะทำให้เรามองเห็นอะไรที่กว้างขึ้นมาก
ภายใต้การปกครองโดยประธานเหมา เจ๋อตง โดยเฉพาะช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม ศาสนาเปรียบเสมือนปีศาจร้ายที่ต้องถูกกำจัด เพราะปีศาจตัวนั้นบั่นทอนอุดมการณ์ปฏิวัติ ความเชื่อทางศาสนา เรื่องสันติภาพ, ความเป็นอันหนึ่งอันเดียว ความกลมกลืนระหว่างมนุษย์ ที่หลายศาสนาถือเป็นหลักคำสอนสำคัญ เป็นความคิดที่ขัดกับอุดมการณ์ปฏิวัติ ที่มุ่งเน้นความขัดแย้งระหว่างชนชั้น และการต่อสู้ระหว่างกรรมาชีพกับนายทุน ที่ไม่สามารถปรองดองกันได้
ศาสนาต่างๆจึงต้องเผชิญกับการชำระล้าง แม้แต่ขงจื่อ ซึ่งเป็นความคิดที่หยั่งรากลึกในสังคมจีน ยังถูกมองว่า เป็นสมบัติของศักดินาที่ต้องถูกขจัด และแทนที่ด้วยศาสนาใหม่คือ อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ฉบับจีน ที่ประธานเหมามีฐานะเป็นทั้งศาสดาและพระเจ้า
ในกาละและบริบททางสังคมช่วงหนึ่ง อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ฉบับจีนดังกล่าวได้กลายเป็นแก่นยึดโยง หลอมคนในชาติเข้าด้วยกัน ทว่าหลังการปฏิรูปและเปิดประเทศ (1978) ตามแนวทางทุนนิยม อุดมการณ์คอมมิวนิสต์/ลัทธิบูชาประธานเหมาดังกล่าวไม่สามารถสนองความเปลี่ยนแปลงทางสังคม พอๆกับสร้างความชอบธรรมให้กับการคงอยู่ของระบอบการเมืองได้ เพราะอุดมการณ์เดิมถูกตั้งคำถามเสียแล้ว เมื่อคนให้ความสำคัญกับทุน ความกินดีอยู่ดีของปัจเจก และช่องว่างทางรายได้ก็ถี่กว้างขึ้นทุกที สภาพการณ์ดังกล่าวย้อนแย้งกับอุดมการณ์คอมมิวนิสต์เดิม ที่สัญญาถึงความเท่าเทียม และสังคมที่ดีกว่าทุนนิยม
ผู้คนเริ่มโหยหาสิ่งยึดเหนี่ยว เพื่อถมสุญญากาศทางจิตวิญญาณ ที่ครั้งหนึ่งเติมเต็มได้ด้วยอุดมการณ์คอมมิวนิสต์และการเชิดชูประธานเหมา แรกเริ่มรัฐจีนพยายามปลุกเร้าลัทธิชาตินิยมเพื่อเติมเต็มช่องว่างดังกล่าว ทว่าเมื่อตระหนักว่า ชาตินิยมอาจนำไปสู่ความคลั่งชาติอย่างไม่ลืมหูลืมตา และยังส่งผลสะท้อนกลับ สั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐได้ง่ายๆ รัฐจึงต้องมองหาอุดมการณ์อย่างอื่นแทน
นอกจากนี้ด้วยบริบททางสังคม ที่ประชาชนเริ่มร่ำร้องหาเครื่องยึดเหนี่ยว โหยหาชุดศีลธรรมกำกับพฤติกรรมแทนที่ “จิตใจรับใช้ประชาชน” อย่างคอมมิวนิสต์ ที่ตายไปพร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจ ศาสนาจึงกลายเป็นคำตอบที่สอดรับกับความต้องการของทั้ง 2 ฝ่ายคือรัฐและประชาชน
พร้อมกับการคลี่คลายของกระแสปฏิวัติวัฒนธรรมในปลายทศวรรษ 1970 ขันติธรรมและการผ่อนปรนต่อศาสนาก็เริ่มขึ้น ในรัฐธรรมนูญสาธารณรัฐประชาชนจีนฉบับที่ 3 (1978) เองก็เริ่มมีข้อความบัญญัติให้การรับรองสิทธิทางศาสนา โดยมีเงื่อนไขบังคับจำกัด ครั้นกลางทศวรรษ 1990 เป็นต้นมาทางการก็ทุ่มเงินกับโครงการจำนวนมากเพื่อบูรณะวัดในศาสนาพุทธและลัทธิเต้า3 พร้อมกับการฟื้นลัทธิขงจื่อ ซึ่งครั้งหนึ่งล้วนถูกประฌามว่า เป็นส่วนหนึ่งของพวกศักดินา
สำหรับรัฐบาลจีนสิ่งที่เรียกว่า ศาสนาจะต้องได้รับการรับรองจากรัฐเท่านั้น ไม่เช่นนั้นก็เป็นศาสนาเถื่อนที่ต้องมุดลงใต้ดิน ศาสนาที่ทางการจีนยอมรับเป็นศาสนามีอยู่ 5 ศาสนาคือ พุทธ, เต้า, อิสลาม, คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก และคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์ ส่วนขงจื่อ แม้รัฐบาลมิได้รับรองเป็นลายลักษณ์อักษรถึงความเป็นศาสนา ทว่ารัฐได้รื้อฟื้นขนบธรรมเนียม และความคิดขงจื่อหลายประการกลับมา แม้แต่ระดับผู้นำของพรรคเองยังอ้างอิงคำสอนของขงจื่อในการแถลงนโยบายแต่ละครั้ง (ควรกล่าวด้วยว่าที่จริงแล้วขงจื่อเป็นความคิดที่หยั่งรากลึกในสังคมจีน และมิเคยหายไป แม้แต่การปฏิวัติวัฒนธรรมก็มิสามารถขจัดขงจื่อได้ ) ที่ชัดที่สุดคือการรื้อฟื้น ขยายสถาบันขงจื่อไปทั่วโลก โดยทางการตั้งเป้าว่าในปี 2010 จะต้องมีสถาบันขงจื่อ 500 แห่งทั่วโลก4 ทำหน้าที่เผยแพร่ภาษา และวัฒนธรรมจีน ซึ่งดำรงอยู่ด้วยการอิงกับลัทธิขงจื่อ
ในส่วนของรัฐการรื้อฟื้นศาสนาที่ว่า ยังต้องอิงแอบอยู่กับเงื่อนไขที่สำคัญคือ ต้องรองรับ สร้างความชอบธรรมให้กับการปกครองของรัฐบาล และพรรคคอมมิวนิสต์ แม้แต่คำสอนขงจื่อ ซึ่งครั้งหนึ่งถูกมองว่าเป็นขั้วตรงข้ามกับคอมมิวนิสต์อย่างชัดเจน ก็ถูกพลิกความหมาย เน้นเรื่องการเชื่อฟังผู้ปกครอง และสายสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับใต้ปกครอง ส่วนความกลมกลืนก็ถูกให้ความหมายใหม่ ขายจินตนาการเป็นความกลมกลืนระหว่างประชาชน ตามนโยบายสังคมปรองดอง (Harmonious society) ของประธานาธิบดีหู จิ่นเทา หากมองจากมุมหนึ่ง เมื่อนโยบายดังกล่าวถูกเสนอผ่านผู้นำของพรรคฯ กระบวนการดังกล่าวก็สะท้อนนัยยะหนึ่งว่า ความกลมกลืนของสังคมปรองดองจะบรรลุได้ภายใต้พรรคฯเท่านั้น ฉะนั้นประชาชนจึงต้องเชื่อฟัง สยบยอมต่ออำนาจรัฐ/พรรคฯ
ทางภาคประชาชนเอง เมื่อต้องเผชิญกับภาวะกดดัน แข่งขันอย่างเข้มข้น ภายใต้กระแสทุนนิยม จนเกิดความเหนื่อยล้า และความรู้สึกไม่มั่นคง กระทั่งก่อให้เกิดการโหยหาอะไรบางอย่าง ศาสนาจึงกลายเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว เป็นที่พักพิงทางจิตใจ อย่างไรก็ตามการดำรงตนอยู่ท่ามกลางเกลียวคลื่นกระแสทุนนิยม ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งยึดถือศาสนาเป็นเครื่องมือเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายรูปธรรมแบบทุนนิยม
ผลสำรวจระบุว่า ชาวฮั่นที่นับถือศาสนาส่วนใหญ่ 51.6% ยึดศาสนาเป็นที่พึ่ง เนื่องจากหวังว่าศาสนาจะสร้างปาฏิหาริย์ให้ผลตอบแทนเป็นรูปธรรม หากเจาะลึกเข้าไปใน 51.6% จะพบว่า 36% ต้องการความรวย 9.4% ต้องการกินดีอยู่ดี 6.2% ต้องการสุขภาพดีปราศจากโรคภัย เอาเข้าจริงแล้วจากจำนวน 100% มีผู้ที่อาศัยศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว ชี้นำทางจิตวิญญาณเพียง 30% เท่านั้น ซ้ำร้ายผู้ที่นับถือศาสนาด้วยศรัทธาในตรรกะความเป็นเหตุผลมีเพียง 9.8% เท่านั้น5
การพลิกฟื้นศาสนาจึงสมประโยชน์ทั้งประชาชนและรัฐ เพราะแง่หนึ่งคำสอนทางศาสนาเอื้อให้รัฐปกครองประชาชนอย่างราบรื่น ขณะที่ประชาชนก็ได้เครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ชี้นำทางจิตวิญญาณ แม้โดยส่วนมากจะกลายเป็นเรื่องการยึดเหนี่ยว ภาวนาเพื่อหวังอานิสงส์ทางโลก คล้ายกับประชาชนบางประเทศแถบอุษาคเนย์ ที่ถวายถังสังฆทานพระ 1 ใบ แต่อธิษฐานขอ “เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายตลอดสิ้นกาลนานเทอญ” เรียกว่าค้ากำไรเกินควร แถมมุ่งโลกียานิสงส์อีกต่างหาก
คิดๆดูแล้ว การที่ศาสนากลายเป็นอะไรบางอย่างที่เหมือนกับ “โดราเอมอน” เป็นสิ่งสารพัดประโยชน์ รับใช้ได้ทั้งรัฐ, ทุนนิยม และจิตวิญญาณประชาชน ก็เพราะศาสนาเป็นสิ่งที่คลุมเครือ ง่ายต่อการตีความและเปลี่ยนแปลง ให้เข้ากับการผันแปรของโลก ศาสนาหลักที่เหลือรอดอยู่มาทุกวันนี้ ก็เพราะสามารถปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงของโลกได้
ความคลุมเครือ ปรับเปลี่ยนได้ตามบริบท จึงทำให้ศาสนาเป็นอะไร ที่ตอบสนองความต้องการของรัฐและสังคมได้ดีกว่าชาตินิยมที่แข็งทื่อ อ่านๆไปแล้วอาจ งงๆ ไม่แน่ใจในชีวิตว่า ตกลงแล้วศาสนายังเป็นสิ่งบริสุทธิ์ที่ยึดถือได้อีกหรือ?
ก็มนุษย์ไม่ได้เกิดมาลอยๆนี่ครับ ถ้าไม่มีคุณค่าอะไรบางอย่างให้ยึด ก็เป็นแค่ก้อนเนื้อเดินได้! หลายสิ่งหลายอย่างในโลกนี้เกาะเกี่ยวยึดโยงซึ่งกันและกัน ไม่สามารถแยกส่วนออกมาได้อย่างชัดเจน ความดีสำหรับคนหนึ่ง อาจเป็นความเลวสำหรับอีกคนก็ได้
เราจำเป็นต้องยึดคุณค่าบางอย่างอาทิ ศาสนาเป็นเครื่องนำทางในการดำเนินชีวิต ทว่าก็ต้องตระหนักด้วยสติปัญญาด้วยว่า บางทีคุณค่าที่เรายึดถือนั้นก็เกาะเกี่ยวอยู่กับอะไรอีกหลายอย่าง เพราะศาสนาสอนให้เราดำเนินชีวิตด้วยการเจริญสติปัญญาและความไม่ประมาท การคิดตริตรอง ตั้งคำถามต่ออะไรหลายอย่าง แม้แต่ศาสนาจึงเป็นสิ่งจำเป็น มิฉะนั้นเราก็จะตกอยู่ในอาการเมาศาสนา ที่รัฐและทุนนิยมใช้เป็นเครื่องมือมอมเมาประชาชนตาดำๆ
*คำเตือน! บทความนี้มองศาสนาและลัทธิในระนาบเดียวกันในฐานะ ชุดความคิดความเชื่อที่ยึดโยงสังคมเข้าด้วยกัน และส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของปัจเจกบุคคล การนิยามความหมายอย่างกว้างนี้ เพื่อตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัวที่คุ้นชิน จนเราไม่เคยตั้งคำถามกับสิ่งเหล่านั้น การตั้งคำถามจะเปิดมุมให้เห็นอะไรที่กว้างขึ้น อย่างไรก็ตามบทความนี้ไม่ได้มีอคติหรือแฝงนัยทางลบต่อศาสนา/ลัทธิใดๆ*
เอกสารอ้างอิง
[1] พิชญ์ พงษสวัสดิ์, เห็นถั่วงอกเป็นดอกบัว (กรุงเทพฯ: openbooks, 2548) 6.
[2] เรื่องการปลุกเร้ากระแสชาติชาตินิยม ดู Emily Parker, “The Roots of Chinese Nationalism,” Asian Wall Street Journal, 2 April 2008, 13.
[3] “Religion in China,” [http://en.wikipedia.org/wiki/Religion_in_china], 4 April 2008.
[4] Ibid.
[5] Hongyi Harry Lai, “The Religious Revival in China,”[ http://rauli.cbs.dk/index.php/cjas/article/viewPDFInterstitial/19/18],22 April 2008.