จากเหตุการณ์จลาจลในทิเบต ที่ชุลมุนวุ่นวาย กระทั่งนำไปสู่การปะทะ ฟาดปากระหว่างสื่อจีน กับตะวันตก ใน สงครามสร้าง ‘ความจริง’ เพื่อช่วงชิงพื้นที่ วาดภาพความจริงคนละชุดให้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตัวละครสำคัญที่มิอาจมองข้ามในหนังยาวเรื่องนี้คือ ประชาชนชาวจีน ที่ช่วงหลังดูจะเล่นนอกบทมากไปหน่อย กระทั่งรัฐบาลต้องออกมาปรามผ่านสื่อ
ควันหลงจากเหตุความไม่สงบในทิเบต กลายเป็นภาพยนตร์จตุรภาค ยึดโยง ทับซ้อนไปกับกีฬาโอลิมปิก และการกล่าวหาสื่อตะวันตกว่า รายงานข่าวอคติ จนนำไปสู่อุบัติการณ์ของกระแสชาตินิยมจีน ที่ปะทุออกมาอย่างรุนแรง
เวบไซต์ข่าวตะวันตก ที่บังอาจแตะประเด็นทิเบต ทั้ง ซีเอ็นเอ็น, บีบีซี, วีโอเอ ฯลฯ ต่างถูกประชาชนชาวจีนรุมสวดยับ กระทั่งมีการจัดตั้งเวบไซต์ต่อต้าน อาทิ www.anti-cnn.com ทีแรกรัฐบาลจีนเองก็ผสมโรงเกาะกระแส ตีกลับสื่อตะวันตกเช่นกัน ทว่ากระแสชาตินิยมดังกล่าว กลับก้าวเลยขอบเขต จนสร้างความหวาดวิตกให้กับรัฐ
การเรียกร้องคว่ำบาตรสินค้า และการติดต่อกับนักธุรกิจชาวฝรั่งเศส ที่แพร่ระบาด ลุกลามตามอินเตอร์เน็ต เพราะชาวจีนมีทัศนะว่า ฝรั่งเศสมีท่าทีสนับสนุนทิเบต พยายามสร้างความอัปยศให้กับจีน จนรัฐบาลจีนถึงกับกุมขมับ ปวดหัวกับกระแสชาตินิยมที่เกินเลย ดุเดือดเลือดพล่าน จนอาจสร้างความเสียหายให้กับภาพลักษณ์ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ครั้นจะออกมาปรามโดยตรงรัฐก็ไม่กล้า เพราะกลัวประชาชนไม่พอใจ โห่ใส่เอาง่ายๆ สุดท้ายจึงต้องออกมาหยั่งเชิงผ่านสำนักข่าวซินหัว ไม่กล้าตำหนิประชาชนโดยตรง เพียงบอกเป็นนัยๆว่า “สามารถแสดงออกซึ่งการกระทำที่สะท้อนถึงความรักชาติได้ ทว่าควรเน้นทุ่มพลังผ่านการสรรค์สร้าง เร่งการพัฒนาภายในประเทศ”1
ทำไมชาตินิยมจีนถึงดุเดือดเลือดพล่าน แม้แต่พรรคคอมมิวนิสต์ยังมิกล้า สาดน้ำดับไฟโดยตรง ได้แต่ลองหยั่งเชิงพูด ขอความร่วมมืออ้อมๆผ่านสื่อ
การขีดเส้นแบ่งระหว่างชาตินิยม กับความคลั่งชาติ เป็นสิ่งที่ทำได้ลำบากยิ่ง เนื่องจากระหว่าง 2 สิ่งนี้ มีเพียงเส้นด้ายบางๆกั้นอยู่ ชาตินิยมอย่างไม่ลืมหูลืมตา อาจนำไปสู่ความคลั่งชาติได้ง่ายๆ และความคลั่งชาติดังกล่าวย่อมนำมาซึ่งหายนะ
ชาตินิยมจีนในปัจจุบันเป็นผลผลิตจากมายาคติทางประวัติศาสตร์ ด้วยประวัติศาสตร์จีนที่ได้รับการศึกษาบอกเล่ากันโดยทั่วไป มักเน้นการดำเนินเรื่องว่า จีนเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่มีประวัติศาตร์มากกว่า 5,000 ปี จากนั้นการดำเนินเรื่องก็จะตัดสลับมาที่ปลายสมัยราชวงศ์ชิง โดยเล่าว่า จีนต้องเผชิญกับศตวรรษอัปยศ ถูกต่างชาติกดขี่รุกรานมาตลอด นับแต่นั้นเป็นต้นมา บ้านเมืองก็เกิดการแตกแยก ถูกต่างชาติเอารัดเอาเปรียบตลอด กระทั่งมาตั้งตัวได้ไม่นานนี้ แต่ก็มิวายถูกต่างชาติตอแยเสียอีก
ประวัติศาสตร์อัปยศดังกล่าว ได้สร้างมายาคติขึ้นมาชุดหนึ่งว่า “จีนเป็นชาติที่มีอารยธรรมสูงส่ง ทว่าถูกต่างชาติจ้องเอารัดเอาเปรียบมาตลอด” ความคิดข้างต้นนี้ทำให้ชาวจีนมีความอ่อนไหวต่อประเด็น ที่กระทบกระเทือนชาติของตนเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเมื่อประเด็นที่ว่า มีความเกี่ยวข้องกับตะวันตก ซึ่งเป็นผู้ร้ายตัวสำคัญในประวัติศาสตร์จีน
จะไปโทษรัฐบาล และผู้นำจีนข้างเดียวก็มิได้ ที่สร้างประวัติศาสตร์อัปยศนี้ขึ้นมา จนสุดท้ายมายาคติที่ก่อให้เกิดชาตินิยมนี้ ค่อยๆบีบรัดรุนแรง จนชาตินิยมแปรเปลี่ยนกลายเป็นความคลั่งชาติ ที่ส่งผลสะท้อนกลับมาสร้างปัญหาหนักอกให้กับรัฐบาลจีน ในยามที่ประเทศต้องมีปฏิสัมพันธ์กับชาติตะวันตกอย่างเข้มข้น
การค้นหาตัวตน จากคำถาม ‘จีนสร้างชาติอย่างไร?’
ณ ปัจจุบันกระบวนการสร้างชาติจีนยังไม่จบสิ้น ชาติจีนที่เรารู้จักทุกวันนี้เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน และความเป็นชาติดังกล่าวก็ยังหาความลงตัวไม่ได้ เพราะศตวรรษที่ผ่านมาจีนต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆนานา
ชาติ หนึ่งๆไม่สามารเกิดขึ้นได้ด้วยการขีดเส้น ตีกรอบบนผืนดินอย่างโดดๆ กระบวนการสร้างชาตินั้น จำเป็นต้องมีสำนึกร่วมบางอย่าง ที่ยึดโยงชาติพันธุ์ที่หลากหลาย ให้มีความรู้สึกร่วมกันภายใต้ “ความเป็นชาติเดียวกัน” อาทิ ชาติไทย ก็เกิดขึ้นจากการรวม ผู้คนหลากชาติพันธุ์ภายใต้ “สำนึกร่วมของความเป็นไทย” ที่ยึดโยงผู้คนหลายชาติพันธุ์ไม่ว่า จีน, มลายู, ลาว, เขมร, มอญ, ฯลฯ ให้อยู่ใต้สำนึก “ความเป็นชาติไทย”
กล่าวสำหรับจีนแล้ว การสร้างสำนึกความเป็นจีน ในยุคสมัยใหม่ ได้เผชิญกับคลื่นความท้าทายโดยตลอด ช่วงปลายสมัยราชวงศ์ชิง เกิดการถกเถียงว่า จีนจะก้าวไปในยุคสมัยใหม่ได้อย่างไร? ตำแหน่งแห่งที่ของจีนควรอยู่ที่ไหน? จีนจะก้าวไปข้างหน้าโดยรับอิทธิพลของตะวันตก หรือจะก้าวไปโดยอิงฐานรากประเพณีนิยมเดิม ที่มีลัทธิขงจื่อ (ขงจื๊อ) เป็นแกน?
คำถามข้างต้นนี้กลายเป็นโจทย์สำคัญ ที่คอยติดตามหลอกหลอนจีนมาตลอด นับแต่การล่มสลายของราชวงศ์ชิง, ขบวนการ 4 พฤษภา, การเถลิงอำนาจของพรรคมิวนิสต์ในปี 1949, การปฏิวัติวัฒนธรรม และการใช้นโยบายเปิดปฏิรูปประเทศ
ในห้วงเวลาต่างๆได้มีความพยายามสร้างสำนึกความเป็นจีน ที่แตกต่างหลากหลายออกไป การปฏิวัติวัฒนธรรมเอง ด้านหนึ่งก็เป็นความเคลื่อนไหวทางสังคม ที่ต้องการหาคำตอบ สร้างความเป็นจีนแบบใหม่ที่ไม่อิงกับของเก่า และไม่อิงกับตะวันตก
ประวัติศาสตร์อัปยศ ฉบับชาตินิยม ก็เป็นส่วนหนึ่งของการค้นหา สร้างอัตลักษณ์แห่งชาติ ให้กับความเป็นชาติจีน
ณ ยุคสมัยหนึ่งกระแสชาตินิยมที่ถูกสร้างขึ้น ด้วยมายาคติประวัติศาสตร์อัปยศ สามารถหล่อรวมยึดโยงจีนเข้าด้วยกันได้ ทว่าหลังการปฏิรูปและเปิดประเทศ สังคมจีนเปลี่ยนแปลงไปมาก อุดมการณ์ชาตินิยมเดิมไม่สอดรับกับสภาพสังคม ณ ปัจจุบัน
นอกจากนี้อุดมการณ์ดังกล่าวยังสร้างปัญหาให้กับการขับเคลื่อนรัฐนาวาในกระแสโลกาภิวัตน์ การปรับเปลี่ยนค้นหาอัตลักษณ์แห่งชาติใหม่ เพื่อตอบโจทย์เดิมๆ ภายใต้บริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจึงเป็นสิ่งจำเป็น
ที่มหาวิทยาลัยดุ๊ก ในสหรัฐอเมริกา นักศึกษาสาวชาวจีนรายหนึ่ง ตกเป็นเหยื่อกระแสชาตินิยม คลั่งชาติอย่างรุนแรง เมื่อเธอพยายามเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่าง กลุ่มสนับสนุนทิเบต กับ กลุ่มสนับสนุนจีน ในมหาวิทยาลัย เธอถูกประฌามว่า “เป็นพวกขายชาติ” หลังจากนั้นไม่นานรูปถ่าย, หมายเลขบัตรประชาชน และที่อยู่ของเธอในประเทศจีน ก็ถูกเปิดเผยออกมาตามอินเตอร์เน็ต
กระทั่งวันหนึ่ง “ถังขี้” ปริศนาก็ถูกนำมาวางกองไว้หน้าบ้านของเธอในเมืองชิงเต่า2 สร้างความมึนงงให้กับผู้ปกครองของเธออย่างมาก
หากประชาชนและรัฐบาลจีนไม่สามารถร่วมค้นหา สร้างอัตลักษณ์แห่งชาติ ที่ตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงในสังคมปัจจุบัน บางทีปัญหาดังกล่าวอาจปะทุ ระเบิดเป็น “ถังขี้กองเบ้อเริ่ม” โชยกลิ่นอยู่หน้าบ้าน และหน่วยงานรัฐอีกหลายแห่ง
เอกสารอ้างอิง
[1] Chris Buckley, “China state media seeks to contain nationalist anger,”
[http://news.yahoo.com/s/nm/20080418/ts_nm/china_media_olympic_dc_2], 17 April 2008.
[2] Cara Anna, “China’s Olympic torch defender speaks out,” [http://news.yahoo.com/s/ap/20080417/ap_on_re_as/china_torch_defender_1], 17 April 2008.