...ปฏิบัติการปั้นเหยาหมิง...
เหยาหมิง ไม่ได้เกิดจากการโคลนนิ่ง ซึ่งเป็นวิธีการที่หลายคนวิพากษ์วิจารณ์ แต่ก็เกิดจากวิธีคิดในการถ่ายทอดยีนส์คล้ายๆกัน แต่ด้วยวิธีที่เป็นธรรมชาติกว่า ....
และแล้วสิ่งที่วงการกีฬาแผ่นดินใหญ่รอคอยมากว่า 3 ชั่วรุ่นคน ก็มาถึง เมื่อทารกน้อยแรกเกิด เพศชาย มือโต เท้าโตราวกับเด็กอายุ 3 ขวบ กะโหลกกว้างใหญ่ น้ำหนักมากกว่า 5 กิโลกรัม ซึ่งมากกว่าเป็นสองเท่าของเด็กจีนวัยแรกเกิดทั่วไป ความใหญ่โตผิดเด็กวัยแรกเกิดทั่วไปไม่เป็นเรื่องน่าแปลกใจนัก เมื่อพ่อและแม่ของตี๋น้อยผู้นี้ ได้ปรากฏตัวขึ้น พวกเขาคือ ฟางเฟิ่งตี้หรือต้าฟางหญิงร่างสูง 1.88 เมตร และเหยาจื้อหยวนหรือต้าเหยา ชายร่างโย่ง 2.08 เมตร หรือจะเรียกให้ดูเป็นอินเตอร์คือ “บิ๊กฟาง” และ “บิ๊กเหยา” และต่างก็เป็นดาวบาสเกตบอลแห่งนครเซี่ยงไฮ้ พวกเขาได้เลือกเฟ้นคำจีนที่ประกอบด้วยอักขระสองตัวที่หมายถึงพระอาทิตย์ และพระจันทร์ ตั้งชื่อให้ลูกชาย คือหมิง 《明》
เหยาหมิงไม่ได้ถือกำเนิดมาจากความบังเอิญ แม้ไม่ได้ประกาศออกมาเป็นปฏิบัติการแห่งชาติ แวดวงบาสเกตบอลในเซี่ยงไฮ้ต่างรู้กันดีถึง “ปฏิบัติการเหยาหมิง” ซึ่งได้อุบัติขึ้นเมื่อราว 25 ปีก่อน จากการริเริ่มของท่านประธานเหมาเจ๋อตง ซึ่งได้แนะนำให้เหล่าสหายเสาะแสวงหาคนหนุ่มสาวที่มียีนส์พิเศษ เข้าสู่กลไกการกีฬาของประเทศ บรรพบุรุษของเหยาหมิงสองชั่วรุ่นคนได้ถูกคัดเลือกมาโดยเกณฑ์ตัดสินด้านขนาดของร่างกาย พ่อและแม่ก็ถูกแมวมองด้านกีฬาชักนำเข้าสู่วงการบาสเกตบอล และความคาดหวังที่จะได้ทายาทที่มีหน่วยก้านไม่แพ้พ่อแม่ ก็นำไปสู่การแต่งงานของต้าฟางและต้าเหยา
“เราได้รอคอยเหยาหมิงมาถึงสามชั่วรุ่นคน เขาน่าจะมีชื่อว่าเหยาพั่นพั่นมากกว่า" หวังชงกวงโค้ชเซี่ยงไฮ้ที่เกษียณอายุแล้ว เคยลงสนามร่วมกับพ่อของเหยาหมิง และเป็นโค้ชของเหยาหมิงด้วย กล่าว (พั่น หมายถึงความหวังที่รอคอยมาแสนนาน)
...จากเด็กชายเหยาสู่ดาวรุ่งแห่งบาสเกตบอลโลก...
ชีวิตครอบครัวของต้าเหยา ต้าฟาง และลูกน้อยนั้น ดูไม่สดใสนัก ขณะนั้น เป็นช่วงสิ้นสุดยุคปฏิวัติวัฒนธรรม และมรณกรรมของท่านประธานเหมาเจ๋อตง ปัจจัยที่สะเทือนชีวิตของต้าฟางคือ การหวนกลับสู่ตำแหน่งสูงสุดในชุมชนการกีฬาของจูย่งคู่ปรับเก่า ต้าฟางถูกย้ายไปเป็นเจ้าหน้าที่ทำงานรับใช้ที่จัดเป็นงานต่ำต้อยที่สุดในระบบการกีฬา และเป็นเสมียนที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การกีฬาแห่งเซี่ยงไฮ้ สิ้นโอกาสที่จะกลับมาเป็นโค้ชอีก ส่วนต้าเหยาก็ล้มเหลวในการสมัครงานโค้ช และต้องทำงานที่ท่าเรือในเซี่ยงไฮ้ เงินเดือนของคู่สามีภรรยารวมกันไม่ถึง 80 หยวน หรือราว 50 เหรียญสหรัฐ ในขณะนั้น รายได้แทบทั้งหมดของต้าฟางและต้าเหยาถูกใช้จ่ายไปในเรื่องอาหาร แม้กระนั้น ทั้งคู่ก็มักต้องทนอด นั่งดูเหยาน้อยกินอาหาร
เมื่อเหยาหมิงอายุ 8 ขวบ ก็มีความสูงถึง 1.70 เมตร ซึ่งยากที่จะรอดพ้นสายตาของแมวมองจากวงการกีฬา ประจวบเหมาะกับจูย่งเกษียณอายุงานจากวงการกีฬาไป เพื่อนเก่าร่วมทีมบาลสเก็ตบอลของต้าฟาง ก็ได้ชักชวนให้เหยาหมิงเข้าสู่โรงเรียนการกีฬาประจำเมืองสีว์ฮุ่ย
เหยาหมิงได้ถือกำเนิดขึ้นในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจจีน และนับเป็นชาวจีนรุ่นแรกในรอบ 40 ปี ที่สามารถเสพความทะเยอทะยานส่วนตัว เหยาน้อยเล่าถึงความใฝ่ฝันในวัยเด็กว่า “ผมอยากเป็นนักสำรวจด้านโบราณคดี เดินทางไปตามที่ต่างๆ มุดถ้ำเล็กถ้ำน้อย ซึ่งก็คงเป็นยากเรื่องสำหรับผม...” แต่พ่อแม่ก็บอกให้เขาเริ่มการฝึกฝนบาสเกตบอล เด็กชายเหยา ซึ่งวัยไม่ถึง 9 ขวบ ก็ได้เข้าสู่โรงเรียนการกีฬาสีว์ฮุ่ยโดยไร้การขัดขืนใดๆ แม้ขณะนั้น เขาบอกว่า เขาเกลียดบาสเกตบอล “แต่เพราะพ่อแม่แท้ๆ เพราะผมเคารพพวกท่านมาก”
ขนาดของร่างกายทำให้เขางุ่นง่านและมักตกเป็นเป้าการหัวเราะเยาะ แต่เสียงหัวเราะเหล่านั้นก็ไม่เจ็บปวดเท่ากับการฝึกฝน ทุกๆวัน เด็กชายจะต้องวิ่ง...วิ่ง...และวิ่งจนแทบล้มนอนวัดพื้น ต้องกระโดดจนแข้งขาแทบไหม้ ต้องฝึกโยนลูกบอลจนแทบยกแขนไม่ขึ้น
หลายครั้งที่เด็กชายเหยากลับบ้านและงอแงที่จะออกจากโรงเรียนกีฬา พ่อของเขาก็มักพาไปที่หลังตึกอพาร์ตเมนต์เล่นฝึกโยนลูกบอล ทุกครั้งที่เหยาโยนลูกบอลเข้าเป้า พ่อก็สัญญาจะซื้อของขวัญให้ “พ่อติดสินบนผมให้เล่นต่อไป!” เหยาพูดทีเล่นถึงพ่อ สำหรับแม่ของเขานั้น กลับมีวิธีที่แตกต่างออกไป วันหนึ่งต้าฟางได้ตั๋วชมละคร Harlem Globetrotters ได้ชมการเล่นบาสเกตบอลที่สนุกมันส์อย่างไม่เคยเห็นมาก่อน “ฉันคิดว่าประสบการณ์นี้ ส่งผลกระทบต่อเหยาหมิงมากทีเดียว พวกเขาทำให้บาสเกตบอลกลายเป็นการแสดงที่ยิ่งใหญ่ในด้านบันเทิง”
อย่างไรก็ตาม ด้วยความเป็นห่วงอนาคตของเหยาหมิง ต้าฟางคิดว่าชีวิตนักบาสเกตบอลนั้น ดูจะไม่ให้รางวัลอะไรมากนัก และหากจีนเปิดประเทศ เหยาก็ควรได้เตรียมตัวเพื่อไขว่คว้าโอกาสจากโลกภายนอกระบบการกีฬาแบบสังคมนิยมเก่าๆ ต้าฟางจึงจูงเด็กชายเหยาออกจากสีว์ฮุ่ย และมาเข้าโรงเรียนที่มีชื่อเสียงด้านการศึกษา
เหยาวัย 11 ขวบ ชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับเรื่องต่างแดนและประวัติศาสตร์ราชวงศ์กษัตริย์จีน แต่เขามาเริ่มเรียนช้ามาก และตามการเรียนไม่ทัน และในที่สุดก็ต้องกลับไปที่สีว์ฮุ่ย “การออกจากโรงเรียน ไปเล่นบาสเกตบอล ทำให้เหยาเสียใจที่สุด” เพื่อนสนิทในเซี่ยงไฮ้ของเหยา เล่า
ล่วงสู่วัย 13 ปี ความสูงของเหยาน้อยก็พุ่งถึง 2 เมตร เขาย้ายออกจากอพาร์ตเมนต์ของพ่อแม่ มาอยู่ที่สถาบันเทคโนโลยีการกีฬาแห่งเซี่ยงไฮ้ 8 ปีต่อมา บรรดาโค้ชและนักวิทยาศาสตร์ต่างก็ตั้งความหวังที่จะปั้นเหยาให้เป็นดาว เหยาจะยิ่งห่างจากพ่อแม่ออกไปทุกที และผู้ที่ทำใจยอมรับได้ยากที่สุดก็คือต้าฟาง ในช่วงเวลานั้น เธอดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของเหยาอย่างดีที่สุด ทำอาหารรอท่าเมื่อเหยากลับบ้านในวันหยุด ยืนรอลูกชายนอกห้องล็อกเกอร์เพื่อส่งอาหารและเสื้อผ้าให้หลังจากจบเกมแต่ละนัด ครั้งหนึ่ง เธอวิตกทุกข์ร้อนมากที่ไม่อาจหารองเท้าขนาดใหญ่พอสำหรับลูกชายในประเทศจีนได้ และได้อ้อนวอนเพื่อนในอเมริกาให้หารองเท้าไนกี้ แอร์ เบอร์ 18 ราคา 92 เหรียญสหรัฐ ส่งมายังเซี่ยงไฮ้
อดีตยามแดงอย่างต้าฟางค่อยๆบ่ายหน้าสู่โลกทุนนิยม ไม่เพียงเรื่องซื้อหารองเท้าไนกี้ ยังได้มองทะลุกรอบของระบบจีน ไนกี้ดูจะเป็นแหล่งจุดประกาย เข้าสู่ตลาดบริโภคที่เริ่มผลิบานในจีน ในปี 1996 คณะผู้บริหารของไนกี้ได้เห็นเหยาหมิงเป็นครั้งแรก ขณะที่เขาวิ่งกระโดดตัวลอยราวกับยีราฟอยู่ในโรงยิมฯของเซี่ยงไฮ้ พวกเขาก็เกิดประกายความคิดขึ้นทันทีว่า หนุ่มวัยรุ่นผู้นี้ จะเป็นวีรบุรุษช่วยพวกเขาบุกเบิกตลาดในจีน จากนั้น ผู้แทนของไนกี้ก็เข้าหาแม่ของเหยา เสนอรองเท้า เสื้อผ้าเท่ๆ และคำแนะนำต่างๆก็พลั่งพรูออกมาชี้แนะการปั้นเหยาให้เป็นผู้เล่นระดับโลก และการไปสู่ดวงดาวนี้ เหยาจะต้องออกจากโลกบาสเกตบอลเก่าๆของจีน และกระโจนสู่การแข่งขันระดับนานาชาติ
อ่านต่อหน้า 2 : ต้าฟางพาเหยาเหินสู่โลกภายนอก
...ต้าฟางพาเหยาเหินสู่โลกภายนอก...
ต้าฟางได้หว่านล้อมให้ผู้นำในวงการกีฬาเซี่ยงไฮ้ ไฟเขียวให้เหยาเข้าร่วมค่ายบาสเกตบอลจูเนียร์ที่ปารีส ในปี 1997 จนสำเร็จ ต่อมา เหยาก็ได้เข้าร่วมโครงการของไนกี้อีกในการเดินสายเล่นบาสเกตบอลระหว่างฤดูร้อนในสหรัฐฯปี 1998 เป็นครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่จีนได้ให้อิสรภาพแก่ผู้เล่นมากเช่นนี้ ระหว่างนั้น ต้าฟางและเหยาน้อยก็เริ่มเห็นโอกาสในการเข้าสู่NBA
โลกที่อยู่กันคนละขั้วคือจีนและสหรัฐฯ ได้ปะทะชนในชีวิตของเหยา นักอนุรักษ์นิยมที่เคร่งครัดยังคงบริหารระบบกีฬาในจีน แต่หลายๆคนก็เริ่มหันเหสู่ธุรกิจ ในเย็นวันหนึ่งของเดือนเมษายนปี 1999 หลี่เหยาหมินผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไปของทีมเซี่ยงไฮ้ที่เหยาหมิงสังกัดอยู่นั้น ก็ได้เชิญต้าฟางและครอบครัวของเธอมาที่โรงแรมแกรนด์ ไฮแอทท์ เพื่อเข้าร่วมการประชุมด่วนกับทนายจากสหรัฐฯมิเชล โคย์น (Michael Coyne)ในตอนดึกผู้จัดการของคลับพยายามโน้มน้าวให้ครอบครัวเหยาเซ็นสัญญา ที่ระบุแบ่งรายได้ 1 ใน 3 ของเหยาในอนาคต แก่บริษัทของโคย์นคือ Evergreen Sports Management นับเป็นการตัดสินใจที่ยากเย็น... ขณะที่นาฬิกาตีบอกเวลา 2 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น หลี่ก็ได้เตือนครอบครัวเหยาว่า นี่คือเส้นทางเดียวที่เหยาจะได้เข้าสู่NBA ต้าฟางจึงยอมจำนนในที่สุด
ก่อนตะวันตกดินในเย็นวันเดียวกันนั้น ต้าฟางร้องไห้ฟูมฟายโทรศัพท์ไปหาตัวแทนไนกี้ คร่ำครวญว่าเธอถูกบีบให้ทำสัญญา ตัวแทนของไนกี้ช็อก รีบออกมาประณาม และพยายามเพิกถอนสัญญา ใน 2-3 วันต่อมา ต้าฟางก็เบี้ยวสัญญานั้น
ในปี 2002 คลื่นกระแสความวุ่นวายต่างๆของโลกก็รุมเหยาหมิง ซึ่งเข้าสู่วัย 21 ปี ด้วยความสูง 2.26 เมตร เขากลายเป็นผู้กุมชะตาของจีนลีค และนำเซี่ยงไฮ้ทะยานสู่แชมป์กีฬาแห่งชาติเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 40 ปี กลุ่มผู้นำทีมในเซี่ยงไฮ้ทุบกำปั้นถึงเวลาแล้วที่จะส่งเหยาหมิงเข้าร่วมการคัดเลือกตัวนักกีฬาของNBA และเรื่องยุ่งๆก็อุบัติขึ้น ต้าฟางหนึ่งในที่ปรึกษาของทีมเหยา พยายามเข้ามามีส่วนร่วมในผลประโยชน์ต่างๆ ขณะที่เจ้าหน้าที่ในเซี่ยงไฮ้ชี้ว่าสัญญากับ Evergreen ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ ด้านปักกิ่งก็ออกโรงประกาศว่า เหยาจะต้องจ่าย 50% ของรายได้ของเขา ให้แก่รัฐบาลกลาง
จุดปะทุระเบิดขึ้น เมื่อหวังจื่อจื่อ ซึ่งเป็นนักกีฬาในNBA ปฏิเสธกลับบ้านมาฝึกหัดนักกีฬาในทีมชาติจีน สร้างความอกสั่นขวัญแขวนแก่กลุ่มเจ้าหน้าที่ และอะไรจะเกิดขึ้น หากเหยาหมิงแปรพักตร์ไปเสียอีกคน ดังนั้น ต้าฟางดูจะเป็นต่อกับกลุ่มเจ้าหน้าที่ในเซี่ยงไฮ้ ด้านเจ้าหน้าที่ในปักกิ่งบอกว่าจะไม่ยอมปล่อยตัวเหยาหมิง เธอจึงขู่สวนกลับไปว่า “หากเราไม่สามารถตกลงกัน เหยาหมิงจะไม่เล่นบาสเกตบอลอีกต่อไป” ในที่สุด เจ้าหน้าที่ก็ได้ส่งแฟกซ์ให้แก่ร็อกเกตส์ ฮุสตัน บอกว่าพวกเขาต้องการให้เหยาหมิงเป็นผู้เล่นหมายเลขหนึ่งในการคัดเลือกฯ ปี 2002
ต้าฟางและสามีได้บินมายังปักกิ่งเพื่อดูการคัดเลือกฯกับลูกชาย เดวิด สเทิร์นผู้แทนของNBA ประกาศให้เหยาหมิงเป็นผู้เล่นอันดับหนึ่งของการคัดเลือกฯ ต้าฟางตบมืออย่างพอเป็นพิธี และเพียงแย้มยิ้มนิดๆ
หลังจากที่เหยาหมิงได้รับการคัดเลือก ต้าฟางก็ตามติดลูกชายไปอยู่ที่อเมริกาด้วย สำหรับกลุ่มชาวจีนหรือเชื้อสายจีน-อเมริกันในสหรัฐฯ ถือว่าการปฏิบัติเช่นนี้เป็นระบบคุณค่าเอเชีย แต่สำหรับแฟนๆกีฬาแดนมะริกันแล้ว ดูจะเข้าใจเรื่องนี้ได้ยากกว่าการทำความเข้าในแนวคิดขงจื่อเสียอีก พวกเขาจะเข้าใจ “เด็กชายของมามี้” ผู้มีร่างสูงใหญ่ 2.26 เมตร น้ำหนัก 134 กิโลกรัมกันอย่างไร?
หากมองการเดินทางอันยาวไกลของเหยากระทั่งเข้าสู่NBA นั้น ไม่อาจเทียบได้กับการเดินทางในเส้นทางวิบากของคุณแม่วัย 52 ปี ที่ต่อสู้จาก “ทีมเหมา” สู่ “ทีมเหยา” ขณะนี้ อดีตยามแดง มีบทบาทเป็นซีอีโอทีมเหยาซึ่งมีฐานะเป็นบริษัทข้ามชาติ ดูแลชี้แนะงานอาชีพมูลค่านับหลายล้านเหรียญสหรัฐของลูกชาย อย่างไรก็ตาม ต้าฟางแม้ไม่เคยร่ำเรียนในระบบการศึกษาปกติ ก็ไม่เคยเสแสร้งในการเข้าใจสัญญาต่างๆ การต่อรองข้อตกลงกับNBA เธอยึดถือหลักการปฏิบัติได้จริง และประสบการณ์ที่เคยถูกชักนำในทางที่ผิดในอดีต ทำให้เธอยิ่งมีความปรารถนาที่จะคอยปกป้องลูกชาย
ต้าฟางมาถึงฮุสตันก่อนที่ลูกชายของเธอจะมาถึงหนึ่งสัปดาห์ เพื่อตระเตรียมการต้อนรับลูกชาย นับเป็นครั้งแรกที่เธอมาถึงอเมริกา บริษัทจัดหาบ้านได้แนะนำบ้านที่วินด์เซอร์ ปาร์ค เลคส์ ห่างจากฮุสตัน 20 ไมล์ ต้าฟางตกลงซื้อบ้านหลังโตที่ดูเหมาะสมสำหรับครอบครัวคนร่างยักษ์ ด้วยสนนราคา 500,000 เหรียญสหรัฐ จากนั้น เธอก็ได้ใช้เวลาครึ่งค่อนคืนในการกวาดถูทำความสะอาดบ้านก่อนที่เหยาหมิงจะมาถึง
ขณะนี้ การคอยเป็นห่วงเป็นใยดูแลลูกชาย ได้กลายเป็นงานเต็มเวลาของต้าฟาง ไม่ว่าจะเป็นการกวาดถูบ้าน ซักล้าง ต้มซุปไก่อาหารจานโปรดของลูกชายไว้รอท่า หรือไม่ก็ผัดผักสูตรเซี่ยงไฮ้ ต้าฟางทิ้งห้องครัวอันโอ่โถงเปิดโล่งของบ้าน และได้ดัดแปลงห้องซักรีดเล็กๆให้เป็นครัวปิดแบบจีน ซึ่งเหมาะสำหรับการปรุงอาหารท้องถิ่นของชาวเซี่ยงไฮ้ เนื่องจากสามารถเก็บควันโขมงจากการผัดอันดุเดือด
เหยาชื่นชมในการอุทิศตัวของแม่ ทว่า บางครั้งมันก็ทำให้เขารู้สึกอึดอัดเหมือนจะหายใจไม่ออก “แม่ของผมเหมือนแมลงวันที่คอยส่งเสียงรอบๆใบหูผม” เหยากล่าวถึงแม่ อย่างไรก็ตาม ในช่วงสองสามปีมานี้ เขาดูจะหายใจสะดวกมากขึ้น ขณะนี้ เหยาเข้าสู่วัย 25 ปี เป็นผู้ใหญ่ผู้ถือสัญญามูลค่า 18 ล้านเหรียญสหรัฐ อาศัยอยู่กับพ่อแม่ที่วินด์เซอร์ ปาร์ค เลคส์ระหว่างฤดูการแข่งขันของNBA อย่างไรก็ตาม เหยาได้เช่าอพาร์ตเมนต์ชานเมืองฮุสตัน และยังสามารถไปไหนมาไหนตามลำพังกับเยี่ยลี่คู่รักซึ่งเป็นนักกีฬาในทีมชาติจีน ความสูง 1.9 เมตร โดยไม่มีแม่คอยคุมไปด้วย
ส่วนต้าฟางและต้าเหยาก็ยุ่งอยู่กับโครงการใหม่ๆของพวกเขา รวมทั้งการเปิดสปอร์ต คาเฟ่ Yao Restaurant & Bar ในฮุสตัน การเปิดภัตรคารแห่งนี้ ดูจะเป็นการบรรลุอเมริกันดรีมในเวอร์ชั่นของต้าฟาง เป็นแม่พิมพ์ในการสร้างอนาคตของชุมชนชาวจีนในต่างแดน
ต้าฟางเกิดในครอบครัวผู้ใช้แรงงานที่ยากจน อดีตสมาชิกกองกำลังยามแดงแห่งยุคปฏิวัติวัฒนธรรมอันลือลั่น ได้พลิกเปลี่ยนแนวคิดคอมมิวนิสต์แบบเก่ามาสู่เป้าหมายทุนนิยม แต่จิตใจที่มั่นคงสม่ำเสมอของเธอที่ไม่เคยแปรเปลี่ยนไปคือ ความรักที่มอบแก่ลูกชายคนเดียว เหยาหมิงมาไกล แต่ก็ด้วย “ปีก”ของต้าฟาง แท้ๆ ที่ผลักดันการก้าวกระโดดใหญ่ทั้งหมดนี้.
อ่านต่อหน้า 3 : "แม่" ต้าฟางจากนักบาสเกตบอลสู่ยามแดงนักปฏิวัติรุ่นเยาว์
...“แม่”ต้าฟาง จากนักบาสเกตบอล สู่ยามแดงพันธุ์แท้...
ในปี 1965 ความสูงของต้าฟางเป็นที่เตะตาของเจ้าหน้าที่ผู้สรรหาดาวบาสเกตบอล ขณะนั้น เธอกำลังย่างสู่วัยสาวรุ่น มีความใฝ่ฝันจะร้องเพลงและเต้นรำ และไม่เคยนึกชอบบาสเกตบอลเลย เจ้าหน้าที่ได้หว่านล้อมพ่อแม่ของเธอว่า ต้าฟางมีแววดาวรุ่งนักกีฬาและจะนำเกียรติภูมิมาสู่เมืองและอาจถึงระดับประเทศชาติ คำหว่านล้อมของเจ้าหน้าที่แฝงด้วยสิ่งที่ทรงพลังที่ไม่ได้เอ่ยออกมาอย่างตรงๆ คือ “ชามข้าวเหล็ก” ขณะนั้น จีนกำลังตกอับทางเศรษฐกิจสืบเนื่องจากความล้มเหลวของนโยบายก้าวกระโดดใหญ่และสารพัดภัยธรรมชาติรุมซ้ำ การมีอาหารเพียงพอในแต่ละวันนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับประชาชนทั่วไป หากรัฐไม่หยิบยื่นโอกาสให้ อนาคตของต้าฟางก็ไปไกลที่สุดแค่เพียงสาวโรงงานเท่านั้น
และต้าฟางก็ได้เดินเข้าสู่ประตูอาคารหมายเลข 651 แห่งถนนหนันจิงของนครเซี่ยงไฮ้ อันเป็นสถาบันฝึกฝนนักกีฬา ที่ซึ่งอย่างไรก็ตาม ก็ไม่ผิดไปจากโรงงานกีฬา มีตารางการฝึกฝนอันโหดหิน และต้องอยู่ภายใต้กฎเหล็กของหน่วยงานหรือที่จีนเรียกว่า “ตันเว่ย” ต้าฟางต้องฝึกอย่างหนัก ไปพร้อมๆกับการเข้าชั้นเรียนอบรมอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างดุเดือดไม่แพ้กัน โดยมีผู้กำกับดูแลคือจูย่ง ผู้รับผิดชอบทีมนักบาสเกตบอลหญิงที่นั่นด้วย
ต้าฟาง ซึ่งจัดว่าเป็นนักกีฬาหญิงที่สูงที่สุดในเซี่ยงไฮ้ เริ่มต้นชีวิตที่นี่อย่างไม่ราบรื่นนัก เธอวิ่งช้ามาก ไม่สามารถคว้าจับลูกบอลไว้ได้ วิ่งไม่ทน ผู้ที่อัดฉีดกำลังใจแก่เธอคือหลินเหม่ยเจิ้ง ผู้ซึ่งแม้ป่วยด้วยโรคไต แต่ก็ไม่เคยพลาดการฝึกฝนเลย เธอกล่าวว่า “การแสดงพลังจิตวิญญาณเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด คุณอาจจะไม่สามารถยกระดับเทคนิก แต่ก็จะสามารถยกระดับจิตวิญญาณได้เสมอ” และต้าฟางก็ได้พัฒนาจิตวิญญาณนี้ แม้หนึ่งปีผ่านไป ต้าฟางยังคงเป็นนักกีฬาที่งุ่นง่าน แต่ความฮึกเหิมของเธอก็ทะยานสูงขึ้น...สูงขึ้น และมันถูกนำมาใช้ในชีวิตนักปฏิวัติยุวชนยามแดง(Red Guard)ของเธอช่วงปฏิวัติใหญ่ทางวัฒนธรรม ซึ่งกินระยะเวลานานถึง 10 ปี (ค.ศ. 1966-1976)
ในปี 1967 สนามบาสเกตบอลได้กลายเป็นศาลพิพากษาประชาชนแห่งการปฏิวัติวัฒนธรรมครั้งใหญ่ ชีวิตต้าฟางได้พลิกผันมาเป็นยามแดงตัวเอ้ และมีเหยื่อรายสำคัญคือจูย่งนั่นเอง เขาถูกทรมานให้สารภาพอาชญากรรมของตัว ในฐานที่เคยเป็นศัตรูของประชาชน
หลายคนเผยว่าต้าฟางเป็นยามแดง ผู้พิทักษ์แนวคิดเหมาพันธุ์แท้ ผู้เข้าร่วมในปฏิบัติการกวาดล้างศัตรูอย่างดุเดือด ไม่ว่าการปิดโรงเรียน มหาวิทยาลัย รื้อทำลายวัดวาอารามอนุเสาวรีย์จำนวนมาก ปล้นสะดมบ้านของพวกทุนนิยมและปัญญาชน แม้แต่การแข่งขันกีฬาก็ถูกตีตราเป็นมรดกปิศาจจากอิทธิพลครอบงำตะวันตก ต้าฟางเป็นยามแดงที่บรรดาผู้นำเก่าหวาดกลัวกันมากที่สุด
“พวกเราบางคนเข้าร่วมในกองกำลังปฏิวัติของยามแดง เพราะกลัวปัญหายุ่งยาก สำหรับต้าฟางเป็นสาวกยามแดงที่แท้จริง” เพื่อนร่วมทีมคนหนึ่งของต้าฟางกล่าว เพื่อนๆของเธอหลายคนยังบอกว่า การปฏิวัติวัฒนธรรมได้ก่อรูปชีวิตและบุคลิกภาพส่วนตัวของเธอ...รวมทั้งอนาคตของลูกชายคนเดียวของเธอด้วย
ในปี 1968 สถานการณ์ก็พลิกเปลี่ยนไป เหมาต้องการผนึกอำนาจที่แข็งแกร่งอีกครั้ง และได้ส่งกองกำลังยามแดงนับล้านลงสู่ชนบท ใช้แรงงานอย่างหนักเพื่อเร่งผลผลิตของประเทศ ทว่า ต้าฟางกลับมีโชคช่วย สืบเนื่องจากเหมาได้หันมารื้อฟื้นการกีฬา เพื่อฟื้นชีพความรู้สึกกลมเกลียวในชุมชนและความสัมพันธ์การฑูตกับโลกภายนอก ความขาดแคลนนักกีฬา ได้ช่วยให้ต้าฟางหวนคืนสู่วงการกีฬาอีกครั้ง กระทั่งได้พบคู่ชีวิต คือเหยาจื้อหยวน
ด้วยต้าฟางเป็นสมาชิกเหมาอิสต์ที่จงรักภักดี และน่าจะเป็นแบบอย่างที่สมบูรณ์แบบที่สุด ปักกิ่งจึงได้คัดเลือกเธอเป็นกัปตันทีมกีฬาแห่งชาติ คอยต้อนรับคณะผู้แทนจากต่างประเทศที่สนามบิน พบปะกับบรรดาประธานาธิบดีและผู้นำใหญ่ในกรมการเมืองหรือโบลิตบูโร เดินทางไปต่างประเทศอาทิ อิหร่าน ฝรั่งเศส คิวบา
อย่างไรก็ตาม ต่อมา ปัญหาสุขภาพก็ได้บดบังชีวิตการงานของเธอ
สำหรับนักกีฬาจีน แม้อำลาจากสนามไปแล้วก็ตาม แต่ภารกิจต่อรัฐก็ยังไม่จบสิ้น บางคนก็ขยับขึ้นมาเป็นพี่เลี้ยงถ่ายทอดความรู้สู่นักกีฬารุ่นน้องๆ แต่สำหรับกลุ่มที่มีความพิเศษด้านกายภาพอาทิ ความสูง หรือฝีมือความสามารถ ก็จะถูกเรียกร้องให้ถ่ายทอด “ยีนส์”
กลุ่มเจ้าหน้าที่ในเซี่ยงไฮ้ได้เล็งคู่ครองให้แก่ต้าฟางมาเป็นเวลานานแล้ว เขาคือเหยาจื้อหยวนนักกีฬาไฟแรง และในที่สุด หลิวซื่ออี๋ว์ผู้นำทีมก็ได้จัดการเป็นแม่สื่อพูดคุยกับแต่ละฝ่าย โดยอ้างไฟเขียวจากพรรคคอมมิวนิสต์ ต้าฟางและต้าเหยาจะปฏิเสธได้อย่างไร?
และแล้ววงการกีฬาและผู้คนก็ได้แห่แหนกันมาที่อพาร์ตเมนต์เล็กๆ ชื่นชมทารกน้อยมหัศจรรย์ ที่รอคอยมานาน...
ข้อมูลส่วนตัว
เกิด 12 กันยายน ค.ศ.1980 ที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน
ฉายา ยักษ์น้อย
กรุ๊ปเลือด เอ
สูง 226 ซ.ม. (7 ฟุต 5 นิ้ว)
หนัก 120 ก.ก.
ทีม ฮุสตัน ร็อคเก็ตส์ ในศึก NBA
ตำแหน่ง เซนเตอร์
เสื้อเบอร์ 11 (ฮุสตัน ร็อคเก็ตส์ ) และ 13 (ทีมชาติจีน)
การศึกษา ระดับปริญญาตรีจากวิทยาลัยกีฬาเซี่ยงไฮ้
ผลงาน
1997 – ได้เป็นผู้เล่นบาสเก็ตบอลทีม เซี่ยงไฮ้ ชาร์คส์ ปีเดียวกัน ติดทีมชาติจีน
1998 – ได้รับตำแหน่งผู้เล่นยอดเยี่ยม ในการแข่งขันบาสเก็ตบอลเยาวชนเอเชีย
2001 - ได้เป็นนักกีฬายอดเยี่ยมสมาคมบาสเกตบอลจีน และเป็นผู้เล่นยอดเยี่ยมและผู้รีเบาด์ดีเด่นในการแข่งขันบาสเกตบอลชิงแชมป์เอเชีย
2002 – เข้าเป็นผู้เล่นทีม ฮุสตัน ร็อคเก็ตส์ ในศึก NBA และได้รับรางวัลผู้เล่นดาวรุ่งของ NBA ในปีเดียวกัน
2003 – 2004 ได้รับการโหวตจากแฟนกีฬายัดห่วงทั่วโลกให้ติดทีมรวมดารา (ออล-สตาร์) ในศึก NBA
2004 – เหยาหมิงกลับมารับใช้ชาติ ด้วยการลงแข่งกีฬาโอลิมปิกที่กรุงเอเธนส์ และในครั้งนั้นเขาได้รับเกียรติให้เป็นผู้เชิญธงนำนักกีฬาจีนสู่สนามด้วย
2005 – ได้รับรางวัลเกียรติยศ “คนงานตัวอย่าง” จากคณะรัฐมนตรีจีน
ปัจจุบัน เหยาหมิงยังคงเล่นให้กับทีม ฮุสตัน ร็อคเก็ตส์ ในศึก NBA ขณะเดียวกัน เหยาหมิงยังได้เป็นพรีเซนเตอร์ให้กับสินค้าต่างๆ มากมาย และล่าสุดยังติดอันดับสุดยอดคนดังมังกรปี 2006 จากการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บส์ด้วย
แปลเรียบเรียงจากนิตยสารไทมส์ฉบับ 14 พฤศจิกายน 2005
/โปซุ่น.คอม 11 พฤศจิกายน 2005