xs
xsm
sm
md
lg

ตรุษปีนี้เวียดนามเผามอเตอร์ไซค์-LCDทีวีกงเต็ก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



ปีนี้ชาวเวียดนามจำนวนไม่น้อยพากันเผารถจักรยานยนต์ โทรทัศน์แอลซีดียี่ห้อโซนี่โทรศัพท์มือถือ ที่ทำด้วยกระดาษแทนกระดาษเงินกระดาษทองหรือธนบัตรกระดาษที่คุ้นเคย ในพิธีอุทิศส่วนกุศลไปให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับ ด้วยหวังว่าผู้ที่อยู่ในอีกภพหนึ่งจะมีความเป็นอยู่สะดวกสบายขึ้น


นั่นเป็นสัญลักษณ์ว่า ประเทศนี้เริ่มร่ำรวยขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองใหญ่ต่างๆ การทำหั่งม้า (Hang Ma) หรือสิ่งของสำหรับพิธีกงเต็ก เพื่อเผาอุทิศส่วนกุศล ได้เปลี่ยนไปจากสิ่งของเครื่องใช้ประจำครัวเรือน ไปเป็นสินค้าหรูหรือสิ่งของที่ฟุ่มเฟือยมีราคาแพงต่างๆ

ไม่เพียงแต่รถจักรยานยนต์กระดาษเท่านั้น หลายแห่งยังทำเครื่องเล่นดีวีดีกระดาษ กระทั่งคอนโดหรูหรือบ้านแบบวิลล่าหลายชั้นที่ทำด้วยกระดาษเสริมด้วยโครงไม้ไผ่

การเผาสิ่งของเพื่ออุทิศส่วนกุศลเป็นวัฒนธรรมและประเพณีที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน แม้ว่าทางการคอมมิวนิสต์จะพยายามชักชวนให้เลิก แต่ชาวเวียดนามก็ยังกระทำกันอยู่อย่างกว้างขวางและอย่างเป็นประเพณี

เพราะฉะนั้นจึงเกิดมีควันโขมงขึ้นตามครัวเรือนต่างๆ ใน "วันไหว้" ซึ่งตรงกับวันพุธ (6 ก.พ.) สัปดาห์นี้

"ฮอนด้า SH150 กับ มอเตอร์ไซค์ดีแล่น (Dylan) เป็นสกู๊ตเตอร์ที่ได้รับความนิยมที่สุดในตอนนี้สำหรับ (มอบให้) ผู้ที่เสียชีวิต" นายเหวียนหือว์น่าง (Nguyen Huu Nang) เจ้าของร้านที่หมู่บ้านด่งโห่ (Dong Ho) ในเขตรอบนอกกรุงฮานอย ซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องการทำสิ่งของสำหรับพิธีกงเต็ก กล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพี

"เดี๋ยวนี้ผู้คนต้องการรถจักรยานยนต์ที่แรงขึ้นและมีราคาแพงขึ้น" นายน่างกล่าว

"บางทีเราก็ทำ (หุ่นกระดาษ) รถยนต์หรูออกวางขายด้วยเหมือนกัน แต่ตอนหลังจะทำตามสั่ง เมื่อมีผู้อำนวยการบริษัทหรือผู้นำทางการเมืองสักคนหนึ่งเสียชีวิตลง" นักประดิษฐ์ผู้นี้กล่าว

หมู่บ้านด่งโห่ ซึ่งมีอายุเก่าแก่นานหลายศตวรรษ มีถนนคดเคี้ยว เป็นซอกซอย บ้านเรือนต่างๆ มุงหลังคาด้วยกระเบื้องหรืออิฐสีแดง มีชื่อเสียงในการประดิษฐ์สิ่งของเครื่องใช้ไม้แกะสลัก

นอกจากนั้นยังมีการทำแผ่นป้ายไม้ หรือ เขียนภาพบอกเล่าเรื่องราวพื้นบ้านต่างๆ บนกระดาษที่ทำจากแป้งข้าว เพื่อทำเป็นวัสดุตกแต่งในเทศกาลสำคัญต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ เทศกาลตรุษ (Tet)

แต่เมื่อรสนิยมของผู้คนในท้องถิ่นเริ่มเปลี่ยนไป จำนวนครอบครัวที่ยังคงยึดอาชีพนี้ก็เริ่มลดน้อยถอยลง จากที่เคยมีอยู่ถึง 150 ครัวเรือนในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1950 เหลืออยู่เพียง 5 ครอบครัวในวันนี้

แต่แทนที่จะใช้สิ่วแกะชิ้นไม้เหมือนเดิม และใช้สีต่างๆ ที่ทำจากใบไม้บดกับเปลือกไข่เหมือนเมื่อก่อน ครอบครัวเหล่านี้หันมาประดิษฐ์โทรศัพท์มือถือ หมวกกันน็อกจากกระดาษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกฎหมายบังคับให้ผู้ใช้ขับขี่รถจักรยานยนต์ต้องสวมหมวกกันน็อก มีผลบังคับใช้ปลายปีที่แล้ว

สองทศวรรษนับตั้งแต่เวียดนามเปิดประเทศภายใต้นโยบายเปลี่ยนแปลงใหม่ที่เรียกว่าโด่ยเหมย (Doi Moi) และปฏิรูปเศรษฐกิจให้เป็นแบบตลาด ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างใหญ่หลวง ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศเมื่อปีที่แล้วขยายตัวกว่า 8.4% ทำให้เกิดกลุ่มคนร่ำรวยขึ้นมา

นักมานุษยวิทยาที่ชื่อ ชอน คิงส์ลีย์ มาลานีย์ (Shaun Kingsley Malarney) ได้เขียนไว้ในหนังสือ Vietnam -- Journey of Body, Mind, and Spirit ระบุว่า กว่าสิบปีให้หลังหลายครอบครัวเริ่มพากัน ให้รถจักรยานยนต์ ตู้เย็นหรือกระทั่งรถยนต์แก่ผู้ล่วงลับ บางครอบครัวเผาธนบัตรดอลลาร์ซึ่งมีเสถียรภาพดีกว่าเงินด่ง

นายน่างที่หมู่บ้านด่งโห่กล่าวอีกว่า ครอบครัวชาวเวียดนามได้ยกระดับเรื่องนี้ขึ้นเรื่อยๆ อุปกรณ์ที่ใช้ในการประดิษฐ์ก็มีเพียงกรรไกร กับปืนยิงกาว เพื่อเปลี่ยนกระดาษแข็ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกระดาษเหลือใช้จากอุตสาหกรรม ให้เป็นสินค้าหรูหราทั้งปวงตามความต้องการของตลาด รวมทั้งรถจักรยานยนต์สีแดงด้วย

"ทุกคนกำลังมีความสุขกับการใช้ชีวิตอย่างสุขสบายและพวกเขาก็ต้องการให้ผู้ล่วงลับมีความสุขด้วย" นายน่างกล่าว

ชาวเวียดนามที่อาศัยในเขตเมืองจำนวนมากมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ใช้จ่ายอย่างไม่อั้นเพื่อตัวเองและคนอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงก่อนวันตรุษ หลายคนไปจับจ่ายที่ร้านหลุยส์ วิตตอง กุชชี ชิเซโด และ คาร์เทียร์

สื่อของทางการเวียดนามรายงานว่า สัปดาห์ที่แล้วเศรษฐีนีบ้านจัดสรร นางเดืองถิแบ็กซเวียป (Duong Thi Bach Diep) จ่ายไป 1.3 ล้านดอลลาร์สำหรับ รถยนต์โรลซ์รอยซ์ "แฟนธอม" รุ่นปี 2008 ซึ่งได้ส่งขึ้นเครื่องไปเวียดนามเพื่อให้ทันวันตรุษ

การกระทำของนางซเวี๊ยปได้ทำให้พวกเศรษฐีใหม่อีกหลายคนดำเนินรอยตาม สั่งซื้อรถยนต์หรูเป็นการใหญ่ ทั้งนี้เป็นรายงานของหนังสือพิมพ์เตื่อยแจ๋ (Tuoi Tre)

อย่างไรก็ตามเวียดนามก็ยังคงเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีประชากรเกือบ 85 ล้านคน และคนส่วนใหญ่อาศัยในเขตชนบท มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่า 900 ดอลลาร์ต่อปี

ธนาคารโลกยกย่องเวียดนามเป็นประเทศที่สามารถลบล้างความยากจนได้รวดเร็วที่สุดอีกประเทศหนึ่ง อัตราประชากรที่มีรายได้ไม่ถึงวันละ 1 ดอลลาร์ได้ลดลงฮวบจาก 58% เมื่อปี 2536 เหลือเพียงประมาณ 16% ในปี 2549

แต่ความร่ำรวยไม่ได้เกิดประโยชน์แก่ทุกคน เศรษฐกิจที่กำลังบูมได้ทำให้เกิดเงินเฟ้อเป็นตัวเลข 2 หลัก ทำให้คนยากจนที่ลำบากอยู่แล้วยากลำบากแสนเข็น

การสำรวจโดยสำนักงานใหญ่สถิติ (General Statistics Office) ได้พบว่า เมื่อปีที่แล้ว 20% ครัวเรือนที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศ มีรายได้สูงกว่า 20% ของครัวเรือนที่ยากจนที่สุดกว่า 8 เท่าตัว

เดือน ม.ค.ปีนี้เงินเฟ้อทะยานขึ้นสูงกว่า 14% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2550 และ เชื่อกันว่าอัตราเฟ้อจะยังพุ่งสูงขณะที่ร้านรวงต่างๆ พากันขึ้นราคาสินค้าสิ่งของเครื่องใช้ช่วงก่อนหน้าวันตรุษ ซึ่งเป็นเทศกาลที่สำคัญที่สุดในประเทศนี้

ราคาสิ่งอุปโภคบริโภคที่พุ่งสูงลิ่วนี้ได้เป็นชนวนให้เกิดการประท้วงนัดหยุดงานของคนงานหลายหมื่นคนในเดือนแรกของปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตรอบๆ นครโฮจิมินห์และสวนอุตสาหกรรมทางภาคใต้ของประเทศ

ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ไซ่ง่อนไทมส์ ในชั่วเวลา 20 วันแรกของปีนี้คนงานกว่า 25,000 คนนัดหยุดงานตามโรงงานแห่งต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของนักลงทุนจากเกาหลี ไต้หวันและญี่ปุ่น ทั้งโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตรองเท้า


เมื่อเวียดนามเริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมมากขึ้น หมู่บ้านเล็กๆ เช่นด่งโห่ ก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย ที่นั่นไม่มีผืนนาเพียงพอที่จะปลูกข้าวอย่างที่บรรพบุรุษเคยทำกันมาอีกต่อไป

ผืนนาเมื่อก่อนนี้ได้กลายเป็นที่ดินของสวนอุตสาหกรรม สำหรับนายน่างซึ่งปัจจุบันอายุ 60 ปี ไม่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนานี้ เพราะอายุมากเกินกว่าที่จะไปสมัครงานได้

"พวกเขาเช่าที่นาของเราเป็นเวลา 50 ปีหรือกว่านั้นผมคงอยู่ไม่ถึงเวลานั้นหรอก" นายน่างกล่าว พร้อมกับตั้งหน้าตั้งตาประดิษฐ์สิ่งของกระดาษสำหรับพิธีกงเต็กต่อไป เพราะเป็นทางเลือกที่เหลืออยู่

"ผมต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อให้มีชีวิตอยู่ได้ และเพื่อเลี้ยงครอบครัว" นักประดิษฐ์คนเดียวกันกล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น