กรุงเทพฯ -- ยอดส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของกัมพูชา ลดวูบลงราว 47% ในไตรมาสสุดท้ายปี 2550 อันเป็นผลโดยตรงจากเศรษฐกิจตกต่ำในสหรัฐฯ ผู้เชี่ยวชาญได้ออกเตือนให้ระวังเกี่ยวกับการปิดโรงงานและการว่างงานที่จะติดตามมา
สหรัฐฯ นำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปราว 70% ของจำนวนที่ผลิตจากกัมพูชาทั้งหมด เศรษฐกิจตกต่ำในสหรัฐฯ รวมทั้งกรณีพิพาทแรงงานในกัมพูชาเอง เป็นสาเหตุสำคัญทำให้การส่งออกลดฮวบลงเช่นนี้ สำนักข่าวเอเอฟพี อ้างรายงานของสมาคมผู้ผลิตเสื้อผ้ากัมพูชา (Garment Manufacturers' of Cambodia)
ก่อนหน้านี้ การส่งออกของอุตสาหกรรมแขนงนี้ขยายตัวปีละประมาณ 20% เป็นแหล่งรายได้อันดับ 1 ของประเทศ
นายวันซูเอียง (Van Sou Ieng) ประธาน GMAC กล่าวว่า ยอดส่งออกรวมตลอดปี 2007 ขยายตัวเพียงแต่ 2.4% รวมมูลค่าประมาณ 2,900 ล้านดอลลาร์ และรูปการในปี 2551 นี้ “เป็นที่แน่นอนว่าออกมาไม่ดีแน่” ทั้งยังเตือนว่า สถานการณ์เช่นนี้จะทำให้มีการปิดโรงงานหลายคนต้องว่างงาน
อุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าเป็นแหล่งรายได้ถึง 80% ของกัมพูชา ปัจจุบันมีการจ้างแรงงานในอุตสาหกรรมนี้ราว 350,000 คน
อย่างไรก็ตาม นายตูโอโม ปูเทียไอเน็น (Tuomo Poutiainen) หัวหน้าฝ่ายการปรึกษาด้านวิชาการโครงการ Better Factories Cambodia ขององค์การแรงงานสากล (International Labour Organization) กล่าวว่า กัมพูชายังเป็นแหล่งผลิตที่ดี อย่างน้อยที่สุดก็สำหรับเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่มั่นคงเป็นปึกแผ่นแล้ว
แต่เจ้าหน้าที่ในอุตสาหกรรมนี้ กล่าวว่า เมื่อมาตรการที่สหรัฐฯ ใช้เล่นงานเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากจีนหมดอายุลงในปี 2552 และ เวียดนามสามารถใช้แรงงานราคาต่ำผลิตสินค้าได้มากขึ้น อุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าของกัมพูชาก็จะได้รับผลกระทบอย่างไม่มีทางเลี่ยง
นายซูเอียง ยังกล่าวอีกว่า ปัญหาด้านแรงงานสัมพันธ์ในประเทศมีส่วนทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงอย่างมาก จะต้องมีการปรับปรุงพัฒนาในเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน
ปัจจุบันในกัมพูชามีสหภาพแรงงานต่างๆ ประมาณ 1,100 แห่ง ตามโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าประมาณ 300 แห่งทั่วประเทศ ในบางแห่งนายจ้างต้องเจรจาต่อรองกับตัวแทนพนักงานพร้อมๆ กันถึง 3 สหภาพ เอเอฟพีกล่าว
ประธาน GMAC กล่าวว่า สถานการณ์เช่นนี้ทำให้ไม่สามารถจัดการอะไรได้ การนัดหยุดงานบ่อยๆ ได้ทำให้โควตาการผลิตไม่ทันเวลา ทำให้ผู้ซื้อปลายทางเลิกสนใจสินค้าจากประเทศนี้
“มันเป็นเครื่องหมายสีดำสาหัสสากรรจ์มากในอุตสาหกรรม” ประธานสมาคมกล่าวถึงปัญหาสหภาพแรงงาน
อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้นำแรงงานในกัมพูชา ได้โต้แย้งว่า ฝ่ายนายจ้างอ้างจำนวนครั้งการนัดหยุดงานมากเกินความเป็นจริง ทั้งๆ ที่ส่วนใหญ่เป็นเพียงการเจรจาเพื่อให้คนงานได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรมมากขึ้น เนื่องจากเงินเดือนของคนงานในอุตสาหกรรมนี้ เพียงคนละประมาณ 50 ดอลลาร์เท่านั้น
เจ้าหน้าที่ ILO กล่าวว่า อุตสาหกรรมนี้ต้องการทางออกที่สามารถรักษาผลประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่ายได้ ในขณะที่การแข่งขันในตลาดโลก “โหดร้าย” มาก ข่าวที่ทำให้ท้อแท้จากกัมพูชาเกี่ยวกับความไม่สงบด้านแรงงานจะส่งผลในทางลบต่อระดับการสั่งซื้อ
ปีที่แล้วมีผู้นำแรงงานถูกลอบสังหารอีกคนหนึ่ง นับเป็นคนที่ 3 ในช่วงปีใกล้ๆ นี้ ก็ยิ่งทำให้นักลงกระวนกระวายใจ และเห็นว่าการแก้ไขปัญหาความรุนแรงด้านแรงงานเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนในกัมพูชา