xs
xsm
sm
md
lg

เวียดนามเริ่มรู้สึก-ตัดเย็บเสื้อผ้าส่งออกไม่รุ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



ผู้จัดการรายวัน-- หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเตรียมรับมือผลกระทบจาก "โรคแฮมเบอร์เกอร์" ในสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประเทศที่มีสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกใหญ่ซึ่งรวมทั้งเวียดนามด้วย ประเทศนี้กำลังรับรู้ถึงผลกระทบอย่างชัดเจน


เวียดนามมีอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าเป็นแขนงส่งออกนำหน้า แต่ขณะนี้สถานการณ์ได้เปลี่ยนไป ไม่เฉพาะในยามที่กำลังเผชิญหน้ากับวิกฤติการทางการเงินในตลาดใหญ่ปลายทางเท่านั้น แต่ผู้ลงทุนในเวียดนามได้ถอดใจมาระยะหนึ่งแล้ว ในขณะนี้มีจำนวนมากกำลังหาทางตีจากอุตสาหกรรมที่รุ่งโรจน์นี้

โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าส่งออกหลายแห่งในเวียดนามกำลังจะปิดตัวลง หลังจากผู้ลงทุนมองเห็น "ภาพลวงตา" อย่างชัดเจนขึ้น หลายคนกำลังแสวงหาลู่ทางเข้าไปลงทุนในแขนงเศรษฐกิจอื่นๆ หนังสือพิมพ์เตื่อยแจ๋ (Tuoi Tre) ได้รายงานเรื่องนี้อย่างสนใจในฉบับวันพฤหัสบดี (14 ก.พ.)

ยอดส่งออกเสื้อผ้าเมื่อปีที่แล้วพุ่งขึ้นสูงถึง 7,800 ล้านดอลลาร์ นับเป็นอุตสาหกรรมแรกที่ยอดส่งออกสูงแซงหน้าน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ สื่อของทางการเวียดนามกล่าว

อย่างไรก็ตามตัวเลขอันเลิศหรูนี้ ก่อนจะได้มาได้มีการลงทุนไปถึง 6,000 ล้านดอลลาร์ เป็นค่าวัสดุต่างๆ รวมทั้งผ้าและด้ายที่ต้องนำเข้า เนื่องจากในประเทศยังผลิตได้ไม่พอเพียง และราคาวัสดุอุปกรณ์ต่างพุ่งสูงขึ้นอย่างน่าใจเมื่อปีที่แล้ว ตามราคาน้ำมันในตลาดโลก

ทางการเวียดนามประกาศจะใช้เงินทุนราว 4,000 ล้านดอลลาร์ ก่อตั้งอุตสาหกรรมสิ่งทอขึ้นในประเทศ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าส่งออก ในปีใกล้ๆ นี้มีการลงทุนในอุตสาหกรรมเกิดใหม่นี้ไปแล้วจำนวนหลายร้อยล้านดอลลาร์ แต่ก็ดูจะช้าไป

ความจริงก็คือบริษัทผู้ผลิตเสื้อผ้าส่งออกเวียดนามได้รับส่วนแบ่งผลประโยชน์เพียงน้อยนิด กำไรสุทธิจากอุตสาหกรรมนี้แค่ 20-25% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด หรือประมาณ 1,560 จากยอดส่งออก 7,800 ล้านดอลลาร์

ทั้งหมดเกิดจากการที่บริษัทกับโรงงานส่วนใหญ่ ผลิตสินค้าป้อนบริษัทต่างชาติและได้ค่าตอบแทนต่ำมาก

ยกตัวอย่างเสื้อยืดคุณภาพดีที่ตีแบร็นด์ดังระดับโลกผลิตโดยคนงานเวียดนามมีราคาตัวละไม่ถึง 20 ดอลลาร์ แต่เมื่อออกสู่ตลาดโลกเจ้าของแบรนด์ตั้งราคาจำหน่ายถึง 100 ดอลลาร์

ประมาณกันว่าราวครึ่งหนึ่งของสมาชิกสมาคมอุตสาหกรรมการ์เมนท์ สิ่งทอและถักทอแห่งนครโฮจิมินห์ ไม่มีแผนขยายการผลิต ไม่มีการสั่งซื้อเครื่องจักรเพิ่มเติม ราว 20% มีแผนลดการผลิต บริษัทอื่นๆ มีแผนที่จะย้ายออกไปตั้งในเขตอื่น เพื่อผลิตสินค้าประเภทอื่น

บริษัทการ์เมนท์จำนวนมากกำลังวางแผนปิดโรงงาน เปลี่ยนให้เป็นสำนักงานให้เช่า หรือ สร้างเป็นอพาร์ทเมนท์ที่อาศัยระดับหรูหรือให้เช่า เตื่อยแจ๋กล่าว

สำหรับนครโฮจิมินห์อุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าส่งออกนำหน้านครหรือจังหวัดอื่นๆ ในด้านยอดส่งออกซึ่งสูงถึง 3,400 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว คิดเป็น 30% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของนครศูนย์กลางเศรษฐกิจในภาคใต้แห่งนี้

อย่างไรก็ตามบริษัทการ์เมนท์ในโฮจิมินห์กำลังพบปัญหาใหญ่ เนื่องจากวัตถุดิบที่นำเข้ามีราคาสูงขึ้นและค่าจ้างแรงงานสูงขึ้น ขณะที่การนัดหยุดงานกำลังแผ่ลาม

ตามรายงานของสื่อต่างๆ ใน 3 สัปดาห์แรกของเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ได้เกิดการนัดหยุดงานกว่า 30 ครั้งในเขตนครโฮจิมินห์กับจังหวัดรายรอบ มีคนงานเกือบ 30,000 คน เข้าร่วมการเรียกร้องค่าแรงและเงินโบนัส

เจ้าของโรงงานแห่งหนึ่งกล่าวว่า เขาต้องสูญเสียคนงานไปให้กับโรงงานแห่งอื่นๆ ถ้าหากไม่ยอมปรับค่าแรงหรือไม่ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของคนงานที่หายาก ปัญหานี้เป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้โรงงานแห่งต่างๆ ไม่สามารถผลิตสินค้าส่งทันออร์เดอร์

เจ้าของโรงงานอีกแห่งหนึ่งที่มีการจ้างแรงงานราว 800 คนกล่าวว่า บริษัทของเขากำลังจะลดการผลิตลงครึ่งหนึ่ง หลังจากผลิตจนครบออร์เดอร์แล้วในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ และมีแผนที่จะเปลี่ยนแขนงอุตสาหกรรมไปผลิตสินค้าชนิดอื่น

แม้ว่าอัตราค่าจ้างในเขตนครโฮจิมินห์จะสูงกว่าที่อื่นๆ อีกหลายแห่ง แต่ก็มีคนงานจำนวนไม่มากที่ยินดีไปลงทะเบียนฝึกฝีมือแรงงานเพื่อเป็นคนงานในอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้า

"อุตสาหกรรมการ์เมนท์มีความน่าสนใจน้อยลงในสายตาของทั้งผู้ลงทุนและคนงาน" นายเดี๊ยปแท็งเกียต (Diep Thanh Kiet) รองประธานสมาคมอุตสาหกรรมการ์เมนท์ สิ่งทอและถักทอฯ กล่าว

มีสัญญาณที่บ่งว่าบริษัทการ์เมนท์หลายแห่งกำลังจะโยกย้ายไปจากนครโฮจิมินห์หนีค้าจ้างแรงงานที่พุ่งขึ้นสูง ไปยังตลาดแรงงานแห่งใหม่ที่ค่าจ้างต่ำกว่า บางบริษัทย้ายไปอยู่ไกลถึงเขตที่ราบสูงภาคกลาง และภาคกลางตอนบน

ขณะเดียวกันบริษัทเจ้าของโรงงานการ์เมนท์หลายแห่งได้เปลี่ยนแขนงไปแล้วอย่างสิ้นชิง เช่น บริษัทแถ่งกงเท็กซ์ไทล์ แอนด์การเมนท์ (Thanh Cong Textile and Garment) และ บริษัทการ์เม็กซ์ไซ่ง่อน (Garmex Saigon) กำลังจะพัฒนาโรงงานให้เป็นศูนย์การค้า

เตื่อยแจ๋กล่าวว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนี้เป็นแนวโน้มที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าแห่งต่างๆ มีบทบาทสำคัญในการจ้างแรงงาน ปัญหาใหญ่จะเกิดติดตามมาหากโรงงานแห่งต่างๆ ปิดตัวลง หรือย้ายไปหาที่ตั้งแห่งใหม่ ในแขนงอุตสาหกรรมใหม่

นายเกียตกล่าวว่าสถานการณ์เช่นนี้กำลังจะทำให้เกิดการลอยแพคนงานนับแสนๆ คน แบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยและในไต้หวันเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งรัฐบาลจะต้องเตรียมรับและหามาตรการรองรับ

อย่างไรก็ตามในปีนี้รัฐบาลเวียดนามกำลังปรับทิศทางส่งเสริมการลงทุน โดยเน้นไปยังการผลิตสินค้าและอุปกรณ์เทคโนโลยีสูงที่มีมูลค่าเพิ่มในตลาด และการฝึกอบรมฝีมือแรงงานจะเน้นไปที่อุตสาหกรรมแขนงนี้

แต่นโยบายนี้ก็ยังไม่ได้ให้คำตอบที่ชัดเจนว่า จะทำอย่างไรกับคนงานนับแสนๆ ถ้าหากโรงงานตัดเย็บและถักทอหลายร้อยแห่งจะต้องปิดตัวลงท่ามกลางวิกฤตในสหรัฐฯ.
กำลังโหลดความคิดเห็น