xs
xsm
sm
md
lg

ซับไพรม์พ่นพิษเขมร 1,000 ฮือทุบรื้อโรงงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



ผู้จัดการรายวัน-- คนงานโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าส่งออกในกรุงพนมเปญแห่งหนึ่งพากันบุกเข้าค้นทุบทำลายข้าวของในสำนักงานของบริษัทนายจ้างที่อยู่ภายในโรงงาน ด้วยความโกรธแค้นหลังจากเจ้าของโรงงานแห่งนี้ ไม่ยอมแก้ไขกรณีพิพาทเกี่ยวกับค่าจ้างแรงงานที่ยืดเยื้อมานานข้ามปี

เหตุการณ์ที่มีการใช้ความรุนแรงนี้เกิดในตอนสายวันจันทร์ (11 ก.พ.) ที่โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าตอนกา (Tonga) ในเขต อ.ดางกาว (Dang Kao) รอบนอกกรุงพนมเปญ ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ แต่สร้างความเสียหายให้แก่ตัวอาคารและวัสดุอุปกรณ์สิ่งของเครื่องใช้จำนวนมากถูกทุบทำลาย

หนังสือพิมพ์เกาะสันติภาพ (Koh Santepheap) ภาษาเขมร รายงานเรื่องราวดังกล่าวในฉบับวันอังคาร

คนงานกว่า 1,000 คน ได้กรูกันเข้าไปในสำนักงานของบริษัทด้วยความโกรธแค้น หลายคนช่วยกันพังประตู และทุบกระจกหน้าต่าง ทุบเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์สิ่งของอีกหลายรายการได้รับความเสียหายหรือถูกทำลาย คนงานยังขู่จะเผาโรงงานอีกด้วย

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากการแก้ไขกรณีพิพาทแรงงานที่เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือน พ.ย.ปีที่แล้วไม่ประสบความสำเร็จ เจ้าของโรงงานไม่ปฏิบัติตามคำตัดสินของคณะอนุญาโตตุลาการ

ไม่เพียงเท่านั้นเจ้าของโรงงานซึ่งเชื่อกันว่าเป็นนักลงทุนจากไต้หวัน ยังได้ปิดโรงงานและค้างจ่ายเงินค่าจ้างพนักงาน ช่วงเวลาครึ่งเดือนที่ยังปฏิบัติงานตามปกติก่อนเกิดกรณีพิพาท

ตัวแทนของคนงาน กล่าวว่า การประท้วงด้วยความรุนแรงนี้เกิดขึ้นจากภาวะที่สุดจะอดทนต่อไปเพราะว่าคนงานรอคอยให้นายจ้างแก้ไขปัญหามานานกว่า 2 เดือน ขณะที่ทุกคนไม่มีรายได้อย่างอื่น แต่นายจ้างยังเพิกเฉย และไม่ได้แสดงท่าทีที่ชัดเจนว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร

เหตุการณ์นี้ยังเกิดขึ้นในท่ามกลางข่าวเล่าลือว่า นายจ้างได้ปิดโรงงานอย่างถาวรและหลบหนีออกจากกัมพูชาไปแล้ว

หนังสือพิมพ์ฉบับนี้รายงานว่า คนงานไม่ได้ทุบทำลายจักรเย็บผ้าอุตสาหกรรมในโรงงาน ด้วยเกรงว่านายจ้างจะนำไปกล่าวอ้างเป็นสาเหตุในการปิดโรงงานอย่างถาวร ซึ่งจะทำให้ทุกคนไม่มีงานทำ

กรณีพิพาทแรงงานเริ่มขึ้นโดยคนงานโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าส่งออกแห่งนี้ พากันหยุดงานเมื่อปลายปีที่แล้ว เรียกร้องให้นายจ้างปรับปรุงค่าจ้างให้คนงานได้รับเท่ากับเมื่อก่อน

สำหรับโรงงานบริษัท ตอนกา นี้ เวลาต่อมานายจ้างได้ตกลงปรับค่าจ้างขึ้นเป็นคนละ 50 ดอลลาร์ เป็นเงินเดือนตายตัวไม่มีค่าล่วงเวลาใดๆ ซึ่งได้ทำให้คณะอนุญาโตตุลากรที่รัฐบาลแต่งตั้งชุดหนึ่งเข้าไกล่เกลี่ย แต่นายจ้างไม่ปฏิบัติตาม นำไปสู่การนัดหยุดงานยืดเยื้อจ้ามปี จนกระทั่งกลายมาเป็นความรุนแรง

เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ยังเกิดขึ้นในช่วงที่ยอดการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปกับผลิตภัณฑ์สิ่งทอต่างๆ ไปยังตลาดสหรัฐฯ ลดลงถึง 43% ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2550 หลังจากเกิดวิกฤตทางการเงิน อันเนื่องมาจากหนี้เสียในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์สหรัฐฯ พุ่งขึ้นสูงมาก

คณะอนุญาโตตุลาการที่รัฐบาลแต่งตั้งได้ชี้ขาดให้โรงงานของบริษัทต่างชาติต้องชดเชยรายได้ให้แก่คนงานที่นัดหยุดงาน แต่นายจ้างไม่ยอมปฏิบัติตาม และปิดโรงงานมาตั้งแต่นั้นโดยไม่มีการเจรจาใดๆ อีก

ระหว่างหยุดงาน คนงานได้พากันดูแลเครื่องจักรเครื่องกลต่างๆ ในโรงงาน มีการจัดเวรยามอย่างรัดกุม เพราะเกรงว่านายจ้างจะส่งคนไปรื้อถอนออกไป จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ในตอนเช้าวันจันทร์ที่ผ่านมา ซึ่งมีข่าวเล่าลือว่านายจ้างหมดหน้าตัก โรงงานเจ๊งและออกนอกประเทศไปแล้ว

ผู้เชี่ยวชาญได้เตือนในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมาว่า กำลังจะมีการปิดโรงงานหลายแห่ง อันเนื่องมาจากเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ ทั้งนี้ เนื่องจากว่าราว 70% ของเสื้อผ้าที่ตัดเย็บจากโรงงานในกัมพูชา นั้นส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ

ตามตัวเลขของสมาคมผู้ผลิตเสื้อผ้ากัมพูชา (Garment Manufacturers' of Cambodia) อุตสาหกรรมนี้เป็นแหล่งรายได้ประมาณ 80% ของกัมพูชา ปัจจุบันจ้างแรงงานราว 350,000 คน

อุตสาหกรรมการ์เมนต์เคยขยายตัวปีละประมาณ 20% แต่ นายวันซูเอียง (Van Sou Ieng) ประธาน GMAC กล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพี เมื่อเดือนที่แล้วว่า ยอดส่งออกตลอดปี 2007 ขยายตัวเพียงแค่ 2.4% เท่านั้น รวมมูลค่าประมาณ 2,900 ล้านดอลลาร์

ส่วนรูปการในปี 2551 นี้ “เป็นที่แน่นอนว่าออกมาไม่ดีแน่” นายซูเอียง กล่าวพร้อมเตือนว่าสถานการณ์เช่นนี้จะทำให้มีการปิดโรงงาน คนจำนวนมากต้องว่างงาน

กัมพูชาได้เป็นปลายทางใหม่ของนักลงทุนต่างชาติที่มุ่งเข้าไปใช้แรงงานราคาถูก เพื่อกอบโกยผลกำไรในยุคที่อุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้ากำลังรุ่งโรจน์ ตลาดยุโรป-สหรัฐฯ มีกำลังซื้อสูง หลายบริษัทได้ “กระจายความเสี่ยง” ขยายการลงทุนออกไปจากจีนหลังจากค่าแรงในประเทศนั้นสูงขึ้น

กัมพูชาก็เช่นเดียวกันกับหลายประเทศในเอเชียและยุโรปตะวันออก ซึ่งรวมทั้งในเวียดนาม อินโดนีเซีย จีน และบังกลาเทศ นักลุงทนข้ามชาติได้ทำให้อุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าขยายตัวอย่างรวดเร็วและในอัตราที่สูงมากในช่วงปีใกล้ๆ นี้

หลังเกิดวิกฤตการเงินในสหรัฐฯ ซึ่งเริ่มเห็นชัดเจนขึ้นตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว ประเทศต่างๆ ได้เริ่มรับรู้และต่างเตรียมการรองรับ แต่การหางานใหม่ให้กับคนงานนับแสนๆ ไม่ใช่เรื่องง่ายในประเทศที่กำลังพัฒนา
กำลังโหลดความคิดเห็น