xs
xsm
sm
md
lg

ระลึกถึงเซอร์เอ็ดมันด์ ฮิลลารี ผู้พิชิตเอเวอร์เรสต์

เผยแพร่:   โดย: ชัยสิริ สมุทวณิช

การจากไปของเซอร์เอ็ดมันด์ ฮิลลารี บุรุษผู้ไต่เขาจนขึ้นถึงยอดสูงสุดของโลกที่เทือกเขาหิมาลัย คือยอดเขาเอเวอร์เรสต์ได้สำเร็จเป็นเรื่องสำคัญ

ผมคงต้องเขียนถึงเขา และระลึกถึงวีรบุรุษผู้นี้ ก่อนที่ผมเดินทางไปนิวซีแลนด์ ความรู้เกี่ยวกับประเทศนี้มีอยู่แค่ 2-3 อย่าง คือประเทศนี้มีนักไต่เขาที่พิชิตเอเวอร์เรสต์ รู้แค่นิวซีแลนด์มีทีมรักบี้ออลแบลค เวลานั้นเป็นแชมป์โลก มีนกกีวี มีคนเผ่าเมารีที่ครั้งหนึ่งกินคน แต่เลิกกินมานานแล้ว

ความรู้ผมมีอยู่เท่านั้น เมื่อผมไปถึงนิวซีแลนด์ พบว่าเพื่อนร่วมชั้นมีความรู้เกี่ยวกับเซอร์เอ็ดมันด์ ฮิลลารี แค่งูๆ ปลาๆ มีคนเดียวรู้ลึกซึ้ง ผมโชคดีเพราะเป็นเพื่อนสนิทในชั้น เพื่อนชื่อบิล โลแกน เก่งภาษาอังกฤษมาก

ความสนใจของผมกับเซอร์เอ็ดมันด์มิได้จำกัดอยู่แค่ท่านพิชิตยอดเขาเอเวอร์เรสต์ ผมอยากรู้แรงดลใจและหลังจากที่ท่านทำได้สำเร็จแล้วท่านได้ทำอะไรอีก เรื่องราวของท่านน่าประทับใจตรงที่ท่านไม่เคยลืมชาวเชอร์ปาที่เคยช่วยเหลือท่าน ท่านใช้ชีวิตที่เหลืออุทิศตนให้กับพวกเขาทั้งให้ความช่วยเหลือผ่านรัฐบาลนิวซีแลนด์ด้วยทรัพย์สินที่มีอยู่ รวมทั้งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอื่นๆ ด้วย

เซอร์เอ็ดมันด์ ฮิลลารี เกิดที่โอ๊กแลนด์ (ไม่ได้เรียกกันผิดๆ ว่า อ๊อกแลนด์นิวซีแลนด์ ซึ่งอยู่ทางเหนือของเกาะเหนือ เมื่อปี 1919 โดยท่านสนใจการป่ายปืนเขามาตั้งแต่เด็ก

บิดาของท่านชื่อ เพอซิวัล มารดาชื่อ เกอร์ทรูด ซึ่งมีอาชีพเป็นครู บิดาเป็นนัก นสพ.อยู่ที่ Dargaville และทำ North Auckland Times

เซอร์เอ็ดมันด์มีพี่สาวชื่อ June และน้องชาย ชื่อ Rex

ถึงปี 1920 ครอบครัวย้ายไปอยู่ทางตอนใต้ของโอ๊กแลนด์ โดยเขาเข้าเรียนชั้น Primary ที่โรงเรียนตัวคาดู (Tuakau) จบแล้วก็เข้าเรียนต่อชั้นมัธยมที่โรงเรียนมีชื่อเสียงที่สุดของนิวซีแลนด์คือ Auckland Grammar

สมัยที่เขาเป็นเด็กก็ขี้อาย แต่ชอบฝึกชกมวยมาก

อายุแค่ 16 ปี เขาไปปีนภูเขารูเปหุ (Rupehu) หลังจบชั้นมัธยมปลาย เขาต่อมหาวิทยาลัยโอ๊กแลนด์ในสาขาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์

และถึงปี 1939 เขาสามารถพิชิตยอดเขาแรกในชีวิตที่ Mt.Olliver ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆ กับ Mt.Cook ในเกาะใต้ของประเทศนิวซีแลนด์ ขณะที่อายุแค่ 20 ปี เท่านั้นเอง

ในปี 1948 เขาก็พิชิต Mt.Cook สำเร็จ

เซอร์เอ็ดมันด์นั้นจริงๆ แล้วมีอาชีพเป็นคนเลี้ยงผึ้ง การที่เขาบุกเบิกปีนเขาในนิวซีแลนด์ก็เพื่อเป็นการเบิกทางไปสู่แผนการที่จะไปปีนเขาอื่นๆ นอกประเทศนั่นเอง

เขามีโอกาสไปปีนภูเขาสวิสแอลป์ระดับความสูง 4,158 เมตร เมื่อตอนเดินทางไปร่วมในงานแต่งงานพี่สาวที่ประเทศอังกฤษ

หลังจากนั้นความฝันที่เขาจะปีนหิมาลัยก็เป็นจริง ในปี 1951 เมื่อเขาปีนในระดับ 6,000 เมตร

เขากลับมาโอ๊กแลนด์ และแต่งงานกับหลุยส์ โรส (Louise Rose) เธอเป็นนักไวโอลินฝีมือเยี่ยม เมื่อวันที่ 3 กันยายน ปี 1953 เวลานั้นโรสอายุได้ 23 ทั้งสองมีลูกด้วยกัน 3 คน

เคยมีพวกนักปีนพยายามปีนให้ถึงยอดมาแล้วถึง 7 คณะ ในระหว่างปี 1920-1952 แต่ทุกคณะต่างก็ล้มเหลวไม่ก็ทิ้งกลางคันหมด

มีนักไต่เขามีชื่อเสียงคนหนึ่งแห่งยุค 50's คือ George Leigh Mallony แต่ท่านมาเสียชีวิตขณะปีนเอเวอร์เรสต์ในปี 1924

ปี1954 คณะปีนเอเวอร์เรสต์จากสวิตเซอร์แลนด์ต้องถอยลงจากเอเวอร์เรสต์ เพราะทัศนวิสัยเลวร้ายมากในทางทิศใต้ แม้ว่าขณะที่ปีนอยู่นั้นอีกแค่ 1,000 ฟีต ก็จะถึงยอดเอเวอร์เรสต์อยู่แล้ว

เซอร์เอ็ดมันด์ไปดูลาดเลาและสำรวจภูมิทัศน์โดยการสำรวจนี้มีมาจนถึง 1952 และทำให้เซอร์จอห์น ฮันท์ ผู้นำคณะบุกเบิกที่ได้รับการสนับสนุนจาก Joint Committee of the Alpine Club แห่งสหราชอาณาจักรและ The Royal Geographic Society สนใจเขามาก

คณะของเซอร์ฮันท์ เตรียมปีนเอเวอร์เรสต์ในปี 1953

คณะที่ว่านี้คิดว่าน่าจะถึงยอดได้ในเดือนพฤษภาคม แต่ 2 คนที่จะถึงต้องรีบลงมาเพราะอ่อนแรง เหนื่อยล้า และไม่สามารถต้านความสูงได้

สุดท้ายแล้วมีแต่เซอร์ฮิลลารี และ เทนซิง นอร์เก้ ชาวเนปาล 2 คน ที่ร่วมกันปีนเท่านั้นที่ยังคงตรากตรำปีนเอเวอร์เรสต์อย่างอดทนทรหดยิ่ง

ในเวลา 11.30 น. ของเวลาเช้าวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1953 ทั้ง 2 คนก็ขึ้นสู่ยอดเขาเอเวอร์เรสต์สำเร็จที่ระดับความสูงถึง 29,028 ฟีต เหนือระดับน้ำทะเล


เป็นเหตุบังเอิญจริงๆ การพิชิตเอเวอร์เรสต์เกิดไปตรงกับวาระการครบวันครองราชย์ของสมเด็จพระราชินีอลิซาเบธที่ 2 พอดี จึงเป็นข่าวดีสำหรับคนอังกฤษ

ทำให้เขาได้รับบรรดาศักดิ์พร้อมคณะ

เมื่อเขาเป็นที่รู้จักทั่วโลกแล้ว เซอร์เอ็ดมันด์ก็ได้เดินหน้าสำรวจขั้วโลกใต้จัดทีมชาวนิวเซอร์แลนด์ไปสำรวจระหว่างปี 1955-1958 แม้ว่าเขาจะยังคงปีนเขาอยู่

ระหว่างนี้เขาเอาใจใส่กับปัญหาของคนเนปาล โดยเริ่มตั้งแต่ยุค 1960 เขากลับไปเนปาลเพื่อช่วยการพัฒนาสังคมสร้างคลินิกและตั้งโรงพยาบาล รวมทั้งโรงเรียน 17 แห่ง และสู้ให้สร้างสนามบินมี 2 รันเวย์ ทำให้มีนักปีนเขาและนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามาก รัฐบาลเนปาลตัดต้นไม้มาทำฟืนรองรับพวกปีนเขาและเกิดป่าเสื่อมสภาพ

เขาไปเกลี้ยกล่อมให้เนปาลออกกฎหมายพิทักษ์ป่าไม้และให้ประกาศบริเวณเขาเอเวอร์เรสต์เป็น National Park ซึ่งรัฐบาลก็ประกาศแต่ไม่มีความรู้พอ เขาจึงให้รัฐบาลนิวซีแลนด์จัดส่งคนไปฝึกและช่วยด้านงบประมาณ

เขากับเซอร์จอห์น ฮันท์ ร่วมกันพิมพ์หนังสือการพิชิตเอเวอร์เรสต์ชื่อ The Ascent of Everest ในสหรัฐฯ ใช้ชื่อ The Conquest Everest เขาเขียนอัตชีวประวัติชื่อ Nothing Venture, Nothing Win พิมพ์ปี 1975 ปี 1979 เขาพิมพ์ From Ocean to the Sky ซึ่งเป็นการบุกเบิกปากแม่น้ำแยงซีถึงต้นกำเนิดบนหิมาลัย

เขาโชคร้าย เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 1975 ภรรยาและลูกสาวคนเล็กเบลินดา ขณะที่เดินทางด้วยเครื่องบินไปช่วยสร้างโรงพยาบาลที่เนปาล เครื่องบินตกขณะกำลังขึ้นทั้งหมดเสียชีวิต

ปี 1979 เพื่อนรักของเขา Peter Mulgrew ซึ่งร่วมทีมใน Trans Atlantic (1957-58) เสียชีวิตในวันที่ 28 พ.ย.1979 ขณะที่เครื่องบินของนิวซีแลนด์เที่ยว TE 90 ชนภูเขา Erebus ผู้โดยสารและลูกเรือ 257 คนตายทั้งลำ

เซอร์เอ็ดมันด์ ฮิลลารี ได้รับเกียรติเป็น 20 คนแรกได้รับ Order of NZ สูงสุดของประเทศบ้านเกิด ได้รับเป็นอัศวิน Knight Companion of the Most Noble Order of the Garter (KG) จาก Queen of England เป็น 1 ใน 4 คนที่มีรูปในธนบัตรของนิวซีแลนด์

ชื่อเขาถูกตั้งในที่ต่างๆ เช่น เมืองโอตารา (Otara) มี Sir Edmund Hiltary ใน Tongariro National Park มี Sir Hillary Commission ถนนในกรุงนิวเดลฮีอุทิศให้เขา แม้แต่สมาคมแท็กซี่ที่กาฐมาณฑุก็ให้เหรียญกับเขา โปแลนด์มอบเครื่องอิสริยาภรณ์เนปาลให้เป็นพลเมืองกิตติมศักดิ์ มีรูปปั้นบรอนซ์ตั้งอยู่ที่ Mt.Cook ที่โอ๊กแลนด์มีคนร่วมแสนเข้ามาอ่านชีวประวัติเขา และอีกร่วมแสนในอเมริกา

เขาเสียชีวิตโดยสงบที่บ้านในนิวซีแลนด์ เมื่ออายุ 88 ปี คนทั้งประเทศร่วมกันอาลัยในฐานะเขาเป็นตำนานและได้รับการชื่นชมทั่วโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น