xs
xsm
sm
md
lg

“กงเต็กหลวง” ประวัติศาสตร์ ถวายแด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประวัติศาสตร์คงต้องจารึกไว้เพิ่มอีกหน้าหนึ่งว่า พิธี “กงเต็กหลวง” ที่มีชาวไทยเชื้อสายจีนจำนวนมากจัดขึ้นเพื่อถวายความจงรักภักดีแด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ในสมัยรัชกาลที่ 9 นั้น นับเป็นครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ ที่ได้เห็นพสกนิกรชาวไทยเชื้อสายจีนที่อาศัยอยู่ใต้พระบรมโพธิสมภารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ร่วมกันแสดงความจงรักภักดี ต่อ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ เป็นครั้งสุดท้าย

“กงเต็กหลวง” ยุครัตนโกสินทร์
ชาวจีนที่นับถือศาสนาพุทธฝ่ายมหายานยึดถือประเพณีการทำกงเต็กเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ล่วงลับมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์จิ้น และเมื่อชาวจีนอพยพไปตั้งถิ่นฐานในประเทศอื่นๆ ก็สืบทอดประเพณีนี้ไปด้วย

ไม่มีหลักฐานปรากฏว่าชาวจีนที่มาตั้งถิ่นฐานในเมืองไทยนั้นมีการประกอบพิธีกงเต็กตั้งแต่สมัยใด แต่มีบันทึกว่าระดับเจ้านายชั้นสูงมีการประกอบพิธีกงเต็กมาตั้งแต่ยุคต้นรัตนโกสินทร์ โดยแสงอรุณ กนกพงศ์ชัย กล่าวไว้ในนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม”ฉบับที่ 5 ประจำเดือนมีนาคม 2551 ว่ากงเต็กหลวงมีขึ้นครั้งแรกในช่วงต่อแผ่นดินรัชกาลที่ 3 – 4 เมื่อปีชวด พ.ศ.2395 โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดการพระราชพิธีกงเต็กถวายเป็นพระราชกุศลแด่ดวงพระวิญญาณพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่ โดยในครั้งนั้นทรงโปรดฯให้จัดตามธรรมเนียมจีน มีหลวงจีนญวนเป็นผู้ประกอบพิธี เป็นเวลา 7 วัน 7 คืน

จากนั้นมาพิธีกงเต็กจึงได้เข้าอยู่ในระเบียบงานพระศพเป็นการใหญ่เพื่อถวายพระบรมวงศานุวงศ์สืบต่อมา อาทิ งานพิธีกงเต็กหลวงในงานพระศพของสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระมเหสีเอกในรัชกาลที่ 4 , งานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปีพ.ศ.2408 ซึ่งจัดถวายโดยบรรดานายอากรชาวจีนที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร

ส่วนกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าไว้ในสาส์นสมเด็จว่าพิธีกงเต็กหลวงได้จัดอย่างยิ่งใหญ่ครบ 7 วัน 50 วันและ 100 วัน เกิดขึ้นครั้งแรกในงานพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ กับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ ในปีมะโรง พ.ศ.2423 จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่ ทรงรับสั่งก่อนสวรรคตโปรดฯให้จัดพิธีกงเต็กหลวงถวายในงานพระบรมศพของพระองค์ด้วย

ตราบจนถึงรัชกาลที่ 9 นี้ ก็มีการประกอบพิธีกงเต็กหลวงถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ส่วนในพิธีกงเต็กหลวงในงานพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีที่ผ่านมาพระสงฆ์จีนและพระสงฆ์ญวนได้ร่วมกันจัดงานกงเต็กหลวงถวายเป็นงานใหญ่เช่นกัน

ชาวไทยเชื้อสายจีนร่วมใจจัดถวาย
สำหรับงานพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ในครั้งนี้ มีคณะสงฆ์และชาวไทยเชื้อสายจีนที่ถวายความจงรักภักดี น้อมอุทิศถวายโดยได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯให้ประกอบพิธีกงเต็กหลวงถวาย ทั้งสิ้น 6 คณะคือ คณะสงฆ์จีนนิกาย , มูลนิธิปอเต็กตึ้ง , สมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย หอการค้าไทยจีนและประชาคมนักธุรกิจเขตสัมพันธวงศ์(เยาวราช) , สมาคมไทยเชื้อสายจีน,คณะสงฆ์อนัมนิกายแห่งประเทศไทย และสมาคมนักธุรกิจสัมพันธ์แห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ เศรษฐพงษ์ จงสงวน นักวิชาการพุทธศาสนามหายาน ซึ่งเป็นผู้ประสานงานในพิธีกงเต็กของคณะสงฆ์จีนนิกายได้กล่าวถึงการเตรียมงานว่า

“ งานกงเต็กของคนทั่วไปจะนิมนต์พระสงฆ์จีนมาประกอบพิธีจำนวน 3 – 5 รูป แต่สำหรับงานพระศพของสมเด็จย่าที่ผ่านมานิมนต์พระสงฆ์ 95 รูป ตามพระชันษา ส่วนงานสมเด็จพระพี่นางฯ ที่จัดถวายโดยคณะสงฆ์จีนนิกายได้นิมนต์พระสงฆ์ 84 รูป จาก 12 วัด ตามพระชันษาเช่นกัน ส่วนมณฑลพิธีนั้นเราเลือกชุดใหญ่ให้สมพระเกียรติ และเตรียมเครื่องอุปโภคบริโภคสำหรับเทกระจาดไว้ถึง2,500 ชุด เป็นการทำบุญมหากุศลครั้งใหญ่”

ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายว่าการจัดงานพิธีกงเต็กหลวงอันศักดิ์สิทธิ์ถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี และสมเด็จย่านั้น ไม่มีการบันทึกภาพเผยแพร่มาก่อนเลย ทำให้คนไทยไม่มีโอกาสได้เห็นงานพิธีอันยิ่งใหญ่ แต่สำหรับครั้งนี้สุรีย์รัตน์ วงศ์เสงี่ยม ผู้อำนวยการ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติได้กล่าวว่าจะจัดตั้งคณะทำงานเพื่อบันทึกทุกขั้นตอนของการประกอบพิธี นำมารวบรวมเป็นข้อมูลส่วนหนึ่งในการจัดทำจดหมายเหตุงานพระศพ


พิธีกงเต็กหลวงครั้งประวัติศาสตร์
ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา อันเป็นวันที่คณะสงฆ์จีนนิกายได้มาประกอบพิธีกงเต็กหลวงถวายสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ โดยพิธีอันศักดิ์สิทธิ์นี้เริ่มตั้งแต่ 9.30 น.พล.ร.ต. ม.จ.ปุสาณ สวัสดิวัตน์ ประธานในพิธี ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย ณ ปะรำพิธี พระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร ( เย็นเต็ก ) เจ้าอาวาสวัดโพธิ์แมนคุณาราม ประธานกรรมการสงฆ์จีนนิกาย นำพระสงฆ์ 85 รูป ร่วมกันประกอบพิธีเปิดมณฑลสวดพระพุทธมนต์ อัญเชิญสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ และทวยเทพยดา ตลอดจนพระบูรพาจารย์ เสด็จมาประทับรับการถวายสักการะบูชา โดยประธานในพิธีได้อ่านคำประกาศการพิธีบำเพ็ญกุศล (พิธีงเต็ก) ซึ่งบรรจุคำประกาศซึ่งมีพระนามสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ลงในเทวทูตทรงม้า(ทำจากกระดาษ) เปรียบเสมือนผู้นำคำประกาศ ตลอดจนนำคำอธิษฐานไปประกาศแด่เหล่าเทพยดาที่สถิต ในทิพยวิมานบนสรวงสวรรค์ จากนั้นจึงนำเทวฑูตไปเผา

ต่อมาท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ และ ร.อ.จิทัศ ศรสงคราม พระนัดดาฯ ได้เชิญเครื่องทองน้อย และเชิญถ่งพวง ตามขึ้นไปบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาททางบันด้านตะวันตกของมุขเหนือพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์หน้าพระโกศ ขอพระบารมีแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระโพทธิสัตว์ เพื่ออัญเชิญดวงพระวิญญาณ สถิตในฉลองพระองค์สีฟ้าครามที่เคยทรงใช้แล้วที่สวมไว้กับ “รูปธงกระดาษ” ซึ่งมีคำเรียกในภาษาจีนว่า “ถ่งพวง” และประธานในพิธีได้เสด็จถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ผู้ประกอบพิธี โดยภัตตาหารที่ถวายนั้นเป็นภัตตาหารเจ เพื่อเพิ่มพูนพระกุศลสมภารแห่งดวงพระวิญญาณในดุสิตภพ

จากนั้นพระสงฆ์จึงอัญเชิญพระวิญญาณลงจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทมายังปะรำพิธี โดยมีท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม เป็นผู้เชิญเครื่องทองน้อย และ ร.อ.จิทัศ ศรสงคราม เป็นผู้อัญเชิญถ่งพวง ที่แขวนฉลองพระองค์สีฟ้าครามของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ และพระสงฆ์จีนนิกายจึงเริ่มประกอบพิธีสวดพระพุทธมนตร์อาศัยพระบารมีแห่งพระรัตนตรัย และองค์พระโพธิสัตว์เจ้าเป็นพาหนะนำทางให้แก่ดวงพระวิญญาณ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอในมณฑลพิธี เพื่อเข้าสู่ “หอสรง” ซึ่งมีความหมายถึงดวงพระวิญญาณทรงรับน้ำพระพุทธมนต์ เพื่อความผ่องแผ้ว เบิกบาน สิ้นกังวลพระหฤทัยในพระราชกรณียกิจ พร้อมที่จะสดับพระธรรม

พิธีข้ามสะพานโอฆสงสาร เริ่มโดยพระสงฆ์สวดพระพุทธมนตร์และประพรมน้ำพระพุทธมนตร์เบิกทาง เพื่อนำดวงพระวิญญาณ โดยมีท่านผู้หญิงทัศนาวลัย เชิญเครื่องทองน้อยและร.อ.จิทัศ ศรสงคราม อัญเชิญธงถ่งพวง ซึ่งมีดวงพระวิญญาณสถิตอยู่ และนำผู้ติดตามส่งเสด็จดวงพระวิญญาณสู่สะพานโอฆสงสาร พร้อมกันนี้ท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม พระธิดาในสมเด็จพระพี่นางเธอฯ อยู่ในชุดไว้ทุกข์ในพิธีกงเต็กซึ่งตัดเย็บด้วยผ้ากระสอบเป็นผู้เชิญเครื่องทองน้อย และร.อ.จิทัศ ศรสงคราม พระนัดดา ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ในชุดไว้ทุกข์ในพิธีกงเต็กซึ่งตัดเย็บด้วยผ้าดิบสีขาว

สะพานแห่งนี้ตามความเชื่อในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานมีนัยถึงการข้ามสะพานเป็นการข้ามพ้นจากวัฏฏะสงสาร คือห้วงแห่งการเวียนว่ายตายเกิด ไปสู่ฝั่งคือดินแดนพุทธเกษตรอันเป็นสุข ในขณะที่การประกอบพิธีข้ามสะพานโอฆสงสารนั้นท่านผู้หญิงทัศนาวลัย และร.อ.จิทัศ ศรสงคราม และข้าราชบริพาร วังเลอดิส ได้โปรยทานลงในขันสาครด้านหัวและท้ายสะพาน เพื่อเป็นเครื่องหมายว่าเมื่อบุคคลล่วงลับไปแล้วไม่มีสิ่งใดที่จะติดตัวไปได้ จะเหลือเพียงแต่กุศลและอกุศล เปรียบเสมือนเงาติดตามตัวไปทุกๆ ชาติเท่านั้น

ขณะเดียวกันยังมีการเผากระดาษเงินทองทำเป็นรูปเงินทองบรรจุในหีบทอง จากนั้นพระสงฆ์จีนนิกายได้นำพระทายาทและพระประยูรญาติเดินเวียนรอบสะพานรอบสุดท้าย เสร็จแล้วจึงอัญเชิญดวงพระวิญญาณขึ้นสู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และทำพิธีต่อไป


“จั้วจัก” เครื่องกระดาษในงานกงเต็ก
ในการประกอบพิธีกงเต็กแต่ละครั้งนั้นส่วนประกอบหลักที่สำคัญไม่แพ้สิ่งอื่นคือ “จั้วจัก” หรือเครื่องกระดาษที่ใช้ในจำลองข้าวของเครื่องใช้ของผู้เสียชีวิต เพื่อเผาไปให้ผู้เสียชีวิตได้ใช้ในภพใหม่

สำหรับเครื่องกระดาษที่ใช้ในการประกอบพิธีบำเพ็ญกุศล (พิธีกงเต็ก) ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ถือว่าจัดทำขึ้นอย่างละเอียดและพิถีพิถันมากที่สุด ประพันธ์ เผ่ามานะเจริญ หรือ “เฮียเล็ก” ผู้รับหน้าที่ประกอบเครื่องกระดาษวังเลอดิสจำลอง เล่าถึงขั้นตอนในการทำผลงานชิ้นประวัติศาสตร์นี้ว่า ครั้งแรกที่ทางทีมงานได้รับโจทย์จากผู้ว่าจ้างให้ทำงานสำคัญนี้ สิ่งแรกที่ทำคือ ตามจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังไปบันทึกภาพนิ่งที่วังเลอดิส เพื่อประกอบในการจำลอง

“การเข้าไปบันทึกภาพที่วังเลอดิสนั้นเราจะได้เห็นเพียงแค่ด้านนอกเท่านั้นจะไม่ได้เข้าไปในตัวตำหนัก เพราะฉะนั้นพวกเราทุกคนจะต้องเก็บรายละเอียดภายนอกและสิ่งต่างๆ ที่เห็นให้ได้มากที่สุด เพื่อที่จะนำมาใช้ในการทำเครื่องกระดาษให้มีความสมบูรณ์มากที่สุด”

อย่างไรก็ตามเฮียเล็กก็ตั้งใจทำงานนี้อย่างสุดฝีมือให้เหมือนกับพระตำหนักจริงมากที่สุดเพื่อเป็นการถวายความจงรักภักดีแด่สมเด็จพระพี่นางเธอฯ โดยวังเลอดิสจำลองด้วยกระดาษมีความกว้างยาวประมาณ 2x3 เมตร ประกอบด้วยพระตำหนักกลางมีความสูง 2 ชั้นถูกฉาบทาด้วยสีขาวบริสุทธิ์ หลังคาสีฟ้าที่สะท้อนให้เห็นถึงความร่มเย็น อันเป็นตำหนักที่ใช้ประทับและบรรทม ห้องทรงอักษร ศาลาไทยกลางน้ำลายล้อมไปด้วยดอกบัวสีม่วงคอยเชิดหน้าอยู่เหนือพื้นน้ำเพื่อออกมารับแสงสว่างในยามแรกเช้า

ซึ่งเฮียเล็กได้เติมรายละเอียดให้เหมือนจริงถึงขนาดรถยนต์พระที่นั่ง ยี่ห้อใดรุ่นไหนสีอะไร และพระตำหนักใดติดแอร์ยี่ห้อใดบ้างเฮียเล็กก็ทำอย่างไม่ขาดตกบกพร่องรอบ ๆ วังเลอดิสยังมีไม้ใหญ่และดอกไม้บานสะพรั่ง และที่ขาดไม่ได้คือสุนัขทรงเลี้ยงที่พระองค์ทรงโปรดนั้นจะมีอยู่ตามมุมต่าง ๆ ของวังเลอดิสจำลอง ให้ความรู้สึกเหมือนวังเลอดิสจำลองมีชีวิตชีวาได้ตามเสด็จฯไปเป็นที่ประทับแด่พระองค์ในสวรรคาลัยด้วย

นอกจากนี้เฮียเล็กยังได้จำลองเฮลิคอปเตอร์ที่ประทับสำหรับใช้ในการออกหน่วยแพทย์ พอ.สว. ไว้ 1 ลำ และเรือยนต์พระที่นั่งอีก 1 ลำ โดยเฮียเล็กให้เหตุผลเสริมว่า ทั้งสองอย่างนี้ล้วนเป็นสิ่งที่พสกนิกรชาวไทยทุกคนเห็นกันชินตา ในการเสด็จออกไปเยี่ยมหน่วยแพทย์ พอ.สว. เราจึงต้องการทำขึ้นมาเพื่อให้พระองค์นำไปทรงใช้ในภพหน้า

ผู้ใดสนใจอยากจะเห็นภาพความศักดิ์สิทธิของพิธีกงเต็กหลวงนั้น สามารถติดตามจากงานพิธีกงเต็กหลวงที่เหลืออีก 5 คณะได้

*****************

ที่มาของการทำ “กงเต็ก”
คำว่า “กง” หมายถึงการกระทำ หรือภาษาสันสกฤตเรียกว่า สัมยักกรรมานตะ หมายถึงการกระทำอันก่อให้เกิดประโยชน์ทางกายวาจา หรืออีกนัยหนึ่งแปลว่า การกระทำในสิ่งที่ถูกที่ชอบที่เป็นประโยชน์ แก่ดวงวิญญาณผู้ล่วงลับเพื่อประสบความสุขความสบาย และผลแห่งศีลที่วิญญาณได้รับต่อหน้าพระพุทธปฏิมากร กับผลแห่งการถวายพระพุทธบริโภค

“เต็ก” คือบุญ หรือภาษาสันสกฤตและบาลี เรียกว่า กุศล หมายถึงการน้อมจิตให้เป็นกุศล หรือการอนุโมทนาส่วนบุญทีได้บำเพ็ญหรือกำลังบำเพ็ญอยู่

ดังนั้นเมื่อนำสองคำนี้มารวมกัน กงเต็ก จึงหมายถึง การกระทำที่ก่อให้เกิดผลบุญกุศลอุทิศแก่ผู้ล่วงลับ เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวที ตอบแทนแด่บุคคลผู้มีพระคุณ ซึ่งเป็นกิจที่มนุษย์พึงกระทำเรียกว่า “มนุษยธรรม”

พิธีกงเต็กนั้นตามประวัติศาสตร์ได้เริ่มมีเป็นครั้งแรกในประเทศจีนสมัยราชวงศ์จิ้น และสำหรับประเทศไทยถึงแม้ว่าจะไม่มีหลักฐานใดปรากฏชัดเจนว่าเข้ามาตั้งแต่เมื่อใด แต่จากหลักฐานที่ปรากฏไว้น่าจะเริ่มมีขึ้น เมื่อชาวจีนและชาวญวน ทีได้อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และจนถึงในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ที่ได้มีการสถาปนาวัดจีนมากขึ้น พิธีกรรมดังกล่าวนี้จึงแพร่หลายออกไปอย่างกว้างขวาง จนกระทั่งถึงในปัจจุบันพิธีกงเต็กได้กลายมาเป็นพิธีกรรมสำคัญที่ชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนนิยมถือปฏิบัติสืบต่อกันมาจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของการทำศพของชาวจีนรวมทั้งชาวไทยเชื้อสายจีนไปในที่สุด

*****************

เรื่อง - ปาณี ชีวาภาคย์, ศศิวิมล แถวเพชร







กำลังโหลดความคิดเห็น