xs
xsm
sm
md
lg

‘กงเต็กหลวง’ ถวายแด่ ‘พระพี่นางฯ’ อีกหนึ่งบันทึกความทรงจำในประวัติศาสตร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นับเป็นอีกวาระหนึ่งในประวัติศาตร์ไทย ที่ชาวไทย เชื้อสายจีนซึ่งอาศัยอยู่ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯได้ร่วมกันจัดพิธี ‘กงเต็กหลวง’ อย่างยิ่งใหญ่ น้อมอุทิศถวายเป็นพระราชกุศล แด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เพื่อแสดงถึงความกตัญญูกตเวทีและความจงรักภักดีที่มีต่อสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ผู้เป็นที่รักยิ่งของพสกนิกรชาวไทย

• ที่มาของการทำ ‘กงเต็ก’


ในหนังสืออนุสรณ์เนื่องในการประกอบพิธีบำเพ็ญกุศล(กงเต็ก)น้อมอุทิศถวายเป็นพระราชกุศล แด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จัดทำโดยคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงพิธีบำเพ็ญกุศล(กงเต็ก) ว่า เป็นพิธีกรรมตามคติ พุทธศาสนาฝ่ายมหายานประกอบปัตติทานกุศล คือ การอุทิศบุญกุศลถวายแด่ดวงวิญญาณ เพื่อเพิ่มพูนทิพยสุขในแดนสุขาวดี โดยนิยมเรียกนามพิธีนี้ในศัพท์ภาษาจีนว่า ‘กงเต็ก’

คำว่า “กง” หมายถึงการกระทำอันก่อให้เกิดประโยชน์แก่ดวงวิญญาณผู้ล่วงลับ เพื่อประสบความสุขความสบาย และผลแห่งศีลที่วิญญาณได้รับต่อหน้าพระพุทธปฏิมากร กับผลแห่งการถวายพระพุทธบริโภค

“เต็ก” คือบุญ หรือ กุศล หมายถึงการน้อมจิตให้เป็นกุศล หรือการอนุโมทนาส่วนบุญที่ได้บำเพ็ญหรือกำลังบำเพ็ญอยู่

ดังนั้นเมื่อนำสองคำนี้มารวมกัน “กงเต็ก” จึงหมายถึง การกระทำที่ก่อให้เกิดผลบุญกุศลอุทิศแก่ผู้ล่วงลับ เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวที ตอบแทนแด่บุคคลผู้มีพระคุณ ซึ่งเป็นกิจที่มนุษย์พึงกระทำเรียกว่า ‘มนุษยธรรม’

เบื้องต้นแห่งการมีพิธีกงเต๊กขึ้นนั้น ในพระคัมภีร์มีอรรถาธิบายกล่าวไว้ว่า เกิดขึ้นในประเทศจีนยุคราชวงศ์เหนือ-ใต้ ครั้งนั้นประเทศจีนแตกแยกออกเป็นสองฝ่ายทั้งเหนือใต้

เมื่อ พ.ศ.1045 ราชวงศ์เหลียงฝ่ายใต้ มีพระเจ้าเหลียงบู๊ตี้ขึ้นครองราชย์ตั้งราชธานี และทรงมีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง จึงทรงปฏิสังขรณ์วัดวาอาราม ต่างๆทั่วแผ่นดิน ในขณะที่พระมเหสีของพระองค์ คือพระนางฮีสีฮองเฮา กลับไม่ทรงศรัทธาในพระพุทธศาสนา จึงทรงออกอุบายกลั่นแกล้งต่างๆนานา ถึงกับได้ทำลายพระพุทธปฏิมา นำเอาคัมภีร์ของพระสวามีไปเผาทิ้ง ครั้นพระนางสิ้นพระชนม์ลง กรรมชั่วที่เคยกระทำไว้จึงส่งผลให้ ดวงพระวิญญาณไปเป็นงูอยู่ในอบายภูมิ ได้รับวิบากกรรมเป็นทุกขเวทนาอย่างมาก

คืนหนึ่งพระเจ้าเหลียงบู๊ตี้ทรงสุบินเห็นงูพระนางฮีสีฮองเฮา ได้มาปรากฏตัวเบื้องหน้าพระพักตร์ และได้พรรณนา ถึงกรรมชั่วที่ได้กระทำลงไป จึงกราบทูลขอพระบารมีของพระสวามีช่วยปลดเปลื้องให้พระนางพ้นจากกองทุกข์ครั้งนี้ด้วย

ครั้นพระเจ้าเหลียงบู๊ตี้ตื่นบรรทมจึงนำเรื่องพระสุบินไปหารือกับพระมหาเถระป๋อจี้ ผู้เป็นพระราชครู ว่าจะมีอุบายวิธีใดที่จะช่วยปลดเปลื้องทุกข์ให้พระนางทุเลาจากผล วิบากกรรมนี้ พระราชครูจึงถวายคำแนะนำว่าให้พระองค์บำเพ็ญพระราชกุศล ตั้งมณฑลพิธีมีพระรัตนตรัยเป็นประธาน อาราธนาพระสงฆ์ทั้งทศทิศมาสังวัธยาพระธรรม และกระทำการขอขมากรรมแทนดวงพระวิญญาณของพระมเหสี รวมทั้งถวายภัตตาหารเครื่องไทยธรรมต่างๆ แด่พระสงฆ์ทั้งหลาย และกระทำมหาทานแก่เหล่าผู้ยากไร้ต่างๆ เพื่ออุทิศมหากุศลผลบุญนี้แด่ดวงพระวิญญาณของพระมเหสี ต่อมาไม่ช้าพระนางได้มาเข้าฝันพระสวามีว่าพระองค์ทรงหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงแล้ว

“กงเต็ก” จึงได้กลายมาเป็นประเพณีบำเพ็ญกุศลแด่ดวงวิญญาณผู้ที่ล่วงลับไป ปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่ครั้งนั้น ทั่วประเทศจีนตราบจนทุกวันนี้

• ความสำคัญของปะรำมณฑลพิธี

เป็นที่ทราบกันดีว่าในพิธีกงเต็กตามแบบฉบับจีนโบราณ นั้นจะเคร่งครัดมากในเรื่องของการจัดสถานที่ โดยในปะรำพิธีจะมีโต๊ะบูชามหาโพธิสัตว์ (ไต่สือเอี้ย) คือพระกวนอิมโพธิสัตว์ โต๊ะหมู่บูชาทั้งหมดนี้จะเรียงลดหลั่นกัน พร้อมทั้งประดับด้วยเครื่องบูชาประทีป โคมไฟ เครื่องหอมต่างๆ เมื่อจัดมลฑลพิธีไว้อย่างพร้อมมูลแล้ว พระสงฆ์จึงประกอบพิธีกงเต็กต่อไป

เริ่มจากประธานในพิธีต้องจุดธูปเทียนบริเวณปะรำพิธี เจ้าอาวาสซึ่งเป็นประธานฝ่ายสงฆ์จะนำพระสงฆ์ร่วมกันประกอบพิธีเปิดมณฑลสวดพระพุทธมนต์ อัญเชิญสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ และทวยเทพยดา ตลอดจนพระบูรพาจารย์ เสด็จมาประทับรับการถวายสักการบูชา โดยประธานในพิธีได้อ่านคำประกาศการพิธีบำเพ็ญกุศล (พิธีงเต็ก) ซึ่งบรรจุคำประกาศซึ่งมีชื่อของผู้วายชนม์ลงไว้ใน เทวทูตทรงม้า(ทำจากกระดาษ) ซึ่งเปรียบเสมือนผู้นำคำประกาศ ตลอดจนนำคำอธิษฐานไปประกาศแด่เหล่าเทพยดา ที่สถิตในทิพยวิมานบนสรวงสวรรค์ จากนั้นจึงนำเทวทูตทรงม้าไปเผา

จากนั้นทายาทจึงเชิญกระถางธูปเทียน และ ‘ถ่งพวง’ (รูปธงกระดาษ) ไปยังหน้าโลงศพเพื่ออัญเชิญดวงวิญญาณ ของผู้ตายสถิตไว้ในเสื้อผ้าที่ใช้แล้วมาสวมไว้กับถ่งพวง และนำไปตั้งไว้หน้าโต๊ะบูชา จากนั้นเจ้าภาพจึงประเคนภัตตาหาร เพลแด่พระสงฆ์ผู้ประกอบพิธี โดยภัตตาหารนั้นต้องเป็นภัตตาหารเจ เพื่อเพิ่มพูนกุศลให้แก่ดวงวิญญาณในดุสิตภพ

ต่อจากนั้นพระสงฆ์จึงทำพิธีเชิญดวงวิญญาณของผู้ตายเข้าสู่ ‘หอสรง’ซึ่งมีความหมายถึงดวงวิญญาณจะได้รับน้ำพระพุทธมนต์ เพื่อความผ่องแผ้ว เบิกบาน สิ้นกังวลกับทุกอย่าง พร้อมที่จะสดับพระธรรม

จนถึงพิธีข้าม ‘สะพานโอฆสงสาร’ ซึ่งเริ่มโดยพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์และประพรมน้ำพระพุทธมนต์เบิกทาง เพื่อนำดวงวิญญาณ โดยมีทายาทเชิญธูปเทียน และธงถ่งพวง ซึ่งมีดวงวิญญาณสถิตอยู่ เพื่อข้ามสะพานโอฆสงสาร ซึ่งตามความเชื่อในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานมีนัยถึงการ ข้ามพ้นจากวัฏฏะสงสาร คือห้วงแห่งการเวียนว่ายตายเกิด ไปสู่ฝั่งคือดินแดนพุทธเกษตรอันเป็นสุข ในขณะที่การประกอบพิธีข้ามสะพานโอฆสงสารนั้น ทายาทต้องโปรยทาน ลงในขันสาครด้านหัวและท้ายสะพาน เพื่อเป็นเครื่องหมายว่าเมื่อบุคคลล่วงลับไปแล้วไม่มีสิ่งใดที่จะติดตัวไปได้ จะเหลือเพียงแต่กุศลและอกุศล เปรียบเสมือนเงาติดตามตัวไปทุกๆชาติเท่านั้น

เมื่อเสร็จพิธีพระสงฆ์จึงสวดพระพุทธมนต์ปล่อยชีวิตสัตว์ เพื่อให้หลุดพ้นจากกรรมเวร และมาถึงพิธี ‘โยคะตันตระ’ คือการทิ้งกระจาดซึ่งเป็นการเจริญเมตตาธรรมที่มี ผลานิสงส์ยิ่งใหญ่ไพศาลมาก และเมื่อเสร็จพิธีนี้แล้วพระสงฆ์จะสวดและนำทายาทเผาเครื่องอุปโภคบริโภคจำลองที่ทำด้วยเครื่องกระดาษ และพระสงฆ์ประกอบพิธีพิจารณาผ้าบังสุกุล เป็นอันเสร็จพิธีกงเต็กที่ลูกหลานพึงกระทำเพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูต่อพ่อแม่เป็นครั้งสุดท้าย

• “กงเต็กหลวง” ยุครัตนโกสินทร์

สำหรับประเทศไทยไม่มีหลักฐานปรากฏชัดเจนว่าพิธีกงเต็กเข้ามาตั้งแต่สมัยใด แต่มีบันทึกว่าเจ้านายชั้นสูงมีการประกอบพิธีกงเต็กมาตั้งแต่ยุคต้นรัตนโกสินทร์ โดย ‘แสงอรุณ กนกพงศ์ชัย’ กล่าวไว้ในนิตยสาร ‘ศิลปวัฒนธรรม’ ฉบับที่ 5 ประจำเดือนมีนาคม 2551 ว่า กงเต็กหลวงมีขึ้นครั้งแรกในช่วงต่อแผ่นดินรัชกาลที่ 3-4 เมื่อพ.ศ.2395 โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดการพระราชพิธีกงเต็กถวายเป็นพระราชกุศลแด่ดวงพระวิญญาณพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยในครั้งนั้นโปรดฯให้จัดตามธรรมเนียมจีน มีหลวงจีนญวนเป็นผู้ประกอบพิธี เป็นเวลา 7 วัน 7 คืน

จากนั้นมาพิธีกงเต็กจึงได้เข้าอยู่ในระเบียบงานพระศพเป็นการใหญ่เพื่อถวายพระบรมวงศานุวงศ์สืบต่อมา อาทิ งานพิธีกงเต็กหลวงในงานพระศพของสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระมเหสีเอกในรัชกาลที่ 4, งานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปีพ.ศ.2408 ซึ่งจัดถวายโดยบรรดานายอากรบ่อนเบี้ยชาวจีนที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอยู่ในแผ่นดินสยาม

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าไว้ใน ‘สาส์นสมเด็จ’ ว่า พิธีกงเต็กหลวงได้จัดอย่างยิ่งใหญ่ครบ 7 วัน 50 วันและ 100 วัน เกิดขึ้นครั้งแรกในงานพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ กับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ ในพ.ศ.2423 กระทั่งถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่ รัชกาลที่ 6 ซึ่ง ‘เศรษฐพงษ์ จงสงวน’ นักวิชาการพุทธศาสนามหายาน เล่าให้ฟังว่า พระองค์ทรงรับสั่งก่อนสวรรคต ว่าโปรดฯให้จัดพิธีกงเต็กหลวงถวายใน งานพระบรมศพของพระองค์ด้วย โดยโปรดฯให้ขุนนางจัดพิธีถวาย แต่ถ้าไม่มีขุนนางกลุ่มใดจัดถวาย ก็ให้เป็นหน้าที่ของรัชทายาทเป็นผู้จัดพิธีกงเต็กถวายแทน

ตราบจนถึงรัชกาลที่ 9 ก็มีการประกอบพิธีกงเต็กหลวง ถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ส่วนงานพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ใน พ.ศ.2538 พระสงฆ์จีนและพระสงฆ์ญวนได้ร่วมกันจัดงานกงเต็กหลวง ถวายเป็นงานใหญ่เช่นกัน กระทั่งมาถึงพิธีกงเต็กหลวงในงานพระศพของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่พสกนิกรชาวไทยเชื้อสายจีนได้ร่วมกันแสดงความจงรักภักดีต่อพระองค์อย่างยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ

“จั้วจัก” เครื่องกระดาษในงานกงเต็ก

ในการประกอบพิธีกงเต็กแต่ละครั้งนั้น ส่วนประกอบหลักที่สำคัญไม่แพ้สิ่งอื่นได้แก่ “จั้วจัก” คือเครื่องกระดาษที่จำลองข้าวของเครื่องใช้ของผู้เสียชีวิต เพื่อเผาไปให้ผู้เสียชีวิตได้นำไปใช้ในภพใหม่ มีตั้งแต่บ้าน รถยนต์ คนใช้ ของใช้ที่จำเป็นต่างๆ

ประพันธ์ เผ่ามานะเจริญ หรือ ‘เฮียเล็ก’ เจ้าของร้านรับทำเครื่องกระดาษมาหลายสิบปี เล่าว่า ทุกวันนี้การทำจั้วจักต้องเปลี่ยนไปตามความต้องการของลูกค้า และเพื่อเพิ่มความ สะดวกในการตัดสินใจมากขึ้น เขาจึงทำเป็นแคตตาล็อกของจั้วจักในหลายๆรูปแบบเพื่อให้ลูกค้าเลือกตัดสินใจในงบประมาณที่มีอยู่

แต่สำหรับบางรายที่ไม่เกี่ยงเรื่องราคา ทางผู้ผลิตก็จะทำตามความต้องการของลูกค้า เฮียเล็กได้ยกตัวอย่างการทำเครื่องกระดาษจำลองในงานกงเต็ก ของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นงานที่ทางญาติได้กำหนด รูปแบบของเครื่องกระดาษจำลองมาอย่างเลิศหรู ถือว่าเป็นงานยากอีกชิ้นหนึ่งในการทำเครื่องกระดาษจำลองก็ว่าได้ แต่ช่างก็ได้ทำอย่างเต็มที่เพื่อให้งานนั้นออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด

“ลักษณะของเครื่องกระดาษในงาน พล.อ.ชาติชายนั้นได้รับการออกแบบให้เป็นตึกแถวยาวมีความสูง 2 ชั้นโดยภายในตัวบ้านตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์อย่างครบครัน บริเวณนอกบ้านได้รับการตกแต่งด้วยสนามหญ้า และทำสระว่ายน้ำ ซึ่งท่านชอบว่ายน้ำมาก รถชอปเปอร์คันโปรด และที่ขาดไม่ได้ ก็คือบุหรี่ซิก้า ที่ท่านชื่นชอบมากเป็นพิเศษ”

สำหรับเครื่องกระดาษที่ใช้ในการประกอบพิธีบำเพ็ญกุศล (พิธีกงเต็ก)ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ถือว่าจัดทำขึ้นอย่างละเอียดและพิถีพิถันมากที่สุด ประพันธ์ผู้รับหน้าที่ประกอบเครื่องกระดาษวังเลอดิสจำลอง เล่าถึงขั้นตอนในการทำผลงานชิ้นประวัติศาสตร์นี้ว่า ครั้งแรกที่ทางทีมงานได้รับโจทย์จากผู้ว่าจ้างให้ทำงานสำคัญนี้ สิ่งแรกที่ทำคือ ตามเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังไปบันทึกภาพนิ่งที่วังเลอดิส เพื่อประกอบในการจำลอง

“การเข้าไปบันทึกภาพที่วังเลอดิสนั้นเราจะได้เห็นเพียงแค่ด้านนอกเท่านั้น จะไม่ได้เข้าไปในตัวตำหนัก เพราะฉะนั้นพวกเราทุกคนจะต้องเก็บรายละเอียดภายนอกและสิ่งต่างๆ ที่เห็นให้ได้มากที่สุด เพื่อที่จะนำมาใช้ในการทำเครื่องกระดาษให้มีความสมบูรณ์มากที่สุด”

อย่างไรก็ตามเฮียเล็กก็ตั้งใจทำงานนี้อย่างสุดฝีมือให้เหมือนกับพระตำหนักจริงมากที่สุด เพื่อเป็นการถวายความจงรักภักดีแด่สมเด็จพระพี่นางเธอฯ โดยวังเลอดิสจำลองด้วย กระดาษมีความกว้างยาวประมาณ 2 x 3 เมตร ประกอบด้วย พระตำหนักกลางมีความสูง 2 ชั้นถูกฉาบทาด้วยสีขาวบริสุทธิ์ หลังคาสีฟ้าที่สะท้อนให้เห็นถึงความร่มเย็น อันเป็นตำหนักที่ใช้ประทับและบรรทม ห้องทรงอักษร ศาลาไทยกลางน้ำรายล้อมไปด้วยดอกบัวสีม่วงคอยเชิดหน้าอยู่เหนือพื้นน้ำ เพื่อออกมารับแสงสว่างในยามแรกเช้า

ซึ่งเฮียเล็กได้เติมรายละเอียดให้เหมือนจริงถึงขนาดรถยนต์พระที่นั่ง ยี่ห้อใด รุ่นไหน สีอะไร และพระตำหนักใด ติดแอร์ยี่ห้อใดบ้างเฮียเล็กก็ทำอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง รอบๆวังเลอดิสยังมีไม้ใหญ่และดอกไม้บานสะพรั่ง และที่ขาดไม่ได้คือสุนัขทรงเลี้ยงที่พระองค์ทรงโปรดนั้นจะมีอยู่ตามมุมต่างๆ ของวังเลอดิสจำลอง ให้ความรู้สึกเหมือนวังเลอดิสจำลองมีชีวิตชีวาได้ตามเสด็จฯไปเป็นที่ประทับแด่พระองค์ในสวรรคาลัยด้วย

นอกจากนี้เฮียเล็กยังได้จำลองเฮลิคอปเตอร์ที่ประทับสำหรับใช้ในการออกหน่วยแพทย์ พอ.สว. ไว้ 1 ลำ และเรือยนต์พระที่นั่งอีก 1 ลำ โดยเฮียเล็กให้เหตุผลเสริมว่า ทั้งสองอย่างนี้ล้วนเป็นสิ่งที่พสกนิกรชาวไทยทุกคนเห็นกันชินตา ในการเสด็จออกไปเยี่ยมหน่วยแพทย์ พอ.สว. เราจึงต้องการทำขึ้นมาเพื่อให้พระองค์ทรงนำไปใช้ในภพหน้า

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 89 เม.ย. 51 โดย ชีวา)






กำลังโหลดความคิดเห็น