เอเยนซี – คาดจีนคลอดแผนปรับโครงสร้างรัฐบาลครั้งใหญ่ กลางงานประชุมสภาผู้แทนประชาชน ชี้ตัวเก็งทายาทการเมืองหู-เวิน จ่อคิวรับไม้ต่อแน่นอน หลังแหล่งข่าวเผย สีจิ้นผิงเตรียมนั่งเก้าอี้รองประธานาธิบดี ขณะที่หลี่เค่อเฉียงจ่อคิวรอนั่งรองนายกฯ
เอเชียน วอลล์สตรีท เจอร์นัล วิเคราะห์การประชุมสภาผู้แทนประชาชน ที่จะเปิดม่านในวันพุธ (5 มี.ค.) ว่า เป็นการปรับโครงสร้างรัฐบาลครั้งใหญ่ นับแต่จีนเริ่มนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศ เมื่อทศวรรษ 1970 พร้อมเก็งตำแหน่งสำคัญๆ ให้จับตาความเคลื่อนไหว การผ่องถ่ายอำนาจสู่ผู้นำรุ่นที่ 5 โดยมีสีจิ้นผิง และหลี่เค่อเฉียงเป็นแกนนำ
วอลล์สตรีทระบุว่า ในการประชุมสภาผู้แทนประชาชนครั้งนี้ จะมีการพิจารณาปรับโครงสร้างรัฐบาล เพื่อให้รัฐสามารถเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน ขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงในตำแหน่งสำคัญ ที่ผ่านการอนุมัติจากสภาผู้แทนประชาชนอย่างเป็นทางการจะการันตีว่า ใครคือผู้นำคนต่อไปของสาธารณรัฐประชาชนจีน
หลายฝ่ายคาดว่า ประธานาธิบดีหูจิ่นเทา และนายกรัฐมนตรีเวินเจียเป่า จะได้ไฟเขียวดำรงตำแหน่งอยู่อีกวาระเป็นเวลา 5 ปี ส่วนสีจิ้นผิงและหลี่เค่อเฉียงดาวรุ่งทางการเมือง ทายาทหู-เวิน จะได้รับเลื่อนดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี และรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหารตามลำดับ นอกจากนี้หวังฉีซัน อดีตพ่อเมืองปักกิ่งจะได้รับเลื่อนเป็นรองนายกรัฐมนตรีดูแลด้านการเงิน
ทั้งนี้ สีจิ้นผิงและหลี่เค่อเฉียง ได้รับการแต่งตั้งสู่ตำแหน่งคณะกรรมการประจำกรมการเมือง องค์กรสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์ เมื่อเดือนตุลาคม 2008 ในการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 17 ซึ่งมีการประชุมทุก 5 ปี ส่วนหวังฉีซันเองก็ได้รับการแต่งตั้งสู่คณะกรรมการกรมการเมือง ซึ่งเป็นอีกองค์กรที่สำคัญของพรรคฯ ทำให้หลายฝ่ายคาดว่าทั้ง 3 คนจะได้รับการแต่งตั้งสู่ตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลอย่างแน่นอน ในการประชุมสภาผู้แทนประชาชนครั้งนี้ ด้วยการประชุมดังกล่าวทำหน้าที่เหมือนสภาตรายาง อนุมัติแผนงาน และการโยกย้ายตำแหน่ง ที่ทางพรรคคอมมิวนิสต์ได้จัดแจงไว้เสร็จสรรพล่วงหน้าแล้ว สมาชิกที่เข้าชุมนุมไม่มีสิทธิอภิปราย หรือลงเสียงไม่ไว้วางใจรัฐบาล ทว่ามีหน้าที่หลักคือการยกมือผ่านกฎหมาย และเป็นสักขีพยานในการอนุมัติแต่งตั้งตำแหน่งที่สำคัญๆ
ปรับโครงสร้างรับศึกใหญ่
เมื่อปีที่แล้วสภาผู้แทนฯได้ผ่านภาษีเงินได้นิติบุคคลอัตราเดียว และกฎหมายกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินฉบับแรกของจีน ที่ให้ความคุ้มครองแก่ทรัพย์สินของรัฐ, ชุมชน และเอกชนโดยเท่าเทียมกัน เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงกฏเกณฑ์ และการดำเนินการของภาครัฐให้เท่าทันสภาพเศรษฐกิจสังคมจีนที่เปลี่ยนแปลงไป
ในปีนี้คาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างรัฐบาลครั้งใหญ่ โดยการตั้งกระทรวงที่สำคัญๆ และควบรวมหน่วยงาน ที่ดำเนินการทับซ้อนมาอยู่ในโครงสร้างใหญ่หน่วยเดียว เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผลในการดำเนินงาน เท่าทันสภาพเศรษฐกิจ-สังคมในปัจจุบัน อาทิปัญหาเงินเฟ้อ, ความขัดแย้งในสังคม, ช่องว่างรายได้ที่ไม่เท่าเทียม ฯลฯ นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังมีเป้าหมาย ในการทำให้รัฐบาลกลางสามารถเข้าไปมีอำนาจต่อรัฐบาลท้องถิ่นได้มากยิ่งขึ้น
นักวิเคราะห์กล่าวถึงแผนการที่พรรคคอมมิวนิสต์ได้ร่างเสร็จเรียบร้อย ตั้งแต่เดือนที่แล้ว ทว่ายังมิมีการเผยรายละเอียดว่า อาจมีการตั้งกระทรวงพลังงาน เพื่อดูแลบริหารจัดการด้านการพลังงานของจีน ที่ปัจจุบันเผชิญปัญหาหนัก นอกจากนี้อาจมีการควบรวมหน่วยงานทางด้านการเงินที่สำคัญ 3 หน่วยงาน เป็นกระทรวงใหญ่ที่ดูแลด้านตลาดหุ้น, ธนาคาร และประกันภัยเพียงหน่วยงานเดียว ส่วนกรมสิ่งแวดล้อมแห่งชาติอาจได้รับการยกระดับ สู่ฐานะกระทรวงเต็มขั้น ได้งบประมาณเพิ่มขึ้น เพื่อดูแลปัญหาสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาหนักอกของจีนในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตามความคิดริเริ่มข้างต้น ย่อมเผชิญแรงต้านจากเจ้าหน้าที่รัฐการส่วนหนึ่ง ฉะนั้นการประชุมสภาผู้แทนประชาชน จึงเป็นเพียงเวที จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง ที่จะต้องผ่านกระบวนการต่างๆอีกเป็นขั้นๆ และใช้เวลาอีกหลายปี นักวิเคราะห์มองว่ารัฐบาลจีนเล็งเส้นตาย สำหรับการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด ต้องเสร็จสิ้นภายในปี 2020
นักลงทุนระทึกดูทิศทาง
โจวเสี่ยวชวนคุมแบงค์ชาติ
ส่วนฝ่ายนักลงทุนต่างลุ้นระทึกรอทิศทางความชัดเจน ในการปรับโครงสร้างธุรกิจที่สำคัญว่า ทางปักกิ่งมีนโยบายอย่างไร หลายฝ่ายคาดว่า จะมีการเปิดเผยรายละเอียดที่ชัดเจนมากขึ้น เกี่ยวกับทิศทางของรัฐบาล ที่มีต่อการปรับโครงสร้างธุรกิจ โทรคมนาคม และการบิน ที่ก่อนหน้านี้มีข่าวออกมาเป็นระยะว่า ทางรัฐบาลส่งเสริมการควบรวมกิจการจากหลายบริษัทที่มีอยู่อย่างมากมาย ให้เหลือเป็นบริษัทใหญ่ไม่กี่แห่งที่มีศักยภาพในการแข่งขันและดำเนินการสูง
นอกจากนี้นักลงทุนยังคาดว่า ตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งประเทศจีน ไม่น่าเปลี่ยนแปลง ด้วยปัจจุบันจีนกำลังเผชิญปัญหาเงินเฟ้อ และปัจจัยภายนอกคือเศรษฐกิจโลกยังประสบปัญหา การบริหารนโยบายการเงินจึงต้องการมืออาชีพ ที่มีประสบการณ์
ฉะนั้นโจวเสี่ยวชวน น่าจะดำรงตำแหน่งต่ออีกสมัย ผลิกโผที่มีการคาดก่อนหน้าว่า โจวอาจจะต้องวางมือ
ความเปลี่ยนแปลงใต้คลื่นลม
เหมาโซ่วหลง นักวิชาการด้านบริหารรัฐกิจ ชื่อดังจากมหาวิทยาลัยเหรินหมินชี้ว่า “ในการปรับตำแหน่งครั้งนี้ จะเห็นหน้าใหม่ที่เป็นนักปฏิบัติมากขึ้น โดยบุคคลเหล่านี้ล้วนมีภูมิหลังจากประสบการณ์การบริหารระดับรากหญ้า” อาทิหวังฉีซัน ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งรองนายกฯด้านการเงิน ก็มีประสบการร์แก้ไขปัญหาด้านการเงินช่วงปลายทศวรรษ 1990 แถมยังมีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาโรคซาร์สระบาดเมื่อปี 2003
นอกจากนี้แนวโน้มที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือการที่บุคคลภายนอก ที่มิได้สังกัดเป็นสมาชิกพรรคฯเข้ามาดำรงตำแหน่งสำคัญมากขึ้น เมื่อเม.ย. 2007 วั่นกัง จากพรรคจื้อกง ได้รับการแต่งตั้งเป็น รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นับเป็นรมต.คนแรกที่มิได้สังกัดพรรคคอมมิวนิสต์ ตั้งแต่ปลายทศววรรษ 1970
หลังจากนั้นก็มีการแต่งตั้งเฉินจู๋ ซึ่งมิได้สังกัดพรรคฯใดเป็นรมต.สาธารณสุข
นักวิเคราะห์ชี้ว่า ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เนื่องจากการเปิดเสรีด้านเศรษฐกิจทำให้เกิดกลุ่มผลประโยชน์และอำนาจใหม่ขึ้น ฉะนั้นพรรคคอมมิวนิสต์จึงเริ่มผ่อนคลาย รับบุคคลที่มิได้สังกัดพรรคฯเข้ามาดำรงตำแหน่งสำคัญเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการต่อรองประนีประนอมกับกลุ่มอำนาจใหม่
อู๋เจี้ยนหมิน โฆษกสภาที่ปรึกษาการเมืองประชาชน ซึ่งเริ่มเปิดการประชุมวันจันทร์ (3 มี.ค.) และจะประชุมควบคู่ไปกับสภาผู้แทนประชาชนระบุว่า “ปัจจุบันเจ้าหน้าที่รัฐกว่า 31,000 คนที่ปฏิบัติงานในระดับอำเภอ หรือสูงกว่านั้น มิได้สังกัดพรรคคอมมิวนิสต์”